"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
25 กันยายน 2548
 
All Blogs
 
บทเพลงที่ไม่มีวันตายของ The Genius : Ray Charles



เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนปีที่ผ่านมา ด้วยวัยเพียง 73 ปี อัจฉริยะทางดนตรีนัยน์ตาพิการอย่าง เรย์ ชาร์ลส ก็ได้ทิ้งลมหายใจสุดท้ายไว้บนโลกใบเก่าๆ ใบนี้ พร้อมๆ กับเสียงคร่ำครวญของมิตรรักนักเพลงที่ติดตามผลงานกันมาทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์ ผลงานของเรย์ทำให้เขาได้รับสมญานาม The Genius หรือ อัจฉริยะ จาก แฟรงค์ สิเนตรา เพื่อนนักร้องชื่อก้องฟ้าที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปีมาแล้ว นอกจากนี้เขายังเป็นอัจฉริยะคนแรกที่ได้นำแขนงเพลงต่างๆ อย่างกอสเปล, บลูส์, คันทรี, แจ๊สมาผสมผสานกันอย่างลงตัวกลายเป็นงานเพลงโซลที่ศิลปินหลากหลายได้รับอิทธิพลสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

Way Of The Genius



หากจะฟังเพลงของใครสักคนให้เข้าถึงแล้ว น่าจะดีกว่าหากว่าเราได้ทำความรู้จักพื้นฐานความหลังของคนคนนั้นอย่างถ่องแท้ อดีตย่อมส่งผลถึงปัจจุบัน...คงไม่มีใครปฏิเสธสัจธรรมข้อนี้เช่นเดียวกับสัจธรรมของการเกิด-แก่-เจ็บและตาย

เรย์ ชาร์ลส โรบินสัน เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ปี 1930 ที่อัลเบนี อะลาบามาในความดูแลของ อะเรธา และ เบลีย์ ผู้เป็นพ่อแม่

“ผมเกิดมาพร้อมๆ กับดนตรี ผมว่าผมอธิบายได้ดีที่สุดเท่านี้เอง” เรย์ เคยกล่าวไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง “ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม มันเหมือนเลือดแหละครับ มันเป็นพลังผลักดันในตัวผม และสำคัญกับผมพอๆ กับน้ำและอาหารทีเดียว”

ชีวิตของ เรย์ ค่อนข้างจะยากจนเลยทีเดียว เขาต้องออกตะลอนไปกับพ่อแม่แม้จะเกิดได้เพียง 3 เดือนเมื่อครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ชายแดน กรีนวิล ฟลอริดา ปีนั้นเป็นปีแห่งความตกต่ำ ครอบครัวโรบินสันก็จนสนิท เขาเคยเปรียบเทียบกับคนผิวดำด้วยกันว่า “คุณคงเคยได้ยินคนเขาพูดเรื่องความจน อย่างผมนะ หากจะเทียบกับคนดำด้วยกันแล้ว เราเนี่ยอยู่ใต้สุด ได้แต่มองคนอื่นตาปริบๆ ไม่มีอะไรที่จะต่ำต้อยกว่าเราอีกแล้ว”

หลายคนสงสัยว่าเขาตาบอดแต่กำเนิดหรือไม่ จริงๆ แล้ว เรย์ ไม่ได้ตาบอดแต่กำเนิด มันเริ่มต้นเมื่อเขาอายุได้ 4 ขวบ จากเด็กชายที่ชอบมองดูแสงสว่างของดวงอาทิตย์ หากแต่วาสนาพาให้เข้าต้องมาเป็นโรคกลอโคมา (หรือโรคนัยน์ตา โดยลูกตาแข็งและค่อยๆ บอดไปในที่สุด) และตาของเขาบอดสนิทเมื่ออายุได้เพียง 6 ขวบ



เรย์ ได้เป็นนักเรียนทุนเริ่มเรียนการประพันธ์เพลงและการเล่นเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดที่โรงเรียนเซนต์ ออกุสทีน ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางหูและตา พ่อและแม่จากเขาไปตั้งแต่เขาเริ่มเป็นหนุ่ม จากนั้นเขาจึงเริ่มเล่นดนตรีในฟลอริดา ก่อนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินเพื่อย้ายไปซีแอตเติลเมื่อปี 1947 นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเขาจริงๆ ที่นั่นเขาได้เล่นตามคลับเล็กๆ และได้พบกับ ควินซีย์ โจนส์ ผู้ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาอย่างมาก

ปลายทศวรรษที่ 40 เขาได้เล่นอัดแผ่นเสียงในสไตล์ป็อปอาร์แอนด์บี ที่ได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจาก แน็ต โคล และ ชาร์ลส บราวน์ เพลง Baby, Let Me Hold Your Hand ก็ดังระเบิดในชุดนั้น แถมยังได้รับคำวิจารณ์แง่บวกอีกด้วย เนื่องเพราะเป็นผลงานที่ทั้งนุ่มนวล และนำเพลงเก่าคลาสสิกมาทำใหม่ได้ไพเราะไม่แพ้กัน อันนำมาซึ่งความสำเร็จของ เรย์ ในเวลาไม่กี่ปีต่อมา



ต้นทศวรรษที่ 50 สุ้มเสียงของ เรย์ เริ่มที่จะเข้มข้นขึ้น เนื่องจากเขาเริ่มออกทัวร์กับ ลาเวล ฟูลสัน แล้วย้ายมาร่วมวงกับ กีตาร์ สลิม (โดยเขาเป็นมือเปียโนและได้สร้างเพลงฮิตให้ กีตาร์ สลิม อาทิ The Thing That I Used To Do) จากนั้นจึงมาทำวงดนตรีกับดาราอาร์แอนด์บีอย่าง รูธ บราวน์ โดยได้เล่นกันที่ ดิ อะพอลโล ซึ่งเป็นสถานที่แสดงออกสำหรับคนผิวดำที่มากความสามารถจริงๆ ต่อเมื่อมาสังกัดกับแอตแลนติก ช่วงเวลานั้นเองที่ เรย์ ค้นพบสุ้มเสียงที่แท้จริงของตัวเอง I Got A Woman เป็นเพลงที่สองของเขาที่เข้าสู่อันดับเพลงฮิตในปี 1955 เพลงนี้ถือเป็นเพลงสำคัญต่อ เรย์ ตรงที่เป็นเพลงแรกที่เขาร้องกอสเปลออกมาได้อย่างเข้าถึงตามแบบอย่างจริงๆ โดยมีภาคเครื่องเป่ารองรับอย่างหนักแน่นเป็นแบ็คกราวด์

ในช่วงทศวรรษที่ 50 นี้เองถือเป็นยุคทองของ เรย์ ก็ว่าได้ เขาได้สร้างผลงานเพลงอาร์แอนด์บีชั้นเยี่ยมมากมาย ซึ่งเพลงเหล่านี้นี่เองที่เป็นการกรุยทางเข้าสู่ดนตรีโซลอย่างแท้จริง ถึงแม้ตอนนั้นจะไม่ได้มีใครเรียกว่าเพลงโซลก็ตาม โดยที่การร้องยังคงรูปแบบของอาร์แอนด์บีที่บ่งบอกถึงความหรูเริ่ดไว้ พร้อมๆ กับเสียงเอื้อนที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างเพลง This Little Girl Of Mine, Drown In My Own Tears, Hallelujah I Love Her So, Lonely Avenue และ The Right Time ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงท็อปฮิตทั้งสิ้น แรกๆ เพลงของ เรย์ ไม่ค่อยจะติดหูนักฟังเพลงป็อปสักเท่าไร จนกระทั่งเขาทำเพลง What’d I Say ด้วยน้ำเสียงออดอ้อน บวกกับสไตล์ร็อคแอนด์โรลที่มีไลน์เปียโนสอดแทรกสวยงาม ทำให้เพลงนี้ฟาดฟันเข้าอันดับเพลงป็อปอย่างสะดวกดาย และนั่นก็เป็นบทเพลงสุดท้ายของเขากับค่ายแอตแลนติก ก่อนจะโบยบินมาสู่ ABC ในเวลาต่อมา



สิ่งที่ทำให้เขายอมเข้ามาที่ ABC นั่นก็คือ เขาจะได้ควบคุมและทำงานของตัวเองอย่างมีอิสระ ซึ่งนั่นเป็นที่มาของเพลงอย่าง Unchain My Heart และ Hit The Road Jack สองเพลงนี้สร้างฐานที่มั่นให้กับ เรย์ ในฐานะดาราเพลงป็อปได้มากพอๆ กับความเป็นดาราอาร์แอนด์บีที่เขาทำไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่แอตแลนติก แต่คนอย่าง เรย์ ไม่เคยหยุดนิ่งแค่นั้น ปี 1962 เขากลับมาช็อควงการด้วยการหันเหเข้าสู่สายเพลงคันทรี โดยการส่งเพลง I Can’t Stop Loving You เข้าสู่อันดับเพลงยอดนิยมอย่างสูงพร้อมๆ กับอัลบัม Modern Sounds In Country And Western Music แต่ความจริงแล้วก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไรนัก เพราะ เรย์ เองก็เคยฝากผลงานสไตล์แจ๊สไว้บ้างแล้วสมัยที่อยู่แอตแลนติก โดยได้ร่วมงานกับ เดวิด “แฟตเฮด” นิวแมน และ มิลต์ แจ็กสัน

เรย์ ยังคงความเป็นดาวค้างฟ้าจนเข้าสู่กลางทศวรรษที่ 60 มีเพลงฮิตๆ อย่าง Busted, You Are My Sunshine, Take These Chains From My Heart และ Crying Time แม้ว่าปัญหาติดเฮโรอีนจะทำให้หน้าที่การงานของเขาสะดุดช้าลงไปเล็กน้อยก็ตาม งานของเขาในช่วงนี้ยังไม่ได้เน้นความเป็นโวลร็อคสักเท่าไร หากแต่มุ่งไปทางกลุ่มคนฟังเพลงป็อปเบาๆ โดยใช้กลุ่มเครื่องสายเข้าช่วย อย่างไรก็ตาม ความเป็นร็อคแอนด์โรลของ เรย์ ได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นใหม่อย่าง สตีฟ วินวู้ด และ โจ ค็อกเกอร์ ส่วนสไตล์การร้องของเขาก็ไปปรากฏเป็นเงาของ แวน มอริสัน เช่นกัน



อย่างไรก็ตาม เรย์ นั้นก็เป็นเหมือนเสาหลักทางดนตรีของอเมริกัน ถึงแม้พลังเสียงของเขาจะด้อยลงไปในงานยุคหลังๆ ทศวรรษที่ 60 แต่แฟนเพลงนับล้านคนก็ยังคงรอคอยให้เขากลับไปร้องเพลงโซลอันเป็นที่สุดของเขาเมื่อช่วงปี 55-65 แต่เขากลับไม่ยี่หระ เพราะเขาไม่ได้สาบานตัวต่อแนวดนตรีแนวใดแนวหนึ่ง ความสนใจของเขามีมากมายเหนือโลกแห่งเสียงเพลงใบนี้ เขายังรักเพลงแจ๊ส, คันทรีและป็อป ในปี 2002 เขายังออกผลงาน Thanks For Bringing Love Around Again ด้วยสไตล์ครอสโอเวอร์แบบของตัวเอง ปีถัดมาเขาจึงได้มาทำอัลบัม Genius Loves Company หลังจากการผ่าตัดสะโพกในปี 2003 ทำให้การออกทัวร์ทั้งหมดหยุดชะงักลงไปในเดือนมีนาคม ปี 2004 แล้ว หลังจากนั้นเพียงแค่ 3 เดือน นักร้องผู้ยิ่งยงก็ลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับมา หากแต่ชื่อของเขายังคงอยู่อย่างถาวรที่ฮอลลีวู้ด วอล์ก ออฟ เฟม และอีกไม่นานนี้ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของเขาเรื่อง Ray นำแสดงโดย เจมี ฟ็อกซ์ จะออกฉายอย่างเป็นทางการปลายปีนี้ในสหรัฐอเมริกา

Genius Loves Company



ก่อนที่ เรย์ จะจบชีวิตลงไป เขาได้ทำงานค้างไว้ชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้าย แถมเป็น Big Project เสียด้วย เนื่องจากเป็นการรวมเอานักร้องนักดนตรี ทั้งร่วมรุ่นและต่างรุ่นเข้ามาร่วมดูเอ็ตกับ เรย์ ถึง 12 คนด้วยกัน !! อย่างนี้ไม่เรียก “บิ๊ก” แล้วจะให้เรียกอะไรกันล่ะ?

นับจากบรรทัดนี้ไปเป็นบทสนทนาของ จอห์น เบิร์ก ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของ Genius Loves Company อัลบั้มที่ว่านี้แหละ น่าเสียดายเหลือเกินที่ เรย์ ไม่มีโอกาสมานั่งให้สัมภาษณ์หลังจากเสร็จสิ้นอัลบั้ม แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นสัจธรรมของชีวืตที่ไม่มีใครหลบเลี่ยงได้

จอห์น เบิร์ก รองประธาน Concord Records และเป็นโปรดิเซอร์ร่วมในอัลบั้ม Genius Loves Company ซึ่งเป็นอัลบั้มดูเอ็ตระหว่างเรย์กับศิลปินนักร้องนักดนตรีอีก 12 คน จากรุ่น วิลลี เนลสัน และ เอลตัน จอห์น ไปจนถึงรุ่นใหม่ๆ อย่างนาราห์ โจนส์ และ ไดแอนา ครอล

จอห์น บอกเล่าเกี่ยวกับตัวเองว่า “พื้นฐานในการทำงานของผมแทบทั้งหมดอยู่ที่คอนคอร์ดนี่แหละครับ ผมอยู่มาเกือบ 17 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นผมก็เป็นนักดนตรีรับงานอิสระ งานโปรดิวซ์บ้าง ผสมเสียงบ้าง ช่วงแรกที่ผมทำงาน ผมได้รู้จักกับ คาร์ล เจฟเฟอร์สัน เจ้าของค่ายคอนคอร์ดนี่แหละ ซึ่งเขาได้กลายมาเป็นอาจารย์ใหญ่สอนงานธุรกิจดนตรีให้กับผม ชวนผมเข้ามาทำงานที่นี่ทั้งเรื่องการบันทึกเสียง ทำงานกับศิลปินและงานโปรดักชัน ผมทำงานกับเขาประมาณ 6 ปีจนกระทั่งเขาเสียชีวิต แล้วก็เป็นความต้องการของเขาที่อยากจะให้ผมทำงานด้านสร้างสรรค์ที่คอนคอร์ด นั่นเป็นจุดเริ่มของผมจนปัจจุบันนี้”

เขายังบอกอีกว่า เขาเป็นแฟนเพลงตวเอ้ของ เรย์ ชาร์ลส มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ซึ่งได้ฟังแต่วิทยุแล้ว

“เพลงแรกของเรย์ที่ผมได้ฟังเหรอ..... ผมว่า I Can’t Stop Loving You เป็นเพลงแรกที่ผมได้ฟัง ผมเป็นแฟนเพลงเขามาตลอดตั้งแต่ผมฟังเพลงเป็นนั่นแหละครับ ตอนผมอายุได้ 4-5 ขวบ ผมก็เริ่มฟังแล้ว ก็ประมาณ เดอะบีทเทิลส์ กับ เรย์ ชาร์ลส นั่นแหละนะ หลังจากนั้น พอผมเริ่มเล่นดนตรี ผมกลายมาเป็นแฟนเพลงแจ๊ส ผมชอบงานของพวกเขามาก งานพวกนั้นเปิดหูเปิดตาผมได้เยอะเลยครับ บางทีผมก็นึกขำ เหมือนกันนะครับ เพราะว่าเมื่อคุณมาฟังแจ๊ส คุณเจองานของ เรย์ พอมาฟังบลูส์ คุณก็เจองานของ เรย์ อีก พอย้ายมาฟังกอสเปล งานของ เรย์ ก็โผล่เข้ามาอีก ฮ่าๆๆๆ ในหลายๆ แขนงดนตรีอเมริกันนี่ เรย์ ชาร์ลส กลายมาเป็นแม่แบบหมดแล้วมั้ง น่าสนใจจริงๆ ในจุดนี้ แล้วผมก็เริ่มมาคิดว่าตัวเองเป็นแฟน เรย์ มาขนาดนี้แล้ว จะมหัศจรรย์ขนาดไหนถ้าได้ทำงานกับเขาเนี่ย???”

จอห์นบ่มเพาะความคิดที่จะงานกับ เรย์ มาได้สักพัก เขาก็ไม่รอช้าที่จะนำโปรเจ็กต์ไปเสนอกับ เรย์

“ตอนนั้นผมกำลังโปรดิวซ์งานของ ปอนโช ซานเชซ งานที่ทำนั้นเป็นการนำเอารากของ ปอนโช ทั้งสองราก ซึ่งก็คือโซลและละตินมาผสมผสานกัน เราเอาเพลงของ เรย์ มาทำใหม่สองเพลง ก็คือ One Mint Julep เพลงแจ๊สยอดนิยมกับ Mary Ann งานคลาสสิกของเขา ผมเริ่มทำความรู้จักกับ เรย์ ตอนนี้เอง ผมขอเขาให้มาช่วยเป็นนักร้องรับเชิญในงานของ ปอนโช ได้ไหม เขาก็มาจริงๆ เราทำงานเข้ากันได้ดีมากทีเดียว แล้วผมก็ไม่รีรออะไรอีก รีบถามเขาเกี่ยวกับเรื่องโปรเจ็กต์การทำอัลบัมดูเอ็ตให้เขาทันที ตอนแรกที่ผมคิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา ผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่า เอ...เขาจะเคยทำแล้วหรือยังนะ แต่พอผมทำรีเสิร์ชแล้ว ก็พบว่า เรย์ ยังไม่เคยทำอัลบัมแบบนี้มาก่อนจริงๆ

“เรย์ เคยทำอัลบัมคู่กับ เบ็ตตี คาร์เตอร์ ก็จริง แต่เขายังไม่เคยทำงานดูเอ็ตทั้งอัลบัมกับศิลปินหลายๆ คน มันดูสมบูรณ์มากหากจะทำ เพราะ เรย์ สัมผัสงานดนตรีมาหลากหลายรูปแบบ แล้วยังป็นอิทธิพลทางดนตรีให้กับศิลปินเยอะแยะ แล้วใครล่ะที่ไม่อยากจะร้องเพลงกับ เรย์ ชาร์ลส ? ชื่อของ เรย์ ทำให้งานนี้ง่ายขึ้นเยอะทีเดียว คุณลองคิดดูถ้าคุณโทรไปหาศิลปินสักคนในนามของ เรย์ ชาร์ลส พวกเขาก็มักจะตอบสนองกลับมาในทางที่ดีเสมอครับ”

แหม... ฉลาดไม่ใช่ย่อยสำหรับนาย จอห์น เบิร์ก คนนี้ ฮ่าๆๆๆ

จอห์น เล่าต่อว่า “การคัดเลือกเพลงที่จะเอามาลงในอัลบัมนี่ พวกเราช่วยกันเลือกครับ เรย์ เขาค่อนข้างโอเคกับทุกอย่าง แล้วก็มีส่วนร่วมในทุกๆ อย่างของอัลบัม ตอนแรกผมก็มีรายชื่อของศิลปินในใจที่ต้องการให้มาร่วมงานกับ เรย์ อยู่แล้ว ผมก็รายชื่อพวกนั้นไปให้เขาดู จริงๆ ผมก็ไม่อยากให้มันเป็นทางการอะไรมาก แค่อยากให้เป็นคนที่ เรย์ อยากจะทำงานด้วยจริงๆ แล้วก็เป็นที่เข้ากับเขาได้ ผมบอกได้เลยว่างานนี้ไม่มีเรื่องการตลาดเข้าเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย อยากให้มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นด้วยความศรัทธาล้วนๆ”

หากเป็นเช่นนั้นจริง อัลบัมนี้ก็น่าถูกเปรียบเทียบกับผลงานชุด Duets ของ แฟรงค์ สิเนตรา ซึ่งได้คะแนนวิจารณ์ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

“ก็ไม่เชิงนะ” เขาว่า “คุณก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่าอัลบัมของสิเนตราชุดนั้นมันค่อนข้างจะอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำค่อนข้างเยอะเลย แบบร้องคนละทีสองที แล้วเอามามิกซ์เสียงทีหลังอย่างนี้น่ะ มันขาดช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นไปนะ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีโครงสร้างในใจอยู่แล้วว่าอยากจะให้งานออกมาเป็นอย่างไร ผมอยากให้ศิลปินรับเชิญทุกคนมานั่งอยู่ในห้องเดียวกันกับ เรย์ จากมุมมองของแฟนเพลงอย่างผมแล้ว คุณลองจินตนาการดูสิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในห้องน่ะ!! ผมว่ามันน่าอัศจรรย์เลยแหละ เมื่อศิลปินชั้นยอดมาอยู่ร่วมห้องเดียวกัน ผมมั่นใจว่าจะต้องเกิดสิ่งเยี่ยมๆ ขึ้นมา นั่นแหละ มันก็ออกมาเป็นผลงานชุดนี้ แต่งานอย่าง Duets คุณจะไม่มีวันสัมผัสความรู้สึกแบบนี้ได้หรอก เพราะพวกเขาไม่ได้ร้องเพลงร่วมกันจริงๆ”

หลายๆ คนคงคิดว่า การทำงานกับ เรย์ จะเป็นอย่างไร เรย์ เรียกร้องอะไรบ้าง เพราะว่า เรย์ เองก็เป็นศิลปินชื่อก้องฟ้า แถมยังศิลปินที่ร่วมงานก็มีชื่อใช่ย่อยในพิภพของตัวเอง จอห์น เล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้ว่า “”เรียกร้อง” ผมว่าเป็นคำที่ดีนะ แต่ผมอยากจะให้คำว่า “พิถีพิถัน” กับ เรย์ มากกว่านะ ด้วยกระบวนการในการที่เราคัดเลือกเพลงและศิลปินนักร้องไปพร้อมๆ กัน เราไม่สามารถคัดแยกกระบวนการนี้ออกจากกันได้ เรย์ จะต้องมีทั้งชื่อเพลงและชื่อนักร้องอยู่ในใจของเขาพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะให้งานออกมาราบรื่นและ “ใช่” มากที่สุดสำหรับเขา โห...เราใช้เวลากับกระบวนการนี้เยอะมากครับ ทบทวนกันไปมาอยู่หลายหนกว่าจะลงตัว พอเลือกเพลงได้ เราก็มาทำอะเรนจ์เพลง เรย์ จะเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ส่วนของอัลบัม พอเสร็จแล้ว เขาก็พร้อมกับงานสตูดิโอ ผมนับถือเขาจริงๆ เพราะเขาเป็นมืออาชีพในการทำงานสตูดิโอมากๆ อย่างบางทีถ้าเราจะเริ่มงานตอน 10.00 น. เราจะพร้อมเริ่มงานตอน 9.59 น. ตราบเท่าที่คุณพร้อม มันก็ไม่มีปัญหาหรอก จริงไหม? แต่เราขอเตรียมพร้อมกว่านั้นดีกว่า ฮ่ะๆๆ แล้ว เรย์ เขาก็ทำงานไวมาก ผมว่าผมยังไม่เคยเห็นเขาทำงานกับศิลปินคนไหนเกิน 2 ชั่วโมงเลยมั้ง? เขารู้จักเพลง เขารู้ว่าเขาต้องการอะไร เขายังรู้แม้กระทั่งว่าเขาต้องการให้ศิลปินรับเชิญทำอะไรด้วยซ้ำ ศิลปินรับเชิญของเราก็ดีมาก พวกเขาทำการบ้านมาเยอะ ดังนั้ งานก็เลยราบรื่นสุดๆ ผมอยากจะให้งานจบช้ากว่านี้เสียอีก เพราะว่ามันเป็นช่วงที่ลาที่อะเมซซิงมาก แต่ทุกคนทำงานเป๊ะๆ กันหมดเลย”

จอห์น บ่นเสียดายโปรเจ็กต์ที่จบลงอย่างรวดเร็ว เพราะความเป็นมืออาชีพของศิลปินแต่ละราย

“จบเร็วเกินไป ใช่แล้ว.... อัศจรรย์จริงๆ แม่เจ้าโวย แล้วงานก็ออกมาดี จนผมไม่ได้เห็นจุดไหนที่จะต้องแก้ไขเลยนะเนี่ย ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “เนี่ยแหละ ใช่เลย” แล้ว เรย์ ก็จะกลับบ้าน ฮ่ะๆๆ บางครั้งเขาบอกว่า “ผมมีสตูดิโอที่บ้านนะ ผมเอาไปแก้ไขต่อก็ได้ถ้ามันมีจุดบกพร่อง” แต่ผมก็ไม่ได้พบอะไรที่จะต้องให้เขาเอากลับไปแก้เลยจริงๆ แล้วทุกครั้งกับทุกคนก็เป็นเทคแรกทั้งนั้นเลย คืออารมณ์มันได้เลย เรย์ เคยบอกว่า “ถ้าคุณร้องเพลงออกมาจากใจและถูกต้องด้วยจังหวะ คุณก็ทำสำเร็จแล้ว” มีอยู่หนหนึ่ง เอลตัน จอห์น ซึ่งเป็นนักเทนนิสที่ฝีมือดีคนหนึ่ง บอกว่า “เมื่อไรก็ตามที่คุณได้คู่เล่นที่แข็งแกร่ง ก็เท่ากับว่าคุณได้พัฒนาตัวคุณเองในเกมนั้น” แล้วนี่ก็เป็นความมหัศจรรย์ของอัลบัมนี้ที่ได้รวบรวมเอาวูเปอร์สตาร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน และที่สำคัญทุกๆ คนก็เป็นอัจฉริยะ ยอดเยี่ยมในสายของตัวเอง อ้อ ผมต้องให้เครดิตกับ เจฟ สเป็กเตอร์ ฝายรายการวิทยุของเราด้วยเหมือนกัน ที่ช่วยเผยแพร่ Genius Loves Company ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด”

ทุกๆ คนคงอยากจะรู้ว่า ตอนที่ เรย์ ทำงานอัลบัมชุดนี้นั้ สุขภาพของเขาเป็นอย่างไรบ้าง จอห์น บอกสั้นๆ ว่า “เขาต้องผ่านช่วงลำบากไป มีอยู่ช่วงหนึ่ง เขาถึงกับต้องหยุดพักเข้าโรงพยาบาล แต่แล้วเขาก็กลับมาพร้อมกับความแข็งแรง

“ตอนกลับมา เขาก็ต้องนั่งจัดตารางเวลาที่ต้องทำงานใหม่ ผมว่าบางทีโปรเจ็กต์นี้อาจจะได้เปรียบตรงนี้เหมือนกัน เพราะ เรย์ ต้องหยุดงานทุกอย่าง หยุดทัวร์ด้วย ถ้าทัวร์อยู่ล่ะก็ คงยากที่จะมีเวลามานั่งเข้าห้องอัดแบบนี้ หลังจากที่เขาหยุด เขาก็เข้าสตูดิโอได้เกือบทุกวัน งานเลยเดินเยอะ เราอัดได้หลายเพลงทีเดียวในห้องอัดที่บ้านของ เรย์ ซึ่งที่นั่นเขารู้สึกสะดวกสบายมากกว่า บางทีเราต้องรอศิลปินรับเชิญที่ต้องเดินทางมาจากลอส แองเจลิสด้วย ทีนี้ เราก็เลยย้ายมาอัดเสียงกันที่นี่เลย แล้ว เรย์ เองก็อยู่ที่นี่ตลอดเพื่อมุ่งมั่นกับงาน ซึ่งทำให้งานง่ายขึ้นเมาก”

จอห์น ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ในอัลบัมนี้ กล่าวถึงมันว่า “มีคนถามผมเยอะครับว่าชอบเพลงไหนในอัลบัมนี้ ผมบอกตรงๆ ได้ไหมเนี่ยว่าผมไม่รู้เลยนะว่าจะตอบยังไง ฮ่ะๆๆ ผมต้องอยู่กับมัน แก้ไขมันทุกอย่าง ต่างเพลงก็โดนใจผมในต่างวาระ แต่ผมไม่มีเพลงที่ชอบเป็นพิเศานะครับ ผมคิดว่าอย่างนั้น เพราะทุกเพลงมันยอดเยี่ยมไปหมด ผมว่าเพลงที่ที่อาจจะโดนมากหน่อยน่าจะเป็นเพลงสุดท้ายที่เราบันทึกเสียงกัน นั่นคือ Sorry Seems To Be A hardest Word กับ เอลตัน ผมอธิบายบรรยากาศไม่ถูกเลยนะตอนเพลงจะจบน่ะ อืม....ความจริงเราค่อนข้างกังวลมากก่อนหน้านี้กับเซสชันนี้ เพราะว่า เรย์ เริ่มมีอาการป่วยแล้ว มันเป็นช่วงที่จะจับจิตเราไปนาน ทั้ง เรย์ ทั้ง เอลตัน พวกเราทั้งหมดในห้องคอนโทรล เหมือนมีก้อนอะไรมาจุกคอหอยตอนที่พวกเขาร้องจบแล้ว เพลงนี้ค่อนข้างจะเป็นเพลงที่ส่วนตัวมากๆ สำหรับ เอลตัน มันมีความหมายกับเขา ผมคิดเอาเองว่าเพลงนี้ก็มีความหมายอะไรพิเศษกับ เรย์ เหมือนกัน ถึงเขาจะไม่ได้พูดออกมาก็เถอะ หลังจากวันนั้นแล้ว เอลตัน กลับมาฟังเพลงที่เราผสมเสียงเสร็จแล้ว ฟิล ราโมน โปรดิวเซอร์ซึ่งเป็นคนโปรดิวซ์เพลงนั้น เขากับ เอลตัน เป็นเพื่อนกัน ผมบอกตรงๆ ว่า ฟิล ทำเพลงนั้นออกมาได้อย่างมีมนต์ขลังจริงๆ พอ เอลตัน เข้ามาฟังได้เพียงครึ่งเพลง เขาก็ร้องไห้ออกมา แล้วบอกว่า “นี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์สะเทือนใจผมมากที่สุดในชีวิตการทำงานของผมเลย” เท่านั้แหละ ผมก็คิดว่า “โอ พระเจ้า นี่เอลตัน จอห์น นะเนี่ย!” ผมรู้สึกว่า ณ เวลานั้นมันช่างปวดร้าวไปหมดจริงๆ แล้วหลังจากนั้น เรย์ ก็ไม่ได้ร้องเพลงอีกเลย”

ใช่...จอห์น เบิร์ก พูดถูก เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เรย์ ก็ได้เสียชีวิตลง ณ เบเวอร์ลี ฮิลส์ ด้วยอาการตับติดเชื้อ การจากไปครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการดนตรี แต่ เรย์ ก็ได้ฝากผลงานเพลงที่มีคุณค่ามากมายไว้ในโลกแห่งเสียงเพลง และคนที่รักเขาจะไม่มีวันลืมเลือนไปได้

Rest In Peace….Mr. Ray Charles The Genius.

Ray Charles / Genius Loves Company
Produced by John Burk, Phil Ramone
Tracklisting;
1. Here We Go Again with Norah Jones
2. Sweet Potato Pie with James Taylor
3. You Don’t Know Me with Diana Krall
4. Sorry Seems To Be The Hardest Word with Elton John
5. Fever with Natalie Cole
6. Do I Ever Cross Your Mind? with Bonnie Raitt
7. It Was A Very Good Year with Willie Nelson
8. Hey Girl with Michael McDonald
9. Sinner’s Prayer with B.B. King
10. Heaven Helps Us All with Gladys Knight
11. Over The Rainbow with Johnny Mathis
12. Crazy Love with Van Morrison

เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับผลงานชุดนี้ได้ที่ //www.geniuslovescompany.com/


Create Date : 25 กันยายน 2548
Last Update : 25 กันยายน 2548 13:50:14 น. 3 comments
Counter : 1776 Pageviews.

 
รูปประกอบไม่ค่อยจะมี ลายตาจริงๆ เลยแฮะ


โดย: nunaggie (nunaggie ) วันที่: 25 กันยายน 2548 เวลา:13:47:21 น.  

 
เยี่ยมมากครับ สำหรับเรื่องของคนโปรดของผม

เรย์ใน Genius Loves Company ฟังแล้วน่าสงสารมากกว่าครับ เพราะอาการแกร่อแร่เหลือเกิน ถ้าต้องเลือกซื้อซาวนด์แทร็ค 'Ray' มาฟังดีกว่าเยอะ


โดย: winston (winston ) วันที่: 27 กันยายน 2548 เวลา:22:11:44 น.  

 
ไม่ค่อยเห็น รูปนะ
เขียนเยอะดี
อ่าน 20 ก่านาที ปวดตาเย้ย
มีอะไรติดต่อมาที่
artmonklon@hotmail.com
นะครับ


โดย: อาร์ต IP: 124.120.128.97 วันที่: 2 ธันวาคม 2549 เวลา:20:39:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.