"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
29 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 

Willie Nelson & Wynton Marsalis แจ๊สกับคันทรี ดนตรีมะริกัน…


แดดยามบ่ายแผดเผาสลับเมฆบดบังแสงจนทำให้รู้สึกอยากจะหาเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้วมาบรรเทาความระอุ แต่ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ คงจะช่วยบรรเทาไม่ได้เท่าการหาเพลงดีๆ มาฟังเสียหน่อย หันรีหันขวางอยู่ครู่หนึ่งก็หยิบนิตยสารแจ๊สไทม์สขึ้นมาอ่าน จึงนึกขึ้นได้ว่า เออ เราก็มีแผ่นเด็ดๆ อยู่นี่นาที่ยังไม่ได้เอามาแนะนำในคอลัมน์นี้เลย และมันก็ช่างเหมาะกับวันที่อากาศแปรปรวนเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝนอย่างเช่นวันนี้เป็นที่สุด





ผลงานชุดที่เอ่ยถึงย่อหน้าที่แล้ว ก็คืออัลบัมใหม่ล่าสุดของวิลลี เนลสันและวินตัน มาร์ซาลิส ซึ่งศิลปินใหญ่ทั้งสองท่านนี้คงไม่พ้นคำว่า “ตำนานที่มีชีวิต” เป็นแน่แท้ และไม่ได้เป็นการยกยอจนเกินไป วิลลีเป็นมือกีตาร์คันทรีคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานระดับกึ่งศตวรรษ ส่วนวินตัน นักทรัมเป็ตนั้นแม้ว่าจะเยาว์วัยกว่า แต่ด้วยเอกลักษณ์ของเขาก็ทำให้กลายเป็นศิลปินขึ้นหิ้งโดยไม่ที่ไม่ต้องรอให้วัยโรยราไปเสียก่อน

โดยปกติแล้ว วิลลี เนลสันก็มักจะมีผลงานดูเอ็ตร่วมกับศิลปินอื่นๆ ออกมาเนืองๆ อาทิ กับร็อบ โธมัส, คาร์ลอส ซานทานา, ไบรอัน แม็กไนต์, คิด ร็อก, สนู้ปด็อก, เชอรีล โครว์ บุคลิกของเขาถูกถ่ายทอดออกมาในแบบของความเป็นกันเอง ง่ายๆ สบายๆ และสามารถร่วมงานกับใครก็ได้ในหลากหลายรูปแบบ แต่นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความสำเร็จของแต่ละบทเพลง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากน้อยแตกต่างกันไป เมื่อปี 2008 วิลลีได้โคจรมาพบกับวินตันเป็นครั้งแรกกับอัลบัม Two Men With The Blues ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในอัลบัมที่ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์แง่บวกอย่างมากในประดางานดูเอ็ต บันทึกเสียงสดการการแสดงสองคืนต่อเนื่องที่ลินคอล์น เซ็นเตอร์ วันที่ 12-13 มกราคม 2007 ส่วนเรื่องแค็ตทีกอรีหรือการจัดประเภทให้กับอัลบัมนี้นั้น นักวิจารณ์ของทางอเมริกาก็จัดไว้ในหมวดแจ๊ส อย่างไรก็ดี ผลงานชิ้นนี้ก็เป็นงานที่โดดเด่นเป็นศรีแก่ประวัติผลงานของทั้งวิลลีและวินตัน การพบกันของนักดนตรีทั้งสองดูเหมือนจะเป็นส่วนผสมรสชาติแปลก (แต่เมื่อมองดูสนู้ปด็อกกับวิลลีคู่กัน รสชาติแปลกที่ว่านี้ก็แทบจะไม่แปลกก็เป็นได้ ฮา) หากแต่วินตันเองก็มีกิตติศัพท์ทางด้านความพิถีพิถัน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเด็ดเดี่ยวในการต่อยอดดนตรีแจ๊ส ซึ่งนั่นเป็นข้อแตกต่างของทั้งสอง เพราะวิลลีนั้นมักจะหลอมละลายพรมแดนทางดนตรีอยู่เนืองๆ
เมื่อช่วงปี 2006 ศิลปินคันทรีผู้เฒ่าของเรา ในตอนนั้นอายุ 73 ถูกตำรวจจับที่ลุยเซียนา เนื่องจากตำรวจทางหลวงได้กลิ่นกัญชารุนแรงออกมาจากรถตระเวณทัวร์ของวิลลี จึงได้สั่งให้จอด แล้วจึงตรวจพบกัญชาประมาณ 1.5 ปอนด์กับถุงเห็นขี้ควาย หรือแมจิก มัชรูมที่เหล่านักเที่ยวชอบหามาเสพ แต่ชื่อของมันในภาษาไทยช่างไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย นอกจากนี้แล้วยังเจอขวดโหลฟอร์มัลดีไฮด์ที่มีเท้าของเวย์ลอน เจนนิงส์ (ศิลปินคันทรีผู้ล่วงลับไปแล้วเมื่อปี 2002) แช่อยู่ในนั้น (โอ้!) และหลังจากนั้นสองปี วิลลีก็มาออกอัลบัม Two Men With The Blues กับวินตัน

วินตันนั้นเติบโตในสายแจ๊สมาตลอดระยะเวลานับสิบปี แต่ทั้งวิลลีและวินตันเองก็มีภูมิหลังทางด้านแจ๊สและบทเพลงอเมริกันชั้นเยี่ยมอยู่เหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการโคจรมาพบกันในครั้งนี้จึงเป็นไปอย่างราบรื่น เป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเป็นกันเองและอาจจะดูแปลกเล็กน้อยเท่านั้น ตัวหลักในอัลบัมชุดนี้คือวงแบ็กอัพของวินตัน ซึ่งได้แก่ แดน นิมเมอร์ (เปียโน), อาลี แจ็กสัน (กลอง), คาร์ลอส เอนริเกซ (เบส) และวอลเตอร์ แบลนดิง (แซ็กโซโฟน) กับมิกกี ราฟาเอล นักเป่าฮาร์โมนิกาที่วิลลีเป็นคนพามา ก็เพียงพออยู่ที่จะสร้างสีสันที่แตกต่างจากวงดนตรียามปกติของวินตันเอง ในส่วนของวิลลี ดนตรีแนวนี้ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่คุ้นเคยเลย โดยเฉพาะบลูส์ที่เป็นรากฐานอันมั่นคงของนักดนตรีอย่างเขา รวมไปถึงเพลงแจ๊สสองเพลงที่เลือกมา Stardust และ Georgia On My Mind กับน้ำเสียงบวกด้วยเฟรสซิงกีตาร์ของวิลลี ที่เจือกลิ่นอายของแจ๊สจางๆ ทั้งหมดนี้คือความหมายของ Two Men With The Blues ที่มีความสบายอกสบายใจในการรวมตัว และความสดใหม่ของคู่ดูโอคู่นี้ ความรู้สึกเหล่านี้สัมผัสได้อย่างทันท่วงทีเมื่อฟังเพลงเปิดเพลงแรก Bright Lights, Big City เพลงดั้งเดิมเป็นของจิมมี รีด มือกีตาร์บลูส์ชื่อดังผู้ล่วงลับ กับการตีความที่ไม่ได้ผูกมัดกับต้นฉบับ เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะเสียงทรัมเป็ตกับการอิมโพรไวส์ที่ถูกแต่งแต้มเข้ามาอย่างเหมาะเจาะ เปี่ยมด้วยเสน่ห์, ด้วยการเรียบเรียงที่หลักแหลม เช่นเดียวกับ My Bucket’s Got A Hole In It (Hank Williams) ที่ให้อารมณ์เหมือนเดินอยู่ในขบวนวงดนตรีโยธวาทิตนิวออร์ลีนส์ยังไงยังงั้น โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ทรัมเป็ตของวินตัน ศิลปินคู่ทั้งสองไม่ได้เลือกเฉพาะเพลงสแตนดาร์ดเท่านั้น พวกเขายังตัดสินใจหยิบเอาเพลงของเมิร์ล ทราวิส That’s All มาทำอีกด้วย ซึ่งเป็นบลูส์ที่เร้าอารมณ์ด้วยท่วงทำนองที่กระชั้น สนุกสนาน โดยเฉพาะท่อนโซโลกลองเกือบช่วงท้ายเพลงทำเอาหัวใจเต้นไม่เป็นส่ำ (วิลลี เนลสันเองก็เคยร้องเพลงนี้ไว้ครั้งแรกย้อนกลับไปในปี 1969)




มีหลายเพลงที่คาดไม่ถึงว่าจะอยู่ในอัลบัมนี้ แต่ว่าไม่มีเพลงในต่ำกว่ามาตรฐานฝีมือเลยแม้แต่เพลงเดียว (โดยรวมแล้วก็เป็นเพลงบลูส์แอนด์บูกีที่เก่าย้อนหลังไปถึงช่วงปลายยุค 40) อย่าง Night Life ไลน์เบสเข้าเพลงเนิบนาบกับเสียงทรัมเป็ตของวินตัน และถือเป็นเพลงโชว์ของสำหรับนักดนตรีแบ็กอัพอีกด้วย ซึ่งถูกนำมาร้อยเรียงต่อด้วยเพลง Caldonia บลูส์สนุกๆ อีกเพลงที่ได้ฟังเสียงกีตาร์โซโลอย่างออกรสออกชาติ ส่วนเพลงนุ่มๆ นั้น Basin Street Blues หรืออย่าง Ain’t Nobody’s Business เพลงหลังนี้คล้ายกับการส่งเสียงสะท้อนที่วิลลีอยากจะบอกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนถูกตำรวจจับ (ฮา) วิลลีไม่ได้วาดลวดลายกีตาร์ในทุกๆ เพลง แต่ว่าเพลงที่เขาโซโลก็จะเป็นท่อนโซโลที่มีความหมาย ซึ่งมีกลิ่นอายตั้งแต่แนวของจังโก ไรน์ฮาร์ดตไปจนถึงทีโบน วอล์กเกอร์ ที่ชื่นชอบก็คงเป็นเพลง Rainy Day Blues เพลงของวิลลีเอง องค์รวมของงานดนตรีที่ออกมาทั้งหมดใน Two Men With The Blues เป็นดนตรีที่ไหลลื่นประหนึ่งน้ำชุ่มฉ่ำในลำธารที่ไหลลงทางลาดแห่งขุนเขาอย่างแท้จริง

ความสำเร็จจากอัลบัม Two Men With The Blues ทำให้ในปี 2011 เราได้มานั่งฟังอัลบัมของสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งคันทรีและแจ๊สกันอีกครั้งหนึ่ง หากแต่ว่ามีความพิเศษมากขึ้นกว่าเดิม เพราะครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะ “พวกผู้ชาย” แต่ว่ามีหญิงสาวเสียงเนียนหูเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วยอีกคนหนึ่ง ว่าด้วยแนวทางของอัลบัมคันทรีแจ๊สแบบนี้แล้ว ไม่เห็นคุณสมบัติข้อใดเลยที่เธอคนนี้จะขาดตกไป ในเมื่อชื่อของเธอคือ นอราห์ โจนส์ คงถึงบางอ้อกันทุกคนแล้วว่าเหตุใดถึงได้บอกว่า เธอเหมาะสมมากกับ Here We Go Again: Celebrating The Genius Of Ray Charles โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนอราห์เคยได้ร่วมทำงานดูเอ็ตกับเรย์ ชาร์ลสมาแล้วในผลงาน Genius Loves Company เมื่อปี 2004 ในผลงานชุดนี้วินตันยังคงทำหน้าที่ขับเคลื่อนวง ส่วนวิลลีก็ยังคงทำหน้าที่ให้เสียงร้องแหบเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ส่วนนอราห์รับทั้งร้องและเล่นเปียโนแทนแดน นิมเมอร์ สมาชิกวงคนอื่นๆ ยังคงเดิม นักดนตรีทั้งสามคนได้มารวมตัวกันครั้งแรกที่โรส เธียเตอร์ ปี 2009 จนสืบเนื่องมาเป็นอัลบัมชุดนี้ Here We Go Again เป็นการแตกแนวความคิดออกไปอีกทางหนึ่ง ทำให้วิลลีและวินตันไม่จำเป็นต้องเล่นอยู่กับคอนเซ็ปต์คันทรีบลูส์แบบอัลบัมก่อนหน้านี้




หากจะว่ากันด้วยเรื่องสิ่งที่เหมือนกันกับเรย์ ชาร์ลสแล้ว คงมีแต่วิลลี เนลสันที่มีองค์ประกอบที่ปะปนหลากหลาย รับเอาดนตรีหลากแขนงเข้ามาและแสดงออกไป (เรย์เองก็เป็นนักดนตรีที่ซึมซับดนตรีอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกอสเปล, บลูส์, คันทรี, แจ๊ส และอาร์แอนด์บี) เหมือนอย่างที่เราเคยได้เห็นเขาออกผลงาน Stardust (1978) ซึ่งเป็นผลงานครอสโอเวอร์ที่มีอายุยืนนานที่สุดชุดหนึ่ง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิลลีเองกลายเป็นตำนานที่มีชีวิตของอเมริกา ส่วนวินตันนั้นตั้งใจจัดลำดับเพลงทั้งสิบสองเพลงในผลงานชุดนี้เอาไว้อย่างมีระบบ โดยใช้ธีมเรื่องความรัก ตกหลุมรัก หลงใหลโงหัวไม่ขึ้น สุดท้ายก็จากลา จากนั้นถึงค่อยกลับมาใหม่ เขาบอกว่างานชิ้นนี้เป็นเพลงรากฐานของอเมริกาซึ่งปะปนไปทุกแขนง เหมือนในช่วงต้นยุค 50 ที่ดนตรีแนวไหนๆ ก็นำมาสังสรรค์กันก็ได้ ในจุดนี้วิลลีเห็นด้วย “คุณต้องเปิดใจรับและรักบทเพลงทุกๆ แนวเพื่อที่จะตีความเพลงเหล่านั้นได้” เขาบอก
ผลงานสแตนดาร์ดของเรย์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เป็นต้นว่าเพลง Hallelujah I Love Her So, Cryin’ Time, Hit The Road Jack, Busted, Makin’ Whoopie และเพลงเด่นเป็นสัญลักษณ์ What I’d Say ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามาตลอด และวิญญาณแห่งดนตรีในแบบเรย์ ชาร์ลสยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วน ยิ่งถ้าเรย์ยังมีชีวิตอยู่แล้วล่ะก็ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะสามารถสวมบทบาทใดบทบาทหนึ่งบนเวทีโรส เธียเตอร์ได้อย่างไม่ประดักประเดิดแน่นอน วินตันเรียบเรียงเพลงทุกเพลงในอัลบัมนี้ออกมาในหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกอสเปลสองจังหวะใน Hallelujah I Love Her So, บูกาลูใน What I’d Say, คันทรีบัลลาดใน Cryin’ Time วิลลีร้องดูเอ็ตคู่กับนอราห์ได้อย่างนวลเนียนในอารมณ์คันทรี, โบเลโรใน Unchain My Heart, ฮาร์ดบ็อพใน Makin’ Whoopie ก็เจือกลิ่นอายแจ๊สเข้มข้นขึ้นมาอีกหน่อยกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของนอราห์, อาร์แอนด์บีใน Here We Go Again นอราห์เคยร้องเพลงนี้กับเรย์ใน Genius Loves Company มาก่อนอยู่แล้ว เพลงนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นอายสไตล์ของนักร้องสาวอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีจังหวะเต้นรำพื้นๆ อย่างวอลต์ซใน I Love You So Much It Hurts หรือว่าจะเป็นแปลกไม่คุ้นหูอย่างบูกาลูผสมกับอะโฟร-ละติน แบ็กบีตใน I’m Moving ที่มีจังหวะขัดในแบบอะโฟรเจือปน และสวิงจังหวะ 4/4 ซึ่งมีอยู่ในหลายๆ เพลง ส่วนอีกเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Come Rain Or Come Shine ดูเอ็ตระหว่างวิลลีกับนอราห์ ด้วยรูปแบบวอล์กกิง บัลลาดต้องมนต์เสน่ห์

จะว่าไปแล้วตัววินตัน มาร์ซาลิสเองก็เป็นนักดนตรีที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผลงานกับศิลปินคุนทรีผู้ยิ่งยงถึงได้ยึดโยงอยู่กับความเป็นรากของคนอเมริกัน เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน วินตันก็ได้รับคำวิจารณ์เชิงลบจากนักดนตรีมีชื่อเสียงหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเลสเตอร์ โบวี, คีธ จาร์เร็ต, สแตนลีย์ คลาร์ก เป็นต้น ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเวลาฝรั่งวิจารณ์นั้นมักจะตรงเข้ากระดูกดำอย่างไม่ค่อยเกรงใจ แต่ดูเหมือนว่าวินตันก็มั่นคงในจุดยืนของตัวเองจนกระทั่งมาถึง พ.ศ. นี้ เขาก็ยังคงเป็นเหมือนเคย ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากแต่ว่ามันมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้วิลลีและวินตันสามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดีในคอนเซ็ปต์แบบนี้ ยิ่งได้นอราห์มาเสริมทัพด้วยแล้ว ความเป็นอเมริกันยิ่งเห็นเด่นชัด ส่วนนักดนตรีแบ็กอัพคนอื่นๆ ก็เป็นกำลังสำคัญเช่นกันในการเต้มแต่งตัวดนตรีที่ออกมาให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะมิกกี ราฟาเอลกับเสน่ห์แห่งฮาร์โมนิกาของเขานั้นไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็กที่สร้างสีสันให้กับ Two Men With The Blues กับ Here We Go Again ได้อย่างมาก

เป็นผลงานที่คุ้มค่ากับการฟังเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นคนมะริกันหรือไม่ก็ตามที



Willie Nelson & Wynton Marsalis featuring Norah Jones – Here We Go Again: Celebrating The Genius Of Ray Charles (Blue Note)

นักดนตรี

วิลลี เนลสัน ร้องนำ, กีตาร์
วินตัน มาร์ซาลิส ทรัมเป็ต
นอราห์ โจนส์ เปียโน, ร้องนำ (เฉพาะอัลบัม Here We Go Again)
มิกกี ราฟาเอล ฮาร์โมนิกา
วอลเตอร์ แบลนดิง เทเนอร์แซ็กโซโฟน
คาร์ลอส เอนริเกซ เบส
อาลี แจ็กสัน จูเนียร์ กลอง, เพอร์คัสชัน
แดน นิมเมอร์ เปียโน (เฉพาะอัลบัม Two Men With The Blues)

Tracklisting

1. Hallelujah I Love Her So (Charles)
2. Come Rain or Come Shine (Arlen, Mercer)
3. Unchain My Heart (Powell, Sharp)
4. Cryin' Time (Owen)
5. Losing Hand (Calhoun)
6. Hit The Road Jack (Mayfield)
7. I'm Moving On (Snow)
8. Busted (Howard)
9. Here We Go Again
10. Makin' Whoopie (Kahn)
11. I Love You So Much (Tilman)
12. What'd I Say (Charles)



Willie Nelson & Wynton Marsalis – Two Men With The Blues (Blue Note)

Tracklisting

1. Bright Lights, Big City
2. Night Life
3. Caldonia
4. Stardust
5. Basin Street Blues
6. Georgia On My Mind
7. Rainy Day Blues
8. My Bucket's Got A Hole In It
9. Ain't Nobody's Business
10. That's All.




 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2555
0 comments
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 21:47:20 น.
Counter : 4340 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.