"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
17 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 
MIKE STERN จากหัวใจใส่เส้นลวด


ไมค์ สเติร์น นักกีตาร์รุ่นใหม่คนนี้ใช้เวลา 25 ปีในการเคี่ยวกรำสไตล์การเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นการผสมผสานฮาร์โมนิกของบีบ็อปเข้ากับอารมณ์ละมุนละไมของร็อคแอนด์โรล ด้วยส่วนผสมที่เท่าๆ กันจากจิม ฮอลและ จิมี เฮนดริกซ์ สเติร์นได้สร้างสรรค์เส้นทางอาชีพของตัวเองจากความรักในดนตรีอย่างแท้จริง



"สำหรับผมแล้ว แจ๊ซไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่ดีกว่า เพียงเพราะมันซับซ้อนกว่าเท่านั้น ผมใช้หัวใจฟังเพลงมากขึ้น บางครั้งเพียงแค่โน้่ตคู่แปดธรรมด๊า ธรรมดา พวกเพลงคอร์ดเดียวที่มีท่วงทำนองสวยๆ ก็เอาผมอยู่หมัดได้เหมือนกันนะ" สเติร์นกล่าว

เพียงแค่วัยกระเตาะ ความดังก็มาเยือน

สเติร์นเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อยๆ "แม่ผมเป็นนักเปียโน แต่ก็แค่เล่นสนุกๆ เท่านั้นแหละครับ" เขาบอก "แม่จะเปิดแผ่นเสียงไว้ทั่วบ้านเลยครับ แน่นอนเลย ผมฟังเพลงร็อคมาเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น เดอะ บีเทิลส์, เฮนดริกซ์ และ เดอะ ครีม อ้า....แต่เรื่องร้องเพลงก็สำคัญไม่แพ้กันเลยนะ เพราะผมเข้าไปอยู่ในวงประสานเสียงตั้งแต่ยังเล็กๆ ที่โรงเรียนสมัยนั้น คุณครูโรงเรียนนี้เต็มไปด้วยไฟแห่งดนตรีจริงๆ (แหม...ยังกะเรื่อง The School Of Rock - ผ้เขียน) พอดีว่าครูคนหน่ึงเขาบอกว่าชอบเสียงของผม ก็เลยเชียร์ให้เข้าร่วมวงประสานเสียงของโรงเรียน ซ่ึงมันได้นำพาผมไปสู่โลกแห่งโอเปราของจริงซะด้วย! แถมตอนนั้นผมเพิ่งเก้าขวบเอง มีคนมาจากวอชิงตัน โอเปรา โซไซตี ในดีซีที่เขาว่าเป็นวงประสานเสียงที่ดีที่สุดเลย เข้ามาดูพวกเรา เขาบอกเขาต้องการเด็กๆ ไปเล่นบทเด็กขอทานในโอเปราเรืื่อง Tosca นั่นแหละผมเลยได้เข้าวงโอเปราละ แล้วก็ได้ร้องสองประโยคครับ แต่ลองจินตนาการดูว่าตอนนั้นคุณอายุเก้าขวบสิ มันอัศจรรย์เลยทีเดียวแหละ"

ในตอนแรกนั้ สเติร์นฝึกฝนกีตาร์ด้วยตัวเอง "ผมเคยเรียนร็อค เรียนบลูส์ มาเยอะเหมือนกัน เมื่อก่อนผมก็ฟังเพลงบลูส์ด้วย ทั้งชิคาโกบลูส์ ฟังอัลเบิร์ต คิงเยอะเลย บี.บี.คิง, บัดดี กาย, จูเนียร์ เวลส์ แล้วก็ชาร์ลี มัสเซิลไวต์ โอ้ย สารพัด แล้วก็มาฟังจิมี เฮนดริกซ์อีกกระบุง, เดอะ ครีม, เจฟ เบ็ก แล้วก็อะไรแนวๆ นั้นอีกเพียบ ผมเริ่มเรียนรู้เรื่องกีตาร์เมื่อตอนอายุได้สิบสอง ผมก็จะฟังแล้วก็เล่นตามแผ่นเสียงพวกนั้น ผมสามารถแกะเพลงได้ดีทีเดียว เท่านั้นแหละที่ผมต้องการในตอนนั้น"



สเติร์นรำลึกความหลังต่อไปอีกถึงเรื่องการฟังเพลงของตัวเอง "เพลงของไมล์ส เดวิสไงครับที่ผมฟังเป็นเพลงแรก If I Were A Bell ทีนี้ในที่สุดเมื่อผมก็เริ่มฟังเพลงที่แม่เปิดอย่างจริงๆ จังๆ ผมก็เลยเอาแผ่นเสียงแผ่นหน่ึงของท่านขึ้นมาบนห้อง ผมไม่รู้หรอกว่าแผ่นอะไร ผมก็เปิดแล้วเล่นตาม แต่เชื่อไหมผมโคตรเล่นมั่วเลย ผมหลงคีย์ไปหมด คีย์มันเปลี่ยนและทำนองมันก็เข้าใจยากจริงๆ ผมเลยมึนสุดๆ แต่นั่นทำให้ผมรักแจ๊ซ แล้วผมก็เริ่มต้นจริงจังนับแต่นั้นมาครับ"

นักกีตาร์แจ๊ซยุคต้นๆ ที่มีอิทธิพลกับสเติร์นนั้ได้แก่ จิม ฮอล, เวส มอต์กอเมอรี, โจ แพส และ จอร์จ เบนสัน "ผลงานยุคแรกๆ ของเบนสันนั่นแหละครับที่ผมรัก เขาเป็นมือกีตาร์ฝีมือฉกาจจริงๆ แต่ผมว่าเขาได้รับการยกย่องน้อยไปนะ เพราะคนมัวแต่คิดว่าเขาไม่ใช่นักกีตาร์" นอกจากนั้นเขายังฟังงานประเภทเครื่องเป่าอีกมากมาย อาทิ จอห์น โคลเทรน, ซันนี รอลลินส์, ไมล์ส เดวิส และ แคนนอนบอล แอดเดอร์ลีย์ ส่วนงานเปียโนที่เขาชอบคือ แม็คคอย ไทเนอร์ และ บิล เอแวนส์

สู่โรงเรียนเบิร์กลี

สเติร์นเข้าเรียนในโรงเรียนดนตรีชั้นนำอย่างเบิร์กลีในบอสตัน "ผมเพิ่งจะได้เรียนรู้จากที่นี่ว่าจะอ่านโน้ตอย่างไร แล้วโน้ตตัวไหนอยู่ส่วนไหนของฟิงเกอร์บอร์ด ซ่ึงผมไม่เคยรู้เลยนะนั่น แต่ผมก็อินไปกับมัน อยู่กับมันไปเลย ตอนนั้นผมก็ทำตัวแปลกแยกกับมันเหมือนกันนะ ผมว่าผมเข้ากับมันไม่ค่อยได้อย่างไรก็ไม่รู้ ผมเลย...มันเหมือนคนขี้ขลาดน่ะ ผมก็เลยได้แต่คิดว่าเออ...เรียนเอาไว้เป็นทักษะเล่นบลูส์กับร็อคก็แล้วกัน เพราะว่าตอนนั้นผมรู้สึกแบบ...อะไรมันก็เดิมๆ ไปซะหมด แล้วผมก็อยากจะหาที่ลองของหน่อย ผมอยากจะเรียนเพิ่มๆๆ แล้วดูสิว่าจะทำอะไรต่อไปได้

"แล้วในที่สุดผมก็เข้าใจมันจนได้" สเติร์นบอกต่อ "ยิ่งผมเข้าใจมันมากเท่าไร ผมก็ยิ่งถลำลึกรักมันมากขึ้นเท่านั้น ผมรักแจ๊ซอย่างที่มันเป็นจริงๆ ฉะนั้นเมื่อมันเริ่มจูนเข้ากันได้อย่างนี้ ยิ่งผมเล่นมากขึ้น ผมก็ยิ่งหลงใหลเป็นทวีคูณ แต่ผมเป็นคนที่เล่นถ่ายทอดออกมาได้ช้ามาก ผมเลยคิดว่าสงสัยเล่นไม่ได้แล้วมั้ง ผมแทบจะจำคอร์ดเคิร์ดของเพลงสแตนดาร์ดไม่ได้เลยนะ ใช้เวลาโกฏปีเลยนะ



"แต่ด้วยวิวัฒนาการทีละเล็กทีละน้อย ผมก็ค่อยๆ เรียนรูู้ๆ ปลาๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะผ่านพ้นสู่แจ๊ซ ผมว่ามันก็เหมือนกับการเรียนภาษานะ เบิร์กลีเป็นสถาบันที่ดีเยี่ยมในสายตาผมเพราะผมรู้ว่าผมต้องการอะไรจากพวกเขา คุณอาจจะหลงทางได้ถ้าไปเรียนแบบไร้จุดหมาย แต่ถ้าคุณมีจุดมุ่งหมายที่แท้จริง คุณก็จะสามารถจับจุด ทำตามสิ่งที่ครูสอนไป และเพ่ิมเติมความรู้ตามอย่างที่คุณต้องการ นั่นช่วยผมได้มากเลย เพราะผมเองก็ตกที่นั่งนั้นเหมือนกัน เหมือนอยากจะพูดภาษานั้นคล่องๆ แต่ผลสุดท้ายก็พบว่ามันไม่ใช่เรา ในตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าเรียนจบมาแล้วจะเป็นอะไรต่อ....จริงๆ นะครับ ไม่ได้โม้ ผมเรียนรู้ไปอย่างช้าๆ แล้วผมก็ต่อสู้กับหลายสิ่งหลายอย่างรวมทั้งตัวเอง เพื่อในที่สุดจะได้มาซ่ึงวันนี้ มันคือการมุ่งมั่นแล้วก็ศรัทธา ถ้าคุณทำโน่นทำนี่พลาดไป มันอาจจะแย่ก็จริงนะ แต่คุณก็แค่ถอยหลังกลับแล้วเริ่มต้นใหม่"

สเติร์นสรุปท้ายในเรื่องเบิร์กลีว่า "หลักๆ ของผมก็คือการเล่นเพลงบรรเลง เรียนเรื่องกีตาร์ให้มากที่สุด ผมเรียนเรื่องการประพันธ์มานิดหน่อย ผมคงจะทำส่วนนี้ได้ดีเหลือหลายถ้าผมขยันทำอีกเยอะๆ แต่ยังไงก็ตามผมตั้งใจจะแต่งเพลงให้มากขึ้นต่อไปด้วยครับ"

ออกหมัดแรก

เมื่อสเติร์นอายุได้ยี่สิบสองปี เขาก็เริ่มเข้าร่วมวงครั้งแรกกับ บลัด สเว็ต แอนด์ เทียร์ส "ผมเรียนกับครูดีๆ สองสามคนในบอสตัน คนหน่ึงก็คือ มิก กู๊ดดริก และอีกคนคือ แพ็ต เม็ทธินี เชื่อไหม แพ็ตอายุสิบแปดแต่ผมอายุยี่สิบ เขามาสอนหนังสือแล้วแต่ผมยังเรียนอยู่ ผมไปพบเขา ถามเขาวว่าผมจะเรียนกับเขาสักหน่อยได้ไหม เขาบอก "เอาเลย มานี่ เล่นให้ผมดูซิ" ผมเล่น Autumn Leaves หรืออะไรประมาณเนี้ยกับเขา แล้วผมดันเล่นผิดโน้ต โคตรห่วยอ่ะ แต่เขากลับบอกว่าเยี่ยม เขารู้ตัวตนของผมจริงๆ ขนาดตัวผมเองยังไม่รู้เลยในตอนนั้น

"หลังจากนั้นสองปี เขาบอกให้ผมออกเล่นข้างนอกได้แล้ว แล้วบอกถึงสิ่งที่ผมต้องทำว่า ต้องเล่นให้มากขึ้นอีก พอเขาได้ยินเรื่องการออดิชันของวงบลัด สเว็ต แอนด์ เทียร์ส ก็ให้ผมไปออดิชัน บ็อบบี โคลัมบาย (มือกลอง) โทรมาบอกว่าอยากให้ผมไปลองทดสอบ แล้วบอกอีกว่าแพ็ตเป็นคนแนะนำผม ผมก็เลยไปลองดู ตอนนั้นเป็นช่วงที่ดีจริงๆ ทำให้รู้ว่ามันรู้สึกยังไงบ้าง ถึงแม้ผมแทบไม่อยากจะไปในตอนแรก แต่ก็ไปล่ะ และในที่สุดผมก็ได้รับโทรศัพท์จากพวกเขาบอกว่าผมผ่าน! ผมโคตรช็อคยังกะโดนเตะก้นแน่ะ คุณคิดดูนะ นักดนตรีเจ๋งๆ ทั้งนั้นน่ะ ทั้งบ็อบบีก็คนหน่ึงละ แล้วยังรอย แม็กเคอร์ดี ที่เคยเล่นกับแคนนอนบอล แอดเดอร์ลีย์ สารพัดเลยคุณ มาจากคนละที่คนละทางเลย



"ผมก็เลยเล่นอยู่นั่นราวๆ สองปีได้" สเติร์นเล่าต่ออย่างเมามันเลยทีนี้ "แล้วจาโค แพสโตเรียสก็เข้ามาร่วมวงด้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมพบจาโคก่อนที่จะมาเจอกันที่เวเธอร์รีพอร์ตซะอีก บ็อบบีเป็นคนโปรดิวซ์งานชุดแรกให้จาโค และเมื่อรอน แม็กครัวร์ตัดสินใจลาออกจากวง จาโคก็เลยได้เข้าเสียบแทน ผมอายุยี่สิบสองในตอนนั้น ผมได้เรียนรู้อย่างมหาศาลเลย พวกเขาบอกว่าประสบการณ์ต้องเรียนรู้เอง นั่นให้อะไรหลายๆ อย่างกับผมทีเดียว

"หลังจากอยู่กับวงบลัด สเว็ต แอนด์ เทียร์สแล้ว ผมถึงกลับไปที่บอสตัน เล่นกิ๊กสไตล์บีบ็อปอยู่หลายที่กับเจอรี เบอร์กอนซี นักแซ็ก แล้วก็ไทเกอร์ โอโกชิ นักทรัมเป็ตที่เกินคำบรรยาย เขามีวงที่เล่นออกแนวฟิวชันและใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้ามากกว่านี้อยู่ด้วย บิล ฟริเซลก็เคยเล่นกับไทเกอร์เหมือนกัน ผมรู้จักกับบิลตอนที่ผมกลับมาบอสตัน รู้จักสโก (ชื่อที่เขาเรียกจอห์น สโกฟิลด์) นิดหน่อยด้วย เพราะเราเคยเรียนเบิร์กลีช่วงเดียวกัน แต่คนละชั้นปี เขาแก่กว่าผมปีสองปี"

ไมล์สสมัย

หลังจากเมามันส์กับกิ๊กทั่วบอสตันได้สักระยะ บิลลี ค็อบแฮม มือกลองชั้นนำคนหน่ึงของวงการ ก็โทรเรียกสเติร์นไปร่วมวงด้วยกัน เขาอยู่กับบิลลีได้ราวเก้าเดือน

"ผมได้ไปเดินสายกับบิล เอแวนส์ (นักแซ็กโซโฟน) ด้วย เขามาหาผมแล้วบอกว่า "นายรู้ไหม ฉันเล่นกับไมล์ส เดวิส" ผมก็ตอบกลับไปว่า "เออ ผมรู้สิ" แล้วเขาก็ตอบกลับมาทันทีว่า "ตอนนี้พวกเรากำลังทำอัลบัมกันอยู่ แล้วจะเริ่มออกทัวร์แล้ว ถ้ามือกีตาร์คนปัจจุบันเขาไม่ไหว ฉันจะแนะนำนายเข้าไป" แบรี ฟินเนอร์ตีคือมือกีตาร์ที่บิลกล่าวถึง ไม่ใช่ว่าเขาเล่นไม่ดีหรอกครับ แต่บางทีด้านความสัมพันธ์ส่วนตัวอาจจะไม่เวิร์ค มันไม่ “คลิก” กันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แล้วบิลก็พาไมล์สมานิวยอร์ก ซ่ึงเป็นที่ที่ผมเล่นกับบิลลีอยู่ ไมล์สก็มาหาผมที่นี่ เขาตะโกนเรียกบิลลีตอนที่พวกเรากำลังเล่นอยู่นั่นแหละ และทันใดนั้นเอง มือกลองเราก็หายไปเฉยเลย แต่เราก็ยังเล่นต่อกันเฉย ไมล์สบอกบิลลีว่า "ช่วยบอกมือกีตาร์ให้ไปพบผมที่สตูดิโอบี ที่โคลัมเบีย พรุ่งนี้หกโมงนะ" นั่นล่ะครับที่มา"

แล้วอย่างสเติร์นน่ะรึจะไม่ไปตามคำขอของ The Prince Of Darkness??? "ผมก็เลยไปหาเขา แล้วเล่นเพลงเพลงหน่ึงที่พวกเขาไม่เคยเล่น แล้วอีกสัปดาห์หนึ่งเราก็เล่นอีกเพลงหน่ึงที่เป็นตอนจบเพลงในอัลบัม Man With The Horn ตอนนั้นเขายังไม่ได้ตั้งชื่อเพลงด้วยซ้ำ แต่ในเพลงนี้มีท่อนโซโลกีตาร์ที่ยาวสะบัด แล้วไมล์สก็ชอบมาก เขาเลยตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Fat Time ซ่ึงเป็นชื่อเล่นที่เขาเรียกผม หน่ึงคือตอนนั้นผมอ้วนยังกะผู้หญิงท้องแน่ะ ก็คนมันดื่มจัดน่ะนะ หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมเลยต้องจัดการกับการดื่มของตัวเองซะใหม่ ผมเลิกเหล้าไปราวยี่สิบปีได้มั้ง และสอง เขาก็ยังเรียกผมว่าแฟ็ต ไทม์อยู่ดี เพราะเขาบอกว่าก็ผมเคยอ้วนนี่นา....นั่นแหละครับ

"ผมว่าถ้าให้ผมบอกว่าตัวเองมีอะไรดีล่ะก็นะ....น่าจะเป็นเซ้นส์ในเรื่องจังหวะของผม ผมสามารถจับจังหวะและเล่นตามได้ดี มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องวิชาการอะไรหรอก แต่ผมหมายถึงการจับจังหวะที่ถูกต้องน่ะครับ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ผมรักดนตรีแจ๊ซ มันคือจังหวะดนตรี เวลาเล่นแล้วผมมีความสุข หากเล่นมันส์ได้ที่ผมก็ยิ่งอินเข้าไปใหญ่ แล้วผมก็ดีใจที่เพลงของไมล์สทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้นได้ เขานี่สุดยอดจริงๆ"



สเติร์นเล่าต่อว่า "พอเขาใช้ชื่อผมตั้งเป็นชื่อเพลง ผมก็เหวอสิครับ แต่เขาก็บอกว่า "เอาละ ออกไปเล่นโชว์ข้างนอกกันดีกว่า" ผมก็เลยบอกว่า "อ้าว แล้วใครจะเล่นคีย์บอร์ดส์ล่ะครับ?" เขาทำผมตะลึงอีกหนด้วยการบอกว่า "ไม่มีหรอกคีย์บอร์ดสน่ะ มีแต่นายเท่านั้นแหละ" ผมก็...แบบว่า โอ้โห เขาบอกว่า "ไม่ต้องกังวลไปหรอก" ผมได้ยินเท่านั้นแหละครับ สิ่งที่เขาต้องการคือไม่ต้องมีคอร์ดซับซ้อนมากมาย ซาวด์ไม่ต้องเต็มมากนัก แต่สิ่งที่ได้กลับมาคืออารมณ์ ผมเล่นอยู่กับไมล์ส, มาร์คัส มิลเลอร์, อัล ฟอสเตอร์, บิล เอแวนส์ และมิโน ชิเนลูประมาณสามปี แล้วก็ออกอีกสองอัลบัมคือ We Want Miles กับ Star People

เริ่มฉายเดี่ยว

ปี 1983 เป็นปีที่เขาเริ่มออกอัลบัมเดี่ยวชุดแรก Neesh สเติร์นเล่นกับ สเต็ปส์ อะเฮด และกลับมาเล่นช่วงสั้นๆ กับไมล์สอีกครั้งในปี 1985 เขาเซ็นสัญญากับค่ายแอตแลนติก ซ่ึงเป็นค่ายคู่บุญคู่บารมีกันมาตลอดสิบหกปีกับงานสิบอัลบัม โดยมากงานของเขามักจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มีบ้างเหมือนกันที่เอางานสแตนดาร์ดมาทำ อย่างอัลบัม Standards and Other Songs (1992) และ Give And Take (1997) เขาเริ่มต้นค้นหารอยต่อระหว่างแจ๊ซกับร็อคอย่างจริงๆ จังๆ ในอัลบัมหลังนี้

งานชุด Jigsaw (1989), Is What It Is (1993) และ Play (1999) เห็นได้ชัดว่าเขาจับคู่ทั้งกับบิล ฟริเซลและจอห์น สโกฟิลด์ ทั้งยังมีพัฒนาการในการเขียนเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ประกอบกับธีมบีบ็อปกับจังหวะที่ร่าเริงขึ้น และลุ่มลึก ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 เขายังร่วมเล่นกับบ็อบ เบิร์ก, ออกทัวร์กับไมเคิล เบร็กเกอร์ และร่วมฟื้นฟูวงเดอะ เบร็กเกอร์ บราเธอร์ส ในปี 1992 ด้วย งานโซโลอัลบัมของสเติร์นนั้นเรียกได้ว่า "เวิร์ก" พอๆ กับการเป็นแขกรับเชิญในอัลบัมของเพื่อนๆ เป็นร้อยอัลบัมทีเดียว

ในช่วงเวลาหลายปีที่สเติร์นได้ร่วมเล่นกับนักดนตรีติดอันดับแจ๊ซร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล เบร็กเกอร์, เดวิด แซนบอร์นและเคนนี การ์เร็ต ในสายนักเป่าแซ็กโซโฟน จาโค แพสโตเรียส, วิล ลี, วิกเตอร์ วูเต็นและริชาร์ด โบนา ในสายนักเบส ปีเตอร์ เอิร์สกีน, เดนนิส แชมเบอร์สและวินนี โคไลทา ในสายมือกลอง อีกหน่ึงคนที่ขาดไม่ได้ซ่ึงสเติร์นร่วมงานมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน นั่นก็คือมือคีย์บอร์ดและโปรดิวเซอร์คู่บุญ จิม เบิร์ด "ผมว่าเขาตลกนะ เป็นทั้งนักดนตรีทีื่เยี่ยมยอด แถมโปรดิวซ์เฉียบขาด เขารู้เสมอว่าตอนไหนต้องปล่อยไป ตอนไหนต้องเล่น เขารักษาระดับตรงนั้นได้ดีมาก"

สเติร์นไม่เหมือนกับแพ็ต เม็ทธินีตรงที่เขาจะมุ่งมั่นกับงานออกแสดงสด แต่แพ็ตจะมุ่งหาประสบการณ์อันแปลกใหม่จากการเข้าสตูดิโอบันทึกเสียงมากกว่า เขาพยายามจะทำงานสตูดิโอให้สดราวกับเล่นคอนเสิร์ตอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

"เพลงของผมส่วนมากจะบันทึกเสร็จภายในสามวัน ไม่รวมเวลาซ้อมอีกสี่วัน แล้วก็ค่อยมาโปรดิวซ์ทีหลัง แต่ไอเดียคือว่าคุณจะเหมือนได้อารมณ์ผสมผสานกันระหว่างทำงานอยู่ในห้องอัดกับแสดงสด ผมว่าตามธรรมดาแล้ว อะไรมันก็เหมือนเล่นสดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณจะไปแก้ไขซาวด์อีกหรือเปล่าเท่านั้น แต่ผมชอบอารมณ์แสดงสดนะ มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถมาหลอกกันได้ อารมณ์ระหว่างนักดนตรีมันส่งถึงกัน ผมชอบตรงจุดนี้มาก"

ทีละก้าวกับก้าวกระโดด

ขณะท่ีสเติร์นได้แสดงฝีมือการเขียนเพลงและเล่นดนตรีอันมีพัฒนาการไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในช่วงระยะเวลายี่สิบปีที่ผันผ่าน ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีเมื่อปี 2001 จากอัลบัม Voices ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเขา ด้วยการร่วมงานกับนักพหุดนตรีชาวแคเมอรูนอย่าง ริชาร์ด โบนา เป็นครั้งแรก เขาได้รับอิทธิพลในด้านเวิลด์มิวสิค มาจากเลนนี ภรรยาของตัวเองเหมือนกันตัวเลนนีเองก็เป็นมือกีตาร์ที่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่อยู่คนละสายกับสามี

สเติร์นกล่าวถึงเลนนีว่าเธอให้อะไรๆ กับเขามากมายทีเดียว "เธอชอบฟังเวิลด์มิวสิคทุกแขนงเลย ไม่ใช่แค่ฟังแต่แจ๊ซ พอตื่นเช้าขึ้นมา เธอก็จะมานั่งเคาะแทมบูราไปแล้วก็ร้องเพลง เธอเคยไปเรียนดนตรีอินเดียมาด้วยนะครับ ซ่ึงผมก็นั่งฟังเธอทุกเช้าเหมือนกัน เธอชอบมากครับ มีแผ่นของ Nusrat Fateh Ali Khan ด้วยนะ โคตรเจ๋งเลย

"บางทีผมก็เขียนเพลงได้จากการฮัมระหว่างที่นั่งเล่นกีตาร์ เนื้อร้องมักจะหลั่งไหลออกมาโดยธรรมชาติตอนนั้น จริงๆ แล้วผมก็ชอบในส่วนการร้องเหมือนกัน คิดเรื่องนี้มานานแล้วกว่าจะมาลงตัวได้ เมโลดีบางท่อนของผมก็เหมือนกับการร้องเพลงจริงๆ นะ มันติดดินดีนะ แล้วผมก็คิดมาเสมอว่าอยากจะทำงานกับนักร้องเก่งๆ สักวันหน่ึง แล้วริชาร์ด โบนาก็ทำให้ผมมั่นใจขึ้นมาได้ เขาช่วยผมอย่างมากเลยในภาคเสียงร้อง เพราะก็อย่างที่รู้ๆ ว่าผมไม่เคยทำ เขาบอกผมว่า "นายก็ลองดูเหมือนกับที่นายเขียนมันขึ้นมา ฉันจะร้องเอง แล้วก็หานักร้องมาเพิ่มอีกสักสองคน" นี่แหละครับผมก็เลยได้ทำงานอัลบัม Voices สมใจ"

These Times

ต่อเนื่องจากความสำเร็จของ Voices สเติร์นก็ต้องแปลกใจที่แอตแลนติกตัดสินใจหยุดการผลิตงานเพลงแจ๊ซทั้งหมด "ผมคุยกับโปรดิวเซอร์ อาห์เม็ต เอร์เตกัน เขาก็บอกผมตรงๆ ว่าผมเป็นศิลปินที่ดีสำหรับเขา แต่เขาไม่สามารถจะหาทางร่ำรวยจากอัลบัมของไมค์ สเติร์นได้เลย ยังไงก็ตามอาห์เม็ตก็เตรียมงบเล็กๆ ก้อนหน่ึงไว้ให้ผมเพื่อเป็นค่าอัดเสียงกับโปรโมชัน เขาบอกว่าเป็นเรื่องของ AOL ที่จะเข้าควบรวมกิจการกับไทม์วอร์เนอร์ ส่วนงานของแอตแลนติกถูกส่งผ่านมาจัดจำหน่ายผ่านวอร์เนอร์, อีเล็กตรา, อะไซลัม ถึงแม้ว่าตอนนี้วอร์เนอร์จะพยายามตีตัวออกห่างจากเอโอแอล แต่บอกได้เลยว่าตอนนี้แอตแลนติกไม่มีเพลงแจ๊ซแล้ว"



การทำงานกับค่ายเพลงใหม่เชื้อสายเยอรมัน ESC Records คราวนี้ สเติร์นเพิ่งได้่ทำงานออกมาอัลบัมเดียวคือ These Times ซึ่งมีส่วนต่อเนื่องกับ Voices ความเข้มข้นของภาคดนตรีจากฝีมือการเขียนของสเติร์นจะมีมากกว่า ถึงแม้ว่าเพลงร้องจะมีถึงครึ่งอัลบัมก็ตาม "ผมไม่อยากทำอัลบัม Voices อีก ผมจะได้บอกได้ว่า เออ นี่เป็นอัลบัมเพลงของผมที่มีเสียงร้องไง ตอนนี้ให้ผมกลับไปทำเพลงบรรเลงต่อละกัน ผมอยากทำอัลบัมร้องสักสองอัลบัมเป็นอย่างน้อย แต่ผมก็มีเพลงบรรเลงที่ต้องทำอีกเยอะเลยในชุดนี้ ผมคิดว่ามันออกมาดีกว่า เพราะผมได้ประสบการณ์ในการเล่นมาพัฒนางานอีก"

สเติร์นได้วิล ลี มือเบสกลับมาร่วมงานด้วยกันอีก เขาเป็นคนใส่ลวดลายมให้กับงาน Is What It Is "วิลนี่มันน่าท่ึงจริงๆ ผมรู้จักเขามาตั้งโกฏปีแล้ว เขาแทบไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองอะเมซซิงขนาดไหน เขาวาดลวดลายโคตรมันส์ ผมก็มันส์ตามไปด้วย เขาเป็นนักดนตรีที่เก่งรอบด้าน แล้วก็ไฟแรงอยู่ตลอดเวลาเลย"

ส่วนนักร้องเอลิซาเบธ คอนโตมานูก็เป็นนักร้องหลักในอัลบัมนี้ เช่นเดียวกันกับริชาร์ด โบนา ทั้งสองคนนี้ก็มาจากอัลบัม Voices "ผมว่าริชาร์ดเขาทำงานล้ำหน้าตลอด ผมจะมีไอเดียในหัวเลยว่าจะให้เขาร้องตอนไหน อย่างเช่นเพลง Silver Lining ผมว่ามันร้องโคตรยาก แต่เขากลับร้องออกมาได้สบายบรื๋อ แถมตรงกับที่ผมต้องการ ผมแค่ให้ไกด์เขาไปสั้นๆ ว่าอยากจะใช้เครื่องแปดแทร็คก็ได้นะ เสียงของเขาออกมาแปลกมากเลยครับ พอรวมกันครบทุกแทร็คแล้ว เจ๋งมาก เกินจะบรรยาย"

ส่วนศิลปินคนอื่นๆ ในอัลบัมรวมทั้งเบลา เฟล็ค นักแบนโจ และเพื่อนๆ วงเดอะ เฟล็คโทน, วิกเตอร์ วูเต็น มือเบส, วินนี โคไลลา ภาคริธึ่ม กับเดนนิส แชมเบอร์ส ที่มาร่วมบรรเลงด้วยในเพลง Remember ซ่ึงเพลงนี้อุทิศให้แก่บ็อบ เบิร์ก ส่วนทีมเครื่องเป่านั้นบรรเลงโดย เคนนี การ์เร็ต, บ็อบ มาแล็ค และ บ็อบ ฟรานเชสคีนี อันเป็นทีมประจำในการแสดงคอนเสิร์ตของสเติร์นอยู่แล้ว

ก้าวเดินด้วยลำแข้งของตัวเอง

สเติร์นเล่าเกี่ยวสไตล์การทำงานของตัวเองว่า "จริงๆ ผมไม่ใช่คนที่มีโปรเจ็กต์มากมาย เสร็จอันนี้ก็ทำอันนั้นต่อ ผมไม่ชอบทำอะไรลวกๆ ผมอยากจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า แล้วผมจะได้มีความสุขในการทำงานด้วย แล้วก็มีเพื่อนร่วมงานที่ให้เวลากับผมเต็มที่ ไม่ใช่เข้าสตูดิโอสองชั่วโมงก็ต้องเผ่นซะแล้ว ผมทำงานชิ้นหน่ึงไปเมื่อปีกอน อัลบัม 4 Generations Of Miles ไม่ใช่งานของผมหรอก แต่ผมโคตรชอบ คือมันอัดสดเลยไง เราซ้อมกันด้วยนะ ซ้อมกันยี่สิบนาทีเอง แล้วก็ไปเล่นที่คลับ อัดกันที่นั่น ผมดีใจมากที่ได้เล่นกับรอน คาร์เตอร์ นักดนตรีที่ผมรัก แล้วก็มี จอร์จ โคล คนนี้เล่นเจ๋งแบบไม่น่าเชื่อเลย แล้วอีกคนก็จิมมี ค็อบ งานออกมาน่าพอใจมาก มันมีพลังในตัวเองจริงๆ การอัดแผ่นการแสดงสดเป็นสิ่งที่ผมชอบทำ



"มันก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำอย่างอื่น แค่มีความพยายามหน่อย แล้วก็เวลาที่ได้รับแรงผลักดันอะไรมา ก็เขียนออกมา อย่าไปคิดว่าต้องดีหรือไม่ดี แค่ทำออกมาก่อนแล้วเดี๋ยวก็รู้ผลเอง นี่เป็นคำสอนที่มีค่ามากสำหรับผม หากคนฟังแล้วไม่ชอบ คุณก็เขียนใหม่ ดังนั้น ผมเลยคิดว่าต้องเล่นให้คนอื่นฟัง ไม่งั้นก็ไม่ได้รู้หรอก"

เป็นคติในการทำงานของสเติร์นที่น่ายกย่องโดยแท้

ในอนาคต

ส่วนเรื่องวันข้างหน้านั้น สเติร์นก็พอจะมีแผนกับเขาบ้างแล้ว "งานหน้าผมอยากจะทำกับเอลวิน โจนส ์ ผมเคยเล่นกับเขาตอนที่ทำอัลบัมของลิว โซลอฟ เป็นการทำงานที่สนุกมากสำหรับผม ชิงไหวชิงพริบกันตลอด เขาเป็นแบบอย่างมือกลองที่ผมชอบเลยนะ แนวทางของเขากว้างดี ผมก็เลยอยากจะร่วมงานดู ถ้าเขาเล่นให้ผม อืม..ไม่รู้สิ มันคงจะมันส์น่าดู"


เบลา เฟล็คเป็นอีกคนที่สเติร์นอยากจะทำงานด้วย "จากที่เขามาเล่นให้ผมเพลงหน่ึงในอัลบัมที่แล้ว เราก็เล่นกันไปเรื่อยเลยครับ แล้วเขาก็เกิดคิดได้ท่อนหน่ึง ซ่ึงมันแจ๋วจริง คุณคิดดูมันจะสุดยอดขนาดไหน ถ้าผมได้เอลวินกับเบลามาเล่นให้เนี่ย! อ้อ ผมยังมีอีกนะ เฮอร์บี แอนค็อกกับเวย์น ชอร์เตอร์ เป็นอีกสองคนที่ผมอยากจะเล่นด้วย"

ในขณะเดียวกับสเติร์นก็ยังคงใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม เขายังคงแกะท่อนโซโล แล้วยังเรียนทฤษฎีดนตรีกับชาร์ลี บานาคอส

"ผมว่าความรู้ผมมันชักถดถอย" โอ...พ่อหนุ่มสเติร์นนี่ช่างถ่อมตัวเสียจริงๆ "ก็ตลาดดนตรีปัจจุบันมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คุณก็จะพบว่าตัวเองเป็นแค่เม็ดทรายเม็ดเดียวบนผืนหาด แต่ผมชอบครับ ถ้าไม่ยอมแพ้ซะอย่าง คุณก็จะตระหนักว่าดนตรีนั้นมันมหาศาล เรียนรู้แทบไม่หมด แม้จะเกิดมาสักสิบชาติก็ตาม ผมก็ได้แต่ตามมันให้ทัน ฝึกฝนพัฒนาตัวเองให้มีเอกลักษณ์ คุณอาจจะหลงทางไปบ้าง แต่ถ้าเป็นผม...ผมฝึกฝนทุกๆ วัน เล่นทุกวัน" ได้ยินอย่างนี้แล้ว นักดนตรีอีโก้คนไหนยังคิดว่าตัวเองเก่งล่ะก็.... แย่แน่ๆ

"ผมนับถือนักดนตรีทุกคนที่เล่นดนตรีด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่มาแยกแยะแนวเพลงนั้น แนวเพลงนี้ ดนตรีก็คือดนตรี ทำดนตรีให้จับจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมได้จากการทำงานกับไมล์ส บางทีเราออกไปข้างนอกด้วยกัน เขาจะพูดถึงตอนที่เขาเล่นกับชาร์ลี พาร์เกอร์ ดูเขาตื่นเต้นที่ได้คุยเรื่องนี้ เสร็จแล้วเขาก็จะคุยเรื่องตอนที่เขาได้ดูจิมี เฮนดริกซ์เล่นเป็นครั้งแรกนั้น เขาเหวอขนาดไหน เขาไม่ได้คิดแค่ว่าเพลงเจ๋งๆ ต้องมีคอร์ดมึนๆ เยอะๆ เท่านั้นหรอก เขาก็เป็นของเขาอย่างนี้แหละ ผมว่ามันเป็นเรื่องทัศนคติและความรู้สึกมากกว่า ไมล์สเล่นดนตรีจากหัวใจ และเขาก็ใช้หัวใจฟังดนตรีเหมือนกัน"

ไมค์ สเติร์น ชายหนุ่มนักกีตาร์ที่มาพร้อมๆ กันทั้งแจ๊ซ, ร็อค และบลูส์ อันเป็นประสบการณ์ทางดนตรีชั่วชีวิตของเขา ซ่ึงได้แผ่นขยายกลายเป็นอิทธิพลให้กับมือกีตาร์รุ่นใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาฝีมือและความสามารถในทุกๆ ด้านของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะเรียนทฤษฎีมากมายแค่ไหน เขายังคงปักหลักยึดมั่นอยู่กับอารมณ์ของดนตรีมากที่สุด เรียกว่าเป็นนักดนตรีที่ใช้สมองทำงานรับใช้อารมณ์อย่างแท้จริง




Create Date : 17 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 21:42:19 น. 3 comments
Counter : 1443 Pageviews.

 
สวัสดีฮะ พอดีผมกำลังหาปกของ disney jazz จะเอาไปใส่เป็นพรีวิวโฟลเดอร์เพลงที่ริปลงมาในคอม(เพราะไม่ได้สแกนปกมาจากบ้าน) มาเจอบล้อกคุณพอดีฮะแหะๆๆๆ ขอบคุณมาก
ยินดีที่ได้รู้จักขาแจ้สอีกราย...แหะๆๆๆๆ


โดย: Penfin' IP: 203.159.36.10 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2548 เวลา:2:47:38 น.  

 
ขออนุญาตแอดไว้ครับ อิอิ ได้รู้ว่าเล่นกับเสือแตร ไทเกอร์ด้วยอ่ะ ว้าวๆ

ชอบBackground ที่เป็นแตรข้างหลังครับ แจ๋งดี
เป็นแบ๊กสีขาวแล้วรูปอยู่ล่างขวาใช่ไหมครับ เดี๋ยวจะ
ทำบ้าง อิอิ

อาทิตย์หน้าไมค์ เสติร์น ที่สกาล่าดูไหมครับผม
ซื้อบัตรหรือยังอ่ะ


โดย: ปลาทอง (platong_trumpet ) วันที่: 20 พฤศจิกายน 2549 เวลา:10:26:49 น.  

 
Family Music สอนกีต้าร์และเปียโน
สำหรับเด็ก-ผู้ใหญ่ เริ่มต้น-พื้นฐาน-สามารถแกะเพลงทำโน้ตได้
อยู่ถนนสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ
0865658433 022339951


โดย: T.Visit IP: 58.8.219.106 วันที่: 30 มกราคม 2555 เวลา:0:04:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.