"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
31 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 
Duke Ellington – “Music Is My Mistress”

ในช่วงหลังจากที่ “เขา” เสียชีวิตไปแล้ว “เขา” ได้รับพิจารณาคัดเลือกจากบรรดานักประพันธ์เพลงและนักดนตรีหลายต่อหลายคนในโลกดนตรี ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลฝรั่งเศสที่ยกย่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดให้ ในขณะที่รัฐบาลอเมริกันมอบเกียรติยศสูงสุดทางพลเรือนให้ “เขา” เล่นดนตรีให้กับชนทุกชั้นทุกวรรณะได้เสพย์อย่างถ้วนหน้า และเมื่อมีอายุ 50 ปี สถิติการออกตระเวณเเสดงนั้นเกินกว่า 20,000 งานทั่วโลก “เขา” ที่เรากำลังพูดถึง คือ ท่านดยุค ดุ๊ก เอลลิงตัน

เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี เอลลิงตัน ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1899 ในวอชิงตัน ดีซี ครอบครัวของดุ๊ก ประกอบไปด้วย เดซี เคนเนดี เอลลิงตัน และ เจมส์ เอ็ดเวิร์ด เอลลิงตัน เป็นตัวอย่างอันประเสริฐสุดให้แก่ดุ๊กน้อยในวัยเด็ก พวกเขาสอนดุ๊กทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่มารยาทบนโต๊ะอาหาร ไปยันหลักสูตรดนตรีโน่นเลยทีเดียว บทเรียนเปียโนบทแรกของดุ๊กเริ่มต้นเมื่อเขาอายุได้ 7-8 ขวบ แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่าเขาสนใจกับเปียโนมากนัก สิ่งที่ดุ๊กน้อยสนใจเห็นจะเป็น “เบสบอล” เสียมากกว่า! งานแรกที่ดุ๊กได้ทำคืองานขายถั่วลิสงที่งานแข่งขันเบสบอลของสมาชิกสภาสูงที่วอชิงตัน นี่เป็นครั้งแรกที่ดุ๊กได้ออกเล่นดนตรีต่อหน้าสาธารณชน แล้วก็เป็นที่ที่ทำให้เขาหายอาการขยาดการขึ้นเวทีเป็นปลิดทิ้งเสียด้วย!



เมื่ออายุ 14 เขาแอบดอดเข้าไปที่ห้องเล่นพูลของ แฟรงค์ ฮอลลิเดย์ ประสบการณ์ในนั้นสอนให้เขาสามารถเข้ากับผู้คนร้อยพ่อพันแม่ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าดุ๊กจะห่างหายไปจากบทเรียนเปียโนไปบ้าง แต่เขาก็ยังเริ่มต้นฉายแววของดาวรุ่งออกมาในช่วงนั้นได้ ดุ๊กเริ่มเข้าร่วมเรียนในโรงเรียนช่างอาร์มสตรอง เพื่อที่จะเรียนพาณิชยศิลป์แทนที่จะเรียนในวิทยาลัยแบบทั่วๆ ไป เขาเริ่มค้นหา เรียนรู้กับเปียโนสไตล์ แร็กไทม์ ในวอชิงตัน และในช่วงหน้าร้อนที่ฟิลาเดลเฟียกับแอตแลนติก ที่ซึ่งเขาและแม่เดินทางไปพักผ่อน ขณะที่อยู่ที่แอสบิวรี พาร์ก ดุ๊กก็ได้ยินกิตติศัพท์ของนักเปียโนผู้โด่งดังคนหนึ่งชื่อ ฮาร์วีย์ บรุกส์ ในตอนใกล้หมดช่วงพักร้อน ดุ๊กก็ตามหาฮาร์วีย์จนเจอและฮาร์วีย์ก็สอนเทคนิก ทริก และวิธีเรียนลัดในการเล่นเปียโน ดุ๊กกล่าวถึงเรื่องนี้ในภายหลังว่า “ตอนนั้นพอผมกลับไปถึงบ้าน ผมก็รู้สึกอยากจะเล่นเปียโนอย่างแรงกล้า ผมไม่ได้มีพื้นฐานที่ดีมาก่อนหน้านั้น แต่หลังจากที่ฟังเขาเล่น ผมได้แต่บอกตัวเองว่า ‘เฮ้ย นี่แกต้องเล่นแล้วนะ’ เลยแหละ” ด้วยเหตุนี้ ชีวิตการเล่นดนตรีของอัญมณีแห่งแจ๊ซก็ได้เริ่มต้นขึ้น….



ดุ๊กเล่นอยู่กับวงของ โอลิเวอร์ "ด็อก" แพร์รี และ ลุยส์ บราวน์ ผู้ซึ่งสั่งสอนบทเรียนในหลายๆ ด้านของเปียโน พัฒนาทักษะในการเล่นให้กับเขา จนเขาได้งานเล่นเปียโนตามคลับและคาเฟในย่านวอชิงตันทั้งหมด แต่เวลา 3 เดือนที่ขาดเรียนไป ทำให้เขาต้องพักการเรียน แล้วก็ตั้งหน้าเริ่มต้นกับอาชีพนักเปียโนอย่างจริงๆ จังๆ อย่างไรก็ตาม ดุ๊กได้รับอิทธิพลการเล่นเปียโนมาจาก เจมส์ พี.จอห์นสัน กับ วืลลี "เดอะ ไลออน" สมิธ

ปลายปี 1917 ดุ๊กเริ่มฟอร์มวงของตัวเองเป็นวงแรกในชีวิต Duke’s Seranaders ระหว่างปี 1918-1919 ดุ๊กได้สร้างความเป็นไทให้กับตัวเอง อย่างแรก เขาแยกตัวออกจากครอบครัวเข้ามาอยู่บ้านที่ซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรง อย่างที่สอง เขาเริ่มมีเอเยนต์ส่วนตัวในการรับจองคิวงานต่างๆ และด้วยวิธีนี้เอง วงของเขาสามารถที่จะรับงานได้ทั่วทั้งวอชิงตัน และยังเข้าสู่เวอร์จิเนียในงานเต้นรำชั้นสูงและงานปาร์ตี้ของสถานทูตต่างๆ ด้วย ในที่สุด เขาก็ลงเอยเป็นฝั่งเป็นฝากับ เอ็ดนา ธอมป์สัน และในวันที่ 11 มีนาคม 1919 เจ้าหนูน้อย เมอร์เซอร์ เคนเนดี เอลลิงตัน ก็ถือกำเนิดขึ้นมา เขาเริ่มต้นครั้งแรกด้วยการเริ่มเล่นกับ วิลเบอร์ สเว็ตแมน ในปี 1922 แต่ครั้งมันไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไรเลย

ในปี 1923 ดุ๊กขยับขยายฐานความมั่นคงของตัวเองในวอชิงตัน มุ่งหน้าเข้าสู่นิวยอร์ก ด้วยพลังของวิทยุสื่อมวลชน ผู้ฟังทั่วทั้งนิวยอร์กก็ได้รู้จักกับ ดุ๊ก เอลลิงตัน ในฐานะะนักดนตรีที่มีชื่อเสียง แล้วในเดือนกันยายนปีนั้นเอง เขาก็ได้บันทึกเสียงผลงานชิ้นแรกออกมา ในนามของวง เดอะ วอชิงตันเนียนส์ หลังจากที่มีปัญหากับเพื่อนร่วมวงนักแบนโจ เอลเมอร์ สโนว์เดน เรื่องเงินหาย ดังนั้น ดุ๊กจึงกลายมาเป็นผู้นำวง พวกเขาบันทึกเสียงให้กับหลากหลายค่ายโดยใช้นามแฝงแตกต่างกันออกไป พวกเขาเริ่มเล่นในคลับอย่าง เอ็กคลูซีฟ คลับ, คอนนีส์ อิน, เดอะ ฮอลลีวู้ด คลับ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คลับ เคนตักกี), ไคโรส์, เดอะ แพลนเตชัน คลับและคลับสำคัญที่จะลืมเสียไม่ได้ คัตตัน คลับ ในย่านฮาเร็ม ซึ่งพวกเขาเข้ามาร่วมเล่นในปี 1927 แล้วก็อยู่เล่นที่นั่นตลอดเวลาร่วม 3 ปี ต้องขอบคุณวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้การรับส่งสัญญาณวิทยุกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทำให้การกระจายเสียงผลงานของดุ๊ก เป็นไปทั่วประเทศ รวมทั้งการแสดงที่คัตตันคลับ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของขจรขจายชื่อเสียงของดุ๊กอย่างยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่เสียแล้ว



วงของดุ๊กเริ่มที่จะขยับขยายขนาดเหมือนคนเริ่มอ้วน! โดยมีแนวหลักที่เล่นกันคือ Jungle วิธีการเรียบเรียงแบบไม่เรียบง่ายทั่วๆ ไปของพวกเขา โดยมีมือทรัมเป็ต เจมส์ "บับเบอร์" ไมลีย์ คำรามเสียงออกมาผ่านอุปกรณ์ Mute ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญ ตัวอย่างที่จะสามารถอธิบายความโดดเด่นในช่วงแรกๆ ของทางวงได้ก็คือ เพลง East St.Louis Toodle-oo ซึ่งบันทึกให้กับโวเคชัน เรคคอร์ดส ในเดือนพฤศจิกายน 1926 เพลงนี้สร้างความโด่งดังให้พวกเขาถึงขั้นติดชาร์ตแล้วนำกลับมาบันทึกเสียงใหม่ในปี 1927 กับค่ายโคลัมเบีย

ปี 1928 ดุ๊กกับ เออร์วิง มิลส์ เซ็นสัญญาในการให้มิลส์เป็นผู้ที่จะมาจัดการเกี่ยวกับการพิมพ์บทเพลงของเขา แล้วหลังจากนั้นบริษัทแผ่นเสัยงต่างๆ ก็เริ่มทยอยกันเข้ามาอย่าง บรันสวิก, โคลัมเบีย และ วิกเตอร์ วงของดุ๊กก็กลายเป็นวงที่ผู้คนร้องหามากที่สุดอเมริกาและทั่วโลกไปโดยปริยาย ปีนี้เองที่ดุ๊กผลงานสร้างชื่อเสียง Black And Tan Fantasy/Creole Love Call กับต้นสังกัด วิกเตอร์ และอัลบัม Doin’ The New Low Down/Diga Diga Doo กับสังกัดโอเคห์ เพลง The Mooche กับสังกัดโอเคห์ไต่อันดับในหลายๆ ชาร์ตตั้งแต่ต้นปี 1929 พร้อมกันนั้น เขาก็ทำเวอร์ชันใหม่ของ East St.Louis Toodle-Oo

ถึงแม้จะเล่นกลางคืนเป็นหลักที่คัตตันคลับ เขาก็ยังมาเล่นที่บรอดเวย์ Show Girl ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์เพลงของ จอร์จ เกิร์ชวิน ในช่วงหน้าร้อนปี 1929 หน้าร้อนปีถัดมา ทางวงก็ลาพักเพื่อเดินทางมาแคลิฟอร์เนีย ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่อง Check And Double Check จากเพลง Three Little Words จากเสียงร้องของ เดอะ ริธึม บอยส์ นำโดย บิง ครอสบี กลายมาเป็นเพลงยอดนิยมหมายเลขหนึ่งของค่ายวิกเตอร์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1930 Ring Them Bells ก็ติดชาร์ตด้วยเช่นกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่านักดนตรีในวงของดุ๊กนั้น โดยมากมักจะอยู่ร่วมเป็นร่วมตายกันเป็นเวลานานๆ อย่าง Harry Carney นักแซ็กซึ่งเล่นกับดุ๊กตั้งแต่ปี 1927-1974 วาระสุดท้ายของดุ๊ก หรืออย่าง บาร์นีย์ ไบการ์ด นักคลาริเน็ตที่ลาออกจากวงของ คิง โอลิเวอร์ มาร่วมเล่นกับดุ๊กในปี 1928 ก็เช่นกัน แต่ในปี 1929 บับเบอร์ ไมลีย์ก็ถูกไล่ออกจากวง เนื่องจากอาการติดเหล้าของเขา และจังหวะนี้เองที่ คูตี วิลเลียมส์ ได้เข้ามาแทนที่

ในที่สุด วงของดุ๊กก็เลิกเล่นจากคัตตันคลับในเดือนกุมภาพันธ์ 1931 มาเริ่มออกทัวร์คอนเสิร์ตที่ผู้นำวงได้ออกตระเวนมาตลอด 43 ปี ในระหว่างนั้น ดุ๊กกับบาร์นีย์ยังสร้างบทเพลง Mood Indigo ให้ไต่อันดับชาร์ต 1 ใน 5 ภายหลังเพลงนี้ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่ฮอล ออฟ เฟม ของสถาบันแกรมมี ในฐานะวงสไตล์จังเกิล ดุ๊ก เอลลิงตัน ออร์เคสตรามีเพลงติดชาร์ตในปี 1931 นั่นคือเพลง Rockin’ In Rhythm ซึ่งบันทึกกับสังกัดบรันสวิก จากผลงานการประพันธ์เพลง Creole Rhapsody ซึ่งมีความยาวพอสมควร ส่งผลให้ดุ๊กเริ่มเป็นที่จับตามองในฐานะนักประพันธ์ หลังจากที่จับงานชิ้นความยาวสั้นๆ มาตลอด (อีกเวอร์ชันหนึ่งของบทเพลงชิ้นนี้ขึ้นอันดับชาร์ตในปี 1932) ซึ่งเมื่อก่อนนี้เขาก็เคยบันทึกเสียงเพลง Tiger Rag Part 1 และ 2 (บทเพลงของ ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ซ แบนด์) แบบสองหน้าแผ่นเสียงมาแล้ว



Limehouse Blues ก็ติดตามขึ้นอันดับในปี 1931 เช่นกัน แล้วในปีถัดมา ดุ๊กก็ได้สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นกับบรันสวิก และเป็นเพลงที่ต้องบอกว่า “เป็นอมตะ” ไปแล้ว It Don’t Mean A Thing (If It Ain’t Got That Swing) ด้วยเสียงร้องของ ไอวี แอนเดอร์สัน ผลงานชิ้นเกิดออกมาก่อนที่ยุคของดนตรีสวิงจะถือกำเนิดขึ้นมาถึง 3 ปีทีเดียว ราวกับว่าชื่อของยุคแห่งดนตรีนี้มาจากชื่อเพลงของเขานั่นเลยทีเดียว (ซึ่งก็น่าจะใช่อย่างนั้น) ผลงานถัดมาที่สร้างชื่อให้ดุ๊กอย่างต่อเนื่องก็คือ Sophisticated Lady ซึ่งก็กลายเป็นท็อป 5 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1933 เพลงหน้าบีอย่าง Stormy Weather ก็เข้าอันดับอย่างไม่แพ้กัน

Murder At The Vanities เป็นผลงานการประพันธ์เพื่อประกอบภาพยนตร์ในช่วงปี 1934 การตีความบทเพลง Cocktails For Two จากเพลงฮิตอันดับหนึ่งใน Vicotor In May แถมแผ่นตัด Moonglow/Solitude ที่ออกกับค่ายบรันสวิก กับติดอันดับท็อป 5 เช่นกัน แล้วยังไปร่วมแสดงในภาพยนตร์ Belle Of The Nineties ที่ เม เวสต์ แสดงนำ กับทำอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ Many Happy Returns หลังจากนั้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ดุ๊กก็พาพรรคพวกมาไต่อันดับกันอีกครั้งด้วยเพลง Saddest Tale พวกเขามีเพลงติดอันดับอีก 2 เพลงในปี 1935 นั่นคือ Merry-Go-Round และ Accent On Youth ถึงแม้ว่าเขาจะมีความทะเยอทะยานประสานักดนตรีมีชื่อเสียงก็ตาม แต่อีโก้ก็ไม่ได้ทำให้เขาเลิกผลิตผลงานท็อปฮิตไปได้ แต่ตรงกันข้ามงานท็อปฮิตคือส่วนหนึ่งในการผลิตผลงานออกมาด้วยซ้ำ Cotton ออกมาในช่วงใบไม้ร่วงปี 1935 เช่นกัน ตามด้วย Love Is Like A Cigarette และ Oh Babe! Maybe Someday ในปี 1936 พวกเขากลับมาทำอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์อีกครั้ง โดยทำให้กับพี่น้องมาร์กซ์ ในภาพยนตร์เรื่อง A Day At The Races และ Hit Parade Of 1937 ขณะเดียวกับก็ยังคงมีเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง Scattin’ At The Kit-Kat และเพลงสวิงอมตะอย่าง Caravan ซึ่ง ฮวน ติซอล นักเป่าวาล์วทรอมโบน มาร่วมเขียนเพลงนี้ด้วย ดุ๊กยังคงประพันธ์งานเพลงที่เน้นสารัตถะทางดนตรีอย่าง Diminuendo In Blue และ Crescendo In Blue ในฤดูใบไม้ผลิปี 1938 เพลง If You Were In My Place (What Would You Do?) ซึ่งได้เสียงร้องของไอวี ก็เข้าถึงอันดับ 1 ใน 10 ดุ๊กไม่หยุดแค่นั้น แต่เขากระหน่ำต่อด้วย I Let A Song Go Out Of My Heart และ Lambeth Walk เพลงจากโชว์ของอังกฤษที่เขานำมาตีความใหม่



ดุ๊กและวงดนตรีของเขาประสบกับความเปลี่ยนแปลงนานัปการในช่วงปลายทศวรรษ 1930 หลังจากบันทึกแผ่นเสียงให้กับบรันสวิกมานับไม่ถ้วนแผ่น เขาก็ย้ายเข้าสู่สังกัดวิกเตอร์ ช่วงต้นปี 1939 บิลลี สเตรย์ฮอร์น นักประพันธ์เพลง นักอะเรนจ์ และนักเปียโนหนุ่ม ก็ได้เข้ามาร่วมชายคาวิกเตอร์เช่นกัน ตัวเขาเองก็ไม่ได้ทำงานกับวงออเคสตราสักเท่าไร แต่ในที่สุดเขาก็ได้กลายมาเป็นคู่หูในการแต่งเพลงกับดุ๊ก ที่ทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนจนเป็นเนื้อเดียว แล้วความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเมื่อดุ๊กและบิลลีมีกำลังเสริมถึงสองแรงด้วยกัน นั่นคือ นักเบส จิมมี บลันตัน ผู้ซึ่งเข้ามาร่วมวงในเดือนกันยายน และตามติดด้วย เบน เว็บสเตอร์ ในเดือนธันวาคม ทำให้วงมีความโดดเด่นขึ้นมาโดยเฉพาะสองสมาชิกใหม่ โดยแฟนเพลงถึงกับอุปโลกน์ชื่อวงให้เป็น เดอะ บลันตัน-เว็บสเตอร์ แบนด์ เลยทีเดียว เพลง Take The ‘A’ Train ของบิลลีก็เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทางวงอีกครั้ง เมื่อออกวางขายโดยสังกัดวิกเตอร์ในยุคสวิงรุ่งโรจน์ช่วงหน้าร้อนปี 1941 เพลงนี้ถูกนำเข้าสู่ฮอล ออฟ เฟมของแกรมมีด้วย



สิ่งที่อยากจะเสริมอีกหน่อยในช่วงนี้ของดุ๊ก นั่นคือมันเป็นช่วงที่ดุ๊กได้รวบรวมเอานักดนตรีหัวกะทิเอาไว้ได้มากที่สุด ทั้งเบ็น เว็บสเตอร์, จิมมี บลันตัน, จอห์นนี ฮ็อดเจส, แฮรี คาร์นีย์ และบาร์นีย์ ไบการ์ด ซึ่งนี่เป็นแค่ในส่วนของเทเนอร์แซ็กโซโฟนเท่านั้น ในส่วนของทรัมเป็ต มีทั้ง เร็กซ์ สจวร์ต และคูตี วิลเลียมส์ (ซึ่งภายหลังได้ เรย์ แนนซ์ มาแทนที่ในปี 1940) ส่วนของทรอมโบนมี โจ แนนตัน, ฮวน ติซอลและ ลอว์เรนซ์ บราวน์ ส่วนมือกลอง แค่ซันนี เกรียร์ ก็เหลือแหล่ และท้ายสุดมือเปียโน แค่ดุ๊กคนเดียวก็พอแล้วเช่นกัน

ในช่วงนั้นเอง ดุ๊กอยู่ในลอสแองเจลิส ซึ่ง Jump For Joy ละครเวทีที่เขาประพันธ์เพลงกำลังเข้าโรงอยู่ แถมยังแสดงอยู่นานถึง 101 รอบ แต่น่าเสียดายที่ละครเรื่องนี้ไม่เคยได้สัมผัสบรอดเวย์เลย เพลงดังๆ อย่าง I Got It Bad (And It Ain’t Good) ก็มาจากละครเรื่องนี้ด้วย จากการที่อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1941 และถือกำเนิดของ American Federation Of Musicians (ที่ทำหน้าหน้าที่ในการแบนเพลง) ในปี 1942 ทำให้วงของดุ๊กแทบไม่มีความคืบหน้าในการทำงานเอาเสียเลย การถูกจำกัดขอบเขตการทำงานจากสาเหตุที่ว่านี้ ทำให้ดุ๊กมีเวลามากพอที่จะประพันธ์ผลงานชิ้นยาวออกมาได้ และผลงานชิ้นแรก Black, Brown and Beige เขาเปิดตัวอย่างสมเกียรติที่คาร์เนกีฮอล เมื่อมกราคม 1943 จากนั้นเขาจังมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์อีกใน Cabin In The Sky และ Reveille With Beverly

ขณะเดียวกันต้นสังกัดก็พยายามหางานที่จะออกมาขาย โดยเน้นไปในด้านการแปลงบทประพันธ์เก่าๆ ออกมาใหม่ อย่าง บ็อบ รัสเซล นำ Never No Lament เพลงของดุ๊กที่เขียนเมื่อปี 1940 ใส่เนื้อร้องเข้าไป ก็กลายมาเป็นเพลง Don’t Get Around Much Anymore ได้ ดิ อิงก์สป็อต มาร้องอะแค็ปเปลลา เท่านี้ก็ดังระเบิดเถิดเทิง ติดอันดับหยึ่งของชาร์ตเพลง R&B บ็อบ รัสเซลไม่รอช้า สร้างปาฏิหาริย์ใหม่กับเพลงของดุ๊กอีกครั้งใน Concerto For Cootie (เพลงที่ดุ๊กเขียนเพื่อให้คูตีได้โชว์ฝีมือโดยเฉพาะ) กลายมาเป็นเพลง Do Nothin’ Till You Hear From Me มันขึ้นอันดับท็อปเท็นในป็อปชาร์ต และอันดับหนึ่งในชาร์ตอาร์แอนด์บี ช่วงต้นปี 1944 เพลงอมตะของดุ๊กแพร่หลายไปทั่วชาร์ต อาร์แอนด์บีหลายๆ ชาร์ต ในช่วงปี 1943-1944 ด้วยเพลงอย่าง A Slip OF The Lip (Can Sink A Ship), Sentimental Lady และ Main Stem การปิดตัวของกองเซ็นเซอร์เพลงในปี 1944 ทำให้ดุ๊กสามารถขยับขยายกลับมาอัดแผ่นได้เหมือนเดิม เขานี้เขาได้นักแซ็กจอห์นนี นักเขียนเพลงฉมัง ดอน จอร์จ และ แฮรี เจมส์ มาร่วมเขียนเพลง I’m Beginning To See The Light ประชดประชันกันดีเหลือเกิน



เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ยุคเฟื่องฟูทางพาณิชย์ของดุ๊กก็ดูเหมือนจะจบลงตามไปด้วย แต่ดุ๊กซะอย่าง เขาไม่เหมือนผู้อำนวยวงคนอื่นๆ ที่แยกย้ายสลายโต๋ไปเมื่อหมดยุคสวิง เขายังคงออกเดินสายแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ นานาเพื่อยังชีพ รวมทั้งเงินค่าธรรมเนียมจากผลงานเก่าๆ ของเขาเป็นอีกสิ่งที่ทำให้วงสามารถลอยตัวอยู่ท่ามกลางสภาพนั้นได้ ช่วงนั้นวงการแจ๊ซก็พลิกผันเข้าสู่ยุคบีบ็อป ส่วนเพลงป็อปก็ล้วนถูกครอบงำด้วยนักร้องเสียงทอง ไม่มีที่ว่างให้วงอย่างเขาเอาเลย แต่ดุ๊กก็ยังก้มหน้าก้มตาทำงานบทประพันธ์ชิ้นยาวอยู่เรื่อยๆ ในปี 1946 เขาร่วมกับ จอห์น ลาทูช เขียนเพลงสำหรับบรอดเวย์เรื่อง Beggar’s Holiday ที่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม และยืนโรงแสดงยาวนานถึง 108 รอบทีเดียว นอกจากนั้นเขายังเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง The Asphalt Jungle ในปี 1950

ในช่วงครึ่งแรกของยุค 50 ช่างเป็นช่วงวิกฤติของดุ๊กเสียเหลือเกิน เมื่อนักดนตรีต่างพากันเข้าๆ ออกๆ เป็นว่าเล่น (บางคนก็กลับเข้ามาใหม่ภายหลัง) แต่เขาก็กลับมายืนอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้งเมื่อ พอล กอนซาลเวส โชว์เดี่ยวแซ็กโซโฟนได้อย่างจับจิตและยาวนานในเพลง Diminuendo And Crescendo In Blue ในงานนิวพอร์ต แจ๊ซ เฟสติวัล 1956 และ จอห์นนีก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกันในงานนี้ ดุ๊กยังได้ลงปกนิตยสารไทม์ และเซ็นสัญญาเข้าสังกัดโคลัมเบีย ซึ่งจัดจำหน่ายอัลบัม Ellington At Newport นับเป็นอัลบัมที่ขายดีอันดับหนึ่งของเขาทีเดียว เขาทุ่มเทกำลังสมองให้กับบทประพันธ์ชิ้นยาวอย่างต่อเนื่อง การกลับมาของเขาบทเวทีคอนเสิร์ตทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการออกเดินสายแสดงต่างถิ่น และในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1958 เขาตกลงใจออกทัวร์ทั่วยุโรปเป็นครั้งแรก และการเป็นนักเดินสายที่มีตารางทัวร์ยุ่งที่สุดคนหนึ่ง

ดุ๊กกลับมาประพันธ์เพลงในหนังเรื่อง Anatomy Of A Murder และเพลงจากหนังเรื่องนี้เองที่ทำให้เขาได้รับรางวัลแกรมมีถึง 3 สาขาด้วยกันในปี 1959 ปีถัดมาก็เข้าชิงอีกจากหนังเรื่อง Paris Blues ปี 1963 งานละครเวที My People เรื่องราวประวัติศาสตร์ของขบวนคนขี่ม้าชาวอเมริกันอัฟริกัน ก็โด่งดังในชิคาโก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานครบร้อยปี Negro Progress Exposition

ขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มบันทึกผลงานการแสดงสด เขาผละจากโคลัมเบียมาร่วมชายคากับ แฟรงค์ สินาตรา ที่ค่ายรีไพรส์ (ที่ถูกค่ายวอร์เนอร์ซื้อไปแล้ว) ทำเพลงที่อิงตลาดกระแสหลักออกมา ท่ามกลางความตกตะลึงของแฟนเพลงเก่าๆ เขายังคงพยายามทำงานเพื่อรักษาความตั้งใจทั้งสองทางเอาไว้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม ดุ๊กก็ยังคงเขียนเพลงสำหรับประกอบหนัง เขามาทำเพลงบรอดเวย์เรื่อง Pousse Cat ซึ่งแสดงรอบปฐมฤกษ์เมื่อปี 1966 แต่แสดงได้ไม่กี่วันก็ปิดตัวลง หลังจากนั้น 3 เดือนก็กลับมาอีกพร้อมหนังของแฟรงก์ สินาตรา เรื่อง Assault On A Queen ซึ่งฉายตามโรงหนังทั่วประเทศ (เพลงประกอบหนังเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Change Of Mind ในปี 1969)

ในช่วงยุค 60 ดุ๊กเขียนเพลงเกี่ยวกับศาสนาเอาไว้หลายเพลง รวมทั้งเขียนเพลง The Far East Suite ด้วย ทั้งยังร่วมงานกับนักดนตรีหลากหลายรูปแบบจนกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แจ๊ซไปโดยปริยาย การก้าวข้ามเส้นแบ่งทางดนตรีของเขานั้นเห็นได้จากการที่เขาเล่นร่วมทั้งวงอย่างลุยส์ อาร์มสตรองและจอห์น โคลเทรน หรืออการร่วมเล่นวงสามชิ้นกับชาร์ลส มิงกัสและแม็ก โรช แถมด้วยการแจมบิ๊กแบนด์สองวงกับ เคาน์ต เบซี แต่โชคชะตาก็เล่นตลกกับเขาเหมือนกันเมื่อจอห์นนีมาเสียชีวิตเอาในช่วงปี 1970 ทำให้วงของเขาเริ่มเขวและเสื่อมความนิยมลง

แต่อย่างไรก็ตาม ดุ๊กก็ได้กลายเป็นราชาแกรมมีไปโดยปริยายในช่วงหลังของชีวิต เขาได้รางวัลมากมายทั้งจากอัลบัมในสตูดิโอและอัลบัมเพลงประกอบหนัง ดุ๊กและเพื่อนร่วมวงได้ออกตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก ตั้งแต่นิวยอร์กยันนิวเดลี ชิคาโกยันไคโร และลอส แอนเจลิสไปยันลอนดอน อีกทั้งยังร่วมเล่นกับนักดนตรีระดับโลกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ไมล์ส เดวิส, แค็บ คัลโลเวย์, ดิสซี กิลเลสปี, เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์, โทนี เบ็นเน็ต และ ลุยส์ อาร์มสตรอง พวกเขาสร้างความบันเทิงให้กับคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่สอง ไปจนถึงประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ก่อนที่จะจากไปอย่างไม่หวนกลับด้วยโรคมะเร็งปอดและปอดอักเสบ เมื่อปี 1974 เพลงนับร้อยที่เขาเขียนและบันทึกไว้ จะได้รับการจดจารในหัวใจของแฟนเพลงทั่วโลกตลอดไป

การเฉลิมฉลองอย่างมากมายเนื่องในโอกาสครบ 100 ปีให้แก่ดุ๊กในปี 1999 คงแสดงให้เห็นไม่มากก็น้อยแล้วว่า เขายังคงเป็นนักประพันธ์เพลงแจ๊ซหัวแถวของวงการ ถ้านั่นหมายถึงว่าคนเราชอบการอิมโพรไวส์ที่ลื่นไหลมากกว่าคอมโพสิชันที่ตายตัว ดุ๊กก็มีพรสวรรค์มากเกินกว่าคำว่าแปลกประหลาด

ผลงานอมตะของดุ๊กมีหลายชิ้นไม่ว่าจะเป็น Rockin’ In Rhythm, Satin Doll, New Orleans, A Drum Is A Women, Take The “A” Train, Happy-Go-Lucky Local, The Mooche และ Crescendo In Blue ความยิ่งใหญ่ของเขาได้รับการยืนยันจาก Stephen James อีกระลอกด้วยคำพูดที่ว่า “เมื่อคุณอยู่ในที่ที่เขาอยู่ คุณจะรับรู้ได้ทันที ถึงแม้จะไม่รู้จักเขา แต่เขาจะดึงดูดคุณ นั่นคือพลังพิเศษที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในตัวของเขา”

“ปัญหาคือโอกาสที่จะทำให้คุณสามารถทำในสิ่งที่ดีที่สุด” – ดุ๊ก เอลลิงตัน


Create Date : 31 สิงหาคม 2548
Last Update : 31 สิงหาคม 2548 14:14:48 น. 0 comments
Counter : 1863 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.