"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 

Miles Davis - The Prince of Darkness ตอนที่ 5

The Second Great Quintet

และแล้ว ไมล์ส ก็ได้มาถึงจุดเลี้ยวอันสำคัญอีกครั้งหนึ่งในอาชีพการงานของเขา นั่นคือเมื่อ โคลเทรน ตัดสินใจลาออกจากการเป็นไซด์แมนของวง แต่ยังดีที่ได้ Wayne Shorter นักเทเนอร์แซ็กหนุ่มไฟแรงเข้ามาแทนที่ แต่ก็ดีได้ไม่นาน เพราะ ชอร์เทอร์ ก็มีพันธกิจอื่นที่ต้องไปทำต่อ จึงได้มาลงตัวที่ George Coleman เข้ามารั้งตำแหน่งนี้แทน และ โคลแมน แสดงให้เห็นว่าเขาก็สามารถที่บรรเลงแซ็กได้ร้อนแรงไม่แพ้ โคลเทรน เช่นกัน หลักฐานอยู่ในอัลบัม The Complete Concert 1964 เพลง So What ไมล์ส เรียกกระแสบวกจากบรรดานักวิจารณ์อย่างล้นหลาม (ลองฟังเขาโซโลในอัลบัม Walkin’) กลายเป็นแชมป์รุ่นเฮฟวีเวตที่ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะมาท้าชิง!! ทั้งยังกลายเป็นนักทรัมเป็ตมือวางอันดับต้นๆ ที่กล้าเล่นพลิกแพลงกับเครื่องดนตรีของตัวเอง แล้วเราก็เพิ่งได้ตระหนักว่า ไมล์ส ได้ถูกรายล้อมไปด้วยบรรดาไซด์แมนไฟแรงที่พร้อมจะย่างก้าวอันเร่าร้อนไปด้วยกัน!

Tony Williams ไซด์แมนวัย 18 ปีที่เข้ามาร่วมวงกับ ไมล์ส ในฐานะมือกลองที่มีลีลาร้อนแรง วิลเลียมส์ มีพลังแห่งวัยหนุ่มอย่างมหาศาล ซึ่งอำนวยต่อลูกวงที่เหลือในการก้าวข้ามไปสู่การเป็น Free Bop ซึ่งไม่มีรูปแบบที่ตายตัวขอของธรรมเนียมนิยม และยังสามารถจะแทรกรูปแบบของสวิงเข้าไปได้อีกในเวลาเดียวกัน Ron Carter รับหน้าที่เล่นเบส คาร์เทอร์จบการศึกษามาจากโรงเรียนดนตรี Rochester เป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดในการคีตปฏิภาณอย่างกว้างขวาง คนถัดมา Herbie Hancock มือเปียโนที่ต่อมาไม่นาน เขาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในหัวหอกคนสำคัญในการรังสฤษฎ์แจ๊ซแนวใหม่ โน้ตเพียงไม่กี่ตัวจากเปียโนของเขา มันช่างงดงามเกินกว่าจะปฏิเสธ (ฟังจากเพลง Seven Steps To Heaven ในคอนเสิร์ตปี 1964 ถ้าคุณอยากพิสูจน์!)

อัลบัมบันทึกการแสดงสดชิ้นต่อมาของทางวง (ซึ่งก็คือ The Complete Live At The Plugged Nickel 1965 อัลบัมสำคัญสุดยอดชุดหนึ่งที่ควรมีไว้เป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณทางต้นสังกัดที่อุตส่าห์ออกอัลบัม Hilights ออกมาอีกรอบเพื่อเอาใจแฟนเพลงเบี้ยน้อยหอยน้อยด้วย) Wayne Shorter ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นมือแซ็กอย่างเป็นทางการ ได้รังสรรค์เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร รวมทั้งทักษะในการเล่นอันเยี่ยมยอดทั้งโซปราโนและเทเนอร์แซ็ก (ชอร์เทอร์ได้สร้างสมเครดิตในการเล่นของตัวเองมาแล้วในการร่วมวงกับ Maynard Ferguson และ Joe Zawinul รวมไปถึงวงของ Art Blakey ด้วยเช่นกัน) และในตอนนั้น ไมล์ส ก็ได้ตระหนักถึงการเล่นอันเกินจะบรรยายของชอร์เทอร์ (ลองฟังวลีเริ่มต้นของเพลง Milestones จากแผ่นที่ 3 ของอัลบัม The Complete Live At Plugged Nickel 1965 ดูก็จะรู้เลย) ทำให้ ไมล์ส ได้ชื่อว่าเป็นกูรูแห่งดนตรีแจ๊ซอย่างแท้จริง ทั้งด้วยตัวของเขาเองและลูกวงฝีมือจัดจ้านแต่ละคนที่เขาได้ปลุกปั้นสรรหามา



อัลบัม E.S.P. (บันทึกในต้นปี 1965) ทางวงได้ตัดสินใจที่จะเลิกนำเพลงสแตนดาร์ดมาบันทึกเสียง โดยพวกเขาเลือกที่จะแต่งเพลงใหม่ๆ ออกมาบันทึกเสียงมากกว่า อัลบัมนี้เป็นเหมือนภาคต่อของ Kind Of Blue ที่ขยับขยายขอบเขตของการจินตนาการออกไปอีกด้วยผลงานการประพันธ์ 2 ชิ้นของ ชอร์เทอร์ 3 ชิ้นของ คาร์เทอร์ ไมล์ส มีส่วนในการออกเค้าโครงไอเดียด้วย 2 เพลง และอีกหนึ่งจาก แฮนค็อก E.S.P. ปรากฏโฉมออกมาด้วยการใช้โหมดอันหลากหลายในทางดนตรี อย่างเพลง Eighty-One เขาและ ชอร์เทอร์ สร้างเสียงที่หลอกหลอนด้วยความคิดสร้างสรรค์และความเข้าขากันของพวกเขา ในการคิดแนวทางทำนอง ประกอบกับลูกเคาะลูกตีของ วิลเลียมส์ และเสียงดีดสายเบสของคาร์เทอร์



ตุลาคม 1966 วงดนตรี 5 ชิ้นวงนี้ก็กลับเข้าสตูดิโออีกรอบ เพื่อบันทึกเสียงอัลบัม Miles Smiles ชอร์เทอร์มีส่วนร่วมในอัลบัมนี้ถึงครึ่งหนึ่ง พวกเขาได้ก้าวมาสู่จุดสูงสุดที่พึงจะก้าวขึ้นมาได้ เสียง 5 เสียงจากชาย 5 คน เล่นสอดประสานกันอย่างลงตัวด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักดนตรี เหมือนกับที่ ไมล์ส บอกไว้ในเพลง Circle ว่า “ดูสิว่าคุณรู้สึกยังไงกับเพลงพวกนี้”

Sorcerer คืออัลบัมต่อมา ชอร์เทอร์โชว์ฝีมือไว้ถึง 4 เพลงด้วยกัน ซึ่งเปรียบเสมือนภาคต่อของอัลบัมที่แล้ว มันเต็มไปด้วยความขรึม ขลัง จริงจังอย่างสุดโต่ง แฮนค็อกเล่นเปิดในหลายเพลงด้วยท่วงทำนองที่สละสลวย อันเป็นผลมาจากการเจริญรอยตามเสียงทรัมเป็ตของ ไมล์ส เมื่อลองฟัง Sorcerer แล้ว ราวกับจ้องมองภาพวาดญี่ปุ่น ที่ลวงตาคุณจากเส้นสายธรรมดาให้กลายเป็นภาพหลากมิติ ที่สามารถดึงความสนใจของคุณได้



และความสำเร็จก็มาเยือนพวกเขาอย่างสง่างาม ด้วยอัลบัมต่อมา Nefertiti สิ่งที่เราคาดหวังจากเพลงชื่อเดียวกับอัลบัมก็น่าจะเป็นเพลงเพราะๆ เมโลดีงามๆ สักเพลง แต่เมื่ออ่าน Liner Notes ของ Bob Belden ในแผ่นเวอร์ชัน Reissue ปี 1998 เขาเขียนไว้อย่างเลอเลิศว่า สิ่งที่ออกมาจากงานของ ไมล์ส แผ่นนี้คือการเล่นที่เยี่ยมยุทธ์ และการเล่นที่เยี่ยมยุทธ์นั้น นำมาซึ่งงานประพันธ์!! ตลอดทั้งอัลบัม โทนี วิลเลียมส์ โชว์ฝีมือการตีกลองอย่างน่าทึ่ง แน่นอน เขาไม่ได้โชว์เดี่ยวแน่ ยังคงมีวลีเด็ดๆ จาก ไมล์ส ในเพลง Fall หรือวลีพลิ้วๆ จาก แฮนค็อก ในเพลงเดียวกัน โดยมี ไมล์ส และ ชอร์เทอร์ ปูพื้นคลออยู่ข้างหลังตลอด และ ชอร์เทอร์ ยังปล่อยโซโลเด็ดของอัลบัมในเพลง Madness อีกต่างหาก



ด้วยความไฟแรงและความสร้างสรรค์ทั้งหลายแหล่อันพึงจะมีในตัวของ ไมล์ส ก่อให้เกิดรูปแบบและทิศทางใหม่ ก็ปรากฏออกมาเป็นอัลบัม Bitches Brew สันปันน้ำของแนวดนตรีที่เรียกว่า “แจ๊ซร็อค”






 

Create Date : 27 สิงหาคม 2548
1 comments
Last Update : 25 กันยายน 2548 17:48:42 น.
Counter : 1074 Pageviews.

 

Miles Smiles วงควินเต็ดเล่นกันได้น่าตื่นเต้น ท็อปฟอร์มจริงๆ

 

โดย: winston 22 กันยายน 2548 0:34:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.