"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
23 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
Joshua Redman กับการเดินทางของวงดนตรีสามชิ้น



หลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ได้เริ่มฟังเพลงแจ๊ส เสียงแซ็กโซโฟนเป็นเสียงหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในดนตรีแขนงนี้ เรียกว่าเป็นพระเอกของดนตรีแจ๊สเลยก็ว่าได้ หนึ่งในนักเป่าแซ็กโซโฟนที่มีฝีปากเด็ดๆ ที่เราเฝ้าติดตามผลงานมาอย่างต่อเนื่องหลายปีเพื่อดูพัฒนาการในผลงานของเขา แน่นอนว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง

เขาคือ โจชัว เรดแมน

โจชัวเป็นนักดนตรีที่มากไปด้วยความคิดสร้างสรรค์คนหนึ่งแห่งยุคสมัย ฝีปากฉมังในทุกๆ ชนิดของแซ็กโซโฟนที่เขาหยิบขึ้นมาเป่า เขาบอกในระหว่างที่พูดคุยกันเรื่องอัลบัมใหม่ Back East ว่าเขาไม่ได้สร้างสรรค์อะไร แต่นักแซ็กโซโฟนหนุ่มไฟแรงคนนี้หันกลับไปหารูปแบบอะคูสติกอักครั้ง พูดให้ชัดคือวงดนตรีสามชิ้นที่ไม่มีเปียโน แบบที่ซันนี รอลลินส์เคยทำและได้รับคำวิจารณ์อย่างล้นหลามในช่วงทศวรรษที่ 50 นักดนตรีคนอื่นๆ ก็ออกมาทำอย่างนี้เหมือนกัน จริงๆ ก็ไม่ใช่ของใหม่สำหรับโจชัว แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงของเขาหลังจากที่คลุกคลีอยู่กับวงดนตรีขนาดใหญ่มาในช่วงสองปีหลังกับวง SF Jazz Collective และ Elastive Band วงดนตรีหลายชิ้นของเขาเองที่มีทั้งกีตาร์, คีย์บอร์ดและเครื่องดนตรีอิเล็กโทรนิกอื่นๆ อีกหลายชิ้น

Back East คือการทดสอบงานดนตรีรูปแบบวงสามชิ้น ชิมลางรสชาติแบบตะวันออกอย่างที่โจชัวเริ่มสนใจมานานหลายปี, การอุทิศให้กับนักดนตรีที่เขาได้รับอิทธิพลมาอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นซันนี รอลลินส์, สแตน เก็ตซ์, จอห์น โคลเทรนและเวย์น ชอร์เทอร์ แล้วก็ยังนักแซ็กฯ ยุคหลังๆ หลายคนที่ให้แรงบันดาลใจกับเขาด้วย อีกทั้งยังมีช่วงสำคัญที่เขาเล่นกับดิวอี เรดแมน ผู้เป็นบิดาซึ่งล่วงลับไปหลังจากอัลบัมนี้บันทึกเสร็จเพียงหนึ่งเดือน Back East เป็นเพลงที่สองพ่อลูกได้เล่นด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย และยังเป็นอีกครั้งก่อนสุดท้ายที่เขาได้เจอหน้าพ่อก่อนที่เขาจะต้องจากแคลิฟอร์เนียไปนิวยอร์กไปหาพ่ออีกครั้งก่อนเสียชีวิต

จริงๆ วงดนตรีสามชิ้นก็ไม่ใช่ของใหม่สำหรับโจชัวอย่างที่ได้เกริ่นไว้ เขาเล่นดนตรีสามชิ้นมามากมายทั่วบอสตันตั้งแต่ยังเรียนออยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด หลังจากจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากฮาร์เวิร์ดแล้ว ก็ตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล แต่ย้ายเข้ามาที่นิวยอร์กเพื่อมุ่งหน้าเอาดีทางด้านดนตรี เขาเคยเล่นวงสามชิ้นที่นั่นเช่นกัน “แต่มันก็ไม่ใช่แนวที่ผมที่ผมจะเลือกมาออกทัวร์คอนเสิร์ตหรือบันทึกเสียง เหตุผลที่แท้จริงส่วนหนึ่งก็คือผมไม่เคยคิดว่าตัวเองพร้อมสักที ผมก็ยังไม่มั่นใจเต็มร้อยในตอนนี้เลยว่าผมพร้อมแล้ว” โจชัวเล่าพลางยิ้มไปพลาง

โจชัวเป็นคนที่โปรดปรานความท้าทายทางดนตรีอย่างสม่ำเสมอ แล้วก็พยายามจะเสาะหาโปรเจ็กต์ทำต่อไปเรื่อยๆ เขาว่างานของตัวเองในสองปีหลังจะค่อนข้างเข้มข้นด้วยซาวด์, จำนวนคนเล่นและบริบท อันนำเขามาสู่การทำงานที่ผ่อนคลายขึ้น




อาจจะดูเหมือนง่ายสำหรับวงดนตรีสามชิ้นที่ไม่มีเปียโนแต่สำหรับนักดนตรีแล้ว มันไม่หมูเหมือนที่เห็น โจชัวก็ได้ทำออกมาด้วยความใส่ใจ เขาไตร่ตรองและใคร่ครวญในการเล่นและการเขียนเพลงจนนำไปสู่ประดิษฐกรรมใหม่ๆ ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ มีแบบแผนการเขียนแบบมีระบบระเบียบนำไปสู่การอิมโพรไวส์ นักดนตรีภาคริธึมที่เขาเลือกมาสามชุดก็ดูเหมือนว่าจะเข้ากันได้ดีในการสื่อความคิดของเขาออกมาเป็นเสียงเพลง ทีมที่ว่านี้ประกอบไปด้วยคริสเตียน แม็กไบรด์ (เบส) กับไบรอัน เบลดส์ (กลอง), แลรี เกรนาเดียร์ (เบส) กับ อาลี แจ็กสัน (กลอง) และทีมสุดท้าย รอยเบน รอเจอร์ส (เบส) กับเอริก ฮาร์แลนด์ (กลอง) พวกเขาล้วนแล้วแต่คุ้นเคยกับโจชัวทั้งสิ้น มันก็เลยเชื่อมโยงกันได้อย่างไม่เป็นปัญหา และยังมีศิลปินรับเชิญอย่าง โจ โลวาโน นีกแซ็กโซโฟน, คริส ชีกและดิวอี เรดแมน ซึ่งก็เป็นศิลปินที่โจชัวให้ความนับถือทั้งสิ้น

อย่างที่ชื่ออัลบัม Back East มันได้บอกความหมายอย่างอ้อมๆ ในตัวมันแล้ว อัลบัมนี้ได้บรรจุความเป็นดนตรีมทางตะวัน ออกในหลายเพลง ทั้ง India เพลงดั้งเดิมของจอห์น โคลเทรน หรือ Zafarah เพลงใหม่ของโจชัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของซีดีแผ่นนี้ โจชัวบอกว่าเขาได้ฟังอัลบัม Way Out West (1957) งานคลาสสิกของซันนีเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี มันเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มสำรวจบางบทเพลงในอัลบัมนั้น อาทิ I’m An Old Cowhand และ Wagon Wheels นอกจากนั้นยังมีคารวะจอห์น โคลเทรน, เวย์น ชอร์เทอร์และสแตน เก็ตซ์ ถึงอย่างนั้นก็ตาม โจชัวก็ยังคงความเป็นตัวของเขาเองได้อย่างดี เขายังคงใช้แซ็กโซโฟน “อาวุธคู่กาย” เพื่อแผ่ซาวด์ของตัวเองเข้าสู่ตัวเพลงด้วยความทรงพลังในยามที่ต้องการได้เป็นอย่างดีเหมือนที่เคยเป็น แต่ไม่ใช่เท่านั้น เขายังเปล่งสำเนียงของมันออกมาให้ได้รับรู้ถึงพื้นเพทางดนตรีที่เขาเติบโตมาด้วย

“ผมว่าผมกระหายที่จะสัมผัสความเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับความเปิดกว้างงอวงดนตรีสามชิ้น” โจชัวบอก “ผมรู้สึกเหมือนกับว่าบางทีผมก็พร้อมที่จะทำโปรเจ็กต์อย่างนี้แล้ว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผมสำหรับอัลบัมนี้”

ดนตรีสร้างลายเซ็นต์ที่แข็งแรงและสร้างฐานที่มั่นให้กับโจชัวในฐานะที่เป็นศิลปินมากเสน่ห์แห่งยุคสมัย ควรค่าแก่การให้ความสนใจ การนำเอาเพลงเก่าของซันนีมาทำใหม่นั้นได้ผลดีเยี่ยมเกินคาด เพราะว่ามันเป็นงานที่ทำใหม่และโจชัวก็มีซาวน์และทัศนะของตัวเขาเอง เพลงที่เขาเล่นอย่างหยอกเย้ากับโจ โลวาโนแสดงให้เห็นถึงนักเป่าแซ็กฯ สองคนที่รักจะเห็นอะไรๆ ดำเนินต่อไปในขณะนั้น และเพลงที่เขาเล่นกับพ่อก็แสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรระหว่างคนทั้งสอง แล้วยังแสดงถึงความสามารถอันเปี่ยมล้นของศิลปินสองคน ภาคริธึมทั้งสามวงทำหน้าที่สนับสนุนได้อย่างยอดเยี่ยม



มีไม่กี่คนที่จะทำอัลบัมแบบนี้ออกมา แต่โจชัวเป็นหนึ่งในคนทำงานที่เติมเชื้อไฟแห่งงานสร้างสรรค์ลงไปในบทเพลงเป็นอันดับแรกก่อนที่จะคิดถึงเรื่องธุรกิจ เขาตระหนักเสมอว่าการที่จะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้ ดนตรีต้องมาก่อน เขามักจะเสาะหาหนทางสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ก้าวไปข้างหน้าเสมอ และเขาก็ทำได้เสียด้วย

ซีดีชุดใหม่ไม่ใช่เพียงเป็นการกลับมาสู่อะคูสติก แต่รวมไปถึง การเล่นดนตรีสามชิ้นที่ไม่มีเปียโน แนวความคิดนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมอยู่ๆ ถึงมีความคิดที่อยากจะทำออกมาในรูปแบบนี้

“ผมมักจะกระตือรือล้นที่จะทำงานออกมาแบบนี้เพราะมันอิสระ ไม่มีเปียโน หรือกีตาร์ หรือเครื่องดนตรีบรรเลงชิ้นหลัก ทำให้มีความเป็นอิสระเป็นอย่างมากกับเรา โดยเฉพาะนักแซ็กโซโฟน เสียงที่ออกมาเป็นอิสระอย่างมาก นำมาซึ่งแนวทำนองที่ดีเยี่ยมและอิสระ เนื้อหาเปิดกว้างเป็นอย่างมาก แต่ก็มีความดิบสด ไม่ต้องมีสารเจือปน ซึ่งผสมผสานเข้ากันเป็นอย่างดีเช่นกัน มันเป็นความท้าทายจริงๆ เพราะเมื่อไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นหลักในการบรรเลงแล้ว หน้าที่ในการบรรเลงให้ไพเราะจึงตกอยู่ที่ผู้เล่นแซ็กโซโฟนและเบส มันก็แลดูน่ากลัวนะ ผมใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่จะพร้อมที่จะทำโปรเจ็กต์ทั้งหมดอุทิศให้กับซาวด์และวิธีการแบบนี้

“ช่วงเวลาก็ช่างพอดีมาก เมื่อก่อนผมจะเล่นอยู่กับวงหลักๆ สองวงคือ The Elastic Band และวง The SF Jazz Collective ซึ่งเป็นวงที่มีสมาชิกเยอะมาก อย่างวงดิ เอสเอฟ แจ๊ส คอลเล็กทีฟ ก็เป็นวงแปดชิ้น รวมกับเครื่องเป่าสี่ชิ้นหลัก ไวเบรโฟนและเปียโน เสียงประสานจะเด่นมาก ส่วนในวงดิ อีลาสติกนี่ถึงจะมีนักดนตรีแค่สามสี่คน แต่ซาวด์ที่ออกมาก็หลากหลายพอดู ทั้งคีย์บอร์ด, กีตาร์ แล้วก็เอฟเฟ็กต์ต่างๆ

“แรกเริ่มเลย ผมคิดว่าผมต้องการที่จะบันทึกเสียงอัลบัมวงสามชิ้น ผมมีวัตถุดิบอยู่บ้าง ก็รู้สึกอินไปกับมัน แล้วก็ปรับแต่งเพลงหลายเพลงให้เข้ากับรูปแบบนี้ หลังจากนั้น แนวความคิดอื่นๆ ก็เริ่มปรับเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แนวความคิดของการเรียบเรียงนำเสียงแบบนี้มาใช้นั้น ซันนี่ รอลลินส์เคยทำไว้ใน Way Out West แล้วมันก็ทำให้ความคิดอื่นๆ ลื่นไหลขึ้นมา”

เราได้ฟัง Way Out West ของซันนีอีกที เพื่อที่จะได้เห็นความแตกต่าง มันน่าสนใจมากทีเดียว

“ใช่แล้ว ในช่วงที่ผมทำดนตรีชุดนี้ ผมได้หยิบ Way Out West มาฟังอีกครั้งในรอบเกือบสิบปีทีเดียว มันเหมือนกับเป็นแรงบันดาลใจให้ผมพยายามทำเพลงในแนวนั้นออกมาบ้าง แต่ผมไม่ชอบฟังเพลงของตัวเองหลังจากฟังเพลงของซันนี รอลลินส์ (หัวเราะหึหึ) มันค่อนข้างเป็นประสบการณ์ที่ออกจะอายๆ นิดหน่อย ผมพยายามจะไม่ฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมาบ่อยๆ และแทบจะไม่ฟังงานของตัวเองเลยด้วย
ซ้ำ ดังนั้นมันก็เลยไม่ยากครับ”
ฟังดูเข้าท่าทีเดียว คุณก็จะได้ไม่ทำงานออกมาด้วยฟิลลิงแบบเดิมๆ อีก

“นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แทบจะเป็นการอัตวินิบาตกรรมทางดนตรีเลยหากผมพยายามทำออกมาในแบบที่เหมือนกันกับซันนี รอลลินส์ เห็นได้ชัดว่าเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อการเล่นดนตรีของผม เรียกได้ว่าเขาเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุดในฐานะนักแซ็กโซโฟนและคนเล่นดนตรีคีตปฏิภาณ อีกอย่างผมก็พยายามที่จะเข้าถึงดนตรีที่มีกรูฟ, จังหวะและการเรียบเรียงที่แตกต่าง ในกรณีของ Wagon Wheels นั้น จะมีสีสันค่อนข้างแตกต่างอย่างชัดเจน ซันนีทำออกมาเป็นแนวช้า เนือยๆ แนวแบบคาวบ๊อยคาวบอย ส่วนของผมจะมีรสชาติความเป็นตะวันออกกลางมากกว่า มันมีความแตกต่างของสัดส่วนห้องจังหวะและคีย์”

คุณมีแนวทางไปในทางตะวันออกอยู่มาก ซึ่งมันก็ส่งอิทธิพลต่อเพลงในอัลบัม

“มันอยู่ตรงนั้นแหละครับ เป็นส่วนหนึ่งในเพลงที่ผมเติบโตมาด้วยแล้วก็เป็นรากฐานทางดนตรีของผม แต่ไม่ใช่ในทางการศึกษาเลย เมื่อก่อนแม่ของผม (เรอเน เชดร็อฟ) มักจะให้ผมฟังเพลงหลายแบบตั้งแต่ยังเล็กๆ ไม่ใช่เพียงแค่แนวดนตรีตะวันตกจำพวกแจ๊ส, คลาสสิก, ร็อกและฟังก์เท่านั้น แม่ผมเป็นนักเต้นและเธอก็ชอบการเต้นรำและดนตรีทั้งแบบอินเดีย แล้วก็อินโดนีเซีย แม่พาผมไปคอนเสิร์ตในแถบเบย์ แอเรีย เช่นที่โอคแลนด์ เบย์ ซึ่งเป็นที่ที่โจชัวเติบโตขึ้นมา ในช่วงต้นยุค 70 เป็นโอกาสในการสั่งสมประสบการณ์ทางดนตรีที่ไม่ใช่รูปแบบแนวเพลงตะวันตก

“ผมรู้สึกเหมือนกับว่าเสียงพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดนตรีของผม เป็นวิธีที่ผมรับรู้ต่อเสียงเพลงและทำนองเพลง ไปจนถึงเนื้อหาที่เสียงเหล่านั้นถูกนำมาใช้ในดนตรีของผม และยิ่งในอัลบัมนี้ยิ่งแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัดกว่าอัลบัมก่อนๆ มาก ผมไม่เคยศึกษาหรือวิเคราะห์อะไรกับดนตรีเหล่านี้ มันไม่เป็นทางการ ผมไม่รู้ความแตกต่างของดนตรีฮินดู ผมไม่ได้เล่นออกมาในจังหวะที่แตกต่างจากแบบแผนของดนตรีเหล่านี้ สำหรับผม มันมากกว่าความรู้สึกและรสชาติของดนตรีในรูปแบบที่ถูกต้องแม่นยำตามหลัก แต่มันเป็นการรับรู้ที่ผมเคยชินมาเป็นเวลานานตั้งแต่ผมยังเด็ก

“ผมควรจะเครียดที่ตอนนี้มีนักดนตรีแจ๊สมากมายที่มีความลึกซึ้งกับดนตรีแบบนี้ และรู้จักแนวเพลงแบบนี้อย่างจริงจัง ผมไม่ได้เป็นหนึ่งในนักดนตรีพวกนั้น ผมไม่ได้ศึกษาแบบแผนดนตรีแนวนี้เลย”



มีเพลงอีกส่วนนึงที่นำมาจากเวย์น ชอร์เทอร์, จอห์น โคลเทรน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีอิทธิพลต่อคุณในฐานะนักแซ็กโซโฟน “ใช่แล้ว ตอนแรกที่ผมเริ่มคิดวัตถุดิบ ผมมุ่งไปที่เนื้อหาของเพลงต้นฉบับ จากนั้นผมก็เกิดแรงบันดาลใจอย่างหนักแน่นที่จะเรียบเรียงเพลงของซันนีจากอัลบัม Way Out West แต่หลังจากที่ผมทำเสร็จแล้วผมกลับรู้สึกไม่ค่อยพอใจเท่าไร แต่เหมือนกับ ว้าว ผมสามารถทำได้แล้วตอนนี้ ผมสามารถนำเพลงเหล่านี้ เพลงที่นักแซ็กโซโฟนมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับเขาบันทึกกันเอาไว้ มาทำเป็นแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การนำกลับมาทำใหม่ธรรมดา ผมสามารถทำเพลงเหล่านั้นออกมาในแบบที่ผมรู้สึกว่าผมสามารถมีเพลงเป็นของตัวเองเพลงที่บ่งถึงบุคลิกตัวตนผ่านบทเพลงเหล่านี้

“ทันทีที่ผมทำเพลงของซันนี มันเปิดประตูทางดนตรีให้แก่ผมกับอิทธิพลอื่นๆ อีกในเรื่องของแซ็กโซโฟน ดังนั้นผมเลยตัดสินใจที่จะทำเพลงจอห์น (India) และเพลงของเวย์น (Indian Song) East of Of The Sun, West Of The Moon นั้นถึงแม้ว่าสแตนจะไม่ได้เป็นคนแต่ง แต่ก็เป็นเพลงที่ผมได้ร่วมทำกับเขา ผมรู้จักเพลงนี้จากอัลบัมของเขา West Coast Jazz (Universal, 1995) ซึ่งเป็นเพลงที่อยู่ในคอนเซ็ปต์ตะวันออกพบตะวันตกนี่เช่นกัน

“แนวความคิดของอิทธิพลโดยเฉพาะอิทธิพลต่อการเล่นแซ็กโซโฟนของผม ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่ของโปรเจ็กต์ ผมยังได้รับแรงบันดาลใจที่จะขอให้นักแซ็กโซโฟนที่มีชื่อเสียงหลายคนที่ผมรู้จักซึ่งมีอิทธิพลต่อผม อย่างพ่อผม, คริส ชีคและ Joe Lovano มาร่วมเล่นด้วยกัน

“มันเริ่มต้นขึ้น เพราะผมต้องการที่จะทำอัลบัมแบบวงดนตรีสามชิ้นขึ้นมา เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อยจากหลายๆ คอนเซ็ปต์ก็รวมกันไปจนถึงจุดที่เริ่มมีความหลากหลาย ผมว่าดีดีทีเดียว ผมมักจะพยายามหลบหลีกการตั้งแนวคิดของคอนเซ็ปต์อัลบัม เพราะผมไม่เคยต้องการให้คอนเซ็ปต์มาเป็นตัวกำหนดดนตรี ผมอยากให้คอนเซ็ปต์หลั่งไหลออกมาจากดนตรี และในงานชุดนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ในตอนสุดท้าย สิ่งที่มันมีคุณค่าที่สุดก็คือตัวงานดนตรีนั่นเอง”

ใช้เวลาในการแต่งเพลงนานแค่ไหน แล้วมันยากไหม คุณรู้สึกว่าคุณจะทำก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกอยากจะทำรึเปล่า หรือคุณก็นั่งเขียนได้เลยเวลาใกล้กำหนด

“(หัวเราะ) ผมไม่มีวิธีการแน่นอน ตอนที่ผมเริ่มทำดนตรีในโปรเจ็กต์นี้ บางเพลงนั้นได้แต่งขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ก็มีช่วงประมาณสองถึงสามเดือนที่ผมสร้างสรรค์เพลงออกมาไม่ว่ามันจะเป็นเพลงต้นฉบับเลยหรือเพลงที่นำมาเรียบเรียง มันหลั่งไหลออกมาเอง ส่วนการเขียนเพลง มันเป้นเหมือนคลื่นสำหรับผม บางครั้งผมก็จะใช้เวลานานตอนที่ไม่ค่อยอยากจะแต่งอะไร แต่อยู่ๆ บางทีก็อาจจะมีแนวคิดใหม่ๆ หลั่งไหลออกมา หรือไม่ก็ผมมีแรงบันดาลใจ หรือตั้งใจจะทำงานขึ้นมา

“ผมเริ่มรู้แล้วว่า การแต่งเพลงไม่จำเป็นต้องเป็นกระบวนการสร้างสรรค์อะไรอย่างลึกลับอย่างที่ผมเคยคิดไว้ ผมเคยคิดว่า “ผมไม่สามารถแต่งอะไรได้จนกว่าผมจะมีแรงบันดาลใจ” และผมก็ไม่สามารถหาแรงบันดาลใจได้ ทีนี้มันเลยเป็นเหมือนกับว่า เมื่อไรที่สามารถแต่งได้ก็แต่งได้เอง ส่วนหนึ่งของผมยังรู้สึกแบบนั้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็คิดว่าเป็นแค่การผูกมัดตัวเองให้แต่งเพลง อย่างถ้าผมบอกว่าผมจะนั่งลงและแต่งเพลง มันไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริงๆ ว่าผมจะนั่งลงและเขียนเพลงที่น่าทึ่งได้เลยในตอนนั้น แต่ ส่วนหนึ่งของมันคือกระบวนการ เป็นเหมือนการมอบหมายงานให้ตัวเป็นกระบวนการ แล้วในระหว่างกระบวนการดำเนินไป คุณจะพบกับอะไรบางอย่าง ผมอาจจะเริ่มเขียนเพลงที่อาจจะถูกโยนทิ้งลงทะเล แต่มันก็มีแก่นของเรื่องที่รับรู้ได้ มันกลายเป็นผลลัพธ์เพื่อต่อยอดอย่างอื่น ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าคุณมีลูกเล็กๆ สักคน”

ทีมริธึมที่คุณเลือก คุณรู้จักพวกเขา และเคยเล่นด้วยกันมาแล้ว คุณคิดเลยไหมว่าต้องเป็นพวกเขา ทำไมคุณถึงเลือกพวกเขาล่ะ

“ผมเลือกแต่ละทีมริธึมก่อนเพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว คนพวกนี้เป็นนักดนตรีที่ผมชื่นชอบอยู่แล้ว แล้วก็ด้วยเหตุที่ว่าผมเคยเล่นกับแต่ละทีมต่างแนวค่อนข้างเยอะ ผมคยเล่นวงสามชิ้นกับพวกเขาเหมือนกัน พวกเขายอดเยี่ยมมากและก็มีความแตกต่างกันไป ผมชอบแนวความคิดหลากหลายของเสียงและวิธีการของอัลบัมนี้ ผมต้องการให้เพลงเป็นจุดสนใจและก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เนื่องจากมันเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างเรียบง่ายจากแง่คิดด้านเครื่องดนตรีที่ใช้ หนึ่งในความท้าทายก็คือความหลากหลาย มีซาวด์ที่แตกต่างและอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เนื่องจากว่าถ้าคุณไม่มีคอร์ด บางครั้งก็อาจจะเสี่ยงกับการที่ทุกอย่างมีซาวด์เหมือนกันไปหมด ผมชอบความคิดที่มีความแตกต่างทางรสชาติของดนตรีและความหลากหลาย ผมคิดว่าการมีภาคริธึมที่แตกต่างกันจะช่วยได้ ผมรู้ว่าแต่ละทีมจะมีความเอกลักษณ์ในตัวเองและหวังว่าจะสามารถนำอะไรน่าตื่นเต้นได้

โจ โลวาโน, คริส ชีคและพ่อของคุณ อันนี้คุณวางแผนมายังไงเหรอ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อของคุณ คุณได้พูดไหมว่า “อ่า ผมต้องการเขาอยู่ร่วมในอัลบัมนี้” หรือเป็นอย่างอื่น?

“ในบางครั้งผมคิดว่า อยากที่จะมีแขกพิเศษโดยเฉพะอย่างยิ่งการมีนักแซ็กโซโฟนที่มีอิทธิพลต่อผมเป็นอย่างมากในหลายๆ ช่วงเวลาที่ผมพัฒนาดนตรีของตัวเองขึ้นมา มันเข้ากันพอดีกับคอนเซ็ปต์ในการเล่นดนตรีกับนักดนตรีที่มีฝีมือยอดเยี่ยมระดับปรมาจารย์แซ็กโซโฟนอย่างจอห์น โคลเทรนและซันนี รวมไปถึงเวย์นหรือสแตน ซึ่งเป็นคนที่ผมไม่เคยพบหรือพูดคุยกันมาก่อน แต่กลับมีอิทธิพลต่อผมเป็นอย่างมาก ผมชอบแนวความคิดแบบนี้ ความคิดในการนำนักแซ็กโซโฟนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในหลายๆทางมาร่วมงาน นักดนตรีที่ผมเล่นด้วย นักเป่าแซ็กฯ ที่ผมก็เคยฟังเพลงพวกเขาและเล่นด้วยกัน ผมคิดถึงพวกเขาเหล่านั้น แต่ละคนมาจากต่างรุ่น แต่ว่ากลับมาส่งอิทธิพลต่อผมในทางที่แตกต่างไปในช่วงเวลาที่ต่างกันเช่นกัน



“สำหรับพ่อของผม ผมขอให้พ่อมาเล่นให้ในอัลบัมต่อไป ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาจะว่าอย่างไร เรามักเล่นดนตรีกันก่อนหน้านี้เสมอ มันเป็นมาแบบนั้นเสมอและควรจะเป็นต่อไป เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ของพ่อ ในวงของเขาและอัลบัมเขา ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะว่ายังไงบ้างในตอนนั้น แต่พ่อก็ตอบตกลง ในตอนนั้นผมได้เชิญโจและคริสแล้วเพวกเขาก็ได้ตอบตกลงแล้ว”

นั่นน่าจะเป็นหนึ่งในเพลงที่อยู่ในอัลบัมสุดท้ายที่พ่อของคุณได้ทำ
"ใช่ ผมไม่รู้ว่า พ่อทำเพลงอื่นๆอีกหลังจากนั้น เขาอัดเพลงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2006 และเสียชีวิตในช่วงต้นเดือนกันยายน”

ใช่ เขายังคงออกมาเล่นดนตรีอยู่เลย

“ใช่ครับ เขายังออกทัวร์อยู่ ผมไม่รู้ว่าพ่อไปที่สตูดิโอหลังจากนั้น มันเป็นครั้งสุดท้ายที่เราเล่นด้วยกัน มันเป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีที่เราได้บันทึกเสียงด้วยกัน ครั้งแรกที่เราเล่นดนตรีด้วยกันผมคิดว่าน่าจะประมาณห้าขวบ แล้วนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่เราอัดเสียงด้วยกันและเล่นด้วยกัน จริงๆแล้วก็คือครั้งสุดท้ายที่ผมเห็นพ่อก่อนที่พ่อจะตาย”

สองเพลงสุดท้ายนั้นคงต้องมีความรู้สึกพิเศษมากสำหรับคุณ

“ครับ “India” นั่นเป็นเพลงที่เราจะเล่นออกมา ผมได้ความคิดนี้จากการเรียบเรียงง่ายๆ แล้วผมก็คิดว่ามันคงดีสำหรับเราถ้าได้เล่นด้วยกัน ผมรู้สึกดีมากที่มันสำเร็จออกมา เราสองคนเล่นกันสนุกมาก ผมว่าเยี่ยมมากที่ได้เล่นเพลงของจอห์น ซึ่งออกมาดี และผมชอบสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับพ่อตอนนั้นมาก

“มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ กับนักแซ็กโซโฟนทุกๆคน ผมพยายามที่จะสร้างโครงสร้างของเพลง ดังนั้น มันไม่ใช่แค่นักเทเนอร์แซ็กฯ สองคนเล่นเพลงสำหรับเทเนอร์แซ็กฯ กันมากมาย ผมต้องการให้แต่ละเพลงออกมาแตกต่างไปในแนวทางของมันเอง ให้รู้สึกเหมือนกับการสนทนากัน ซึ่งมันก็บรรลุผลมากเมื่อได้เล่นกับพ่อของผม

“เพลง GJ เป็นเหมือนเซอร์ไพรส์ เขาขอบันทึกเสียงบางอย่างคนเดียว แล้วก็ทำออกมาเทคหนึ่ง ผมไม่อยู่ด้วยซ้ำตอนนั้น ผมออกไปข้างนอกสตูดิโอ เขาทำอุทิศให้กับหลานชายของเขา ซึ่งก็คือลูกชายผมที่เกิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับเพลงนั้น ผมไม่รู้ว่ามันจะประสบความสำเร็จไหมหากเอามารวมไว้ในอัลบัม แต่หลังจากที่พ่อตาย มันมีความหมายมากและผมคิดว่ามันเป็นเพลงผิดอัลบัมที่สวยงามทีเดียว”

อัลบัมแผ่นนี้ยอดเยี่ยมมาก คุณคิดจะเอาวงสามชิ้นแบบนี้ไปออกทัวร์บ้างไหม?

“ผมจะมีออกแสดงที่บอสตัน ร่วมกับคริสเตียนและไบรอัน หลังจากนั้นผมจะไปที่วอชิงตัน แสดงติดกันสี่คืนกับแลรีและอาลี จากนั้นเดือนมิถุนายน ผมจะเริ่มออกทัวกับรอยเบนและเอริก ดังนั้นจริงๆ แล้วผมได้ออกแสดงในเรื่อยๆ กับทั้งสามวงนี้”



มีความคิดเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ต่อๆ ไปบ้างไหม

“ผมไม่ได้ออกทัวเล่นดนตรีซักเท่าไรในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ส่วนมากจะไปกับเดอะ แจ๊ส คอลเล็กทีฟ ซึ่งก็แค่เดือนเดียว ดังนั้นผมเลยตั้งใจจะกลับไปพร้อมกับวงดนตรีสามชิ้น แล้วก็เล่นดนตรี หวังว่าจะแต่งเพลงใหม่ๆ ออกมาด้วย

“ผมมีไอเดียเยอะแยะเลยกับโปรเจ็กต์ในอนาคต แต่ผมไม่ค่อยชอบพูดถึงมันมากนักจนกว่าจะได้เริ่มทำ ผมพยายามไม่พาตัวเองไปข้างหน้ามากนัก พยายามจะอยู่กับช่วงเวลานี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

หากคุณเป็นแฟนเพลงแจ๊สอีกคนหนึ่งที่หลงใหลในเสียงแซ็กโซโฟน โจชัวต้องเป็นอีกคนที่อยู่ในรายชื่อนักดนตรีในดวงใจของคุณอยู่แล้ว และถ้าหากคุณพร้อมที่จะเปิดใจกว้างรับแนวคิดทางดนตรีที่ถึงแม้ว่าจะไม่แปลก แต่แหวกแนวในแบบนี้แล้วล่ะก็ Back East ก็น่าจะเป็นแผนซีดีอีกแผ่นหนึ่งที่อยู่ในซีดี คอลเล็กชันของคุณเช่นกัน



Joshua Redman / Back east
Musicians
Joshua Redman Tenor saxophone, Soprano Saxophone
Larry Grenadier Bass
Ali Jackson Drums
Christian McBride Bass
Brian Blade Drums
Reuben Rogers Bass
Eric Harland Drums
Joe Lovano Tenor Saxophone
Chris Cheek Soprano Saxophone
Dewey Redman Tenor Saxophone, alto saxophone

Track listing:
1.The Surrey With the Fringe on Top
2.East of the Sun (and West of the Moon)
3.Zarafah
4.Indian Song
5.I’m an Old Cowhand
6.Wagon Wheels
7.Back East
8.Mantra #5
9. Indonesia
10.India
11.GJ.




Create Date : 23 กันยายน 2550
Last Update : 23 กันยายน 2550 4:01:02 น. 1 comments
Counter : 1683 Pageviews.

 
I don't know how to upload the music into this page. Once I knew but now I don't.


โดย: nunaggie วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:0:11:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.