"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Nels และ Alex Cline คู่แฝดฟรีแจ๊สยกกำลังสอง

พี่น้องฝาแฝด อเล็กซ์และเนลส์ ไคลน์ ได้ทดลองทำงานดนตรีใหม่ๆ ออกมาผ่านทางโปรเจ็กต์ต่างๆ ของตัวเอง ทั้งสองได้ผันตัวเองมาเล่นกับพี่น้องนักดนตรีสกุลแจ๊สเมื่อนานมาแล้ว อาทิ กับโจนส์ บราเธอร์ส ผู้โด่งดังในดีทรอยต์ (ซึ่งก็คือ แธ็ด, เอลวิน และแฮงก์), พี่น้องตระกูลฮีธส์ ในฟิลาเดลเฟีย (จิมมี, อัลเบิร์ต และเพอร์ซี) และพี่น้องตระกูลมาร์ซาลิส ในนิว ออร์ลีนส์ (วินตัน, แบรนฟอร์ด, เดลฟีโญ และเจสัน)



แต่ในขณะเดียวกันนั้น ออกท่องไปทางด้านฝั่งตะวันตก คนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้ว่า พี่น้องสองคนนี้ทำวงดนตรีด้วยกัน คือวงเดอะ ไคลน์ส โดยเนลส์เล่นกีตาร์ และอเล็กซ์เล่นกลอง ปกติคู่นักดนตรีพี่น้องที่เล่นดนตรีด้วยกันทั่วไป คนพี่มักจะถ่ายทอดอิทธิพลในการเล่นให้กับคนน้อง แต่พี่น้องชาวลอส แอนเจลิสสองคนนี้เล่นเข้าขากันได้ด้วยเหตุแห่งความเป็นฝาแฝดโดยแท้

“พี่น้องกันก็จะมีความเป็นใจหนึ่งใจเดียวกันอยู่แล้ว เพื่อนแท้ที่บ้าอะไรเหมือนๆ กันกับที่คุณเป็น” เนลส์พูดถึงความสัมพันธ์ของเขากับอเล็กซ์ “เราอาจจะมีความผูกพันทางจิต”

สองพี่น้องไคลน์สเริ่มต้นกันในช่วงยุค 80 (เกิดวันที่ 4 มกราคม 1956) ได้ตัดสินเข้ามาเล่นดนตรีแจ๊ส และงานทดลองอย่างจริงจังในแอลเอ กับรอบๆ แถบนั้น ได้เล่นกับจูเลียส เฮมฟิล, โอลิเวอร์ เลก และชาร์ลี ฮาเดน แล้วยังมีนักดนตรีท้องถิ่นของเวสต์โคสต์อีกมากมายหลากหลายคน วงสี่ชิ้นของพวกเขาที่เล่นในสไตล์วงโอรีกอน ก็อยู่ได้เกือบตลอดยุค 80 เลยทีเดียว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ชื่อเสียงของตระกูลไคลน์ก็ได้แพร่กระจายไปยังกลุ่มคนฟังที่กว้างขึ้น เนื่องจากว่าเนลส์ได้เข้าไปเป็นสมาชิกวงร็อกนามว่า วิลโก หากแต่ว่าแฟนเพลงกลุ่มใหม่ๆ จากวงวิลโก คงจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเขาอีกเยอะถึงประวัติทางดนตรีที่ค่อนข้างจะสนุกสนาน รวมไปถึงผลงานในฐานะวงสามชิ้นชื่อ เดอะ ไนลส์ ไคล์น ซิงเกอร์ส และก็งานที่เชื่อมต่อกับแจ๊ส, ร็อก และแวดวงดนตรีทดลอง

ในปีนี้ สองพี่น้องได้ออกผลงานเดี่ยวออกมาในเวลาพร้อมๆ กัน ภายใต้สังกัดคริปโตแกรมโมโฟน สังกัดแจ๊สอิสระอายุสิบปีในแอลเอ ที่ดำเนินการโดย เจฟ โกเธียร์ ความเหมือนกันและความแตกต่างได้แสดงไว้ให้เห็นผ่านผลงาน Continuation ของอเล็กซ์ และ Coward ของเนลส์ ชุด Continuation เป็นผลงานแจ๊ส โปรเจ็กต์วงแชมเบอร์ที่ไม่ยึดติด โดยมีสมาชิกอย่าง ไมรา เมลฟอร์ด (เปียโน), เพ็กกี ลี (เชลโล), เจฟ โกเธียร์, สก็อต วอลตัน (เบส) และอเล็กซ์ กับรสนิยมในการเล่นกลองที่หลากหลายและกว้างไกลของเขา ส่วน Coward นั้นตรงกันข้าม มันเป็นผลงานโชว์เดี่ยวของเนลส์ครั้งแรกจริงๆ ถึงแม้ว่า ในผลงานจะมีชั้นเสียงมากมายหลายชั้นทั้งอะคูสติกและอิเล็กทริก ซาวด์ที่ออกนามธรรมและซาวด์ที่มีท่วงทำนองคงที่ รวมไปถึงสิ่งที่จะอ้างอิงไปถึงอิทธิพลทางดนตรี ที่บ้างอาจว่า เป็นงานเพลงที่ไม่มีความสอดคล้อง แต่ไม่ใช่กับเนลส์ ไคล์นแน่นอน ได้แก่ ราล์ฟ ทาวเนอร์, เดเร็ก ไบลีย์ และเธิร์สตัน มัวร์ แห่งโซนิกยูธ

บ่ายวันหนึ่ง พี่น้องตระกูลไคล์นได้เข้ามาพบปะที่บ้านในเมืองคัลเวอร์ ซิตี ซึ่งอเล็กซ์อาศัยอยู่กับภรรยา และลูกสาวตัวน้อยๆ การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้เข้าพิธีสาบานตน ทำให้บรรยากาศในการพูดคุยคึกคัก โดยไม่รวมถึงโอกาสดีที่ทั้งสองอัลบัมของพวกเขากำลังจะออกมาพร้อมๆ กัน

ขณะที่สองพี่น้องเติบโตมาด้วยกันในบรรยากาศแห่งดนตรี แต่พวกเขาก็มีบุคลิกทางดนตรี และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ในการพบปะกันครั้งนี้ทั้งสองสวมเสื้อยืดสีดำเหมือนกัน แต่ก็บ่งบอกถึงความต่างกัน เนลส์ใส่เสื้อที่มีภาพหน้าปกอัลบัมที่ออกมาครั้งแรกของวง เดอะ แบด เบรนส์, เดอะ วอชิงตัน ดีซี, วงดนตรีพังก์ แต่ว่าปรับเปลี่ยนใหม่ด้วยคำว่า “บารัก โอบามา” ส่วนอเล็กซ์ ผู้ซึ่งดูสงบเงือกเย็นและพินิจพิเคราะห์มากกว่า สวมเสื้อยืดเขียนแบบเซน ว่า “มันก็เป็นเช่นนั้นเอง”

สัปดาห์ก่อนหน้า สองพี่น้องเล่นกิ๊กในซานดิเอโก โดยปกติไม่ค่อยจะได้เล่นด้วยกันเท่าไร ในเซ็ตลิสต์ ทั้งสองจะต้องเล่นเพลงอย่าง Angels Without Edges ของคีธ จาร์เร็ต, Interstellar Overdrive ของพิงก์ฟลอยด์, Beginnings เพลงบรรเลงของจิมมี เฮ็นดริกซ์, Law Years ของออร์เน็ต โคลแมน และ India ของจอห์น โคลเทรน ซึ่งทั้งหมดนี้บ่งชัดเจนถึงการสรรหาแต่สิ่งที่ดีที่สุดของครอบครัวไคลน์ และทำออกมาเป็นผลผลิตทางดนตรีของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อพวกคุณสองคนเล่นคู่กัน คุณเล่นกันแบบไหลลื่นเหมือนสายน้ำ ที่ร่วงหล่นสู่กระแสรับรู้และเข้าใจทางดนตรี หรือว่าเป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคยกัน?”
อเล็กซ์ “อะไรที่ไม่คุ้นเคยกันสำหรับผมนี่ คงเป็นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผมไม่ค่อยได้ซ้อมบ่อยนัก ดังนั้นการฝึกซ้อมเข้มข้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ท้าทายทีเดียว การเป็นพ่อคนนอกเหนือไปจากการทำงานประจำในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ผมก็เลยไม่ค่อยได้ซุ่มซ้อมเท่าที่ควร แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวก่อปัญหาเท่าไร ถ้าผมยังไม่ไปเจออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เข้า เหมือนอย่างที่เนลส์พูด “นายต้องการมากกว่าแค่ทักษะที่จะเล่นอย่างนั้นนะ” ซึ่งเพลงที่ผมเล่นส่วนมากในช่วงหลังๆ นี้ก็ไม่ใช่เพลงง่ายๆ นอกเหนือไปจากเพลงที่เราตกลงจะเล่นกันแล้ว ก็ไม่ต้องคุยอะไรกันมากนัก นอกจากจะเล่นกันไปเลย”
เนลส์ “ตอนที่เราไปเล่นกิ๊กดูโอที่เดอะ แจ๊ส สแตนดาร์ด ในนิวยอร์ก ซึ่งก็ไม่ได้คาดคิดกันมาก่อน มีจังหวะที่เข้ากันได้อย่างน่าสนุกหลายจังหวะเลยครับ และก็จังหวะที่เราหยุดเล่นพร้อมๆ กัน แล้วก็เล่นต่ออีก”

“คุณทั้งสองคนออกอัลบัมเนี้ยบๆ พร้อมกันทั้งสองคนเลย สำหรับเนลส์ นี่เป็นทางออกไปสู่การเล่นเครื่องดนตรีแบบเดี่ยวๆ เองทุกชิ้น คุณเคยทำอย่างนี้มาก่อนหรือเปล่า?”

เนลส์ “ไม่เคยครับ แต่ที่ตลกก็คือ ผมพูดเรื่องจะทำโปรเจ็กต์เดี่ยวนี่มาร่วมสามสิบปีแล้ว Prayer Wheel เป็นงานตั้งแต่ยุค 80 เลย ผมแก้ไขไปนิดหน่อยเอง”

“ผลงานทั้งสองชุดนี้ คุณภาพของอะคูสติก และงานเลียนแบบแชมเบอร์นี่ทำให้ย้อนกลับไปรำลึกถึงงานควอร์เต็ตอยู่บ้าง”

อเล็กซ์ “งานของผมเป็นงานแรกที่ไม่ได้ใช้เครื่องอิเล็กทริกใดๆ เลย มันก็ไม่ใช่คอนเซ็ปต์อะไรนะครับ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ผมตระหนักได้หลังจากที่ตัดสินใจจะทำ ผลงานเพลงก่อนหน้านี้ของผมหลายๆ ชิ้นมีเครื่องอิเล็กทริกเต็มไปหมด จากจี อี สตินตัน มือกีตาร์ นี่ยังไม่พูดถึงการใช้ไวโอลินซินธ์ พ่วงเอฟเฟ็กต์ของเจฟเป็นบางครั้งบางคราวด้วยนะครับ แต่ที่พูดมานี่ไม่มีเลยในอัลบัมล่าสุด”



“มันมีความสมดุลที่ต้องรักษาระดับอยู่ในเพลงที่เขียนไว้ กับช่วงว่างสำหรับฟรีฟอร์ม นี่เป็นหนึ่งในคอนเซ็ปต์การทำอัลบัมนี้ด้วยหรือเปล่า?”

อเล็กซ์ “นั่นเป็นส่วนประกอบสำคัญเลยครับในชีวิตนักดนตรีของผม คือดุลยภาพระหว่างเพลงที่เขียนขึ้นกับการอิมโพรไวส์ ซีดีแผ่นนี้ตั้งใจที่จะสร้างคำถามให้กับคนฟังที่ไม่สามารถบอกได้ว่า ตรงไหนที่เป็นท่อนที่เขียนขึ้นกับตรงไหนเป็นท่อนอิมโพรไวส์ แล้วก็อีกสารพัดล่ะครับ มันเป็นความสับสน พร่ามัวที่น่าพึงใจ เพราะมันเป็นการบ่งบอกว่าผมได้ทำอะไรที่ผมค่อนข้างจะชอบได้ตรงจุดแล้วล่ะ

“มันบอกอะไรได้เยอะสำหรับนักดนตรีในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าถ้าคุณไม่ได้เข้าใจอะไรแบบนั้นเหมือนคนที่เล่นดนตรี มันก็ไม่มีทางเวิร์กได้หรอกครับ แล้วนักดนตรีพวกนี้ก็สามารถเล่นเข้าขากันได้อย่างหมดจดงดงามกับสถานการณ์ตอนนั้น ส่วนมากพวกเขาไม่เคยเล่นเพลงของผมมาก่อน ก็ถือเป็นความเสี่ยงเหมือนกัน

“พอเราเข้าไปในสตูดิโอ คนที่ยังไม่ค่อยคุ้นกับเพลงของผม โดยเฉพาะไมรากับเพ็กกี ต่างก็ปรึกษากันว่า จะเล่นแบบไหนกันดี แล้วพวกเขาก็เล่นไปในแนวทางนั้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ผมรู้สึกลิงโลดมากๆ เพราะว่าผมก็คาดหวังที่จะฟังพวกเขาเล่นออกมาแบบนั้น”

“เนลส์ อัลบัมของคุณดูเหมือนจะมีสูตรในการผสมที่สมดุล ระหว่างฟรีอิมโพรไวส์และส่วนที่เล่นตามโน้ต คุณวางแผนไว้ให้เป็นอย่างนี้ใช่หรือเปล่า?”

เนลส์ “หลังจากที่คิดๆๆ โปรเจ็กต์นี้มาร่วมยี่สิบปี ผมเล่นเซสชันที่ไม่มีอะไรที่เขียนไว้ล่วงหน้าเลย ผมหมกมุ่นกับความคิดตัวเอง คิดเรื่องนี้มานานมาก แล้วก็ทิ้งไป แล้วก็มีอะไรใหม่ๆ ให้คิดอีก ทุกๆ ครั้งมันก็เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย

“แต่ผมก็มาตัดสินใจเป็นแม่นมั่นว่า อย่างไรซะต้องทำอัลบัมนี้ให้สำเร็จให้จงได้ ก็มีโอกาสให้ได้ทำ หลังจากที่ผมต้องคร่ำเคร่งกับอะไรหลายๆ อย่าง ผมอยากจะกล่าวถึงโรเบิร์ต มาเธอร์เวล (จิตรกร) ได้เคยพูดถึง “เบื้องลึกที่ขาดไม่ได้” ผมก็เข้าไปในนั้น แล้วก็เหวี่ยงแขนไปเรื่อย มาร์ก วีตตัน เพื่อนผมก็เลยให้ผมเข้าไปที่ห้องคอนโทรล เพื่อปลดปล่อยซะหน่อย ผมว่าคงทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์สักอย่าง ผมมักจะได้ไอเดียต่างๆ แล้วก็จะใส่เข้าไปเพื่อให้ได้ออกมาทั้งท่อนเพลง ซึ่งง่ายมากครับถ้าใช้โปรทูลส์

“มีหลายๆ ครั้งที่อเล็กซ์คิดว่า ผมคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ผลสุดท้าย ผมก็แก้ปมออกไปได้ทุกครั้ง เพลงที่เล่นให้ร็อด พูล (อัลบัม Gradual Ascent To Heaven) ก็ไม่เคยคิดเลยว่า จะเล่นอย่างนั้น ผลงานมันสร้างสรรค์ตัวของมันเอง”

“ในฐานะที่คุณเป็นชาวลอส แอนเจลิส ซึ่งค่อนข้างจะผิดแผกไปจากนักดนตรีส่วนมากที่มักจะปักหลักกันที่อีสต์โคสต์ สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างหนึ่งก็คือ ความคุ้นเคยใกล้ชิดกับธุรกิจบันเทิง คุณว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นไหม?”
เนลส์ “ผมว่ามันแปลก อเล็กซ์ก็คงจะเห็นด้วย แต่ผมกลับรู้สึกว่า แทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยจริงๆ ไม่ได้คิดว่ามันจะมีผลต่อการเติบโตในครอบครัวเราเลยครับ พ่อแม่เราไม่ได้ห้ามดูหนัง พ่อเราก็พาไปดูหนังทุกบ่ายวันเสาร์สมัยยังเป็นเด็กๆ ตอนพ่อยังเล็กๆ คุณย่าก็จะให้พ่อออกไปเล่นนอกบ้าน ด้วยการให้เงินค่าขนมไป แล้วพ่อก็จะไปอยู่ที่โรงหนังทั้งวันเลย ซึ่งนั่นเป็นที่ที่พ่อได้ริเริ่มความคิดชีวิตนอกซาน เปโดร ชีวิตที่ไม่มีท่าเรือ, กองทัพเรือ, ทุกอย่างที่แวดล้อมอยู่ในตอนนั้น”

“แล้วประสบการณ์ดนตรีของพวกคุณหล่อหลอมกันมาอย่างไรตั้งแต่วัยเยาว์?”

เนลส์ “ผมติดร็อกแอนด์โรลตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา ตอนที่แพ็ต พายล์ เพื่อนที่โรงเรียนประถม พาเราไปที่บ้านหลังเลิกเรียน โชว์กลองสแนร์ให้เราดู แล้วก็เล่นตามบทเรียนที่เขาเรียนมาให้ฟัง เขาเป็นคนเก่งมากครับ ได้ฟังเขาเล่นสแนร์ในห้องนอน ผมรู้สึกปีติมากจนเหมือนหน้าผมมันจะแตกออกเป็นสองเสี่ยงเลย ผมแทบจะหยุดยิ้มไม่ได้”

อเล็กซ์ “นั่นเป็นช่วงที่สถานีวิทยุ AM เริ่มทดลองการออกอากาศเพลงจากอัลบัม”

เนลส์ “ก็เห็นได้ชัดละครับว่า บีเทิลส์กับโรลลิง สโตนครองเมือง แล้วผมเองก็ติดหนึบกับเดอะ เบิร์ดส์ ผมชอบวงเลิฟ ต่อมาก็มีจิมมี เฮ็นดริกซ์ เทพกีตาร์ บ่ายวันเสาร์วันหนึ่ง ผมอยู่ห้องหลังบ้านกับเพื่อนๆ ฟังคลื่น KHJ พวกเขาเปิดเพลง Manic Depression (เพลงของจิมมี เฮ็นดริกซ์) ซึ่งแปลกมาก เพราะว่ามันใม่ใช่ซิงเกิล เราก็ฟังแล้วกระโดดโลดเต้นกันไปมา แหกปาก แบบว่าลืมโลกไปเลย มันเหมือนโดนช็อตแรงๆ เป็นเวลาสามนาทีครึ่งเต็มๆ เพราะว่าเป็นอิเล็กทริกเพียวๆ ทั้งเพลงเลย”

“แสดงว่าส่วนหนึ่งในเส้นทางดนตรีของพวกคุณ ได้รับสืบทอดมาจากจิมมี เฮ็นดริกซ์ ผ่านมาทางโปรเกรสซีฟ ร็อก แล้วถึงจะมาที่แจ๊สหรือ? เส้นทางคร่าวๆ ของคุณเป็นอย่างไร?”

เนลส์ “ช่ายครับ แจ๊สกับโปรเกรสสีฟเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แจ๊สมาก่อนร็อกหน่อย มีเพื่อนที่ซื้อแผ่นของจอห์น โคลเทรนมาให้พ่อของเขา เขาได้ฟังแล้วก็มาบอกว่า “อเล็กซ์ชอบเพลงของแฟรงก์ แซปปา ก็น่าจะชอบชุดนี้นะ” ย้อนคิดกลับไปแล้ว มันก็แปลกๆ แต่ก็ดูน่ายินดีนะครับ

“เราได้รวมแจ๊สกับร็อกเอาไว้เป็นสิ่งที่น่าลุ่มหลงในค่าที่มันเป็นดนตรีบรรเลง และก็เป็นอะไรที่หาคำจำกัดความไม่ได้ ในปี 1971 อัลบัม Inner Mounting Flame ของวงมหาวิษณุ ออร์เคสตราออกวางแผง, วงเวเธอร์ รีพอร์ตก็เริ่มก่อตัว, วงเจ็ดชิ้นของเฮอร์บี แฮนค็อก ผลงานที่เราฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม

“ความใฝ่ฝันแปลกๆ ที่อยากจะยำเพลงของคิง คริมสัน, ดิ ออลแมน บราเธอร์ส และเวเธอร์ รีพอร์ตรวมกันนั้น ทำให้เราได้ทดลองกันตอนเรียนมัธยมปลาย ผมก็พูดเล่นไปว่า เพลงของเราไม่เคยเปลี่ยนเลยนะตั้งแต่สมัยนั้น เว้นเสียแต่ว่าเราเล่นได้ดีขึ้น ตัวแปรของเรายังเหมือนเดิม”

“เนลส์ คุณก็ทำครบแล้วทั้งในบริบทของร็อกและแจ๊ส”

เนลส์ “ความสนใจของผมในบัฟฟาโล สปริงฟิลด์ และเดอะ เบิร์ดส ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร และก็ฮัมเบิล พาย”

อเล็กซ์ “กัปตันบีฟฮาร์ต และเดอะ มาเธอร์สเป็นวงโปรดของผม นอกจากนั้นก็มีวงเฮฟวี เมทัลบางวง การที่มาเล่นกลองตอนอายุ 14 คุณก็ต้องชอบเพลงโดนๆ แล้วก็มาจากสัญชาตญาณด้วย ผมก็เพิ่งจะมาตระหนักว่า มือกลองที่ผมชอบในตอนนั้นก็มักจะเกี่ยวพันกับวงการแจ๊สด้วย อย่าง มิตช์ มิตเชล ฮีโรมือกลองคนแรกของผม, ไคลฟ์ บังเกอร์ มือกลองคนแรกของเจโธร ทัล และไมก์ ไจล์ส มือกลองดั้งเดิมของคิง คริมสัน การได้ฟังฝีมือของโทนี่ วิลเลียมส์ ไลฟ์ไทม์คือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงผมทุกอย่าง วงซึ่งมีทั้งจอห์น แม็กลอฟลิน และแลรี ยัง”

“การได้ฟังจอห์น แม็กลอฟลินในยุคแรกๆ ถือเป็นสุดยอดของคุณหรือเปล่า เนลส์?”

เนลส์ “ไม่นะครับ อเล็กซ์เขาอินกับวงของแม็กลอฟลินมาก ผมชอบเสียงอะคูสติกมากที่สุด My Goal’s Beyond เล่นเอาผมมึนไปพักใหญ่ การได้ดูมหาวิษณุเล่นสด เหมือนโดนไฟเผาผมทั้งหัวภายในวูบเดียวจริงๆ แต่สไตล์การเล่นกีตาร์ของจอห์นยังไม่ใช่อิทธิพลของผม ผมพยายามที่จะเดินไปในทิศทางที่แตกต่าง ตอนนั้นอเล็กซ์ยังเฉื่อยๆ อยู่เลย ผมลองฟังแพ็ต มาร์ติโน, โจ แพส และจอร์จ เบนสัน แล้วก็ลองใส่ความรู้สึกฮิปๆ เข้าไป รวมทั้งโยกสายด้วย แต่ผมชอบซาวด์สะอาดๆ มากกว่า สร้างอารมณ์น้อยกว่า อเล็กซ์บอกว่า “ไม่มีโยกโน้ต? ไม่มีดิสทอร์ชัน? นายนี่บ้อท่าจริงๆ”

อเล็กซ์ “ผมไม่ได้พูดอย่างนั้นเป๊ะๆ แน่ๆ”

เนลส์ “แต่ผมจะได้อยู่ครั้งหนึ่ง นายบอกว่า “แพ็ต มาร์ติโนคนนี้เป็นอิทธิพลทางดนตรีที่ไม่ค่อยดีเลยนะ นั่นมันโทนอะไรน่ะ? ไมมีความหมายเลย มีแต่เบสทั้งนั้น” ในที่สุด จอห์น สกอฟิลด์ก็เข้ามา และเขาก็เป็นคนที่รับเอาอิทธิพลของทั้งสองโลกเข้ามา คุณจะได้ยินอิทธิพลเครื่องเป่าในงานของเขา แล้วก็ความรู้ทางฮาร์โมนิกที่สมบูรณ์แบบ และความเป็นบลูส์ด้วย

“ยังไม่ต้องไปไกลเกินกว่ายุคที่เรากำลังพูดถึงนี่ ซึ่งเป็นยุคแห่งการเสาะแสวงหา ในสิ่งที่ยังไม่ได้มีคำจำกัดความ วิทยุก็ยังไม่มี โรนัลด์ เรแกนยังไม่โผล่มาทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ทำไมยุค 70 ถึงได้ถูกป้ายสีให้เสียหาย? เราก็มากันไกลจนกระทั่งถึงยุคดิสโก และพังก์ร็อก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่มีขนมปังแผ่น แล้วยุค 70 มันมีปัญหายังไงเหรอ? แล้วยังมีเรื่อง AACM, การขึ้นแท่นของแอนโธนี แบร็กซ์ตัน พร้อมๆ กันกับ แอร์ และลีโอ สมิธ

“ในเวลาเดียวกัน ก็มีสิ่งที่เรียกว่า อิเล็กทริกแจ๊ส เข้ามาก่อนที่จะถูกเรียกว่า ฟิวชัน มีแผ่นดีๆ ออกมามากมาย ไม่ว่าจะตัวตนแจ่มชัดอย่าง ทาวเวอร์ออฟพาวเวอร์กับผลงานเพลงฮิตๆ หรือว่าแฝงกรูฟไว้อย่าง แรมซีย์ ลิววิส หรือลอนนี ลิสตัน สมิธ ฟาโรห์ แซนเดอร์สก็กำลังสร้างผลงานดีๆ ออกมา ซึ่งเหยาะกลิ่นแอฟริกันและอินเดียเอาไว้ด้วยกัน ไม่มีใครบอกว่า “คุณทำอย่างนั้นไม่ได้นะ ใส่เสื้อนอกซะ ไม่ค่อยจะสมเกียรติเลย” แต่นี่เกิดจากสัญชาตญาณอย่างชัดเจน ถึงเวลาที่จะต้องเสาะหาอะไรใหม่ๆ แล้ว เราก็เลยเริ่มต้นคิดกันว่า จะทำดนตรีอะไรออกมา”

อเล็กซ์ “ซึ่งก็เป็นเวลาที่ค่ายอีซีเอ็มกลายเป็นเสาหลักในชีวิตของเราซะแล้ว”



“นั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงควอร์เต็ตหรือเปล่า?”

เนลส์ “มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมาเล่นดูโอกับเอริก วอน เอสเซ็น (มือเบสคนล่าสุด) ซึ่งก็นำพามาเป็นวงควอร์เต็ตในภายหลัง แรกที่พบกับเอริก เขากำลังเล่นกีตาร์, เคาะโต๊ะ กับเล่นเปียโน เราเข้าไปแล้วก็เจอเขาฝึกซ้อมอยู่ที่ห้องซ้อมใน UCLA เล่นเพลง Song Of The Wind ของชิก คอเรีย แทบไม่อยากจะเชื่อเลยว่า นักเรียนจะเล่นคอร์ดแรงๆ อย่างนี้ได้”

อเล็กซ์ “ควอร์เต็ตเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกถึงช่วงเวลาเด่นๆ ในฐานะนักเล่นของเนลส์ สำหรับผมแล้ว ผมมองอีกแง่มุมหนึ่งในสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ มันกลายมาเป็นงานกลุ่มที่ทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเราเกือบมาเล่นที่นี่ เพราะว่าไม่ค่อยมีหนทางที่ทำได้แบบอื่นมากมายนัก น่าเสียดายที่เราทำอัลบัมออกมาน้อยมาก ถ้าจะเทียบกับวัตถุดิบดีๆ ที่เรามีในแขนงนี้

“เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ก็คือ วงจาห์ของจูเลียส เฮมฟิล ในช่วงปี 1984-86 ผมเคยเล่นกับจูเลียสก่อนหน้านั้นแล้ว ตอนปี 1977-78 ซึ่งเป็นวงทริโอเล่นกับไบคิดา แคร์รอลอีกคนหนึ่ง

“จูเลียสมีไอเดียที่จะทำวงอิเล็กทริกด้วยกัน เขาเลยอยากรู้ว่า เนลส์จะสนใจเล่นด้วยกันไหม แล้วถ้าผมรู้จักมือเบสดีๆ ผมรีบบอกไปเลย “ไปเอาสจวร์ต ไลบิกมาเลย” เขาได้จูมา ซานโตสเล่นเพอร์คัสชัน เราเริ่มเล่นกันในนามวงจาห์ มาจากจูเลียส อาร์เธอร์ เฮมฟิล ทัวร์ครั้งที่สองของเราในปี 1985 เราได้ทำสิ่งที่จูเลียสอยากจะทำเสมอมา ซึ่งนั่นก็คือ การเพิ่มมือกีตาร์เข้าไปอีกหนึ่งคน บิล ฟริเซล

“แต่โชคไม่ดีนักที่ทางวงไม่ค่อยจะได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร ช่วงกลางยุค 80 ถือว่างานนี้เป็นก้าวย่างที่ค่อนข้างจะมีข้อโต้แย้งอยู่ วงที่มีหนึ่งเบสกับสองกีตาร์ เล่นหลายแนวไม่จำกัดแค่ร็อกกับบลูส์ แต่ในรูปแบบของจูเลียสแล้ว เขาปล่อยให้นักดนตรีเก่งๆ สร้างสรรค์งานออกมาในทุกๆ ที่ย่างเท้าไป”

“เนลส์ เรากำลังคิดว่าคุณเป็นสองพลเมือง คือแจ๊สกับร็อก”

เนลส์ “ผมเคยใช้เรียกชีวิตสองภาคแปลกๆ ของตัวเองว่าอย่างนั้นเหมือนกัน ผู้คนให้ความสนใจกับด้านแจ๊สของผม แต่นักดนตรีส่วนมากที่ผมเล่นด้วย ผมไม่เคยพูดถึงด้านร็อกของตัวเองให้พวกเขาฟังเลย ไม่มีใครรู้เลย มันเหมือนชีวิตลับส่วนตัว”

“มีบางอย่างน่าสนใจเกิดขึ้นกับสายสัมพันธ์กับวงวิลโก คุณ, เกล็น ค็อตช์ มือกลอง และแพ็ต แซนโซเน กำลังเติมแต่งวงด้วยสัมผัสแห่งการทดลอง ซึ่งเดิมก็แค่มาแบบกะปริดกะปรอย แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า มันค่อนข้างหลอมรวมเข้ากับดนตรีของทางวงมากกว่าเดิม”

เนลส์ “ผมว่าก็ไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น ผมยังไม่คิดเลยว่า ตัวเองใส่อะไรเพิ่มให้กับวงหรือเปล่า แต่คนอื่นก็บอกเสมอว่า เป็นเพราะผมนั่นแหละ รู้ว่าการแสดงสดต้องมีผมกับแพ็ต ทางวงเริ่มแตกต่างขึ้นมาเล็กน้อย ผมว่าวิลโกเป็นวงดนตรีที่มีบุคลิกส่วนตัวมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผมพูดแทนเพื่อนๆ ในวงทุกคนได้เลยว่า เราสนุกมากและภูมิใจในการเล่นทุกๆ ครั้ง เล่นดนตรีก็สนุกอยู่แล้ว เราก็เล่นแบบสุดความสามารถ ทุกคนดูเหมือนจะมาถูกที่กันหมด อีกทั้งเราก็มีอิสระกันเยอะ ไม่ได้เหมือนวงร็อกปกติ

“เจฟ ทวีดดี เพิ่งเขียนเพลงใหม่ให้เราเล่น มันก้าวเข้าไปสู่บัฟฟาโล สปริงฟิลด์ และเดอะ เบิร์ดส ที่อยู่ในส่วนลึกของผม ผมรู้สึกแปลกๆ เพียงเพราะว่ามันแปลกๆ สำหรับคนอื่น ซึ่งผมออกไปเล่นเพลงเดิมๆ แล้วผมไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันกับการถูกแห่แหนสรรเสริญแบบวงร็อกเท่าไร บางทีผมก็ชอบนะ แต่ผมไม่เคยออกไปเล่นต่อหน้าแฟนพันธุ์แท้เท่าไร กิ๊กแรกที่ผมเล่นกับวิลโก แฟนเพลงก็ตะโกนกันลั่นตอนที่เราเดินออกมาหน้าเวที ตอนนั้นผมโคตรกลัวเลย

“ผมรู้สึกมีกำลังใจที่จะทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยทัศนคติที่มองว่าทุกอย่างที่ผมทำคือ การทำงานให้กับทางวง ฝ่ายจัดการก็เริ่มเข้ามาทำงานกับผม เพราะว่าพวกเขาชอบสิ่งที่ผมทำ และพวกเขารักแจ๊ส เบน เลอวิน ฝ่ายจัดการของวงก็เป็นผู้จัดการของเดฟ ดักลาสด้วย”


“คุณทั้งสองคนเติบโตมาด้วยความฝักใฝ่ในการทดลอง, การทำอะไรด้วยตัวเอง มันเป็นไปเองตามธรรมชาติหรือเปล่า?”

เนลส์ “นั่นคือสิ่งที่ทุกคนก็ทำเหมือนกันในยุค 70 ก่อนพังก์ร็อกก็มีคาเบล สังกัดของลีโอ สมิธ, จูเลียสมีวงเอ็มบารี, โอลิเวอร์มีสังกัดแพสซิง ธรู, เจโรม คูเปอร์ก็มีสังกัด นิว มิวสิก ดิสทริบิวชัน เซอร์วิสตามเก็บงานไว้หมด และก็จัดจำหน่าย มันไม่ใช่แบบ “โอย ผมแย่แน่ นั่นก็เป็นเหตุผลที่ผมออกวางจำหน่ายงานเล็กๆ เอง” มันเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ พังก์ร็อกเข้ามา แล้วก็ทำทุกอย่างนี้เหมือนกัน”

อเล็กซ์ “มีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเบื้องต้นของมันเลย ก็คือว่า ถ้าคุณอยากจะเล่น, ทำเพลงที่คุณต้องการจะทำจริงๆ แล้วเพลงของคุณก็ต้องจะไม่มีใครอยากจะเอาไปเล่นในสถานที่ของเขา ดังนั้น คุณก็ควรคิดว่า คุณจะไปเล่นที่ไหน ง่ายๆ เลยครับ คุณอาจจะเช่าโบสถ์เล่น หรือไปเล่นตามอาร์ตแกลเลอรี พวกเราก็เคยทำอย่างนี้กันเป็นประจำ ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนมัธยมเลยล่ะ เราไม่ได้ไปเล่นที่แจ๊สคลับ หรือร็อกคลับแน่ๆ

“ความคิดในการตัดสินใจด้วยตัวเองคือ เหตุผลที่ของการถือกำเนิดวงไนน์ วินด์ส (วงของนักเป่าชาวแอลเอนามว่า วินนี โกเลีย) เริ่มต้นขึ้น ต้นต้นกำเนิดของค่ายคริปโตแกรมโมโฟน (สังกัดของเนลส์และอเล็กซ์) ก็เริ่มต้นแบบนั้นเหมือนกัน ทุกอย่างคือคำตอบของสิ่งที่แตกต่าง เราได้เปรียบจากความสำเร็จ ซึ่งเจฟ โกเธียร์มีอยู่แล้ว”

“มันมีทฤษฎีที่ค่อนข้างจะบ๊องๆ ใช้กำลังบังคับพวงมาลัยเพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทาง นี่เป็นสิ่งที่บริษัทที่ทำงานด้านศิลปะเขาใช้กันอย่างนั้นหรือเปล่า?”

เนลส์ “ผมค่อนข้างจะโชคดีกว่าหน่อย เพราะเล่นกีตาร์ แล้วคนก็ชอบกีตาร์ ผมดีใจที่ไม่ได้เล่นทรอมโบน”

อเล็กซ์ “ตอนที่ผมทำผลงานเหล่านี้ ผมมักจะตั้งคติในใจไว้ว่า นี่คือครั้งสุดท้ายที่จะได้ทำงานแล้วนะ ต่อไปอาจจะไม่มีโอกาสให้ทำ, อาจจะไม่ได้ทำได้อิสระเท่านี้, ไม่ได้ทำกับเพื่อนวงนี้ แล้วก็อิสระแบบไม่มีใครมาเจ้ากี้เจ้าการว่า งานต้องออกมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็จะทำให้มันมีค่ามากที่สุดในตอนนั้น ให้มันออกมาอย่างที่เราอยากจะแสดงออกไป ไม่ใช่แค่เท่าที่เราอยากจะฟัง”



“คุณสองคนมองว่า จะสามารถทำงานร่วมกันได้บ่อยๆ ไหมในการเล่นกิ๊ก หรือไม่ก็บันทึกเสียง?”

เนลส์ “ก็มีแนวโน้มนะครับบันทึกเสียงท่าทางจะสนุกทีเดียว ซึ่งนั่นคงต้องวางแผนกันล่วงหน้าหน่อย ผมเดินทางค่อนข้างบ่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะออกเล่นกิ๊กหรือทำผลงานด้วยกันไม่ได้ แต่ผมไม่ค่อยอยากจะลากเอาอเล็กซ์ออกจากบ้านไปบ่อยๆ นัก

“ผมเองก็ไม่ได้คิดเรื่องออกทัวร์โซโลสนับสนุนผลงานเดี่ยว นั่นคือสิ่งที่อัลบัมของเราสองคนมีคล้ายๆ กัน เห็นชัดๆ ก็เรื่องชื่ออัลบัม แล้วก็บันทึกเสียงในสัปดาห์เดียวกันด้วย ผมเพิ่งทำงานด้วยความคิดที่ว่า ผมจะสนุกกับมัน และคนที่ผมรู้จักก็ต้องชอบด้วยเหมือนกัน”

งานของเนลส์ ไคลน์ที่เราได้ฟังตอนนี้คือ Coward ค่อนข้างจะหลากหลายในแง่ของเทคนิกที่เขาใช้ถ่ายทอด แต่โดยรวมแล้วตต้องเก็บไว้ให้คนที่รัก free music ไม่งั้นจะหาว่าเตือนนะเออ 555 ส่วนตัวเรา ชอบในบางอารมณ์ที่อยากจะฟรี แต่ว่าไม่สามารถฟังได้ตลอดเวลา ถึงแม้ตอนนี้จะคุ้นเคยกับดนตรีฟรีแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ถ้าใครสนใจ อยากลองอะไรใหม่ๆ บ้าง ก็ก้าวข้ามพรมแดนกันมาได้เลย : )






Create Date : 20 กรกฎาคม 2552
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 12:05:26 น. 5 comments
Counter : 1235 Pageviews.

 
แวะมาทักทายและขอบคุณที่ไปเยี่ยมเยียนกันนะคะ ว่างๆ ไปอีกน๊า


โดย: วิสกี้โซดา วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:23:08 น.  

 
ไม่เห็นว่าคุณอัพใหม่ เดี๋ยวว่างๆเรามาอ่านนะ น่าสนใจเหมือนเดิมค่ะ^^


โดย: prunelle la belle femme วันที่: 24 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:13:17 น.  

 
ขอบคุณค่ะคุณ prunelle la belle femme

ชาตินึงจะอัพสักทีนึง


โดย: nunaggie วันที่: 25 กรกฎาคม 2552 เวลา:2:43:00 น.  

 
ไปแอ่วบ้านเราด้วยอ่ะ^^

อันที่จริงเราตามอ่านบล็อกที่น่าสนใจของใครต่อใครหลายคนเลยนะึคะ บางคนอัพค่อนข้างบ่อย บางคนก็อัพเดือนสองเดือนครั้ง

ส่วนบล็อกเรานั้น เห็นได้ชัดว่าอัพเอาฮาอ่ะค่ะ 555 สนุกดี มีไว้แซวกันเล่น หาสาระอะไรไม่ค่อยได้นอกจากความบันเทิงและแก้เครียด

ไว้เดี๋ยวเรามาแอ่วหาใหม่ดีดีค่ะ เพราะตอนนี้ถึงเวลาเข้าฌานแล้ว


โดย: prunelle la belle femme วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:5:01:44 น.  

 
เราว่า ฝีมือคุณ prunelle la belle femme นี่ไปร้อง-เล่นในผับไทยได้สบายเลยนะคะ (ไม่ได้พูดเล่นนะ) เราว่าดีกว่านักร้องกลางคืนหลายๆ คนเท่าที่เราได้ไปฟังๆ มาเลยล่ะ (โดยเฉพาะนักร้องในร้านอาหารไทยที่แอลเอ พอนักร้องขึ้นเวที พวกเราก็สั่งเช็คบิลเลย แหะๆ) ผู้หญิงทั้งร้องทั้งเล่น แล้วออกมาโอเคแบบนี้ไม่ค่อยมีเท่าไรด้วย


โดย: nunaggie วันที่: 28 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:13:51 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.