วิถีทางในการได้มาแห่งบุญ



บุญ ตามความหมายของศัพท์แปลว่า "ดี" ครับ ลักษณะเป็นความเบาใจ มีส่วนประกอบตามมามากมาย เช่น ปราโมทย์ ปีติ ใจสงบมีความสุข จิตเป็นสมาธิ ส่วน บาป แปลว่า "ชั่ว" มีลักษณะตรงกันข้าม


บุญ และ บาป เป็น ผล ครับ ไม่ใช่ เหตุ ส่วนเหตุนั้นคือกรรม


กรรมคือการกระทำของเราในชีวิตประจำวัน แบ่งออกได้เป็น กรรม ๒ (๓) และกรรม ๑๒


กรรม ๒ ก็ได้แก่ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ครับ ซึ่งกรรมทั้งสองชนิด นี้ต้องมีมูลเหตุ จึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมูลเหตุแห่งกุศลกรรมนั้นมาจาก กุศลมูล ๓ และมูลแห่งอกุศลกรรมนั้นมาจาก อกุศลมูล ๓ อันได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นมูลแห่งกุศลกรรม และ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลแห่งอกุศลกรรม ส่วนกรรม ๑๒ นั้นเอาไว้กล่าวถึงในคราวต่อไป การกระทำกรรมเพื่อให้ได้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาปนั้น เราทำได้สามทางคือทางกาย เรียกว่ากายกรรม ทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม ทางใจเรียกว่ามโนกรรม (๓ นั้นถ้ากล่าวในเชิงอภิธรรมคืออัพพยากฤตครับ หมายถึงความเป็นกลางๆ)


พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ทราบดีว่า หัวใจของศาสนาพุทธนั้นคือการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส ก็คือการทำบุญ ละบาป และปฏิบัติธรรม ซึ่งพระเถราจารย์ตั้งแต่สมัยประมาณปีพ.ศ.หนึ่งพัน (พระพุทธโฆษาจารย์ - ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค) ท่านสรุปให้แล้วว่าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นก็ได้แก่การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา วันนี้เราจะกล่าวกันถึงเรื่องของวิถีทางในการได้มาแห่งบุญ เพราะพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังเข้าใจกันว่า การทำบุญคือการให้ทานเท่านั้น แท้จริงแล้ว กรรมกิริยาที่เรากระทำแล้วสำเร็จผลเป็นบุญนั้น ท่านแจกแจงไว้ถึงสิบอย่างด้วยกัน กรรมที่เป็นเหตุให้จิตเป็นกุศลจิตให้ผลเป็นบุญนั้น มีดังนี้ครับ




บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐



๑. ทานมัย การให้ทาน เป็นสิ่งที่เรารู้จักคุ้นเคยกันมากที่สุดว่าเป็นการทำบุญครับ การให้ทานนั้นยังแบ่งออกเป็น ปาฏิบุคลิกทาน และ สังฆทาน ปาฏิบุคลิกทานนั้นคือทานที่เราทำกับบุคคลทั่วไปหรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ที่น้อยกว่าสี่รูป หากพระสงฆ์ผู้รับทานนั้นมีสี่รูปขึ้นไปเราเรียกว่าคณะสงฆ์ ถือเป็นสังฆทาน เวลาทำสังฆทานที่วัดส่วนมากนั้น เราเห็นว่าจะมีพระสงฆ์รอรับสังฆทานเพียงรูปเดียว นั่นคือท่านถือเป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ครับ ทานทั้งสองแบบทั้งที่ให้กับบุคคลและทานที่ให้กับคณะสงฆ์นั้น ยังสามารถแยกออกได้อีกเป็นสองประเภทคือ อามิสทาน และ ธรรมทานครับ อามิสทานนั้นคือการให้สิ่งของ ส่วนธรรมทานคือการให้ธรรมะครับ (อาจเป็นธรรมะในรูปแบบของอามิส เช่นหนังสือ สื่อการศึกษา) การให้ที่ถือว่าเป็นเหตุแห่งการได้บุญคือ ทำแล้วรู้สึกสบายใจ เบาใจ และไม่มีความกังวล หากคุณทำบุญด้วยการให้เงินคนที่มาบอกคุณว่าตกรถเงินไม่พอไม่มีค่ารถกลับบ้านด้วยความไม่พอใจ นั่นกลายเป็นว่าคุณโดนเบียดเบียนมากกว่า เพราะไม่มีลักษณะของการเบาใจไร้กังวลหลังทำทาน ทานนั้นจึงไม่มีลักษณะแห่งบุญครับ (แต่ผลกรรมจากการให้ย่อมมีแน่นอน) การให้ทานนั้นยังแบ่งกำลังใจของผู้ให้ออกได้อีกเป็นสามระดับครับ อันนั้นต้องไปดูในเรื่องของทานบารมี เพราะคำอธิบายจะ link ไปสู่ธรรมะอีกหลายข้อจนเริ่มจะยาวเกินไปเสียแล้ว


๒. สีลมัย คือการรักษาศีลครับ ศีลนั้นคือข้อกำหนดในการละการงดเว้นการกระทำที่ไม่ดี ศีลมีอยู่ในทุกศาสนา ขึ้นอยู่กับว่าศาสนาไหนจะ reflect ความจริงของธรรมชาติได้มากน้อยเท่าใด ศีลจะเป็นตัวกางกั้นเรามิให้ล่วงเกินหรือเบียดเบียนธรรมชาติ การรักษาศีลนั้นเรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเพราะเริ่มมีการใช้สติกำกับการดำรงชีวิตมากขึ้นเพราะศีลนั้นมีความตั้งใจงด, เว้น และความสำรวมเป็นลักษณะทำให้ต้องมีสติควบคุมมิให้ละเมิดสิ่งที่ตั้งใจงด เว้น และสำรวมนั้นครับ ศีลนั้น เป็นพื้นฐานแห่งการทำความดี เป็นฐานที่ตั้งของสมาธิ สมาธิที่ที่มีศีลเป็นพื้นฐานดีแล้วเป็นสัมมาสมาธิ จะเป็นสมาธิที่เบาสบายเป็นไปเพื่อความควรแห่งการอบรมปัญญา เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อมง่ายครับ ศีลห้าในศาสนาพุทธของเรานั้น ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะผู้ที่มีศีลเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เท่ากับว่าเป็นการเคารพสิทธิของผู้อื่น เราเป็นฆารวาสผู้ครองเรือน พระพุทธศาสนาเราแนะนำให้มีเบญจศีล (ศีลห้า) และ เบญจธรรม (ธรรมห้า) เป็นหลักในการใช้ชีวิตประจำวัน (แปลว่า หากจะทำกรรม ให้ตรองดูก่อนว่าละเมิดศีลห้าหรือเข้าข่ายธรรมห้าหรือไม่) ศีลห้านั้นเราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้นจึงขอแสดงเฉพาะเบญจธรรมครับ

๑. เมตตา, กรุณา - ซึ่งเป็นธรรมะคู่กันและสนับสนุนศีลห้า-ข้อแรก (ฆ่าสัตว์ - เบียดเบียน)
๒. สัมมาอาชีวะ - คู่และสนับสนุนศีลข้อสอง (ลักทรัพย์ ฉ้อโกง)
๓. กามสังวร หมายถึงการสำรวมระวังในความต้องการ - คู่กับศีลข้อสาม (การข่มเหงน้ำใจกัน)
๔. สัจจะ ความจริงใจ - คู่กับศีลข้อสี่ (โกหก)
๕. สติ สัมปชัญญะ - คู่กับศีลข้อห้า (ทำให้ตนเองขาดสติ)

ศีลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสามระดับเช่นเดียวกับทานครับ นั่นคือศีลบารมี


๓. ภาวนามัย การเจริญภาวนาครับ ตามความหมายของคำว่าภาวนานั้น หมายถึง การทำให้มีให้เป็นมากขึ้น การเจริญ การฝึกอบรม การพัฒนา ภาวนานั้นแบ่งออกเป็นสมถภาวนาและวิปัสนาภาวนาครับ สมถภาวนานั้นคืออุบายที่ทำให้จิตเกิดเป็นสมาธิ ส่วนวิปัสนาภาวนานั้นคือการใช้สมาธิจิตที่ได้จากสมถภาวนามาตัดกิเลสครับ ดังนั้นเราจึงได้ยินท่านพูดคู่กันอยู่เสมอ อุบายแห่งสมถภาวนาที่ทำให้จิตเข้าถึงความเป็นสมาธินั้น มีอยู่มากมายเป็นร้อยเป็นพันวิธี แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้เพื่อความเป็นสัมมาสมาธินั้น มี ๔๐ วิธีครับ เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐ หนึ่งในสี่สิบวิธีที่เรารู้จักกันดีคืออานาปานุสสติครับ คือการตามรู้ลมหายใจนั่นเอง รายละเอียดเรื่องสมถกรรมฐานนั้นหาอ่านได้จากเรื่องกรรมฐาน ๔๐ ครับ ภาวนามัยนี้เป็นแก่นสารของบุญครับ เพราะหากเราจะพิจารณาจากเรื่องของกรรมที่บอกว่าแบ่งเป็นกุศลและอกุศลนั้น การปฏิบัติภาวนาคือการไม่ยอมให้จิตของเราเกลือกกลั้วกับอกุศลกรรมทั้งหลาย การนำจิตออกจากอกุศลกรรม เพื่อเข้าถึงกุศลกรรมนั้นเป็นบุญนั่นเอง (กุศลกรรมเป็นเหตุ บุญเป็นผล) เพราะจิตที่ผ่านการฝึกฝนภาวนามานั้นมีลักษณะเบา ใส ร่าเริง เบิกบาน หากจะคิดในแง่ระดับจิตของการภาวนาแล้ว ก็สามารถแบ่งออกได้สามระดับครับ (ภาวนา ๓) นั่นคือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา และอัปนาภาวนา ซึ่งเป็นความละเอียดประณีตของจิตขณะภาวนา นอกจากนี้ จากความหมายของคำว่าภาวนาดังที่กล่าวมา ยังทำให้สามารถแบ่งภาวนาออกได้อีกในเชิงปฏิบัติ (ภาวนา ๔) ได้แก่ กายภาวนา สีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา


๔. อปจายนมัย การประพฤติตนอ่อนน้อมครับ สิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งในกรรมที่ยังให้เกิดผลเป็นบุญได้ ลองนึกถึงเวลาเราอ่อนน้อมต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะครับ เมื่อเราอ่อนน้อม เราก็มีความปลาบปลื้ม จิตก็เบา ใส เบิกบาน หรือลองนึกถึงความอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อมและเราเต็มใจกระทำความอ่อนน้อม เช่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ใหญ่ในตระกูล ตลอดจนพ่อแม่ ครูอาจารย์ การประพฤติตนอ่อนน้อมนั้น เป็นการง่ายที่จะนำมาซึ่งคุณธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กตัญญู กตเวทิตา ซึ่งเป็นคุณธรรมฝ่ายกุศลครับ หรือแม้แต่การแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้อื่นก็ยังสามารถทำให้เกิดไมตรีจิตขึ้นได้ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสามัคคีและความปรองดอง


๕. เวยยาวัจจมัย การช่วยเหลือ ขวนขวายรับใช้ก็เป็นบุญครับ เราเคยเห็นไวยาวัจจกรในวัดใช่มั้ยครับ นั่นเป็นตัวอย่างนึงครับ การช่วยเหลือแบบนี้เป็นการลงแรง ไม่ได้ลงสิ่งของ เรียกว่าให้แรงเป็นทานนั่นเอง อย่าลืมนะครับว่าการกระทำแบบนี้เป็นการประกอบกายกรรม บางทีเราอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับจำเป็นต้องช่วยเหลือ แต่ใจอาจจะไม่ยินดีด้วย แบบนี้ก็เป็นบุญเฉพาะกายกรรมเท่านั้น ซึ่งถ้าใจเรายินดีในการช่วยเหลือนั้นด้วยก็เป็นปัตตานุโมทนาอีกข้อนึงซึ่งอยู่ในข้อที่ ๗ ข้างล่าง


๖. ปัตติทานมัย การเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น คือการเอื้อเฟื้อให้ผู้อื่นทำความดีนั่นเอง แบบนี้เราจะเห็นกันเยอะมากในช่วงออกพรรษา อย่างที่ผ่านมานั้น มีทั้งซองกฐินและซองผ้าป่าเยอะแยะมากมายจนไม่รู้จะทำยังไงไหว จริงๆการทำบุญแบบนี้ก็คือการให้โอกาสผู้อื่นนั่นเอง อานิสงส์ของการทำบุญชนิดนี้ก็คือการได้โอกาสบางอย่างเข้ามาในชีวิต ซึ่งโอกาศที่จะเข้ามานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ให้โอกาสอะไรไปบ้าง นี่เป็นเรื่องของกรรมที่สลับซับซ้อน ถ้ามีโอกาสจะได้ว่าให้ฟังกันต่อไป อ้อ... เวลาเราได้รับการบอกบุญนะครับ การบอกบุญทุกชนิดเป็นเรื่องดีทั้งหมด แต่การจะให้ทานหรือร่วมยินดีของเราด้วยนั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาเองนะครับว่าควรจะให้เท่าไหร่ แล้วแต่กำลังความสามารถของเรา อย่าให้ตัวเองต้องเดือดร้อน หากมีความจำเป็นมากไม่สามารถสละให้ได้ ก็ให้เราทำใจเป็นกลาง เฉยๆไป อย่าไปตำหนิคนบอกบุญ เพราะการตำหนินั้น เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นการก่อมโนกรรมไป อานิสงส์มันก็จะไปกระทบกับเรื่องโอกาสที่จะเข้ามาหาเรานั่นเอง แบบนี้เป็นกรรมเบียดเบียนครับ (อุปปีฬกกรรม)


๗. ปัตตานุโมทนามัย การยินดีในความดีของผู้อื่น แม้เราไม่ได้ลงแรงลงของกระทำเอง แต่ความยินดีนั้นก็มีลักษณะเบาใจ สบายใจ เป็นบุญจากการร่วมยินดีในความดีของผู้อื่นด้วย เป็นลักษณะของมโนกรรมฝ่ายกุศล ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เราจะร่วมยินดีในมหาวิหารทานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้ใช้เงิน ๑๘ โกฏิในการซื้อที่ดินจากเจ้าเชต อีก ๑๘ โกฏิในการสร้างพระวิหาร และอีก ๑๘ โกฏิในการฉลองพระวิหาร ตั้งชื่อพระวิหารตามชื่อเจ้าของที่ดินว่าเชตวัน แม้ว่ามหากุศลนี้ จะเป็นมหากุศลในอดีตสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วก็ตาม


๘. ธัมมัสสวนมัย การฟังธรรมศึกษาหาความรู้ ข้อนี้เป็นบุญคู่กับข้อ ๑๐ ทิฏฐุชุกัมม์ คือเป็นเรื่องของสัมมาทิฏฐิครับ ที่เป็นบุญเพราะการฟังธรรมนั้นเป็นการชำระจิตใจ เป็นการตรวจสอบตนเอง ขณะฟังธรรมนั้น หากธรรมนั้นตรงจริตของเรา จะเกิดความปราโมทย์ยินดีในธรรมนั้น เกิดปีติ ใจเบา สว่าง สบาย เป็นบุญครับ การอ่านและเรียนธรรมก็สงเคราะห์ลงข้อนี้เช่นกันครับ


๙. ธัมมเทสนามัย การสอนการแสดงธรรมให้ความรู้ การแสดงธรรมจัดเป็นธรรมทานครับ อันนี้เป็นบุญในตัวเองอยู่แล้ว ธรรมทานที่ให้นั้น ก็จะไปเข้าข่ายของสัมมาทิฏฐิครับ ซึ่งก็เป็นบุญอีกเช่นกัน การสาทยายแสดงธรรมนั้น นอกจากจะให้บุญแก่ผู้รับแล้ว ยังเป็นบุญกับผู้ให้ด้วย เนื่องจากผู้ให้เองก็มีความเบาใจสุขใจ บางครั้ง การย้ำความรู้เดิมด้วยการเผยแพร่บอกต่อก็ทำให้เกิดความซาบซ่านในการแสดง เป็นการเพิ่มศรัทธาของตนเองอีกด้วย การให้ธรรมทานนั้น จริงๆแล้วก็คือการให้ความรู้นั่นเอง แต่เป็นความรู้เพื่อความเป็นไปในการอบรมจิตให้รู้จักดีและชั่ว เป็นความรู้ที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้น ส่วนความรู้ในทางโลกที่เราให้กันนั้นส่วนมากแล้วเป็นไปเพื่อความอยู่รอดในสังคม เป็นไปเพื่อชีวิตประจำวัน เรียกว่าวิทยาทาน


๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ถูกตรง คือความเห็นชอบ ไปตรงกับ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) คือเมื่อเรามีความเห็นถูกตรงแล้วว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นอยู่ในโลกนี้ ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตนั้น ย่อมมีความเสี่อมไปเป็นธรรมดา (ขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง) สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราเข้าไปยึดก็เป็นทุกข์ ดังนั้นเราก็ย่อมมีความสงสัยในเรื่องแก่นสารของชีวิต เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ควรทำอะไรดี สิ่งใดควรทำ ควรทำให้เกิด ควรทำให้เจริญ สิ่งใดไม่ควรทำ ไม่ควรให้เกิด ไม่ควรให้เจริญ ความเห็นชอบ ความเห็นถูกตรงนี้ จะเป็นตัวผลักดันทำให้เราอยากรู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ เมื่อเรารู้จักสิ่งเหล่านี้เสียแล้ว ความเห็นของเราก็จะถูกตรง ทำให้เราหันหน้าไปสู่ทางที่ถูกที่ควรซึ่งมีความหลุดพ้นเป็นจุดหมาย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ในมรรคแปดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสัมมาทิฏฐินี่เอง เพราะเมื่อบุคคลหันหน้าไปยังทิศที่ไม่ถูกต้องเสียแล้ว ไม่ว่าจะเดินหรือวิ่งไป ย่อมเข้าถึงความไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ หากจะสรุปรวดยอดเพื่อความง่ายในการนำไปปฏิบัติแล้ว ก็สามารถสรุปรวบยอดให้เหลือได้เพียง ๓ ข้อเท่านั้นครับ (จากด้านบนที่กล่าวไว้แล้ว)

๑. ทาน - ได้แก่ทานมัย ปัตติทานมัย ปัตตานุโมทนามัย
๒. ศีล - ได้แก่ ศีลมัย อปจายนมัย เวยยาวัจมัย
๓. ภาวนา - ภาวนามัย ธัมมัสสวนมัย ธัมมเทสนามัย
ส่วนทิฏฐุชุกัมม์นั้น เข้าได้กับทั้งสามข้อนั่นเอง


เหล่านี้เองครับ คือวิถีทางในการที่จะได้มาแห่งบุญ เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินซักบาทในการได้บุญ แค่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดนิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งความคิดที่เป็นต้นกำเนิดแห่งบุญนั้นก็เป็นความคิดที่มาจากสัมมาทิฏฐินั่นเอง บุญและบาปนั้น เป็นสิ่งที่จะติดตามเราไปทุกที่ทุกเวลา บุญและบาปนั้น เกิดขึ้นได้เพราะมีความพยายามทำให้เกิด และผลของความพยายามนั้นก็คือกรรม ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า เรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครจะทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป ก็ย่อมจะได้รับผลนั้นสืบไป นี่... จึงเป็นการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ในความหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา





ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำบุญและการอบรมจิตใจตนเองครับ


take care



Create Date : 25 กันยายน 2550
Last Update : 18 สิงหาคม 2556 17:19:44 น.
Counter : 1083 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Karz
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 126 คน [?]





สงวนลิขสิทธิ์
กันยายน 2550

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
22
23
29
30