ความรักในมุมมองของพระพุทธศาสนา


เผอิญไปพบบทความหนึ่งเขียนถึงเรื่องความรักครับ แต่เค้ามีคำว่า เปมะ ของพระพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย ผมก็เลยเกิดความสนใจลองไปค้นดูว่าพระพุทธศาสนานั้นมีมุมมองในเรื่องของความรักอย่างไร จนพอจะได้ข้อสรุปจึงนำมาแบ่งปันพวกเราครับ

พระพุทธศาสนาแบ่งความรักออกเป็นระดับต่างๆได้ ๖ ระดับครับ


ปิยะ --> เปมะ --> ฉันทะ --> ศรัทธา --> เมตตา --> กรุณา


ปิยะ เป็นมุมมองของความรักที่มองจากตัวเองออกไป คือการไปรักคนอื่น เช่น ปิยะมหาราช คือเรารักพระราชา เป็นความรักจากตัวเราออกไปหาพระราชานั่นเองครับ หรือบุคคลต่างๆอันเป็นที่รักของเราก็เรียกว่าปิยะชน มุมมองของความรักในความเป็นปิยะนั้น ที่ครองความเป็นระดับล่างที่สุดก็เพราะยังเกี่ยวเนื่องด้วยกามอยู่ครับ ลองพิจารณาความรักในลำดับสูงขึ้นไปจะเข้าใจมากขึ้นครับ

เปมะ เป็นมุมมองความรักจากภายนอกเข้ามาหาตัวเราเอง เช่น ความรักเสมอด้วยตนไม่มี ท่านก็ใช้คำว่าเปมะ (นัตถิ อัตตะ สะมัง เปมัง) หรือ เปมะโต ชายะตี โสโก ความโศกเกิดจากความรัก ทั้งนี้เพราะเรารู้สึกรัก จึงรู้สึกโศก เพราะความโศกนั้นเป็นสิ่งที่ตนเองรู้สึกอยู่ จึงเป็นมุมมองที่มองเข้ามาหาตัวเรา ความรักแบบนี้ที่สูงขึ้นจากปิยะก็เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับกามน้อยลงครับ

ฉันทะ คือความรักที่ละเอียดจนกลายเป็นความพอใจครับ ส่วนมากเน้นในการกระทำอะไรต่างๆ ดังนั้นจะเป็นไปในเรื่องการงานซะส่วนใหญ่ คนเราหากพอใจการงานหรือสิ่งที่ตัวเองทำก็จะรักการงานหรือสิ่งนั้นๆไปด้วยครับ จะเห็นว่าความรักแบบนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกามเลยหากเป็นเรื่องงานการ

ศรัทธา คือความรักที่ละเอียดขึ้นอีกจนกลายเป็นความเลื่อมใส ลักษณะของศรัทธาคือความแล่นไป คือคนเราหากศรัทธาในสิ่งไหน ก็จะแล่นไปในสิ่งนั้น ความรักแบบนี้ยิ่งออกห่างจากกามขึ้นมาอีกระดับครับ มันจึงสูงขึ้นไปอีก แต่ว่าความรักในระดับที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น ยังเกี่ยวเนื่องกับตัวเราอยู่ครับ

เมตตา คือความรักที่ละเอียดขึ้นมาอีกขั้นนึงครับ เพราะเมตตานั้นมีแต่ปรารถนาให้ผู้อื่นได้ดี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับตัวเราแล้ว เป็นความรักที่ยินดีต่อผู้อื่นอย่างจริงใจและไม่มีกามเจือปนอยู่ด้วย ดังนั้นจึงอยู่ในระดับสูงขึ้นอีก ความรักในระดับเมตตานี้แหล่ะครับ ที่ค้ำจุนโลกนี้เอาไว้ (โลโก ปัตถัมภิกา เมตตา)

กรุณา คือความรักในระดับสูงที่สุดครับ เพราะเนื่องจากเมตตานั้นแรงกล้าจนทำให้เรากระทำการบางอย่างลงไปเพื่อให้ผู้อื่นได้ดี กรุณาคือการลงมือกระทำครับซึ่งต้องอาศัยความพยายามเข้ามาร่วมด้วย และความพยายามบางอย่างอาจต้องอาศัยความอดทนเข้ามาประกอบด้วยอีกจึงจะทำได้สำเร็จ ทำให้ต้องอาศัยคุณธรรมอื่นๆเข้ามาประกอบด้วย ความรักชนิดนึ้จึงอยู่ในระดับที่สูงที่สุดครับ


นอกเหนือจากความรัก ๖ ระดับแล้วยังจัดลักษณะของความรักออกเป็น ๘ มิติอีกครับ

ชักจะน่าสนใจขึ้นอีกใช่มั้ยครับ


อืมม... หากมีโอกาส ผมจะพูดถึงระดับของความเป็นมนุษย์ของเราครับ (มี ๖ ระดับ) ความรักใน ๘ มิติจริงๆแล้วก็จะไป match เข้ากับระดับของความเป็นมนุษย์ ๖ ระดับนั่นเอง

กล่าวคือ

มิติที่ ๑ ความรักของสัตว์นรก - เป็นความรักในระดับที่ต่ำที่สุด ลักษณะของสัตว์นรกคือความโกรธและความพยาบาทครับ ความรักแบบนี้จึงเป็นความรักที่รุนแรง (เปรียบดังสภาพของนรกภูมิ) เช่น ถ้าฉันไม่ได้เธอ คนอื่นก็ต้องไม่ได้เธอเช่นกัน การข่มขืนแล้วฆ่า การกระทำชำเรา ใช้ความรุนแรง เต็มไปด้วยความคิดอาฆาตพยาบาทและการทำลาย การมีความรักแบบนี้ก็เป็นการบอกภูมิของตัวเองเช่นกันครับ ว่าเมื่อก่อนเราเคยเป็นอะไรมา

มิติที่ ๒ ความรักของเปรต - ลักษณะของเปรตคือความโลภครับ โลภจนเกินขอบเขต โลภจนเกินพอดี ความรักแบบนี้มีแต่อยากจะได้ อยากจะครอบครอง แม้ไม่ได้ก็ต้องหาวิธีเอาให้ได้ ถือประโยชน์ในความโลภเป็นใหญ่ เช่น หากเราแต่งงานกัน ทรัพย์สินของเขาต้องมาเป็นของเราส่วนหนึ่ง หรือเราจะได้มีผลประโยชน์ในธุรกิจของเขา เมื่อไหร่ที่ขัดแย้งผลประโยชน์กันก็พร้อมที่จะทำผิดเอารัดเอาเปรียบหรือทำลายกัน เอาเป็นว่าลักษณะเด่นที่แผดเผาอยู่ในใจคือความโลภนั่นเอง

มิติที่ ๓ ความรักของอสุรกาย - ลักษณะของอสูรคือความต้องการอำนาจครับ หลงอยู่ในเรื่องของอำนาจ ถ้าไม่มีอำนาจซะเองก็อยากอยู่ในอำนาจปกครองที่ทำให้ตัวเองเป็นใหญ่ได้หรืออุ่นใจได้ เช่น ต้องการคนที่มีอำนาจมากกว่าตนมาดูแลปกครองตน หรือหากได้รักกัน เราจะกลายเป็นผู้มีอำนาจปกครองทันที เป็นความรักที่ต้องการอำนาจอิทธิพลครับ สามมิติที่ผ่านมานี้เป็นรากเหง้าของกิเลสคือโลภโกรธหลงทั้งสิ้นครับ

มิติที่ ๔ ความรักของเดรัจฉาน - ลักษณะนั้นสังเกตุได้จากสัตว์ต่างๆที่อยุ่รอบตัวเราได้เลยครับ สัตว์ทั้งหลายทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นธรรมดา สมสู่กันอย่างไม่เลือกอาวุโสและสายอุทร พร้อมที่จะชักจูงกันไปในทางที่ไม่ดีเช่นการเล่นการพนัน การกินเหล้าเมายา การเสพยาเสพติด ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะชักนำไปสู่ความไม่เจริญทั้งหลายต่อไป

มิตืที่ ๕ ความรักของมนุษย์ - ลักษณะของมนุษย์คือ ใจสูงครับ เคยอธิบายไว้แล้วว่า ใจสูงในที่นี้หมายถึงเคารพสิทธิของผู้อื่น ความรักในการเคารพสิทธิของผู้อื่นนั้นอย่างหยาบๆคือจะไม่ทำร้ายกันถึงชีวิต จะไม่โลภลักทรัพย์ใครมา จะไม่ข่มเหงน้ำใจแย่งชิงคนรักของผู้อื่น จะไม่โกหกกันเพราะสิทธิของผู้อื่นในการได้รับรู้ความจริง และจะไม่ทำตัวเองให้หลงสติด้วยการดื่มสุราหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด นอกจากนั้น ความรักของมนุษย์นั้นให้เกียรติซี่งกันและกัน มีคู่เพียงคนเดียวและชักนำกันไปสู่ความเจริญต่อไปครับ ดังนั้นคนที่มีความรักในมิติที่ ๕ จะไม่ใช้ความรุนแรง หรือรังสีแห่งการทำลายล้างและอานุภาพจะเจือจางกว่ามิติที่ ๑ มาก แม้จะผิดหวังแค่ไหนก็ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

มิติที่ ๖ ความรักของเทพ - เทพมีคุณธรรมเหมือนมนุษย์ เพียงแต่เพิ่มคุณธรรมเพิ่มอีกสองข้อคือความละอายต่อบาปที่ทำลงไปแล้ว กับละอายต่อบาปที่กำลังจะทำ คุณธรรมสองข้อนี้สะท้อนความรักของเทพคือไม่ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนและมีความปรองดองในหมู่คณะ ฉะนั้นความรักแบบนี้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมเพรียงกันและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นความรักที่สวยงามยิ่งขึ้น

มิติที่ ๗ ความรักของพรหม - ลักษณะของพรมหที่ชัดเจนคือพรหมวิหารธรรมมีสี่อย่างคือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ครับ ดังนั้นเมื่อกลับไปดูระดับของความรักข้างบน เราจะทราบได้ว่าความรักระดับนี้ทั้งสูงส่งและสวยงามเพราะบริสุทธิ์ด้วยปรารถนาดีต่อผู้อื่นโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ความรักแบบนี้ใช่ว่าจะหายากซะทีเดียวนะครับ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆก็เช่น พ่อแม่รักลูก ครูบาอาจารย์รักศิษย์ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินรักพสกนิกร พสกนิกรรักแผ่นดินที่อาศัยรักประเทศชาติ หรือการรักป่าเขารักธรรมชาติต้องการฟื้นฟูรักษา หรือนักการเมืองรักประชาชน แม้แต่เราเองกระทำความตั้งใจไว้ให้ดี แล้วทำทานกับขอทานก็ยังเข้าข่ายข้อนี้ได้ครับ

มิติที่ ๘ ความรักของพระอริยเจ้า - พระอริยเจ้าไถ่ถอนตนเองจากกิเลสแล้ว เมื่อกิจที่ต้องทำของตนเองหมดแล้ว ความเป็นอยู่ต่อจากนั้นไปก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนเดียวครับ เพราะไม่ว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไรมันก็ล้นออกมาเสียแล้วเพรามันเต็มแล้ว ดังนั้นส่วนที่ล้นออกมานั้นสามารถนำไปให้ประโยชน์กับผู้อื่นได้ครับ ความรักของพระอริยเจ้าสูงสุดเพราะบริสุทธิ์โดยไม่มีกิเลสเกาะ ต่างกับมิติที่ ๗ เพราะมิติที่ ๗ ยังมีกิเลสอยู่ และกิเลสเหล่านั้นอาจรบกวนความเพียรของผู้มีความรักในมิติที่ ๗ ให้เศร้าหมองได้ นี่เป็นความรักในมิติที่ ๘ ครับ


เมื่อได้เห็นได้รับรู้ระดับของความรักต่างๆแล้วเราก็จะทราบว่าตัวเองนั้นอยู่ตรงจุดไหน มนุษย์นั้นได้เปรียบสิ่งมีชิวิตอื่นตรงความสามารถในการพัฒนาตนเองครับ เราตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเองได้ตั้งแต่ตอนนี้ และสามรถประกอบความเพียรได้ทันทีตั้งแต่ในเวลาที่ตัดสินใจลงไป วิธีการพัฒนาตนเองนั้น หากพิจารณาย้อนกลับไปดูความรักเหล่านี้อีกรอบ เราก็จะพบว่าต้นเหตุที่จะทำให้ความรักของเราหม่นหมองนั้นก็คือกิเลสนั่นเอง

หากคุณอยากมีเงินเก็บ คุณก็ต้องเริ่มฝากเงินเข้าธนาคาร หากคุณไม่ถอนซะอย่าง ยังไงๆคุณก็ต้องมีเงินจนได้ การกำจัดกิเลสก็เหมือนกันครับ คนเราพัฒนาตนเองได้ด้วยการไม่ทำให้กิเลสตนเองเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มน้อยๆ และในขณะเดียวกันก็พยายามกำจัดกิเลสที่มีอยู่ให้หมดไป



ทั้งหมดทั้งปวงจะทำได้ก็ด้วย ความเพียรครับ


และพื้นฐานของความเพียรนั้นก็คือ . . . ความอดทนนั่นเอง


ขอให้มีสติในทุกๆวันนะครับ
โชคดีครับ




Create Date : 21 กันยายน 2550
Last Update : 18 สิงหาคม 2556 17:20:11 น.
Counter : 4479 Pageviews.

2 comments
  
ขอบคุณค่ะ
โดย: jdfoxbat วันที่: 21 กันยายน 2550 เวลา:19:36:56 น.
  
เข้ามาอ่านมุมมองความรักทางพุทธศาสนาค่ะ
โดย: วันวานที่ผ่านมา วันที่: 21 กันยายน 2550 เวลา:20:18:45 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Karz
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 126 คน [?]





สงวนลิขสิทธิ์
กันยายน 2550

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
22
23
29
30