ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เราจะช่วยกันอย่างไรดี อาคารทรงคุณค่า จะโดนทุบทำลายอีกแล้ว ทั้งๆที่มีเสียงคัดค้านจากศิษย์เก่าสถาปัตย์



เกริ่นนำ จากผู้เผยแพร่

ช่วงนี้ บ้านเมือง ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ จะโดนทุบทำลายอยู่เป็นประจำ ซ้ำร้ายก็คืออาคารที่สร้างใหม่ ไม่ใช่อาคารแห่งความทรงจำ อาคารเดิมๆมีประวัติศาสตร์ทั่วโลกเค้าอนุรักษ์กัน แม้แต่สถาปนิกที่เป็นศิษย์เก่าเองยังคัดค้าน มาอย่างต่อเนื่อง น่าแปลกใจครับ ในประเทศไทย อาคารทรงคุณค่าผู้บริหารบางท่าน กลับมองไม่เห็นกัน

อ้างอิง สมาคมการผังเมืองไทย ตามลิ้งก์ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=541353659237347&set=a.525664784139568.1073741832.524047510967962&type=1&theater

เข้าสู่บทความ

Copy//ร้อนขึ้นมารอดรั้วจากสถาบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา ไปอยู่หน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เมื่อคณะผู้บริหาร มีแผนที่จะทำการรื้อถอน"อาคารหอประชุม 1" และ "อาคารอุตสาหกรรม 2"เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารหอประชุมขนาด 3,000 ที่นั่ง เพื่อรองรับกิจกรรมนักศึกษา ทั้งการปฐมนิเทศ ปัจฉิมนิเทศจึงต้องการอาคารที่รองรับคนได้ครั้งละหลายพันคน ขณะที่ทางกลุ่มศิษย์เก่าสถาปัตย์กลุ่ม CSR โคราช และสถาบันพัฒนาเมืองนครราชสีมาส่งเสียงคัดค้าน ไม่ต้องการให้มีการทุบทำลายอาคารเหล่านี้อยากให้อนุรักษ์ไว้โดยไม่เปลี่ยนรูปทรงอาคาร

การรื้ออาคารเก่า เพื่อสร้างอาคารใหม่นั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าอาคารเก่านั้นไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นเมื่อปลายปีที่แล้วที่มีการวิพากษ์คัดค้านการรื้อถอนอาคารศาลฎีกา อาคารที่สร้างขึ้นสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนมาอย่างสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2481ที่สุดอาคารศาลฎีกาด้านฝั่งริมคลองคูเมืองเดิมก็ถูกรื้อทิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพราะบ้านเรายังมีแนวคิดเรื่องอาคารสุดโต่งเพียงแค่ 2 ด้านคือการอนุรักษ์แบบเดิมไว้และการรื้อสร้างใหม่ ทำให้มีการทำลายอาคารมานักต่อนัก

ประชาคมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมาควรถอดหัวโขน ทิ้งสูท ปลดเนคไท ร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางออกว่าที่ตรงนี้ควรเป็นอย่างไรเพราะถ้าต่างคนต่างมอง ต่างฝ่ายต่างพยายามหาความชอบธรรมหรือสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำเรื่องราวดังกล่าวก็จะจบลงแบบแพ้ข้างชนะข้างเป็นรอยแผลของสถาบันที่จะอักเสบขึ้นมาได้ทุกเมื่อในอนาคต







 

Create Date : 04 มิถุนายน 2556    
Last Update : 4 มิถุนายน 2556 13:07:07 น.
Counter : 1121 Pageviews.  

ผังเมืองไทยเปลี่ยนตาม “อำนาจเงิน” (หรือเปล่า) ปัญหาผังเมือง กับสังคมไทย บทเรียนราคาแพงจากอุทกภัย ปี 54



Copy//เราชอบกันแต่เรื่อง Structure (โครงสร้างหรือการสร้างแนวกั้นน้ำ) ถ้า Structure แตกอย่างปี 54 มันส่งผลกระทบต่อสังคมเยอะ แต่บางสังคม เขาสนใจพวก Non-Structure(การวางผังเมือง ไม่เน้นสร้างแนวกั้นน้ำมากนัก)กลับกลายเป็นว่าป้องกันน้ำได้มากกว่า ซึ่งจริงๆ 2อย่างนี้ต้อง Combine (ควบคู่-ผสมผสาน) กันปัญหาผังเมืองที่ผ่านมา ที่เราเสียหายกัน 1.44 ล้านล้านบาท(การประเมินของ World bank) เพราะว่าน้ำเขาเดินของเขาอยู่แล้วแต่เราไปอยู่ในที่ของน้ำ ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังไปแย่งที่น้ำ ในอนาคตผมเชื่อว่าน้ำเองคงไม่มีใครไปบังคับไม่ให้ท่วมได้ดังนั้นความเสียหายก็จะมีมากขึ้น....ดูเพิ่มเติมเรื่อง ปัญหาผังเมืองกับสังคมไทย //www.naewna.com/scoop/53318

ปัญหาผังเมือง กับสังคมไทย บทเรียนราคาแพงจากอุทกภัย ปี 54

จากหนังสือพิมพ์แนวหน้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2556โดย SCOOP@NAEWNA.COM

Copy//เชื่อเหลือเกินว่า วันนี้ชีวิตคนไทยโดยเฉพาะผู้คนในสังคมเมือง คงไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีกต่อไปเห็นได้จากปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีฝนตก หลายคนยังคงขวัญผวาเนื่องจากมหาอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2554ได้ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเกิดความขัดแย้งในสังคมที่เรียกกันว่า “สงครามหน้าแนวกั้นน้ำ”ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง กทม. กับปริมณฑล , กทม.ฝั่งธนกับฝั่งพระนคร หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากไม่มีใครอยากให้น้ำเข้าไปในพื้นที่ของตน

หากถามว่าอะไรเป็นสาเหตุคงตอบได้หลายประการ ไล่ตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด , ภาวะอากาศแปรปรวนซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ , การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ไม่มีแนวดูดซับน้ำ ซึ่งนอกจากป้องกันน้ำท่วมแบบฉับพลันแล้วยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้ด้วย แต่ที่สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ผังเมือง” ที่พบว่า หลายๆ สถานที่ไปสร้างในที่ๆไม่ควรสร้าง เช่นนิคมอุตสาหกรรมที่ไปขวางทางน้ำตลอดจนการขยายเมืองอย่างไม่มีระเบียบแบบแผน เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นไปในด้านเศรษฐกิจ โดยมุ่งเอาชนะธรรมชาติเป็นหลักในทุกทาง

ย้อนอดีต-มองปัจจุบัน

“เราพบว่า ศาสตร์ของผังเมือง ไม่ได้เป็นของใหม่ของประเทศไทยถ้าเราล้วงลึกไปในสังคมไทย เราพบว่าคนโบร่ำโบราณมีความฉลาดมากในการเลือกตั้งถิ่นฐานนี่แหละคือศาสตร์ในการเลือกสถานที่ที่มีความปลอดภัยคนสามารถรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้”

เป็นเสียงจาก ศ.ดร.ธนวัฒน์จารุพงษ์สกุลโฆษกคณะอนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา ชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนชาวไทยในการเลือกตั้งเมือง ซึ่งมีหลายตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่นเมืองโบราณที่อินทร์บุรีใช้วิธีขุดคูรอบเมืองให้น้ำไหลผ่านเมืองแล้วยกกำแพงเมืองให้สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือกรุงศรีอยุธยาที่ตัวเมืองสมัยก่อนอยู่ในพื้นที่เกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ และแม่น้ำเหล่านี้นอกจากจะเป็นทางระบายน้ำที่ดีแล้วยังใช้เป็นกำแพงธรรมชาติในการป้องกันเมืองในภาวะสงครามกับพม่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาไทย (หรือสยามในเวลานั้น) ไม่ได้มีสงครามกับพม่าอีก ทำให้ละเลยประโยชน์ของทางน้ำไปแม้กระทั่งปัจจุบัน งบประมาณเพื่อบริหารจัดการน้ำ(ล่าสุดคือเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ) ถูกนำไปใช้ด้านสิ่งก่อสร้างต่างๆ แต่แทบไม่ได้ใช้ในด้านการให้ความรู้หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนเลยแต่อย่างใด



อ.ธนวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า หากย้อนข้อมูลในอดีต พบว่าน้ำท่วมกทม. ครั้งใหญ่สุด ไม่ใช่ พ.ศ.2526 หรือ พ.ศ.2485อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่เป็นพ.ศ.2374 (สมัยรัชกาลที่ 3)ซึ่งครั้งนั้น น้ำได้ท่วมสูงถึง 3 เมตรและท่วมอยู่นาน 3 เดือนแต่เนื่องจากสภาพของเมืองไม่ได้ใหญ่โตแบบทุกวันนี้จึงไม่มีความเสียหายมากอย่างในปัจจุบัน ปัญหาคือที่ผ่านมาเรากลับไม่เคยวางผังเมืองเพื่อรับมือมวลน้ำในปริมาณดังกล่าวแต่อย่างใด

“เราชอบกันแต่เรื่องStructure (โครงสร้าง หรือการสร้างแนวกั้นน้ำ) ถ้า Structureแตกอย่างปี 54 มันส่งผลกระทบต่อสังคมเยอะแต่บางสังคม เขาสนใจพวก Non-Structure (การวางผังเมืองไม่เน้นสร้างแนวกั้นน้ำมากนัก) กลับกลายเป็นว่าป้องกันน้ำได้มากกว่า ซึ่งจริงๆ 2 อย่างนี้ต้อง Combine (ควบคู่-ผสมผสาน) กัน

ปัญหาผังเมืองที่ผ่านมาที่เราเสียหายกัน 1.44ล้านล้านบาท (การประเมินของ World bank) เพราะว่าน้ำเขาเดินของเขาอยู่แล้วแต่เราไปอยู่ในที่ของน้ำ ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังไปแย่งที่น้ำ ในอนาคตผมเชื่อว่าน้ำเองคงไม่มีใครไปบังคับไม่ให้ท่วมได้ ดังนั้นความเสียหายก็จะมีมากขึ้น”อ.ธนวัฒน์ กล่าว

เมื่อผังเมืองเปลี่ยนตาม“อำนาจเงิน”

มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าเจ็บปวดสำหรับสังคมไทย นั่นคือ “เมื่อเงินพูด ความจริงย่อมเงียบ” ดังจะเห็นได้จากแทบทุกวงการล้วนมีข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การบังคับใช้ผังเมือง ที่แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นที่ลุ่มที่แอ่งอันเหมาะกับการใช้เป็นแก้มลิง เพื่อพักน้ำก่อนรอระบายไปตามระบบแต่ทั้งเจ้าของที่ดินที่อยากขายที่ให้ได้ราคาแพงๆกับนายทุนที่อยากพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรรต่างพยายามใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เมื่อผังเมืองหมดอายุเข้าไปกดดันให้แก้ไขผังเมืองอยู่เสมอ

น.ส.อรพิมพ์พิมพ์เจริญ นักผังเมืองชำนาญการ เป็นอีกผู้หนึ่งที่พบปัญหาดังกล่าวในบ้านเราอยู่เสมอทั้งที่จริงๆ แล้ว บ้านเรามีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านผังเมืองมากมาย แต่ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจังต่างกับประเทศอังกฤษ ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานพบว่าที่นั่นผังเมืองเป็นวาระสำคัญระดับชาติ มีหน่วยงานมาดูแลเป็นการเฉพาะและมีอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้ใช้พื้นที่ผิดประเภทได้ด้วย

คุณอรพิมพ์ เล่าย้อนถึงการทำผังเมืองใน กทม. ซึ่งแต่เดิมนั้นก่อนที่กรมผังเมืองจะโดนยุบรวมกับกรมโยธาธิการ ได้มีการทำผังเมืองโดยพยายามรักษาพื้นที่ธรรมชาติ (สีเขียว) ใน กทม. และปริมณฑลไว้พอสมควรแต่หลังจากมีการโยกย้ายผังเมืองไปให้ท้องถิ่นดูแล เมื่อ พ.ศ.2535ได้มีความพยายามยกเลิกพื้นที่สีเขียวนี้มาโดยตลอด ทั้งนี้ทุกๆ 5 ปี ที่ผังเมืองหมดอายุและจะต้องประชุมรับฟังความคิดเห็นกันใหม่ก็มักจะถูกกดดันอยู่เสมอ

“ทุก 5 ปี เราต้องไปประชุมในพื้นที่นี้ มีทั้ง ส.ส. ระดับชาติ ไปติดป้ายโฆษณาว่าเลือกผมแล้วผมจะยกเลิกสีเขียวให้หมดเลย เราก็ถ่ายรูปเก็บไว้ พอเขาได้รับเลือกเขาก็มาหาเรา บอกว่าแก้ผังเมืองหน่อยเพราะหาเสียงไว้ ก็บอกไปว่าคุณหาเสียงแต่เราไม่ได้หา ที่บอกว่าผังเมือง 5 ปีน้อยไปไหมมันน้อยไปสำหรับคนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแต่มันทรมานสำหรับคนที่เจ้าคุณปู่เขาให้ที่ไว้ แล้วยังสร้างคอนโดไม่ทันวันนี้ผังเมืองประกาศใช้ เขาทรมานมาก

พออีก 5 ปี เขาก็โทรมาถาม เนี่ย! อั๊วซื้อที่ดินไว้แล้วที่สีเขียว เขาบอกว่าผังเมืองเปลี่ยนทุก 5 ปี เดี๋ยวเหลืองแดง ส้ม เขียว น้ำตาล ลื้อไม่เห็นเปลี่ยน นี่ 2 รอบแล้วก็ถามว่าซื้อมานานยังอาแปะ ก็บอกว่า 30 ปีแล้วถมไปหมดตั้งเยอะ แล้วจะทำอะไรคะ? อยู่ในเขียวลาย(พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) เลยนะ แปะรอได้ไหม สักร้อยปีได้ไหมให้เราชัวร์ว่าน้ำไม่ท่วมก่อน นี่เป็นแค่ 1 ในหลาย caseเท่านั้น”

คุณอรพิมพ์ อธิบายต่อไปว่าผังเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทุกๆ 5 ปีเสมอไป แต่คำว่า 5 ปีนี้หมายถึงระยะที่ต้องประเมินสภาพพื้นที่ ซึ่งยืนยันว่าตราบใดที่ยังคุมปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ ก็จะไม่มีทางยกเลิกพื้นที่เขียวลายเป็นอันขาดแต่อาจแก้ไขข้อกำหนดบางประการให้เข้ากับสภาพชุมชน เช่นอนุญาตให้ก่อสร้างตลาดหรือร้านค้าขนาดเล็กได้

นอกจากนี้พื้นที่ที่ห้ามสร้างหมู่บ้านจัดสรร เจ้าของโครงการกลับใช้กลยุทธ์ “ศรีธนญชัย” เพื่อเลี่ยงข้อบังคับดังกล่าวเช่นถ้าห้ามสร้างหมู่บ้านตั้งแต่ 10 ยูนิตขึ้นไป คนเหล่านี้จะใช้วิธีไปขอทุกวันวันละ 9 ยูนิต ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อสร้างหมู่บ้านแล้วกลับไม่ยอมสร้างระบบระบายน้ำอีกด้วย โดยผลักภาระไปให้กับ กทม. แต่เพียงฝ่ายเดียว

ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา?

ปัจจุบัน กระแสสังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสิทธิเสรีภาพเบ่งบานคนแต่ละคนต่างคำนึงถึงสิทธิของตน จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองไทยวันนี้อยู่ในยุค“สำลักเสรีภาพ” จนลืมใส่ใจสังคมส่วนรวมหรือไม่? ซึ่งบทเรียนจากมหาอุทกภัย 54ได้ชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าว เมื่อหลายพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งที่มวลน้ำจ่อประชิด กทม. แล้ว แต่ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปสร้างแนวกั้นน้ำได้เพราะเจ้าของพื้นที่ไม่ยินยอม ทำให้น้ำเข้าท่วม กทม. ฝั่งตะวันตกในที่สุด

นายกังวาฬ ดีสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กทม.ที่ครั้งก่อนเคยพูดถึงปัญหาความมักง่ายของชุมชนริมน้ำ ที่มักจะทิ้งขยะลงแหล่งน้ำทำให้ไปอุดตันตามท่อ หรือตามสถานีสูบน้ำต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่มักจะพบทั้งตู้ เตียงยางรถยนต์และอื่นๆ อีกมากมายสิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบระบายน้ำไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ มาคราวนี้คุณกังวาฬได้เล่าถึงความพยายามในการเข้าไปขอสร้างแนวกั้นน้ำในที่ดินเอกชนเมื่อครั้งมหาอุทกภัย 54 แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลเพียงเพราะบดบังทัศนียภาพของบ้านเท่านั้น

“ตอนที่น้ำยังไม่ท่วมเขาไม่ยอม จะไม่ยอมเลย ทั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขาไม่ยอมให้เราสร้างบอกว่ามันปิดบังหน้าบ้านเขา คือมันก็จะเป็นฟันหลออยู่ตรงหน้าบ้านเขาน้ำมันก็เข้าตรงนั้นแหละ แล้วคนที่มีรั้วบ้านเดิมก็ไม่ยอมให้ทำคือรั้วก็ไม่แข็งแรงอะครับ พอน้ำมันยกตัวขึ้น มันก็ดันพังหมด คราวที่แล้วปี 54 พังไป 5 จุด ริมแม่น้ำ ริมคลองบางกอกน้อยคลองมหาสวัสดิ์ เพราะว่าเขาไม่ยอมให้เราทำ

ที่พังไม่ได้พังที่เขื่อนมันเป็นรั้วบ้าน ที่มันเข้าไปในถนนจรัญ (จรัญสนิทวงศ์)คือพังเพราะเขาไม่ยอมให้เราทำ เราบอกว่าไม่แข็งแรงแต่เขาก็ไม่ยอม อันนี้พอพังเสร็จตอนนี้ให้ทำหมดเลยครับ มีเรื่องมาเลยครับขอให้ กทม. ทำ ตอนนี้เราทำไม่ทันคือมันต้องเจอก่อน พอถูกเข้าไปทีนึง ก็รู้เลยว่ามันหนักมาก เสียหายเยอะมากเขาไม่ยอมให้ทำ ทั้งๆ ที่เราจะทำให้ฟรี ไม่เสียตังค์เลย” รอง ผอ.สำนักระบายน้ำ กทม. กล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นได้ว่าการวางผังเมืองให้ดี และบังคับใช้ข้อกำหนดผังเมืองอย่างจริงจังมีความสำคัญและเป็นประโยชน์มากในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติที่นับวันมีแต่จะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ตามความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกการใช้พื้นที่ให้ถูกประเภท ย่อมจะลดความเสียหายได้มาก ทั้งนี้ยังมีผู้เสนอว่า กทม.และปริมณฑลควรหยุดการเจริญเติบโตในภาคธุรกิจได้แล้ว เพื่อให้เหลือพื้นที่แก้มลิงไว้พักน้ำหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอีกและให้ทางระบายน้ำ (Flood Way) ที่มีอยู่เดิมตั้งแต่สมัย ร.5 ทำงานได้เต็มศักยภาพโดยไม่มีอะไรไปขวางหรืออุดไว้

โดยควรไปขยายความเจริญในจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆเช่นฉะเชิงเทรา สระบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ผ่านการเชื่อมระบบขนส่งที่รวดเร็วและทันสมัยไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ หรือถนนมอเตอร์เวย์ เพื่อระบายผู้คนที่เข้ามาแสวงหาโอกาสใน กทม.จนกลายเป็นเมืองแออัดอย่างทุกวันนี้ ให้กระจายตัวออกไปบ้าง

บางทีวันนี้ รัฐบาลที่อยากได้รถไฟความเร็วสูงน่าจะลองทำตามข้อเสนอดังกล่าว โดยให้ 4 จังหวัดใกล้ๆกทม.นี้เป็นโครงการนำร่องก่อนก็ได้ เพื่อจะได้รู้ว่า..ทำแล้วจะเป็นอย่างไร?จะกำไรหรือขาดทุน?


สนใจข้อมูลเรื่องการผังเมือง เข้าไปกด like กันได้ตามลิ้งก์

https://www.facebook.com/pages/สมาคมการผังเมืองไทย/524047510967962?fref=ts




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2556 7:24:35 น.
Counter : 1395 Pageviews.  

ภาครัฐตัดสินใจลงทุนโครงการราคาหลายแสนล้าน แล้วเคยสนใจฟังเสียงความต้องการประชาชนแบบเรามั้ย

มาดูตัวอย่าง ที่เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์กันดีกว่าครับว่าการตัดสินใจทำโครงการดี ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะดีๆเค้ายึดประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง สร้างความสะดวกสบายให้คนกลุ่มใหญ่ที่สุดมาในลำดับแรกครับ



นำตัวอย่างข้อคิดเห็น ที่เคยเห็นต่างกันเรื่องระบบขนส่งมวลชนระหว่างนักเลือกตั้ง ผู้บริหารเมือง กับ ความต้องการของประชาชนในเมืองซูริคประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่สุดท้ายเสียงความต้องการของประชาชนเป็น “เสียงสวรรค์”ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ครับ

แต่ในประเทศไทย เสียงประชาชน ไม่ใช่เสียงสวรรค์เพราะระบบขนส่งมวลชนสาธารณะดีๆ ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังเสียทีครับ-ผู้เผยแพร่ (เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์)

เกริ่นนำ

บทความ และเนื้อหาสั้นๆ ของ อาจารย์ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ นักผังเมือง และสถาปนิกอาวุโสที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และการตัดสินใจของผู้บริหารเมืองนักการเมืองในต่างประเทศ กับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในเรื่องระบบขนส่งมวลชน ....ทำไมมันขัดแย้งกับความต้องการของประชาชนในช่วงแรกๆกันครับ ....อ่านกันหน่อยครับ มันเหมือนกับ ประเทศบ้านเราหรือไม่ครับที่นักการเมืองก็ไม่ใส่ใจเรื่องระบบขนส่งมวลชนเพื่อประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอย่างจริงจัง

อ้างอิงข้อมูลจากอัลบั้มภาพ //www.facebook.com/jonx.virochsiri/posts/396060563842966

ขอขอบพระคุณ อาจารย์ฉันทฤทธิ์ มา ณ ที่นี้ครับที่อนุเคราะห์ข้อมูล และมุมมองที่น่าสนใจครับ

เข้าสู่บทความกันเลยครับ

Copy//เมือง Zurich, Switzerland เป็นที่รู้จักกันว่ามีระบบขนส่งมวลชนที่เพียบพร้อมดีที่สุดในโลกแต่ก่อนที่จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ Ernest Joos, Transit Authority deputydirector ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี 1992 ว่า

ข้อมูลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าสาธารณชนทั่วไปมักสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนมากกว่าฝ่ายบริหารเมืองรวมทั้งผู้แทนจากการเลือกตั้งสิ่งที่อธิบายได้ถึงความแตกต่างในความคิดเห็นนี้ คือผู้อยู่ในฝ่ายบริหารนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายผู้มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้รถยนต์มากที่สุดซึ่งเมื่อมีบทบาทต่อการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนกลุ่มคนเพียงหนึ่งในสี่ของประชากรที่ใช้รถยนต์เหล่านี้จะสนับสนุนการใช้รถยนต์เพราะพวกเขาคิดจากฐานความต้องการของพวกตนแทนที่จะคิดถึงความต้องการของประชากรกลุ่มอื่น

โครงการระบบขนส่งมวลชนของเมืองซูริคนี้ต้องมีการออกเสียงโดยสาธารณะ เนื่องจากมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านสวิสฟรังค์หรือ 6.6 ล้านดอลลาร์ (198 ล้านบาท) จึงเกิดขึ้นได้ด้วยการออกเสียงประชามติจากประชากรส่วนใหญ่แทนที่จะเป็นการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเมืองเพียงอย่างเดียว

เห็นความแตกต่างหรือไม่กับประเทศไทย? ภาครัฐตัดสินใจลงทุนโครงการราคาหลายหมื่นถึงหลายแสนล้านโดยไม่เคยสนใจฟังเสียงประชาชนเอะอะก็อ้างได้รับฉันทามติคะแนนเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ประเทศและบ้านเมืองจึงจมปลักอยู่กับความล้าหลังลำบากและทิ้งหนี้มหาศาลไว้ให้สาธารณชนต้องแบกรับไปชั่วลูกชั่วหลาน



ในภาพ ระบบรถรางเบา (Streetcar หรือ Tram) ที่นิยมใช้เดินทางของประชาชนเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้ บ้านเรา ผู้บริหารเมืองนักการเมือง ไม่ค่อยสนใจกันเท่าไหร่ครับ 



Streetcar ไม่จำเป็นเสมอไปที่ใช้ถนนกว้างมากมายเพียงต้องการวงเลี้ยวให้ได้ตาม Curve แค่นั้นเอง (เครดิต SmartGrowth Thailand )

ตามลิ้งก์วีดีโอ การสร้าง การวางราง



คลิปการวางราง ในประเทศฝรั่งเศส



มี Streetcar รถรางเบา ลดปัญหาจราจรได้อย่างแน่นอนเพียงแต่จะ “ทำจริง” แก้ปัญหากันทั้งระบบหรือเปล่า



สองฟากฝั่ง และบริเวณโดยรอบที่รถรางเบาพาดผ่าน จะเกิดพาณิชยกรรมอย่างทั่วถึงเพราะคนเดินทางสัญจร สามารถแวะชมร้านค้าได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องที่จอดรถ (รถยนต์ส่วนบุคคล)เพราะถ้าใช้ระบบรถยนต์แบบบ้านเรา รถอาจติด จนไม่มีเวลามาเดินชม หรือต้องหาที่จอดรถอาจมีความกังวลเรื่องรถส่วนตัวอีกต่างหาก



เป็นมิตรกับทัศนียภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุ้มค่ากว่าเพราะใช้ไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิง ไม่มีมลพิษทางอากาศ ประหยัดกว่าแน่นอน



ทำให้เมืองน่าอยู่ การเดินทางสะดวกสบายมากเลยครับ



โครงข่ายในเมืองซูริค


ชมวีดีโอ รถรางเบา (ระบบที่นักผังเมืองจากทุกสำนักยกให้เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้ครับ เพราะใช้ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าครับ เป็นมิตรกับทัศนียภาพ)





 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2556 8:03:19 น.
Counter : 1524 Pageviews.  

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราควรรื้อระบบผังเมือง ให้มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกฎหมายควบคุมผังเมือง ใช้ที่ดินให้ทันสมัย



ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรรื้อระบบผังเมือง ให้มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกฎหมายควบคุมผังเมืองใช้ที่ดินให้ทันสมัย


เกริ่นนำ

ด้วยความเป็นห่วงเนื่องจากผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งได้รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ และสื่อออฟไลน์เรื่อง การจัดการผังเมืองของไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พออ่านดูหลายๆบทความที่ไม่เข้าใจก็คือ ความชัดเจนของหน่วยงาน ในการแก้ไขปัญหาและการใช้งบประมาณมหาศาลไปทำอะไร ซึ่งในบทความนี้ เราจะมองเห็นได้เลยว่า “ใช้เงิน ใช้งบประมาณ”กันเป็นอย่างไร ซึ่งตามที่อ่านจากข่าวเดลินิวส์ และบน Facebookของท่านผู้รู้จริง จะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังไม่มีมาตรการจัดการผังเมือง ซึ่งก็น่าเป็นห่วง ...เราลองมาช่วยกันคิดครับ จะ “กระตุ้น”หน่วยงานเหล่านี้กันอย่างไร -จากผู้เขียนบล็อกเผยแพร่ ...(เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์)

เข้าสู่บทความครับ

อ้างอิงบทความสั้นๆบนโพสต์ใน Facebook ของสมาคมการผังเมืองไทย(ตามลิ้งก์) ที่

อ้างอิงมาจากเดลินิวส์ เมื่อวันที่26 มีนาคม 2556

//www.facebook.com/photo.php?fbid=528808143825232&set=a.525664784139568.1073741832.524047510967962&type=1&theater

Copy//นักวิจัยจุฬาชี้รัฐใช้งบแก้ปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท แต่กลับไม่มีมาตรการจัดการผังเมือง อนาคตเผยหากเกิดภัยพิบัติอีกครั้งจะเสียหายมากกว่าเดิมถึง30 เท่าตัว !!!

และอ้างอิงมาจากเดลินิวส์ตามลิ้งก์ ขอขอบคุณข้อมูลทุกฝ่ายที่ผมนำมาอ้างอิงด้วยครับ

//www.dailynews.co.th/technology/193240

copy//วันนี้(26 มีนาคม) ที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง“รื้อผังเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน“ โดยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตนได้ร่วมมือกับทางคณะอนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการน้ำวุฒิสภา ทำการศึกษากรณีมหาอุทกภัยปี 2554กับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่ามหาอุทกภัยครั้งดังกล่าวเป็นเหตุการณ์พิบัติภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และได้สร้างความเสียหายประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปี2554ของประเทศลดลงถึง 3.1%และหากเปรียบเทียบกับพิบัติภัยที่ทำความเสียหายมากที่สุดกับประเทศต่างๆของโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 เป็นต้นมาพบว่า มหาอุทกภัยของไทยปี2554 จัดอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลกที่ทำความเสียหายมากที่สุด ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้ความเสียหายมากจากน้ำท่วมครั้งนี้ เพราะในอดีต 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ไม่ได้มีการเตรียมระบบการป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ไว้ อีกทั้งมีการขยายตัวของชุมชนเมืองในลุ่มน้ำท่วมถึง อย่างมากมาย

ศาสตราจารย์ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า จากผลการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งก่อนและหลังเกิดวิกฤติการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 พบว่าประเทศไทยได้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้นกว่า 8 แสนล้านบาท(รวมงบประมาณ พ.ร.ก. เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท )ซึ่งเป็นงบประมาณลงทุนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่พบว่าไม่มีมาตรการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต รวมถึงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายใด ๆที่จะสามารถควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของประเทศได้

ทั้งนี้หากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกทำให้มีแนวโน้มก่อให้เกิดพิบัติภัยขนาดใหญ่ของประเทศมีมากขึ้นปัญหาผังเมืองของประเทศ ไม่สามารถแก้ไขได้และระบบบริหารจัดการเพื่อการลดความเสี่ยงภัยของน้ำท่วมที่ไม่เหมาะสมแล้ว จะส่งให้มหาอุทกภัยในอนาคตมีผลกระทบต่อประชาชนและเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากกว่าน้ำท่วมในปี2554 ถึง 30 เท่าตัวหรือประมาณมูลค่าความเสียหายมากถึง 30ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2613

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ ไว้ 5 ข้อดังนี้ คือ

1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งก่อนและหลังเกิดวิกฤติการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ประเทศไทยได้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหา ไปแล้ว กว่า 8 แสนล้านบาท การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่เน้นมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นหลักแต่พบว่าไม่มีมาตรการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตเพื่อการแก้ไขป้องกันและลดความเสียหายของประชาชนอันเกิดจากน้ำท่วมในระยะยั่งยืน

2. ปัญหาผังเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมาพบว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมมีความรุนแรงและเสียหายมากขึ้นทั้งนี้มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองของประเทศ มักเน้นการใช้เฉพาะปัจจัยศักยภาพด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก แต่ปัจจัยศักยภาพด้านกายภาพและมาตรฐานความเสี่ยงของพิบัติภัยภัยแทบไม่ได้ใช้เลยเช่น แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นต้น

3. ประเทศไทยควรจะมีแผนแม่บทการพัฒนาเมือง(Regional Urban Planning) ในลุ่มน้ำท่วมถึงทั่วประเทศเพื่อลดความเสียหายของน้ำท่วมต่อชุมชนและเมืองในอนาคต

4. ขนาดพิบัติภัยน้ำท่วมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา(Dynamic) ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมมนุษย์ประเทศไทยต้องเพิ่มระดับมาตรฐานการลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของประเทศให้มีขนาดที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับโอกาสความเสี่ยงการเกิดพิบัติภัยซึ่งมีแนวโน้มจะมีขนาดใหญ่ขึ้น(ผลจากความแปรปรวนของภูมิอากาศในอนาคต)โดยเฉพาะควรเน้นการใช้มาตรการผังเมืองและการใช้ที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นหลักในระยะยั่งยืนและ

5. ควรมีการรื้อระบบผังเมืองของประเทศให้มีประสิทธิภาพควรปรับปรุงกฎหมายควบคุมผังเมืองและการใช้ที่ดินให้ทันสมัยควรปรับปรุงหน่วยงานที่ดูแลกำกับและบังคับใช้กฎหมายด้านผังเมืองและการใช้ที่ดินของประเทศใหม่ เช่นแยกผังเมืองออกจากโยธาธิการ หรือ ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ที่ดูแลทั้งระบบ เป็นต้น


สนใจข้อมูลเรื่องการผังเมืองเข้าไปกด like กันได้ตามลิ้งก์

https://www.facebook.com/pages/สมาคมการผังเมืองไทย/524047510967962?fref=ts






 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2556 21:48:07 น.
Counter : 1201 Pageviews.  

เชิญร่วมปั่นจักรยาน “ตามรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ใจกลางเมืองเก่าพระนคร วันอาทิตย์ ที่ 26 พ.ค. 56


เชิญร่วมปั่นจักรยาน “ตามรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย”ใจกลางเมืองเก่าพระนคร วันอาทิตย์ ที่ 26 พ.ค.56


เครดิต เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม และคุณ Rapee Tor ตามลิ้งก์

การบ้าน การเมือง .... ล้วนเรื่องเดียวกัน

เชิญร่วมปั่นจักรยานตามรอยประวัติศาสตร์ เพื่อร่วมสร้างสำนึกความเป็นชาติ

เรียนรู้เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ยุคหลัง 2475

ตอน "ตามรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย"

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2556

( แปดโมงเช้า ถึงบ่ายสองโมง))

ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง การปกครองที่เกิดขึ้น

ใน 5 สถานที่สำคัญของถนนราชดำเนิน ได้แก่

ลานพระบรมรูปทรงม้า,

สะพานมัฆวานรังสรรค์,

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ,

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เน้นนำเสนอบนข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นัดหมาย 07.30 น. ที่ลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ที่ เฟสบุ๊ค “Bangkok Bicycle Campaign”

คลิก "เข้าร่วม" ที่หน้ากิจกรรม

ตอบเข้าร่วมกิจกรรมสนใจร่วมกิจกรรม คลิก "เข้าร่วม"ที่ //www.facebook.com/events/198328593648632


และต้องนำจักรยานมาเอง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณนฤมลหมายเลขโทรศัพท์ 02-224 0120 และ 082 – 963 1207 ในวัน และเวลาราชการ

และติดต่อเช่าจักรยานได้ที่ ร้านเวโลไทยแลนด์ ซอยสามเสน 4

โทร.02 628 2628, 089 201 7782

ดำเนินงานโดย

Bangkok Bicycle Campaign ,

สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว, ,

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม,

ประชาคมบางลำพู


** กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม **













 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 21 พฤษภาคม 2556 12:46:41 น.
Counter : 1812 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.