ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ชื่นชมหน่วยงาน “กองการท่องเที่ยว กทม.” นำหน้า ฟื้นฟูท่องเที่ยวชุมชนย่านประวัติศาสตร์บางกอกน้อย



วันนี้ได้มาตามทริปสัญจรชุมชนหนึ่งในย่านประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์อีกย่านหนึ่งครับ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี คือ แถวบางกอกน้อย โดยผู้จัดทริป เป็นแม่งานอย่างแข็งขันคือ กองการท่องเที่ยว สังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ได้เชิญชวนบุคคลทั่วไปผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Social Media ต่างๆ มาเรียนรู้กิจกรรมเรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์การจัดการท่องเที่ยววิถีถิ่น เค้าให้ชื่อทริปว่า "ยลเสน่ห์ตลาดร้อยปี ชมของดีบ้านบุ” ตามโครงการเสริมสร้างความรู้เพื่อพัฒนาบริหารกรท่องเที่ยวครั้งที่ 1 เมื่อเสาร์ที่ผ่านมาครับ (6 เมษายน 2556) ณ ตลาดวัดทอง ชุมชนบ้านบุ (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32) และชุมชมประวัติศาสตร์ริมคลองบางกอกน้อย”

นับเป็นเรื่องที่ดีครับ ที่มีหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญทางด้านการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมชุมชนในท้องถิ่น เพราะในความเป็นจริง เรื่องประเภทนี้ หน่วยงานรัฐ และภาครัฐที่มีองค์ความรู้ น่าจะเป็นตัวนำธง หรือที่ปรึกษาที่ดีกับชุมชนต่างๆ ซึ่งในยุคปัจจุบัน การเผยแพร่มันทำได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนที่ถูกมากอย่างไม่น่าเชื่อ (ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ) ถ้าภาครัฐให้ความสนใจ แล้วชุมชนค่อยๆพัฒนาการเรียนรู้ มองหาจุดเด่นของชุมชนตัวเอง ในอนาคตชุมชนก็จะสามารถกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง พี่งพาตนเอง พัฒนาตนเองได้เช่นกัน เพราะในโลกนี้ ใครๆ ก็สามารถเผยแพร่สิ่งที่ตนเองมี มาอวดชาวโลกกันได้ทันที เช่น ที่บ้านบุ มีการทำขันลงหิน ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในโลก เป็นงานฝีมือที่เหลือคนทำเพียง 9 คนในโลกนี้เท่านั้น ซึ่งแต่ละท่านก็เป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ในสมัยก่อนก็มีคนทำขันลงหินกันมาก แต่ต่อมาด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หลายคนก็เลิกทำ และทิ้งรากเหง้า ไปประกอบอาชีพอื่นๆ จึงเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับคนไทยทุกคนว่าเราจะอนุรักษ์ และสืบสานอาชีพนี้กันอย่างไรดี

เข้าเรื่องทริปสัญจรกันเลยดีกว่าครับ

ช่วงเช้าจุดนัดหมาย (รวมพลคนอยากเที่ยว) ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ด้านฝั่งธนบุรี ทุกคนก็มาอย่างพร้อมเพรียงกันร่วม 100 ท่านครับ ทราบข่าวว่ามีทั้งผู้สนใจทั่วไปที่ทราบข่าวผ่านเครือข่ายตามลิ้งก์ //www.facebook.com/thaitourismsociety ประมาณ 60 ท่าน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ อีก 40 ท่าน หลายท่านน่าจะยังไม่เคยเดินทริปสัญจรชุมชนแบบนี้มาก่อน ถึงแม้ว่าจะอยู่ใกล้ๆ กลางเมืองกันแค่นี้เอง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุครับ ที่ควรจะมีการส่งเสริมโปรโมตกันอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าชุมชนมีการส่งเสริมกันอย่างต่อเนื่อง (ในหลายชุมชน) คนที่เคยมาเดินทริปกัน ก็จะช่วยกันเผยแพร่กันเองครับ “ปากต่อปาก” กันเองครับ อย่างไรก็แล้วแต่ครับ หลายๆอย่างต้องยกความดีให้ผู้อยู่เบื้องหลังกันครับ ก็คือเจ้าหน้าที่กองการท่องเที่ยว กทม. หลายท่านที่ลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องนับปีๆ และช่วยพัฒนา แก้ไขปัญหา ฟื้นฟู ร่วมมือกับชุมชน จัด และเผยแพร่กิจกรรมมาอย่างยาวนาน จากไม่ค่อยมีคนทราบว่า ยังมีชุมชนแบบนี้ในเกาะรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งมีคนทราบเรื่องราวชุมชนต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นับว่าเป็น ผู้”ปิดทองหลังพระ” ตัวจริงครับ




วิทยากร คุณต่อ (เจ้าหน้าที่ชำนาญการพิเศษกองการท่องเที่ยว) ให้ความรู้ในเบื้องต้น เกี่ยวกับสถานที่ที่เราจะเดินทริปกันครับ ใครมาเดินก็จะทราบเรื่องราวบ้านเมืองเราในอดีต และปัจจุบัน มันเป็นอย่างไร และมันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง น่าสนใจจริงๆ ครับ....

วันนี้เดินทริปสั้นๆ แต่มีสถานที่น่าสนใจหลายที่เลยครับ วันนี้จะมีหลายสถานที่ ลองชมกันตามลำดับครับ




วัดภุมรินราชปักษี ....โบสถ์เก่าสมัยอยุธยา พระยืน ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของโบสถ์ สวยงามมากครับ




ศาลาเรือโบราณ เป็นซากเรือที่ยังขุดเนื้อไม้ เป็นเรือไม่เสร็จครับ ทำจากต้นไม้ (ต้นตะเคียน) ที่ยาวมากเลยครับ ขุดพบที่ย่านบางกอกน้อย แถวนี้เลยครับ นับได้ว่าต้องเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างแน่นอน ไม่วาจะสมัยไหน ที่มีการใช้เรือ เป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งในการรบ ในสมัยโบราณ




แวะชม มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ ริมน้ำคลองบางกอกน้อย ซึ่งมีรูปทรงหลายส่วนเป็นแบบ Art-Deco เพื่อสร้างเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว เพราะมัสยิดเดิม โดนระเบิดในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด




คนในมัสยิด ให้การต้อนรับ




อาหารอร่อย มีชื่อเสียงของย่านนี้ครับ “อร่อยครับ”
ข้าวหมกไก่สามสี, ซาโมซา, ชาร้อน


หลังอาหาร ก็ได้เวลาเดินทริปกันต่อ ตอนนี้ต้องเข้าตามตรอกกันครับ ชุมชนริมน้ำส่วนใหญ่ก็จะเป็นตรอกแบบนี้ครับ เป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวา มีผู้คนอาศัยครับ จุดหมายต่อไปก็คือ โรงรถจักรธนบุรี




อากาศร้อนไม่ใช่อุปสรรคครับ หลายท่านหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ยังได้ของติดไม้ติดมือกันกลับครับ.....ดีมากเลยครับ ช่วยชุมชน ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน คนละเล็กคนละน้อย ชุมชนอยู่ได้ ก็ไม่มีใครคิดทิ้งถิ่นฐานตัวเองไปครับ




เดินออกจากตรอก ก็ข้ามฟากอรุณอัมรินทร์ ระหว่างบนสะพานผู้ร่วมทริป ก็อดเก็บภาพกันไม่ได้ครับ ส่วนทางเดินข้างสะพาน เขตบางกอกน้อยก็ดูแลรักษาอย่างดีเลยครับ เดินแล้วไม่เหนื่อยครับ เพราะ “สบายตา”




ถ่ายภาพจากสะพานอรุณอัมรินทร์ จะเห็นเรือของกองทัพเรือจอดอยู่ครับ และอาคารศิริราช นอกจากนั้น ก็จะมีเรือท่องเที่ยวต่างชาติแล่นอยู่ในคลองบางกอกน้อยอย่างต่อเนื่อง เพราะทริปล่องเรือบางกอกน้อย ชาวต่างชาติจะชอบกันมากมายเลยครับ




วัดอรุณอัมรินทร์ ช่วงลงสะพาน เลยเก็บภาพมุมกว้างเสียหน่อยครับ วันนี้ไม่ได้เข้าไปข้างในครับ

เข้าเขตโรงรถจักรธนบุรี แล้วครับ ผู้ร่วมทริปก็เก็บภาพบรรยากาศกันครับ อะไรๆ ที่มันดูคลาสสิคย้อนยุคในปัจจุบัน ผมว่ามันขายได้หมดทั้งนั้นแหละครับ เพียงแต่ว่าเราจะใส่ไอเดียอะไรลงไปให้มันแตกต่างกับชาวบ้านเค้าเท่านั้นครับ




ผู้ร่วมทริป กำลังโพสต์ท่าถ่ายรูป แบ็คกราวน์ยอดฮิต ป๊อปปุลา ครับ....

บางท่านบอกว่า (ในนวนิยาย) เรื่อง “คู่กรรม” ของ “ทมยันต” โกโบริ (พระเอกในเรื่อง) โดนระเบิดที่บริเวณนี้แหละครับ ความจริงเนื้อหาแบบนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่นวนิยาย ไม่ใช่เรื่องจริงก็ตามครับ แต่ถ้านำมา “ต่อยอด” กับสถานที่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนวนิยายยอดฮิต อมตะนิรันดร์กาล คือเรื่อง “คู่กรรม” แล้ว น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติกันได้อย่างดี (ความเห็นส่วนบุคคลน่ะครับ) ลองคิดกันดูครับ สำหรับท่านที่เกี่ยวข้อง ที่มี Power ที่พอจะสร้างสรรค์จินตนาการต่างๆ ให้เป็นความจริงได้

ชมภาพเปรียบเทียบมุมสูงในบริเวณนี้กันครับ นับว่าเป็นที่หนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง



ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร ๒๒๐ ปี
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณโดนทิ้งระเบิด ได้รับความเสียหายอย่างมากมาย ทั้งทรัพย์สิน และชีวิตคนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้



ลองเดินชมบริเวณด้านนอกรอบๆ โรงรถจักร จะเห็นโบกี้เก่า (ไม่ทราบว่าจะเรียกซากโบกี้ ได้หรือเปล่า) มีอยู่พอสมควรครับ แต่โบกี้เก่าๆ ที่น่าจะทำอะไรไม่ได้แล้ว แบบนี้ ถ้าเทียบกับ บางสถานี โบกี้เก่าๆอย่างนี้ยังนับว่าน้อยอยู่ครับ (จำได้เพิ่งนั่งรถไฟเมื่อไม่นานนี้ ผ่านจังหวัดสระบุรี ถ้าจำไม่ผิด ได้เห็นโบกี้เก่า ทิ้งไว้เฉยๆ ผมได้ถามเจ้าหน้าที่บนรถไฟเช่นกัน เค้าก็บอกว่าทิ้งไว้เฉยๆ)




โบกี้เก่าๆ วางไว้เฉยๆ น่าจะนำไปบริจาคให้ชุมชนเค้าตกแต่ง โดยมีผู้ออกแบบเมือง มาช่วยออกแบบ




โบกี้เก่าๆ วางไว้เฉยๆ น่าจะนำไปบริจาคให้ชุมชนเค้าตกแต่ง โดยมีผู้ออกแบบเมือง มาช่วยออกแบบ


ในความเห็นของผม (อาจจะผิดก็ได้ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ) ผมว่าน่าจะเอาไปบริจาคให้องค์กรภาคประชาชน หรือชุมชนต่างๆ ได้เรียนรู้ ต่อยอด หรือเอาไปดีไซน์ตกแต่งสถานที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน หรือถ้าในกรณี ทาง รฟท. อยากได้เงิน ก็นำไปประมูลขายเป็นของเก่ามีเนื้อหา มีประวัติศาสตร์

แต่ผมว่านำไปบริจาคจะได้บุญกุศล ได้ภาพลักษณ์มากกว่าอย่างไม่รู้จบครับ เท่ากับช่วยองค์กร รฟท. ทำ CSR ไปในตัวครับ....




ผู้ร่วมทริปทุกท่าน เดินเข้าไปชมด้านในของโรงรถจักรธนบุรี ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว




ภาพจากอินเตอร์เน็ต ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ครับ
รถไฟรุ่นนี้เป็นรุ่นสงครามโลก สงครามมหาเอเชียบูรพา Made in Japan เจ้าหน้าที่วิทยากรบอกว่ายังใช้งานได้ แต่เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้จะใช้ฟืน หรือไม้ขนาดใหญ่ ที่ในอดีตก็ใช้ขอนรางรถไฟ มาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งไม่เหมาะกับยุคปัจจุบันแล้ว ที่เค้าใช้น้ำมันเตา กันเป็นหลัก
เจ้าหน้าที่รถไฟยังบอกว่า รถไฟรุ่นนี้ในหลายประเทศก็ยังมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่เค้าเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์กันเกือบหมดแล้ว จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายชอบมาที่นี่กันครับ




ผู้ร่วมทริป เก็บภาพเก็บบรรยากาศกันอย่างคึกคักครับ




วิทยากร เจ้าหน้าที่การรถไฟ และผู้นำชุมชนย่านบ้านบุ ร่วมกันให้ความรู้เรื่องรถไฟ และบรรยากาศภาพในอดีตในย่านนี้ โดยเฉพาะคุณลุงวีระ รุ่งแสง ที่บรรยายภาพในช่วงวันที่เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในย่านนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องจริงที่น่าสลดมากเลยครับ

ก่อนออกจากโรงรถจักร ก็ชักภาพหมู่ร่วมกันครับ




ถ่ายภาพหมู่ ทริปบ้านบุ, ชุมชนวัดทอง บางกอกน้อย @โรงรถจักรธนบุรี

เดินเท้ากันต่อครับ มาที่บ้านบุ ที่เค้าทำขันลงหินกันครับ แต่ก่อนจะไปโรงงานที่เค้าผลิต ทางวิทยากร ก็พาไปชมขันลงหินของคุณลุงวีระ กันก่อนครับ เพราะคุณลุง เป็นหนึ่งในคนเก่าแก่ที่สะสมขันโบราณ มากที่สุดคนหนึ่งครับ





และแล้วเราก็มาถึงโรงงานผลิตขันลงหิน คุณเจียม แสงสัจจา โรงงานี้ใช้แรงงานฝีมือล้วนๆ เหลือกันแค่ 9 คนเท่านั้นแล้วครับ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจจริงๆครับ สำหรับอนาคตการอนุรักษ์ รักษางานฝีมือประเภทนี้เอาไว้ เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ก็จะแสวงความสบายกันเป็นหลัก แต่ความจริงงานฝีมือมันได้ราคามากกว่าครับ ยิ่งช่วงนี้ ขันลงหินน่าจะเป็นของฝากของพรีเมี่ยมในระดับชาติกันก็ว่าได้ครับ (ปัจจุบันยังเป็นราคาที่ซื้อหานำไปโชว์ นำไปเป็นของฝากผู้หลักผู้ใหญ่กันได้ครับ) ถ้าช่วยกันอุดหนุน ลมหายใจภูมิปัญญาไทยก็จะยืดยาว เพียงแต่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาไทยนี่แหละครับ ที่เป็นปัญหาที่ชวนขบคิดกันน่ะครับ




ถ่ายรูปป้ายประชาสัมพันธ์ซะหน่อยครับ (ขันลงหิน)




เดินมาเหนื่อยๆ ร้อนๆ ดื่มน้ำอุทัยเย็นในพาน และถ้วยขันลงหิน แล้วเย็นชื่นใจ ได้บรรยากาศย้อนยุค เลิศหรูอลังการจริงๆ เลยครับ

มาดูการทำพื้นฐานคร่าวๆกันครับ ก่อนจะมาเป็นขันลงหิน รูปทรงต่างๆ เป็นของพรีเมี่ยม ภูมิปัญญาระดับชาติแบบนี้ มันไม่ง่ายกันเลยจริงๆครับ




ต้องอยู่หน้าเตา ทั้งเผา ทั้งตีให้ได้รูปทรงคร่าวๆ




ต้องอยู่หน้าเตา ทั้งเผา ทั้งตีให้ได้รูปทรงคร่าวๆ




เหลือคนทำขันลงหินอยู่ 9 คนเองครับ ประเทศไทย




เหลือคนทำขันลงหินอยู่ 9 คนเองครับ ประเทศไทย




ผลิตภัณฑ์ขันลงหิน มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทำด้วยดีบุกและทองแดง นำมาหลอมแล้วตีเข้ารูป (ตามภพด้านบน) จนเป็นขันลงหิน เป็นสินค้พรีเมี่ยม “โอทอป 5 ดาว”

ใกล้โรงงานขันลงหิน ยังมีอีกโรงงานซึ่งคือ แสตนเลสบ้านบุคอลเลคชั่น ซึ่งสมัยก่อนก็ผลิตขันลงหินเช่นกัน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ โดยนำแสตนเลสมาทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิมแทนที่ขันลงหิน แต่ใช้กรรมวิธีคล้ายขันลงหินมาใช้ เพราะ การใช้แสตนเลสเป็นวัสดุหลัก สามารถ “ตีเย็น” ตามรูปทรงได้ง่ายกว่า การ “ตีร้อน” กรรมวิธีแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้ในการขึ้นรูปขันลงหิน







ภาพจากแฟ้ม...บน Facebook ขันลงหิน ชุมชนบ้านบุ
เป็นงานทำมือ กรรมวิธีเดียวกับขันลงหิน เพียงแต่เปลี่ยนจากดีบุกและทองแดง มาใช้ สแตนเลสแทน

หมายเหตุ ::

“ตีเย็น” หมายถึง การตีโดยไม่ใช้ไฟมาเผาโลหะให้ร้อน ต่างจากการทำขันลงหินที่ต้องเผาโลหะให้ร้อนจนแดง ถึงจะตีได้ที่เรียกว่า “ตีร้อน”
แสตนเลส บ้านบุคอลลเคชั่น ถือเป็นอีกหนึ่งในสุดยอดหัตถกรรมของบ้านบุ และของประเทศ

ออกจากชุมชนบ้านบุ เดินไปไม่ไกลก็ถึงชุมชนวัดทอง ซึ่งอยู่ติดกับที่ทำการเขตบางกอกน้อย เลยออกไปจากเขตทางริมคลองบางกอกน้อยก็จะเป็น วัดสุวรรณาราม หรือ วัดทอง (ที่มีชื่อเรียกในอดีต)




เข้าไปชม และชิมอาหารกันที่ตลาดวัดทอง ตลาดโบราณ 100 ปี ที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตลาดที่เป็นโครงไม้ทั้งหมด ไม่มีเสากลาง มีแต่เสาด้านข้าง




ภาพจากแฟ้ม...บน Facebook ขันลงหิน ชุมชนบ้านบุ
บรรยากาศแบบตลาดเดิมๆ ครับ มีอาหารมากมายสำหรับคนเดินเท้าสัญจร และของชุมชนครับ

หลังจากนั้นในช่วงภาคบ่าย วิทยากรจากกองการท่องเที่ยว สังกัดกรุงเทพมหานคร นำชมวัดสุวรรณราราม ซึ่งมีพระประธานในโบสถ์คือพระศาสดา เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สวยงาม สร้างในสมัยสุโขทัยอายุราว 700 ปีครับ




พระศาสดา พระประธานอายุประมาณ 700 ปี สมัยสุโขทัย




ทริปนี้ต้องขอชมเชย วิทยากรทุกท่านเลยครับ บรรยายได้ดีมากเลยครับ เข้าใจง่ายครับ

ในภาพวิทยากร กำลังบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวของจิตกรรมฝาผนัง ว่ามีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร และผู้วาดภาพต้องการสื่อสารถึงผมชมภาพอย่างไร ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อต่างๆของคนไทย

หลังจากนมัสการพระศาสดา และฟังคำบรรยาย ทางคณะก็ออกมาชมการสาธิต การ”วิ่งม้า. เพื่อแก้บน




การวิ่งม้าแก้บน มีคนวิ่งม้าและม้าที่ใช้คือผ้าขาวม้า

การแก้บนที่ “วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” ซึ่งที่นี่มีการแก้บนแบบแปลกๆ เฉพาะท้องถิ่นที่ชาวบ้านบุ ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองบางกอกน้อยนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน




ภาพจากแฟ้ม...บน Facebook ขันลงหิน ชุมชนบ้านบุ
การวิ่งม้าแก้บน มีคนวิ่งม้าและม้าที่ใช้คือผ้าขาวม้า

ต่อจากนั้นเราก็ไปตรอกข้าวเม่า แต่ไปชมเค้า กวนขนมโบราณกาละแม ครับ




คุณอนุชา เกื้อจำรูญ ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน อธิบายการกวนกาละแม (แต่ผลิตภัณฑ์จะมีทั้งข้าวเม่า และกระยาสารทด้วยครับ แต่พอดีวันที่ไปทริป ทางร้านกำลังกวนกาละแมพอดี) ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่ใกล้สูญหายไปอีกหนึ่งอาชีพครับ เพราะนอกจากต้องมีความอดทนในการกวนกาละแมในหน้าเตาร้อนๆ ตลอดการกวนต่อครั้งประมาณ 5 ชั่วโมงถึงจะได้รสชาติที่ดีแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการทำตลาดอีกต่างหาก เพราะเคยมีหน้าร้านแถวปากคลองตลาด แต่วันดีคืนดี เจ้าของสถานที่ก็มีการปรับราคา ปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งทำให้ร้านของคุณอนุชา เกื้อจำรูญ ไม่สามารถสู้ราคาค่าเซ้งพื้นที่ขายได้ ตอนนี้ก็ทำการขายส่งอยู่ในชุมชนแหล่งผลิต
นอกจากนั้น ในสมัยก่อน กาละแม กระยาสารท จะเป็นขนมคู่กับประเพณีขึ้นตรุษไทย แต่ปัจจุบันทางคุณอนุชา บอกว่า คนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยทราบว่าประเพณีตรุษไทย คือวันไหน และไม่ค่อยให้ความสำคัญ เช่นตรุษจีน หรือตรุษฝรั่ง
จึงเป็นเรื่องที่เราต้องขบคิดกันครับว่าจะส่งเสริมอาชีพดั้งเดิม และรากเหง้าภูมิปัญญาไทยกันอย่างไรดี
ก่อนที่พวกเราจะออกจากร้านนี้ กลุ่มพวกเราก็ซื้อของฝากกลับบ้าน (กาละแม) ซึ่งนอกจากจะได้ความอร่อย ของแท้ดั้งเดิมแล้ว ยังได้ช่วยกันกระจายรายได้สู่ชุมชนกันด้วยครับ




กาละแม




กาละแม

เดินเท้ากันต่อครับ ไปที่ชุมชนตรอกข้าวเม่า ซึ่งชุมชนนี้จะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า ของสำนักงานเขตบางกอกน้อยตั้งอยู่ครับ




พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า




ภาพจากอินเตอร์เน็ต
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า
แสดงวิถีชีวิตดั้งเดิมของย่านบางกอกน้อย


สิ้นสุดทริป ทุกท่านแยกย้ายกันกลับด้วยความสวัสดิภาพ และมีความสุขที่ได้รับฟังเรื่องภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าบางภูมิปัญญามันสูญหายไปหรือเปล่าในอนาคต และรับฟังเรื่องราวของชุมชน ซึ่งบางท่านก็อาจยังไม่ทราบว่าชุมชนนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงธนบุรีกันเลยครับ

ขอขอบคุณ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร และวิทยากร และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ตั้งใจ นำข้อมูลของชุมชน ที่คนส่วนใหญ่บางส่วนอาจจะยังไม่ทราบว่ามีภูมิปัญญาดีๆ กำลังจะสูญหายไปแล้ว เพื่อให้เกิดการตื่นตัว ในการร่วมกันอนุรักษ์ และฟื้นฟู เพราะถ้าไม่มีคนช่วยเผยแพร่ นำชม ก็ไม่มีใครทราบว่าบางภูมิปัญญา มันวิกฤตขนาดไหน???

และขอขอบคุณ เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม มา ณ ที่นี้


สนใจข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม กด Like ที่เพจนี้ตามลิ้งก์เลยครับ
//www.facebook.com/thaitourismsociety





Create Date : 07 เมษายน 2556
Last Update : 8 เมษายน 2556 15:22:03 น. 1 comments
Counter : 2587 Pageviews.

 


โดย: Kavanich96 วันที่: 8 เมษายน 2556 เวลา:4:59:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.