Group Blog
All Blog
--- The Glass Palace : ร้ า ว ร า น ใน ว า ร วั น ---









บันทึกการอ่าน
The Glass Palace : ร้าวรานในวารวัน
Amitav Ghosh เขียน
ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ แปล





หนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ แบ่งออกเป็นเจ็ดภาค ฉากเกิดขึ้นแต่ละแห่งต่อเนื่องกัน

เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของกษัตริย์พม่า พระเจ้าธีบอและพระราชินีศุภยาลัตในเมืองมัณฑะเลย์ก่อนถูกเนรเทศไปยังเมืองรัตนคีรี บอกเล่าถึงไม้สักที่เป็นเงินเป็นทอง เห็นภาพการลากไม้ซุงซึ่งไม่ได้ไหลมาเพียงท่อนเดียวเดี่ยว ๆ แต่มาทีละเป็นกลุ่ม ไม้เนื้อแข็งหนักหลายตันไล่เบียดเสียดลอยน้ำมาพร้อม ๆ กัน ได้ยินเสียงซุงกระแทกปะทะสะเทือนเลื่อนลั่น ติดแก่ง ติดผืนทราย ซุงท่อนแล้วท่อนเล่าไหลมากระทบกัน เขื่อนท่อนซุงสามารถพังหรือทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามไหล่หรือเหลี่ยมเขา จะเห็นภาพเหล่านี้ตื่นตาตื่นใจในวันวาน เพราะพม่าเป็นประเทศที่มั่งคั่ง อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้นเหลือ

ระหว่างที่อังกฤษเข้ายึดครองอำนาจ เกิดเหตุการชุลมุนวุ่นวาย มีเหตุจลาจลทั้งคนพม่าและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินในพม่า ว่ากันว่าคนอินเดียมากกว่าคนพม่าเสียอีก การรุกรานของเจ้าอาณานิคมนำมาซึ่งเศรษฐกิจหลากหลายและมีพ่อค้ามาลงทุน เนื่องจากพม่าเป็นแหล่งไม้สัก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชเศรษฐกิจ ต่างคนต่างเข้ามาเพื่อตักตวงหาผลประโยชน์ทุกอย่างจากป่า เราจะเห็นช้างลากซุงที่ปางไม้ จะเห็นภาพคนยุโรปที่ใช้ช้างมากกว่าการออกงานพระราชพิธีหรือการทำสงคราม ตื่นตาตื่นใจในความมั่งคั่งของป่าและธรรมชาติ เท่าที่จินตนาการจะพาไปถึง

ใช่...เริ่มอ่านสนุกก็ตรงนี้เพราะฉากเกริ่นนำในมัณฑะเลย์ เป็นสมัยพระเจ้าธีบอกับพระมเหสีศุภยาลัตในช่วงที่อังกฤษเข้าปกครองประเทศและกำลังจะเนรเทศสองพระองค์ไปอินเดีย ยังเป็นภาพสะเทือนใจล้นเหลือตอนอ่าน ราชันผู้พลัดแผ่นดินและเซ็ตงานประวัติศาสตร์เมื่อกลางปีที่แล้ว ยอมรับว่าสะเทือนใจไม่หาย เห็นภาพเบื้องหลังราชันและราชินีที่เดียงสาต่อโลกภายนอก ไม่รู้ความเป็นไปนอกรั้วพระราชวัง มีแต่เสนาบดีเพ็ดทูล คนที่หวังดีต่อพระองค์ก็เข้าไม่ถึง เป็นความล่มสลายของราชวงศ์พม่า การถูกเนรเทศครั้งนี้ กษัตริย์ธีบอไม่มีโอกาสกลับมามัณฑะเลย์อีกเลย

ก่อนที่จะถูกเนรเทศนั้น ราชินีศุภยาลัตจูงมือเจ้าหญิงองค์ใหญ่ อายุไม่กี่ชันษาและกำลังตั้งพระครรภ์อยู่ การเดินทางโดยเกวียนนั้นแสนทุลักทุเล สาหัสสากรรจ์ แทบจะไม่มีผู้ใดอาสาตามพระองค์เพื่อรับใช้ติดตามไปด้วย

แน่ล่ะ...พวกเขาเหล่านั้นมิใช่สหายหรือคนสนิทของพระองค์ เพราะตลอดชีวิตของบรรดาผู้รับใช้กษัตริย์ได้รับการฝึกฝนมาให้รับใช้เจ้านาย เป็นพันธะของพวกเขาต่อพระเจ้าแผ่นดิน พอถึงเวลาปลดแอกด้วยการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เหล่าเสนาบดีจึงเหมือนได้ปลดภาระหน้าที่ของตนลงเช่นกัน เป็นความสะเทือนใจอย่างยิ่งเมื่อพระองค์เอ่ยปากถามว่าใครจะอาสาตามไปรับใช้เราบ้าง ทุกคนก้มหน้าไม่สบพระพักตร์สักคน ไม่มีใครยอมติดตามพระองค์เลยสักคน เพราะเหตุการณ์ช่วงนั้น ราชินีศุภยาลัตทรงโหดร้ายจนเลื่องลือไปทั่ว

ผู้เขียนพาเราไปรู้จักกับ ราชกุมาร เด็กชายอินเดียอายุเพียงสิบเอ็ดขวบแต่ร่างกายกำยำล่ำสัน ชื่อของเขาหมายถึงเจ้าชาย แต่สารรูปกลับไม่มีส่วนไหนละม้ายเจ้าชายเลยสักนิดเดียว ความที่เป็นเด็กตัวโต จึงโม้ไปทั่วเรื่องอายุที่มากกว่าความเป็นจริง หลอกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่ทั้งที่เขาก็คือเด็กชายคนหนึ่งเท่านั้น

เขาเป็นเด็กรับใช้จิปาถะมากับเรือสำปั้นที่จำต้องจอดซ่อมแซมหลังจากล่องจากอ่าวเบงกอลขึ้นมาตามลุ่มน้ำอิรวดี งานซ่อมกินเวลาร่วมเดือน เจ้าของเรือจึงให้เขาหางานทำระหว่างนี้

เรื่องราวกำลังเริ่มขึ้นเมื่อเขาเจอดอลลี่ สาวรับใช้วัยขบเผาะที่ต้องตามไปรับใช้ราชินีศุภยาลัต ราชกุมารรู้สึกต้องตาต้องใจ หาทางเพื่อจะไปส่งอาหารและขนมให้เธอระหว่างการเดินทางอันยาวไกลนี้ เขารู้สึกน้อยใจเมื่อเห็นเธอเอาของที่เขาฝากให้แจกจ่ายแก่ทหารอังกฤษที่กำลังคุมตัวไปนั้นก่อนจะทำความเข้าใจว่า เธอทำเช่นนี้เป็นการฉลาดและเอาตัวรอดได้ดี ราชกุมารตั้งใจว่า อยากจะเจอเธออีกสักครั้ง

เหตุการณ์ที่เมืองรัตนคีรีนั้น เรื่องราวของกษัตริย์ธีบอและราชินีศุภาลัตจะถูกกล่าวถึงเพียงคร่าว ๆ แต่ภาพของพระเจ้าธีบอที่ส่องกล้องดูความเวิ้งว้างของทะเลจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันกลับกลายเป็นภาพจำของทุกคน แม้แต่ชาวเลที่ออกเรือก็จะต้องมองมายังที่พระองค์ประทับอยู่ จะเห็นแสงจากกล้องส่องวิบวับราวกับสัญลักษณ์ประจำตัว แต่โดยรวมคือความเป็นอยู่อัตคัด แร้นแค้นและยากลำบาก อยู่ท่ามกลางโรคร้ายที่คร่าชีวิตจนต้องขอย้ายที่อยู่และขอคนรับใช้เพิ่ม บ้านพักที่มีนางกำนัลอย่างดอลลี่ มีคนรับใช้ที่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาบ่อยเนื่องจากแต่ละคนไม่คุ้นชินกับการทำชิโคหรือหมอบกราบ ถวายงานเบื้องพระพักตร์ราชินี

แม้พระองค์จะถูกยึดอำนาจไปแล้วก็ตาม แต่ทรงเคร่งครัด ทระนง ยึดมั่นในพระราชประเพณีอย่างยิ่งยวด ไม่ทรงเปิดพระทัยในการเรียนรู้ภาษาของเหล่าอาณานิคม ยกเว้นเจ้าหญิงสี่ผู้ทรงสนพระทัยใฝ่รู้ในการศึกษาและหาทางกลับประเทศ กระนั้นความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างดอลลี่กับสาวันต์ คนขับรถม้าก็เกิดขึ้น ก่อนถูกพระองค์จับได้และห้ามการคบหากันอีก ขณะนั้นก็เป็นช่วงที่ท่านผู้ว่าเบนี ประสาท เฑและภรรยาคืออุมา เฑ สตรีคนแรกของอินเดียที่ห่มส่าหรีแบบพิเศษจนเป็นที่จับตาพระราชินีศุภยาลัต จากการเข้าเฝ้าครั้งนั้น ดอลลี่และอุมาจึงได้สนิทสนมกัน อุมาเป็นคนเปิดประเด็นให้ดอลลี่หาทางออกเรือนและหาทางกลับพม่าก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้กลับไปอีกเลย ขณะนั้นเจ้าหญิงองค์ใหญ่ทรงพระครรภ์กับสาวันต์ พลขับรถม้า เป็นเรื่องที่ทำใจยากทุกฝ่าย

ตัดมาที่ราชกุมารซึ่งทำงานกับสะหย่าจอห์น เขามีความคิดไกล กล้าได้กล้าเสีย ทะเยอทะยานที่จะทำบริษัทลากไม้ซุง ทำทุกวิธีเพื่อเข้าวงการธุรกิจกับพ่อค้าต่างชาติ จนวันที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าราชินีผ่านทางท่านผู้ว่าฯ เขาจังงังที่ได้เจอกับนางกำนัลที่เขาฝันถึงมาเนิ่นนาน

ดอลลี่เป็นผู้หญิงฉลาด มีความคิดอ่านที่เด็ดเดี่ยวหนักแน่น ไม่เหมือนใคร เธอไม่คิดจะกลับไปพม่าอีก เธอจากพม่ามายี่สิบปีแล้ว การกลับไปครั้งนี้ก็เท่ากับกลายเป็นคนต่างถิ่น เป็นแค่ผู้ผ่านทาง เป็นแค่คนนอกที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา หรือไม่ชีวิตเธอก็ติดอยู่ในกำแพงสูงเกินที่จะก้าวออกไป เป็นความรู้สึกที่ยากจะตัดสินใจ แต่ก็ทนการรบเร้าของอุมาที่ยกเหตุผลต่าง ๆ นานาจากที่เคยได้ยินมาถึงความโหดร้ายของราชินี เธอเป็นห่วงดอลลี่อย่างแท้จริง กระตุ้นให้ดอลลี่คิดหวังหรือใฝ่ฝันถึงอนาคตบ้าง ทำไมจะต้องถูกจองจำอย่างนี้ไปชั่วชีวิต อุมาคิดแผนการเพื่อให้ดอลลี่ได้แต่งงาน รวมถึงชีวิตของเจ้าหญิงทุกพระองค์ด้วยทั้งที่รู้ว่าพระราชินีไม่ทรงยอมเพราะติดยึดกับจารีตประเพณีต่าง ๆ ในการสืบเชื้อสายกษัตริย์ซึ่งเป็นสายเลือดแท้โดยที่พระองค์อาจลืมไปแล้วว่าเคยสั่งสังหารคู่แข่งในราชบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอจนแทบสิ้น

แต่ดอลลี่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น และก็เหมือนชะตาฟ้าลิขิตให้ราชกุมารได้มาเจอเธอในครั้งนี้

ดอลลี่ก็เลือกที่จะไปราชกุมารในที่สุด หลังจากที่อุมาแนะให้ดอลลี่เลือกทางชีวิตของเธอเอง

เนื่องด้วยเหตุการณ์ของเจ้าหญิงใหญ่รักกับสาวันต์ สามัญชนนั้น ทำให้ผู้ว่าฯและอุมาต้องย้ายออกจากรัตนคีรี ในฐานะละเลย ไม่ดูแลและทรงทำให้กษัตริย์พม่าทรงเสื่อมพระเกียรติ เขาตกเป็นแพะรับบาปไปในที่สุด แต่อะไรคงไม่สำคัญเท่ากับที่เขาไม่เคยได้รับความรักจากภรรยาของตัวเองเลย

อุมากลับบ้านที่ลังกาสกะบ้านของพ่อแม่ที่กัลกัตตาในฐานะหม้าย ถูกจำกัดสิทธิมากมาย ทั้งต้องโกนหัว ห่มขาวและห้ามกินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต

ดอลลี่กับอุมาเจอกันอีกที่ร่างกุ้ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาดอลลี่ไม่เคยอยู่กับภาพลวงตา เธอเคยเป็นนักโทษที่รู้ตื้นลึกหนาบางหลังกรงขัง เธอหาความพึงพอใจในพื้นที่จำกัดนั้นได้ วันนี้เธอจึงปรับตัวได้ไม่ยากนัก

มีจุดเปลี่ยนมากมาย ตั้งแต่การลอบสังหารในซาราเจโว จุดชนวนสงครามโลก ยางพารากลายเป็นวัตถุดิบมีค่ามหาศาลในเวลาต่อมา ข่าวจากรัตนคีรีเรื่องการสวรรคตของพระเจ้าธีบอที่ว่ากันว่าทรงพระทัยสลายหลังจากที่ทราบว่าเจ้าหญิงสองหนีตามผู้ชายไป ราชินีโกรธและไม่ให้เจ้าหญิงเข้าเฝ้าอีกตลอดชีวิต ดอลลี่ก็เช่นเดียวกัน

เรื่องน่าเศร้ากว่านั้นคือ การที่พระศพของกษัตริย์องค์สุดท้าย เจ้าหน้าที่สร้างอนุสรณ์ทับหลุมฝังพระศพชั่วข้ามคืนเพื่อไม่ให้มีโอกาสเคลื่อนย้ายพระสรีรังคารกลับ เกรงว่าจะจุดชนวนในการประท้วงในพม่า

กลายเป็นว่า เจ้าหญิงสองพระองค์ที่เกิดในพม่า เลือกอยู่อินเดีย
ส่วนเจ้าหญิงที่เกิดในอินเดีย เลือกอยู่พม่า
(รายละเอียดเหล่านี้หาอ่านในหนังสือที่สำนักพิมพ์มติชนนำเสนอในราชันผู้พลัดแผ่นดินและพระราชินีศุภยาลัต มีรายละเอียดค่อนข้างครบในมุมของกษัตริย์พม่าในฐานะเชลย)

ส่วนอุมา ตัดสินใจไปยุโรป

สะหย่าจอห์น มาร์ตินส์ผู้ช่วยเหลือราชกุมารมาตลอด ราชกุมารนับถือเขาเหมือนพ่อ เขามีลูกชายคนหนึ่งชื่อ แมทธิว แต่ที่ลูกชายเขาไม่ยอมกลับบ้านเพราะมีคู่หมั้นคู่หมายคือ เอลซ่า ชาวอเมริกันและเธอเป็นโปรแตสแตนท์

ราชกุมารมีลูกชายสองคน คนแรกชื่อ เส่งวินหรือนีลาธรีหรือเรียกสั้น ๆ ว่านีล ตั้งชื่อกันได้ทันก่อนสะหย่าจอห์นย้ายไปมลายู หลังจากนี้อีกสี่ปี เขาก็มีลูกชายคนที่สองชื่อ โทนเผ่ หรือดินู

นีลเหมือนพ่อ ดินูเหมือนแม่

ที่ต้องเขียนถึงชื่อบุคคลเหล่านี้เพราะเป็นคนสำคัญจนปิดเล่มของหนังสือเล่มนี้ ทำให้นึกถึงหนังสือเรื่อง ทาสหรือ Roots แม้จะต่างกันที่ฉากหลังทางประวัติศาสตร์ แต่มีความเป็นไปต่าง ๆ นานาจากรุ่นสู่รุ่น มีความเกี่ยวพันตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นลูกจนถึงรุ่นหลาน เป็นการตามหากันเพราะต่างสูญหายช่วงสงคราม ความผันผวนปรวนแปร การมุ่งล้างทำลายกัน ความตกต่ำของสงครามถึงขีดสุด ความล่มสลายในทุกกิจการ ชะตากรรมของทุกคนในครอบครัวผ่านการยึดครองมัณฑะเลย์ของอังกฤษ การรุกรานมลายูของกองทัพญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อความมั่นคงของครอบครัวนี้

ฉันตื่นตากับตัวละครเนรมิตที่กำลังดำเนินเรื่องทุกตัว ผู้เขียนจำลองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ลึกลงไปในความรู้สึกนึกคิด เชื่อมโยงเราเข้าไปโลดแล่นกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ รับรู้ความยากจนข้นแค้นของผู้ถูกรุกราน รู้สึกถึงความรู้สึกลึก ๆ ของทหารรับใช้อย่างกิซัน ซิงก์จนวาระสุดท้าย เห็นความตลบตะแลงปลิ้นปล้อนในแวดวงทหาร (เห็นใจอรชุน คู่แฝดของมันจู ฉันรักในความเป็นอรชุนมาก )การเมืองและผู้ใช้อำนาจและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เกิดความเข้าใจผิด คิดชั่ว ใส่ร้ายกันไปต่าง ๆ นานา ไม่รู้ไหนจริงไหนเท็จ อยู่อย่างหวาดระแวงและศรัทธาบางอย่างสุดจิตสุดใจแม้ในสายตาของอีกฝ่ายคือความเขลา

ทุกเหตุการณ์ดำเนินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน ปรับอารมณ์และหัวใจแทบไม่ทัน ลงลึกลงในรายละเอียดของลูก ๆ หลาน ๆ ของทางฝ่ายราชกุมารและดอลลี่อย่าง นีลและดินู ไปจนถึงทางฝ่ายลูกหลานของอุมา เฑ และสะหย่าจอห์น พลิกผันตลอดเวลาจนเหมือนจะหายใจไม่ทั่วท้อง ไม่มีอะไรมารับประกันความมั่นคงในชีวิตและกิจการที่พวกเขาทำกันอยู่ มีการตักตวงกักตุนสินค้าระหว่างสงครามอย่างน่ารังเกียจ ไม่มีประกันอะไรทั้งสิ้นในภาวะสงคราม

อุมาใช้ชีวิตที่อเมริกาเกือบยี่สิบปี เธอกลับมาอินเดีย และเจอราชกุมาร ดอลลี่ นีลและดินูที่บ้านของลูกชายสะหย่าจอห์นที่มลายู

แมทธิวและเอลซ่า ทำกิจการในชื่อมอร์นิ่งไซด์ อนุสรณ์สถานแห่งไม้สักที่ดีที่สุดของพม่า

การรู้หนังสือจะเป็นหนทางสำคัญในการเอาตัวรอด เราจะเห็นประเทศสยามของเราโผล่เข้ามาในช่วงเวลาสำคัญนี้ สยามมองเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเชื้อพระราชวงศ์ แต่อินเดียกลับมองตรงกันข้าม งบประมาณผลาญไปกับการทหาร และเป็นช่วงที่มหาตมะ คานธีมีบทบาท ใช้ไม้นวมรับมือกับจักรวรรดิ

เรื่องนี้ผู้เขียนผูกเรื่องได้งดงาม อัศจรรย์ คำว่าอัศจรรย์ในที่นี่คือความละเอียด เขาลงรายละเอียดในวิถีชีวิตที่นำพาให้คนเหล่านี้มาพบกันไม่ว่าจะเป็น ราชกุมารกับดอลลี่ / แมทธิวกับเอลซ่า /มะละกากับนิวยอร์ก / พม่ากับอินเดีย ฯลฯ

และยังมีเรื่องที่คาดไม่ถึงอีกมากกับการนอกใจของราชกุมาร จนอุมาทนแทบไม่ได้ เธอเป็นเดือดเป็นแค้นแทนดอลลี่ โดยที่เธอก็เข้าไม่ถึงจิตใจลึก ๆ ของดอลลี่อย่างแท้จริงว่า สิ่งที่ดอลลี่ต้องการมากที่สุดในชีวิตคืออะไร

แต่เธอเองก็ลืมถามเรื่องราวของคู่ชีวิตของตัวเธอเองเหมือนกัน ระหว่างเธอกับท่านผู้ว่าฯที่แสนดี จริงใจและรักเธอ แต่เธอไม่เคยสนใจไยดีในสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อเธอ

เราจะเห็นภาวะเงินทอง การเมือง เจ้าหนี้เงินกู้อินเดียยึดที่นาทำกินหมด คนอินเดียเป็นเจ้าของร้านค้า คนอินเดียใช้ชีวิตเหนือคนพม่า( เอ่อม ผู้เขียนเป็นคนอินเดียนะเนี่ย) อย่างเจ้าอาณานิคม

ดอลลี่เองก็หวั่นกลัวเพราะการที่เธอแต่งงานกับราชกุมารซึ่งเป็นคนอินเดียนั้น อาจจะถูกปองร้ายและถูกหมายหัวว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ

เราจะเห็นภาวะอ่อนไหวท่ามกลางสงคราม แต่ความงามในการเรียงร้อยของผู้เขียนนั้นกินใจมาก ภาษาสละสลวย งดงาม มีชีวิตชีวา บางครั้งเหมือนร้อยแก้วในบทกวีซึ่งฉันไม่ทราบว่าต้นฉบับของผู้เขียนนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็วางใจในผู้แปลที่จำเป็นต้องเก็บ 'เสียง'จากต้นฉบับให้ดีที่สุด ใกล้เคียงที่สุดซึ่งหมายถึง ภาษาต้นฉบับที่เป็นบทกวีด้วยเช่นกัน

กว่าจะถึงชยา ซึ่งเป็นหลานของราชกุมารที่เกิดจากนีลและมันจู เธอกำลังตามหาประวัติศาสตร์ของครอบครัวเธอ

ช่วงสุดท้ายทำให้นึกถึงคุนต้า คินเต้ในเรื่อง 'ทาส' ที่รุ่นเหลนของเขาล่องแม่น้ำตามหาบรรพบุรุษ ชยาก็อยากตามหาคุณอาของเธอและคนในครอบครัวของปู่ที่พลัดพรากกันในช่วงสงคราม

กว่าจะสืบค้นข้อมูลจนถึง The Glass Palace หรือ หอแก้วนั้น เล่นเอาคนอ่านขนลุกและน้ำตาซึมไปหลายครั้ง ภาพทุกภาพในหอแก้วเชื่อมโยงเรื่องราวและรายละเอียดที่เราสามารถเก็บเกี่ยวเอาเองมาตลอดเรื่อง ราวกับว่า คนนอกไม่มีทางจะเข้าถึงหากไม่ได้ร่วมรับรู้เรื่องราวมาแต่ต้น เหมือนกับเราที่ยืนชมภาพในพิพิธภัณฑ์แต่ไม่เคยทราบประวัติความเป็นมาที่แท้จริงนอกจากเหมารวมว่าตนเองรู้หรือจากการค้นคว้าของคนนั้นคนนี้

ที่หอแก้วนี้ การถ่ายภาพจึงเป็นภาษาลับสำหรับคนที่รู้เท่านั้น


ฉันก็ยับเยินไปกับตัวละครเหมือนกัน รักตัวละคร เหมือนนั่งมองอดีตคนอื่น บ้านเมืองอื่น มองเขา เห็นเรา ...

แต่ก็อมยิ้มไปกับฉากสุดท้ายของราชกุมารและอุมาที่เคยเป็นคู่ปรับและหมางใจกันมาช่วงหนึ่ง เวลาละลายความร้าวรานให้บางลง

ฉันเล่าได้แต่โครงเรื่องใหญ่ ๆ แต่ไม่สามารถบรรยายความซาบซึ้ง ตรึงใจ กินใจหรือความประทับใจที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ได้ นอกจากดีใจที่ได้อ่านและอยากอ่านงานอื่น ๆ ของเขาอีก
::
ขอบคุณค่ะ
ภูพเยีย
10 พฤษภาคม 2561













Create Date : 15 พฤษภาคม 2561
Last Update : 15 พฤษภาคม 2561 14:11:55 น.
Counter : 1594 Pageviews.

3 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณfor a long time, คุณhaiku, คุณlovereason

  
ดูจากหน้าปกตอนแรกนึกว่าเป็นนิยายรัก ไม่คิดว่าจะเป็นนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ เคยอ่านราชันย์ผู้พลัดแผ่นดินแล้วชอบมากค่ะ จะได้ไปตามอ่านเรื่องนี้ต่อ ขอบคุณค่ะ
โดย: ฟ้าเวียงพิงค์ วันที่: 17 พฤษภาคม 2561 เวลา:10:49:59 น.
  
น่าสนใจจังค่ะ เดี๋ยวจะลองหามาอ่านบ้างละ
โดย: Serverlus วันที่: 20 พฤษภาคม 2561 เวลา:23:10:42 น.
  
มาตามอ่านเต็มๆ ค่ะ คุณภู
หมายตาเล่มนี้ไว้แล้วค่ะ
เอาไว้จะหามาอ่านบ้างค่ะ
โดย: lovereason วันที่: 22 พฤษภาคม 2561 เวลา:21:19:18 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ภูเพยีย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



  •  Bloggang.com