bloggang.com mainmenu search



:: ก๋าราณีตอบคำถามพี่ตาล ::




“สติ” กับ “สมาธิ” ทำเอาสับสนเช่นกัน

แล้วถ้าอย่างเช่น พี่ล้างจานไปเรื่อย ๆ แต่ใจไม่จดจ่อที่งาน(ล้างจาน)
แต่คิดเรื่องอะไรบ้างอยู่ จู่ๆ ก็คิดออก
กรณีนี้ คือ ล้างจาน ใช้ความเคยชินเพราะทำจนชำนาญ
แต่ “สติ” ไปจดจ่อเรื่องที่สนใจ จนตั้งมั่นเป็น “สมาธิ” และคิดออก
แบบนี้หรือเปล่าคะ

สรุปถ้าพี่ทำงานฝีมือ ปักครอสติช
พอสติเผลอ ปักด้ายผิดสี นี่คือไม่มีสติใช่ไหมคะ
พอทำไปแล้วจิตสงบเบิกบาน นี่คือสมาธิ

แต่การทำงานฝีมือจะไม่เกิดปัญญา
เพราะเราทำตามแพทเทิร์น
แต่หากมีไอเดียของตัวเอง นั่นคือ ปัญญา

แต่เป็นปัญญาทางโลก

ถ้าพี่จะให้เกิดปัญญาทางธรรม
ใช้งานฝีมือเป็นตัวกำหนดให้เกิดสมาธิได้หรือเปล่าค่ะ

( ประมาณว่าเป็นคนไม่ชอบนั่งสมาธิ
ไม่ชอบเดินจงกรม ไม่ชอบสวดมนต์ค่ะ)



คำถามโดย : ตาลเหลือง

















สมาธิ สติ ปัญญา

ทั้งสามคำนี้ตอนแรกผมสับสนมากว่ามันคืออะไร ต่างกันตรงไหน

หนึ่งในคำอธิบายที่ผมว่าเข้าใจง่ายก็คือ
ให้เราหลับตาแล้วลองนึกจินตนาการไปถึงสายน้ำแห่งหนึ่ง
ที่น้ำไหลเชี่ยวมากจนน้ำในสายน้ำแห่งนั้นขุ่นข้น

จิตใจเราเหมือนสายน้ำนี้ที่ถูกพัดพาไปยังที่ต่างๆ
ไปเก็บรับเอาสิ่งต่างๆทั้งดิน ทราย โคลน ขยะเข้ามาไว้ในตัว
จากน้ำใสๆ กลายเป็นน้ำสีขุ่น

การทำสมาธิโดยคิดว่าต้องหยุดทุกอย่าง
จึงเหมือนการเอาแผ่นหินไปกั้นสายน้ำเอาไว้
วิธีนั้นสำหรับผมมีแต่ยิ่งทำให้สายน้ำเอ่อท้นและยังขุ่นข้นเหมือนเดิม

วิธีทำให้น้ำใสของผมคือการใช้ภาชนะอะไรก็ได้
ตักนำนั้นขึ้นมาพักไว้
ให้มันนิ่ง นิ่งจนโคลน ทราย หิน ใบไม้ใบหญ้า
หรือแม้แต่ขยะทั้งหลายได้ตกตะกอนนอนก้น หรือลอยขึ้นมาเหนือน้ำ

“สมาธิ” เกิดขึ้นตรงจุดนี้
คือการพักวางสิ่งต่างๆที่ลากดึงเราไปทางนั้นทีทางนี้ที
ให้หยุดและนิ่งในชั่วขณะ










โดยธรรมชาติแล้ว “จิต” หรือ “ความคิด” ของคนเรานั้น
ทำงานเร็วมาก
เห็นปุ๊บ จำปั๊บ สมองทำงานทันที
ได้ยินเสียงก็รู้สึก สัมผัสร้อนหนาวก็รู้สึก
ได้กลิ่น ได้ชิม ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่
ขอเพียงมีสิ่งต่างๆกระตุ้น สมองของเราพร้อมทำงานทันที
การทำงานของสมองคือการคิด
คิดเสร็จคิดต่อว่าชอบ-ไม่ชอบ ใช่-ไม่ใช่
เกลียด-รัก อยากได้-ไม่อยากได้ ฯลฯ

แล้วสิ่งที่คิดจะถูกบันทึกลงไปในสมอง
เกิดเป็นความจำ เมื่อจำได้และเกิดความรู้สึก
หากถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเดิมๆ
ความคิดหรือจิตจะสนองตอบสิ่งนั้นไปตาม “ความเคยชิน”

เจ้า “ความเคยชิน” นี้เองที่ก่อให้เกิด “นิสัย”
“สันดาน” จนไปถึง “ตัวตน”










ระดับของ “สมาธิ” ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรใน “ความเคยชิน”
“ความเคยชิน” เหมือนสายน้ำหลากไหลและพัดพาทุกสิ่งอยู่ตลอดเวลา

น้ำขุ่นอย่างไรก็ยังขุ่นอยู่อย่างนั้น

แต่ “สติ” จะทำให้น้ำในภาชนะนั้นนิ่ง
นิ่งอย่างต่อเนื่องจนเกิดความสงบ
เมื่อสงบน้ำจะเริ่มหายขุ่น
ในภาชนะนั้นเราจะมองเห็นโคลน ดิน ทรายที่นอนก้น
จะมองเห็นขยะที่ลอยอยู่ด้านบนของผิวน้ำ

“สติ” จะทำให้เรามีเวลาพิจารณาว่าอะไรคือขยะ อะไรคือสิ่งสกปรก
ที่ควรนำออกไปจากน้ำนั้น
และจะนำมันออกไปได้อย่างไร


“สติ” คือ “สมาธิที่ต่อเนื่อง”
ทั้งสองสิ่งเป็นสิ่งเดียวกัน









เมื่อสมาธิเกิด สติมี
“ปัญญา” จะตามมา

“ปัญญา” นั้นมีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน
มีมาแต่ดั้งเดิมเหมือนสัญชาตญาณในการใช้ชีวิตของมนุษย์
เพียงแต่เราหลงลืมไปเพราะไม่ค่อยได้ใช้
หรือสมองไปบันทึกวิธีการผิดๆเข้ามาแทนที่

เมื่อสมองถูกโปรแกรมใหม่หรือใส่ความเชื่อใหม่เข้ามาแทน
“ปัญญา” ที่เคยมีก็ถูกบดบัง ถูกกดทับจนไม่อาจใช้งานได้

“ปัญญา” นี้ไม่จำเป็นต้องแสวงหา
ไม่จำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มเติมเพราะมันเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว

ไม่เหมือน “ความฉลาด” หรือ “ความรู้”
ที่เราเพิ่มเติมได้
ไม่รู้...อ่านจนรู้
ทำไม่เป็น...ทำซ้ำๆจนเป็น
ถามมาก ตอบมาก เขียนมากก็ทำให้ฉลาดขึ้น
แต่นั่นยังไม่ใช่ “ปัญญา”

“ปัญญา” เป็นเหมือนพระอาทิตย์ประจำตัวที่ทุกคนมีอยู่แล้ว
แต่ทุกคนก็มี “เมฆหมอก” ที่ตนเองสร้างขึ้นด้วยเช่นกัน
ความหลงผิด ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง
ทัศนคติในเชิงลบต่อทุกสิ่ง ความโกรธ เกลียด โลภ หลง ฯลฯ
กลายเป็นเมฆดำที่บดบังแสงสว่างในตัวเราไปเรื่อยๆ

ใครมีสิ่งนี้มาก “ปัญญา” จะถูกบดบังจนทึบแสง
ใครบดบังน้อย ย่อมใช้ปัญญาได้เต็มที่

ตัวอย่างของการใช้ “ปัญญา” ที่เด่นชัด
คือการคิดค้นทฤษฏีใหม่ๆของนักวิทยาศาสตร์
ส่วนใหญ่คนเหล่านั้นไม่ได้คิดได้จากการคิดด้วยหลักวิชาการ
แต่เป็นความคิดแบบ “ปิ๊งแว๊บ” ที่เกิดขึ้นมาในขณะที่ไม่ได้คิด

เหมือนนักร้องชื่อดังที่คิดงานเพลงห้าเดือนแต่เขียนเพลงไม่ได้เลย
พอเขาหยุดและทำใจให้ว่างจากการคิด
ขณะนั้นเกิดความคิดปิ๊งแว๊บขึ้นมา
แล้วเขาก็ใช้เวลาเขียนเพลง 15 เพลงรวดเดียวจนเสร็จ

ฯลฯ


ทั้ง “ความฉลาด” และ “ปัญญา” เป็นสิ่งเกื้อหนุนกัน
เหมือน “สติ” และ “สมาธิ” ที่ไม่จำเป็นต้องไปแยกว่าอะไรสำคัญกว่า
หรือสิ่งใดจะเกิดขึ้นก่อนกัน










ถ้า “สมาธิ” ทำให้น้ำในภาชนะนิ่ง
“สติ” ก็ทำให้น้ำนั้นหายขุ่น แยกขยะกับน้ำออกจากกัน
“ปัญญา” คือ กระบวนการในการนำขยะและโคลนทั้งหมดออกจากน้ำ




สมาธิ-สติ-ปัญญา

เป็นสิ่งเดียวกัน
เพียงแต่ทำหน้าที่คนละอย่าง

เหมือนเรากินข้าว
มองข้าวในจาน
ตักกับข้าว
ยกช้อนใส่ปาก
เคี้ยว
กลืน


เหมือนเราทำงานฝีมือ

มองด้าย
จำวิธีสร้างงาน
เริ่มถักทอ
เกิดลวดลาย ต่อดอก
ถักต่อไปจนเสร็จ
ได้ผลงาน




สมาธิ-สติ-ปัญญา

ผมว่ามันสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้หมด
ขณะที่เราทำสิ่งหนึ่งๆนั้นอย่างตั้งใจ อย่างทุ่มเท
และไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าการทำสิ่งนั้นอย่างดีที่สุด
ตามหน้าที่ที่ทำอยู่ในขณะนั้น










ตอนที่ อาร์คีมีดีส ค้นพบวิธีทดสอบมงกุฎทองคำของกษัตริย์
ว่าจริงหรือปลอม
เขากำลังอาบน้ำอยู่
เขาไม่ได้จดจ่อกับการอาบน้ำ
แต่ในช่วงที่สมองละวางจากการคิด
กลับได้รับคำตอบที่เกิดขึ้นจาก “ปัญญา” ว่า
ถ้าเขาสามารถหาปริมาตรของมงกุฎได้
ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ามงกุฎนั้นมีโลหะอื่นเจือปนหรือไม่
การค้นพบนี้ทำให้เขาร้องตะโกนด้วยภาษากรีกว่า “ยูเรกา-eureka”
ซึ่งมีความหมายว่า “ฉันพบแล้ว” นั่นเอง


ขณะที่พี่กำลังทำงานฝีมือ
แล้วเกิดบังเอิญได้ค้นพบคำตอบอะไรบางอย่าง
นั่นก็เป็น “ยูเรก้า” ของพี่นะครับ

เหมือนพระบางรูปที่ขบคิดปริศนาธรรมเป็นเวลานาน
แต่ขบปัญหาอย่างไรก็ขบไม่แตก
วันหนึ่งขณะกวาดลานวัดด้วยจิตว่างๆ
กวาดพื้นดินแต่ทำก้อนหินกระเด็นไปโดนกอไผ่
เกิดเสียงดัง “แต๊ก”
แล้ววินาทีนั้นท่านก็ไขปัญหาธรรมนั้นจนหมดสิ้น
นี่ก็เป็น “ยูเรก้า” ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่ทางเซนเรียกว่า “ซาโตริ” หรือ “การบรรลุธรรม”











“บรรลุธรรม” สำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินขีดความสามารถของมนุษย์ทุกคน
“บรรลุธรรม” “ยูเรก้า” หรือ “ซาโตริ” สำหรับผม
คือการที่คนๆหนึ่งได้ค้นพบ “ความจริงที่จริงแท้”
ความจริงตามธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกแต่งเติมเสริมเพิ่มเติมโดยมนุษย์
เป็นความเชื่อ ความศรัทธาที่ใสสะอาด
ไม่ถูกเจือปนไปด้วยอคติใดไม่ว่าทางการเมือง การปกครองหรือศาสนา


“ความจริงที่จริงแท้” นี้มีอยู่ในทุกศาสนาโดยไม่แบ่งแยก

ถ้าใคร “ค้นพบ” ได้
เขาก็รู้ธรรมตามความเป็นจริง

โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเหมือนกัน
ไม่ต้องนับถือศาสนาเดียวกัน
ไม่ต้องเชื่อและศรัทธาเหมือนกัน
ไม่ต้องใช้วิธีการหรือรูปแบบเดียวกัน

คนเรามีความแตกต่าง
การอยู่รวมกับความแตกต่างอย่างเข้าใจ
จะทำให้เราได้ค้นพบว่า
มีวิธีการมากมายในการเข้าถึงธรรมะหรือความเป็นจริงแห่งชีวิต

เมื่อไหร่ที่ค้นพบ
ก็ได้พบ
เมื่อพบแล้ว
ปัญหาที่เคยสงสัย...จะคลี่คลายหายสงสัย

เมื่อหายสงสัย
และได้รู้คำตอบอย่างแท้จริง

ความสุขสงบจะเกิดขึ้นที่จิต
เมื่อจิตสงบ มันจะไม่มีทุกข์หรือสุข
จะไม่ใช่สงบหรือฟุ้งซ่าน

จะมีแต่หน้าที่
มีการรับรู้ถึงความจริงที่เป็นอยู่
เกิดการยอมรับ เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น
สามารถอยู่ร่วมกับทุกสิ่งอย่างเข้าใจ
ไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่เห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจตนเอง


ที่สุดแล้ว...
จากน้ำขุ่นกลายเป็นน้ำใส
จากน้ำใสกลายเป็นไม่มีน้ำ
ไม่มีแก้วน้ำ ไม่มีถังน้ำ
ไม่มีภาชนะใดๆรองรับน้ำ
ไม่มีแม้แต่สายน้ำ


ถึงตรงนี้แล้ว
แม้แต่ความใส และความขุ่นก็ไม่มี.





Create Date :11 พฤศจิกายน 2557 Last Update :11 พฤศจิกายน 2557 5:52:00 น. Counter : 1438 Pageviews. Comments :32