bloggang.com mainmenu search









:: ก๋าราณีตอบคำถามพี่แหม่ม ::







"กฎเกณฑ์กับความยืดหยุ่น อย่างไหนจะดีกว่ากัน"





คำถามโดย : mamminnie
วันที่ : 3 กันยายน 2552
เวลา : 13:40:41 น.























สวัสดีครับพี่แหม่ม





ผมไม่ค่อยได้อ่านข่าว
ไม่ชอบดูโทรทัศน์
แต่อาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆ
ที่กลายเป็นข่าวใหญ่
เพราะเด็กชายหม่อง ทองดี
เด็กชายชาวไทยใหญ่
ซึ่งตอนนี้ทั้งครอบครัวได้พำนักอยู่ในประเทศไทย
เขาชนะเลิศการแช่งขันพับเครื่องบินกระดาษ
และน่าจะได้ไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น

ปัญหาติดอยู่ตรงที่เด็กชายหม่องไม่สามารถทำวีซ่า
เพื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นได้....

ตาม “กฏเกณฑ์” ที่ทางราชการไทย
ได้กำหนดไว้....เด็กชายหม่องย่อมไม่มีสิทธิ์ในการถือวีซ่าไทย

แต่จากคำสัมภาษณ์ของเจ้าที่ทางการไทยที่เกี่ยวข้อง
ต่างพากันออกมาปฏิเสธที่จะดำเนินเรื่องวีซ่าให้กับเด็กชายหม่อง
โดยยก “กฏเกณฑ์” มาอ้างอิงว่า

“ถ้าเด็กชายหม่องทำได้ คนต่างด้าวอีกนับหมื่นนับแสนคน
ก็ต้องมีเหตุผลในการขอสัญชาติไทยได้ด้วยเช่นกัน”




เรื่องควรจะจบลงตรงนี้….
แต่ครูใหญ่พยายามดันเรื่องไปยังกระทรวงที่รับผิดชอบ
พยายามที่จะติดต่อประสานงานกับ “ผู้มีอำนาจสั่งการ”
แต่มันช่างยากเหลือเกินในการเข้าถึงตัวผู้มีอำนาจเหล่านั้น...


ทุกกระทรวงต่างปัดความรับผิดชอบ
และอ้าง “กฎหมาย” มารองรับคำปฏิเสธของตน

















แล้วเรื่องราวของเด็กชายหม่องก็ถูกส่งผ่านมือไปยัง “สื่อมวลชน”
ที่พร้อมใจกันโหมประโคมข่าว.....


ตอนที่ผมนั่งดูข่าวนี้แบบไม่สนใจนักในห้อง
ผมบอกมาดามว่า


“อีกไม่เกินสามวัน เด็กชายหม่องได้ไปญี่ปุ่นแน่นอน”


เปล่าเลย --- ไม่ถึงสามวันครับ


แค่วันรุ่งขึ้น……

ก็ปรากฏภาพนายกสุดหล่อนั่งเคียงข้างเด็กชายหม่อง....
ภาพข่าวปรากฏในสื่อทุกสื่อฯ
ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์
พร้อมข่าวดีของเด็กชายผู้น่าจะเกิดในเมืองไทย
แต่มิอาจได้สัญชาติไทย
เพราะพ่อแม่เป็นเพียงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานยังเมืองไทย


















“กฏเกณฑ์” ถูก “ยืดหยุ่น” ได้ด้วยอำนาจทางการเมือง
ผมไม่ได้สนใจความ “ถูก-ผิด” “ควร-ไม่ควร”
ในการปฏิบัติการของรัฐบาลไทย....



มันเป็นสิ่งดีที่เด็กผู้มีความสามารถ
ควรได้รับการสนับสนุนในการแสดงออกในฐานะ “บุคคลผู้มีความสามารถ”

พ้นไปจากความเป็นพม่า เป็นไทย เป็นจีน เป็นฝรั่ง
ผมคิดว่ามนุษย์เราต่างมีเลือดสีแดง มีหัวใจ ความรู้สึกไม่ต่างกัน


การมาตั้งแง่ว่าเพราะเขาเป็นพม่า
เราจึงไม่ควรช่วย
ฟังแล้วเหมือนความเป็นมนุษย์ถูกกดให้ต่ำลงเพราะความเกลียดชังด้านเชื้อชาติ
เหมือนเราพยายามดูถูกชาติอื่น
เพื่อให้ชาติตัวเองดูมีเกียรติภูมิสูงส่ง
ทั้งๆที่ไม่ว่าประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศด้อยพัฒนา
มนุษย์เราก็ต่างอยู่ในวัฎจักรของการเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่ต่างกัน



"กฎเกณฑ์กับความยืดหยุ่น อย่างไหนจะดีกว่ากัน"


ถึงที่สุดแล้ว
ผมคิดว่าปัญหาบางเรื่อง
เราต้องแยกแยะให้ได้ว่าเราจะใช้ “หัวใจ” หรือ “สมอง” ในการแก้ไข
“กฏเกณฑ์” “ความถูกต้อง” “กฎหมาย”
หรือ “ความเห็นใจ” “ความสงสาร” “ความเกื้อกูล”


















กรณีเด็กชายหม่องคงไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น
และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ที่เราจะต้องตอบคำถามว่า
การปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมโลก
มีกฏเกณฑ์ใดที่ขีดคั่นความเป็นมนุษย์ของเรา
ให้แยกจากกันเพียงเพราะเชื้อชาติที่แตกต่างกัน
เพียงเพราะเรานับถือศาสนาหรือมีความเชื่อที่แตกต่างกัน

แล้วเราจะข้ามกำแพงความเกลียดชังนี้ไปได้อย่างไร
ในฐานะของมนุษย์ผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน.
















Create Date :16 กันยายน 2552 Last Update :16 กันยายน 2552 4:42:49 น. Counter : Pageviews. Comments :169