|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
ทับถวิล : ศศิพงศ์ ประไพ
เรื่อง : ทับถวิล ผู้เขียน : ศศิพงศ์ ประไพ สำนักพิมพ์ : รวมสาส์น ปีที่พิมพ์ : 2518 สองเล่มจบ
ครั้งแรกที่ได้เห็นชื่อนิยายเรื่องนี้ ทำให้นึกสงสัยว่า ทับถวิล หมายถึงอะไรกันแน่ ตราบจนกระทั่งได้เริ่มอ่านบทแรก ที่เริ่มต้นขึ้นว่า...
ออกจากย่านศูนย์การค้าใจกลางเมืองหลวง ขับรถไปตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือสักสิบกิโลเมตรเศษ ผู้ผ่านไปมาจะพบหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ยกป้ายมหึมาเหนือสิ่งก่อสร้างทั้งปวง ป้ายนั้นลอยเด่นอยู่กลางอากาศ เขียนด้วยอักษรสีทอง ตัวสูงขนาดตึกสองชั้น อ่านได้ความว่า ทับถวิล! ++++++++++++++++++ บุณฑริกา นิสิตจากวิทยาลัยวิชาการศึกษา เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ เพื่อพบกับ คุณวิม พ่อม่ายหนุ่มที่ภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว และเขาเป็นเจ้าของที่ดินแถบนี้ รวมถึง “ทับถวิล” หมู่บ้านจัดสรรราคาแพงลิ่ว อันโอ่อ่าโอฬาร มันเป็นเสมือนอาณาจักรที่นักธุรกิจอย่างเขาสร้างขึ้นมา และเธอก็ได้รับการติดต่อให้มาช่วยสอนพิเศษ ให้กับ “ลูกแก้ว” ลูกสาวของวิม ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับ ศศิโศภิน ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานทางฝ่ายภรรยาของเขา หญิงสาวผู้นั้น มีท่าทีดูถูกอย่างเห็นได้ชัด
ศศิโศภิน เป็นลูกสาวของคุณวิไล พี่สะใภ้ของเขานั่นเอง แม้ว่าภรรยาของเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่วิไล กลัว ลูกแก้วหลานสาวตัวเองจะลำบาก จึงส่ง ศศิโศภิน ให้มาอาศัยอยู่ร่วมบ้านทับถวิล แห่งนี้ด้วย แต่ไปๆมาๆ กลายเป็นว่าศศิโศภิน มาหลงเสน่ห์ วันนิวัติ น้องชายรูปหล่อของวิม ที่เพิ่งจบสถาปัตย์ มาจากอิตาลี และเป็นชายหนุ่มรักสนุก ที่มองว่าหล่อนก็ไม่ต่างกับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เคยเป็นเครื่องเล่นของเขา
วันนิวัติ มีโอกาสพบ บุณฑริกา กับ ทัดเอื้องเพื่อนสาวของหล่อนโดยบังเอิญ ระหว่างที่เขาพาศศิโศภินไปเที่ยวด้วยกัน และด้วยท่าทางโก้หรู มากเสน่ห์ ซึ่งอาจจะประทับใจสตรีเพศทั่วไป รวมถึงช่อเอื้อง ที่ค่อนข้างมีทัศนคติแบบวัตถุนิยมอยู่แล้ว แต่สำหรับ บุณฑริกา เธอกลับมองว่า ชายหนุ่มผู้นี้ใช้ชีวิตอย่างไม่มีแก่นสารสาระใดๆในชีวิต และยังเป็นคนรวย ที่ยิ่งทำให้ ช่องว่างในสังคมระหว่างคนจนคนรวย ขยายกว้างออกขึ้นไปอีก
หญิงสาวเป็นคนมีอุดมการณ์ และแนวคิดค่อนข้างหัวรุนแรงกับความไม่เป็นธรรมในสังคม แม้แต่ทัศนคติ เกี่ยวกับความเป็นครู ที่ตนเองก็กำลังเรียนอยู่เช่นกัน
“แต่คนบางกลุ่มเขาว่า ครูไม่ใช่ปูชนียบุคคลอีกต่อไป” “ก็แล้วแต่เขาจะคิด เพราะเขามีสิทธิ์และเขาก็ควรรู้ด้วยว่า เวลานี้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป จะมาหวังให้ครูเป็นผู้เสียสละตลอดกาลได้อย่างไร ครูก็ต้องกินต้องใช้ มีลูกมีหลานต้องเลี้ยง แน่ละซิ สมัยก่อนครูคือพระก็ต้องสอนฟรีได้ เพราะได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้าน ได้กินจากชาวบ้าน จะอยู่เฉยๆได้ยังไง ก็ต้องสอนลูกเขา แต่เวลานี้ครูอาจจะต่ำต้อย เพราะเหมือนคนในสังคมดูถูก ไม่ใช่ดูถูกเพราะอะไรดอกนะ เพราะเงินเดือนน้อย” แล้วผู้พูดก็หัวเราะเสียงปร่า “ช่วยไม่ได้ เพราะค่านิยมของคนในสังคมเวลานี้ คือเงิน ไม่ใช่เกียรติยศ” +++++++++++++++++++ บุณฑริกา มีเการพ เป็นเพื่อนชายคนสนิท เขามาจากพื้นฐานชีวิตยากจนเหมือนกัน และยังมีอุดมการณ์เช่นเดียวกันกับเธอ เการพเองก็หลงรักบุณฑริกามาก แต่สำหรับเธอแล้ว เการพเป็นเพียงเพื่อนชายที่ให้ความสนิทสนมมากที่สุดเพียงเท่านั้นเอง ทั้งคู่ชอบพูดคุยโต้เถียงและแลกเปลี่ยนทัศนคติกันถึงเรื่องราว เหตุการณ์การเมืองในเวลานั้น ในช่วงเวลาที่นิสิตนักศึกษา กำลังรณรงค์ต่อต้าน สินค้าญี่ปุ่น รวมถึง เรื่องราวคอรัปชั่น ในวงการต่างๆ ของประเทศ
“เธอว่าความยุติธรรมมีที่ไหนในโลกนี้” “ถ้าเรามีความเสมอภาค ก็มีความยุติธรรมค่ะ”
“ความเสมอภาคของเธอคืออย่างไร คือการที่มนุษย์ต้องกินเท่ากัน ทำงานเท่ากัน มีทรัพย์สมบัติเท่ากัน อย่างนั้นใช่ไหม ถ้าเธอเข้าใจอย่างนั้น เธอเข้าใจผิด เพราะมนุษย์เกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนมีความสามารถมาก บางคนมีความสามารถน้อย ประสิทธิภาพการทำงานก็ต่างกัน แต่จะให้คนมีประสิทธิภาพมาก ได้รับผลจากแรงงานเท่าคนมีประสิทธิภาพน้อย จะยุติธรรมหรือ?”
เการพเรียนจบออกไปทำงานเพื่อสังคม ตามอุดมการณ์ของเขา และยังคอยเรียกร้องความเป็นธรรม รวมถึง เข้าไปร่วมประท้วง ในกรณี ความไม่เป็นธรรมต่างๆในเวลานั้น ไม่ว่า เรื่องอ่างเก็บน้ำมาบประชัน การต่อต้าน ซี.ไอ.เอ หรือ เรื่องกรรมกร ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าครองชีพ
แต่เการพไม่เคยกลัวตาย ดูเหมือนเขาต้องการแสงสว่างมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง เการพต้องการเห็นประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคในสังคม โดยไม่ถูกเอาเปรียบเกินสมควร
เขาเป็นตัวตั้งตัวตี เรื่องการคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน โดยอ้างว่าราษฏรถูกรังแก และเมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำนี้แล้ว ผู้ได้รับผลประโยชน์คือนายทุนเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมไม่กี่แห่ง +++++++++++++++++++++++ ในขณะที่คนอย่างคุณวิไล ที่สุขสบายอยู่ในฐานะของนายทุน กลับมองเรื่องเช่นนี้ ในอีกมุมหนึ่ง
“เมืองไทย มันต้องปกครองโดยเผด็จการถึงจะเหมาะ คนไทยมันต้องถูกกดหัว ถึงจะอยู่สุขสบาย”
“ไม่จริงค่ะ ไม่มีมนุษย์ที่ไหนในโลกจะอยากถูกรังแก ถูกข่มเหง หรือถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ”
คุณวิไลเถียงว่า
“ก็ดูซิ พอให้เสรีภาพเข้าหน่อย ใช้กันไม่เป็น นักเรียนก็ไม่เรียน ไม่พอใจยกพวกกันไปเป็นคันรถ จะไปตีกัน ทะเลาะกัน เผาโรงเรียนราบเป็นหน้ากลอง แล้วเงินใครสร้างโรงเรียน ถ้าไม่ใช่เงินพ่อแม่ของตัว ฉันว่าถ้าประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยแบบนี้ ฉันลาออกจากความเป็นราษฏรไทยเสียดีกว่า กลุ้มใจ เอะอะ ไม่พอใจ ก็เดินขบวน...”
บุณฑริกาเองมีปมเกี่ยวกับพ่อและแม่เลี้ยงของเธอเอง เมื่อนางรัตนา แต่งงานกับบิดาเธอ ภายหลังสูญเสียภรรยาของเขาไป หญิงผู้นั้น ก็จัดการทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่การเข้ามาบงการชีวิต และการหาคู่ครองให้กับ เธอ โดยอ้างถึงความหวังดี!
และเมื่อเธอปฏิเสธ เพราะไม่ได้รักชอบกับเสี่ยวิทูรย์ ที่เป็นนายทุนคนนั้น ก็ทำให้แม่เลี้ยงยุยงกับบิดา เพื่อไม่ให้ส่งเสียให้เธอเรียนปริญญาตรีอีกต่อไป จนบุณฑริกา ต้องลาออกและจบเพียงอนุปริญญา หญิงสาวตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ระหว่างที่ทำงานเป็นครูสอนพิเศษ ให้กับวิม ที่ทับถวิล +++++++++++++++++++++++ ด้วยบุคลิกแข็งๆ ไม่ยอมใคร นั่นเอง ที่ประทับใจ พ่อม่ายหนุ่มอย่างเขา และไม่มีใครรู้ว่าวิมเอง ในเวลานี้ การก่อสร้างหมู่บ้านหรูย่านชานเมือง ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เขามีหนี้สินที่มาจากดอกเบี้ยและการกู้ยืมเป็นจำนวนมาก ซ้ำร้าย วันนิวัติ ก็ยังใช้ชีวิตอย่างเสเพล ฟุ่มเฟือย โดยไม่สนใจจะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของพี่ชายเลยสักนิดเดียว
และตอนนี้ เขากับวิธาน สหายรัก ก็กำลังสนใจ บุณฑริกา ที่มีท่าทีแข็งกระด้างเย็นชา จนทำให้อยากจะเอาชนะหล่อนให้ได้!
บุณฑริกา ขอร้องให้ ทัดเอื้อง มาช่วยเป็นครูสอนลูกแก้ว ระหว่างที่เธอไม่อยู่ และที่ทับถวิลนั่นเอง ทำให้ ทัดเอื้อง เกิดความชื่นชมในตัวของวิม ขึ้นมา หล่อนชื่นชอบบุคลิก ความเป็นนักธุรกิจของเขา รวมถึง ฐานะเงินทอง และทับถวิลที่สวยงามประทับใจ จนอยากจะเป็นเจ้าของ...
ระหว่างที่ วิม เดินทางไปธุระต่างประเทศนั้นเอง ที่ บุณฑริกา ได้ปะทะคารมกับ ศศิโศภิณ เมื่ออีกฝ่ายแสดงท่าทีดูถูกเหยียดหยาม แต่แล้ว ศศิโศภิณ ก็ไม่อาจจะสู้การโต้เถียงด้วยเหตุผลของเธอได้ และนำเรื่องนี้ไปฟ้อง วันนิวัติ พร้อมกับ ใส่ไฟ ให้เพื่อให้เขาไม่พอใจเธอ
วันนิวัติ เคยอยากจะเอาชนะ บุณฑริกาอยู่แล้ว ในโอกาสอันปลอดคนนี้เอง ที่เขาตัดสินใจ หลอกเธอให้มาหาที่ห้อง และใช้กำลังเพื่อข่มขืนให้เธอตกเป็นของเขา!
แต่คนอย่างบุณฑริกา ไม่ใช่ผู้หญิงที่อ่อนแอ ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายอย่างวันนิวัติ หล่อนสู้สุดชีวิต และ เการพ ก็มาเห็นเหตุการณ์นี้เข้าพอดี เขาตรงเข้าช่วยเธอไว้ได้ทัน ก่อนจะทำร้ายวันนิวัติจนบาดเจ็บ แม้ว่าตัวของเขาเองก็พลอยรับเคราะห์ไปด้วย เหตุการณ์นี้เอง ทำให้ บุณฑริกา เริ่มเข้าใจ และรู้สึกดีๆ ในตัวเพื่อนชายผู้นี้ขึ้นมาเหนือกว่าเดิม ++++++++++++++++++++++++++ วิม เดินทางกลับมา และรับรู้เรื่องราวบัดซบที่เกิดขึ้นจากน้องชายของเขาเอง เขาแสดงความรับผิดชอบ โดยขอแต่งงานกับเธอ และบอกว่า เขารักบุณฑริกา อยู่แล้วอยากจะให้เธอ ได้มาช่วยดูแลลูกแก้ว ร่วมกับเขา แต่หล่อนเป็นฝ่ายปฏิเสธอย่างไม่ไยดี
บุณฑริกา รู้ตัวเอง ดีว่า ผู้ชายที่หล่อนรู้หัวใจตัวเองได้ดีที่สุด กำลังรอคอยหล่อนอยู่แล้ว ในขณะที่ ทัดเอื้อง เอง ก็ไม่รีรอ ที่จะเข้ามาแทนที่บุณฑริกา ด้วยเป้าหมายแห่งทับถวิล ที่หล่อนปรารถนา!
ทับถวิล น่าจะเรียกว่าเป็นนวนิยายแนวการเมือง ที่เคลือบฉาบไว้ด้วยพลอตเรื่อง ของความรักต่างชนชั้น ด้วยอุดมการณ์ความคิดที่มุ่งมั่น ของตัวบุณฑริกานางเอกของเรื่อง โดยสะท้อนผ่าน ตัวละครผู้ชายสามคน ที่เข้ามาในชีวิตของเธอ
ไม่ว่าจะเป็นวิม ที่เป็นเสมือน พระเอกหนุ่มใหญ่ในฝัน เป็นตัวแทนของนายทุนผู้มีฐานะอยู่ในชนชั้นสูง วันนิวัติ ชายหนุ่มเพลย์บอย ที่คุ้นเคยกับความสะดวกสบาย และการใช้ชีวิตอย่างหรูหรา มาตั้งแต่เกิด หรือเการพ เพื่อนรักร่วมอุดมการณ์ของบุณฑริกาเอง ที่เป็นคนเข้าใจในตัวตนของเธอได้ดีที่สุด และท้ายที่สุดแล้ว ก็เป็นบุณฑริกานั่นเอง ที่รู้หัวใจของตัวเองดี ว่าบุรุษคนไหน คือคนที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตร่วมกันกับเธอ
Create Date : 31 ตุลาคม 2567 |
|
0 comments |
Last Update : 31 ตุลาคม 2567 8:17:14 น. |
Counter : 206 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
ฉันติดคุก ครั้งนี้ ชั่วชีวิต
เพราะทำผิด คิดรัก ตัวอักษร
ถูกคุมขัง ตั้งแต่เช้า จนเข้านอน
ขอวิงวอน โปรดอย่า มาประกัน
คุกหนังสือ คือโซ่ทอง ที่คล้องล่าม
คุกหนังสือ คือความงาม ในความฝัน
คุกหนังสือ คือดนตรี กล่อมชีวัน
คุกหนังสือ คือสวรรค์ ฉันรักเธอ
จาก คุกหนังสือ : แคน สังคีต | | |