กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
ตุลาคม 2567
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
space
space
31 ตุลาคม 2567
space
space
space

เรื่องสีลัพพตปรามาส จบ


- ต่อ  จบ

     สีลัพพตปรามาส  นี้ ก็เป็น ทิฏฐิ คือความเห็น หรือการยึดถือย่างหนึ่ง (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๒/๔๙๐; ฯลฯ) จึงมีปัญหาว่า เหตุใดต้องแยกต่างหากจากสังโยชน์ข้อที่ ๑ คือ สักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นทิฏฐิเหมือนกัน  อรรถกถาอธิบายว่า สักกายทิฏฐิ  ความเห็นยึดถือตัวตนนั้น เป็นทิฏฐิพื้นฐานอยู่กับตนเองตามปกติ  โดยไม่ต้องอาศัยตรรกะ และการอ้างอิงถือต่อจากผู้อื่น ส่วนสีลัพพตปรามาส  เป็นทิฏฐิชั้นนอก เกี่ยวกับปฏิปทา คือทางแห่งการปฏิบัติว่าถูกหรือผิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  คนละขั้นตอนกันทีเดียว  (ดู นิทฺ.อ.๑/๓๓๙)  จึงต้องแยกเป็นคนละข้อ และเพราะสีลัพพตปรามาสเป็นเรื่องของปฏิปทานี่แหละ  ท่านจึงอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นว่า สีลัพพตปรามาส  เป็นอัตตกิลมถานโยคอันเป็นอย่างหนึ่งในที่สุดสองด้าน ซึ่งชาวพุทธพึงหลีกเว้นเสีย เพื่อดำเนินในมรรคาที่ถูกต้อง คือมัชฌิมาปฏิปทา  (ดู อุ.อ.๔๔๖)

     ปรามาส ใช้มากอีกอย่างหนึ่งในรูปที่เป็นคุณนามว่า “ปรามฏฺฐ”  แปลว่า  “ซึ่งถูกจับต้องแล้ว หรือจับต้องบ่อยๆ”  หมายความว่า แปดเปื้อน หรือเสียความบริสุทธิ์ไปแล้ว ท่านอธิบายว่า ถูกตัณหาและทิฏฐิจับต้อง คือ เปรอะเปื้อน หรือไม่บริสุทธิ์ เพราะถูกตัณหาและทิฏฐิเข้ามาเกลือกกลั้วพัวพัน คือ รักษาศีลบำเพ็ญพรต เพราะอยากได้ผลตอบแทนเป็นลาภยศสรรเสริญสุขสวรรค์ หรือเพราะเข้าใจว่าจะได้เป็นนั่นเป็นนี่  ตามลัทธิหรือทฤษฎีที่ยึดถือเอาไว้  ศีลที่บริสุทธิ์จึงเรียกว่าเป็น “อปรามฏฺฐ”  ไม่ถูกตัณหา และทิฏฐิแตะต้องให้เปรอะเปื้อน  ประพฤติด้วยปัญญา ถูกต้องตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นไท คือไม่เป็นทาสของตัณหา และทิฏฐินั้น เป็นศีลระดับพระโสดาบัน  (เช่น สํ.ม. ๑๙/๑๔๑๒/๔๒๙; ฯลฯ แปลอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ถูกปรามาส คือใครๆ ท้วง ตำหนิ ดูหมิ่น หรือหาเรื่องไม่ได้)

     ลักษณะสุดท้ายของการถือศีลพรตที่พลาดหลัก ก็คือ การถือที่เป็นเหตุให้มาทะเลาะวิวาทเกี่ยงแย้งกันว่า ใครดี ใครเลว ท่านผิด ฉันถูก หรือเป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่นว่า เราทำได้เคร่งครัดถูกต้อง คนอื่นเลวกว่าเรา ทำไม่ได้อย่างเรา เป็นต้น  (ดู ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๒/๔๙๑;)

     เท่าที่กล่าวมา  พอจะสรุปลักษณะการถือศีลพรตที่เป็นสีลัพพตปรามาสได้ว่า เป็นการถือด้วยโมหะ หรือด้วยตัณหา และทิฏฐิ  ซึ่งแสดงออกในรูปของการถือโดยงมงาย  ไม่เข้าใจความมุ่งหมาย  สักว่าทำตามๆ กันไปอย่างเถรส่องบาตรบ้าง  ถือโดยหลงผิดว่าศีลพรตเท่านั้นก็พอให้ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หรือถืออย่างเป็นพิธีรีตองศักดิ์สิทธิ์  ว่าทำไปตามนั้นแล้ว  ก็จะบันดาลผลสำเร็จให้เกิดเองบ้าง  ถือโดยรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับลอยๆ เป็นเครื่องบีบคั้นขืนใจ  ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร  เพราะไม่เห็นโทษของสิ่งที่พึงงดเว้น  ไม่ซาบซึ้งในคุณของการละเว้นสิ่งที่ชั่วเลว และการที่จะทำตามข้อปฏิบัตินั้นๆ จำใจทำไป  ไม่เห็นประโยชน์ บ้าง  ถือเพราะอยากได้เหยื่อล่อ เช่น โชคลาภ กามสุข เป็นต้น บ้าง  ถือเพราะมีความเห็นผิดในจุดหมายว่า ศีลพรตจะทำให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ถือแล้วเกิดความหลงตัวเอง มีอาการยกตนข่มผู้อื่นบ้าง

     ลักษณะการรักษาศีลบำเพ็ญพรตที่ถูกต้อง  ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส ก็คืออาการที่พ้นจากความผิดพลาดที่กล่าวแล้วข้างต้น  ซึ่งแสดงออกด้วยการปฏิบัติที่เกิดจากความรู้ตระหนักว่า กระทำเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตนเอง เพื่อเป็นบาทของสมาธิ  เพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความดีงามของประชุมชน  ปฏิบัติด้วยมองเห็นโทษของการเบียดเบียน  ทราบซึ้งว่าความสงบเรียบร้อย ไม่เบียดเบียนกัน  เป็นต้น  เป็นสิ่งที่ดี  เห็นคุณเห็นโทษแล้ว  ละอายบาป  มีฉันทะที่จะเว้นชั่วทำความดี  โดยพร้อมใจตน  ตลอดจนถึงขั้นสุดท้ายคือ  ไม่กระทำชั่วและประพฤติดีอย่างเป็นไปเอง มีศีลและพรตเกิดขึ้นในตัวเป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องฝืน  เพราะไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่ว  เข้าลักษณะของฐานหนึ่งใน ๖ ที่พระอรหันต์น้อมใจไป คือ ข้อที่ว่า พระอรหันต์น้อมใจดิ่งไปในภาวะที่ไม่มีการเบียดเบียน  มิใช่เพราะถือสีลัพพตปรามาส  แต่เพราะหมดราคะ หมดโทสะ หมดโมหะ  (วินย. ๕/๓/๙;)

     เบื้องแรก ศีลเป็นความประพฤติปกติ เพราะฝึกปฏิบัติให้เคยชินเป็นนิสัย และเพราะแรงใจที่มุ่งมั่น ฝึกตนให้ก้าวหน้าในคุณความดี  ส่วนเบื้องปลาย ศีลเป็นความประพฤติปกติ เพราะหมดสิ้นเหตุปัจจัยภายในที่จะให้หาทางทำสิ่งที่ไม่ดี

     ผู้ปฏิบัติผิดก็อาจมีศีลพรต  แต่เป็นสีลัพพตปรามาส  ผู้ปฏิบัติถูกก็มีศีลพรต ดังที่ท่านเรียกว่า  “สีลวตูปปนฺน”  แปลว่า  ผู้เข้าถึงศีลพรต หรือประกอบด้วยศีลและพรต (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๖๓/๓๙๒; ) บ้าง “สีลพฺพตสมฺปนฺน” แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลพรต (องฺ.ติก. ๒๐/๔๙๙/๒๑๔) บ้าง

     จะว่าบริสุทธิ์ด้วยศีลพรต ก็ไม่ถูก บริสุทธิ์ได้โดยไม่ต้องมีศีลพรต ก็ไม่ถูก (ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๖/๔๙๘)  แต่อยู่ที่ศีลพรตที่ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส  พรตอาจไม่จำเป็น เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคฤหัสถ์  แต่ศีลที่เป็นอปรามัฏฐ์ คือบริสุทธิ์ ไม่คลาดหลักความจริง ไม่เปรอะด้วยตัณหาและทิฏฐิ  เป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับความบริสุทธิ์หลุดพ้นในทุกกรณี  (ดูในตอนว่าด้วยพระโสดาบันข้างหน้า, เช่น สํ.ม.๑๙/๑๔๑๒/๔๒๘-๑๖๒๘/๕๑๔)

     สรุปลงให้สั้นที่สุด หลักการของศีลพรต ก็มีเพียงว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้วอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี (ดู องฺ.ติก. ๒๐/๕๑๘/๒๘๙;)

     ตราบใดยังเป็นปุถุชน การถือมั่นถือพลาดในศีลพรต ก็ยังมีอยู่ ไม่มากก็น้อย ตามสัดส่วนของตัณหา ทิฏฐิ หรือโมหะที่เบาบางลง  อย่างน้อยก็ยังมีอาการฝืนใจ หรือข่มไว้ จึงยังไม่พ้นขั้นที่รักษาศีลด้วยความยึดมั่นในศีล และถือเกินเลยคลาดสภาวะไปบ้าง  ต่อเมื่อใด  เป็นพระโสดาบันกิเลสหยาบแรงหมดไป จึงได้ชื่อว่า  เป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล  (เช่น องฺ.ติก. ๒๐/๕๒๖/๒๙๘ เป็นต้น)  การรักษาศีลจึงจะเป็นไปเอง เพราะเป็นศีลอยู่ในตัว เป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องฝืนอีกต่อไป และถือพอดีๆ ตรงตามหลัก ตามความมุ่งหมาย ไม่หย่อน ไม่เขว ไม่เลยเถิดไป

 


Create Date : 31 ตุลาคม 2567
Last Update : 31 ตุลาคม 2567 7:52:43 น. 0 comments
Counter : 142 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

BlogGang Popular Award#20


 
สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space