|
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
- เรื่อง สีลัพพตปรามาส
สีลัพพตปรามาส เป็นสังโยชน์ที่มักเข้าใจกันพร่ามากที่สุดข้อหนึ่ง จึงเห็นควรนำหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม เพื่อเสริมความเข้าใจ
ในสุตตนิบาต มีพุทธพจน์มากแห่งตรัสถึงสมณพราหมณ์ และบุคคลบางพวก มีความเห็นผิด ถือว่าความบริสุทธ์จะมีได้ด้วยศีล และพรต เป็นต้น (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๑/๔๘๙; ฯลฯ) ส่วนอริยสาวก หรือท่านผู้หลุดพ้น หรือมุนีที่แท้ ไม่ยึดติดทิฏฐิทั้งหลาย ละได้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมด (เช่น ขุ.สุ. ๒๕/๔๒๐/๕๑๐)
คำว่าบริสุทธิ์ หรือ “สุทธิ” นี้ หมายถึงจุดหมายสูงสุดของลัทธิศาสนา ตรงกับความหลุดพ้น หรือวิมุตตินั่นเอง (เช่น ขุ.ม. ๒๙/๑๒๐/๑๐๕;) ความเห็นผิดนั้น อาจแสดงออกในรูปของการบำเพ็ญศีลพรตเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้า ดังปรากฏบ่อยๆ ในพระสูตรต่างๆ โดยข้อความว่า “มีปณิธาน (หรือมีทิฏฐิ) ว่า: ด้วยศีล หรือพรต หรือตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง” (ม.มู. ๑๒/๒๓๒/๒๐๙ ฯลฯ)
คัมภีร์มหานิทเทส และจูฬนิทเทส ได้อธิบายเรื่องการยึดถือความบริสุทธิ์ด้วยศีล และพรตเช่นนี้ไว้หลายแห่ง เช่น แห่งหนึ่งว่า “มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความบริสุทธิ์ด้วยศีล พวกเขาเชื่อถือสุทธิ วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ ความหลุดพ้น วิมุตติ บริมุตติ เพียงด้วยศีล เพียงด้วยการบังคับควบคุมตน (สัญญมะ) เพียงด้วยความสำรวมระวัง (สังวร) เพียงด้วยการไม่ล่วงละเมิด ... ฯลฯ ...; มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความบริสุทธิ์ด้วยพรต พวกเขาถือหัตถิพรต (ประพฤติอย่างช้าง) บ้าง ถืออัสสพรต (ประพฤติอย่างม้า) บ้าง ถือโคพรต (ประพฤติอย่างวัว) บ้าง ฯลฯ ถือพรหมพรตบ้าง ถือเทวพรตบ้าง ถือทิศพรต (ไหว้ทิศ) บ้าง ... (ขุ.ม. ๒๙/๑๒๐/๑๐๕ ฯลฯ)
คำอธิบายเช่นนี้ลงตัวเป็นแบบในคำจำกัดความคำว่า “สีลัพพตปรามาส” ของคัมภีร์อภิธรรมว่า “ทิฏฐิ ... การยึดถือ ... ของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ภายนอก (จากธรรมวินัย) นี้ ทำนองนี้ว่า: ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยพรต ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรต นี้เรียกว่าสีลัพพตปรามาส” (อภิ.สํ. ๓๔/๖๗๓/๒๖๓ ฯลฯ) คำว่า “ของสมณพราหมณ์ภายนอก” นั้น บางทีทำให้บางท่านเข้าใจผิดว่า การประพฤติศีลพรตของพวกนักบวชนอกศาสนาเท่านั้น เป็นสีลัพพตปรามาส ความจริง คำที่ว่านี้ ควรถือเป็นคำเน้นเพื่อชี้ตัวอย่างรูปแบบ หรือแนวปฏิบัติเท่านั้น อาจเลี่ยงแปลเป็นว่า “การยึดถืออย่างพวกสมณพราหมณ์ภายนอก” ก็จะชัดขึ้น หรือไม่ต้องเติมคำนั้นเข้ามาเลยก็ได้ (เหมือนอย่างพุทธพจน์ทั้งหลายในสุตตนิบาต และคำอธิบายใน ขุ.ม. ๒๙/๓๓๖/๒๒๗ หรือในอรรถกถา เช่น สงฺคณี อ.๕๐๑ เป็นต้น ก็ไม่มีคำว่า “ของสมณพราหมณ์ภายนอก” เพราะเมื่อถือผิดอย่างนี้ ถึงอยู่ในพุทธศาสนา ก็เป็นการถืออย่างคนนอกพระศาสนา)
สรุปความหมายตอนนี้ว่า สีลัพพตปรามาส หมายถึง การประพฤติศีลพรตด้วยโมหะคือความหลงงมงายว่า จะบริสุทธิ์หลุดพ้น บรรลุจุดหมายของศาสนา เพียงด้วยการบำเพ็ญศีลพรตนั้น และในความหลงผิดนี้ ลักษณะหนึ่งที่แสดงออกมา คือ การกระทำด้วยตัณหาและทิฏฐิ เช่น ประพฤติอย่างนั้นเพราะอยากไปเกิดเป็นเทวดา และมีความเห็นผิดแฝงอยู่ด้วยพร้อมกันว่าการบำเพ็ญศีลพรตนั้นจะทำให้ไปเกิดเป็นเทวดาได้
ว่าโดยความหมายตามรูปศัพท์ สีลัพพตปรามาส ประกอบด้วย สีล (ศีล) + วต (พรต) + ปรามาส (การถือเลยเถิด) คำว่าศีลและพรต มีอธิบายในมหานิทเทสดังยกมาอ้างข้างต้นแล้ว (ขุ.ม. ๒๙/๑๒๐/๑๐๕) และยังมีอธิบายน่าสนใจเพิ่มอีกใจความว่า ข้อที่เป็นทั้งศีลและพรต ก็มี เป็นแต่พรต ไม่เป็นศีล ก็มี เช่น วินัยของพระภิกษุ มีทั้งศีลและพรต กล่าวคือ ส่วนที่เป็นการบังคับควบคุมตน หรือการงดเว้น (สังยมะ หรือ สัญญมะ) ความสำรวมระวัง (สังวร) การไม่ล่วงละเมิด เป็นศีล ส่วนการสมาทาน หรือ ข้อที่ถือปฏิบัติ เป็นพรต ข้อที่เป็นแต่พรต ไม่เป็นศีล ได้แก่ ธุดงค์ทั้งหลาย เช่น ถืออยู่ป่า ถือบิณฑบาตเป็นประจำ ถือทรงผ้าบังสุกุล เป็นต้น (ดู ขุ.ม. ๒๙/๘๑/๗๗)
ในการบำเพ็ญศีลพรต โดยหวังจะไปเกิดเป็นเทพ ถ้าเป็นนักบวชนอกศาสนา เช่น พวกถือกุกกุรพรต อรรถกถาก็อธิบายว่า ศีลก็หมายถึงประพฤติอย่างสุนัข พรตก็หมายถึงข้อปฏิบัติอย่างสุนัข (ดู ม.อ.๓/๙๖) ถ้าเป็นชาวพุทธ ศีลก็ได้แก่ เบญจศีล เป็นต้น พรตก็ได้แก่การถือธุดงค์ (นิทฺ.อ.๒/๑๓๒) บางทีอรรถกถาก็พูดจำเพาะภิกษุว่า ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ พรตหมายถึงธุดงค์ (ธ.อ.๗/๕๓;)
“ปรามาส” มักแปลกันว่า ลูบคลำ แต่ความจริง ความหมายในบาลีทั่วไป ได้แก่ หยิบฉวย จับต้อง จับไว้แน่น (เช่น พระจับยึดตัวอุบาสกไว้ – วินย. ๒/๗๐/๕๖; ฯลฯ ทีฆาวุกุมารจับเศียรพระเจ้ากาสีเพื่อจะปลงพระชนม์ – วินย. ๕/๒๔๔/๓๓๒; พระพุทธเจ้าไม่ทรงยึดมั่นความรู้ – ที.ปา. ๑๑/๑๓/๒๙; ไม่ควรหยิบฉวยเอาของที่เขามิได้ให้ – องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๙/๒๓๘; การจับฉวยท่อนไม้และศัสตราเพื่อทำร้ายกัน – ขุ.ม. ๒๙/๓๘๔/๒๕๘; ที่แปลกันว่าลูบคลำ คงจะมาจากชาดก ว่าด้วยกำเนิดของสุวรรณสาม กุสราช และมัณฑัพยกุมาร (ชา.อ.๗/๖; ๘/๑๓๕; ๙/๑๒๔) ว่าฤาษีปรามาสนาภีของภรรยา เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นการเอานิ้วแตะ จี้หรือจดลงที่สะดือมากกว่า (ดู สงฺคณี อ.๓๖๙ ฯลฯ) หรือเทียบเคียงจาก วินย. ๑/๓๗๘/๒๕๔ ซึ่งอธิบาย “ปรามสนา” โดยไขความว่า อิโต จิโต จ สญฺโจปนา แปลได้ว่า ลูบ หรือ สีไปมา
อย่างไรก็ตาม ความหมายของ “ปรามาส” ในด้านหลักธรรม มีคำอธิบายเฉพาะชัดเจนอยู่แล้วว่า “สภาวํ อติกฺกมิตฺวา ปรโต อามสตีติ ปรามาโส” แปลว่า จับฉวยเอาเกินเลยสภาวะเป็นอย่างอื่นไป จึงแปลว่า ถือเลยเถิด คือเกินเลย หรือคลาดจากความเป็นจริง กลายเป็นอย่างอื่นไปเสีย (นิทฺ.อ.๑/๓๓๙;) เช่น ตามสภาวะที่จริงไม่เที่ยง จับฉวยหรือยึดถือพลาดไปเป็นว่าเที่ยง ศีลพรตมีไว้ฝึกหัดขัดเกลา เป็นบาทฐานของภาวนา กลับถือเลยเถิดไปเป็นอย่างอื่น คือ เห็นไปว่าบำเพ็ญแต่ศีลพรต ก็จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
(ยาว มีต่อ)
Create Date : 30 ตุลาคม 2567 |
|
0 comments |
Last Update : 30 ตุลาคม 2567 10:37:21 น. |
Counter : 58 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|