กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
มีนาคม 2567
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
3 มีนาคม 2567
space
space
space

ญาณ ๑๖



235 ญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ,  คลุมวิสุทธิ ๗ วิปัสสนาญาณ ๙) ดังนี้


  - เบื้องแรก   พึงเข้าใจความหมายของศัพท์สำคัญก่อน

     ปริญญา   แปลว่า  การกำหนดรู้ หรือทำความรู้จัก  หมายถึง  การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยครบถ้วน หรือรอบด้าน  แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ

        ๑) ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือ รู้ตามสภาวะลักษณะ ได้แก่ รู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นตามสภาวะ ของมัน เช่นรู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ นี้คือสัญญา สัญญาคือสิ่งที่มีลักษณะกำหนดได้ หมายรู้ ดังนี้ เป็นต้น (= รู้ว่าคืออะไร)

        ๒) ตีรณปริญญา  กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ รู้ด้วยปัญญาที่หยั่งลึกซึ้งไปถึงสามัญลักษณะ ได้แก่ รู้ถึงการที่สิ่งนั้น ๆ เป็นตามกฎธรรมดา โดยพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่า เวทนาและสัญญานั้น ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น (= รู้ว่าเป็นอย่างไร)

        ๓) ปหานปริญญา  กำหนดรู้ถึงขั้นละได้ คือ รู้ถึงขั้นที่ทำให้ถอนความยึดติด เป็นอิสระจากสิ่งนั้นๆได้ ไม่เกิดความผูกพันหลงใหล ทำให้วางใจ วางท่าที และปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง เช่น เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นๆ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ละนิจจสัญญา เป็นต้น ในสิ่งนั้นๆ ได้ (= รู้ว่าจะทำอย่างไร)

     วิปัสสนาญาณ   แปลว่า ญาณ หรือปัญญาในวิปัสสนา หรือ ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือ ญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา ได้แก่ ความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ได้



235 ต่อไปนี้ คือ สรุปสาระสำคัญของวิสุทธิมัคค์ทั้งหมด

ก. ระดับศีล   (อธิสิลสิกขา)

       ๑. สีลวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งศีล คือ ประพฤติดี เลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีศีลตามภูมิชั้นของตน คัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวมุ่งเฉพาะการปฏิบัติของพระภิกษุ หมายเอา ปาริสุทธิศีล ๔

ข. ระดับสมาธิ   (อธิจิตตสิกขา)

       ๒. จิตตวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิต หรือพัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพของจิต จนเกิดสมาธิ พอเป็นบาท หรือเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา คัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ ในฌานสมาบัติทั้ง ๘ และแสดงวิธีเจริญสมาธิ จนถึงได้ผลพิเศษ คือ โลกิยอภิญญาทั้ง ๕

ค. ระดับปัญญา   (อธิปัญญาสิกขา)

1) ขั้นญาตปริญญา คือ รู้จักสภาวะ

  - ขั้นทุกขววัฏฐาน คือ กำหนดทุกขสัจจ์

       3. ทิฏฐิวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง ทำให้ระงับความเข้าใจผิดว่า เป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด บางทีกำหนดเรียกเป็นญาณอย่างหนึ่ง มีชื่อว่า

        ๐) นามรูปปริจเฉทญาณ (1) หรือ เรียกว่า สังขารปริจเฉท บ้าง นามรูปววัฏฐาน บ้าง หมายถึง ความรู้จักรูปธรรมนามธรรมว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ พอนับได้ว่าเป็นของจริง ก็มีแต่รูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น และกำหนดได้ว่า ในการรับรู้และเคลื่อนไหวต่างๆ ของตนนั้น อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น เมื่อเห็นรูป จักขุประสาท แสง และรูปหรือสี เป็นรูปธรรม จักขุวิญญาณ หรือ การเห็น เป็นนามธรรม ดังนี้ เป็นต้น


  - ขั้นสมุทัยววัฏฐาน คือ กำหนดสมุทัยสัจ

       4. กังขาวิตรณวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งญาณ เป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย หรือ ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูป ตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ตาม ตามแนวกฎแห่งกรรมก็ตาม ตามแนวกระบวนการรับรู้ก็ตาม ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ตาม หรือ ตามแนวอื่นก็ตามว่า นามธรรม และรูปธรรมล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยกัน อันเป็นความรู้ที่ทำให้สิ้นความสงสัยเกี่ยวกับกาลทั้ง 3 คือ อดีต อนาคต และปัจจุบัน ความรู้นี้ เป็นญาณขั้นหนึ่ง บางทีเรียกว่า

        ๐) นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ (2) แปลว่า ญาณที่กำหนดปัจจัยของนามรูป ญาณขั้นนี้ เรียกได้หลายชื่อว่า ธัมมัฏฐิติญาณ บ้าง ยถาภูตญาณ บ้าง สัมมาทัสสนะ บ้าง

     ผู้ประกอบด้วยญาณขั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า “จูฬโสดาบัน” คือพระโสดาบันน้อย เป็นผู้มีคติ คือ ทางไปก้าวหน้า ที่แน่นอนในพระพุทธศาสนา.

2) ขั้นตีรณปริญญา คือ รู้สามัญลักษณะ หรือ หยั่งถึงไตรลักษณ์

  - ขั้นมัคคววัฏฐาน คือ กำหนดมรรคสัจ  (เฉพาะข้อ 5)

       5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ความหมดจดแห่งญาณ ที่รู้เห็นว่าเป็นทาง หรือ มิใช่ทาง คือ ยกเอารูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ทีละอย่างๆ เช่น พิจารณารูป โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดยอนัตตลักษณะ แล้วพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณตามลำดับ และโดยลักษณะแต่ละลักษณะไปทีละอย่าง แล้วพิจารณาข้อธรรมอื่นๆ เช่น ในหมวดอายตนะ 12 ปฏิจจสมุปบาท 12 และอะไรก็ได้ทุกๆอย่าง ฯลฯ (รวมความก็อยู่ในขันธ์ 5 นั่นเอง) จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เรียกว่า เกิดเป็น ตรุณวิปัสสนา คือ วิปัสสนาญาณอ่อนๆ

     ในช่วงนี้ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส 10 ประการ ขึ้นมา ชวนให้หลงผิดว่าบรรลุมรรคผลแล้ว หรือหลงยึดเอาวิปัสสนูปกิเลสนั้นว่าเป็นทางที่ถูก  ถ้าหลงไปตามนั้น  ก็เป็นอันพลาดจากทาง  เป็นอันปฏิบัติผิดไป  แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก้ไขได้ ก็จะกำหนดแยกได้ว่า วิปัสสนูปกิเลส 10 นั้น ไม่ใช่ทาง แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทาง พ้นจากอุปกิเลสแล้วว่า นั่นแหละเป็นทาง หรือมรรคาแท้จริง ซึ่งจะพึงเดินต่อไป เมื่อความรู้นี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ.


     ในวิสุทธิข้อนี้ มีเนื้อหาซับซ้อนที่พึงทำความเข้าใจ คือ

     การเจริญวิปัสสนาในขั้นที่จะให้เกิดวิสุทธิข้อนี้ เรียกว่า นยวิปัสสนา (การเจริญวิปัสสนาโดยนัย คือ พิจารณาโดยจับแง่ความหมาย ตามแนววิธีที่ท่านแสดงไว้ในพระบาลี เช่น ว่า รูปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม ภายในหรือภายนอกก็ตาม ฯลฯ ล้วนไม่เที่ยงดังนี้ เป็นต้น) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลาปสัมมสนะ (การพิจารณาเป็นหมวดๆ หรือรวบเป็นกลุ่มๆ อย่างที่อธิบายแล้วข้างบน) และความรู้ที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ บางทีจัดกันเป็นญาณขั้นหนึ่ง เรียกว่า

        ๐) สัมมสนญาณ (3)  แปลว่า  ญาณที่พิจารณา หรือตรวจตรา (นามรูปตามแนวไตรลักษณ์)

     เมื่อพิจารณาด้วยสัมมสนญาณไป จนญาณแก่กล้าขึ้น  เริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมสลายไปของสิ่งทั้งหลาย  มองเห็นความแปรปรวนของปัจจุบันธรรมว่า ธรรมเหล่านี้ ไม่มีแล้วก็มีขึ้น  มีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป  มองเห็นการเกิดและดับสลายทั้งโดยปัจจัย และเป็นขณะๆ ไป ก็เริ่มเกิดญาณใหม่เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนา แต่ยังเป็นญาณใหม่ๆอยู่และญาณนี้  ตอนนี้เอง  ที่เรียกว่า ตรุณวิปัสสนา หรือ ตรุณวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณอ่อนๆ)

     ผู้ได้ตรุณวิปัสสนานี้ เรียกว่า อารัทธวิปัสสก (ผู้เริ่มเห็นแจ้ง หรือผู้ได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว) และในตอนนี้เอง วิปัสสนูปกิเลส เช่น โอภาส คือ แสงสว่างแสนงาม  เป็นต้น  จะเกิดขึ้น ชวนให้หลงผิดและติดใจ ถ้ากำหนดรู้เท่าทัน ก็ผ่านพ้นไปได้  กำหนดแยกว่าอะไรเป็นทาง อะไรไม่ใช่ทางได้แล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นวิสุทธิข้อนี้.


3) ขั้นปหานปริญญา คือ รู้ถึงขั้นละความหลงผิด ถอนตัวเป็นอิสระได้

       6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน โดยสาระแท้ๆ หมายถึงวิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด  ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ 8 กับวิปัสสนาญาณข้อที่ 9 คือ สัจจานุโลมิกญาณ   แต่พูดอย่างกว้างๆ วิสุทธิข้อนี้  ได้แก่  วิปัสสนาญาณ 9 นั่นเอง คือ นับตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ ที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว  เป็นต้นไป จนสุดทางแห่งความเป็นปุถุชน หรือสุดวิปัสสนา วิปัสสนาญาณ 9 มี ดังนี้

            1. อุทยัพพยานุปัสสนา หรือเรียกสั้นๆว่า อุทยัพพยญาณ (4) ญาณอันตามเห็นความเกิดดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นปัจจุบันธรรมที่กำลังเกิดขึ้น และดับสลายไปๆ ชัดเจน เข้าใจภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาตามความอยากของใคร หยั่งทราบว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้น ครั้นแล้ว ก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด เมื่อเกิดการรับรู้ หรือเคลื่อนไหวใดๆ ในแต่ละขณะ ก็มองเห็นนามธรรม รูปธรรม และตัวรู้ หรือ ผู้รู้ที่เกิดขึ้นแล้วทั้งรูปธรรม นามธรรม และตัวรู้นั้นก็ดับไปพร้อมกันทั้งหมด เป็นความรู้เห็นชัดแก่กล้า (พลววิปัสสนา) ทำให้ละนิจจสัญญา สุขสัญญา และอัตตสัญญาได้

            2. ภังคานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นๆ ว่า ภังคญาณ (5) ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้น ชัดเจนถี่เข้าๆก็จะคำนึงเห็นเด่นชัด ในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้น มองเห็นแต่อาการที่สิ่งทั้งหลาย ดับไปๆ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนจะต้องดับสลายไปทั้งหมด

            3. ภยตูปัฏฐานญาณ เรียกสั้นว่า ภยญาณ (6) ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นแต่ความแตกสลาย อันมีแก่สิ่งทั้งปวงหมดทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น

            4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า อาทีนวญาณ (7) ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวง ล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

            5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า นิพพิทาญาณ (8) ญาณอันคำนึงเห็นความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ

            6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ชื่อเดียวกัน 9) ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

            7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หรือ ปฏิสังขาญาณ (10) ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลาย ขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป

            8. สังขารุเปกขาญาณ  (ชื่อเดียวกัน 11)  ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป  ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า มันก็เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา หรือ เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง  จึงวางใจเป็นกลางทำเฉยได้  ไม่ยินดียินร้าย  ไม่ขัดใจติดใจในสังขารทั้งหลาย  แต่นั้น  ก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท  ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน  เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย ญาณข้อนี้  จัดเป็นสิขาปปัตตวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด และเป็นวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่เชื่อมถึงมรรค  อันเป็นที่ออกจากสิ่งที่ยึด หรือออกจากสังขาร

            9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (12) ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ

     ต่อจากอนุโลมญาณ ก็จะเกิด โคตรภูญาณ (13)  (ญาณครอบโคตร คือ ญาณที่เป็นหัวต่อ ระหว่างภาวะปุถุชน กับ ภาวะอริยบุคคล) มาคั่นกลาง แล้วจึงเกิดมรรคญาณ ให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป

     โคตรภูญาณนี้  ท่านว่าอยู่ระหว่างกลาง  ไม่จัดเข้าในวิสุทธิ  ไม่ว่าข้อ 6 หรือ ข้อ 7 แต่ให้นับเข้าเป็นวิปัสสนาได้  เพราะอยู่ในกระแสของวิปัสสนา

       7. ญาณทัสสนวิสุทธิ   ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ คือ ความรู้อริยมรรค 4 หรือ มรรคญาณ (14) นั่นเอง  ซึ่งเกิดถัดจากโคตรภูญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดแล้ว  ผลญาณ (15) ก็เกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ  ตามลำดับของแต่ละขั้นของความเป็นอริยบุคคล  ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้  เป็นอันบรรลุที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือ ไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งหมด

     ถัดจากบรรลุมรรคผล ด้วยมรรคญาณ และ ผลญาณแล้ว ก็จะเกิดญาณอีก อย่างหนึ่งขึ้นพิจารณา มรรค ผล พิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน (เว้นพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่) เรียกว่า ปัจจเวกขณญาณ (16) * เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นหนึ่งๆ




* ญาณต่างๆที่มีเลขลำดับกำกับอยู่ใน ( ) ข้างหลังนั้น พึงทราบว่า ได้แก่ ญาณที่ในสมัยหลังๆ ได้มีการนับรวมเข้าเป็นชุด เรียกว่า ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ อันเป็นที่รู้จักกันดีในวงการบำเพ็ญวิปัสสนา โดยเฉพาะใช้ในการตรวจสอบที่เรียกว่า ลำดับญาณ และพึงทราบว่า ในญาณ 16 นี้ เฉพาะมรรคญาณ และผลญาณ สองอย่างเท่านั้น เป็นญาณขั้นโลกุตระ ส่วนอีก 14 อย่างที่เหลือ เป็นญาณขั้นโลกีย์ทั้งสิ้น

 


Create Date : 03 มีนาคม 2567
Last Update : 4 มีนาคม 2567 13:20:32 น. 0 comments
Counter : 105 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space