กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
พฤศจิกายน 2564
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
space
space
9 พฤศจิกายน 2564
space
space
space

หลักพุทธธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม



235 หลักพุทธธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม


     เท่านี้ก็เป็นอันว่าได้หลักการแล้ว   ที่พูดมาวันนี้เป็นการรวมหลักการคร่าวๆเท่านั้นเอง ไม่ได้เข้าเนื้อในลึกซึ้ง

     ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงตัวข้อธรรมในการปฏิบัติไว้บ้าง  ข้อธรรมในการปฏิบัตินี้จะเสนอไว้อย่างกว้างๆ ให้เห็นหลักในการปฏิบัติธรรมแบบคลุมทุกระดับ

     หนึ่ง หลักการปฏิบัติทั่วไปตลอดสายแบบคราวๆชุดหนึ่งที่จะนำมาใช้แนะนำทำกันให้มาก ก็คือหลัก มงคล ๓๘ ประการ

     หลักนี้ มีข้อปฏิบัติตั้งแต่ต้นไปตลอด บอกวิธีดำเนินชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นสูงสุด เริ่มตั้งแต่ อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ก็คือเริ่มด้วยการมีกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าทรงเอามาประยุกต์แล้ว เริ่มด้วยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นบุพนิมิตของการศึกษาข้อต้น  ปูชา จ ปูชนียานํ  บูชาคนที่ควรบูชา  นี่คือให้มีทัศนคติ และค่านิยมถูกต้องเกี่ยวกับบุคคล ให้ยกย่องบุคคล  ด้วยความดีความงาม ไ ม่ใช่ยกย่องในทางผิด  เป็นการส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้อง ทำให้มีทิฏฐิที่ถูกต้อง


    ข้อปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีไปตามลำดับจนถึง ๓๘ ประการ ตอนท้ายๆ ก็จะมี อริยสจฺจานทสฺสนํ การเห็นอริยสัจ  นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ   ารทำนิพพานให้แจ้ง  จนกระทั่งท้ายสุด จิตของผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว เป็นจิตไร้ความโศก ไม่มีธุลี ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตเกษม  ก็จบลงที่จิตปลอดโปร่งผ่องใสไม่มีความทุกข์ด้วยประการใดๆทั้งสิ้น

    มงคล ๓๘  ประการนี้  มีตั้งแต่ต้นจนสูงสุด  จึงว่าเป็นหลักปฏิบัติธรรมหมวดหนึ่งที่มีข้อปฏิบัติตลอดสายแบบคร่าวๆ

    ต่อไป สอง หลักปฏิบัติในระดับสมถะ คราวนี้ต้องการเน้นเฉพาะจุด เมื่อกี้นี้มงคล ๓๘ ประการ เป็นหลักที่ขยายส่วนล่างคือธรรมในส่วนต้นๆ มีการขยายพิสดารหน่อย แต่พอขึ้นมาถึงระดับสูงๆ แล้ว พูดแต่หัวข้อนิดๆ


    ทีนี้ พอเราต้องการเจาะในการปฏิบัติธรรมขั้นจิตตภาวนา หรือสมถะ ท่านก็ให้หลักไว้มากมาย เรียกว่า กัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ คือเทคนิค ๔๐ อย่าง เช่น อนุสสติ ๑๐ มีการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณพระธรรม ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ระลึกถึงจาคะ จนกระทั่งถึงกำหนดลมหายใจ (อานาปานสติ) แล้วยังมีการเพ่งกสิณ การบำเพ็ญอัปปมัญญาพรหมวิหาร การเจริญอสุภะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของระดับสมถะ มีกรรมฐาน ๔๐ ประการ เป็นการลงลึกไปในระดับจิตตภาวนา

    สาม หลักปฏิบัติระดับวิปัสสนา เนื้อหาสาระที่สำคัญ ท่านเรียกว่า ธรรมที่เป็นภูมิของวิปัสสนา คือวิปัสสนาภูมิ ตอนนี้ยากหน่อยแล้ว ฟังหัวข้อไว้เฉยๆ ยกมาพูดให้ครบไว้เท่านั้นเอง ไม่ต้องถือเป็นสำคัญนัก

    วิปัสสนาภูมินั้น ก็มีเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องอายตนะ ๑๒ ซึ่งสองเรื่องนี้พอทราบกันอยู่บ้าง ต่อไปเรื่องธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ สองเรื่องนี้ไม่คุ้นหู ต่อไปเรื่องอริยสัจ ๔ ก็คุ้นหน่อย แล้วก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดนี้เป็นภูมิของวิปัสสนา เมื่อเราเรียนธรรมในจำพวกนี้ ก็เป็นการเรียนเกี่ยวกับวิปัสสสนา

    หลักธรรมสำคัญมาก ที่จะเข้ามาสู่การพิจารณาศึกษา ในขั้นนี้ก็คือเรื่องไตรลักษณ์ เมื่อปฏิบัติธรรมตามแนววิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น  ก็จะเห็นไตรลักษณ์ เช่น พิจารณาขันธ์ห้าไป ก็จะเห็นไตรลักษณ์  ตลอดจนถึงข้อสุดท้าย  พิจารณาในหลักปฏิจจสมุปบาท  ก็จะเห็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน เพราะปฏิจจสมุปบาทนั้น  ก็คือ หลักแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย  ก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง  แม้แต่หลักธรรมอื่นๆที่กล่าวถึงมาแล้ว เช่น อายตนะ ๑๒ ก็เป็นแง่ด้านต่างๆ ของเรื่องเดียวกันนี้เอง  อยู่ในกระบวนการของความเป็นเหตุปัจจัยนี้ หรือไม่บางอย่างก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในกระบวนการ


    ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็ปรากฎเป็นการเปลี่ยนแปลง ทำให้มองเห็นการที่องค์ประกอบทั้งหลายมารวมกันเข้าประชุมกันเข้าเป็นองค์รวมอย่างใดอย่างหนึ่งที่สมมติ เรียกว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ละส่วนนั้นไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา  คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน เรียกว่า เป็นไตรลักษณ์


    ถ้าเข้าใจชัดเจน เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ ก็จะรู้เท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เกิดความสว่าง่ไสว สงบ ปลอดโปร่ง่ ผ่องใส เบาสบาย หายยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย มีจิตใจที่หลุดพ้นอิสระ เป็นสุขอย่างแท้จริง การเป็นอยู่ ต่อโลกและชีวิต และการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย จะเป็นไปด้วยปัญญา ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำ และแรงผลักดันของอวิชชา และตัณหาอุปาทานอีกต่อไป เรียกว่า บรรลุผลที่หมายของวิปัสสนา ซึ่งก็คือจุดหมายของการศึกษา หรือการปฏิบัติธรรมขั้นสุดท้ายนั่นเอง

    ในขั้นปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี้ มีตัวธรรมที่เป็นผู้ทำงาน ซึ่งอาจจะใช้ศัพท์ เรียกว่าเป็น คณะทำงานในการปฏิบัติธรรมก็ได้ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ชุดนี้เป็นตัวทำงาน

     เรื่องต่างๆ ที่พูดมาก่อนนี้ เป็นตัวถูกกระทำ เช่น กัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น จะเป็นลมหายใจ หรืออสุภะหรือกสิณ หรืออะไรก็ตาม เป็นตัวถูกกระทำ เป็นสิ่งที่เราเอามาใช้กำหนดพิจารณา หรือวิปัสสนาภูมิ เช่น ขันธ์ห้าก็เป็นตัวถูกกระทำ ถูกนำมาพิจารณาเช่นเดียวกัน

    เป็นอันว่า ตัวการปฏิบัติเอง ก็คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งถ้าพูดขึ้นมาแล้วหลายอย่างก็อาจจะคุ้นหูกันพอสมควร ในที่นี้ จะไม่พูดรายละเอียด เพราะจะยึดยาวไปกันใหญ่ แต่จะแนะนำให้รู้จักไว้เท่านั้น ผู้ที่ต้องการรายละเอียด ก็ขอให้ไปค้นคว้าต่อ

    โพธิปักขิยธรรม ๓๗ อย่าง

    โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมที่อยู่ในฝ่ายของโพธิ พูดง่ายๆ ว่า ธรรมที่เป็นพวกของโพธิ คือเกื้อหนุนการตรัสรู้ หรือช่วยสนับสนุนอริยมรรค มี ๓๗ อย่าง จัดเป็น ๗ หมวด คือ

    ๑. สติปัฏฐาน ๔ แปลว่า การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน  ไม่ใช่ตามความคิดปรุงแต่งของเราที่คิดให้มันเป็น หรืออยากให้มันเป็น


    หลักสติปัฏฐานนี้ก็คือ การเอา สติ มาเป็นตัวนำ เป็นตัวเด่น เป็นตัวทำงาน โดยกำกับจิตตั้งต้นแต่การรับรู้ให้อยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่จริง ในขณะนั้นๆ ที่เรียกว่า อยู่กับขณะปัจจุบัน ไม่เลื่อนไหลล่องลอยไปในอดีตและอนาคต ที่เป็นเรื่องของการคิดปรุงแต่ง และให้สตินั้นเป็นตัวสร้างโอกาสแก่ปัญญา โดยจับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ในขณะนั้นๆ ให้ปัญญารู้เข้าใจตรงไปตรงมา


    สติปัฏฐานทำงานกับทุกสิ่งทุกอย่าง  ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตของเราตลอดเวลานี้เอง ท่านจึงจัดแยกสติปัฏฐานออกตามประเภทของสิ่งที่ชีวิตของเราเกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น ๔ ข้อ คือ

        ๑) กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน   ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพทางร่างกาย

        ๒) เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน   ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันความรู้สึกสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น

        ๓) จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน   ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพจิตใจ

        ๔) ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน   ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันเรื่องราวทั้งหลาย ที่รู้ที่คิดที่เกิดขึ้นในใจ

   ๒. ปธาน ๔   ปธาน   แปลว่า ความเพียร การตั้งความเพียร หรือการประกอบความเพียร หลักนี้ไม่ค่อยคุ้น ท่านที่ต้องการจะเรียนและปฏิบัติให้ลึกซึ้ง สามารถเริ่มต้นจากหลักการที่กล่าวในที่นี้แล้วไปค้นคว้ารายละเอียดต่อไป หมวดที่ ๒ คือ ปธาน ๔ หมายถึงความเพียร ๔ ประการ ได้แก่

       ๑) สังวรปธาน   ความเพียรในการที่จะระวัง หรือปิดกั้นอกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น

       ๒) ปหานปธาน   ความเพียรในการละเลิกกำจัดอกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นหายไป

       ๓) ภาวนาปธาน   ความเพียรในการฝึกอบรมทำกุศลธรรม หรือธรรมที่ดี ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

       ๔) อนุรักขนาปธาน   ความเพียรในการรักษาส่งเสริมกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์


    ๓. อิทธิบาท ๔  คือ ธรรมให้ถึงความสำเร็จ หรือทางแห่งความสำเร็จ หลักนี้รู้จักกันหมดแล้ว ต้องเอามาใช้ในการปฏิบัติด้วย อย่าลืม

     อิทธิบาท ๔ เป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดสมาธิ กล่าวคือ

        ฉันทะ (ความพอใจ มีใจรัก) = ถ้าเราชอบหรือพอใจในสิ่งใดแล้ว เมื่อทำสิ่งนั้นก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย

        วิริยะ (ความพากเพียร พากเพียรทำ) = ถ้าเราเห็นสิ่งใดเป็นสิ่งที่ท้าทายมีใจสู้ เมื่อทำสิ่งนั้นก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย

        จิตตะ (ความใฝ่ใจ เอาจิตฝักใฝ่) = ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งใดสำคัญเราจะต้องรับผิดชอบเอาใจจดจ่ออยู่ เมื่อทำสิ่งนั้นก็จะเกิดสมาธิได้ง่าย

        วิมังสา (ความใคร่ครวญ ใช้ปัญญาสอบสวน) = ถ้าเราต้องการทดลองอะไรใจชอบตรวจสอบมันอยู่ เมื่อทำสิ่งนั้นก็เกิดสมาธิได้ง่าย


    ๔. อินทรีย์ ๕  แปลว่า  ธรรมที่เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เฉพาะแต่ละอย่าง หรือธรรมที่เป็นเจ้าการในการข่มกำราบอกุศลธรรมที่ตรงข้ามกับตน

    หลักนี้หลายท่านเคยได้ยิน แต่หลายท่านก็ยังไม่เคยได้ยิน เช่น ในคำพูดที่ว่าต้องมีอินทรีย์สม่ำเสมอกัน ต้องปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ คนนี้มีอินทรีย์อ่อน คนนี้มีอินทรีย์แก่กล้า ดังนี้ เป็นต้น อินทรีย์ ๕ นั้น ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน


      ข้อ ๑ ศรัทธา คือความเชื่อ ความที่จิตใจพุ่งแล่นไปหาและคล้อยไปตาม เข้าคู่กับข้อ ๕ ปัญญา ความพิจารณาใตร่ตรองมองหาความจริงให้รู้เข้าใจเข้าถึงสภาวะ ถ้าศรัทธาแรงไป ก็น้อมไปในทางที่จะเชื่อง่าย ยอมรับง่าย เชื่อดิ่งไป ตลอดจนงมงาย ถ้าเอาแต่ปัญญา ก็โน้มไปทางที่คิดมาก สงสัยเกินเหตุ หรือด่วนปฏิเสธ ฟุ้งไปเรื่อย ไม่จับอะไรลงลึก ท่านจึงให้ปรับศรัทธา กับ ปัญญา ให้สม่ำเสมอสมดุลกัน


      ข้อ ๒ วิริยะ คือความเพียร มีใจสู้ มุ่งหน้าจะทำให้ก้าวหน้าเรื่อยไป เข้าคู่กับข้อ ๔ สมาธิ คือ ความสงบของจิตใจที่แน่วแน่ที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกอารมณ์ต่างๆ รบกวน ถ้าวิริยะแรงไปก็จะเครียดและฟุ้งซ่าน โน้มไปทางล้ำเลยเขต ถ้าเอาแต่สมาธิก็จะสงบสบาย ชวนให้ติดในความสุขจากความสงบนั้น ตลอดจนกลายเป็นเกียจคร้านเฉื่อยชาปลีกตัวออกหาความสบาย ปล่อยปละละเลยหรือไม่เผชิญภาระ ท่านจึงให้เสริมสร้างวิริยะและสมาธิอย่างสม่ำเสมอสมดุลกัน เพื่อจะได้ประคับประคองกันไป และเป็นเครื่องอุดหนุนกันให้ก้าวหน้าไปในการปฏิบัติ

      ส่วนข้อ ๓ สติ นั้น  เป็นตัวคุมตัวเตือน ต้องใช้ในทุกกรณี เช่น เป็นเหมือนยามที่คอยบอกว่า เวลานี้ศรัทธาจะแรงไปแล้ว ปัญญาจะหย่อนไปแล้ว เวลานี้ ควรเร่งวิริยะขึ้นมา เพราะทำท่าจะติดในสุขจากสมาธิเสียแล้ว ดังนี้ เป็นต้น


     ๕. พละ ๕   ธรรมที่เป็นกำลังในการต้านทานไม่ให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำ ก็ได้แก่  อินทรีย์ ๕ นั่นแหละ  แต่มาทำหน้าที่เป็นฝ่ายรับ  เรียกว่า พละ ๕ หมายความว่า ธรรม ๕ อย่างนี้ เมื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุก  ไปแก้ไขกำจัดอกุศลธรรม เรียกว่า อินทรีย์ ๕ แต่ถ้าทำหน้าที่ฝ่ายรับ ต้านทานอกุศลธรรมไม่ให้บุกเข้ามาทำลายได้  ก็เรียกว่า เป็นพละ ๕


     ๖. โพชฌงค์ ๗  แปลว่า  องค์ของผู้ตรัสรู้ หรือองค์ประกอบของการตรัสรู้ เป็นกลุ่มธรรมสำคัญในการทำงานให้เกิดโพธิ คือ ปัญญาตรัสรู้ ซึ่งทำให้ทั้งรู้ ทั้งตื่น และทั้งเบิกบาน ได้แก่

       ๑) สติ   ความระลึกได้   เป็นตัวที่จับไว้ หรือรวบรวมเอามาซึ่งสิ่งที่ควรรู้เข้าใจ มานำเสนอให้ปัญญาตรวจตรองพิจารณาอย่างถนัดชัดเจน

       ๒) ธรรมวิจัย   ความเฟ้นธรรม   หมายถึงการใช้ปัญญาสอบสวนพิจารณาสิ่งที่สติกำหนดไว้ หรือนำเสนอนั้น ให้รู้เข้าใจ เห็นสาระเห็นความจริง

       ๓) วิริยะ  ความเพียร คือความแกล้วกล้า กระตือรือร้น รุดหน้าต่อไปในการทำงาน ให้จิตใจไม่หดหู่ ถดถอย หรือท้อแท้

       ๔) ปีติ  ความอิ่มใจ คือปลาบปลื้ม ตื่มด่ำ ซาบซึ้ง ฟูใจ ที่เป็นไปพร้อมกับการทำงานก้าวรุดหน้าต่อไป

       ๕) ปัสสัทธิ   ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ  เป็นความเรียบเย็นไม่เครียดไม่กระสับกระส่ายเบาสบายซึ่งสืบเนื่องจากปีติ และเป็นองค์ธรรมสำคัญในการรักษาสุขภาพจิต ความเพียรพยายามทำงานการที่พ่วงมาด้วยปัสสัทธิ  จะไม่ทำให้คนเป็นโรคจิตอย่างที่เป็นกันมากในหมู่คนทำงานในยุคปัจจุบัน

        ๖) สมาธิ    ความมีใจตั้งมั่น คือจิตใจแน่วแน่ อยู่กับสิ่งที่กำหนดเป็นหนึ่งเดียว อยู่กับกิจ อยู่กับเรื่องที่พิจารณา ไม่วอกแวก ฟุ้งซ่าน

        ๗) อุเบกขา   ความวางทีเฉยดู  หมายถึงความมีใจเป็นกลาง  จิตใจเรียบสม่ำเสมอ  นิ่งดูไปอย่างพร้อมสบาย  ในขณะที่จิตปัญญาทำงานก้าวหน้าไปเรียบรื่นตามกระบวนการของมัน


    ๗. สุดท้าย   ก็คือ ตัวมรรคมีองค์ ๘   อันได้แก่  สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพขอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ)

    ว่าที่จริง  โพธิปักขิยธรม  ก็ขยายจากมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละ  หลักสุดท้ายนี้จึงเป็นตัวรวม แต่ขยายออกไปเพื่อให้เห็นประชาชน ซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ กัน  เป็นข้าราชการ  เป็นตำรวจ  เป็นทหาร เป็นแพทย์ เป็นครูอาจารย์ เป็นพระ ฯลฯ มากมาย


     เมื่อพูดมาถึงโพธิปักขิยธรรมแล้ว  ก็เรียกว่าจบ  เพราะโพธิปักขิยธรรมเป็นตัวการปฏิบัติ หรือเป็นคณะทำงาน  เมื่อคณะทำงานในการปฏิบัติธรรมมาถึงแล้ว  ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของคณะทำงานนั้นทำหน้าที่ของเขาต่อไป


    อาตมาทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำตัว เมื่อได้แนะนำตัวจนกระทั่งท่านทั้งหลายได้รู้จักคณะทำงานแล้วว่ามีใครบ้าง  ได้แก่  โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ตัว  เมื่อพูดถึงตอนนี้แล้วก็จึงเป็นอันว่าจบ

    ต่อจากนี้ก็ขอให้ท่านไปทำความรู้จักกับคณะทำงาน เมื่อรู้จักกับคณะทำงานแล้ว ก็ขอให้ไปร่วมมือกับคณะทำงานนั้น หรือใช้คณะทำงานนั้นทำงานคือการปฏิบัติต่อไป หน้าที่ของอาตมภาพก็จบลงเพียงเท่านี้.

 

 



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 2 มีนาคม 2567 22:15:33 น. 0 comments
Counter : 932 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space