รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
โผล่งในธรรม - ปัญญาที่ได้จากการภาวนาตามสัมมามรรค

ผมไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อเรียกว่าอะไร ผมขอให้คำว่า โผล่งในธรรม ก็แล้วกัน

โผล่งในธรรม ก็คือ การรู้ธรรมด้วยจิต ที่เป็นการรู้จริง ๆ ของจิต มิใช่การคิดเอาเองด้วยความคิด
การเกิดโผล่งในธรรมขึ้นในตัวนักภาวนา จะทำให้เกิดภาวนามยปัญญาและสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นมากยิ่งขึ้นไปของนักภาวนา

จากประสบการณ์ภาวนาที่ผมพบมา โผล่งในธรรม จะมีอยู่ 2 แบบ
แบบที่ 1.. จิตเห็นทันสภาวะธรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง
แบบที่ 2.. จิตเกิดความรู้จริงขี้นมา

ขยายความในแต่ละแบบ

แบบที่ 1.. จิตเห็นทันสภาวะธรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง

การเห็นทันสภาวะธรรมของจิต จะมี 2 แบบ คือ

1.1 เห็นทันสภาวะความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5

โดยไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 เป็นอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ง่ายที่สุด จะเป็นทุกขเวทนา และ จิตตสังขารที่่เรียกว่า ความโกรธ ส่วนตัวอืน ๆ ถ้าภาวนาให้ชำนาญ ก็เห็นได้เช่นกัน แต่จะยากกว่าการเห็น ทุกขเวทนา / ความโกรธ

ถ้าเกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้น เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นั่งสมาธิขาชา หรือ อื่น ๆ ถ้ายังมีเหตุให้เกิดทุกขเวทนาอยู่ ทุกขเวทนาก็จะเกิดอยู่และจิตจะเห็นทุกขเวทนาได้นาน เพราะเกิดอยู่นาน

แต่ถ้าเป็นจิตตสังขาร มักจะเกิดและตั้งอยู่ไม่นานนักเมื่อจิตไปเห็นท้นเข้า

การเห็นทันสภาวะความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 นี้
จิตจะเกิดความรู้ที่เกี่ยวกับ สักกายทิฐิ ที่ว่า ขันธ์ 5 มันไม่เที่ยง ขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ ๆ เรา หรือ จะบอกว่า การเห็นแบบนี้เป็นสภาวะของโสดาบันก็ได้เช่นกัน

แนะนำให้อ่านในพระไตรปิฏก ตอนที่พระพุทธองค์ทรงโปรดปัญจวัคคีย์แล้วท่านโกณทัญญะรู้แจ้งในธรรมเป็นโสดาบัน

ในการภาวนานั้น นักภาวนาเมื่อเห็นสภาวะความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 ได้แล้ว ก็จะเห็นมันได้บ่อย ๆ เพราะขันธ์ 5 มันเป็นไตรลักษณ์ของมันเองอยู่แล้ว ที่เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในชีิวิตของคนเรา

1.2 เห็นทันความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้ที่ยังมีอวิชชาอยู่

เมื่อนักภาวนามีกำลังจิตที่เห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 มาแล้วอยู่เนือง ๆ กำลังแห่งสัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ จะตั้งมั่นมากขี้นไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อจิตตั้งมั่นมากขึ้น นักภาวนาจะเห็นตัวจิตรู้ / มโน ได้ในลำดับต่อไป ใหม่ ๆ นักภาวนาจะเห็นตัวจิตรู้/มโน นี่เป็นของเที่ยง เพราะมันเกิดอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องด้วยกำลังสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น การเห็นจิตรู้/มโน เป็นของเที่ยงนี้ ก็คือการเห็นในระดับ(สัมมา)ฌานแล้ว ในระยะนี้ นักภาวนาจะเห็นทั้ง จิตรู้/มโน/ความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 ทั้ง 3 อย่าง

ถ้านักภาวนาภาวนาได้ถูกต้องที่ผมได้แนะนำกฏ 3 ข้อในการภาวนาไป นักภาวนาห้ามทำอะไรในการใช้จิต นักภาวนาดำเนินชีวิตไปตามปรกติวิสัยประจำวัน นักภาวนาจะเห็นทันความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้ได้ ซึ่งการเห็นทันไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้ ที่ผมพบมีอยู่เพียง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเห็นทันจิตมันเกิดขึ้นว่ามันวิ่งออกมาจากที่ไหน และ อีกครั้ง เห็นทันมันวิ่งกลับเข้าไปในในฐานของจิต
การเห็นทันไตรลักษณ์ของจิต จะทำให้นักภาวนามีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นอย่างสุด ๆ จะเรียกว่า ไม่มีการเผลอเกิดขึ้นอีกก็ได้เช่นกัน

แบบที่ 2..จิตเกิดความรู้จริงขี้นมา

จิตเกิดความรู้จริงขึ้นมา ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพในทางโลก สมมุติว่า มีคนเอาเกลือ น้ำตาล น้ำส้มสายชู ผสมลงไปในน้ำเป๊บซี่ ท่านไม่เคยดื่มน้ำอย่างนี้มาก่อน แต่คนที่คนเคยดื่มมาก่อนก็จะอธิบายไม่ถูกว่ารสมันเป็นเช่นไร พอท่านยกขึ้นดื่มเท่านั้น ท่านก็จะรู้ทันทีเลยว่า รสมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ แต่อาจอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

จิตเกิดความรู้จริงขึ้นมา ก็จะคล้าย ๆ ตัวอย่างข้างต้น ท่านไปอ่านตำราที่เขาพูดเรื่องสักกายทิฐิว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าท่านไม่เคยเห็นของจริง ท่านจะไม่มีทางเข้าใจเลยว่าเป็นอย่างไร ท่านก็ได้แต่คิดเอาเองว่า ร่างกายมันไม่เที่ยง เดียวมันแก่ เดียวผมหงอก เดียวหนังเหี่ยวย่น นั่นเป็นการคิดเอาเองเพราะไม่เคยเห็นของจริง พอท่านลงมือภาวนาสัมมาสติ สัมมาสมาธิอย่างถูกต้องจนเห็นแบบข้อ 1.1 ข้างต้น ท่านจะเข้าใจในเรื่องสักกายทิฐิได้ทันทีว่า มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ตัวตนของเรา มันเป็นอย่างนี้เอง

การเห็นทันไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 นี้ ยังมีความรู้อื่น ๆ ปรากฏขึ้นให้นักภาวนาได้รู้จริง ๆ หลายเรื่อง สุดแต่ว่าจะเป็นเรื่องใด ที่นักภาวนาเลือกรู้ไม่ได้ แต่มันเกิดเอง เช่น วันหนึ่ง ผมกำลังดูมวยปล้ำทางทีวีอยู่อย่างสนุก ผมพลันเกิดความรู้เรื่องของ สมมุติ ปรมัตถ์ ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุย ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักของสมมุติ ปรมัตถ์ทันที ซึ่งความเข้าใจแบบนี้จะไม่เหมือนกับการอ่านแล้วเข้าใจจากตำราเพราะมันลึกซี้งกว่า

ทีนี้ ถ้าท่านภาวนาต่อไป ท่านเห็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รูุ้ได้ทันตาม 1.2 พอท่านเห็นทันมัน ท่านจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในอริยสัจจ์ 4 ได้ทันที เข้าใจปฏิจสมุปบาทได้ทันทีเช่นกัน

****
จุดมุ่งหมายที่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้น ก็คือข้างล่างนี้ ส่วนข้างบนเป็นประสบการณ์ที่ผมพบ ผมมาเล่าให้ฟัง

ในการภาวนานั้น การโผล่งในธรรม คือสิ่งที่นักภาวนาต้องการจริง เพราะมันคือปัญญาในทางธรรมล้วน ๆ ที่ไม่เจือด้วยความคิดเลย จึงเป็นธรรมแท้จริง

ผมได้เขียนเสมอ ๆ ว่า การฝึกฝนสัมมาสติ สัมมาสมาธิให้จิตตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นได้อย่างแท้จริงแบบสุด ๆ ก็จะเห็นธรรมได้ตามความเป็นจริง นี่เป็นข้อความในพระไตรปิฏกเรื่องสมาธิสูตร

แต่การที่จิตจะตั้งมั่นได้อย่างสุด ๆ ได้นั้น ลำพังนักภาวนาฝึกอย่างเดียวถ้าไม่เกิดอาการโผล่งในธรรมขึ้นในทั้งแบบ 1 หรือ แบบ 2 จิตของนักภาวนาจะไม่ก้าวหน้าขึ้นจนถึงระดับตั้งมั่นได้เพิ่มขึ้น
เพราะจิตมันไม่มีปัญญาในการเลื่อนขั้น

มีนักภาวนาบางท่าน ฟังซีดีหรือฟังครูบาอาจารย์แล้วตีความผิดไปในการภาวนา โดยการพยายามเฝ้าดูจิตอยู่เนือง ๆ เช่น เวลาเห็นผู้หญิงสวย จิตเกิดราคะ ก็หันไปเฝ้าดูจิตทันที ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้เป็นการเข้าใจผิดของนักภาวนาครับ เพราะการไปเฝ้าดูจิตแบบนี้ จะเป็นการจงใจใช้จิตทำงาน พอใช้จิตทำงาน จิตจะไม่ว่างมาเกิดอาการโผล่งในธรรมขึ้นมา
ในทำนองเดียวกัน ก็มีบางท่านก็พยายามไปนึกภาพอสุภะ หรือ บริกรรมอะไรเร็ว ๆ เพื่อไม่ให้จิตเกิดการปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่งอาการทำดังกล่าวเป็นการจงใจใช้จิตทั้งสิ้น
<<< ท่านอ่านดี ๆ นะครับ ว่าปฏิบัติผิดตรงไหน

ในการภาวนาที่ถูกต้องนั้น ท่านฝึกฝนก่อนการมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ฝึกไปเพื่อให้จิตเกิดความคุ้นเคยกับสภาวะแห่งการมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่ตรงทาง ทีนี้ในชีวิตประจำวัน ท่านก็ดำเนินชีวิตของท่านไป ถ้าท่านเป็นชายแล้วไปเห็นหญิงสาวสวย จิตเกิดจิตตสังขารปรุงแต่งเป็นราคะขึ้น ด้วยความคุ้นเคยในการฝึกฝนสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ท่านไม่ต้องไปเฝ้าดูจิต ความคุ้นเคยแห่งสัมมาสตินั้นจะทำให้สัมมาสติที่ท่านมีเห็นจิตตสังขารทีมันปรุงขึ้นมาได้เอง ถ้าท่านเห็นทันมันเป็นไตรลักษณ์ นี่คือการโผล่งในธรรมที่เป็นปัญญาของจิตของท่านเองแบบ 1.1 <<< ท่านลองอ่านแล้วเทียบกับการปฏิบัติผิดข้างบนดูครับว่า ที่ผิดคือผิดอย่างไร ที่ถูกคือถูกอย่างไร

ท่านควรอ่านหลายๆ รอบ อ่านแล้วคิดพิจารณาผิดถูก ถ้าท่านเข้าใจได้ถูก ท่านก็จะปฏิบัติได้ตรงและเกิดโผล่งในธรรมขึ้น เพื่อการเลื่อนขั้นของจิตของท่านเอง

***
สรุป

ฝึกให้คุ้นเคยกับสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่ถูกต้อง เมื่อคุ้นเคย ก็ใช้ชิวิตประจำวันของท่านไป
ความคุ้นเคยแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะทำให้เกิดการโผล่งในธรรมขึ้นได้เอง โดยทีท่าน**ต้องไม่ไปใช้จิตทำอะไร** เช่นการเฝ้าดูจิต/การบริกรรมต่าง ๆ /การนึกคิดข้อธรรมต่าง ๆ

ท่านมีเพียงสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่คุ้นเคย แล้วให้จิตเห็นทันไตรลักษณ์ด้วยจิตเอง จึงจะเกิดโผล่งในธรรม อันเป็นภาวนามยปัญญา

กฏ 3 ข้อ
1 รู้สึกตัว
2 เฉย ๆ สบาย ๆ อย่างเครียด
3 อย่าอยากรู้อะไร แต่ให้จิตเขารู้ของเขาเอง






Create Date : 12 ธันวาคม 2554
Last Update : 25 มกราคม 2555 20:22:13 น. 20 comments
Counter : 1733 Pageviews.

 
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สำหรับธรรมะที่สามารถนำมาเทียบเคียงการปฏิบัติค่ะ


โดย: จิตติ IP: 115.87.20.142 วันที่: 12 ธันวาคม 2554 เวลา:21:30:37 น.  

 
อนุโมทนาสาธุคะ อาจารย์


โดย: แม่ลูกสอง IP: 101.108.195.23 วันที่: 13 ธันวาคม 2554 เวลา:13:58:58 น.  

 
ผมขอคำแนะนำจาก อ. สักหน่อยครับ

จากความเห็นของ อ.มนสิการ ข้อ 1.2

" ครั้งแรก เห็นทันจิตมันเกิดขึ้นว่ามันวิ่งออกมาจากที่ไหน และอีกครั้ง เห็นทันมันวิ่งกลับเข้าไปในฐานของจิต "

-----------------------


จากการปฏิบัติของผม ผมเห็นว่า มันวิ่งออกมาจากฐานของจิต แล้วมันก็ดับหายไป แล้วผมก็มีความโปร่งโล่งเบาสบายขึ้นมา สักครู่ใหญ่ๆ ผมก็เห็นทันจิตมันเกิดขึ้นอีกว่า มันวิ่งออกมาจากฐานของจิต แล้วก็ดับหายไปอีก แล้วผมก็มีความโปร่งโล่งเบาสบายเกิดขึ้นมาอีก ซึ่งตรงนี้มันเหมือนกับว่า มีการปลดภาระที่จิตแบกเอาไว้ออกไปเรื่อยๆ จิตมีความเบาสบายขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงมีความรู้จริงขึ้นมาว่า สิ่งที่มันวิ่งออกมาจากจิตแล้วดับไปนั้น มันไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของๆเรา


ตรงจุดนี้ทำไมผมจึงไม่เห็นว่ามันวิ่งกลับเข้าไปในฐานของจิตเหมือนที่ อ.กล่าวมาครับ

ขอคำแนะนำจาก อ. หน่อยครับ


โดย: พญาไท IP: 125.27.57.48 วันที่: 14 ธันวาคม 2554 เวลา:18:09:47 น.  

 
การเห็นว่าจิตมันโผล่มาจากไหนได้ทัน นีไม่ธรรมดาเลยครับ

ตอนที่ผมเห็นทันจิตมันโผล่มาจากไหน ตอนนั้น ผมก็ไม่เห็นมันวิ่งกลับเหมือนกัน

จากเวลาที่ผมเห็นทันมันโผล่มาจากไหนแล้ว ผมก็ฝึกไปเรื่อย ๆ อีกประมาณเกือบ 7 เดือน ผมจึงเห็นมันวิ่งกลับเข้าที่ และผมก็เห็นมันวิ่งกลับแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ผมเข้าใจว่า มันเป็น step ของปัญญานะครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 14 ธันวาคม 2554 เวลา:18:48:15 น.  

 

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆครับ


ผมเคยติดอยู่กับการภาวนาแบบฤาษีมานานนับสิบปี กว่าผมจะหลุดออกมาได้ก็เกือบๆจะเสียสติ


เมื่อผมมาอ่านวิธีการภาวนาของอาจารย์ ผมชอบวิธีการตามรู้การเคลื่อนไหวร่างกายของอาจารย์มากๆครับ สัมมาสมาธิที่แท้จริง ไม่ใช่การบังคับให้จิตอยู่นิ่งๆ แต่เป็นการตั้งมั่นอยู่กับการรู้กาย แล้วปล่อยให้ความรู้สึกในใจเคลื่อนไหว เกิดและดับไปตามธรรมชาติ ( จิตที่รู้กายจะไม่เคลื่อนไหว แต่ความรู้สึกในใจจะเคลื่อนไหว )



ผมขอเป็นกำลังใจให้แก่อาจารย์ในการให้ความรู้แก่ผู้อื่นครับ อาจารย์อธิบายได้ดีและเข้าใจง่ายครับ



โดย: พญาไท IP: 118.172.248.112 วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:7:18:04 น.  

 
^
^
ทำไมถึงกับจะเสียสติเลยอะคะ ??

เปล่ายียวนนะ อยากรู้จริงๆ


โดย: อาณาจักรสีเขียว วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:13:13:19 น.  

 
สมาธิแบบฤาษีนี่มีพิษร้ายกาจ ยิ่งฝึกยิ่งยึดติด
พอเกิดสมาธิแบบยึดติดอย่างแนบแน่น ก็จะเกิด ปิติ สุข ตามองค์ฌานแห่งฤาษีสมาธิ จิตก็จะไปยึดติดกับ ปิติ และ สุข เข้า
พอเกิดเสียสมาธิแบบฤาษีเข้าเท่านั้น อาจเป็นด้วยตนเอง หรือ คนอื่นเข้ามารบกวนสมาธิแบบฤาษี คนฝึกแบบนี้ก็จะเกิดการโมโหโกรธาแบบเต็มกำลัง
ทำให้เกิดการเสียสติได้ง่าย

คุณลองเทียบกับตัวเอง ตอนที่กำลังง่วงนอนจัด ๆ แล้วกำลังนอนอยู่
มีคนมาปลุกให้ตื่น คุณจะรู้สึกอย่างไร มันก็คล้ายๆ กับสมาธิแบบฤาษี
เวลาจิตไม่อยู่ในสมาธิ

คนฝึกสมาธิแบบฤาษี ผลก็คือ กลายเป็นคนมักโกรธ โกรธง่าย โกรธแรง โกรธไม่หยุด เมื่อโกรธก็จะคลุมสติตัวเองไม่ได้ ทำให้ทำอะไรผิด ๆ แบบไม่ยั้งคิดนั่นเอง


โดย: นมสิการ วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:16:49:42 น.  

 
ได้ติตต่อบ้านหนังสือไป ได้คำตอบมา
ตอนนี้ บ้านหนังสือยังปิดอยู่เนื่องจากน้ำท่วมที่ผ่านมา
ตอนนี้ กำลังซ่อมแซมอยู่

กิจกรรมครั้งที่ 3 คงต้องเลื่อนไปก่อนครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:17:16:53 น.  

 
ใช่เลยครับอาจารย์

ผมมีอาการแบบที่อาจารย์กล่าวมาครับ
------------------------------------

สาเหตุก็เพราะว่า ในตอนนั้นผมทำสมาธิแบบเพ่งเข้าไปยังจุดที่ลมหายใจกระทบโพรงจมูก ผมจี้เข้าไปดูความรู้สึกตรงนั้นชัดๆ ชัดมากๆ จนกระทั่งอารมณ์หรือความรู้สึกในใจมันสงบนิ่งไม่เคลื่อนไหว


ตอนที่จิตสงบนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหว ผมมีความสุขดีมาก หลังจากผมออกจากสมาธิมาแล้ว ความสุขนั้นก็ยังคงติดอยู่ในใจของผมได้นานเป็นวันๆ หรือบางทีก็หลายๆวัน ในระยะนี้ ถ้ามีเรื่องมีราวกับใครขึ้นมา ผมไม่โกรธใครเลย ผมอภัยให้ได้ทุกอย่าง ผมมีความสุขดีมาก


แต่ว่า.......


ในบางช่วง ถ้าผมไม่สามารถเข้าถึงความสุขความสงบนั้นได้ แล้วถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมขุ่นเคืองใจเพียงเล็กน้อย ผมจะมีความโกรธอย่างรวดเร็ว และรุนแรง เมื่อโกรธแล้วความโกรธก็ไม่จางหา่ยไปง่ายๆ


ที่ผมบอกว่าผมเกือบจะเสียสติ ก็เพราะว่า ผมมีอาการใจเย็น สลับกับใจร้อน แบบนี้แหละครับ



โดย: พญาไท IP: 180.180.110.176 วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:17:51:27 น.  

 
โอ...

ได้เป็นข้อควรระวังเลยคะ

ขอบพระคุณมากคะ อาจารย์และคุณพญาไท




โดย: อาณาจักรสีเขียว วันที่: 15 ธันวาคม 2554 เวลา:18:53:57 น.  

 
ขออนุญาตอาจารย์มนสิการครับ

-------------------------

การที่นักภาวนาจะเข้าถึงการภาวนาที่เป็น สัมมาสมาธิได้ นักภาวนาจะต้องเข้าถึงการภาวนาแบบฤาษีให้ได้เสียก่อน ถ้ายังเข้าไม่ถึงการภาวนาแบบฤาษี นักภาวนาก็ไม่รู้ว่าการภาวนาแบบที่เป็นสัมมาสมาธิ เป็นการภาวนาอย่างไร


เพราะว่า....


เมื่อเข้าถึงการภาวนาแบบฤาษีได้แล้ว นักภาวนาจึงจะรู้ว่าจิตที่รู้กาย แตกต่างจาก อารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ อย่างไร เมื่อรู้ความแตกต่าง นักภาวนาจึงจะรู้ว่า ก้าวต่อไป เราควรจะปล่อยวางจิตตัวไหนและตั้งมั่นอยู่กับจิตตัวไหน


แต่ถ้านักภาวนายังไม่สามารถเข้าถึงการภาวนาแบบฤาษี นักภาวนาก็ไม่รู้ว่าจิตที่รู้กาย กับอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ มันแตกต่างกันอย่างไร เมื่อไม่รู้ความแตกต่าง นักภาวนาก็ไม่รู้ว่าจะต้องตั้งมั่นอยู่กับอะไร และจะต้องปล่อยวางอะไร


เพราะฉะนั้นคุณอาณาจักรสีเขียวจึงไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะติดหล่มการภาวนาแบบฤาษี เพราะว่าการภาวนาแบบฤาษีมันเป็นทางผ่านที่นักภาวนาทุกคนจำเป็นจะต้องผ่านอยู่แล้วครับ


เพียงแต่ว่า ขอให้นักภาวนาทุกคนรู้ว่าการภาวนาแบบฤาษี ยังไม่ใช่การภาวนาที่เป็นสัมมาสมาธิ เมื่อนักภาวนารู้วิธีแก้ไขแล้ว ก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้ โดยไม่ยากเลยครับ



การภาวนาแบบฤาษีไม่ใช่ตัวปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เมื่อเข้าถึงการภาวนาแบบฤาษีได้แล้ว นักภาวนาเข้าใจผิดว่า นี่คือการภาวนาแบบสัมมาสมาธิ ตรงนี้แหละครับคือ ตัวปัญหา



โดย: พญาไท IP: 125.27.62.163 วันที่: 16 ธันวาคม 2554 เวลา:8:52:30 น.  

 
คนที่ภาวนาแบบฤาษีมาก่อน จะทำให้มีความรู้มากขึ้นกว่าคนที่ไม่เคยภาวนาแบบนี้ ที่รู้มากขึ้น คือ รู้ว่าผิดคืออย่างไร การรู้แบบนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่นำความรู้มาถ่ายถอดต่อให้ผู้อื่น เพราะตนเองเคยผิดมาก่อน พอคนภาวนาผิด เขาก็จะรู้ทันทีว่า ภาวนาผิด

แต่ข้อเสียของการภาวนาผิด คือ การเสียเวลา และ ง่ายต่อการหลงทาง

ยิ่งคนที่เขาถลำลงไปมาก ๆ แล้วเชื่อว่านีคือทางที่ถูก อย่างนี้ ก็เข้าสู่เขาวงกตไปทันที

ถ้าท่านเป็นคนหนี่ง ที่อยากลองผิดลองถูก ก็ลองดูุก็ได้ครับ สมาธิแบบฤาษี ผมทำมา 20 กว่าปี ผมเสียเวลาไปนานมาก ที่เดินผิดทางตอนนั้นก็เพราะเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่ถูกทาง เพราะใคร ๆ ก็สอนกันแบบนี้ทั้งนั้น

โชคดีที่ผมหาทางใหม่ได้พบก่อนที่จะตายจากโลกนี้ไป

ท่านอาจงงว่า แบบนี้ถููกทางแน่หรือ ผมกล้ายืนยันครับว่า ถูกทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ พอภาวนาแล้วเข้าใจแล้ว เกิดผลแล้ว เวลาไปอ่านพระไตรปิฏก ก็จะหมดสงสัยในคำสอนในพระไตรปิฏก เพราะมันตรงกับสิ่งที่พบในการภาวนานั้นเอง

ผมคิดว่า นี่คงเป็นวิบากอย่างหนึ่งของคนไทย ทีว่าศานาพุทธคือศาสนาประจำชาติ แล้วคนไทยรู้จักเพียงแค่ การทำบุญทำทาน การสวดมนต์ แต่สมาธิกลับดันไปสอนสมาธิแบบฤาษี ทำให้คนไทยเกือบทั้งประเทศเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้ คือ ทางแห่งพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้

ผมยึดแก่นคำสอนของพระพุทธองค์ คือ ปฐมเทศนาให้แก่ปัญจวัคคีย์ และ อนัตตาลักขณะสูตร สมาธิสูตร สติปัฏฐาน 4 นี่คือคำสอนที่ตรงที่สุด ไม่บิดพลิ้วให้เฉไฉออกนอกทาง ไม่ต้องไปอ่านมากในพระไตรปิฏก ศึกษาเพียงพอให้เข้าใจให้ตรง ทางก็อยู่ตรงหน้าทันที พอเข้าใจในทาง ได้ผลในการปฏิบัติ ไปอ่านในพระไตรปิฏก ก็จะเข้าใจได้เลยว่า สิ่งที่เขียนนั้นเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ เพราะได้พบมากับตัวเองนั้นเอง


โดย: นมสิการ วันที่: 16 ธันวาคม 2554 เวลา:18:23:01 น.  

 
มีเงื่อนไขบังคับข้อเดียวที่มิอาจทำให้ผมเสียเวลาได้ คือ ความทุกข์ที่มันรุมเผาใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้เอง

ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตแค้น ความอยากที่ไม่มีวันสิ้นสุด มันเผาแล้วเผาอีก ซ้ำไปซ้ำมา ร้อนดิ้นพล่านๆ

ดั่งกับขุมนรกที่จิตรกรวาดไว้ในวัด ที่มีเทวทูตถือหอกแหลมทิ่มแทง จนตายแล้ว ก็ยังต้องฟื้นขึ้นมาโดนแทงอีกไม่รู้จบ

หรือแม้แต่ความสุข ก็ยังต้องดิ้นพล่านๆ เพื่อที่จะได้มา จนกลายเป็นคนเสพติดอารมณ์

ผมเหนื่อยครับ ...


โดย: littleyogi IP: 223.207.172.93 วันที่: 16 ธันวาคม 2554 เวลา:20:47:56 น.  

 
ผมขอเข้ามาสนับสนุนความเห็นของอาจารย์มนสิการครับ


ท่านใดที่กำลังภาวนาแบบฤาษี คือภาวนาแล้วมีความสงบสุข แต่ท่านไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือจิตที่รู้กาย / อะไรคืออารมณ์ราคะโทสะโมหะ ( กิเลส )


ผมขอแนะนำให้ท่านฝึกการตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายตามที่อ . มนสิการได้แนะนำเอาไว้ แล้วท่านจะค่อยๆเริ่มเห็นว่า จิตที่รู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย จะมีลักษณะตั้งมั่นสงบนิ่ง

แต่อารมณ์หรือกิเลสในใจ จะมีลักษณะ ถ้ามีรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสเข้ามากระทบจิตใจ มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง เราบังคับไม่ให้มันเกิดขึ้นมาไม่ได้ และถ้าเราตั้งมั่นอยู่กับจิตที่รู้กาย อารมณ์หรือกิเลส มันจะดับไปเอง


เมื่อท่านเห็นความแตกต่างของจิต 2 ชนิดนี้ได้แล้ว ท่านจึงจะปล่อยวางอารมณ์หรือกิเลสนั้นได้ แล้วการภาวนาของท่านก็จะไม่เป็นการภาวนาแบบหินทับหญ้าอีกต่อไปครับ


การภาวนาแบบฤาษีเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ใช่จุดหมายของการภาวนาครับ


โดย: พญาไท IP: 118.172.242.239 วันที่: 17 ธันวาคม 2554 เวลา:8:07:33 น.  

 
เวลาผมปฏิบัติ ผมจะหาความแตกต่างให้พบว่า สภาวะอย่างนี้ ต่างจาก สภาวะอย่างโน้นอย่างไร เช่น สัมมาสมาธิ และ สมาธิแบบฤาษี
ถ้าเราปฏิบัติแล้วมองถึงความต่างออก เราก็จะเดินได้ถูกทาง ถ้ายังมองความต่างไม่ออก โอกาสจะเดินผิดก็มีมากครับ

ในธรรมชาติ มีความต่างมากมาย บางทีก็มองยาก บางทีก็มองง่าย
เช่น จะรู้ได้อย่างไรว่า นกพิราบตัวไหนตัวผู้หรือตัวเมีย อย่างนี้จะมองยาก ถ้านกไม่ร้องทำคอพอง ๆ ให้เห็น เราก็จะรู้ว่า นี่นกตัวผู้ แต่ถ้านกเป็นปรกติอยู่ไม่ทำคอพอง ๆ เราก็จะไม่ทราบเลย แต่คนดูเป็นก็จะมองออกครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 17 ธันวาคม 2554 เวลา:19:28:04 น.  

 

ในอภิธรรมอธิบายเรื่องจิต17ขณะ

การที่จิตเริ่มเคลื่อนไหวเมื่อมีสิ่งมากระทบเป็นหนึ่งใน17ขณะเมื่อจิตเริ่มปรุงแต่ง...ดังนี้.


ซึ่งมีลำดับขั้นตอนดังนี้.
๑. อตีตภวังค์จิต คือจิตที่ดำรงอยู่ตามปกติธรรมดาขณะที่ยังไม่มีอารมณ์ใดมากระทบคือความรู้สึกตามปกติธรรมดานั่นเองที่ว่างจากการปรุงแต่งอยู่
๒. ภวังค์คจลนะ จิตเริ่มเคลื่อนไหวมีอาการเคลิ้มเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระทบ(ทางทวารใดทวารหนึ่ง...ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย)
๓. ภวังค์คุปัจเฉทะ เมื่อมีสิ่งมากระทบจิตเริ่มวางอารมณ์เก่า(อตีตภวังคจิต) ความรู้สึกเกิดการไหลไปรวมกับสิ่งที่มากระทบทำให้สติ,ความรู้สึกตัวอยู่หายไป
๔. ปัญจทวาราวัชชนะ จิตเริ่มรับอารมณ์ใหม่จากทวาร
๕. ปัญจวิญญาณ ทวาร๕เริ่มรับอารมณ์ ปรุงแต่งกับสิ่งที่มากระทบ
๖. สัมปฏิจฉันนะ จิตรับอารมณ์จากทวาร(ที่ถูกกระทบ)
๗. สันตีรณะ จิตวิเคราะห์อารมณ์ว่าเป็นแบบใด
๘. โวฐัพนจิต จิตตัดสินอารมณ์(มีข้อมูลจากความจำช่วย)
๙. ชวนะจิต (๑) จิตเสวยอารมณ์(ก่อตัว)
๑๐. ชวนะจิต (๒) จิตเสวยอารมณ์(เติบโต)
๑๑. ชวนะจิต(๓) จิตเสวยอารมณ์(เติบโตเต็มที่)
๑๒. ชวนะจิต (๔) จิตเสวยอารมณ์(ทรงอยู่)
๑๓. ชวนะจิต (๕) จิตเสวยอารมณ์(เริ่มคลายตัว)
๑๔. ชวนะจิต(๖) จิตเสวยอารมณ์(คลายตัว)
๑๕. ชวนะจิต(๗) จิตเสวยอารมณ์(อ่อนตัวลง)
๑๖. ตทาลัมพนะจิต(๑) จิตหน่วงตัวลงสู่ภวังคจลนะจิต
๑๗.ตทาลัมพนะจิต(๒) จิตหน่วงตัวลงสู่อตีตภวังค์จิต


โดย: ผู้ติดตาม IP: 125.25.39.140 วันที่: 17 ธันวาคม 2554 เวลา:21:34:37 น.  

 
อ.ช่วยแบ่งปันในวิธีการฝึกสัมมาสติหน่อยได้ไหมครับ ว่าใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการสร้างสัมมาสติให้แข็งแรงขึ้น


โดย: วิทวัส IP: 110.77.228.168 วันที่: 18 ธันวาคม 2554 เวลา:2:00:06 น.  

 
ในการปฏิบัติจริง ๆ นักภาวนาจะไม่สามารถรับรู้แบบวิถีจิต 17 ขณะจิตได้เลย
เพราะมันเร็วมาก ๆ พอเกิดปุ๊บก็จบลงทันที

ยิ่งในคนธรรมดาที่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถเห็นอาการเหล่านี้ด้วยซ้ำไป จึงทำให้คนธรรมดาไม่เข้าใจธรรมชาติในจิตใจของตนเองว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแต่อย่างใดเลย เมื่อไม่เข้าใจ ก็หลงไปกับการยึดมั่นว่า นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา ทำให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไป


โดย: นมสิการ วันที่: 18 ธันวาคม 2554 เวลา:2:19:37 น.  

 
ตอบ คุณวิทวัส

เมื่อคนทำอะไรใหม่ๆ ที่ยังเคย ก็จะไม่ถนัด เช่นในคนทีว่ายน้ำไม่เป็น ใหม่ๆ ก็จะจมน้ำได้ง่าย ว่ายน้ำไม่ได้ แต่พอฝึกไปเรื่อย ๆ ก็จะว่ายยำได้เก่งขึ้น
ไม่จมน้ำ

แต่คนไม่เข้าใจกันแบบนี้ มักเข้าใจว่า การว่ายน้ำเป็นร่างกายควรมีกำลัง ก็เลยไปวิ่งออกกำลัง แต่การวิ่งออกกำลังมากเท่าใด ก็ไม่ทำให้คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นนั้น ว่ายน้ำเป็นได้เลย

การฝึกฝนสัมมาสติก็เช่นกัน เพียงแต่เราเข้าใจว่า สัมมาสติ คือ การระลึกรู้สภาวะแห่งขันธ์ 5 หรือ พูดง่ายว่า สภาวะของกายและใจ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องระลึกแบบไม่ยึดติด เพราะถ้าเป็นแบบยึดติดก็จะไม่ใช่สัมมาสติ เมื่อเราเข้าใจการระลึกรู้แบบไม่ยึดติดแบบสัมมาสติแล้วว่าเป็นอาการลักษณะอย่างไร เราก็หัดระลึกรู้แบบนี้บ่อย ๆ เมื่อหัดระลึกรู้แบบนี้บ่อย ๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นความเคยชิน เมื่อเคยชินมาก ๆ ก็จะทำให้สัมมาสติแข็งแรงมากขึน เมื่อสัมมาสติแข็งแรงมากขึ้น ก็จะกลายเป็นสัมมาสมาธิทีมีจิตตั้งมั่น เมื่อมีสัมมาสมาธิที่จิตตั้งมั้น ก็จักเห็นธรรมตามความเป็นจริง เมื่อเห็นธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในธรรม เกิดการปล่อยวาง จิตเป็นอิสระจากอวิชชา

การฝึกรูุ้แบบสัมมาสติ ขอให้ดูในวิดิโอ youtube ผมมีพูดถึงหลักการฝึกไว้ในช่วง 6 ตอนแรกใน youtube

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=11-2010&date=06&group=14&gblog=2

สรุป
เข้าใจหลักการว่า สัมมาสติคืออย่างไร แล้วก็ฝึกไปอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ กำลังความเข็มแข็งก็จะตามมาเอง


โดย: นมสิการ วันที่: 18 ธันวาคม 2554 เวลา:2:32:11 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 25 มกราคม 2555 เวลา:20:22:36 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.