Group Blog
 
 
ธันวาคม 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
11 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 

11 ธันวาคมในอดีต

11 ธันวาคม พ.ศ. 2228
วันลงนามใน "สัญญาซึ่งได้ทำกันในระหว่างเชอวาเลียเดอโชมอง เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับนายคอนซตันตินฟอลคอน ผู้แทนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทานอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสส่งพ่อค้าฝรั่งเศสมาทำการค้าขายในอินเดียตะวันออก ณ เมืองลพบุรี"

11 ธันวาคม พ.ศ. 2228
*ภาพแกะไม้ของชาวฝรั่งเศส แสดงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องทอดพระเนตรจันทรุปราคาเต็มดวงใน คืนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2228 พร้อมด้วยคณะทูต นักบวชและนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ณ พระตำหนักทะเลชุบศร เมืองลพบุรี (ภาพนี้เป็นต้นแบบของตราสมาคมดาราศาสตร์ไทย)
พระมหากษัตริย์ไทยกับดาราศาสตร์

11 ธันวาคม พ.ศ. 2333
วันประสูติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์แรก กับเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรก ที่ทรงได้รับสถาปนาให้ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ.2394 ถึงปี พ.ศ. 2396 รวม 2 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 64 พรรษา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) อันเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระมารดา คือ เจ้าจอมมารดาจุ้ย พระสนมโท ต่อมาได้เลื่อนเป็น “ท้าวทรงกันดาล” เป็นตำแหน่งผู้รักษาการคลังใน เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3 ) ทรงประสูติเมื่อ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1152 ตรงกับวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 และมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายวาสุกรี
สำหรับพระราชบิดาของพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้น ทรงมีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ประสูติที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้เข้ารับราชการ ทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการกู้บ้านเมือง จนได้เลื่อนยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และต่อมาได้ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นใหม่และตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2325 นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงครองราชย์เป็นเวลา 27 ปี และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนี้นอกจากจะทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถแล้ว ยังทรงเป็นกวีและนักปราชญ์อีกด้วย

เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปี พ.ศ.2345 พระองค์เจ้าวาสุกรีตามเสด็จออกผนวชเป็นสามเณร เป็นหางนาคหลวงของกรมพระราชวังหลัง (เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์พระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ 1) ในรัชกาลที่ 1

ทรงศึกษาหนังสือไทย และภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จพระพนรัตน์(แก้ว) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ผู้เป็นนักปราชญ์ล้ำลึกและมั่นคงเคร่งครัดในพระธรรมวินัย (สมเด็จพระพนรัตน์องค์นี้เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมเจดีย์ในสมัยกรุงธนบุรี ได้รับมอบหมายให้ไปจัดการสังฆมณฑลฝ่ายเหนือที่พิษณุโลก และได้เลื่อนเป็นที่พระพิมลธรรม แต่ต้องโทษในปลายรัชกาล เนื่องจากยึดมั่นในพระธรรมวินัย ไม่โอนอ่อนผ่อนตามพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ ครองวัดพระเชตุพนฯ และได้เป็นพระอาจารย์ของสามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ได้ถ่ายทอดพระธรรมวินัยและความรู้ทางด้านภาษาไทย และภาษามคธ บาลี โบราณคดี โหราศาสตร์ และเวทมนตร์ ตลอดทั้งวิธีลงเลขยันต์ต่างๆ สมเด็จพระพนรัตน์องค์นี้เป็นผู้อ่านประกาศเทวดา และเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎกในรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ได้นิพนธ์หนังสือภาษาบาลีไว้หลายเรื่อง และมีชื่อเสียงโด่งดังในการเทศน์มหาชาติ กัณฑ์ “นครกัณฑ์” ซึ่งบรรดาลูกศิษย์ของท่านก็ได้สืบทอดกันต่อๆ มาหลายรัชกาล)

สามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรีทรงศึกษาจนทรงมีพระปรีชาสามารถ ทั้งในด้านพุทธศาสนา และด้านวรรณคดีต่างๆ ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ประวัติศาสตร์ ระเบียบแบบแผนข้าราชการ ตำราพิชัยสงคราม ทรงมีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

พระองค์ประทับจำพรรษาและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพนฯ จนสิ้นรัชกาลที่ 1 ขณะนั้นพระชนม์ได้ 19 พรรษา ก็ไม่ทรงสึก เนื่องจากอายุยังไม่ครบผนวชเป็นพระภิกษุจึงทรงเป็นสามเณรต่อไป จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 ) จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปีมะแม พ.ศ.2354 สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “สุวัณณรังษี” และได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จประทับที่เดิม ณ วัดพระเชตุพน ฯ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพ ฯ ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกลางแล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ฯ ทรงสมศักดิ์ที่มหาสังฆปริณายก ประธานสงฆบริษัททั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่วัดพระเชตุพนฯมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกหรือร่ายยาวมหาชาติซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์

ในทางพระพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โดยทรงเลือกพระอิริยาบทต่าง ๆ จากพุทธประวัติเป็นจำนวน 37 ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร พระพุทธรูป ปางต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสเทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น

ในทางอักษรศาสตร์ ก็ได้นิพนธ์เรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นิพนธ์บทกวีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าเป็นเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมของไทยตลอดมา ในปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ.2533 นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ อาจจะเนื่องจากไม่มีพระเถระรูปใด มีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนาตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ตามพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ พระเถระที่จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะนั้น ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอุปัชฌาย์เป็นอาจารย์เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์ หรือเป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา แม้ว่าจะว่างสมเด็จพระสังฆราชแต่การ ปกครองคณะสงฆ์ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากแต่โบราณมาพระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ โดยมีเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่ง เจ้ากรมสังฆการี เป็นผู้กำกับ ดูแลแทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรงทรงดำรงฐานะปูชนียบุคคล การปกครองในลักษณะนี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

ในบรรดาผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการจารึกสรรพวิชาลงในจารึกวัดพระเชตุพน นั้นก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นรัตนกวีแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ในพระองค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ ไพเราะด้วยภาษาที่ถูกต้องตามแบบแผนอีกทั้งฉันทลักษณ์ที่ใช้ก็เป็นแบบฉบับที่เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้หมวดอักษรศาสตร์ และหมวดวรรณคดีนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรับเป็น ธุระในการเลือกสรรเรื่องที่จะจารึก ซึ่งได้แก่ ตำราฉันท์วรรณพฤติ 50 แบบ และกลบท การที่ทรงเลือกฉันท์และกลบทมาเป็นแบบอย่างนั้น ก็เพื่อที่จะได้ทะนุบำรุงความรู้ทาง อักษรศาสตร์ให้เฟื่องฟู มิให้มีสภาพถดถอย ดังความที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภไว้ว่า

ด้วยก่อนเก่าเหล่าลูกตระกูลปราชญ์
ทั้งเชื้อชาติชนผู้ดีมียศศักดิ์
ย่อมหัดฝึกสึกสาข้างอาลักษณ์
ล้วนรู้หลักพากย์พจน์กลบทกลอน
ทุกวันนี้มีแต่พาลสันดานหยาบ
ประพฤทบาปไปเสียสิ้นแผ่นดินกระฉ่อน
จะหาปราชญ์เจียนจะขาดพระนคร
จึงขอพรพุทธาไตรญาคุณ
(คัดลอกตามต้นฉบับ)

- ฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์เป็นชื่อของคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งกำหนดจำนวน ของคำแต่ละพยางค์ ประกอบด้วยสระที่มีเสียงสั้น (ลหุ) และสระเสียงยาว (ครุ) ฉันท์ตามคัมภีร์วุตโตทัยมีอยู่ 108 ฉันท์ ในชั้นแรกแต่งเป็นภาษาสันสกฤต ในสมัยหลัง พระสังฆรักขิตเถระได้แปลเป็นภาษาบาลี เมื่อไทยรับอิทธิพลทางด้านอักษรศาสตร์จากอินเดีย ฉันท์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไทยรับเอาแบบอย่างมาด้วย ในสมัยอยุธยาเข้าใจว่า พระมหาราชครูคงเป็นบุคคลแรกที่ดัดแปลงฉันท์ภาษาบาลีมาแต่งเป็นฉันท์ในภาษาไทยคือ เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์ที่พระมหาราชครูแปลงมี 6 ประเภท
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงแปลงฉันท์วรรณพฤติต่อจากโบราณาจารย์อีก 44 ฉันท์ เพื่อเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์ 50 ฉันท์ ดังความที่พระองค์ได้ทรงปรารภไว้เบื้องต้นว่า
ตูผู้ผนวชเสนอนามยศ กรมนุชิตชิโนรส รจิตประดิษฐ์แสดงสาร
พฤตโตไทยฉันทตำนาน แปลเปลี่ยนโวหาร มคธคัมภีร์ภาษา
แปลเป็นสยามพากย์พจนา ต่อเติมโบรา- ณะแบบบัญญัติฉัฏฐฉันท์

ฉันท์วรรณพฤติ 44 ฉันท์ ที่ทรงนิพนธ์นี้ นอกจากจะมีความไพเราะเป็นเลิศแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของการแต่งฉันท์ ซึ่งเป็นคำประพันธ์ชั้นสูงที่ได้รับการยกย่องจาก นักปราชญ์ราชบัณฑิตว่า ต้องใช้ฝีมือในการประพันธ์ หากแต่เนื้อเรื่องในแต่ละตอนที่ทรงเลือกสรรมานั้น เป็นพระพุทโธวาทที่สั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนหลีกเลี่ยงสาเหตุของความประพฤติที่ไม่สมควร เช่น โทษของการดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูมหรสพ การเป็นนักเลง อาจกล่าวได้ว่า งานพระนิพนธ์มีความสมบูรณ์ทั้งรสคำและรสความ มีคุณค่าเปี่ยมล้นทางวรรณศิลป์ และข้อคิดเตือนใจ
นอกจากนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแปลง ฉันท์มาตราพฤติที่มีอยู่ 27 ฉันท์ ออกเป็นฉันท์ไทยอีก 8 ฉันท์ ดังความที่ว่า
อีกมาตราพฤติเพียรนิพนธ์ อัษฎาพิธดล ตำหรับแต่ปางไม่มี
สฤษฎิไว้ในโลกเฉลิมศรี อยุทธเยศธานี ทำนุกพระเกียรติกระษัตรา
จงยืนอยู่ชั่วกลปา วสานสืบสา ธุชนเชี่ยวเฉลียวเชลง

- เพลงยาวกลบทและกลอักษร ว่าด้วยการแต่งกลอนกลบทและกลอนกลอักษร ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงในการแต่งคำประพันธ์ กลอนกลบทคือ กลอนซึ่งเพิ่มเติมลักษณะพิเศษในการเล่นคำ สัมผัส หรือวรรณยุกต์ ให้แปลกจากบัญญัติเดิมโดยจินตนาการของ ผู้แต่ง ส่วนกลอนกลอักษรคือ กลอนที่มีวิธีการเขียนยักเยื้องไปต่างๆ ผู้ที่อ่านกลอนกลอักษรได้ต้องเข้าใจชั้นเชิงของผู้แต่ง จึงจะสามารถอ่านได้ถูกต้อง เพลงยาวกลบทมี 40 บท ส่วนเพลงยาวกลอักษรมีจำนวนน้อยกว่า คือ มีเพียง 10 บท กลบทและกลอักษรหลายบทมีลักษณะตรงกับในกลบท เรื่องศิริวิบุลยกิตต์ วรรณกรรมในรัชกาลที่ 1 ผู้นิพนธ์ประกอบไปด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นไกรสรวิชิต หลวงลิขิตปรีชา หลวงนายชาญภูเบศร์ จ่าจิตร์นุกูล ขุนธนสิทธิ์ เพลงยาวนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นิพนธ์จะต้อง ใช้ความเชี่ยวชาญอย่างเลิศในการสร้างสรรค์ งานนิพนธ์ ซึ่งงดงามและไพเราะทางด้านวรรณศิลป์เช่นนี้ และที่ควรสังเกตก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการพระราชนิพนธ์ถึง 16 บท
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

11 ธันวาคม พ.ศ. 2453
ยุบเลิกกรมยุทธนาธิการ ให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บัญชาการทหารบกทั่วไป และยกฐานะกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงการทหารเรือ

11 ธันวาคม 2507
เปิดโรงกลั่นน้ำมันศรีราชา ที่อ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี ของบริษัทกลั่นน้ำมันไทย เป็นอุตสาหรรมเอกชนสายใหญ่ที่สุดขณะนั้น ใช้คนงานพนักงาน 200 คน
ที่มา : หนังสือสมุดบันทึก 50 ปี ทรงครองราชย์ 2489-2538 กาญจนาภิเษก โดย : สตรีสาร 48/52 ฉบับอำลา

11 ธันวาคม พ.ศ. 2511
กระทรวงกลาโหมอนุญาตให้กองพลทหารอาสาสมัครที่ไปทำการรบในสงครามเวียดนาม ใช้เครื่องหมายประดับไหล่ "เสือดำ" เป็นสัญลักษณ์ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้กำลังพลในกองพลอาสาสมัครมีใจฮึกเหิม มีความภาคภูมิใจ และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติการรบให้สูงเด่นยิ่งขึ้น
Vietnam War

11 ธันวาคม 2546
การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit – AJCS) ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2546 ณ กรุงโตเกียว เนื่องในโอกาสที่ปี 2546 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Exchange Year) รวมทั้งเพื่อเป็นการฉลองครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยในการประชุมครั้งนี้มีภาระกิจสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทำที่สำคัญ คือ 1) การประกาศเปิดการการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุน (JTEPA) อย่างเป็นทางการ และ 2) การลงนามในแถลงการณ์โตเกียว (Tokyo Declaration for A Dynamic and Enduring ASEAN-Japan Partnership in the New Millennium) และแผนปฎิบัติงาน (Action Plan) ร่วมกับผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่น

การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Closer Economic Partnership: JTEP) เป็นการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยจะครอบคลุมสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวม 21 สาขา ในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้า ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และเมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นลงจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเป็นความร่วมมือระหว่างกันในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายจะมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ภาวะการค้าไทย-ญี่ปุ่น การค้าปี 2541-2545 มีมูลค่าการค้ารวมเฉลี่ยปีละ 22,411.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 9,171.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 13,239.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขาดดุลการค้าเฉลี่ยปีละ 4,068.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สิ่งที่คาดหวัง/ผลกระทบจากการมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้า ที่สำคัญ คือ ในด้านการค้าสินค้ามีการขยายการค้ากับญี่ปุ่นได้มากขึ้น สำหรับสินค้าอาหาร เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้ง เนื้อปลาและปลาหมึกสด ไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น ด้านบริการสาขาบริการที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ การบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจความงามและเสริมสวย สำหรับสาขาบริการที่อาจได้รับผลกระทบบ้างจากการเปิดเสรีไดแก่ การก่อสร้าง โทรคมนาคม และการเงิน
ข่าวเจรจาการค้าระหว่างประเทศ




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2548
4 comments
Last Update : 22 ธันวาคม 2548 18:39:51 น.
Counter : 1519 Pageviews.

 

สวัสดีครับ ยังไม่ลืมครับ เม้นท์ก่อนแล้วค่อยอ่านนะครับ

 

โดย: me2you 11 ธันวาคม 2548 6:42:26 น.  

 

สวัสดีค่ะ เม้นท์แล้วอ่านจนจบก็ดีนะคะ

 

โดย: Aisha 11 ธันวาคม 2548 7:38:10 น.  

 

ม่ะเคยรู้มาก่องเลยค่ะ

 

โดย: ปลาทูน่าในบ่อปลาพยูน 11 ธันวาคม 2548 9:42:37 น.  

 

ยังอ่านไม่จบเลยครับ

 

โดย: me2you 11 ธันวาคม 2548 20:03:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Aisha
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่
Aisha's blog ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

Friends' blogs
[Add Aisha's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.