เทศกาล Cinema Days of Beirut : แม้สงครามยังไม่จบ พบกันที่‘เบรุต’



Cinema Days of Beirut
แม้สงครามยังไม่จบ พบกันที่‘เบรุต’

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 24 กันยายน 2549


ถ้าบ้านเมืองเผชิญกับภาวะสงคราม ผู้คนจะยังต้องการดูหนังอยู่หรือ? นี่คือคำถามที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง ต่างวาระ แต่เกี่ยวเนื่องมาจากสงครามเดียวกัน คือสงครามอิสราเอล-เลบานอนช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา

ครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เยรูซาเลม ระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม สงครามเปิดฉากขึ้นตรงพรมแดนอิสราเอล-เลบานอน ทางตอนเหนือของกรุงเยรูซาเลมอันเป็นสถานที่จัดงานหลังจากเทศกาลดำเนินมาได้ 6 วัน ข่าวความตายและความเสียหายเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่ผู้คนยังหลั่งไหลเข้าสู่เทศกาลไม่ขาดสาย กำหนดการฉายหนังและกิจกรรมต่างๆ ยังคงดำเนินไปตามปกติ

ผลสะท้อนจากสงครามที่เห็นได้คือ ปฏิกิริยาของกรรมการตัดสินรางวัลและศิลปินที่ไม่เข้าร่วมงานเลี้ยงในค่ำคืนที่ นายเอฮุด โอลเมิร์ต นายกรัฐมนตรีอิสราเอล มาร่วมงาน และผลรางวัลส่วนใหญ่ซึ่งมอบให้แก่หนังที่มีเนื้อหาวิพากษ์ความอยุติธรรมบนความขัดแย้งในสังคม (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)


พร้อมๆ กันนั้น อีกฟากฝั่งของพรมแดนที่ถือว่าอยู่ในเขตสงครามและได้รับความเสียหายโดยตรงอย่างกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ได้เกิดคำถามเดียวกันต่อผู้จัดงาน Ayam Beirut al-Cinemaiya หรือ Cinema Days of Beirut แม้ช่วงเวลาของเทศกาลจะอยู่ห่างออกไปในเดือนกันยายน และแม้สงครามจะยุติลงแล้วหลังจากนั้น แต่ก็มีคำถามว่าเบรุตหลังสงครามยังพร้อมสำหรับจัดเทศกาลหนังอยู่หรือ

คำตอบจากฝ่ายจัดงานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เทศกาลต้องมีขึ้นเพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นไร ชีวิตต้องดำเนินต่อไป”

Cinema Days of Beirut หรือเทศกาลภาพยนตร์เบรุต จัดโดยองค์กรเบรุต ดีซี(Beirut Development & Cinema) กลุ่มคนทำหนังและศิลปินที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนนักสร้างหนังอิสระชาวอาหรับ โดยได้เงินทุนจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการของยูโรเมด(ความร่วมมือระหว่าง 15 ประเทศในสหภาพยุโรป กับ 12 ชาติลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียน)

เทศกาลภาพยนตร์เบรุตเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2001 และจัดต่อมาอีก 2 ครั้งในปี 2002 และ 2004 ปีนี้จึงเป็นเทศกาลครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ โซฟิล และเมโทรโพลิส แต่ด้วยสถานการณ์สงคราม จำนวนหนังที่ฉายในเทศกาลซึ่งวางไว้มากกว่า 100 เรื่อง ต้องลดจำนวนลงเหลืองเพียง 40 เรื่องเท่านั้น

ฮาเนีย เอ็มรู สตรีหัวเรือใหญ่ของเทศกาลและเป็นผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เมโทรโพลิส หนึ่งในสถานที่ฉายหนังและเป็นโรงหนังอาร์ตเฮาส์โรงเดียวในเมืองที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม หรือก่อนอิสราเอลโจมตีพรมแดนเลบานอนเพียง 1 วัน เล่าถึงสถานการณ์ช่วงสงครามว่า ชาวบ้านมาดูหนังที่นี่อย่างต่อเนื่องแม้ว่ากรุงเบรุตจะถูกอิสราเอลบอมบ์ใส่

ฮาเนียไม่เข้าใจว่าอะไรนำพาให้ผู้คนยังเดินเข้าโรงหนังในช่วงสงคราม แต่เหตุการณ์นี้คงทำให้เธอมั่นใจว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะยกเลิกเทศกาลหนังครั้งนี้

กระนั้น ระหว่างที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาหนึ่งที่ทีมงานต้องวิตกกังวลคือ สนามบินเบรุตเสียหายอย่างหนัก ขณะที่เทศกาลต้องประสานงานและนำเข้าฟิล์มจากต่างประเทศ ทั้งยังมีแขกรับเชิญ-นักสร้างหนังต่างชาติจำนวนมาก แผนงานเทศกาลจึงเดินหน้าโดยไม่อาจคาดเดาได้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น สนามบินจะพร้อมทำการหรือไม่ และสถานการณ์ในประเทศจะเป็นเช่นใด


สำหรับหนังที่ฉายในเทศกาลมีไฮไลต์อยู่ที่หนังยาว 4 เรื่องจากนักสร้างหนังชาวแอลจีเรีย เรื่องแรกเป็นงานคลาสสิค The Battle of Algiers(1966) ของ กิลโล พอร์เตคอร์โว ว่าด้วยสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวแอลจีเรีย เป็นหนังที่โดนแบนในฝรั่งเศสชาติเจ้าอาณานิคมถึง 4 ทศวรรษ Bled Number One หนังฝรั่งเศสของ ราบาร์ อาเมียร์ –ซามิเช ผู้กำกับฯชาวแอลจีเรีย ซึ่งได้รางวัล Award of the Youth ที่เมืองคานส์เมื่อต้นปี

*Nuit Noire 17 Octobre 1961 ของ อลาอิน ทาสมา เกี่ยวกับเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวแอลจีเรียในฝรั่งเศส และหนังสารคดี Amina, Mixed Feelings ของ ลอเรตต์ โมคาร์นี เล่าถึงชีวิตเด็กวัยรุ่นชาวแอลจีเรียที่หนีไปอยู่ปารีส

ไฮไลต์อีก 2 เรื่องคือ Iraq in Fragments หนังสารคดีว่าด้วยสงครามในอิรัก ของ เจมส์ ลองลีย์ ผู้กำกับฯชาวอเมริกัน ซึ่งกวาดหลายรางวัลจากเทศกาลหนังซันแดนซ์หนล่าสุด และรอบเวิลด์ พรีเมียร์ ของ Falafel โดย มิเคล คัมมูน หนังเลบานอนที่มีฉากหลังเป็นกรุงเบรุตหลังสงคราม

นอกจากนี้ ยังมีหนังจากชาติอาหรับอีกหลายประเทศและหนังจากผู้กำกับฯชาติอื่นที่นำเสนอมุมมองต่อโลกอาหรับ

เรมี บอนฮูมเม อีกหนึ่งทีมงานคนสำคัญกล่าวไว้ว่า นี่คือสัญญาณอันทรงพลังที่ส่งไปยังชาวเลบานอนว่าพวกเขายังไม่ถูกลืม ขณะที่ อีเลน ราเฮบ หนึ่งในผู้กำกับฯที่มาร่วมงานกล่าวว่า เทศกาลนี้ต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อเป็นสัญญาณแห่งการฝืนต้านทางวัฒนธรรม และกรุงเบรุตจะกลับมาเป็นแสงสว่างทางศิลปวัฒนธรรมอาหรับในไม่ช้า

แม้ถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้องกับงานครั้งนี้จะต่างกันออกไป แต่ทุกความเห็นล้วนแต่สื่อถึงสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของเทศกาลภาพยนตร์เบรุต ว่าไม่ใช่เพื่อความบันเทิง การค้า หรือเม็ดเงิน ดังเช่นเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่ๆ ที่ผู้คนและสื่อให้ความสำคัญ

หากเป็นคุณค่าความดีงามที่สิ่งเลวร้ายอย่างสงครามไม่อาจทำลายลงได้ และชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปเสมอ...



Create Date : 27 ตุลาคม 2549
Last Update : 27 ตุลาคม 2549 15:09:47 น. 7 comments
Counter : 1087 Pageviews.

 
คุยเรื่องสงครามอีกแล้น

แล้วเจ้าของบล็อกล่ะคะ
ถ้าบ้านเมืองเผชิญกับภาวะสงคราม จะยังต้องการดูหนังอยู่มั้ยเจ้าคะ?


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 27 ตุลาคม 2549 เวลา:15:46:45 น.  

 
ผมนึกถึง Devine Intervention หนังสะท้อนปัญหาคนปาเลสไตน์กับอิสราเอล เรื่องเล็ก ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะอคติทางชาติพันธ์


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 27 ตุลาคม 2549 เวลา:16:53:03 น.  

 
นึกถึง Devine Intervention เหมือนกันครับ


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 27 ตุลาคม 2549 เวลา:17:11:04 น.  

 
เข้ามายกมือตามคุณความเห็นที่1
ว่าว่างเมื่อไหร่ขอไปดูหนังโด้ยยยคนนะค้าบอสสส
อิอิอิ



โดย: LunarLilies* วันที่: 27 ตุลาคม 2549 เวลา:17:51:50 น.  

 
The Festival must go on !



โดย: renton_renton วันที่: 28 ตุลาคม 2549 เวลา:23:11:13 น.  

 


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 30 ตุลาคม 2549 เวลา:2:56:42 น.  

 
มายกมือสนับสนุนค่ะ ท่ามกลางความแห้งแล้งและโหดร้ายของสงคราม เทศกาลหนังน่าจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจได้ดี


โดย: unwell วันที่: 30 ตุลาคม 2549 เวลา:16:11:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.