United 93-The Wind That Shakes the Barley ปฏิกิริยา‘ต่อต้าน’หนัง หลังฝุ่นคละคลุ้งอาจเห็นความดีงาม



United 93-The Wind That Shakes the Barley
ตัวอย่างปฏิกิริยา‘ต่อต้าน’หนัง
หลังฝุ่นคละคลุ้งอาจเห็นความดีงาม


ขณะที่แนวโน้มภาพยนตร์ไทยยุคฟองสบู่ครั้งใหม่กำลังถึงจุดอิ่มตัว ผู้สร้างยังไม่อาจคาดหวังหรือเอาแน่นอนกับตลาดผู้ชมคนไทย ความสำเร็จ-ล้มเหลวยืนอยู่คนละฝั่งอย่างแนบชิด พร้อมจะพลิกออกทางไหนก็ได้

ภาวะเช่นนี้ แนวหนังที่เห็นว่าถูกใจตลาดจึงถูกนำมาพลิกแพลงขายกันจนเฝือ ส่วนของแสลงสำหรับคนไทยแม้ว่ามีคุณค่าก็จำต้องซุกไว้เป็นโครงการในฝันต่อไป

กระนั้น วิบากกรรมของหนังไทยไม่ได้มีแค่นี้ เมื่อต้องเผชิญกับการรุกอย่างต่อเนื่องของปฏิกิริยา “ต่อต้าน” อะไรบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในหนังตลอดระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เริ่มจากเดือนเมษายน หนังสยองขวัญ “ล่า-ท้า-ผี” ถูกกระทรวงวัฒนธรรมกัมพูชาสั่งแบนด้วยข้อหาทำลายชื่อเสียงของประเทศและฉกฉวยเอาโศกนาฏกรรมในอดีตของกัมพูชามาสร้างเป็นงานบันเทิง ทีมงานผู้สร้างรีบแถลงข่าวขอโทษและขอขมา โดยหนังยังได้ฉายในไทยตามกำหนดการเดิม

พฤษภาคม เอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขอให้ผู้สร้าง “หมากเตะโลกตะลึง” แก้ไขเนื้อหาโดยไม่ให้มีประเทศลาวเข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากมีประชาชนลาวจำนวนมากร้องเรียนแสดงความไม่พอใจว่าหนังมีเนื้อหาดูหมิ่นพวกเขา ผลสุดท้ายผู้สร้างยอมเซ็นเซอร์ตนเอง ระงับการฉายก่อนกำหนดไม่กี่วันเพื่อนำไปตัดต่อใหม่

มิถุนายน เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มนักศึกษาชาวเขายื่นจดหมายถึงสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ท้วงติงหนังเรื่อง “รักจัง” นำเสนอวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาผิดเพี้ยน

เว้นไป 1 เดือน เดือนสิงหาคมเกิดถึง 3 กรณี เริ่มจากต้นเดือน หนังผี-ตลกเรื่อง “โกยเถอะโยม” ถูกองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยประท้วงถึงความไม่เหมาะสมของชื่อเรื่องและเนื้อหาบางส่วนที่ทำลายความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ พร้อมร้องขอให้มีการเลื่อนฉายจนกว่าจะมีการแก้ไข สุดท้ายหนังเข้าฉายตามปกติโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ

กลางเดือน นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช วิจารณ์ใบปิดหนังเรื่อง “เดอะ กิ๊ก” ว่าสนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมนอกใจคู่รัก


สัปดาห์ถัดมา กองเซ็นเซอร์สั่งให้ผู้สร้างหนังเรื่อง “อาจารย์ใหญ่” แก้ไขชื่อหนังและเนื้อหาบางจุดตามที่คณาจารย์และนักศึกษาแพทย์ท้วงติงว่าอาจสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ที่แสดงเจตนาบริจาคร่างกาย และกระทบต่อสถาบันแพทย์ ผู้สร้างยินดีแก้ไขโดยดีรวมทั้งเปลี่ยนชื่อหนังเป็น “ศพ”

เหล่านี้คือปฏิกิริยาแง่ลบต่อหนังไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งโวยวายตามลำพังและการรวมตัวประท้วง บ้างไร้สัญญาณสนับสนุนขณะที่บางกรณีเกิดกระแสต่อต้าน-ผสมโรง ทั้งไม่มีผลต่อหนังไปจนถึงขั้นต้องระงับการฉาย

เป็นวิบากกรรมของหนังไทยที่บังเอิญเกิดขึ้นไล่เรียงกันจนกลุ่มคนทำหนังต้องถอนหายใจกันเฮือกใหญ่




ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน มีหนังต่างประเทศที่ถูกปฏิกิริยาต่อต้านภายในชาติตนเองเข้ามาฉายในบ้านเรา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ United 93 หนังอเมริกัน กำกับฯโดย พอล กรีนกราสส์ กล่าวถึงเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยเจาะจงไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเครื่องบินโดยสารลำสุดท้ายที่ถูกผู้ก่อการร้ายยึดได้ แต่พุ่งชนเป้าหมายไม่สำเร็จเนื่องจากผู้โดยสารฮึดสู้

อีกเรื่องหนึ่งคือ The Wind That Shakes the Barley โดย เคน โลช ผู้กำกับฯชาวอังกฤษ เกี่ยวกับสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวไอริชระหว่างปี 1919-1923 ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุด

ปฏิกิริยาต่อต้าน United 93 นับว่าไม่เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะวินาศกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดซึ่งก่อให้เกิดความโศกเศร้าสะเทือนใจและความหวาดกลัวถึงขีดสุดในความรู้สึกของชาวอเมริกันทั้งมวล เพิ่งผ่านพ้นไปเพียง 5 ปี เท่านั้น

เรียกว่าบาดแผลยังเปิดกว้างเกินกว่าจะยอมรับได้ หากถูกสะกิดด้วยภาพที่ฉายชัดเสียดแทงใจ

เพียงแค่หนังตัวอย่างที่เป็นภาพข่าวเหตุการณ์จริงกับภาพในหนังซึ่งจำลองสถานการณ์ภายในเครื่องบินดูจริงจังบีบคั้นได้ก่อให้เกิดความโกรธขึ้งไม่พอใจจากผู้ชมจำนวนมาก หลายคนร้องเรียนไปยังโรงหนังและยูนิเวอร์แซล เจ้าของหนังเรื่องนี้ให้ยุติการฉายหนังตัวอย่างดังกล่าว กระทั่งมีโรงหนังในแมนฮัตตันโรงหนึ่งยอมทำตามเสียงเรียกร้องในที่สุด


กระแสต่อต้านผ่านการแสดงออกด้านต่างๆ เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บ้างใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า “กล้าดียังไง” หรือ “บอยคอตมันซะ”(Pulp, ฉบับที่ 33 หน้า 34) กระทั่งเว็บไซต์เป็นทางการของหนัง United 93 ซึ่งมีพื้นที่บอร์ดให้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็น ถูกปิดลงโดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุ

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นแตกต่าง และยูนิเวอร์แซลยังสนับสนุนหนังเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยให้เหตุผลว่าหนังสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความจริง และเพื่อยกย่องวีรกรรมความกล้าหาญของกลุ่มผู้โดยสารที่ฮึดสู้กับผู้ก่อการร้ายจนเครื่องบินไม่ได้พุ่งชนเป้าหมายซึ่งคาดว่าเป็นทำเนียบขาว

สุดสัปดาห์ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาคือกำหนดเปิดตัวหนังเรื่องนี้พร้อมกัน 1,795 โรง ถึงขณะนี้ทำรายได้รวมแล้วเกินกว่า 30 ล้านเหรียญเฉพาะในสหรัฐ(ทุนสร้างราว 15 ล้านเหรียญ) พร้อมกับได้รับคำวิจารณ์แง่บวกจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่

กล้าหาญ มีพลัง และเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์...คือภาพรวมของเสียงชื่นชมที่ United 93 ได้รับ




สำหรับ The Wind That Shakes the Barley ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวในสงครามกู้ชาติและสงครามกลางเมืองไอริช แม้จะเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 1919-1923 อีกทั้งการแบ่งแยกดินแดนโดยไออาร์เอได้ยุติบทบาทลงไปแล้ว แต่การที่ เคน โลช ผู้กำกับฯวัย 70 ปี ชาวอังกฤษ ได้ยืนเล่าเรื่องอยู่ฝั่งเดียวกับชาวไอริช และถ่ายทอดความทารุณป่าเถื่อน โป้ปดมดเท็จ ของชาวอังกฤษ ทำให้เขาถูกปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากคนในบ้านเกิด

ทิม ลัคเฮิร์ตส์ นักวิจารณ์การเมืองปีกขวา เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ ว่า The Wind That Shakes the Barley คือความชั่วร้ายของกลุ่มต่อต้านสหราชอาณาจักรในประวัติศาสตร์สงครามเพื่ออิสรภาพไอริช

ลัคเฮิร์ตส์เรียก เคน โลช ว่าเป็นผู้กำกับฯมาร์กซิสต์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตนเองตลอดเวลา 40 ปี แม้กำแพงเบอร์ลินได้ล่มสลายไปแล้ว นอกจากนี้ เขายังเปรียบเทียบโลชว่าเลวร้ายกว่า เลนี่ ไรเฟนสตาห์ล สตรีนักสร้างหนังโฆษณาชวนเชื่อให้กับนาซีสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2


ขณะที่ รัธ ดัดลี่ เอ๊ดเวิร์ด ตั้งชื่อบทความที่เขียนลงในเดลี่ เมล ว่า “ทำไม เคน โลช ถึงได้เกลียดชังประเทศของเขามากนัก” โดยเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวว่าหนังได้วาดภาพอังกฤษให้เป็นพวกซาดิสม์ ขณะที่ชาวไอริชเป็นพวกโรแมนติก ร่ายยาวประวัติพร้อมทั้งย้อนคำพูดของโลชที่อ้างว่าต้องการเสนอข้อเท็จจริงในอดีตว่า “อะไรคือความจริงในมือของนักโฆษณาชวนเชื่อมาร์กซิสต์?”

แม้เคน โลช จะพา The Wind That Shakes the Barley ไปประกาศศักดาคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมที่เมืองคานส์ ซึ่งคณะกรรมการตัดสินเองมีชาวอังกฤษถึง 2 คน(ทิม รอธ กับเฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์) แต่สื่ออังกฤษบางแห่งไม่ได้มองรางวัลนี้ด้วยความภาคภูมิใจ บางรายเย้ยว่าเป็นเรื่องฟลุค ไม่ก็หมิ่นแคลนว่าเป็นแค่รางวัลเกียรติยศสำหรับผู้สูงอายุ

หนังเรื่องนี้ถูกจำกัดการฉายเพียง 30 ก๊อปปี้ ในอังกฤษ น้อยกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ของโลชเอง และน้อยกว่าฝรั่งเศสซึ่งพิมพ์ฟิล์มหนังเรื่องนี้ถึง 300 ก๊อปปี้ กระทั่งหลังจากได้รางวัลที่เมืองคานส์ จำนวนโรงฉายในอังกฤษจึงเพิ่มขึ้นเป็น 105 โรง

ส่วนนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวเมืองผู้ดีส่วนใหญ่มองตรงข้ามกับนักวิจารณ์การเมืองโดยสิ้นเชิง พวกเขาต่างยกย่องหนังของเคน โลช ว่า กล้าหาญ มีพลัง กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความคิดและตั้งคำถามต่อเรื่องราวที่ถูกละเลยในประวัติศาสตร์




เห็นได้ว่า ทั้งกรณี United 93 และ The Wind That Shakes the Barley นั้นล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก หรือมีแง่มุมความเหมาะควรที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาไม่ยอมรับ ไม่ได้เบากว่าหรืออาจจะเข้มข้นมากกว่าหลายๆ กรณีที่เกิดกับหนังไทย

ไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิกิริยาทางสังคมจะเป็นเช่นไร กระนั้น หนังทั้ง 2 เรื่อง ยังได้โอกาสพิสูจน์ตนเองในสถานะที่เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ โดยไม่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ และบังเอิญว่าต่างได้รับเสียงชื่นชมโดยพร้อมเพรียงว่าเป็นหนังดี แบบไม่มีมาตรวัดทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

ผู้เขียนไม่ได้มีจุดประสงค์จะประเมินว่าปฏิกิริยาต่อต้านในกรณีใดถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร หากแต่ชี้ให้เห็นว่า ภาพยนตร์มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์คือสื่ออิสระไม่ต่างจากสื่อชนิดอื่น ทั้งยังมีส่วนประกอบของศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเกี่ยวข้อง

จากหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับหนังไทย โดยเฉพาะกรณีที่ปฏิกิริยาต่อต้านมีเหตุมีผล ได้รับเสียงตอบรับจากคนส่วนใหญ่ ใช่หรือไม่ว่าปฏิกิริยาต่อต้านนั้นจะขยายตัวพร้อมที่จะกลบกลืนหรือปฏิเสธสถานะของภาพยนตร์เรื่องนั้นโดยทันที ราวกับว่าหนังเป็นผลิตผลของสังคมอย่างเต็มตัว ไม่มีอิสรภาพในฐานะปัจเจกเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ได้สร้างขึ้นด้วยทุนอิสระ ทั้งที่จริงๆ แล้ว แม้แต่ผู้ชมซึ่งซื้อตั๋วเข้าไปชมก็ตัดสินใจด้วยตนเองทั้งนั้น


แน่นอนว่า ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและพื้นฐานทางสังคมมีผลอย่างมาก เมืองไทยซึ่งผู้คนให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เป็นนามธรรมและมีคุณค่าในเชิงจิตใจมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ความเชื่อ หรือศีลธรรม เช่น ความกตัญญูรู้คุณ เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่เคารพหรือมีแนวโน้มจะทำลายคุณค่าดังกล่าว ปฏิกิริยาต่อต้านก็จะเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งและอยู่เหนือกว่าเหตุผลในเชิงรูปธรรม(ขณะที่ภาพความรุนแรงต่อเด็กทารกอย่างชัดแจ้งในหนังเรื่อง โคลิค เด็กเห็นผี กลับไม่มีใครใส่ใจ)

ตรงจุดนี้ ผู้สร้างหนังเองต้องตระหนักไว้ให้มั่น ต้องเรียนรู้ในบทเรียน รู้จักหลีกเลี่ยงโดยไม่คิดแต่จะอ้างเหตุผลเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก หรือฉกฉวยเรื่องละเอียดอ่อนมาเป็นจุดขาย

ขณะเดียวกัน การแสดงปฏิกิริยาต่อต้านทางสังคมจะเข้มแข็งจริงจังอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าหนังและผู้สร้างหนังก็มีสิทธิในการแสดงออกด้วยเช่นกัน โดยนอกจากมาตรวัดทางสังคมแล้ว ในสถานะหนังเรื่องหนึ่งๆ ยังต้องถูกตัดสินตีค่าในความเป็นหนัง ทั้งยังมีมูลค่าให้ต้องถูกประเมินผ่านการตัดสินใจซื้อตั๋วของผู้ชมอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ เจตนาของผู้สร้างหนังบางเรื่องใช่ว่าจะต่ำต้อยด้อยค่าจนไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ

และคงน่าเป็นห่วงหากปฏิกิริยาต่อต้านหนังในบ้านเราจะมีทิศทางไม่ต่างจากการทำหน้าที่เซ็นเซอร์ของหน่วยงานราชการที่ทำแบบเหมารวม ขาดวิจารณญาณแยกแยะ

กรณีศึกษาหนังต่างประเทศ 2 เรื่องดังกล่าว เป็นตัวอย่างให้มองเห็นว่าถ้าสังคมแบ่งสรรบทบาท รู้จักแยกแยะ และให้โอกาส บางครั้งหลังฝุ่นคละคลุ้งของปฏิกิริยาต่อต้าน อาจมีแง่มุมที่ดีงามตามมาก็เป็นได้



Create Date : 29 กันยายน 2549
Last Update : 29 กันยายน 2549 16:41:55 น. 6 comments
Counter : 1352 Pageviews.

 
บางทีมันก็หาจุดตรง "ความพอดี" มันยากนะ

คนที่ถูกกล่าวถึงในทางไม่ดี ก็พยายามปกป้องตัวเอง

ฝ่ายสร้างก็อยากตีแผ่ความจริง



เราเองเวลาเห็นเรื่องอย่างนี้ทีไร จะคิดว่า "แหม..ก็แค่หนังนะ ไม่ใช่สารคดีสักหน่อย ถึงต้องเป็นจริงหมด"


แต่ก็..นะ

อย่างกรณีแอนนาแอนด์เดอะคิงเอง หลายๆ ฉากเราก็ดันรับไม่ได้ซะนี่



คนอื่นก็คงเช่นกันค่ะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 29 กันยายน 2549 เวลา:17:35:41 น.  

 
ก็คนเรา sensitive นิ
บางเรื่องก็อ่อนไหวต่อความรู้สึกจริงๆ
แต่บางเรื่องก็...อ่ะนะ


โดย: ป้าแสงจันทร์ IP: 124.120.99.160 วันที่: 29 กันยายน 2549 เวลา:18:27:25 น.  

 
เรารับไม่ได้ตอนที่หมากเตะโดนแบน และอาจารย์ใหญ่ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นศพ เรารู้สึกว่าช่างใจแคบกันเสียจริง

แต่ตอนที่หนังเรื่องเดอะกิ๊กออกมา เราก็คิดว่า ใครกันนะ สร้างหนังแบบนี้ ปลูกฝังค่านิยมผิด ๆ ไม่ควรแม้แต่จะคิดเลยด้วยซ้ำ



โดย: unwell วันที่: 29 กันยายน 2549 เวลา:22:49:08 น.  

 
" เรื่องบางอย่าง มันอ่อนไหว "
ยังเป็นข้อที่มักยกเอามาอ้าง นั่นนู่นนี่อยู่เสมอ

กระนั้นก็เถอะ
คนดูอย่างเรา(ข้าพเจ้า) ก็ยังมีดับเบิ้ลสแตนด์ดาร์ในการตัดสินใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่บ่อยไป

ทุกอย่าง เมื่อมันเป็นความคิดที่อยู่ในใจ มันไม่ใช่ปัญหา
แต่วันใดได้เอามันออกมาแปรให้เห็นเป็นรูปร่างให้คนอื่นได้รับรู้แล้วล่ะก็ เตรียมรับทั้ง ติ ทั้งชม ได้เลย







โดย: renton_renton วันที่: 30 กันยายน 2549 เวลา:1:51:26 น.  

 
ประเทศในแถบเอเชียใต้เราช่างอ่อนไหวจริงๆนั่นแหละ
คำว่า เสรีภาพ ยังเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับภูมิภาคนี้

นึกถึงผู้กำกับจีนหลายคนที่ทำหนังเสียดสีวัฒนธรรมของตนแล้วถูกแบนหนังไม่ให้ฉายในประเทศ
ของบ้านเราก็คงคล้ายอย่างนั้น เพียงแต่อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำเลย
อย่างสถานการณ์ตอนนี้ ไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะมีใครกล้าเอามาทำเป็นหนังนะ
ทั้งๆที่มีประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมที่ถ้าทำเป็นหนังได้คงดีไม่น้อยต่อคนรุ่นต่อไป

เฮ้อ ดูกันแต่หนังตลกกับหนังผีดีกว่าเมืองไทย


โดย: sTRAWBERRY sOMEDAY วันที่: 30 กันยายน 2549 เวลา:2:28:00 น.  

 
แต่ละคน 'อ่อนไหว' กับสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกันครับ

อย่างผมนี่เห็นมดตายก็เสียใจไปหลายวันแระครับ (เวอร์เลยแก)


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 1 ตุลาคม 2549 เวลา:19:22:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กันยายน 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
29 กันยายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.