Casino Royale ย้อนรอย ‘เจมส์ บอนด์’ สู่ยุค ‘จอร์จ บุช จูเนียร์’



Casino Royale
ย้อนรอย ‘เจมส์ บอนด์’
สู่ยุค ‘จอร์จ บุช จูเนียร์’

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 26 พฤศจิกายน 2549


*หลังจากเปิดตัวด้วยรายได้ 40 ล้านเหรียญ ยืนอันดับ 2 ในบ็อกซ์ออฟฟิศ แพ้หนังการ์ตูน Happy Feet แบบฉิวเฉียด แต่หากดูสถิติแล้วต้องถือว่า Casino Royale ทำได้ดีกว่า ด้วยจำนวนโรงน้อยกว่าถึง 370 โรง แถมยังเก็บรายได้เฉลี่ยต่อโรงสูงกว่าด้วย

ไม่ใช่ความสำเร็จด้วยเม็ดเงินเท่านั้น หนังบอนด์ลำดับที่ 21 เรื่องนี้ยังกอบโกยคำวิจารณ์ในเชิงบวกสุดๆ โดยเฉพาะคำชมที่มีให้แก่ผู้รับบทสายลับ “ดับเบิ้ลโอ-เซเว่น” คนใหม่

ใครจะคิดว่าผลสำเร็จที่ว่านี้เกิดขึ้นตามหลังเสียงก่นด่าที่กระหน่ำใส่ไม่ยั้งมาตลอด นับตั้งแต่ผู้สร้างประกาศว่า แดเนี่ยล เคร็ก หนุ่มไม่หล่อหูกางมารับบท “เจมส์ บอนด์”

นอกจากพระเอกคนใหม่จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนแล้ว การดัดแปลง Casino Royale ซึ่งเป็นนิยายเล่มแรกในชุดเจมส์ บอนด์ ของ เอียน เฟลมมิ่ง มาเป็นหนังบอนด์ตอนล่าสุด ยังเป็นการหยุดเรื่องราวที่ดำเนินต่อเนื่องแบบหลวมๆ ในแต่ละตอน แล้วย้อนกลับไปสู่ต้นกำเนิดของเจมส์ บอนด์ เมื่อครั้งเพิ่งเป็นสายลับและได้รหัส “อนุญาตฆ่า”

เป็นเจมส์ บอนด์ ที่ไม่มีอุปกรณ์ไฮเทคพิสดาร เป็นสายลับที่มีความผิดพลาด มุทะลุ มีเสน่ห์แต่ไม่เจ้าชู้ และได้พบรักระหว่างภารกิจเป็นครั้งแรก

ผลคือเสียงวิจารณ์ที่มีให้แก่ Casino Royale และแดเนี่ยล เคร็ก ล้วนอยู่ในกรอบที่ว่า...ดิบ เข้มข้น จริงจัง เป็นมนุษย์ปุถุชน และใกล้เคียงกับนิยายของเอียน เฟลมมิ่ง มากที่สุด

อันที่จริง หากเปิดดูบันทึกงานสร้างของเจมส์ บอนด์ ตอนเก่าๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้แสดงบทนำและผู้กำกับฯ คำพูดที่เราได้ยินจากพวกเขาและผู้อำนวยการสร้างเป็นประจำคือ ต้องการทำให้บอนด์ “เป็นมนุษย์ปุถุชน และใกล้เคียงกับนิยายของเอียน เฟลมมิ่ง” ทั้งนั้น

เพียงแต่งานนี้...ว่ากันว่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาคือการผสมความดิบ เข้มข้น จริงจัง กับความเป็นมนุษย์ปุถุชน และใกล้เคียงกับนิยายของเอียน เฟลมมิ่ง ได้อย่างลงตัว ซึ่งแม้แต่บอนด์ยุค ฌอน คอนเนอรี่ และทิโมธี ดาลตัน ที่ว่าเข้มข้น จริงจัง ก็ยังขาดไปในบางมิติ

จริงหรือไม่...ไม่ยืนยัน เพราะผู้เขียนไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ


ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจกว่าคือ การเกาะติดสถานการณ์โลกของหนังชุดเจมส์ บอนด์ ซึ่งมีให้เห็นใน Casino Royale อีกครั้งหนึ่ง

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า นี่คือบอนด์ตอนแรกหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ปี 2001 และการประกาศสงครามก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา แม้ Die Another Day ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายจะออกฉายปลายปี 2002 แต่จากช่วงเวลาเกิดเหตุถึงกำหนดการฉายที่วางไว้ล่วงหน้า ย่อมไม่ทันการณ์ถ้าจะดึงสถานการณ์โลกว่าด้วยสงครามก่อการร้ายมาข้องเกี่ยว

แน่นอนว่าเรื่องราวที่อิงกับกลุ่มก่อการร้ายใน Casino Royale สอดรับกับกระแสโลกพอดิบพอดี อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นจริงจังในการหยุดยั้งความชั่วร้ายของบอนด์ที่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจวางมือได้ กับความผิดพลาดโดยสุจริตที่เกิดขึ้นบ้างระหว่างปฏิบัติภารกิจ ชวนให้นึกถึงสถานะและบทบาทของสหรัฐอเมริกาและ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในการทำสงครามก่อการร้ายขึ้นมาทันที

จริงอยู่ที่เจมส์ บอนด์ เป็นสายลับอังกฤษ และมีบริษัทสร้างหนังสัญชาติอังกฤษอย่าง อีออน โปรดักชั่นส์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ดั้งเดิม แต่บอนด์ได้กลายเป็นลูกครึ่งอเมริกันตั้งแต่กลางทศวรรษ 70 เมื่อจับมือสร้างกับยูไนเต็ด อาร์ติสต์ บริษัทลูกของเอ็มจีเอ็ม(ล่าสุดเอ็มจีเอ็มถูกซื้อโดยองค์กรสหกิจที่มีโซนี่เป็นแกนนำ ทำให้ Casino Royale มีชื่อของโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโซนี่ พิคเจอร์ส ร่วมสร้างอยู่ด้วย)

และหากย้อนไปดูหนังบอนด์ที่อิงกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน จะพบว่าหลายต่อหลายครั้งผูกโยงกับบทบาทของสหรัฐอเมริกา หรือสถานการณ์ในสหรัฐที่มีผลกระทบต่อโลก นอกเหนือจากบทบาทคู่ขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในสงครามเย็นซึ่งเป็นแบคกราวน์ดของเรื่องราวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ใน You Only Live Twice ตอนที่ 5 ซึ่งออกฉายเมื่อปี 1967 เป็นบอนด์ตอนแรกที่ออกไปนอกโลก ตรงกับช่วงเวลาที่สหรัฐรุดหน้าเต็มที่ในงานด้านอวกาศ หลังจาก บัซซ์ อัลดริน ซึ่งไปกับยานเจมินี 12 ออกมาเดินท่องอวกาศได้สำเร็จ

Live and Let Die ปี 1973 มาเฟียผิวสีกับการค้าเฮโรอีนซึ่งมีจุดหมายที่ย่านฮาร์เล็มในนิวยอร์ค สอดคล้องกับบทบาทของสหรัฐที่กดดันประเทศแหล่งผลิตเฮโรอีนอย่างหนักตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 60

Moonraker ปี 1979 แม้หนังบอนด์เกี่ยวกับอวกาศเต็มตัวตอนนี้จะเกาะกระแส Star Wars และ Close Encounter of the Third Kind ซึ่งโด่งดังอย่างมากในปี 1977 อย่างไม่ปิดบัง แต่เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ผู้สร้างเปลี่ยนแผนจากเดิมที่ตั้งใจว่าจะทำ For Your Eyes Only มาทำ Moonraker แทน คือข่าวที่ว่าสหรัฐกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการส่งยานโคลัมเบียซึ่งเป็นยานขนส่งอวกาศลำแรกขึ้นสู่อวกาศ


Octopussy ปี 1983 ใช้ฉากหลังเกี่ยวเนื่องกับการเจรจาลดอาวุธระหว่างสหรัฐและโซเวียตซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 60 กระทั่งมีการทำสนธิสัญญาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ครั้งที่ 1 ปี 1972 และครั้งที่ 2 ปี 1979 ในสมัยประธานาธิบดีนิกสันและประธานาธิบดีคาร์เตอร์ตามลำดับ

Licence to Kill ปี 1989 มาเฟียค้ายามีแหล่งกบดานอยู่ที่ “สาธารณรัฐอิสธ์มัส” ในละตินอเมริกานั้น ใกล้เคียงกับประเทศปานามาเป็นอย่างมาก ดังนั้น จะคิดเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก มานูเอล นอริเอกา ซึ่งโดนสหรัฐดำเนินคดีในปี 1988 ก่อนจะถูกจับกุมระหว่างสหรัฐบุกปานามาในเดือนธันวาคม 1989

เมื่อเข้าสู่ยุค เพียร์ซ บรอสแนน รับบทเจมส์ บอนด์ เป็นช่วงสงครามเย็นสิ้นสุด ฉากหลังและเรื่องราวยิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์อย่างเห็นได้ชัด เช่น Tomorrow Never Dies ปี 1997 วายร้ายเป็นเจ้าพ่อสื่อ ตรงกับช่วงเวลาที่เกิดสงครามสื่อระหว่างฟอกซ์ นิวส์ ของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก ที่ขึ้นมาแย่งบัลลังก์สถานีข่าวอันดับหนึ่งของซีเอ็นเอ็น ที่มี เท็ด เทอร์เนอร์ เป็นเจ้าของ

The World is not Enough ปี 1999 เรื่องราวเกี่ยวกับการวางท่อส่งน้ำมันพ้องกับสถานการณ์น้ำมันโลกและข่าวที่ออกมาในปี 1998 ว่าใครจะเป็นผู้วางท่อส่งน้ำมันจากทะเลแคสเปียนสู่ประเทศฝั่งตะวันตก ส่วน Die Another Day ปี 2002 น่าจะเป็นหนังแอ๊คชั่นเรื่องแรกๆ ที่ฉวยเกาหลีเหนือมาเป็นผู้ร้าย พอดีกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศเมื่อเดือนมกราคมปี 2002 ว่า อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ คือ “อักษะแห่งปิศาจ”

มาถึง Casino Royale ในยุคสงครามก่อการร้ายที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และจอร์จ บุช จูเนียร์ ทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำ คะแนนนิยมตกต่ำ ถ้าเจมส์ บอนด์ จะถูกดันเข้ามาสอดรับกับสถานการณ์อีกครั้งจึงใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

จริงจังในภารกิจ มีความผิดพลาดกันได้ แถมยังมีแง่มุมอ่อนโยนโรแมนติคให้น่าประทับใจ...ใช่หรือไม่ว่าบทบาทเช่นนี้เหมาะเจาะกับภาพพจน์วีรบุรุษจริงๆ

อย่างน้อยแม้จะพลาดท่ากลาง(เทอม)เรื่อง ยังไงก็เป็นพระเอกและชนะตอนจบอยู่ดี!



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2549 2:12:22 น. 5 comments
Counter : 1091 Pageviews.

 


ขอกิ๊วก๊าวด้วยคนค่ะ กับพี่บอนด์เครก คนไม่หล่อและหูกาง ... พี่เครกแกน่าจะได้รับสิทธิ์ในการพูดสำเนียงอังกฤษจ๋าไปเลยเนอะ ไหนๆก็เป็นสายลับอังกฤษแล้วอ่ะ...
แต่กลายเป็นว่าฉากหลังถูกฉาบไว้ด้วยกลิ่นของอเมริกาในทุกตอนอย่างที่น้าสังเกตุไปซะนี่



โดย: renton_renton วันที่: 28 พฤศจิกายน 2549 เวลา:7:04:42 น.  

 
หนุ่มไม่หล่อหูกาง
เอิ๊ก สะเทือนจายอย่างแรง


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 28 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:57:48 น.  

 
ตอนนั้นเห็นคนอี๋กับเป็นแถวกับนายแดเนี่ยลคนนี้ ตอนนี้พากันชื่นชมซะหูดับตับไหม้

ยังไม่ได้ดูเลยครับ แต่คาดว่าจะไม่เกินสัปดาห์นี้

แต่เห็นเพื่อนที่ไปชมมาบอกว่าเป็นบอนด์ตอนที่ดีที่สุด เป็นสายลับจริงๆเนื้อๆสัมผัสได้

ไม่เหมือนตอนอื่นๆที่เป็นแค่โชว์ฉากแฟนตาซีเอามันส์เข้าว่า


โดย: keano (jonykeano ) วันที่: 28 พฤศจิกายน 2549 เวลา:23:28:24 น.  

 
ชอบบอนด์ภาคนี้มาก ๆ เลยค่ะ แต่แง่มุมที่จขบ.เขียนถึงนี่น่าคิดมั่ก ๆ


โดย: unwell วันที่: 28 พฤศจิกายน 2549 เวลา:23:37:43 น.  

 
วิเคราะห์ได้เยี่ยมเช่นเคยครับ
ประเด็นแง่มุมแฝงต่างๆ อ่านแล้วคิดตามได้แต่พยักหน้าหงึกหงัก
เพราะว่ายังไม่ได้ดูเลยครับ


โดย: sTRAWBERRY sOMEDAY วันที่: 29 พฤศจิกายน 2549 เวลา:0:01:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
27 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.