‘เทศกาลหนังเยรูซาเลม’ กะพริบแสงแห่งความหวัง ท่ามความมืดมนของสงคราม


เทศกาลหนังเยรูซาเลม
กะพริบแสงแห่งความหวัง ท่ามความมืดมนของสงคราม

พิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ 18-24 สิงหาคม 2549


6 กรกฎาคม 2549 เทศกาลภาพยนตร์เยรูซาเลม ครั้งที่ 23 เปิดฉากขึ้น ณ ใจกลางเมืองศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนนับหมื่นทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติหลั่งไหลมายังลานฉายหนังกลางแจ้งที่เรียกว่า “มูนไลท์ ซีนีมา” เพื่อชมหนังในวันเปิดเทศกาล

อาทิตย์ค่อยๆ โรยแสงจนมืดสนิท อากาศอบอ้าวคลายตัวแปรเป็นความอบอุ่น ภาพเคลื่อนไหวตรงหน้าสะกดให้ทุกสายตา ทุกความรู้สึกนึกคิด จมดิ่งสู่ห้วงอารมณ์รักในศิลปะภาพยนตร์...ภาพยนตร์ที่ดึงดูดทุกคนมารวมตัวกันในงานนี้

6 วันต่อมา ขณะที่เทศกาลเดินทางมาสู่ช่วงปลาย กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ยิงจรวดจากฝั่งเลบานอนใส่อิสราเอล ทหารอิสราเอล 2 นาย ถูกจับ และอีก 8 นาย เสียชีวิต

13 กรกฎาคม 2549 อิสราเอลเปิดฉากถล่มฐานที่มั่นกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ทางตอนใต้ของเลบานอน และลึกเข้าไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติใกล้กรุงเบรุต ล้อมกรอบทั้งทางอากาศและทางทะเล ฝ่ายเฮซบอลเลาะห์ตอบโต้โดยยิงจรวดใส่เมืองนาฮาริยาและซาเฟด

เพียงฉากแรกของสงครามมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายสิบคน


ย้อนกลับไปยังเยรูซาเลม คนรักหนังยังเนืองแน่นตลอดเทศกาล งานดนตรีกลางแจ้งคึกคักไม่ว่างเว้น งานเลี้ยงอาหารค่ำยังจัดขึ้นตามปกติ ไม่มีร่องรอยของสงครามในเมืองเก่าแก่แห่งนี้

กระนั้น แม้ผิวหน้าดูราบเรียบ แต่เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นปฏิกิริยาบางอย่างเกิดขึ้นราวกับคลื่นใต้น้ำ จากผู้เข้าร่วมงานทั้งนักวิชาการและศิลปิน ตลอดจนผลตัดสินรางวัลที่บ่งบอกอะไรบางอย่างได้ดี





ฮาวเวิร์ด ไฟน์สตีน นักเขียน-บรรณาธิการชาวอเมริกัน หนึ่งในกรรมการตัดสินรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดี ได้เขียนบทความเรื่อง “Jerusalem Film Festival Pushes Ahead Despite War” เผยแพร่ในเว็บไซต์ indiewire.com ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ โดยเชื่อมโยงสถานการณ์การสู้รบกับเทศกาลภาพยนตร์เยรูซาเลม

ไฟน์สตีนระบุว่า นักวิชาการและศิลปินส่วนใหญ่ที่มารวมตัวกันในงานนี้ต่างเห็นว่าการถล่มฐานที่มั่นกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นการตอบโต้ที่เกินกว่าเหตุ

กรรมการจากชาติเจ้าภาพหลายคนไม่ยอมเข้าร่วมงานเลี้ยงในค่ำคืนที่นายกรัฐมนตรีเอฮุด โอลเมิร์ต มามอบรางวัลเกียรติยศให้แก่ โรมัน โปลันสกี้ ผู้กำกับฯเชื้อสายยิว-โปลิช เพื่อแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน สุนทรพจน์ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของนายกรัฐมนตรีในคืนนั้นยิ่งฟังดูไม่จริงใจเมื่อประหวัดถึงสถานการณ์สงครามที่ส่งให้หลายร้อยชีวิตต้องสูญสิ้น และอีกหลายแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ไฟน์สตีนในฐานะกรรมการยังมั่นใจว่ารางวัลที่มอบให้แก่หนังในสาขาต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีเนื้อหาว่าด้วยประเด็นคล้ายๆ กัน มีนัยยะโดยตรงเพื่อสื่อไปยังรัฐบาลอิสราเอล หาใช่เหตุบังเอิญแต่อย่างใด

เริ่มจากรางวัล Wolgin Award สำหรับหนังของชาติเจ้าภาพ ในสาขาภาพยนตร์สารคดีมีหนัง 2 เรื่อง ได้รับรางวัลร่วมกัน ได้แก่ Bil'in Habibti ของ ชาอี คาร์เมลี พอลแล็ค กับ 9 Star Hotel ของ ไอโด ฮาร์ ทั้งสองเรื่องต่างกล่าวถึงสถานการณ์ความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ หลังจากมีการก่อสร้าง “กำแพง” สูงใหญ่เหยียดยาวกั้นขวาง 2 ฝั่ง โดยอิสราเอลอ้างว่าเพื่อป้องกันวินาศกรรม

Bil'in Habibti กล่าวถึงหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ บิลอิน ที่กำลังจะถูกผ่ากลางด้วยกำแพงสูง 28 ฟุต โดยฝ่ายอิสราเอลไม่ได้สนใจเลยว่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว ธุรกิจการค้า และวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไร มีชาวยิวและนักต่อสู้จากนานาประเทศเข้าร่วมกับชาวบ้านเพื่อประท้วงอย่างสงบทุกวันศุกร์ รวมทั้งตัวผู้กำกับฯเองก็ได้ร่วมชุมนุมพร้อมกับถ่ายหนังไปด้วย


เรื่องน่าสะเทือนใจอีกประการคือ 2 เดือนก่อนเทศกาลจะเริ่มขึ้น ชาวบ้านผู้เป็นเหยื่อของสิ่งก่อสร้างอัปลักษณ์และปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงาน แต่เพิ่งมีการตัดสินใจใหม่ก่อนรอบปฐมทัศน์ไม่กี่วัน

สำหรับ 9 Star Hotel ติดตามดูชีวิตของแรงงานผิดกฎหมายชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลที่ต้องหลบซ่อนตัวและหนีกองตรวจคนเข้าเมืองอยู่ตลอดเวลา พวกเขาอาศัยตามเนินเขารอบนอกและแอบเข้าไปเป็นคนงานสร้างเมืองให้ชาวยิว ทันทีที่งานเสร็จกำแพงจะกั้นขวางพวกเขาโดยปริยาย

ส่วนรางวัลที่ 2 เป็นของ A Hebrew Lesson ของ ดาวิด โอเฟค เกี่ยวกับชั้นเรียนภาษาฮีบรูซึ่งไม่ได้แค่สอนภาษาเท่านั้น แต่เป็นการหล่อหลอมให้ผู้มาใหม่ปรับตัวกลมกลืนไปกับค่านิยมแห่งความเป็นยิว





ด้านรางวัลสำหรับภาพยนตร์นานาชาติ Wim van Leer In the Spirit of Freedom ที่มีคอนเซ็ปต์ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ยิ่งตอกย้ำแนวคิดของผู้มีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์นั้น แท้จริงแล้วมีความหมายใช่เพียงลมปากของผู้มีอำนาจ

เริ่มจากรางวัลสาขาภาพยนตร์ตกเป็นของหนังจากบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาเรื่อง Grbavica ผลงานกำกับฯเรื่องแรกของ ยาสมิลา ซบานิช เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกที่สั่นคลอนเพราะผลของสงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวียเมื่อทศวรรษก่อน

No More Tears Sister โดยผู้กำกับชาวแคนาดา เฮเลน โคลดอว์สกี้ ในสาขาภาพยนตร์สารคดี ย้อนกลับไปตามรอยชีวิตของแพทย์หญิง-นักเขียนชาวทมิฬ และเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในศรีลังกา ซึ่งถูกฆาตกรรมเมื่อปี 1989

รางวัล Yad Vashem สำหรับภาพยนตร์ว่าด้วยการสังหารหมู่ เป็นของ Nina's Journey โดย ลีนา ไอฮอร์น นักสร้างหนังสตรีชาวสวีเดน สารคดีที่ให้แม่ของเธอเองมาเล่าถึงชีวิตและความสูญเสียในช่วงที่นาซียึดครองโปแลนด์

ยังมีหนังอีกหลายเรื่องทั้งจากชาติเจ้าภาพและจากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมกันประสานเสียงเรียกร้องความยุติธรรมในเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ อาทิ 12:08 East of Bucharest หนังโรมาเนียใช้ฉากหลังสิ้นยุคเผด็จการเชาเชสคู Beyond Hatred หนังสารคดีเกี่ยวกับชาวอาหรับในฝรั่งเศสที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง


หนังที่หยิบปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-ยิว หรืออาหรับ-ยิว มาวิพากษ์ได้ถึงรากลึก เช่น Hothouse ของ ชิโมน โดตัน, Fence, Wall, Border…The Eastern Wall ของ อีไล โคเฮน และ Cry ของ จูลี กัล

รวมไปถึงการมาร่วมงานในฐานะแขกพิเศษ ของ ซลาโว ซิเซค นักปรัชญา-นักทฤษฎีภาพยนตร์ชื่อดัง พร้อมกับเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ของ Forgiveness หนังซึ่งซิเซคและ อูดี อโลนี ผู้กำกับฯ มานั่งพูดคุยถกเถียงกันเรื่องการเมืองและศาสนาในภาพยนตร์





แม้จะมีเสียงทักท้วงไปยัง ซลาโว ซิเซค ต่อการมาร่วมงานของเขาจากกลุ่มคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมอิสราเอลของปาเลสไตน์ แต่เทศกาลภาพยนตร์เยรูซาเลมซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปใบหน้าสตรีและ “นกพิราบสีขาว” ได้เริ่มขึ้นและดำเนินไปตามกำหนดการเดิม

ลิอา ฟาน เลียร์ สตรีร่างเล็กใจใหญ่ผู้เป็นประธานจัดงานกล่าวในสารต้อนรับว่า “ขณะที่พรมแดนของเรายังคงเปราะบางหาความแน่นอนไม่ได้ และนักการเมืองยังทำอะไรเป็นลับลมคมใน เทศกาลภาพยนตร์นี้จะต้องดำเนินไปโดยปราศจากอคติหรือการบิดเบือน”

คำกล่าวของเธออาจเพื่อเป็นการบ่งชัดถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน หลังจากคำกล่าวเปิดงานอันสวยหรูเมื่อปีที่แล้วที่ว่า “ภายใต้ร่มเงาแห่งกำแพงเมืองโบราณ” โดนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยฉวยเอากำแพงอัปลักษณ์แห่งเวสต์แบงก์ย้อนกลับมาทิ่มตำอย่างเจ็บปวด

15 กรกฎาคม 2549 เทศกาลภาพยนตร์เยรูซาเลมปิดฉากลงอย่างสวยงาม ขณะที่วิกฤตการณ์ตามแนวชายแดนยังคงรุนแรงต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะยุติ

กระนั้น แสงแห่งความหวังที่กะพริบขึ้นในงานนี้คงพอเป็นความหวังสำหรับวันพรุ่งนี้...ทั้งที่นี่ และทุกหนทุกแห่งในโลก




หมายเหตุ
1.บทความนี้เขียนขึ้นก่อนการประกาศหยุดยิงของทั้ง 2 ฝ่าย
2.ภาพจาก //www.jff.org.il



Create Date : 29 สิงหาคม 2549
Last Update : 3 กันยายน 2549 2:48:50 น. 5 comments
Counter : 1046 Pageviews.

 
น่าสนใจมากค่ะ...
จะมีเรื่องไหนตกมาถึงท้องเรามั่งเนี่ย...

=)


โดย: hunjang วันที่: 29 สิงหาคม 2549 เวลา:8:45:05 น.  

 
ถ้ามีเทศกาลหนังจริงๆจังๆแบบนี้เข้ามาฉาย ผมจะหยุดงานไปดูเลยจริงๆ

แต่เมื่อสิบวันก่อนก็เพิ่งไปดูเทศกาลหนังพม่ามา แปลกตาแปลกใจดีครับ


โดย: ตี๋หล่อมีเสน่ห์ วันที่: 29 สิงหาคม 2549 เวลา:9:29:03 น.  

 


โดย: renton_renton วันที่: 29 สิงหาคม 2549 เวลา:11:40:29 น.  

 
มันแสดงให้เห็นว่า ต่อให้สงครามทำลายล้างผู้คนขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถทำลายความรักในศิลปะของพวกเค้าได้นะคะ

บรรยากาศในงานดูน่าสนุกนะคะ (เทศกาลหนังบ้านเราน่าจะมีฉายภาพยนตร์กลางแจ้งแบบนี้บ้าง)

อยากดูหนังที่ฉายในงานจัง


โดย: unwell วันที่: 30 สิงหาคม 2549 เวลา:15:47:03 น.  

 
อยากดูหนังในงานจัง


โดย: renton_renton วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:21:20:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.