Elephant ความรุนแรงตราช้าง



Elephant
ความรุนแรงตราช้าง

พล พะยาบ

คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 24 กรกฎาคม 2548


หลังจากที่เคยเขียนถึงงานของ กัส แวน แซนต์ เรื่อง Gerry ไปตั้งแต่ต้นปี ระหว่างที่รอ Last days หนังเรื่องใหม่ของเขา ซึ่งว่ากันว่าอ้างอิงมาจากช่วงชีวิตสุดท้ายของเจ้าพ่อกรันช์ในตำนาน “เคิร์ท โคเบน” แห่งวงเนียร์วานา ผู้เขียนจึงถือโอกาสคว้างานก่อนหน้านี้ของแวน แซนต์ ที่อวดโฉมบนชั้นวางอยู่นานหลายเวลามาเขียนถึงเสียที

หนังเรื่องที่ว่าคือ Elephant งานเด่นดังเสริมบารมีผู้กำกับฯ เมื่อไปคว้าปาล์มทองที่คานส์ ปี 2003 แถมยังพาให้แวน แซนต์ได้รางวัลผู้กำกับฯยอดเยี่ยมอีกต่างหาก

Elephant อิงจากเหตุการณ์ช็อคโลกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1999 ที่นักเรียนชาย 2 คน ควงปืนยิงเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ รัฐโคโลราโด เสียชีวิต 12 คน พร้อมครูอีก 1 คน ก่อนจะจบชีวิตตนเอง

กระทั่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมในโรงเรียนครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

Bowling for Columbine หนังสารคดีของไมเคิล มัวร์ เมื่อครั้งยังไม่ดังเปรี้ยงปร้างจาก Farenheit 9/11 ก็กล่าวถึงเหตุการณ์นี้เช่นกัน


ถึงวันนี้ยังไม่มีใครสรุปสาเหตุได้แน่ชัดว่าแรงจูงใจอันใดที่ทำให้นักเรียนทั้งสองลงมือก่อการโดยไม่สะทกสะท้าน ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่ม “มาเฟียเสื้อฝน” (Trenchcoat Mafia) ซึ่งแอนตี้พวกกลุ่มก๊วนที่ตั้งขึ้นใหม่ บ้างว่าเพราะความแปลกแยกเข้าพวกไม่ได้ กระทั่งถูกกันออกจากสังคม คือแรงกระตุ้นให้เกิดความเคียดแค้นชิงชัง

นอกจากแรงจูงใจแล้ว ข้อหัวถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้ยังลามไปถึงวันก่อเหตุว่าทำไมต้องเป็นวันดังกล่าว มีนัยยะอะไรหรือไม่ บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นวันครบรอบ 110 ปี ของจอมเผด็จการนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ บ้างว่าเป็น 1 วัน หลังวันครบรอบเหตุการณ์วินาศกรรมครั้งใหญ่ที่โอกลาโฮมา(19 เมษายน 1995)

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสหัวข้อสนทนาให้แคบลงก็มักจะได้ประเด็นเรื่อง “ความรุนแรงในสังคม” โดยมีสื่อประเภทต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี เกม เป็นจำเลยอยู่เสมอ

แวน แซนต์ ไม่ได้นำเหตุการณ์จริงมาสร้างเป็นหนัง เพียงแต่อ้างอิงตัวบุคคล เวลา และเหตุการณ์บางแง่มุม ตามคำให้การของพยานบุคคลที่ได้รับการเปิดเผยในภายหลัง จำกัดช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุไม่กี่นาทีและจบลงขณะเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลาย

นอกจากอเล็กซ์และอีริค ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนผู้ก่อเหตุ 2 คนแล้ว มีตัวละครอื่นอีกร่วม 10 คนเป็นตัวดำเนินเรื่อง ได้แก่ จอห์น เด็กหนุ่มซึ่งมาโรงเรียนสายเพราะพ่อขี้เมา นาธาน หนุ่มนักกีฬาสุดป๊อปในสายตาผู้หญิงกับแคร์รี่ แฟนสาว

อีไล นักเรียนถ่ายภาพ มิเชล เด็กสาวท่าทางเฉิ่มๆ ถูกเพื่อนนักเรียนหญิงด้วยกันหัวเราะเยาะ บริตตานีย์, จอร์แดน และนิโคล ก๊วนสาวช่างเมาธ์ และอคาเดีย แฟนสาวของจอห์น ซึ่งเป็นสมาชิกวงสนทนาเรื่องเกย์

เรื่องราวของตัวละครทั้งหมดนี้จะคาบเกี่ยวช่วงเวลาและสถานที่กัน ดังนั้น เหตุการณ์เดิมในช่วงเวลาสั้นๆ จึงถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงแต่แตกต่างไปตามผู้ดำเนินเรื่อง

เช่นบนทางเดินตึกเรียน จอห์นกับอีไลพบและทักทายกัน โดยมีมิเชลวิ่งผ่านคนทั้งสองไป เหตุการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้จะถูกเล่า 3 ครั้ง เมื่อหนังตามดูเรื่องราวของแต่ละคน

โดยที่ตัวละครทุกตัวจะไปสิ้นสุดเรื่องราวของตนเมื่อได้พบกับมือสังหาร


การฉายภาพเด็กนักเรียนหลายประเภทหลายบุคลิก ตามดูพวกเขาทำกิจกรรมหรือดำเนินกิจวัตรประจำวัน นัยหนึ่งทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และกับโรงเรียนใดก็ได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีนักเรียนตามแบบฉบับที่ยกมาทั้งสิ้น

อีกนัยหนึ่งทำให้เห็นว่าเด็กในวัยนี้จำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหาส่วนตัวทั้งจากครอบครัวและในสังคมโรงเรียน ซึ่งเป็นไปได้ว่าบางคนอาจลุกขึ้นมาเลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางออก

ในหมู่ตัวละครมากมาย มีเพียงอเล็กซ์กับอีริค 2 ผู้ก่อการเท่านั้นที่หนังเล่าย้อนไปก่อนหน้านี้ ทำให้เห็นชีวิตส่วนตัวของทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พบในโรงเรียน สภาพครอบครัว งานอดิเรก กระทั่งที่มาของอาวุธปืน ซึ่งหากนำมาพิจารณาร่วมกันก็จะพบข้อสันนิษฐานมากมายที่สามารถนำมาต่อกันเป็นภาพแห่งโศกนาฏกรรมได้

นั่นคือ อเล็กซ์เป็นพวกขี้แพ้ เขาถูกกลั่นแกล้งโดยเพื่อนร่วมห้อง ครูไม่ใส่ใจปัญหาของเด็ก พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยเงิน พวกเขาสนุกกับเกมคอมพิวเตอร์ที่มีคนเป็นเป้ายิง ทั้งยังสั่งซื้อปืนได้ทางอินเตอร์เน็ต

แต่ที่แวน แซนต์ เลยเถิดไปคือการให้อเล็กซ์กับอีริคมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ โดยการอาบน้ำร่วมและจูบกัน(ตัวแวน แซนต์ เอง เป็นเกย์โดยเปิดเผย และหนังของเขามักจะมีคาแร็กเตอร์รักร่วมเพศ)

ส่วนที่โดดเด่นของ Elephant คือหนังนำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยท่าทีละมุนละม่อม ผ่านการเล่าเรื่องอันละเมียดละไม ช่วงแรกหนังถ่ายภาพบรรยากาศโรงเรียนดูสงบร่มเย็น นักเรียนวิ่งเล่นในสนามด้วยความร่าเริง บางครั้งเป็นภาพสโลว์ช็อตสั้นๆ ดูงดงามมีชีวิตชีวา มีเพลง Moonlight Sonata ของเบโธเฟน เปิดคลอ

เมื่อถึงช่วงสังหารหมู่ ความละเมียดละไมที่หนังปูพื้นไว้แต่ต้น กลายเป็นความต่างที่ทำให้ความรุนแรงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยไม่ต้องเน้นด้วยองค์ประกอบด้านภาพ เสียง ภาพความตาย หรือสีหน้าหวาดกลัวของผู้คน จนกลายเป็นการกระตุ้นด้านรุนแรงเข้าไปอีก


อีกส่วนหนึ่งที่ต้องชมเชยคือการหยิบ “ของสูง” 2 ประการมาใส่ตัวละครมือเปื้อนเลือด นั่นคือการให้อเล็กซ์เล่นเปียโนเพลง Fur Elise ของเบโธเฟน ขณะอยู่ที่บ้าน กับเอ่ยประโยค “So foul and fair a day I have not seen” ซึ่งเป็นวรรคทองจากองก์ที่ 1 บทที่ 3 ของบทละครเรื่องแมคเบ็ธ ของเช็กสเปียร์ ระหว่างก่อเหตุร้าย กระทั่งแปลงสภาพจากหนังซึ่งไม่ได้เด่นที่บท กลับกลายเป็นบทหนังที่ต้องตีความไปได้

ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจเป็นการอิมโพรไวส์กันสดๆ ของผู้กำกับฯและผู้แสดงสมัครเล่น ที่บังเอิญเล่นเพลงเบโธเฟนเป็น!

เอาล่ะ ถ้าลองตามน้ำตีความ ส่วนของเบโธเฟนอาจเป็นการเชื่อมโยงประวัติอันขมขื่นของคีตกรเอก ซึ่งถูกพ่อขี้เมาทำร้ายทุบตี ทั้งยังบีบบังคับให้เล่นดนตรี จนกลายเป็นอาการเก็บกดฝังลึกเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อเล็กซ์ก็คงไม่แคล้วมีอาการเก็บกดเช่นกัน ถึงแสดงออกด้วยความรุนแรงเช่นนั้น

ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาน่าจะแสดงออกในทางสร้างสรรค์แบบเบโธเฟนมากกว่า

ส่วนแมคเบ็ธ วรรคทองดังกล่าวเป็นคำพูดของแมคเบ็ธก่อนที่จะได้พบแม่มด 3 ตน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ฆาตกรรมไม่จบไม่สิ้น ก่อนจะลงเอยด้วยการตายอย่างน่าอเนจอนาถของตนเอง ไม่ต่างจากอเล็กซ์ที่ฆ่าเพื่อนนักเรียนมากมาย ก่อนจบชีวิตตนเอง

อีกประการหนึ่งที่มีนัยให้ตีความคือชื่อหนังซึ่งแปลว่าช้าง ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวหนังเลย แวนแซนต์เองอธิบายว่า เขาอ้างอิงมาจาก อลัน คลาร์ก คนทำหนังของบีบีซี ซึ่งเคยใช้คำว่า “ช้าง” เปรียบเหตุการณ์ความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ ขณะเดียวกันก็เป็นสำนวนฝรั่ง “Elephant in the living room” ซึ่งหมายถึงปัญหาใหญ่ๆ ที่ไม่มีใครพูดถึง แต่ทุกคนก็ต้องผจญกับมันอยู่ทุกวัน

สุดท้าย แวน แซนต์ให้สัมภาษณ์ที่เมืองคานส์ว่า น่าจะหมายถึงพรรคริพับลิกัน ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นช้าง โดยส่วนตัวผู้เขียนว่าความหมายหลังสุดนี้เข้าท่าและสอดคล้องกับยุคสมัยที่สุด

เพราะผู้นำช้างปัจจุบันไม่ใช่หรือที่ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปํญหา?!



Create Date : 18 มิถุนายน 2549
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 3:50:54 น. 2 comments
Counter : 1954 Pageviews.

 
ปัญหาความรุนแรงในด้านต่างๆ มันมีผุดขึ้นอยู่ทุกวัน จนมองไม่ออกว่าอันไหนเก่าอันไหนใหม่ จนมันเรียงร้อยต่อสร้อยกันเป็นวงกลมที่หาต้นสายไม่เจอ

เมื่อหาต้นเหตุไม่ได้ ค่อยๆคลำแก้ไป มันก็แก้ได้แค่เป็นครั้งคราว

...

เคยสงสัยเหมือนกันค่ะ ว่าทำไมหนังถึงใช้ชื่อว่า"ช้าง" ทั้งที่ไม่มีอะไรช้างๆปรากฏในหนังซักกะตอน และเห็นด้วยกับความหมายที่ว่า
“Elephant in the living room” ซึ่งหมายถึงปัญหาใหญ่ๆ ที่ไม่มีใครพูดถึง แต่ทุกคนก็ต้องผจญกับมันอยู่ทุกวัน...

เห็นจะจริง


โดย: octavio วันที่: 21 มิถุนายน 2549 เวลา:20:00:14 น.  

 
ชอบการใช้กล้องในเรื่องนี้ครับ


โดย: metrologo วันที่: 3 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:56:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
18 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.