The Woodsman หมาป่าผู้กลายเป็นนายพราน



The Woodsman
หมาป่าผู้กลายเป็นนายพราน

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 25 มีนาคม 2550


*วอลเตอร์(เควิน เบคอน) ชายผู้เงียบขรึมกลับมายังบ้านเกิดที่ฟิลาเดลเฟีย หลังจากต้องโทษจำคุก 12 ปี ในความผิดล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิง 2 ราย เขาอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทัณฑ์บน นักบำบัดทางจิต และถูกตำรวจคอยจับตามอง

ชีวิตหลังได้รับอิสรภาพของวอลเตอร์ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก เขาได้งานในโรงงานไม้เพราะเคยทำงานให้พ่อของเจ้าของคนใหม่ วอลเตอร์ปิดกั้นตนเอง ไม่คบค้ากับใคร เลิกงานแล้วก็นั่งรถเมล์กลับอพาร์ตเมนต์

แย่ตรงที่อพาร์ตเมนต์แห่งเดียวที่ยอมให้วอลเตอร์เข้าพักอยู่ตรงข้ามโรงเรียนประถม จนสามารถแอบมองเด็กนักเรียนจากหน้าต่างห้อง...

คนที่เข้ามาข้องเกี่ยวพูดคุยกับวอลเตอร์มีเพียงแค่คาร์ลอส(เบนจามิน แบรตต์) สามีของน้องสาวที่ไม่ยอมพบหน้าพี่ชาย บ๊อบ(เดวิด อลัน เกรียร์) นักบำบัดทางจิต ลูคัส(มอส เดฟ) ตำรวจที่สงสัยในความชั่วร้ายของวอลเตอร์ และวิคกี้(ไครา เซดจ์วิค ภรรยาของเควิน เบคอน) เพื่อนร่วมงานสาวที่เข้ามาใกล้ชิด และวอลเตอร์ยอมใกล้ชิดด้วย

มีช่องว่างของความเงียบเหงาอยู่เหลือเฟือให้วอลเตอร์ต้องต่อสู้กับ “โรคร้าย” ตามลำพัง เด็กหญิงที่พบบนรถเมล์ ตามถนนหนทาง ในห้างสรรพสินค้า ล้วนแต่คุกคามความรู้สึกของวอลเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เด็กๆ มากมายที่มองเห็นจากหน้าต่างห้องพัก

นอกจากนี้ แมรี่-เคย์(อีฟ) สาวผิวสีที่พยายามจะผูกมิตรกับวอลเตอร์ แต่โดนปฏิเสธอย่างไม่ไยดี ก็คุกคามขุดคุ้ยประวัติเขาอยู่

The Woodsman กำกับและเขียนบทภาพยนตร์โดยผู้หญิงชื่อ นิโคล คาสเซลล์ ดัดแปลงจากบทของ สตีเวน เฟตช์เตอร์ เป็นหนังเล็กๆ ที่ไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จักมากนัก แม้จะมีเครดิตพอสมควรบนเวทีหนังอิสระอย่างการเข้าไปลุ้นรางวัลใหญ่ที่เทศกาลซันแดนซ์ปี 2004 และไปฉายโชว์ที่เมืองคานส์ แต่ถึงเวลาฉายจริงกลับได้ฉายแบบจำกัดโรงทั้งในสหรัฐและอังกฤษ ทั้งนี้ อาจจะด้วยเนื้อหาของหนังซึ่งค่อนข้างหมิ่นเหม่ต่อมาตรฐานจริยธรรมทางสังคม

นั่นคือเล่าถึงผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กในมุมที่เข้าใจและเห็นใจ

*หนังชี้ว่าความผิดของวอลเตอร์เกิดจากความผิดปกติของจิตใจ ไม่ใช่ความชั่วร้ายจากสามัญสำนึก วอลเตอร์ตระหนักว่าสิ่งที่เขาเคยทำลงไปเป็นสิ่งผิดมหันต์ เขาพยายามหักห้ามและต่อสู้กับตนเองราวกับคนป่วยไข้ สีหน้าอาการของวอลเตอร์ชวนให้ผู้ชมเอาใจช่วยให้เขาเอาชนะตนเองให้ได้ ยิ่งวอลเตอร์โดนตำรวจอย่างลูคัสกัดไม่ปล่อย พูดจาเหยียดหยามราวกับเขาเป็นอสูรกาย ทั้งยังถูกคนในโรงงานเกลียดชัง ตัวละครนี้จึงเรียกคะแนนสงสารจากผู้ชมได้เต็มที่

ชื่อหนัง The Woodsman ซึ่งหมายถึง “นายพราน” มาจากบทสนทนาที่ลูคัสพูดกับวอลเตอร์โดยกล่าวถึงนิทานเรื่อง Little Red Riding Hood หรือ “หนูน้อยหมวกแดง” ว่าตอนจบนายพรานใช้ขวานแหวกท้องของหมาป่าเอาหนูน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่ความจริงไม่มีนายพรานคนไหนจะช่วยให้เด็กรอดชีวิตจากหมาป่าที่กัดกลืนเหยื่อลงไปแล้ว...เป็นการเปรียบเทียบว่าคนที่คุกคามทางเพศต่อเด็กก็เหมือนกับหมาป่าที่โหดร้ายและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมนั่นเอง

ฉากสำคัญที่วอลเตอร์เดินตามเด็กผู้หญิงสวมแจ็คเก็ตสีแดง ชวนเธอพูดคุย และล่อหลอกให้เธอวางใจเพื่อหมายจะลิ้มรสร่างกาย จึงราวกับถ่ายทอดถอดแบบจากนิทาน แต่เป็นเวอร์ชั่น “คุกคามทางเพศเด็ก”...เด็กผู้หญิงคือหนูน้อยหมวกแดง วอลเตอร์คือหมาป่า ขาดแต่นายพรานที่ไม่รู้ว่าจะโผล่มาตอนจบหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม การที่หนังให้วอลเตอร์ทำงานคลุกคลีกับไม้ และการแอบมองเด็กนักเรียนทางหน้าต่างห้องทำให้เห็นพฤติกรรมผิดปกติของชายคนหนึ่ง ได้เชื่อมโยงไปถึงนิทานหนูน้อยหมวกแดง และ “นายพราน” ในท้ายที่สุด

สัญลักษณ์ที่ต้องกล่าวถึงคือโต๊ะซึ่งวอลเตอร์ทำขึ้นเอง และอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังเน้นบ่อยครั้งว่าโต๊ะดังกล่าวเป็นโต๊ะไม้เชอร์รี่ ด้วยคำว่า “เชอร์รี่” (cherry) เป็นศัพท์สแลงหมายถึงเยื่อพรหมจารี (อันมีนัยของความบริสุทธิ์)

วอลเตอร์ใช้โต๊ะนั่งเขียนบันทึกประจำวันตามที่นักบำบัดทางจิตแนะนำ ก่อนหน้าที่ยังไม่มีโต๊ะตัวนี้ วอลเตอร์ไม่สามารถเขียนอะไรได้ กระทั่งได้โต๊ะมา เขาสามารถเขียนได้อย่างสม่ำเสมอแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักก็ตาม ในเมื่อจุดหมายของการบำบัดตามที่วอลเตอร์ระบุคือให้ตนเองเป็นปกติ ไม่รู้สึกอะไรเมื่อเห็นหรืออยู่ใกล้เด็กๆ นั่นเท่ากับว่าขณะบำบัดตนเองนั้น วอลเตอร์ได้ใกล้ชิดกับ “เชอร์รี่” ตลอดเวลา อาจจะยากลำบากกับการหักห้ามตนเองอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างไรเขาก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ การที่วอลเตอร์ใช้โต๊ะตัวเดียวกันนี้นั่งบันทึกพฤติกรรมผิดปกติของผู้ชายที่เขาสงสัยว่ากำลังจะคุกคามเด็กๆ จึงราวกับเขาได้กระทำการเพื่อ “ความบริสุทธิ์” ของเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อ

นอกจากเล่าถึงผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กในมุมที่เข้าใจและเห็นใจจนอาจขวางหูขวางตาใครแล้ว หนังยังมีท่าทีด้านลบต่อการลงภาพถ่ายผู้กระทำผิดทางเพศบนอินเตอร์เน็ตให้คนทั่วไปเข้าไปดูได้ ตามกฎหมายที่เรียกกันว่า “กฎหมายเมแกน” อนุสนธิจากกรณีที่หนูน้อยเมแกนวัย 7 ขวบ ถูกลักพาและฆาตกรรมโดยเพื่อนบ้านของเธอเองเมื่อปี 1994 เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบคนใกล้ตัวว่าเคยเป็นนักโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กหรือเปล่า

*กฎหมายฉบับนี้เป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง มีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน รวมทั้งมีการแก้ไขเพื่อใช้ในแต่ละรัฐหลายขั้นตอน หลายระดับ กินระยะเวลาหลายปี กระทั่งรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแห่งแรกที่เปิดให้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเข้าไปดูได้ จากที่ก่อนหน้านั้นการจะตรวจสอบชื่อผู้กระทำผิดต้องไปที่สถานีตำรวจหรือติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่

จากเกร็ดเบื้องหลังระบุว่า The Woodsman ออกฉายหลังจากแคลิฟอร์เนียลงภาพและข้อมูลผู้กระทำผิดบนอินเตอร์เน็ตให้คนทั่วไปเข้าไปดูได้เพียง 9 วัน(ธันวาคม 2004) นั่นหมายความว่าเนื้อหาของหนังที่ตัวละครแมรี่-เคย์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเข้าไปเช็กประวัติวอลเตอร์ ก่อนจะใช้ข้อมูลที่ได้มาคุกคามเขา เป็นการเขียนบทและถ่ายทำโดยยังไม่มีเหตุการณ์จริงรองรับ

ตัวละครวอลเตอร์ อดีตนักโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้พยายามรักษาอาการป่วย ตกเป็นเหยื่อทางสังคมเพราะประวัติที่ค้นได้ง่ายๆ ทางอินเตอร์เน็ต...ชัดเจนเหลือเกินกับสารของหนังที่ต้องการสื่อว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว

การชี้ชัดในประเด็นที่อ่อนไหวเช่นนี้ โดยเฉพาะการเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มคนซึ่งต่อสู้เพื่อปกป้องความปลอดภัยของเด็กๆ ผู้บริสุทธิ์ นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่หนังโดนจำกัดโรงฉายโดยไร้แรงแข็งขืน

ภาพรวมของหนังอยู่ในขั้นดี หนักแน่นจริงจัง ไม่เยิ่นเย้อและบีบคั้นเกินเหตุ หากตัดประเด็นความเหมาะควรทิ้งต้องยอมรับว่าหนังมีความกล้าเหลือเกินที่ออกมาพูดเรื่องการคุกคามทางเพศต่อเด็กโดยยืนอยู่ฝั่งเดียวกับผู้กระทำ และชี้ไปที่ความป่วยไข้ทางจิต ทั้งที่โดยปกติแล้วเรื่องดังกล่าวมักจะถูกนำเสนอในฝั่งเหยื่อผู้เสียหาย หรือให้ภาพของผู้กระทำว่าต่ำช้าเลวทราม

หากมองด้วยใจเปิดกว้างย่อมถือเป็นความต่างที่ไม่จำเป็นต้องถูกตีตราปฏิเสธไว้ก่อน

ส่วนที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่งคือการแสดงลึกนิ่งของเควิน เบคอน ยอดฝีมือผู้ถูกมองข้ามอยู่เสมอ



Create Date : 03 มิถุนายน 2550
Last Update : 3 มิถุนายน 2550 10:40:43 น. 14 comments
Counter : 1313 Pageviews.

 
วอลเตอร์ เป็นตัวละครที่น่าเห็นใจค่ะ

บทพูดของเด็กผู้หญิงตอนวอลเตอร์ถามเธอในสวนสาธารณะขณะนั่งดูนกนั้น..สะเทือนใจมากๆ

งานด้านภาพก็นิ่ง สวย


โดย: renton_renton วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:1:23:24 น.  

 
น่าดูอีกแล้ว T T
ชาตินี้จะดูหมดมั้ยเนี่ย 555+


โดย: nanoguy วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:2:59:43 น.  

 
ผมชอบเรื่องนี้ตรงที่หนังไม่ได้ทำให้สิ่งที่เควิน
เบคอนทำนั้นเป็นนิสัย แต่เป็นโรคที่ยากที่จะรักษา
ให้หายได้ คิดแล้วก็ยังขนลุกว่าตอนที่ตัวเอก
ไม่สามารถเก็บกลั้นได้อยู่แล้วให้น้องผู้หญิงมานั่ง
จุดนั้นถ้าน้องผู้หญิงไม่ได้เกิดเรื่องกับตัวเองมา
แล้วบอก ตัวเอกก็อาจจะกลับเข้าสู่วังวนที่ตัวเอง
พยายามจะหนึออกมาอีกครั้ง...

สรุปว่าเรื่องนี้เควิน เบคอนเล่นได้ไม่มีที่ติครับ
แล้วก็เห็นด้วยกับจขบ.ว่าพี่แกโดนมองข้าม
ไป(อีกแล้ว)อย่างน่าเสียดาย


โดย: BloodyMonday วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:6:51:16 น.  

 
ยังไม่เคยดูเรื่องนี้ครับ

แต่คิดถึง เควิน เบคอน

ไม่ได้ดูหนังที่เฮียแกเล่นมานานแล้วนับจาก Mystic River


โดย: keano (jonykeano ) วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:11:36:24 น.  

 
เห็นด้วยค่ะ
เควิน เบคอนแสดงได้ดีทุกเรื่อง
ชอบพระเอกคนนี้ค่ะ
ชักอยากดูหนังเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว
ขอคุณนะคะที่รีวิวให้อ่าน น่าสนใจมากเลย


โดย: ฝากเธอ วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:12:15:21 น.  

 
ยังไม่ได้ดูเลย แต่แอบชอบ พี่เควิน เบคอน เล็กๆนา


โดย: merveillesxx วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:2:36:13 น.  

 
ยัง... ยังไม่ไปไหน ยังมา "ดูหนัง" ที่นี่เป็นประจำ


โดย: ดาริ IP: 202.142.194.101 วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:17:17:54 น.  

 
อ่านแล้วอยากดู อยากรู้ว่าตัวเองจะเข้าใจและเห็นใจวอลเตอร์รึป่าว
ไม่รู้ดิทำใจยากอ่ะ...ถึงจะเป็นโรคร้ายแต่มันทำลายชีวิตคนอื่นน้า


โดย: G IP: 203.113.76.72 วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:19:50:05 น.  

 


โดย: faisal IP: 196.202.41.5 วันที่: 7 มิถุนายน 2550 เวลา:3:58:13 น.  

 

ชอบเควิน เบคอนอ่ะ
เล่นดีทุกเรื่องจริงๆนะ

ปล.
แอบมากราซิบบอสว่า มินิคอนฯหนุกมากๆๆๆๆๆ



โดย: LunarLilies* วันที่: 7 มิถุนายน 2550 เวลา:21:15:29 น.  

 
เป็นงานของนักแสดงสุดโปรด ที่ยังไม่ได้ดูสักทีล่ะครับ


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 9 มิถุนายน 2550 เวลา:14:02:44 น.  

 
ชอบหนังเรื่องนี้...
เหมือนกับเราได้มองโลกผ่านสายตาของตัวเอก
ทำให้เราเข้าใจ เห็นใจ และมองอะไรในแง่มุมใหม่ที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน

เควิน เบคอน สุดยอดอีกแล้ว


โดย: underradar IP: 118.174.88.52 วันที่: 28 มิถุนายน 2551 เวลา:11:40:11 น.  

 
เราก้เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการแสดงของ เควิน เบคอน เราเคยดูหนังของเขาที่เป็นเรื่องแรก คือ The tremors แล้วเรื่องล่าสุด คือ The death sentence ดูแล้ว สะเทือนใจมากเลย
เราร้องไห้ด้วย สงสารมาก เลยไม่ค่อยอยากดูซ้ำเป็นรอบที่ 3
ชอบมากๆๆ


โดย: กวาง IP: 118.172.232.113 วันที่: 21 เมษายน 2552 เวลา:18:59:59 น.  

 
เห็น อาร์ the star ครั้งแรก เราคิดเลยว่า
เหมือนเควิน เบคอนมาก คนอื่นคิดเหมือนกัน?


โดย: กวาง IP: 118.172.232.113 วันที่: 21 เมษายน 2552 เวลา:19:01:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
3 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.