Bubble หนังขายตรงของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก



Bubble
โรงงานฟองสบู่


คอลัมน์ดูหนังในหนังสือ Starpics Movie Edition ปักษ์แรก พฤษภาคม 2549


ขณะที่ผู้ประกอบการภาพยนตร์ในอเมริกากำลังหนักใจกับยอดขายตั๋วที่ลดลงอย่างต่อเนื่องช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยโยนความผิดส่วนหนึ่งไปที่ดีวีดี ซึ่งมีราคาถูกลงและวางขายทั้งที่หนังยังไม่ลาโรงด้วยซ้ำ

สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก ผู้กำกับฯออสการ์คนดัง กลับคิดสวนกระแสด้วยการทำหนังฉายโรงพร้อมๆ กับออกเป็นดีวีดี ซ้ำยังให้บริการแบบคิดเงินทางเคเบิลทีวีด้วย

โดยหนังนำร่องความคิดนอกกรอบของโซเดอร์เบิร์กก็คือ Bubble ที่กำลังจะกล่าวถึงนี่เอง

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะเจ้าของโรงหนังที่แสดงออกโดยการบอยคอตต์ แต่ Bubble ก็เข้าฉายอย่างไม่ยี่หระในโรงหนังและทางเคเบิลทีวีเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนจะออกเป็นดีวีดีหลังจากนั้นเพียง 4 วัน



นอกจากการจัดจำหน่ายที่แหวกแนวแล้ว หนังที่ใช้ทุนสร้างเพียง 1.6 ล้านเหรียญ และถ่ายทำด้วยกล้องวิดีโอไฮ-เดฟินิชั่นเรื่องนี้ ยังมีรายละเอียดงานสร้างอื่นๆ ที่แปลกต่างจากหนังทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้แสดงทั้งหมดรับสมัครจากคนในละแวกกองถ่าย บทสนทนาใช้การด้นสดของผู้แสดง ฉากที่เป็นที่อยู่อาศัยใช้บ้านของผู้แสดงจริงๆ เป็นสถานที่ถ่ายทำ อีกทั้งมีเนื้อหาเรียบง่าย เล่ารวดเดียวจบ และมีความยาวเพียง 73 นาที

หากเปรียบเทียบกับงานกลางเก่ากลางใหม่ของโซเดอร์เบิร์กอย่าง Schizopolis(1996) ที่ใช้ทุนสร้าง 2.5 แสนเหรียญ ถ่ายทำละแวกบ้าน โดยตัวเขาและภรรยา(ในขณะนั้น) แสดงเอง แม้งานสร้างจะดูละม้ายคล้ายคลึงกัน แต่เนื้อหาและวิธีการนำเสนอของ Schizopolis ยังมีอะไรให้จับต้องได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

หน้าตาของ Bubble จึงดูเป็นงานที่ไม่ได้ทำเพื่อโชว์ฝีมือ และไม่ได้มุ่งนำเสนอความงามหรือความบันเทิง แต่เป็นเครื่องมือที่ผู้สร้างใช้ในการแสดงออกอะไรบางอย่างมากกว่า ในที่นี้คือการต่อต้านระบบฮอลลีวู้ดและการจัดจำหน่ายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Bubble ถ่ายทอดชีวิตอับเฉาเฉื่อยชาของชนชั้นแรงงานค่าแรงต่ำในโอไฮโอ มาร์ธา(เด็บบี้ โดบีไรเนอร์) หญิงวัยกลางคนที่มีภาระดูแลพ่อผู้แก่เฒ่า ทำงานในโรงงานผลิตตุ๊กตา ทุกเช้าหลังจากจัดเตรียมอาหารให้พ่อแล้ว เธอจะขับรถไปรับไคล์(ดัสติน แอชลีย์) หนุ่มน้อยเพื่อนร่วมงานซึ่งมาร์ธาแอบชอบพอเป็นพิเศษ เพื่อไปทำงานที่เดียวกัน

ไคล์อาศัยอยู่กับแม่ตกงาน เขาต้องทำงาน 2 แห่ง เพื่อจะได้มีเงินเหลือเก็บ แต่ละวันของไคล์ช่างซ้ำซากเซื่องซึมไม่ต่างจากเพื่อนต่างวัย ทั้งสองได้แต่เฝ้าหวังว่าสุดสัปดาห์จะได้โบนัสพิเศษจากโรงงานเพื่อทำให้ชีวิตพิเศษขึ้นมาบ้าง

เมื่อโรงงานรับโรส(มิสตี้ วิลกินส์) คุณแม่ยังสาวเป็นคนงานใหม่ ความใกล้ชิดตามลำพังกับไคล์ที่มาร์ธาแอบพึงพอใจมาตลอดก็ต้องสิ้นสุดลง หญิงสาวเข้ามาสุงสิงกับมาร์ธา และดูสนิทสนมกับไคล์มากเป็นพิเศษ ถึงกับนัดกันออกเดทในคืนวันหนึ่ง โดยโรสจ้างมาร์ธาดูแลลูกสาว

และคืนนั้นเองที่โรสถูกฆาตกรรม...

แม้ไม่มีฉากการตายของโรส แต่ผู้ชมก็รู้ได้เองว่าใครคือฆาตกร สิ่งที่หนังนำเสนอหลังจากนั้นคือขั้นตอนการสืบสวนของตำรวจ จนกระทั่งสาวมาถึงตัวมาร์ธา และท่าทีของเธอเมื่อต้องตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย



หนังคุมจังหวะเนิบช้า นิ่งเงียบ ไว้ได้ตลอดเวลากว่า 70 นาที แม้แต่ตอนที่เกิดเหตุฆาตกรรมแล้ว เรื่องราวเดินเป็นเส้นตรงไม่ซับซ้อนจนให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังอ่านรายงานเหตุฆาตกรรม ตั้งแต่พื้นหลังของผู้เกี่ยวข้อง เหตุจูงใจของผู้กระทำผิด และขั้นตอนการสืบสวนของตำรวจ ไม่ใช่การอ่านนิยายหรือดูหนังฆาตกรรมที่มีการกระตุ้นปลุกเร้าชวนติดตาม ดังนั้น ความยาวเพียง 1 ชั่วโมงเศษ จึงถือว่ากำลังดี

อย่างไรก็ตาม แม้หนังจะดูไร้จุดสนใจ ทั้งจากวิธีการนำเสนอ เรื่องราวเรียบเรื่อย และผู้แสดงที่ไม่มีใครรู้จัก แต่โซเดอร์เบิร์กสร้างความน่าสนใจให้กับหนังด้วยบรรยากาศคลุมเครือน่าฉงน บางครั้งกล้องถ่ายเหมือนกำลังแอบดูตัวละคร ผู้แสดงแต่ละคนที่ไม่เคยผ่านงานมาก่อนแม้จะดูแข็งไปบ้าง แต่ก็สอดคล้องกับอาการซังกะตายของตัวละคร อีกทั้งบทสนทนาที่ใช้การด้นสดก็ดูจะไปได้ดีกับธรรมชาติของตัวละครซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ

บทหนังโดย โคลแมน ฮัฟ จับตัวละครที่มีพื้นหลังคล้ายๆ กันมาเกี่ยวข้องในสถานที่และสถานการณ์เดียวกัน นอกจากจะเป็นคนงานค่าแรงต่ำแล้ว จะเห็นว่าทั้งมาร์ธา ไคล์ และโรส ต่างมีภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัวเหมือนกัน

มาร์ธาต้องดูแลพ่อซึ่งช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไคล์หาเลี้ยงแม่ผู้ว่างงานที่วันๆ เอาแต่นั่งดูโทรทัศน์ ส่วนโรสต้องเลี้ยงดูลูกสาวตัวน้อย โดยพ่อของเด็กไม่ได้ยื่นมือมาช่วยเหลือจุนเจือ ดูแล้วช่างคล้ายกับงานในโรงงานผลิตของเล่นเลียนแบบมนุษย์ ซึ่งมาร์ธาอยู่ฝ่ายใส่ดวงตา-วิกผม ไคล์เป็นคนหล่อชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ โรสตกแต่งสีตุ๊กตาด้วยแอร์บรัช ราวกับว่าการดูแลคนในครอบครัวเหมือนเป็นภาระที่พวกเขาจำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่างจากงานที่ทำอยู่

ส่วนสภาพ “ไร้ชีวิต” ของตุ๊กตาที่ตัวละครต้องคลุกคลีอยู่ตลอดเวลา ยิ่งตอกย้ำถึงสภาพชีวิตซ้ำซากอับเฉา ไร้ความหวัง และดูมืดมนเหมือนไร้ทางออกของตัวละคร

นอกจากนี้ หนังค่อยๆ เผยว่าตัวละครทั้งสามล้วนแต่เป็นคน “ป่วยไข้” โดยมีความบกพร่องทางร่างกายไม่ก็ทางจิตใจ กล่าวคือ ไคล์เป็นโรคกลัวความพลุกพล่านแออัด ทำให้เขาต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน โรสมักจะมีอาการปวดหลังจนต้องแอบใช้อ่างจาคุชชี่ในบ้านที่เธอรับจ้างทำความสะอาด ส่วนมาร์ธา นอกจากรูปร่างอวบอ้วนแล้ว พฤติกรรมของเธอยังแสดงว่าเธอมีปัญหาทางจิต

ความบกพร่องติดตัวเหล่านี้จึงเปรียบได้กับชนชั้นแรงงานอย่างพวกเขาที่ไม่อาจหนีพ้นไปจากวังวนย่ำแย่แบบเดิมๆ นั่นเอง



หากพิจารณาว่าประเด็นที่หนังพูดถึงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อีกทั้งเรื่องราวยังไม่น่าติดตาม ไม่มีนักแสดงคุ้นหน้า การที่ผลลัพธ์ของการทดลองของโซเดอร์เบิร์กในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะโอกาสที่คนจะมองข้ามหรือมีผลตอบรับในแง่ลบย่อมเป็นไปได้สูง

ว่าไปแล้วจุดขายของหนังเรื่องนี้มีเพียงชื่อของผู้กำกับฯ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก ที่เคยทำหนังฮิตอย่าง Erin Brockovich, Ocean’s Eleven และ Ocean’s Twelve รวมทั้งเคยคว้าออสการ์จากเรื่อง Traffic เท่านั้น แต่เครดิตเหล่านี้ใช่ว่าจะการันตีอะไรได้ และใช่ว่าโซเดอร์เบิร์กจะคาดไม่ถึงหรือมองไม่ออก เมื่อเขาโดดลงมาเล่นกับตลาดล่างที่หาความบันเทิงด้วยการพึ่งดีวีดีเช่าและชมหนังทางเคเบิลทีวีเช่นนี้

ผู้เขียนจึงมองว่าโซเดอร์เบิร์กทำหนังเรื่องนี้เพียงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจำหน่ายหนัง อีกทั้งเป็นการแสดงท่าทีต่อต้านระบบดาราค่าตัวแพงซึ่งดึงให้ต้นทุนสร้างหนังสูงเกินความจำเป็น และวิพากษ์ระบบสตูดิโอที่มองหนังไม่ต่างจากสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงาน

ดังนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมืดมนเฉื่อยชาของชนชั้นแรงงานค่าจ้างต่ำในโรงงานทำตุ๊กตา จึงอาจจะมีนัยประชดประชันซ่อนแฝงอยู่ก็เป็นได้

ส่วนชื่อหนังว่า Bubble ก็หมายถึงฟองสบู่แบบฮอลลีวู้ดที่สวยงามแต่เบาหวิว และพร้อมจะแตกสลายลงเมื่อใดก็ได้นั่นเอง




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2549
1 comments
Last Update : 21 สิงหาคม 2549 3:52:12 น.
Counter : 1681 Pageviews.

 

พึ่งจะได้ดูค่ะ

มะมีอะไรเหนือคาดจิงจิง

ดูแล้วรู้สึกว่าหนัง.....ธรรมดามากๆ

แต่ชอบความเป็นธรรมชาติของนักแสดง

 

โดย: renton_renton 30 สิงหาคม 2549 22:27:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.