อุปปาเหมือนกับขี่รถจักรยานจิต

อุปปาเหมือนกับขี่รถจักรยานจิต


การพูดกันครั้งสุดท้ายนี้เหมือนกับว่าเป็นการปิดประชุม เป็นการลา
หรือรับการลา ด้วยการปราศรัยเล็กๆ น้อยๆ
พร้อมกันไปกับการสรุปเรื่องที่บรรยายต่างๆ คือจะกล่าวว่า
เรื่องทุกเรื่องที่เราได้ฟัง ได้ยินได้พูดกันมาแล้วนี้
อาจจะสรุปได้เป็นคำพูดสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง
ขอให้ช่วยจำว่า พุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น ก็คือการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง
ก็ย่อมจะได้รับผลอยู่ในตัวความถูกต้องนั้นเอง
ขอให้เราพยายามส่วนที่เป็นการดำรงจิต แล้วก็ดำรงจิตไว้ให้ถูกต้อง


1084





พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นใจความ สรุปได้สั้นๆ ว่า
ถ้าหากดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง จะได้รับ ประโยชน์ ความสุขทุกอย่างทุกประการ
เหมือนกับว่า ญาติมิตรสหาย คนหวังดีทั้งหมด ช่วยเหลือเรา
ช่วยกันทำให้กับเรา แล้วถ้าเราดำรงจิตไว้ผิด เราก็จะสูญเสียประโยชน์
มีความเสียหาย ได้รับความทุกข์ เหมือนกับว่า หากคนที่เป็นข้าศึกศัตรู
คู่อาฆาตทั้งหลายทั้งหมดเค้ามารุมกันกระทำให้แก่เรา คิดดู




มันอยู่ที่ว่าเราดำรงจิตไว้ถูกต้องหรือดำรงจิตไว้ผิด
ถ้าถูกต้องได้รับประโยชน์ ถ้าดำรงไว้ผิดก็สูญเสียประโยชน์
จึงว่าเรื่องทั้งหมดมันอยู่ที่การดำรงจิตให้ถูกต้อง
เราจะเรียนรู้เรื่องอะไร เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ
เรื่องอริยสัจ เรื่องอะไรทั้งหมดทุกเรื่อง
มันก็มาสรุปลงที่เพื่อการดำรงจิตไว้ถูกต้อง




จะดำรงจิตอย่างไร รายละเอียดก็มีมาก
เพราะว่าจะมีความรู้ละเอียดปลีกย่อยนั้นมาก แต่ก็อาจจะสรุปความให้สั้นๆ
ได้ว่า มันเป็นการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง




ทีนี้ก็จะเปรียบเป็นอุปมา ให้จำง่าย และเข้าใจง่ายได้อีกสักคำหนึ่งว่า
เหมือนกับขี่รถจักรยานจิต ขอให้ทุกๆ คนเข้าใจ
ทำในใจเหมือนกับว่าเราขี่รถจักรยานจิต ทำไมจึงเปรียบกับการขี่รถจักรยาน
เพราะว่ามันคล้ายกันมาก เกือบจะทุกอย่างทุกประการ นับตั้งแต่ว่า
การขี่รถจักรยานนั้นน่ะ มันก็มีที่หมายปลายทางว่าจะไปที่ไหนซักแห่งหนึ่ง
เราขี่รถจักรยานจิต ก็มีที่หมายปลายทางว่าจะไปที่ไหนซักแห่งหนึ่ง
คือความดับทุกข์ หมดทุกข์สิ้นเชิงที่เรียกว่าพระนิพพาน เป็นจุดหมายปลายทาง




รถจักรยาน จะขี่ได้ ขี่ไปได้นั้นน่ะ มันมีความหมายสองความหมายซ้อนกันอยู่
คือ ควบคุมรถจักรยานได้ไม่ให้ล้ม นี่ตอนหนึ่ง และก็ออกแรงทำให้มันวิ่งไป
แล่นไป เคลื่อนที่ไป นี่อีกตอนหนึ่ง ถ้ามันล้มซะ มันก็ไปไม่ได้
ถ้าไปได้ก็คือไม่ล้ม ดังนั้น ที่ว่าไปได้ ไปไม่ได้นั้นมันเนื่องกัน
อย่างที่จะแยกกันไม่ออก ถ้ารถจักรยานมันมีการพุ่งไปข้างหน้า
มันก็ไม่ค่อยมีโอกาสจะล้ม เราก็ต้องระวังไม่ให้ล้มและให้พุ่งไปข้างหน้าได้
การที่จะไม่ล้มและการที่จะพุ่งไปข้างหน้าได้เนี่ยมันแฝงกันอยู่



1085





เรื่องขี่รถจักรยานจิตก็เหมือนกัน
ต้องทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่เป็นสมาธิ และให้มันพุ่งไปข้างหน้า
คือรู้แจ่มแจ้งในอะไรได้ไกลออกไป ซึ่งเป็นลักษณะของวิปัสสนา หรือปัญญา
เรื่องเกี่ยวกับจิตแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนสมาธิหรือสมถะ
คุมจิตให้อยู่ภายในอำนาจและตั้งมั่นอยู่ได้ พร้อมที่จะทำงานของมัน
แล้วก็เป็นขั้นต่อไปก็คือ
วิปัสสนาหรือปัญญาที่มันจะแล่นไปด้วยกระแสแห่งความรู้ รู้ๆๆๆ
จนถึงที่สุดมันก็หลุดพ้น และปล่อยวาง นี่มันเหมือนกันอย่างนี้


สังเกตดูก็เข้าใจว่า ทุกคนน่าจะขี่รถจักรยานเป็น
เพียงแต่จะไม่สังเกตเท่านั้นเอง ทีนี้มันเหมือนกันในข้อที่ว่ามันล้มง่าย
นี่หมายถึงรถจักรยาน 2 ล้อ ซึ่งมันล้มง่าย ตามลำพังมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้
โดยไม่มีขาค้ำ ลำพังสองล้อมันตั้งอยู่ไม่ได้มันล้มง่าย มันล้มเก่ง
แล้วมันก็ต้องบังคับหรือบังคับยาก จิตนี่ก็เหมือนกัน มันล้มง่าย
คือมันฟุ้งซ่าน มันออกนอกลู่นอกทางง่าย คือมันบังคับยาก
จึงเปรียบกับรถจักรยาน มันล้มง่ายอย่างไร จิตก็ล้มง่ายอย่างนั้น
เราก็ต้องฝึกฝนกันจนบังคับมันได้ และขี่มันได้


และที่มันยังเหมือนกันอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อสุดท้าย
ซึ่งสำคัญมากนั้นก็คือข้อที่ว่า มันสอนกันไม่ได้ จะให้คนอื่นสอนไม่ได้
มันต้องสอนด้วยตนเอง ด้วยตัวมันเอง นี่คนไม่ค่อยเชื่อ
แล้วหาว่าคนพูดเนี่ยโง่ หลับตาพูด
คือเราบอกเค้าว่าการขี่รถจักรยานมันสอนกันไม่ได้ คนโง่นั้นก็เถียงว่า
อ้าวก็มีคนมาช่วยจับ ช่วยยึด ช่วยแนะ ช่วยอธิบายตอนแรกก่อนไม่ใช่หรือ
เราบอกว่า นั่นมันก็จริง แต่ว่ามันไม่สำเร็จประโยชน์
การสอนนั้นไม่สำเร็จประโยชน์ มันเพียงแต่บอกให้รู้ว่าทำยังไง พอสอนเสร็จ
อธิบายให้เสร็จ พอให้ขึ้นขี่มันก็ล้มซะงั้น พอขึ้นขี่มันก็ล้ม จะจับเสือกไป
มันก็ไปล้ม ตอนนี้แหละจะสอนกันยังไงมันก็สอนไม่ได้
จะให้มีใครมาสอนให้เราจับมือของรถแล้วทำให้เกิอดบาลานซ์ถูกต้องไม่ล้มไปได้
เลยเนี่ย ทำไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีใครสอนได้ ขอให้เข้าใจตอนนี้มากๆ
อย่าไปโง่เหมือนใครบางคน หรือคนแทบทั้งหมด มันหวังแต่ให้คนอื่นสอนเรื่อยไป
อะไรสักนิดนึงก็จะให้คนอื่นสอนเรื่อยไป จะฟังจะเรียนให้เสียตะพึด
ไม่พยายามที่จะสอนตัวเอง รู้ตัวเอง




ถ้าถามว่าการจะขี่รถจักรยานเป็นใครมันสอนให้
เราก็ต้องบอกว่าให้รถจักรยานนั่นแหละมันสอนให้
หรือว่าการล้มของรถจักรยานนั่นแหละเป็นสิ่งที่สอนให้
การล้มลงไปทีนึงมันสอนให้ทีนึง ล้มอีกทีนึงก็สอนให้อีกทีนึง
ล้มไปอีกทีก็สอนอีกทีหนึ่ง จนรู้จักทำความสมดุล ไม่ล้ม
ทีนี้มันก็ไปได้ง่อกแง่กๆ ๆ เหมือนกับคนเมา ทีนี้ใครจะสอนได้อีกล่ะ
การที่จะขี่ให้เรียบ มันก็ไม่มีใครสอนได้นอกจากรถจักรยานนั่นเอง
การที่มันไปง่อกแง่กๆๆ เนี่ยมันสอนให้ทุกที จนกระทั่งเรารู้จักทำสมดุล
มันก็ไม่ง่อกแง่ก มันก็ไปเรียบ รู้จักใช้กำลังผลักดัน ถีบให้มันพอดี
กับการที่จะบังคับมือสองข้างให้มันสัมพันธ์กันดีเหมาะสมกันดี
แล้วมันก็จะขี่ไปได้เรียบตามต้องการ





Free TextEditor







































































































Create Date : 05 มิถุนายน 2553
Last Update : 5 มิถุนายน 2553 18:46:56 น. 0 comments
Counter : 1272 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tongsehow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add tongsehow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.