All Blog
เมื่อลูกไม่กิน

คุณพ่อ คุณแม่ หลายคนอาจกังวลเกี่ยวกับปัญหาการกินของลูกอายุ 1-5 ปี เช่น “ไม่ยอมกิน” “กินน้อย” “กินช้า” “ถ้าไม่ป้อนก็ไม่กิน” ซึ่งจะเป็นปัญหาหรือไม่นั้นขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน ซึ่งต้องการความรู้และ ความเข้าใจของ คุณพ่อ คุณแม่ เกี่ยวกับด้านโภชนาการ และ ขั้นตอนการพัฒนาการ รวมถึงจิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็กในวัยนี้
เราควรมาดูซิว่า สาเหตุของการ “กินยาก” จะเป็นจากอะไรได้บ้าง
จากการดูแลให้คำปรึกษาแก่ คุณพ่อ คุณแม่ ในเรื่องนี้ พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นจากความรัก ความหวังดี ของคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากให้ลูก “อ้วนท้วน แข็งแรง” ในวัยนี้เมื่อคุณพ่อ คุณแม่พาลูกออกไปเที่ยว หรือ ทำธุระ เมื่อพบปะกับคนอื่นๆ และ เห็นเด็กในวัยเดียวกันก็มักจะเกิดการ เปรียบเทียบ (เหมือนจัดการประกวดเด็กอย่างไม่เป็นทางการ) ว่า ลูกของใคร ตัวโตกว่ากัน ลูกใครเก่งกว่ากัน
แม้แต่ ในโฆษณาเกี่ยวกับ อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ ของเด็ก ที่พบเห็นใน ทีวี และ หน้าหนังสือพิมพ์ ก็จะตอกย้ำประเด็นนี้ ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ ที่มีลูกที่ดูตัวเล็กกว่าเด็กที่เห็นในทีวี รู้สึกว่าตนเองจะต้องพยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูก ของตน “กิน” ให้มากขึ้น ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ลูกของตนก็ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร และน้ำหนักรวมทั้งส่วนสูง ก็อยู่ตามเกณฑ์ของอายุ (เมื่อเทียบดูจากกราฟการเจริญเติบโต) แต่เมื่อ ความรู้สึก, ความคาดหวัง, และ อิทธิพลโฆษณาทำให้ คุณพ่อ คุณแม่ รู้สึกว่าลูกของตนตัวเล็กกว่ากินไม่เก่งเท่าลูกคนอื่น ก็ทำให้เกิดปัญหา เริ่มมีการยัดเยียด, บังคับ, จับอ้าปากกรอก หรือ แม้แต่ทำโทษ โดยการตี หรือ ดุว่า ด้วยอารมณ์หงุดหงิด ที่ทำอย่างไรลูกก็ “ไม่ยอมกิน” อย่างที่ คุณพ่อ คุณแม่ต้องการ
ซึ่งที่จริงแล้วเด็กวัยนี้กำลังเป็นวัย ที่จะเรียนรู้ การทำอะไร ด้วยตนเอง และ การเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) ซึ่งจะไม่ชอบให้ใครมาบังคับ หรือ ดุว่าเขา ทำให้พบว่ายิ่งบังคับยิ่งดื้อต่อต้าน ซึ่งเด็กบางคนอาจใช้วิธีอาละวาด ร้องไห้ ปัดจาน ปัดช้อน ที่ยื่นมาป้อนอาหารทิ้ง หรือ บางรายก็ดื้อเงียบ คือยอมทานเข้าไป ตามที่ถูกบังคับ แต่สักพักก็จะขย้อน อาเจียนออกมา
เด็กบางคนอาจได้รับการปรนเปรออาหารมากมายเกินกว่าที่เด็กจะทานได้หมด (แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังทานไม่หมด ) ทำให้ไม่รู้สึกหิว ไม่รู้สึกอยากทานอะไร เพราะเวลาที่มีในแต่ละวันก็ถูกใช้ไปในการกินตลอดเวลา เดี๋ยวทานข้าวเช้า พอเริ่มอิ่ม ก็ตามด้วยนมอีกขวดใหญ่ ยังไม่ทันได้พัก ก็ตามด้วยกล้วย หรือ ผลไม้อื่น จากนั้นก็ต้องทานน้ำส้ม ยังไม่ทันได้วางขวดน้ำส้ม ก็ต้อง ดื่มน้ำล้างปาก ยังไม่ทันหมดขวด ก็มีอาหารว่างมาวางคอยให้ทานต่อ พอเข้านอน ตอนบ่ายตื่นขึ้นมายังไม่ทันได้ลุกจากเตียง ก็มีขวดนมขวดใหญ่ให้ทาน พร้อมข้าวอีกหนึ่งมื้อคอยอยู่แล้ว
ซึ่งในเด็กวัยนี้ เขากำลังตื่นเต้น กับโลกอันสวยงามรอบข้าง เขาเริ่มเดินได้ดี และเริ่มหัดสังเกต สิ่งต่างๆ และ มีความอยากรู้อยากเห็น “อยากออกไปข้างนอก” “อยากไปเที่ยว” แต่ คุณพ่อคุณแม่ จะคาดหวังให้เขาทานเยอะๆ ทั้งๆ ที่เขายังไม่รู้สึกหิวเลย ก็จะเกิดปัญหาได้ แต่จะไม่ใช่ปัญหาของลูก กลับกลายเป็นปัญหาของพ่อแม่ เนื่องจากเกิดความเครียดขึ้น
ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ ทำการสังเกตดูอย่างใจเป็นกลาง ก็มักจะพบว่าลูกนั้น ที่จริงก็ทานอาหารได้มากเพียงพอ สำหรับการ เจริญเติบโตในแต่ละวันได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เขาอาจจะไม่ได้ กินอาหารตามเวลา ที่คุณต้องการหรือ ไม่ได้กินได้หมดทั้ง ปริมาณ และ ชนิด ของอาหารได้ อย่างที่คุณต้องการ (มี คุณพ่อคุณแม่ บางคนเหมือนเปิดตำราโภชนาการทำอาหารให้ลูก ต้องกินให้ครบ 5 หมู่ ทุกมื้อ ยิ่งทำให้เครียดกันไปใหญ่)
คุณพ่อ คุณแม่ บางคนจะคอยติดตามโฆษณาว่า อาหารเสริม หรือ สารเสริมอะไร ที่ใครเขาว่าดี (ในโฆษณา) ก็หาซื้อมาให้ลูกทาน แต่ เนื่องจากเด็กไม่คุ้นเคยกับของเหล่านี้ก็มักจะไม่ยอมทาน ทำให้เกิดการทำโทษ หรือ ดุว่าเด็กกัน ทั้งๆ ที่จริงแล้ว สารอาหารเสริมเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีความสำคัญในเชิงโภชนาการอะไรนัก เนื่องจากสามารถหาได้ในอาหารธรรมดาที่เด็กได้ทานอยู่แล้วทุกวัน
โดยปกติแล้ว เมื่อ คุณพ่อคุณแม่ มาพบกุมารแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการกินนี้ แพทย์จะซักประวัติ การทานอาหาร และ พัฒนาการต่างๆ รวมทั้ง เช็ค น้ำหนัก, ส่วนสูง ของเด็กเทียบกับกราฟมาตรฐาน และ ตรวจร่างกายเด็ก อย่างละเอียด และ จะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลถ้าพบว่า
1.การเจริญเติบโต ของเด็กเป็นไปตามปกติตามวัย คือ น้ำหนักจะขึ้น เป็น 2 เท่า ของน้ำหนัก แรกเกิด เมื่ออายุประมาณ 4-5 เดือน, เป็น 3 เท่า เมื่อ อายุ 1ปี ,และเป็น 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด เมื่อ อายุ 2 ปี และ เพิ่มขึ้น ปีละ 2-2.5 ก.ก. ในเด็ก อายุ 2-5 ปี
2.น้ำหนักไม่ลดลงไปจากเดิม
3.เด็กเล่นซนได้ตามปกติ มีพัฒนาการตามวัย
4.ไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างอื่น ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย อาเจียน ซีด น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ฯลฯ

ส่วนในรายที่พบว่ามีความผิดปกติจริง ในด้านการเจริญเติบโต ทั้งน้ำหนัก และ ส่วนสูง แพทย์ ก็จะได้ให้การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุต่อไป ซึ่งสาเหตุที่เกี่ยวข้อง ด้านโรคทางกายนั้น ถึงแม้อาจพบได้แต่ก็เป็นส่วนน้อย เช่น โรคหัวใจ, หอบหืด, โรคไต หรือโรค ความผิดปกติทางฮอร์โมนบางอย่าง
แนวทางแก้ไข ควรจะทำอย่างไร
เรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ และ ความร่วมมือของ คุณพ่อ คุณแม่ โดยมีเกณฑ์คร่าวๆดังนี้ คือ
1.อย่าบังคับลูก ไม่ต้องกังวล ไม่มีเด็กอายุขนาดนี้คนไหน ที่มีสุขภาพดี จะไม่กินจนผอมแห้ง จนตัวเองเจ็บป่วย (อย่าไปเครียด เรื่อง Anorexia nervosa ที่พบในเด็กวัยรุ่น, เป็นคนละเรื่องกัน)
2.ให้โอกาสเด็กได้เลือก และ ควบคุมการกินของเขาเอง โดยคุณควรจะเริ่มฝึกตั้งแต่ลูก ยังเล็ก คือ เมื่อ ลูกอายุ ได้ 8-10 เดือน ควรเริ่มให้เด็ก ได้หัดกินเอง โดยให้ลูกหัดใช้มือหยิบ อาหารเข้าปากเอง (Finger food) เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ได้มีโอกาสทานเอง ไม่ รู้สึกว่า ถูกบังคับ เมื่อลูกโตขึ้น ถ้าลูกตักอาหารเองได้ พยายามอย่าป้อน ลองให้เขาทานเอง (แต่ถ้าบางวันลูก อาจจะอยากให้ป้อนบ้าง ก็อนุโลมได้เป็นครั้งคราว)
3.ลดขนม และ ของว่างลง อย่าให้กินจุกจิกทั้งวัน จนไม่หิว คุณพ่อ คุณแม่ บางคน หันมาปรนเปรอขนม เนื่องจากเห็นว่า ลูกไม่กินข้าว ให้กินขนมก็ยังดี เด็กเลยกินแต่ขนมสบายไป

4.อย่าให้นมมากจนอิ่ม และไม่ยอมกินข้าว

5.จัดอาหารให้มีปริมาณไม่มากนัก ให้เหมาะกับ ตัวเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ากินเองได้ หมด (คุณพ่อ คุณแม่ บางคน ตักข้าวให้ลูกจานใหญ่ เหมือนของผู้ใหญ่ทานเลย)

6.อย่าเอ็ด ดุ ว่า บังคับ ติดสินบน ลูกเพื่อให้กิน

7.สร้างบรรยากาศในการกินให้สบายๆ (ไม่ใช่เอาเป็น เอาตาย ต้องกินให้หมดเดี๋ยวนี้) ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องอาหาร

8.อาจให้วิตามินเสริม ถ้าลูกทานอาหารไม่พอ (ควรปรึกษากุมารแพทย์ก่อน)

ข้อแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ
1.อย่าปลุกลูกขึ้นมากินบ่อยๆ กลางดึก เพราะกลัวลูกผอม ทำให้ลูกนอน หลับไม่เต็มอิ่ม และเมื่อ ตื่นเช้ามาก็ ไม่รู้ สึกหิว เพราะเพิ่งทานนมไปตอนตี4 แต่ ก็ต้องมาถูกบังคับ ให้ทานนมอีกขวดใหญ่ พร้อมทานข้าวเช้า อีก หนึ่งจาน เด็กเลยยิ่งต่อต้านอาหาร เพราะไม่รู้สึกหิวนั่นเอง

2.อย่าให้กินขนม หรือ ของว่างบ่อยๆ ทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะกลัวลูกหิว คุณพ่อ คุณแม่ บางราย เมื่อเห็นลูก ไม่ยอมทานข้าว ก็เอาขนมของหวานมาล่อให้เด็กทาน โดยคิดว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้ กินอะไรเลย แต่สิ่งที่ จะตามมา ก็คือ เด็กจะเลือกทาน แต่ของหวานไม่ชอบ อาหารธรรมดา ทำให้ไม่ได้ทานอาหารหลัก 5 หมู่ อย่างที่ควรจะเป็นอาจเกิด ภาวะทุพโภชนาการ และ เด็กจะมี ฟันผุง่ายจากน้ำตาล พออายุไม่กี่ขวบ ก็ฟันผุ เกือบหมด ทำให้เคี้ยว อาหารไม่ได้ดีนัก ยิ่งไม่ยอมทานอาหารที่ต้องเคี้ยว
3.อย่าเปรียบเทียบ อย่าทำให้ลูกรู้สึกผิดที่ไม่กิน เช่น “ มีเด็กหิวโหยอดตาย-----” อย่าพูดว่า “ ถ้าไม่กิน แม่จะไม่รัก ” เพราะเด็กจะรู้สึกว่าเป็น ความผิด เกิดความเครียด และ ยิ่งไม่กินไปใหญ่ เนื่องจากเขาอาจไม่สามารถ ทำตามที่พ่อแม่คาดหวังได้
4.อย่าป้อนยัดเยียด “กินอีก ซักคำ----- ” การพยายามยัดเยียดให้ทานอีกไปเรื่อยๆ เมื่อลูกอิ่มแล้วบางครั้ง จะทำให้ลูกอาเจียน หรือ จงใจขย้อนอาหารออกมา ซึ่งทำให้ คนป้อนยิ่งหงุดหงิด และ ไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นเลย ควรรู้จักพอและ มีการผ่อนปรนในการป้อนอาหารเด็กด้วย
5.อย่าบังคับให้ลูกกินของที่ไม่ชอบ เช่น ผักใบเขียว เด็กส่วนใหญ่ จะไม่ชอบทานผักใน ช่วงเวลาหนึ่ง แต่มักจะเป็นชั่วคราว การพยายามบีบบังคับให้เด็กต้องทานผัก ขณะที่เด็ก รู้สึกต่อต้าน จะยิ่งทำให้เด็กเกลียดผัก และ ยิ่งพาลไม่ทานอาหารที่มีผักอยู่เลย ยิ่งแย่ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่อาจจะใช้ผักจำแลงกาย(ดัดแปลง) เช่น ทำเป็น สุกี้, เปาะเปียะ ไส้ผัก หรือ ใช้ แครอท, ฟักทอง ข้าวโพด, มะเขือเทศ ที่มีสีแตกต่างไปมาทำเป็นอาหาร แม้แต่ถั่วฝักยาว ชุบแป้ง ทอด แบบเทมปุระ ก็อาจจะทำให้เด็กทานสิ่งเหล่านี้ได้ โดยไม่ต่อต้าน สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยโดยการทานผักเป็นประจำ ให้เด็กเห็น และคุ้นเคย
6.อย่าใช้อาหารเป็นการลงโทษ หรือ เป็นรางวัล การเอาเรื่องการกิน หรือ ไม่กินมาให้ความสำคัญมากเกินไป เช่น ใช้ใน การลงโทษ หรือ รางวัล อาจทำให้เด็กเครียด และ เด็กบางคนที่ฉลาดจะจับจุดเหล่านี้ ได้และยิ่งใช้การต่อต้าน ไม่กิน มาเป็นเครื่องมือต่อรอง ที่จะทำให้คุณพ่อ คุณแม่ ต้องยอมเขา เมื่อเขาต้องการอะไรตามใจเขาได้
หวังว่าข้อแนะนำเหล่านี้ จะช่วยให้คุณพ่อ คุณแม่ เข้าใจ และสบายใจ เรื่องการ กินของลูกได้บ้าง นะคะ
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 12:17:06 น.
Counter : 548 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]