แผนที่พระประแดง-แจงร้อน




ผมมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวเมืองพระประแดงแจงร้อนนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งอยู่ในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันนี้ความเจริญเข้าไปเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศดั้งเดิมจนแทบจะมองไม่เห็นร่องรอยของเมืองโบราณที่อยู่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ดังนั้นถ้าหากว่าอยากจะเห็นร่องรอยของการอยู่ของผู้คนในแถบนี้สมัยอยุธยาตอนต้น ก็จะต้องเข้าไปดูในพระอุโบสถหรือพระวิหารของวัดต่างๆ จะพบพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองสลักจากหินทรายแดงจำนวนมากประดิษฐานอยู่ในอาคารซึ่งปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด เช่นวัดแจงร้อน วัดประเสริฐสุทธาวาส เป็นต้น และมีหลักฐานการอยู่อาศัยเรื่อยมาดังปรากฏวัดในสมัยอยุธยาตอนปลายจำนวนมาก


พื้นที่แถบปากแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีความสำคัญอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อมีข่าวว่าญวนให้เขมรขุดคลองจากเสียมเรียบมาถึงเมืองพุทไธมาศ ซึ่งกระชั้นเข้ามาใกล้เขตแดนสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็โปรดให้ตระเตรียมการป้องกันศึกญวน มีการสร้างป้อมปราการริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งโปรดให้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำ (เป็นโครงการที่มีดำริมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1)  เมืองใหม่นี้ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองพระประแดงเดิม (ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลายเคยอยู่ที่ตำบลคลองเตย ดังที่ปรากฏในแผนที่ของหมอแกมเฟอร์ ซึ่งเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเพทราชา) รัชกาลที่ 2 พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่านครเขื่อนขันธ์ แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกว่าเมืองใหม่มาตลอด ด้วยเหตุที่โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นแม่กองในการสร้างเมือง เมืองนี้จึงขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแลของวังหน้ามาโดยตลอด จนในที่สุดเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทิวงคต ก็โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพกำกับเมืองต่อไป จนพระองค์ทิวงคต ในรัชกาลที่ 3 ก็โปรดให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ไปกำกับดูแลเมืองนี้แทน


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังโปรดให้ขุดคลองลัดหลวง (เชื่อมคลองขนาดเล็กหลายคลองเช่น คลองเจ้าเมือง คลองตาลาว เป็นต้น) ในบริเวณเมืองใหม่นั้น คลองลัดหลวงนี้เดินขนานไปกับคลองลัดโพธิ์ ซึ่งในรัชกาลที่ 1 โปรดให้ปิดปากคลองให้แคบเสียเนื่องจากน้ำเค็มไหลเข้ามาในพระนครมาก จนชาวบ้านในกรุงเทพได้รับความยากลำบากมากเพราะน้ำเค็มทำให้การเกษตรเสียหาย การขุดคลองนี้ใช้แรงงานชาวจีนกับชาวมอญอาสาซึ่งเป็นไพร่พลของพระยามหาโยธา (เจ่ง) เจ้าเมืองเตริ่นในเมืองมอญซึ่งอพยพศึกพม่าเข้ามาสวามิภักดิ์ในรัชกาลที่ 1 ไพร่พลมอญเหล่านี้ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองนครเขื่อนขันธ์นั้นเอง จึงพบว่าในบริเวณเมืองนครเขื่อนขันธ์มีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก วัดเกือบทั้งหมดเป็นวัดมอญ ซึ่งยังปรากฏเจดีย์ศิลปะมอญขนาดต่างๆกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองนครเขื่อนขันธ์ เช่นเจดีย์วัดกลาง วัดแค วัดทรงธรรม เป็นต้น


เมืองนครเขื่อนขันธ์หรือเมืองใหม่นี้ตั้งอยู่ริมคลองลัดหลวงพอดีจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองปากลัด ที่ปากคลองทางด้านเหนือมีวัดสำคัญอยู่วัดหนึ่งคือวัดโปรดเกศเชษฐาราม แต่เดิมเรียกวัดปากคลองสร้างโดยพระยาเพชรพิไชย (เกด) และทางด้านใต้ก็ยังมีวัดไพชยนต์พลเสพย์ ซึ่งเป็นวัดหลวงสร้างโดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐรูปแบบจีนผสมไทย เป็นวัดเพียง 2 วัดในพื้นที่นี้ที่เป็นวัดไทยนอกจากนั้นเป็นวัดมอญทั้งสิ้น


แผนที่ปากน้ำเจ้าพระยา ที่ผมลองทำขึ้นครับ สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าต้องการใช้ติดต่อผมที่ patisonii4@hotmail.com หรือ FB patison benyasuta






Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2562 9:42:37 น.
Counter : 1431 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments