เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 
จดหมายจากผู้ว่าการถึงอาจารย์ป๋วย



ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เขียนบทความชื่อ"จดหมายจากผู้ว่าการถึงอาจารย์ป๋วย" ตีพิมพ์ในวารสารพระสยามของ ธปท. "กรุงเทพธุรกิจ" เห็นว่าเนื้อหามีประโยชน์กับสาธารณชน จึงอนุญาตนำมาเผยแพร่
-----------------------------------------------------

….. พฤษภาคม 2555
เรียน อาจารย์ป๋วยที่เคารพ
ในจดหมายฉบับก่อน ผมได้มีโอกาสเรียนอาจารย์เกี่ยวกับข้อเป็นห่วงของแบงก์ชาติ ด้านการขาดวินัยทางการคลัง ซึ่งมักเป็นสาเหตุให้แบงก์ชาติต้องท้วงติงรัฐบาลคล้ายกับที่อาจารย์เคยประสบ รวมทั้งผมขออนุญาตที่จะเขียนจดหมายถึงอาจารย์อีก

อาจารย์ครับ การใช้จ่ายมากๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการลดแลกแจกแถม หรือที่ได้สัญญากับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ และมักจะนำมาสู่ข้อเรียกร้องแปลกๆ ต่อแบงก์ชาติ ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างหนึ่งนำมาเรียนให้อาจารย์ทราบในจดหมายฉบับนี้ นั่นก็คือ การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ


ช่วงปลายปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ มีประเด็นที่สร้างความวิตกกังวล คือการที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้แบงก์ชาติรับภาระแทน ก่อนอื่นผมขอเท้าความให้ทราบว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาจากไหน หนี้ดังกล่าวนี้มีที่มาจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่ประเทศเราเกิดปัญหาฟองสบู่และลุกลามสู่ปัญหาระบบสถาบันการเงิน ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการประกาศค้ำประกันเต็มจำนวนแก่เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ ทำหน้าที่แทนในการจ่ายคืนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน ภาระดังกล่าวทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมากแก่กองทุนฟื้นฟูฯ รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ก. ขึ้น 2 ฉบับในปี 2541 และ 2545 ให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินและนำมาใช้ในการจ่ายคืนเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน ภาระหนี้จากการออกพันธบัตรดังกล่าวนับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสากลดังเช่นที่เกิดขึ้นล่าสุดในยุโรป



การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนับเป็นภาระการคลังของประเทศ (fiscalization) เพราะรัฐบาลมีอำนาจเก็บภาษี จึงมีบทบาทนำในการสนับสนุนภาคการเงินในช่วงวิกฤติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เมื่อระบบสถาบันการเงินได้รับความน่าเชื่อถือ เศรษฐกิจก็เดินหน้าได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ปี 2541 และ 2545 มีรวมทั้งหมดประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท

รัฐบาลมีความพยายามที่จะโอนหนี้ดังกล่าวให้มาอยู่กับแบงก์ชาติ โดยได้เสนอหลักการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เป็นวาระลับ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการให้หนี้สาธารณะลดลง และจะทำให้สามารถกู้เงินได้เพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นความจำเป็นของการฟื้นฟูประเทศ แต่ขอให้หน่วยงานปรึกษากัน จึงเข้าใจว่าบางส่วนในรัฐบาลคงมีความเป็นห่วงในประเด็นการโอนหนี้ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประเทศเช่นกัน รวมทั้งมีกระแสการคัดค้านจากสาธารณชน

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอหารือกับ 4 หน่วยงาน คือ (1) คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง (2) ผม ในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติ (3) คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ และ (4) คุณอัชพร จารุจินดา เลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งผมได้เรียนให้ที่ประชุมทราบว่าการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้แบงก์ชาติ มีผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไรบ้าง ทั้งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน การบั่นทอนวินัยการคลัง เพราะรัฐบาลอาจกู้เงินได้โดยง่ายแล้วให้แบงก์ชาติโอนเงินเพื่อชำระหนี้แทน เป็นการทำลายเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและเครดิตเรทติ้งของประเทศ เมื่อประเทศเสียเครดิตแล้ว ความไว้วางใจจากต่างชาติจะน้อยลง ส่งผลต่อการให้เครดิตระหว่างกัน เจ้าหนี้ต่างประเทศอาจคิดดอกเบี้ยแพงขึ้น


ในการชี้แจงวันนั้น ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของอาจารย์ที่ว่า “ในการที่จะติดต่อกับรัฐบาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความเชื่อถือ ให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อถือว่า เราไม่ได้เห็นประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของธนาคารชาติ แต่เห็นประโยชน์ของแผ่นดิน ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารชาติจะต้องมีความกล้าหาญพอสมควร คือ ต้องสามารถที่จะพูดขัดได้ ถ้าอะไรที่ไม่ดีแล้วจำเป็นจะต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าพอ อย่าเป็นดีกว่า”

เนื่องจากในการท้วงติง ต้องอาศัยศิลปะและความกล้า เพราะรัฐบาลย่อมมีอำนาจเหนือแบงก์ชาติอยู่แล้ว แต่ในที่สุด ที่ประชุมได้ข้อสรุปตามที่แบงก์ชาติเสนอว่า (1) ต้องไม่มีการพิมพ์เงินใหม่ (2) ต้องไม่ใช้ทุนสำรองเงินตรา และหลักการของรัฐบาลว่าต้องลดภาระงบประมาณ

หลังจากวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่ พอเปิดทำการในวันแรก 4 มกราคม 2555 ผมทราบข่าวว่า กฤษฎีกาส่งร่าง พ.ร.ก. เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยที่แบงก์ชาติไม่ได้รับแจ้งหรือเห็นร่าง พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งต่างจากพิธีปฏิบัติตามปกติ ในช่วงเย็นวันนั้น มีผู้สื่อข่าวส่ง fax ร่าง พ.ร.ก. มาให้ดู ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น 5 มกราคม สื่อสาธารณะได้ลงร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักการที่ได้ตกลงกันจากที่ประชุม ผมจึงได้แสดงความเห็นคัดค้านผ่านการให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะมาตรา 7(1) และ 7(3) เกี่ยวกับการกำหนดให้แบงก์ชาตินำส่งกำไรสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และการให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของแบงก์ชาติตามที่ ครม. กำหนด ส่วนทางคณะศิษย์หลวงตามหาบัวได้แสดงความเห็นคัดค้านในมาตรา 7(2) และ 7(3) เพราะจะกระทบต่อสินทรัพย์ในคลังหลวงหรือทุนสำรองเงินตราด้วย
ในช่วง 10 โมงเช้าวันเดียวกัน รองนายกฯ ได้มาหารือกับผมที่แบงก์ชาติ ผมก็ได้ทักท้วงประเด็นที่จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งรองนายกฯ รับว่าไม่มีเจตนาและเห็นพ้องที่จะให้ต้นเงินกู้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ยังอยู่ที่คลัง รวมทั้งตอบรับที่จะแก้ไขมาตรา 7 ในขณะที่ยังคงให้แบงก์ชาติกำหนดเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

นอกจากการแสดงความเห็นท้วงติงด้วยการให้สัมภาษณ์ และการพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาลแล้ว ผมเองยังได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2555 ถึงรัฐมนตรีคลัง เพื่อแสดงความเป็นห่วง ดังนี้ (1) การให้แบงก์ชาติรับภาระหนี้สาธารณะแทนรัฐบาลมีผลเท่ากับพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้ ซึ่งส่งผลเสียต่อประเทศ (2) จะต้องไม่มีการโอนเงินหรือสินทรัพย์ของแบงก์ชาติไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (3) การดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูฯ ควรทำในฐานะตัวแทนรัฐบาล (4) หน้าที่กำหนดอัตราเงินนำส่งควรเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. และ (5) การนำส่งกำไรสุทธิต้องหักขาดทุนสะสมแล้ว

สื่อสาธารณะได้แสดงความวิตกกังวลต่อเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง บางส่วนสะท้อนในภาพการ์ตูนล้อการเมืองที่ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งผมได้แนบมาให้อาจารย์ดูด้วย แต่ในที่สุด ครม. ก็มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ก.เมื่อวันที่ 10 มกราคม ซึ่งผมเองได้มีโอกาสเห็นร่าง พ.ร.ก. ที่ ครม.อนุมัติ ในช่วงเย็นวันที่ 11 มกราคม ผมเบาใจในระดับหนึ่งที่ไม่เห็นการโอนเงินหรือสินทรัพย์ของแบงก์ชาติปรากฏอยู่ เท่ากับว่าความพยายามในการท้วงติงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีก่อนสัมฤทธิผลบ้าง ซึ่งคงจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้แบงก์ชาติโอนเงินหรือสินทรัพย์ไปให้รัฐบาลใช้จ่าย เพราะจะนำมาซึ่งการเสื่อมค่าของเงินตราและค่าครองชีพที่สูงขึ้นดังที่อาจารย์เคยบันทึกไว้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเพิ่มเงินนำส่งธนาคารพาณิชย์ว่าเป็นอย่างไร ผมเองได้มีโอกาสพบกับสมาคมธนาคารไทยในวันที่ 12 มกราคม และได้รับทราบข้อกังวลด้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIS) เพราะ SFIS ไม่มีภาระต้องส่งเงินสมทบทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า และอาจมีผลผลักดันให้ SFIS เข้ามาแข่งขันในเชิงพาณิชย์ ทั้งการเร่งระดมเงินฝาก และการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใหญ่ จนละเลยบทบาทในเชิงพัฒนาซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ SFIS เช่น การให้กู้แก่คนมีรายได้น้อย ขาดโอกาส แต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นได้

ผมมีโอกาสหารือกับคุณธีระชัย รัฐมนตรีคลัง ที่เชียงใหม่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2555 ซึ่งท่านไม่ค่อยแน่ใจกับการเก็บเงินนำส่งจาก SFIS แต่บอกว่าได้ออกนโยบายให้ SFIS จำกัดบทบาทเชิงพาณิชย์ลงแล้ว ต่อมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีคลังจากคุณธีระชัยเป็นคุณกิตติรัตน์ มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลัง แบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าให้เก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 0.46 เพื่อชำระคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และอีกร้อยละ 0.01 เพื่อเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก รวมทั้งให้เก็บเงินจาก SFIS ในอัตราที่เท่ากันด้วย

อาจารย์ครับ หากมองย้อนเวลากลับไป ในช่วงปลายปีก่อนที่มีแนวคิดของการโอนหนี้มาให้แบงก์ชาติ เพื่อลดหนี้สาธารณะและจะได้สามารถกู้ได้เพิ่มเติม ผมพยายามเจรจาอธิบายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าการใช้แบงก์ชาติโอนเงินให้รัฐบาลเพื่อใช้หนี้แทน จะส่งผลเสียต่อประเทศอย่างไร



ผมดีใจนะครับว่าในที่สุดคำทัดทานของผมบังเกิดผลอยู่บ้าง สำหรับการแก้ปัญหาที่ให้เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินนั้น แน่นอนว่าสถาบันการเงินจะมีภาระเพิ่มเติม แต่ผมพยายามที่จะตกลงกันในเรื่องอัตราเงินนำส่งว่าทุกฝ่ายรับได้ และการที่ให้เก็บเงินโดยเสมอภาคกันก็คงช่วยลดผลกระทบข้างเคียงลงได้บ้าง วิธีการเก็บเงินเพื่อชำระหนี้ คงจะใช้เวลานานกว่า 20 ปี แต่ผมมองว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่มาก หากเก็บเงินทีเดียวเยอะๆ ก็คงไม่ไหว จึงต้องใช้วิธีทยอยเก็บเงินเพื่อชำระคืน และ ในอนาคต เมื่อประเทศมีรายได้มากขึ้น สถาบันการเงินเติบโตขึ้น ภาระเงินนำส่งก็จะลดลงไปโดยปริยาย


ผมดีใจนะครับที่มีโอกาสเขียนเล่าเหตุการณ์ให้อาจารย์ทราบ เพราะอาจารย์คงเคยประสบเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะความพยายามในการโอนสินทรัพย์ของแบงก์ชาติ ผมยังจำได้ถึงข้อเขียนที่อาจารย์เคยบันทึกไว้ว่า “เรื่องทุนสำรองนี่ไม่ใช่ของผม และไม่ใช่ของใครในธนาคารชาตินี่ และไม่ใช่ของพวกคุณ ไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นของชาติทั้งชาติ และก็เป็นของลูกหลานของเราที่จะมีต่อไป”

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล



Create Date : 04 พฤษภาคม 2556
Last Update : 4 พฤษภาคม 2556 15:30:11 น. 0 comments
Counter : 677 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.