คุณแม่น้องแฝด ฮานากะฮารุ ^^
พามาเที่ยวพิพิทธภัณฑ์พระปกเกล้า part 1

การมาเที่ยวที่นี่ในวันนี้ อิชั้นขอสารภาพตามตรงค่ะ  ว่าไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าเลย

พอดีว่า วันอาทิตย์ที่ผ่านมา  มาเที่ยววัดราชนัดดารามกับวัดเทพธิดาราม  บังเอิญระหว่างนั่งแท๊กซี่ได้เห็นพิพิทธภัณฑ์พอดี  ก็เลยเกิดความสนใจ  อยากจะลองมาเยี่ยมชมบ้าง


เนื่องจากระยะทางไม่ได้ไกลจากวัดทั้งสอง  หลังจากเที่ยวเสร็จแล้วอิชั้นจึงแวะมาที่นี่  เดินผ่านป้อมมหากาฬทางสะพานผ่านฟ้า   ข้ามถนนนิดเดียวก็ถึงแล้วค่ะ 



อาคารสีเขียวอ่อน สบายตา รูปทรงสวยงามดึงดูดใจอิชั้นตั้งแต่แรกเห็น


มาตอนหลังจึงรู้ว่า อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นอาคารเก่าของกรมโยธาธิการ ที่ถวายให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้จัดแสดงสิ่งของและพระราชประวัติ รวมถึงพระราชกรณีกิจต่าง ๆ ของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ที่นี่ติดเแอร์เย็นฉ่ำเลยค่ะ  สบายสุดๆ ค่าเข้าก็ฟรี...เวิร์คกว่านี้มีอีกไหมSmiley

การจัดแสดงสิ่งของและข้อมลทางประวัติศาสตร์ถูกจัดแบ่งไว้บนอาคาร ๓ ชั้น ดังนี้


ชั้นที่ ๑ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

ชั้นที่ ๒ จัดแสดงพระราชประวัติก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชั้นที่ ๓ จัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ พระมาลา และฉลองพระบาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่าง


เจ้าหน้าที่บอกว่า ให้เราไปที่ชั้น ๒ ก่อนนะคะ 



เมื่อมาที่บันไดก็จะพบกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว



ประวัติของท่านค่ะ


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ( พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ) ประสูติเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าชายาประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสโขทัยธรรมราชา”  ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระมารดาเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 



มารูปเก่าๆที่หาดูได้ยากกันนะคะ

ครั้นสมัยยังทรงพระเยาว์  ในอ้อมกอดของเสด็จแม่ (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนนี)




ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้าชายาประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสโขทัยธรรมราชา



หลังจากที่ทรงศึกษาวิชาเบื้องต้นในประเทศไทยแล้ว เมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษาได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยเข้าเรียนระดับมัธยม ที่โรงเรียนอีตัน และศึกษาวิชาการทหารจนจบจากวิทยาลัยการทหารบก กลับมารับราชการประจำกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เลื่อนยศตามลำดับ จากร้อยตรี เป็นนายพันเอก ทรงมีตำแหน่งเป็นปลัดกรมเสนาธิการทหารบก จนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2






พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงแรกจะแสดงสิ่งของและภาพถ่ายสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์แล้ว


อันนี้เป็นพระมาลาส่วนพระองค์ค่ะ



ฉลองพระองค์ในวาระต่างๆ 



ซอสามสาย




และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ 


(ภาพนี้มองใกล้ๆ จะเห็นแววพระเนตรของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนนนี ทรงทุกข์ตรมโทมนัสเหลือเกินค่ะ )



ร.6 ทรงยืนลำดับที่สอง ส่วน ร.7  ประทับพับเพียบอยู่ขวาสุดของรูป ( ถ้าราชาศัพท์ไม่ถูกต้องขออภัยด้วยนะคะ)

เพิ่งสังเกตชัดๆ ว่าร.6 ท่านจะทรงคล้ายกับพระราชมารดา (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนนนี) ในขณะที่ ร.7 จะละม้ายคล้ายกับพระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มากกว่า


สาสน์ที่แจ้งข่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ภายในพระราชวัง




ทรงออกผนวช




 ในปี พ.ศ. 2461 ได้อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาในสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิสิษฎ์







ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า 
...ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ 


ทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ และเครื่องประดับพระอิสริยยศในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 




เมื่อทรงอภิเษกสมรสแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปประทับที่ “วังศุโขทัย” ซึ่งสร้างขึ้นใหม่บนที่ดินพระราชทานริมคลองสามเสน หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีฯ ทรงรับพระราชภาระดูแลการภายในพระตำหนัก 




ชุดดินเนอร์พระราชทานซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชชนนีพระราชทานเป็นที่ระลึกในวาระพระราชพิธีอภิเษกสมรส






ในช่วงระยะเวลา ๙ ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก 
การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก 
พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร 
การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ 
การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม 
ฯลฯ 





ฉลองพระเนตรส่วนพระองค์



สมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งกำหนดจะมีงานเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ๑๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๗๕

 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงพระราชดำริในรัชกาลที่ ๔ ที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม ๒ ฝั่ง อีกทั้งยังทรงเห็นว่ากรุงเทพมหานครได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมากและขยายไปทางด้านตะวันออกมากกว่าด้านอื่น

 แต่ทางด้านฝั่งธนบุรีมีพื้นที่ติดกันเป็นเรือกสวนและมีผู้คนอาศัยอยู่มาก การไปมากับฝั่งพระนครยังยากลำบากต้องใช้แต่ทางเรือ ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องสร้างสะพานเชื่อมถึงกัน ถ้าสร้างเสียแต่วันนี้จะได้ประโยชน์เร็วขึ้น ทั้งในโอกาสฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปีก็ควรจะมีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์สถานสร้างไว้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกที่สร้างกรุงเทพมหานครขึ้น

จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6



พระราชจริยวัตรด้านภาพยนตร์ 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพยนตร์ ทรงเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดเล็ก ๑๖ ม.ม. เรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” เนื้อหาในภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นบันทึกพระราชพิธีสำคัญ สภาพสังคม และสภาพชีวิตชาวบ้าน ส่วนเรื่องที่มุ่งเพื่อความบันเทิงได้แก่เรื่องแหวนวิเศษ 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สนับสนุนให้สร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยสำหรับฉายภาพยนตร์เสียงแห่งแรกของประเทศในวโรกาสเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”




ทรงไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา จึงทรงรับพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตน พระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดชเป็นพระราชโอรสบุญธรรม



พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะแสดงสิ่งของและภาพถ่ายสำคัญต่าง ๆ ในรัชการของพระองค์แล้ว ยังแสดงถึงประวัติศาตร์การเมือง การปกครองในสมัยนั้น รวมถึงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเปลียนแปลงการปกครอง 













 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

เช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ากรุงเทพฯ พระราชทานความร่วมมือแก่คณะราษฎร เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในบ้านเมือง


วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ พร้อมด้วยการร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕”




คณะราษฎร์

คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่

  1. ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
  2. ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
  3. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
  4. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
  5. ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  6. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
  7. แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ





จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของภาพประวัติศาสตร์ในวันนี้ค่ะ

วันที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมมูญ  มอบอำนาจให้แก่ประชาชนปกครองตนเอง




อันนี้เป็นไฮไลต์ของที่นี่นะคะ  เป็นรัฐธรรมนูญ 3 มิติ 


วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังค์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยามแก่ปวงชนชาวไทย




ของที่ระลึกครั้งงานพระราชทานรัฐธรรมนูญ




ในที่สุดวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล เมืองแครนลี มณฑลเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ 

หลังจากทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงปลูกดอกไม้ด้วยพระองค์เอง ทรงกีฬากอล์ฟและเทนนิสร่วมกับพระญาติพระสหาย ข้าราชบริพารและนักเรียนไทย

นอกจากมีพระโรคทางพระเนตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยด้วยโดยพระอาการได้กำเริบหนักขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างสงบเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะมีพระชนมายุ ๔๘ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

การอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่ประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2492  รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร




การมาที่พิพิทธภัณฑ์พระปกเกล้าในวันนี้ อิชั้นรู้สึกอิ่มเอมหัวใจมากเลยค่ะ   ยอมรับว่าก่อนเข้ามา อิชั้นรู้จักท่านน้อยมากกก แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในพิพิทธภัณฑ์ ซึงมีการจัดแสดงได้แบบละเอียด   มีการนำสื่อประสมในรูปแบบต่างๆ ทำให้เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ


ตอนนี้เราก็ได้รู้จักพระองค์ท่านมากขึ้นแล้ว ได้รับทราบพระราชกรณียกิจ และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงพระชนม์ชีพของท่าน 


 แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับพระองค์จะส่งผลกระทบ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่  และจิตใจของกษัตริย์ท่านหนึ่งในระดับที่แสนจะรุนแรงเกิดกว่าที่เราจะคาดการณ์


  แต่พระองค์ก็ได้ใคร่ครวญและพระราชทานสิ่งที่ดีที่สุดให้พวกเราแล้ว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณกับมวลชาวไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้



ทริปวันนี้ยังไม่จบนะคะ  เราจะลงไปชั้นหนึ่ง เพื่อไปรู้จักกับพระมเหสีของท่าน คือพระนางเจ้ารำไพพรรณีในบล๊อคต่อไปค่ะ


Smiley Smiley Smiley



Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2556 10:43:12 น. 2 comments
Counter : 1191 Pageviews.

 
หวัดดียามสายครับ ขอบคุณที่นำสิ่งดีดีมาฝากนะครับ (เคยไปครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้เก็บรายละเอียดมาขนาดนี้เลยครับ)


โดย: พี่รี่+ต๊อก วันที่: 9 พฤศจิกายน 2556 เวลา:8:42:06 น.  

 
ขอบคุณที่พาเที่ยวค่ะ


โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 11 พฤศจิกายน 2556 เวลา:12:51:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hi hacky
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




Life is a journey....
New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add hi hacky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.