All Blog
พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานหลายแห่ง จนในที่สุดอยู่เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดพระแก้ว”
ทั้งที่จริง องค์พระทำมาจากมรกตแท้ ๆ สีเขียวงดงามมาก มูลค่ามากมายมหาศาล และมีชื่อเสียงด้านปาฏิหาริย์ แต่พอพูดว่าแก้ว บางคนอาจคิดว่าเป็นแค่แก้วธรรมดาไม่มีราคาค่างวดอันใด มรกตมีราคาสูงกว่าแก้วมากมายนัก น่าจะต้องขานพระนามให้เต็มยศกว่านี้สักหน่อย
เมื่อมาแกะสลักเป็นองค์พระ ไม่ต้องตีค่าประเมินราคากันเลย ยิ่งเป็นพระพุทธรูปอันงดงามและเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ครั้งสร้างเมืองใหม่ จำเป็นยิ่งที่คนไทยจำต้องมากราบสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต
ถ้าเอ่ยถึงวัดพระแก้วแล้วจะไม่มีคนไทยคนใดที่จะไม่ปรารถนามากราบสักการะบูชา ถ้ามีโอกาส โดยเฉพาะคนที่เชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์
พระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระประทับนั่งสมาธิราบสมัยล้านนาพุทธศตวรรษที่ 20 และจะมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงทุกฤดูกาล 
ประวัติความเป็นมา พระแก้วมรกตสร้างขึ้นที่เมืองปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย และได้อัญเชิญไปยังเกาะลังกา พุกาม กัมพูชา ละโว้ อยุธยา กำแพงเพชร เชียงใหม่ ลำปาง จนมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางมาประดิษฐานในเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่
สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระอุปราชแห่งอาณาจักรล้านช้างมาปกครองล้านนา เมื่อเสด็จกลับไปครองอาณาจักรล้านช้างได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังหลวงพระบาง และย้ายไปประดิษฐานยังวัดพระแก้วในนครเวียงจันทน์
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือรัชกาลที่ 1 ครั้งที่ไปรบและได้ชัยชนะเหนือเวียงจันทน์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้อัญเชิญกลับมายังกรุงธนบุรีก่อน 
ภายหลังเมื่อสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจึงได้นำมาประดิษฐานจนถึงทุกวันนี้  นั่นแสดงว่า พระแก้วมรกตเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของไทยจริง ๆ หลังจากที่ได้ประดิษฐานมาหลายแห่งเหลือเกิน  เพราะพระแก้วมรกตประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน  ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปประดิษฐานที่อื่นอีกเลย
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า พระแก้วมรกต แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์ เป็นศิลปะยุคเชียงแสน
หลักฐานระบุว่าพบครั้งแรกที่วัดพระแก้ว เชียงราย เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าลงองค์พระเจดีย์พบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทองจึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกกระเทาะออก ทำให้เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงได้กระเทาะปูน พบว่าเป็นเนื้อหยกทั้งองค์

 



Create Date : 22 กันยายน 2562
Last Update : 22 กันยายน 2562 7:28:44 น.
Counter : 427 Pageviews.

0 comment
อย่านั่งรถตุ๊ก ๆ เที่ยววัดพระแก้ว
อย่านั่งรถตุ๊ก ๆ เที่ยววัดพระแก้ว
วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของปวงชนชาวไทย ศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งชาติ และเป็นสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินไทย
เมื่อมาถึง MRT สนามไชยแล้ว น่าจะต้องตะเกียกตะกายมาให้ถึงวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังด้วย เพราะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของไทยทีเดียว ถ้าไม่มีแรงตะลอนเดินย่ำต๊อก คงต้องหาทางนั่งรถแท็กซี่กระมัง
ขอบอกอย่านั่งรถตุ๊ก ๆ ทีเดียวเชียว เพราะตุ๊ก ๆ คิดว่า พวกตัวเขาคอยรับใช้ต่างชาติเท่านั้...น ใครขึ้นโดยไม่ถามราคาล่วงหน้า โดนฟันหัวแบะแน่
ครั้งหนึ่งเป็นประสบการณ์ตรง เมื่อพาคนที่อายุมากกว่า แปดสิบกว่าเชียวนะจากประตูวัดโพธิ์ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะไปที่ท่าน้ำมหาราช ไม่ได้ไกลจากกันสักเท่าไร แต่คนแก่ที่เดินรอบวัดโพธิ์แล้วย่อมหมดแรง จำต้องนั่งรถ
อุแม่จ้าว เมื่อต่อรองราคา ตุ๊ก ๆ บอกคำเดียวว่าไม่ไป ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงอำนาจอันไร้ขอบเขต ไม่ใช่คนรับจ้างงานบริการสักนิด อย่างไรเสีย ก็ไม่ไป ให้ 100 ยังไม่ไป พอบอก 200 มันยอมไป 2 คัน 400 บาท สบายใจไป ที่จริงนั่งแท็กซี่เสียดีกว่า
วัดพระแก้วอยู่ติดกับวัดโพธิ์นั่นแหละ ห่างกันแค่ถนนคั่นกลาง แต่ขอโทษที ทั้งสองที่นี้ต่างกว้างใหญ่ไพศาล เดินกันจนขาลากแน่ ๆ
เหตุผลที่พยายามเข้าข้างตุ๊ก ๆ เจ้าถิ่นมาเฟียขนานแท้ โดยตำรวจแถบนั้นน่าจะไม่เคยรู้ เพราะตำรวจไม่คิดจะนั่งตุ๊ก ๆ และเป็นเพราะถนนสายนั้นเป็นการเดินรถทางเดียว ตุ๊ก ๆ คันที่นั่งมา บอกเขาต้องขับรถวนอ้อมไกลมากกว่าจะกลับมายังที่เดิมได้
พุดโถ น่าเห็นใจเสียจริง ลำบากขนาดนั้น ขูดรีดคนนั่งได้จนเลือดออกซิบ ๆ แทบจะนั่งไปชลบุรีได้เลยนะ ราคาแพงหูฉี่ พอ ๆ กับรอแท็กซี่ที่ประตูน้ำยามหัวค่ำ
ครั้งนั้นไปงานเลี้ยงที่โรงแรมแถวประตูน้ำ ราชดำริ ไม่มีแท็กซี่สักคันจอดรับ จนตัวเราต้องบอกเพื่อน ๆ ว่า ถามมันเลยว่ามันจะไปที่ไหน จะไปด้วยทุกที่ที่มันไปนั่นแหละ สุดท้ายและท้ายสุดเลยนั่งรถปรับอากาศจากราชดำริไปยังราชดำเนิน หลังจากเสียเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อจะนั่งแท็กซี่
พอมีรถสมัยใหม่เช่นแกร็บและอูเบอร์ พวกแท็กซี่โกรธจนลมออกหู หาว่ามาแย่งงาน งงกันไหมล่ะ ผู้โดยสารตาดำ ๆ ที่ออกจะฟ้าฟาง และผมใกล้จะสีดอกเลา ไม่มีทางเลือก ที่จอดรถไม่มี อยากไปเที่ยวก็อยากไป แต่เดินทางไปกลับลำบากเสียเหลือเกินนิ ไม่รู้จะทำเช่นไร
คนแก่ชอบบ่น เป็นธรรมดา เพราะผู้มีอำนาจมองเห็นว่า บางเรื่องเล็กเกินแก้ไข



Create Date : 22 กันยายน 2562
Last Update : 22 กันยายน 2562 5:52:19 น.
Counter : 1631 Pageviews.

1 comment
พระอัษฏามหาเจดีย์
 
พระอัษฏามหาเจดีย์
การสร้างพระบรมมหาราชวังได้เลียนแบบกรุงศรีอยุธยาครั้งที่รุ่งโรจน์ อย่างน้อยได้รำลึกถึงความหลังและแสดงว่าเมืองใหม่จะเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน  เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดขึ้นในใจคนไทยให้ฮึกเหิมและเกิดพลังในการหลอมรวมจิตวิญญาณของคนไทยทุกคน
ทุกคนต่างคิดว่า เมืองใหม่ต้องสวยงามกว่ากรุงศรีอยุธยาและจะมั่นคงกว่าเดิม สิ่งที่คิดฝันและหวังได้กลายมาเป็นความจริง เพราะจนถึงทุกวันนี้บางกอกกลายเป็นพระนครและกรุงเทพ
มหานครได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ
 
รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างถาวรวัตถุมากมายภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกเหนือจากพระมณฑป พระระเบียง ยังทรงสร้างพระศรีรัตนเจดีย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์
พระอัษฎามหาเจดีย์  สถาปัตยกรรมทั้งหมดเลียนแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาที่รวมคติความเชื่อแบบโบราณว่ากษัตริย์คือเทพ  เมื่อมาจุติยังโลกมนุษย์จึงเป็นสมมติเทพ 
ลักษณะการก่อสร้างเน้นตามความเชื่อแห่งกรุงศรีอยุธยามาเกือบทั้งหมด รวมทั้งความเป็นเจ้า ผู้สืบเชื้อสายจากสวรรค์หรือที่เรียกว่าสมมติเทพ  โดยสถาปัตยกรรมบ่งบอกความเป็นเชื้อสายของพระนารายณ์ เช่น ฐานอาคารเชิงบาตรหรือเอวขันธ์ ประดับด้วยแถวครุฑแบก เป็นครุฑยุคนาคเรียงล้อมรอบฐานปราสาทหรือสวรรค์ 
พระทวารและพระบัญชรเป็นยอดปราสาทมีระบบของหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกันแบบเสาตั้งคานทับ  หน้าบันแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก เป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑตรงกลาง ล้อมรอบด้วยลายเครือก้านขด
ลักษณะลวดลายดังกล่าวนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย สัญลักษณ์ของพระนารายณ์ทรงครุฑถือเป็นแบบแผนการสร้างวัดในสมัยโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน
 
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4  พระองค์ทรงสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามงดงามและทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ได้แก่ นครวัดจำลอง ให้พระสามภพพ่ายสร้างขึ้น โดยจำลองแบบจากปราสาทหินนครวัตนครธม ประเทศกัมพูชา 
นอกจากนี้ทรงสร้างสุวรรณเจดีย์ มณฑป ปราสาทพระเทพบิดร เดิมเรียก “พุทธปรางค์ปราสาท” เป็นปราสาทยอดปรางจัตุรมุข ปัจจุบันภายใน ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 – 8 รวมทั้งขยายแนวระเบียงคดใหม่ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างนครวัดจำลองใหม่ด้วยปูน เพื่อฉลองพระนครครบ 100 ปี 
พระศรีรัตนเจดีย์สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2398 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4ได้มาจากลังกา โดยเลียนแบบมาจากเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูน ประดับกระเบื้องโมเสกทอง ภายในประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระระเบียงเป็นเสมือนกำแพงวัดมีภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์จนจบเรื่อง รวม 178 ภาพ และคำบรรยายใต้ภาพเพื่อให้เข้าใจวรรณกรรมที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 เอง
 
แทรกรูป s6300182
 
พระปรางค์  8  องค์ เส้นผ่าศูนย์กลาง  9.40  เมตร  ตั้งเรียงรายอยู่ทางทิศตะวันออก ด้านหน้าวัด  เดิมพระปรางค์ทั้ง  8 องค์จะตั้งเรียงกันอยู่นอกพระระเบียงเป็นแถวเดียวกัน 
ต่อมารัชกาลที่  4  ทรงโปรดให้ขยายพระวิหารคดยื่นออกไปทางทิศตะวันออก  เพื่อสร้างซุ้มประตูมงกุฎ  และให้มีเกยอยู่  2  ด้าน   สำหรับเสด็จบนพระยานุมาศในพระราชพิธีการที่มีการเสด็จโดยทางสถลมารค 
เมื่อขยายวิหารคดออกไปจึงทำให้พระปรางค์  8  องค์เข้ามาอยู่ในกำแพงวิหารคด  คือ
พระปรางค์ทั้ง  8  องค์สร้างขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  จึงมีชื่อเรียกเรียงตามลำดับนับจากทิศเหนือลงมาทิศใต้  ดังนี้
 ปรางค์องค์สีขาว ชื่อ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 ปรางค์สีขาบหรือสีฟ้าหม่น ชื่อ พระสัทธรรมปริยัติวรมหาเจดีย์อุทิศถวายแด่พระธรรม
 ปรางค์สีชมพู ชื่อ พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระอริยสงฆ์
 ปรางค์สีเขียว ชื่อ พระอริยสาวิกาภิกษุสังฆมหาเจดีย์  อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี
 ปรางค์สีเทา ชื่อ พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
 ปรางค์สีฟ้าอมเทา ชื่อ พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์
 ปรางค์สีแดง ชื่อ พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์
 ปรางค์สีเหลือง ชื่อ พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอนาคต
 
พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์นี้มีขนาด รูปร่าง และความสูงเหมือนกันทุกประการแต่ต่างกันออกไปด้วยสีของกระเบื้องเคลือบที่ประดับองค์พระเจดีย์และชื่อประจำองค์พระเจดีย์เท่านั้น
พระมหาเจดีย์แต่ละองค์ก่ออิฐถือปูนแบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ ส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอดปรางค์ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานทักษิณเป็นฐานแปดเหลี่ยมด้านไม่เท่า มีพนักระเบียงโดยรอบฐาน ส่วนเรือนธาตุเป็นแบบย่อมุมไม้สิบสองมีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 ทิศส่วนองค์ปรางค์อยู่เหนือส่วนเรือนธาตุ แบ่งเป็น 7 ชั้นรองรับด้วยมารแบกปูนปั้น มียอดนภศูลเป็นรูปฝักเพกาทำด้วยโลหะ
 
พระปรางค์แปดองค์หรือพระอัษฏามหาเจดีย์เป็นตัวแทนของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระสาวก พระภิกษุณี พระโพธิสัตว์ และพระยาจักร และบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน
พระเจดีย์ทองด้านหน้าพระอุโบสถ ศิลปกรรมเจดีย์ทรงเครื่อง ภายในพระมณฑปเก็บพระไตรปิฎก หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา
ถึงพระไตรปิฎกจะสูญหายไปครั้งไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่จำเป็นที่จะต้องชำระสะสางพระไตรปิฎกกันใหม่ เพราะถือกันว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
ที่ฐานมียักษ์แบกชุดฐานสิงห์ 3 ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆัง ตั้งแต่ฐานถึงองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้ 20 ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถาและปลีตามลำดับ 
พระศรีรัตนเจดีย์สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2398 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4ได้มาจากลังกา โดยเลียนแบบมาจากเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูน ประดับกระเบื้องโมเสกทอง ภายในประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็กที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

 



Create Date : 20 กันยายน 2562
Last Update : 20 กันยายน 2562 15:57:03 น.
Counter : 2983 Pageviews.

1 comment
เดินเที่ยวในวัดพระแก้ว
เดินเที่ยวในวัดพระแก้ว
ปัจจุบันมีทั้งชาวไทยและต่างชาติมาท่องเที่ยวและชื่นชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญ
ถ้าเป็นคนในพื้นที่ควรจะหลีกเลี่ยงไปในวันสำคัญ ทั้งนี้เพราะคนแน่นมาก ๆ แทนที่จะสะพายกล้องย่ำต๊อกกันถ่ายรูปกันตามลำพังอย่างสบาย ๆ กลับจะต้องเบียดเสียดยัดเยียดไหลไปตามฝูงชน และกล้องที่สะพายไปนั้นคงไม่มีโอกาสใช้งาน ด้วยไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพสวย ๆ เลย
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย เช่น รูปแบบพระอุโบสถสืบทอดประเพณีนิยมที่มาจากกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ การมีหลังคาซ้อนชั้นหลังคาเป็นเครื่องลำยอง ประกอบด้วย ป้านลมที่เป็นนาคลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนหน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนเสาเป็นเสาย่อมุม มีบัวหัวเสาเป็นบัวแวง มีคันทวยรองรับชายคา
สิ่งสำคัญที่สุดของวัดคงหนีไม่พ้นพระอุโบสถ นอกจากรูปทรงภายนอกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนแล้ว ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงความเป็นไทย ๆ ได้อย่างดีเยี่ยมอีก ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่อง “ไตรภูมิ” ด้านหน้าเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านข้างเหนือกรอบหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติและระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพทศชาติ
ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีสิ่งก่อสร้างสำคัญหลายอย่าง ได้แก่ พระมณฑปที่เก็บพระไตรปิฎก คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาคิดว่าพระไตรปิฎกหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีคุณค่ามากที่สุด  ถึงแม้จะสูญหายไปครั้งไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม เราก็ต้องชำระพระไตรปิฎกกันใหม่เพราะถือกันว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
พระเจดีย์ทองด้านหน้าพระอุโบสถ ศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงเครื่อง ที่ฐานมียักษ์แบกชุดฐานสิงห์ ๓ ฐาน มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆัง ตั้งแต่ฐานถึงองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้ ๒๐ ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถาและปลีตามลำดับ 
พระปรางค์แปดองค์หรือพระอัษฏามหาเจดีย์เป็นตัวแทนของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระสาวก พระภิกษุณี พระโพธิสัตว์ และพระยาจักร และบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน
สิ่งหนึ่งที่อยากให้ตระหนักคือวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองหรือเป็นวัดที่สำคัญที่สุด 
จริงอยู่การไปเที่ยวชมสามารถกระทำได้ทั้งที่จริงเจตนาแต่ดั้งเดิมมีไว้สำหรับประดิษฐานพระคู่บ้านคู่เมืองและให้เจ้านายทำบุญในวาระพิเศษ  แต่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปเสียแล้ว  จึงสมควรที่จะสำรวมทั้งกายวาจาใจ  แต่งกายให้เรียบร้อยมิดชิด 

 



Create Date : 19 กันยายน 2562
Last Update : 19 กันยายน 2562 13:54:32 น.
Counter : 619 Pageviews.

1 comment
นครวัดจำลอง

นครวัดจำลอง

 

นครวัดนครธมโด่งดังมากในเขมร แต่ที่วัดพระแก้วมีนครวัดจำลอง ที่มาที่ไปเป็นอย่างไรกัน

ว่ากันว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะนั้นเมืองเสียมราฐอยู่ในการปกครองไทย แต่ทว่ามีกลิ่นทะแม่ง ๆ ด้วยต่างชาติทั้งอังกฤษฝรั่งเศสหวังมาฮุบแผ่นดินแถบเอเซียอาคเนย์ทั้งหมด ให้บังเอิญไทยอยู่ตรงกลางเลยให้เป็นดินแดนกันชน

ถึงกระนั้นฝั่งฝรั่งเศสที่ยึดเขมรยังบังอาจมาฮุบบางส่วนไปในรัชกาลต่อมา

คำว่าเสียมราฐมาจากคำว่าสยามราบ แปลว่า ตอนนั้นไทยแพ้ เลยต้องอพยพหนีกลับไทยมายังปราจีนบุรี

เจ้าเมืองเสียมราฐในขณะนั้น คือ เจ้าพระยาอภัยวงศ์ ปัจจุบันบ้านพักของท่านที่ปราจีนบุรีเป็นโรงพยาบาลอภัยบูเบศร์ ต้นกำเนิดตำรับยาแผนไทยที่รู้จักกันดีในสมัยนี้

ปัจจุบันนครวัดที่เขมรกลายเป็นมรดกโลกไปซะแล้ว แสดงว่าตอนนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงเล็งเห็นว่า สมบัติของชาติอาจตกไปเป็นของชาติอื่น จึงมีพระประสงค์ให้ขนย้ายนครวัดกลับมายังไทย

มันใหญ่โตเสียขนาดนั้น ขุนนางจึงเสนอว่า น่าจะเกินกำลัง ถ้าตอนนั้นทำได้ ป่านฉะนี้ ไทยคงได้ครอบครองนครวัด เป็นมรดกโลก

เรื่องที่เล่ามานี่มีเค้ารางความจริง จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ตอนแรกได้ให้พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชาไปสำรวจ แต่ได้รับรายงานว่า มีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้ แต่ มีปราสาทไผทตาพรหม อยู่ ๒ หลัง

อ้าว เมื่อไม่ได้จะทำอย่างไรดี บางคนเสนอว่า เอาปราสาทไผทตาพรหมที่เมืองเสียมราฐน่าจะดีกว่า สูงแค่ 6 วา ได้ส่งคน 4 ผลัด ๆ ละ 500 คน ตั้งพลีกรรมบวงสรวง ได้ลงมือรื้อปราสาท พ.ศ. 2410

อุปสรรคโผล่มาทันที มีกลุ่มเขมรรักชาติ 300 คนมาดักซุ่มโจมตี ขัดขวางแลฆ่าขุนนางที่ควบคุมงานตาย พระสุพรรณพิศาล พระวัง บุตรพระสุพรรณพิศาล ส่วนพระมหาดไทย พระยกกระบัตรบาดเจ็บ ส่วนไพร่ไม่ได้ทำร้าย

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบ ได้รับสั่งให้พระยาอภัยภูเบศร์ และพระยาอานุภาพไตรภพ รื้อปราสาทคนละหลังเข้ามาให้จงได้ พร้อมทั้งสืบหาผู้ร้ายรายนี้ให้ได้ด้วย

 

เหล่าบรรดาเสนาบดีได้เข้าชื่อ ทำเรื่องกราบบังคมทูลว่า ปราสาทหินที่เมืองเขมรนั้น กษัตริย์แต่โบราณได้สร้างไว้ มีอายุเป็นร้อยเป็นพันปีมาแล้ว เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศติดแผ่นดิน

หากไปรื้อ คนสมัยนี้คงไม่มีปัญญาจะยกหินก้อนใหญ่ขนาดนั้นได้ และจะสร้างใหม่ให้เหมือนเดิมคงยาก อีกทั้งจะเป็นการเสียพระเกียรติยศ ขอพระราชทานให้รับสั่งงดเสียดีกว่า แต่สำหรับผู้ร้ายนั้นให้สืบสวนเอาตัวให้จงได้

ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 4 จึงให้สร้างนครวัดจำลองแล้วประดิษฐานที่วัดพระแก้วแทนของจริงที่ขนย้ายมาไม่ได้




Create Date : 17 กันยายน 2562
Last Update : 17 กันยายน 2562 16:34:39 น.
Counter : 687 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments