All Blog
หาวิธีจำที่เหมาะกับตัวเอง
Learn it the way that works for you
#หาวิธีจำที่เหมาะกับตัวเอง เป็นตัวเรามากที่สุด เช่น การท่องจำ การสรุปย่อ การแต่งเป็นเพลง

แต่ละคนมีลีลาการเรียนรู้ learning style ที่แตกต่างกัน จงเลือกแบบใดก็ได้ ตามใจตัวเองเลย ไม่ต้องคิดว่า ดี ถูก ตามหลักใด ๆ ขอให้ตัวเองจำได้เป็นพอ
การจำแบบ “Learn it the way that works for you” หมายถึง การค้นหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง ซึ่งอาจแตกต่างไปตามบุคคล ไม่มีวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะแต่ละคนมีความสามารถและสไตล์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน
จำเป็นนะ ที่จะต้องค้นหาวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เหมาะกับตนเองที่สุด และใช้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ข้อสำคัญ ไม่เร่งรีบอ่านเพื่อให้จำในวันอันน้อยนิดก่อนสอบหรอกนะ
 
ขั้นตอนการค้นหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง
การจัดระเบียบ: พกสมุดจดการบ้านหรืองานที่ต้องทำไว้ตลอดเวลา การบันทึกการบ้าน โปรเจ็กต์ การทดสอบ และการมอบหมายงาน จดทันทีที่ได้รับมอบหมายจะช่วยให้ไม่ลืม
การให้ความสนใจในชั้นเรียน: สำคัญที่จะต้องมีสมาธิและหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนเมื่อครูกำลังสอน การฝึกฝนการฟังอย่างกระตือรือร้นโดยมุ่งความสนใจไปยังผู้ที่กำลังพูด และจดบันทึกด้วยคำพูดของตัวเอง จะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนรู้
การหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน: ทุกอย่าง ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์และเพื่อน ๆ ต้องหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด
การทำให้บันทึกข้อความครบถ้วน: การเขียนบันทึกที่ชัดเจนและครบถ้วนในชั้นเรียนจะช่วยประมวลผลข้อมูลที่กำลังเรียนรู้ บันทึกเหล่านี้จะกลายเป็นบันทึกการเรียนที่สามารถทบทวนก่อนการทดสอบ
การถามคำถามหากไม่เข้าใจ: ยกมือและถามคำถามหากไม่เข้าใจ หากไม่สบายใจ ไม่กล้าถามในชั้น ให้เขียนบันทึกเตือนตัวเองเพื่อพูดคุยกับครูหลังจากเลิกเรียน
การวางแผนการเรียน/ตารางเรียน: เมื่อทำตารางเรียน ให้ดูที่แพลนเนอร์ของคุณและคิดถึงสิ่งที่ต้องทำ
การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ช่วยหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกและความหงุดหงิดในครั้งต่อไป ที่จะมีการทดสอบใหญ่ จะได้เครียดน้อยลงก่อนการทดสอบ
ถ้ามีเวลาทบทวนและฝึกฝนเนื้อหาอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม รับรองไม่เครียดแน่
#พรรณีเกษกมล
 



Create Date : 08 พฤษภาคม 2567
Last Update : 8 พฤษภาคม 2567 14:22:30 น.
Counter : 406 Pageviews.

0 comment
การจดโน้ตย่อ

            การจดโน้ตย่อ
การจดโน้ตย่อเป็นเทคนิคที่ช่วยให้บันทึกข้อมูลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
 
เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้จดโน้ตย่อได้ดีขึ้น
การใช้ตัวย่อ สร้างตัวย่อสำหรับคำที่ใช้บ่อย เช่น ใช้ “สค.” สำหรับ “สังคมศึกษา”
การใช้สัญลักษณ์ ใช้สัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย เช่น ใช้ “→” สำหรับ “นำไปสู่” หรือ “≠” สำหรับ “ไม่เท่ากับ”
การจดคำสำคัญ จดเฉพาะคำหรือประโยคสำคัญที่สะท้อนถึงแก่นของเนื้อหา เป็นตัวแทนเนื้อหา คำที่กำหนดขึ้นมาเพื่อบ่งบอกรายละเอียดคร่าว ๆ ที่อยู่ในเนื้อหาหรือที่เป็นเนื้อหาหลัก
การจดแบบ Outline เน้นหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย ช่วยให้เห็นโครงสร้างของเนื้อหาได้ชัดเจน
การจดแบบ Cornell แบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสามส่วน ส่วนหัวข้อส่วนบันทึกข้อมูล และส่วนสรุป ช่วยจัดระเบียบและวิเคราะห์เนื้อหา
การจดแบบ Mapping ใช้แผนที่ความคิดจดบันทึก เชื่อมโยงความคิดและคำสำคัญ
การจดแบบ Boxing จัดกลุ่มข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันในกล่อง ช่วยให้จดจำและทบทวนได้ง่าย
การจดแบบ Charting ใช้ตารางในการจดบันทึกข้อมูลที่มีหมวดหมู่และข้อมูลที่ชัดเจน
การจดโน้ตแบบไม่เป็นทางการ จดโน้ตในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบทางการ จดตามใจได้เลย เอาที่เข้าใจได้เอง
การเลือกวิธีการจดโน้ตย่อที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสไตล์การเรียนรู้และประเภทของเนื้อหาที่คุณต้องการจดบันทึก
การใช้เทคนิคอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยให้จดบันทึกได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยในการทบทวนเนื้อหาได้ดีขึ้น
 
การทบทวนโน้ต หลังจากจดโน้ตเสร็จ ให้ทบทวนและขยายความตัวย่อหรือสัญลักษณ์ที่จดไว้ เพื่อให้แน่ใจว่า เข้าใจเนื้อหา
 



Create Date : 08 พฤษภาคม 2567
Last Update : 8 พฤษภาคม 2567 11:09:20 น.
Counter : 378 Pageviews.

0 comment
ทฤษฎีการเรียนรู้บลูม
#ทฤษฎีการเรียนรู้บลูม  #พรรณีเกษกมล
            แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนรู้ มีมายาวนาน ตั้งแต่ปี 1956
ทฤษฎีของบลูม หรือ Bloom’s Taxonomy โดย Benjamin Bloom แบ่งการเรียนรู้ออกเป็นสามด้านหลัก ได้แก่
            ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) กระบวนการคิดและการเรียนรู้ที่ใช้สติปัญญา ตั้งแต่ การจำ การเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมิน
ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) อารมณ์ ค่านิยม ทัศนคติ ตั้งแต่ การรับรู้ การตอบสนอง การให้ค่านิยม การจัดระบบ และการสร้างคุณลักษณะจากค่านิยม
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) การเคลื่อนไหวของร่างกาย ทักษะการเคลื่อนไหวอวัยวะสองส่วนหรือมากกว่าพร้อม ๆ กัน ทักษะการสื่อสารโดยใช้ท่าทาง และทักษะการแสดงพฤติกรรมทางการพูด
 
ส่วนมากจะเน้นว่า เรียนเก่งหมายถึงด้านพุทธิพิสัย การใช้ปัญญา
ที่จะแบ่งจากระดับง่ายหายาก  6 ระดับ ดังนี้
จำ (Remember) การจดจำข้อมูลที่เรียนรู้ไปแล้ว
เข้าใจ (Understand) การเข้าใจและการตีความข้อมูล
ประยุกต์ (Apply) การใช้ข้อมูลในสถานการณ์หรือบริบทใหม่
วิเคราะห์ (Analyze) การแยกข้อมูลออกเป็นส่วนย่อยและเข้าใจโครงสร้างหรือรูปแบบ
ประเมิน (Evaluate) การตัดสินใจหรือการประเมินค่าของข้อมูลหรือโครงการ
สร้างสรรค์ (Create) การรวมข้อมูลหรือส่วนย่อยเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งสมัยใหม่จำเป็นมาก คนที่สร้างนวตกรรมมีโอกาสที่จะก้าวหน้าและร่ำรวยได้อย่างมาก
 
เรียนเก่ง มีลำดับขั้น แน่นอน
จาก จำ เข้าใจ ประยุกต์ วิเคราะห์ ประเมิน สร้างสรรค์
คนเรียนเก่งต้องมีความจำดีเป็นฐาน และผ่านทุกระดับ
จะจำอะไรล่ะ จำทุกอย่างที่เรียนรู้รึ หรือเลือกจำแต่สิ่งที่สำคัญละจำเป็น
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรเลือกจำสิ่งใด
 

 
            การเรียนเก่งจำเป็นต้องรู้ และระบุพฤติกรรมที่ชัดเจนในแต่ละระดับได้ เพื่อจะได้ออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย
            จะรู้ได้อย่างไรว่า บรรลุถึงขั้นนั้นแล้ว ใช้การวัดผล การประเมินที่หลากหลาย
การฝึกตั้งคำถามที่กระตุ้นการคิดและการให้เหตุผล
 



Create Date : 07 พฤษภาคม 2567
Last Update : 7 พฤษภาคม 2567 18:20:27 น.
Counter : 601 Pageviews.

0 comment
610610 เลี้ยงเด็กอย่างสร้างสรรค์
610610 เลี้ยงเด็กอย่างสร้างสรรค์
Initiative vs. Guilt in childhood by DrPK
เมื่อเด็กเริ่มเข้าอนุบาล โรงเรียนจะมีบทบาทในการอบรมร่วมกับพ่อแม่ วัยนี้จะบ่มเพาะความสามารถในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ Initiative ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในสังคมสมัยใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น ได้ทำกิจกรรมแปลกใหม่ที่ท้าทายความสามารถ พร้อมกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การเรียนรู้เรื่องบทบาททางเพศ
พ่อแม่จำต้องเป็นตัวแบบที่ดีที่ต้องการให้เกิดในตัวลูก และคอยบอกว่าสิ่งใดดีควรทำและสิ่งใดไม่ดีควรหลีกเลี่ยง ส่วนโรงเรียนฝึกให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งพ่อแม่ ครูต้องสร้างสัมพันธภาพและมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กด้วยวิธีการที่ไม่โหดร้าย ดุหรือตวาดเสียงดังจนเด็กร้องไห้ด้วยความหวาดกลัว เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกผิด Guilt จนไม่กล้าจะทำสิ่งใดที่พ่อแม่หรือครูไม่อนุญาต
ถ้าเด็กรู้สึกผิดจะทำให้ไม่กล้าคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะฝังใจว่าจะโดนดุ โดนลงโทษ
อย่าลืม เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมแปลกใหม่ที่เสริมสร้างการเรียนรู้ ให้เล่น ให้คิดประดิษฐ์ สร้างจินตนาการ ได้ใช้ร่างกายในการวิ่ง กระโดดโลดเต้น เคลื่อนไหวร่างกาย
บางครั้งเด็กอาจดูกระด้างหรือก้าวร้าวไปบ้างด้วยกำลังทดสอบพละกำลังหรือความคิดของตน แต่โดนขัดขวาง การใช้คำพูดที่ดีจะช่วยลดสิ่งที่ไม่ควรทำให้น้อยลงได้



Create Date : 17 ตุลาคม 2563
Last Update : 17 ตุลาคม 2563 14:40:23 น.
Counter : 1126 Pageviews.

0 comment
631012 หัดหัวเราะให้กับความล้มเหลวผิดพลาดบ้าง

631012 หัดหัวเราะให้กับความล้มเหลวผิดพลาดบ้าง
              เมื่อย่าอยากจะสอนคณิตศาสตร์ให้กับหลาน ๆ ที่ไม่อยากเรียนกับย่า จนย่าต้องโน้มน้าวว่าเคยเป็นครู เรียนมาเยอะเป็นด๊อกเตอร์ จบคณิตศาสตร์เกียรตินิยม ยังไม่อาจสร้างความน่าเชื่อถือว่าย่าเก่งให้กับหลานได้
ที่ผ่านมาย่าเป็นเพียงเพื่อนเล่น คุยสนุก คุยตลกไปวัน ๆ เมื่อหลานโตขึ้นจำเป็นต้องเรียนเขียนอ่านให้เป็นคนเก่ง จำต้องเปลี่ยนบทบาทกันบ้างจากการสอนทักษะชีวิต มาสอนวิชาการ
หลังจากเรื้อเวทีมานาน พอมาเจอโจทย์เลข ป.3 บางข้อ ย่า งง กับวิธีการ ย่าแก้โจทย์ด้วยสมการ บ่นว่า ป.3 ยังไม่เรียนสมการนี่นะ เลยบอก หลังจากติณณ์ไปเรียนพิเศษกับครูตาลมา ให้กลับมาอธิบายให้ย่าฟังด้วยว่าย่าทำถูกหรือเปล่า แล้วครูสอนอย่างไร
นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่ทำให้เด็กได้เรียนซ้ำ เขาบอกการเรียนก่อน 1 รอบที่จะไปเรียนกับครูจริง แล้วมาอธิบายให้คนอื่นฟังได้ เท่ากับสร้างทักษะการคิดแก้ปัญหาที่ดี ผ่านการจดจำ การประมวลผลในสมอง แล้วสามารถกลั่นกรองบอกออกมาเป็นคำพูดให้คนอื่นฟังได้
ติณณ์บอกง่ายมากเลย ไม่ต้องคิดเป็นสมการ เด็กกินไปครึ่งหนึ่งเหลือ 3 ผล ก่อนนั้นกินไปอีกครึ่งลูก รวมเป็นทั้งหมดกี่ลูก คิดในใจได้เลย แต่ย่ายังเรียบเรียงไม่ถูกอยู่ดี ถ้าต้องแสดงวิธีทำ
ย่าเลยเล่าเรื่องไอสไตน์ อัจฉริยะจะแก้ปัญหา เจาะรูให้แมว 2 ตัว ใหญ่ 1 ตัว เล็ก 1 ตัว ผ่านออกจากบ้านไปยังสนามได้อย่างไร แตม อ.2 รีบตอบ เจาะ 2 รู ใหญ่ 1 รู เล็ก 1 รู ติณณ์ตอบตามน้องเหมือนกัน
ย่าหัวเราะเสียงดัง บอกคนฉลาดอย่างไอสไตน์ยังผิดพลาดได้ นับประสาอะไรกับย่า ที่คิดเรื่องง่าย ๆ ไม่ออก กลับไปใช้วิธีการที่ยุ่งยาก ติณณ์ถามทำไม ย่าเฉลยมีบางคนบอก ทำไมไม่เจาะรูใหญ่แค่รูเดียว ทั้งแมวใหญ่แมวเล็กสามารถลอดรูนี้ได้ทั้งสองตัว
บางทีการสอนเด็ก ๆ ทำให้สนุก ไม่ต้องอวดแสดงตนว่าฉลาดไปเสียทุกเรื่อง แสร้งไม่รู้บ้าง เพื่อเด็กจะได้มีส่วนร่วมในการคิด และสนุกที่จะพูดคุยถึงวิธีการคิดของเขาในการแก้โจทย์ร่วมกัน
คนที่สามารถบอกเล่าความล้มเหลว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ขัน จะปลดเปลื้องความรู้สึกว่าตนโง่ ตนแย่ ความซึมเศร้าออกมาได้
เคยใช้วิธีนี้ในคาบแนะแนว เด็ก ๆ ชอบใจกันใหญ่ ที่ออกมาเล่าความเปิ่นเชยของตนที่เคยคิดว่าเป็นปมด้อยออกมา ใคร ๆ เคยทำเห่ย ๆ แบบนี้กันทั้งนั้น ถ้าฉันจะเคยทำตลก ๆ บ้าง ไม่เห็นจะเป็นไรเลย จริงไหม เมื่อเกิดสิ่งคับข้องใจ ไม่สบายใจ พูด ๆ ออกมาอย่างขบขันกับคนที่เข้าใจกัน จะดีขึ้นมากเลยนะจะบอกให้
ไม่มีใครที่สมบูรณ์ดีพร้อมไปเสียทุกเรื่องราวหรอก

 



Create Date : 12 ตุลาคม 2563
Last Update : 12 ตุลาคม 2563 5:04:27 น.
Counter : 779 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments