A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

พญาลิไท:การเมืองกับการศาสนาที่แยกกันไม่ออก (ทุติยบท)

ใครมีความรู้สึกบ้างไหมครับว่า....เวลาที่ในมือเรา
ตระเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมากจนละล้นมือ
ความสามารถในการบริหารและตัดทอนข้อมูลเพื่อ
ให้ได้ใจความสรุปของเรื่อง ที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกของตนเอง
และไม่ให้น้ำท่วมจอผักบุ้งโหรงเหรง ทำเอาเข้าใจหัวอก
คนทำสารคดีดีๆสักเรื่อง ที่ถ่ายทำกว่าร้อยชั่วโมงมาตัดทอน
ให้ผู้ชมได้อรรถรสเพียง ชั่วโมงกว่าๆ การเขียนบล็อกถือเป็น
ศิลปะที่รักพี่เสียดายน้องเสียนี้กระไร


น้องก็ดี พี่ก็น่ารัก สุดท้ายบางทีการเอาลุงป้ามาเติมแต่งแทน
น่าจะรักษาความสัมพันธ์ของพี่น้องให้จรรโลงสายสัมพันธ์กัน
ยืนนานเท่านาน พูดสักยาวเข้าเรื่องตอนที่สองของพญาลิไท
กันต่อดีกว่า เรื่องของพญาลิไทในฐานะกษัตริย์ผู้เลื่อมใสพระพุทธ
ศาสนาอย่างโดดเด่นกว่ากษัตริย์ร่วมสมัยเดียวกัน จึงถือเป็นเกราะ
และเครื่องมืออันได้เปรียบกว่านักกษัตริย์องค์ใดจะคาดคิดได้

เรื่องของเรื่องต้องมีเหตุการณ์อะไรบ้างอย่างที่ดลบันดาลใจจาก
กษัตริย์นักรบที่เหี้ยมโหดที่บุกทะลวงฟันจนถึงหน้าประตูกรุงสุโขทัย
เพียงเพื่อยกระดับตำแหน่งจากเดิมเจ้านายเมืองศรีสัชนาลัยสู่
กษัตริย์เหนือหัวแห่งกรุงสุโขทัย เส้นแบ่งแห่งศรัทธาทางศาสนา
สมัยของพระองค์จึงถูกมองได้ทั้งในส่วนศาสนาเพื่อการเมือง
และการเมืองเพื่อศาสนา แล้วแต่ว่าบริบทปัจจัยแวดล้อมทางหลักฐาน
จะตั้งมุมในหัวข้อสันนิษฐานหรือพฤติกรรมแนวคิดที่ส่งผลต่อการ
กระทำก็สุดแท้แต่ ทั้งหมดแล้วล้วนส่งผลในทิศทางที่ดีจนเป็นแนว
ทางที่พญาลิไทยึดถือและปฎิบัติอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น.............................อย่าได้ถามคนสมัยยุคสุโขทัยเลยว่า
อะไรคือการเมือง? อะไรคือศาสนา? เพราะเขาจะถามเอาว่า
ไอ้การเมืองกับศาสนามันอยู่ของมันดีๆไปแยกจากกันทำไม ไอ้หนุ่ม!


เพราะ เส้นแบ่งโครงสร้างอันซับซ้อนนี้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคม (Colony Period)ที่มักจะตีตรา ขีดเส้นตรงนั้นตรงนี้เพื่อผลประโยชน์ในการปกครองและกระชากทรัพยากรจากคนพื้น เมือง โดยไม่สนว่าจะเกิดความขัดแย้งอะไรในภายหลังสำหรับคนท้องถิ่นหลังจากที่ถอน ตัวด้วยลัทธิชาตินิยมที่ตนเองสร้างเงื่อนไขขึ้น คงไม่ต่างกับเขาพระวิหารที่กำลังฮึมๆในขณะนี้





เรื่องการเอาศาสนามาสัมพันธ์กับการเมือง ไม่ได้มีแต่สมัยพญาลิไทท่านเดียว เรื่องแบบนี้ในสมัยอยุธยาก็ปรากฎเช่นกัน อย่างสมัย
สมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถก็ "บวชการเมือง" ขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาที่ยึดเมืองศรีสัชนาลัย แต่ในโคลงยวนพ่ายเรียกเชียงชื่นแทน

คราวที่แล้วผมเล่าเรื่องตามประสาชาวบ้านว่า"เกริ่น" กล่าวคือ ปูเรื่องอย่างหยาบๆผสมกับลวกๆ อย่างน้อยก็เท่ากับได้บทนำมาหนึ่งเรื่อง (ส่วนอีกเก้าตอนก็ค่อยๆมาปฐมบทมาสู่ภาคขยาย ส่วนมากน้อยเพียงใดก็จะอยู่ในพิสัยไม่เกินสิบตอน) ครั้งนี้จะว่าด้วยเส้นทางเดินแห่งอำนาจที่ไม่ธรรมดาของพระองค์ ชนิดที่สามารถทำหนังthriller ชั้นดีได้หนึ่งเรื่องโดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงอะไรมากมาย

ครั้งที่พระองค์เป็นเพียงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย หัวเมืองคู่เมืองสุโขทัยที่เป็นเครื่องวัดบารมีที่ต่างกัน ทั้งๆที่พระองค์มีเชื้อสายของพญาาเลอไท บุตรชายของพ่อขุนรามคำแหง แต่สุดท้ายก็ถูกเว้นวรรคจากพญางัวนำถม ในฐานะพระอนุชาแต่เป็นโอรสของพ่อขุนบานเมือง

ยังจำเรื่องราวที่พ่อขุนบานเมืองที่ผมเคยเล่านานจนผมเองยังลืมได้ไหมครับ?

เป็น พี่ของพ่อขุนรามคำแหงและเป็นราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระนางเสือง ยุคของพ่อขุนบานเมืองสั้นเอามากๆแทบไร้หลักฐานการครองเมืองและการสิ้นพระ ชนม์ (รวมถึงแง่อุดมการณ์การปกครองที่ถือเป็นเรื่องสำคัญเอามากๆในยุคสุโขทัย) แม้แต่สมัยพญาเลอไทมีสิ่งสันนิษฐานเอาว่าน่าจะเคยเป็นพระมหาอุปราชครองเมือง ศรีสัชนาลัย (ก่อนผู้ลูกจะสานต่อ) ยามที่จะต้องปกครองสืบต่อจากพ่อขุนรามคำแหง เมืองบริวารต่างก็เริ่มตีจากไปสู่ความเป็นอิสระที่ปกครองตนเอง เราจะเห็นถึงความไร้เอกภาพในการสั่งสมอำนาจเขตปกครองศูนย์กลางอย่างสุโขทัย ที่ถอยหลังลงคลองนับแต่พ่อขุนรามคำแหงสวรรคตจากไป


แม้แต่สมัยพญางำนำถุมเอง เอกภาพในการให้เมืองบริวารอยู่ใต้อาณัติก็ยังไม่มีประสิทธิภาพอีกเช่นกัน เมืองประเทศราชขยายเขตกันแยกตัวออกไป นับแต่เมืองพระบาง (นครสวรรค์) เมืองแพร่และเมืองน่าน ทิศตะวันออกเขตมีเพียงเมืองเพชรบูรณ์ และเมืองหลวงพระบาง เวลาเดียวกันกษัตริย์มากความสามารถอย่างพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้แผ่ขยายอาณาเขตลงมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ ส่วนทางทิศตะวันตกเขตแดนของสุโขทัยอยู่เพียงเมืองตาก อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเสื่อมลงอย่างหนักเมื่อพญางั่วนำถมสวรรคต เกิดการจราจลสแย่งชิงราชสมบัติ กระทั่งพญาลิไทยกทัพมาจากเมืองศรีสัชนาลัยมายังเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัยจึงเป็นคล้ายเมืองสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นองค์กษัตริย์องค์ ใหม่เพื่อไว้ฟูมฟัก บ่มเพาะความเป็นผู้นำก่อนที่จะเถลิงราชสมบัติ

คงเห็นแล้วว่าเครื่องมือที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นสำหรับกษัตริย์องค์ใหม่ ที่ได้เปรียบกว่ากษัตริย์รุ่นก่อนๆ คือ "พุทธศาสนา"
.........ขณะที่พญางัวนำถมไม่ปรากฎความศรัทธาใด............
........สมัยพญาเลอไท บิดาของพระองค์ก็ไม่เห็นงานใดที่เป็นชิ้นเป็นอัน.....เฮ้อ
ต่างกับพญาลิไทที่ใช้ทุกสรรพกำลังทางศาสนาเข้าเร่งฟื้นฟู่อย่างเต็มที่ อย่าลืมว่า เรื่องการอุปถัมภ์พระภิกษุ ก็ถือเป็นเรื่องที่เลื่องลือสมัยพระองค์ตั้งแต่ยังไม่เป็นกษัตรย์ครองเมือง สุโขทัย เรื่องมีว่าสมัยนั้นมีภิกษุสุโขทัย ๒ รูป คือ พระสุมนะเถร กับ พระอโนมทสี เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกถึงเมืองนครพัน (เมืองมอญ) ยามกลับมาท่านแรกจำพรรษาที่เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนท่านหลังจำพรรษาที่เมืองสุโขทัยและได้พบพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ร้าง ระหว่างทางสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย จึงได้ถวายพญาลิไทที่ตอนนั้นยังครองเมืองศรีสัชนาลัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการศรัทธาพระพุทธศาสนา
อันเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพระองค์เอง ถึงกับทรงนิพนธ์หนังสือ"ไตรภูมิกถา" ว่ากันว่าข้อความตอนท้ายของฉบับพระมหาช่วย ระบุไว้ว่า ท่านได้แต่ง "เมื่อได้กินเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ได้หกเข้า" แสดงว่าเอาจริงเอาจังเสียอย่างมาก

ถึงกระนั้น ยังใช้พระสุมนะเถระให้มีบทบาทในสมณฑูตในการเดินทาง
ขึ้น แคว้นล้านนาเพื่อเผยแพร่ศาสนาตามการนิมนต์ของพญาลิไท อีกทางหนึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาขอเมืองตากคืนจากแคว้นล้านนาพร้อมทั้งนำ พระบรมสารีริกธาตุ(เอาใจ)ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงใหม่ด้วย ความสัมพันธ์กับหัวเมืองทางเหนือเลยดีขึ้นอย่างมาก ดีขนาดยามมีศึกสงครามกับอโยธยายกมาตี เมืองกำแพงเพชรซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรสุโขทัย กองทัพจากเมืองน่านได้ยกมาช่วยสุโขทัยด้วย ...!!

บทบาทเช่นนี้พระองค์ยังเคยใช้ตัวเองออกผนวชเพื่อขอบิณฑบาทขอเมืองสองแควคืนจากพระเจ้าอู่ทองมาแล้ว............................. !!!!!?



เราจึงเห็นภาพทับซ้อนด้วยกันสองภาพในวิธีคิดของพระองค์ตามสายตาคนปัจจุบัน
###########ที่มีทั้งภาพ####

ก) พุทธศาสนิกชน
ข) รัฐศาสนา

ในการขับเคลื่อนวิเทโศบายทั้งทางการเมือง การฑูตและการศาสนาไปพร้อมๆกัน อย่างแยบยลและแยบคาย ขณะที่ภาพศาสนูปถัมภกที่แจ่มชัดทุกครั้งที่มีนโยบายใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ประสานผลประโยชน์มากกว่าการต่อรองทางอำนาจ แบบที่ไม่มีใครทำได้เหมือนกับพระองค์ จึงเป็นการกล้ำกลึงที่จะตัดสินพฤติกรรมและวิธีคิดโดยเอาอคติส่วนตัวมาตัดสิน สิ่งที่ได้กระทำโดยไม่ได้มองโลกตามสายตาของยุคสมัยแห่งอดีต
อย่างไรเสียถือเป็นศาสตร์การปกครองในรูปแบบที่เน้นสันติระหว่างกันมากกว่า การมุ่งเน้นเชิงการรบฆ่าฟัน ที่พระองค์ไม่ถนัดหากเทียบกับการใช้ศาสนาเป็นตัวขับดันหามิตรจากเมือง ประเทศราชและเมืองบริวาร การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปกับเมืองอโยธยาดูคล้ายจะทำให้พระองค์เบนวิธีการมองที่ แตกต่างจากการศึกกับหัวเมืองที่อยู่นอกขอบขัณฑสีมา อย่างไรเสียการทวงดุลอำนาจยังปรากฎให้เห็น ไม่ว่าจากหัวเมืองทางเหนือ เขตหลวงพระบางหรืออโยธยาสมัยพระเจ้าอู่ทอง

จึงเป็นจุดแข็งที่รักษาดุลยภาพและเสริมประสิทธิภาพให้กับเมืองสุโขทัยไปในเวลาเดียวกันเอง

ถึงขั้นที่ศิลาจารึกได้สรรเสริญพระมหาธรรมราชาลิไทว่า ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต...พระนาม ธรรมราชาจึงได้รับการถวายให้แด่กษัตริย์สุโขทัยมาตั้งแต่ครั้งนั้น สมัยนั้นเขายกย่องกันปานนี้เชียว


แต่เชื่อไหม? การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ใช่ว่าพระองค์จะมีศัตรูน้อยไปเสีย เมื่อไร ตอนหน้าจะระดมกลุ่มศัตรูที่ไม่ลงรอยทางความคิดของพระองค์และวิธีการแก้เผ็ด ตามฉบับพญาลิไทที่ไม่เหมือนใครกันอีกต่อไป (ถ้ายังมีไฟนะครับ)




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2551    
Last Update : 16 สิงหาคม 2551 18:04:42 น.
Counter : 1959 Pageviews.  

พระราชเสาวนีย์ที่เกล้ากระผมรู้สึก





(เนื่องด้วยผู้เขียนไม่สันทัดการใช้คำราชาศัพท์ หากผิดพลาดประการใดที่ปะปนกับสามัญชน ต้องกราบข้ออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ)




โดยทุกปีแล้ว ผมจะมีโอกาสได้ติดตามในส่วนของพระราชดำรัสและพระราชเสาวนีย์จากทางองค์พระประมุขและราชินีของประเทศในเนื่องวาระโอกาสครบรอบคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งจะแสดงโอวาทล่วงหน้าก่อนวันจริงหนึ่งวันเช่นทุกปี แม้โดยปกติตนเองจะไม่ค่อยได้มีเวลาที่จะได้ชมผ่านช่องทีวีเนื่องด้วยภาระการทำงานและสภาพรถติดตามวิสัยของเมืองกรุง แต่ก็ยังพอมีช่องทางทางคลื่นวิทยุที่พอช่วยลดข้ออุปสรรคการรับฟังเพราะคลื่นที่โดยปกตินิยมฟังอยู่เสมอจะไม่ชัดเจน เราก็สามารถหาฟังจากคลื่นสถานีอื่นได้ แถมยังปรับเปลี่ยนหาความชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกตามแต่ความพอใจ

เมื่อวานนี้มีโอกาส (จนเหมือนไม่ใช่โอกาสเพราะไปบ่อยเหลือเกิน) กับพันธมิตรอีกกลุ่มที่สนิทสนมเพราะรับรู้สีหน้าค่าตา จากรสนิยมชอบนั่งจองพื้นที่เดิมๆไปค่อยเปลี่ยนแปลง เห็นความน้อมศรัทธาองค์พระราชินีชนิดที่ไม่ต้องพิสูจน์ก็พอทราบได้ถึงความสุดจิตสุดใจเป็นล้นพ้น แต่พอผมถามแก่นหัวข้อพระราชเสาวนีย์ของปีที่แล้ว(ซึ่งว่าด้วยเรื่องปริมาณป่าไม้ของประเทศที่ลดลง) ดูเหมือน
จะไม่มีใครในกลุ่มจดจำประเด็นเนื้อเรื่องได้เทียบเท่ากับความรู้สึกปิติในความเป็นข้าราชบริภารของพระองค์

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมเองจะมีความจงรักภักดีมากกว่าท่านอื่นใด
เพียงแต่ การแสดงถึงความจงรักภักดีในพระมหากรุณาธิคุณ พสกนิกรชาวไทย
สามารถแสดงออกในรูปแบบและวิธีการหลายๆทาง ทั้งในส่วนรูปธรรมและ
นามธรรมที่มีผลจากคุณงามความดีของพระองค์ท่าน อันส่งผลต่อการประคับ
ประคองชาติบ้านเมืองให้ผาสุกและยั่งยืนตามสภาพความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน
และรวดเร็วจนแทบจะทำให้ความเป็นประชากรคนไทยดูแปลกแยกและแตกต่าง
กระบวนแห่งการสร้างสำนึกภายใต้พสกนิกรชาวไทย จึงจรรโลงความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความคิดที่แตกแยกสู่การเข้าอกเข้าใจตามแต่ละลักษณะและภูมิหลังที่ตนเองมีและเป็นอยู่

ในฐานะพสกนิกร ผมมิบังอาจจะตีความเป็นอื่นในพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ท่านอย่าหาที่สุดมิได้ เพียงแต่การที่จะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยไม่ได้ตระหนักถึงใจความของพระราชเสาวนีย์ ที่ปีละครั้งพระองค์ท่านจะได้พระราชทานเป็นมงคลแก่พสกนิกรภายใต้พระบารมีของพระองค์ แต่กระนั้นประเด็นที่พระองค์ท่านทรงกังวลในแง่ปัจจัยสัมพันธภาพต่อตัวปัญหาที่ปรากฎขึ้น ผมเองจึงรู้สึกนิ่งเฉยมิได้ที่จะนำเสนอถึงพระปรีชาญาณต่อภัยอนาคตกาลที่พระองค์ท่านทรงกังวล ณ ที่นี้

เพียงแค่ประเด็นเกริ่น ช่วงแรก พระองค์ท่านทรงนำเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังทรงรู้สึกประสบมาเล่าแจ้งให้ถึงมลพิษและความขาดแคลนทางทรัพยากรของประเทศ
ประโยคหนึ่งที่พระองค์ท่านชื่นชมหนทางแก้อันเกิดจากความร่วมมือของพสกนิกรที่ว่า "การปลูกป่า หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เรียกร้องให้ประชาชนเห็นความสำคัญของป่าไม้ต่อเนื่องกันมาเป็นสิบๆ ปี บัดนี้เป็นที่น่าชื่นใจมากว่า ประชาชนก็เข้าใจ ข้าพเจ้าพยายามอ่านหนังสือต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา" จึงถือเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงใส่ใจและเร่งศึกษามาโดยตลอด ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอยู่เหนืออธิปไตยจำลองที่รัฐประชาชาติสร้างขึ้น สำนึกสิ่งแวดล้อมจึงเป็นดั่งมือที่มองเห็นที่รอยจับคนทั้งผ่องเข้าร่วมกัน การอธิบายเชื่อมโยงป่าไม้ต่อปัจจัยธรรมชาติโดยร่วมทั้งแม่น้ำ ดิน ทะเล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ราษฏรของพระองค์จะสามารถพึ่งตนเองได้ ท่ามกลางข้อจำกัดของประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยจากฐานนอกทรัพากรทางธรรมชาติ ช่วงต่อมาคือประเด็นชาติพันธ์จากความทุกข์ยากจากภัยการก่อการร้ายทางสามจังหวัดภาคใต้ การปกครองภายใต้แนวคิดภราดรภาพและความเสมอภาคทางชาติพันธ์ ลัทธิ ความเชื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกรอบทางความคิดที่กั้นโดยมีผลปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ตอนหนึ่งทำให้ผมหันย้อนมองมายาคติอีกด้านที่พระองค์ท่านกล่าวว่า"โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯอยู่กันอย่างสงบสุขไม่เคยมีประวัติสงครามศาสนาเลย แต่บัดนี้ที่ภาคใต้น่าห่วง"
สิ่งที่ผมเกรงกลัว คือ เรากำลังเอามุมความขัดแย้งจากส่วนพื้นที่หนึ่งมาขยาย
และยกกรอบความขัดแย้งนั่นมาสวมทับนอดพื้นที่โดยเอาเรืองความอยุติธรรมมาผลิตซ้ำโดยไม่อาศัยทางออกในแง่ความเป็นตัวกลางในเวทีการเจรจาร่วมกันภายใต้ความยุติธรรมและสันติอันพึงมี พระองค์ทรงเอ่ยถึงผู้เสียชีวิตจากความเสียสละเพื่อพิทักษ์ความสงบสุขในเขตพื้นที่อันตราย เท่ากับพระองค์ทรงเหลี่ยวแลต่อผู้เสียสละต่อบ้านเมือง
ตรงจุดนี้เป็นส่วนที่สะเทือนใจต่อผู้ฟังอย่างผมเป้นที่สุด แต่ยังเห็นแสงสว่างว่าเมืองไทยไม่เคยสิ้นคนเสียสละเพื่อบ้านเมืองไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย




ส่วนเรื่องการส่งเสริมวิชาประวัติศาสตร์ให้แก่คนไทย ตรงนี้คงไม่ขอเกริ่นมากเพราะผมสาธยายเรื่องนี้ไปมากแล้ว เพียงแต่ฉงนในใจว่า แต่เดิมพระองค์ทรงเน้นย้ำเรื่องการให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยโดยทั่วถึง แต่บัดนี้พระองค์ทรงลงลึกถึงหลักวิชา อันเป็นหลักวิชาที่ไม่ได้ว่าด้วยความได้เปรียบในการประกอบวิชาชีพดั่งที่พ่อแม่ทั่วไปพยายามที่จะส่งเสริม ตรงส่วนนี้ผมเองไม่อาจเอื้อมที่จะมองเป็นอื่นไกล เพียงแต่ทว่าข่าวสารข้อมูลที่พระองค์ทรงติดตามอย่างใกล้ชิดในบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พระปรีชาญาณของพระองค์ทรงน่าจะเห็นข้อบกพร่องจากทัศนคติเชิงความคิดของปวงชนชาวไทย
เมื่อเปรียบเทียบประชากรซีกโลกตะว้นตกหลายประเทศ " อย่างที่อเมริกา
ถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์ สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหนเขาก็สอนกันแต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้มันรอดมาอยู่จนบัดนี้เพราะใครหรือว่ายังไงกัน โอ้โห อันนี้น่าตกใจ แต่ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่านักเรียนไทยนี่ไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย" เรื่องนี้ไม่เพียงพระองค์ท่านจะตระหนกเท่านั้น แม้แต่ผมเองก็รู้สึกถึงความแปลกใจไม่น้อยเช่นกัน คงด้วยแนวการสอนที่ไม่น่าสนใจ การไม่ตั้งคำถาม การแยกเป็นตอนๆที่ประสานเชื่อมต่อเป็นเรื่องเป็นราวสิ่งเหล่านี้พูดกันเป็นสิบปีแล้ว มันยังเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่วิชาประวัติศาสตร์ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ส่วนประเด็นสุดท้ายในเรื่อง"ควาย" ผมว่าคำนี้พระองค์ท่าน เอ่ยอย่างซื่อตรงและเข้าถึงหัวอกหัวใจสามัญชนไทยๆ โดยไม่ต้องเลือกสรรคำว่า"กระบือ"ที่แลดูสุภาพแต่ห่างเหินในแง่ผู้สร้างคำไม่ได้สัมผัสมันอย่างใกล้ชิด แง่นี้คือการกลับสู่รากเหง้าของความเป็นตัวตนที่ตนเองมีอยู่ ภายใต้การถีบตัวของต้นทุนทางพลังงาน มีเรื่องตลกตอนหนึ่งที่พระองค์ทรงเล่าเป็นตลกร้าย ที่ร้ายมันเป็นเรื่องจริงในสังคมไทยยุคข้าวราคาแพง
"คุณอะไรนะ คุณจุ่น ควาย แล้วตอนนี้ฉันตกใจมาก
นึกไม่ถึงว่า บอกทำไมไม่เอาควายมาไถนา เขาบอกมันไถไม่เป็นแล้วตอนนี้
ต้องเปิดโรงเรียนอบรมควายให้ไถนาอย่างเดิม โอ๊ยตาย ฟังดูเหมือนตลกแต่มันเรื่องจริง"
แต่การจะส่งเสริมให้ชาวนาไทยหันมาใช้ควายในฐานะเครื่องมือในการสร้างผลผลิตทางการเกษตร จำต้องให้ชาวนาได้มีผืนที่นาทำกินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง
ส่งเสริมการวิจัยในการพัฒนาชีววิทยาทางกรรมพันธุ์ความพันธ์ไทยให้มีประสิทธิภาพต่อ

ภูมิสภาพการผลิตนาแบบไทยๆ กระทรวงเกษตรควรมีงบอุดหนุนสำหรับชาวนาที่หันมาใช้ควายแทนรถไถ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ลดทัศนคติการเพิ่มผลิตพื้นที่ต่อไร่ในปริมาณมากๆ(ซึ่งรถไถกินขาดในเรื่องนี้) มาสู่การวิจัยและพัฒนาผลผลิตข้าวโดยนำจุดยืนเรื่องการใช้"ควาย"เป็นเครื่องมือแบบดั้งเดิมเชิงเปรียบเทียบกับตลาดข้าวคู่แข่ง

ดังนั้น ผมสนับสนุนให้ทุกท่านได้คิดต่อจากพระราชเสาวนีย์ขององค์พระราชินีในฐานะแม่ที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎรและสภาพความเป็นอยู่ในโดยรวม พระราชเสาวนีย์ของพระองค์จึงเป็นวาทกรรมที่ขับเคลื่อนให้ทั้งส่วนของภาครัฐและเอกชนบางส่วน ให้ได้น้อมรับพระกระแสรับสั่ง (ขออภัยถ้าใช้คำผิด) ไปเป็นนโยบาย แนวทางและกรอบวิธี ที่ส่งเสริมให้ประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนในเวทีที่จะก้าวเดิน ตลอดจนเป็นแบบอย่างในแบบแผนปฎิบัติส่วนบุคคล นอกเหนือจากการเพียงกล่าวคำสรรเสริญพระบารมี (ซึ่งก็ควรทำในฐานะพสกนิกร) ที่คนโดยส่วนใหญ่มั่นปฎิบัติอยู่เป็นนิจทุกปี พระราชเสาวนีย์จึงเป็นพรประจำปีที่คนไทยควรสำนึกและตระหนักในฐานะของแม่แห่งสยามที่ฝากการบ้านให้ลูกหลานอย่างเราๆช่วยกันร่วม ช่วยกันทำ เพราะผมเชื่อว่า แม่ของปวงชนชาวไทยจะตามติดการบ้านชิ้นนี้เหมือนกับ"ปัญหาเรื่องป่าไม้" ที่พระองค์ชื่นชมลูกๆของพระองค์เช่นกันครับ





(ขอบพระคุณ phakri blog สำหรับลายลักษณ์อักษรจากพระราชเสาวนีย์ ในวันที่๑๑ สิงหาคมที่ผ่านมา
ภาพจาก //www.peane.com และwww.moohin.com)




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2551    
Last Update : 14 สิงหาคม 2551 1:09:01 น.
Counter : 971 Pageviews.  

พญาลิไท:กษัตริย์ศาสนาเพื่อการเมือง เกริ่นอย่างเดียว (ปฐมบท)

เดือนนี้จนไปถึงเดือนหน้า ผมตั้งปณิธานเอาไว้ว่าจะนำเรื่องของ
พญาลิไทมาเขียนให้ได้กำหนดครบสิบตอน ตามประสาเป็นองค์กษัตริย์
ที่มีความชื่นชมและชิงชังเป็นการส่วนตัว เกริ่นไว้ก่อนนะครับว่า
ความรู้สึกส่วนตัวนี้เกิดจากการได้รับข้อมูลเชิงวิเคราะห์จาก
หลากหลายกลุ่มทางความคิดที่ผ่านทางนักวิเคราะห์ข้อมูลชั้นต้น
และชั้นรองทางประวัติศาสตร์ มันทำให้มิติทางบุคคลสำคัญท่านนี้
มีทั้งภาพเชิงซ้อนในส่วนของกษัตริย์ผู้เลื่อมใส ศรัทธาทางพุทธศาสนา
และผู้นำที่มีเล่ห์เหลี่ยมเชิงยุทธ์ในการสงคราม เท่าที่ผมอ่านงาน
องค์กษัตริย์ที่โดดเด่นแห่งราชวงศ์สมัย ไม่มีใครที่จะบริสุทธิ์รักสันติ
โดยไม่มีสงครามระหว่างภายนอกและความขัดแย้งภายในที่ทำให้
รักษาราชการตลอดการครัชสมัย การถ่วงดุลอำนาจและปราบ
กลุ่มอำนาจเดิมที่อาจแข็งข้อจึงเหมือนการบ้านข้อหลักที่ต้อง
รีบกระทำหลังจากปราบดาภิเษกเป็นที่เรียบร้อย

พญาลิไท ทรงเป็นกษัตริย์ลำดับต้นๆ ในยุคสมัยกรุงสุโขทัย (ถ้านับ
ขอมสบาดโขลงลำพงเป็นฐานะกษัตริย์องค์หนึ่ง) พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของ
พระยาเลอไท และยังทรงเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระยางั่วนำถม ในระหว่างปีพ.ศ. 1890 - พ.ศ. 1912
และทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีสุริยพงสรามมหาธรรมราชาธิราช
พระมเหสีของพระองค์มีพระนามว่า พระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์คือ
พระมหาธรรมราชาที่สอง ในลำดับดังกล่าวถือเป็นยุคประสานอำนาจร่วมกับ
กลุ่มพื้นที่นอกแคว้นโดยมีการเกี่ยวดองกันกับเจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิ
คือการที่ขุนหลวงพะงั่วแต่งงานกับน้องสาวพญาลิไท เพราะความที่กรุงสุโขทัย
มิใช่เมืองใหญ่ ซ้ำยังอยู่ห่างไกลจากทะเลอันส่งผลต่อเมืองการค้าภาคพื้นทะเล ท่ามกลาง
มวลหมู่มิตรที่อ้างเป็นศัตรูได้ทุกเมื่อ สถานะความมั่นคงจึงพร้อมสั่นครอนได้อยู่ตลอด
โดยถ้าเคยได้อ่านบทความเก่าๆของผม เกี่ยวกับ ตระกูลศรีนาวนำถุมกับตระกูลพระร่วง
เราจะรับรู้ถึงความขัดแย้งแบบคลื่นใต้น้ำที่พร้อมประกาศศึกกันได้ยามมีเหตุปะทุทุกคราว

เมื่อพระยาลิไทเสวยราชย์ที่ศรีสัชนาลัยสุโขทัย ราวปีพ.ศ.๑๘๙๐ ได้อีกชื่อหนึ่งว่า
"พระมหาธรรมราชาที่ 1" ถือเป็นเวลาร่วมที่พระเจ้าอู่ทองเป็นใหญ่ในกรุงอโยธยาเรียบร้อยแล้ว
ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (อโยธยาจึงไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน)
ซึ่งวิธีการสร้างมิตรของพระเจ้าอู่ทองก็ไม่ต่างกับพญาลิไท กล่าวคือ
พระเจ้าอู่ทองฝ่ายละโว้อโยธยามีสืบเครือญาติโดยแต่งงานกับลูกสาวเมือง
สุพรรณบุรีเช่นกัน ส่วนจะเป็นพี่หรือน้องสาว ข้อมูลส่วนนี้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่แน่ๆ
ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ทางพระเจ้าอู่ทองได้เปรียบกว่ามากเพราะมีอาณาเขตเสริมกว้าง
ตั้งแต่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางลงไปถึงนครศรีธรรมราชตอนใต้ และดินแดนบางส่วน
ของลุ่มแม่น้ำมูล-ชีของภาคอีสานอีกด้วย บทบาทยิ่งแน่ชัดเป็นรูปธรรมขึ้นเมื่อมีการส่งพระราเมศวรไป
ครองเมืองลพบุรี ส่วนขุนหลวงพ่องั่วเริ่มมาครองเมืองสุพรรณบุรีอย่างเต็มตัว





แต่ภาพลักษณ์ของพญาลิไทสำหรับคนรุ่นปัจจุบันจะจดจำกษัตริย์ผู้เคร่งครัดและเลื่อมใสทาง
พระพุทธศาสนาและไม่มีความสามารถทางการรบใดใด ซึ่งผมจะพยายามมาเสริมคลี่คลาย
หลักฐานบางประการที่ส่งเสริมว่าท่านมีสายเชิงการรบไม่น้อยที่เดียว แม้แต่ก่อนที่พญาลิไทจะ
ครองราชสมบัติ เมืองในอาณัติเดิม อย่าง เมืองพระบาง เมืองเชียงทอง เมืองบางพาน เป็นต้น
เริ่มแยกตัวเป็นอิสระ อีกทั้งความแตกแยกในวงศ์สายพระญาติก็มีขัดแย้งไม่แพ้กัน
เมื่อพระยางั่วนำถม ผู้เป็นกษัตริย์ลำดับก่อนหน้านี้ได้เสด็จสวรรคต
ก็ได้เกิดการจราจลชิงราชสมบัติกรุงสุโขทัยขึ้น ทำให้พระองค์ต้องยกทัพมาปราบปรามศัตรูจนหมดสิ้น
มีเรื่องราวที่เล่าถึงสมัยเสด็จครองราชย์ในจารึกวัดป่ามะม่วงในจังหวัดสุโขทัย ว่า
"เสด็จนำพลพยุหเสนาทั้งหลายออกจากเมืองศรีสัชนาลัย...มีพระบัณฑูรให้ไพร่พลทั้งหลาย
.....เข้าระดมฟันประตูประหารศัตรูทั้งหลาย...ไอสูรยาธิปัตย์ในเมืองสุโขทัยนี้แทนพระบิดาพระอัยกา"

เพียงแค่นี้คงทำให้เรารู้สึกว่า คนที่ศรัทธาหลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างยิ่งคงน่าจะ
ปฏิบัติในทางสงบและดำรงความเมตตาแต่ผู้ใต้ปกครองอย่างนิจศีล แต่การได้มาซึ่งอำนาจ
ต่างผิดแผกและแตกต่างกับการรรับรู้ในเบื้องต้นเท่าที่เราเรียนมาอย่างคร่าวๆ
ขอเล่าอีกนิดว่า กรุงสุโขทัยหาใช่เมืองเดียวๆแต่เป็นหัวเมืองที่มีเมืองคู่ตามสมัยนิยม
อย่าง สระหลวง-สองแคว อโยธยา-ละโว้ เป็นต้น การที่พญาลิไทจะเป็นกษัตริย์แห่งกรุง
สุโขทัยได้จำต้องยกทัพจากศรีสัชนาลัยมาบุกถึงประตูเมืองสุโขทัยเพื่อเข้ามาประหาร
ศัตรูผู้ยึดอำนาจการสืบราชสมบัติของผู้พ่อพญาเลอไท ก่อนหน้าสมัยพญาเลอไทก็คือ
สมัยพ่อขุนรามคำแหง ยิ่งสมัยพญาเลอไทเป็นกษัตริย์สุโขทัยนั่น พระยางั่วนำถมกำลัง
เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย พอขั้วอำนาจเปลี่ยนเมื่อพระยางั่วนำถมเป็นกษัตริย์เมืองสุโขทัย
ลำดับการเป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยจึงเปลี่ยนมาสู่พญาลิไท ความรู้สึกรอคอยที่จะเป็นกษตริย์
องค์ต่อไปจึงรู้สึกยาวนานหากเทียบโอกาสที่สามารถใช้ลำดับวงศ์ทางบิดาในฐานะลูกกษัตริย์
เพราะต้องใช้เวลากว่า๗ปี จึงกว่าจะได้เป็น..................

แม้สุดท้ายการวัดบารมีกันระหว่างสุโขทัยกับเมืองใหม่อย่างอโยธยาจะทำให้ พระองค์ต้องย่ำเกรง
ถึงศัตรูที่ความแข็งแกร่งกว่าจากรัฐที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ การประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่และเป็นครั้งแรก
ในสมัยของพระองค์ การขยายพระราชอาณาจักรของพระองค์ครั้งนั้น ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนไปยังเมืองอยุธยา
ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทองได้ส่งทัพจากอยุธยามาตีเมืองพิษณุโลก
(เมืองสองแคว ) และยึดเมืองไว้ได้สำเร็จ เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความไม่มั่นคงขึ้นแก่เมืองสุโขทัย
เพราะมีอาณาเขตที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ดังนั้นพระองค์จึงจำเป็นทรงส่งคณะราชฑูต
เพื่อไปขอเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับสมเด็จพระรามาธบดีที่ 1 ซึ่งขอเล่าเพียงนี้ก่อน
ก่อนที่จะไม่มีภาคขยายอะไรให้ได้เล่าอีก .............................

โปรดลุ้นด้วยว่าผมจะสามารถเล่าได้ถึงสิบตอน เพื่อหาบุญกุศลในเดือนเข้าพรรษาได้รึไม่?
ขอเกริ่นนิดหน่อยว่า ตั้งใจทำอะไรไว้ในเดือนเข้าพรรษายังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักครั้งหนึ่ง..............




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 7:50:46 น.
Counter : 3772 Pageviews.  

ดัชนีมาม่า เครื่องวัดความรากหญ้าของประชาชน

ไม่รู้ว่าเวลาที่ทุกท่านเข้าไปเลือกจับ จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค จะตามร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านดิสเคาท์สโตร์ขนาดใหญ่ (ที่ชาวบ้านบางแห่งกำลังขับไล่กันอยู่) ผมเองไม่รู้ว่า
จะมีคนสังเกตชั้นวางโชว์สินค้าอยู่โซนหนึ่ง โซนที่เชื่อได้เลยว่าจะต้องมีผู้คนจับจ่ายเลือกซื้อกันแทบทุกสิบนาที และเจ้าโซนนี้เองยังมีคุณสมบัติที่สามารถเป็นตัวชี้วัดสถาพฝืดเคือง ถดถอยทางเศรษฐกิจภาพรวมได้ดีชะงัดเชียว เชื่อว่าไม่มีท่านใดที่ไม่เคยแวะเยี่ยมเยือนกันดูสักครั้ง โซนที่ว่านี้ก็คือ โซนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Noodle Instant Food)

ว่า กันว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นสินค้าที่เคียงคู่กับคนไทยมาเนินนาน ด้วยคุณสมบัติที่ปรุงสำเร็จโดยง่าย (อาจง่ายกว่าการทอดไข่เจียวเสียอีก) หาซื้อบริโภคได้ตามทุกตอกซอกซอย ราคาไม่แพงนักก็สามารถพยุงท้องน้อยๆผ่านพ้นไปได้อีกหนึ่งมื้อ ง่ายต่อการพกพาและมีมากมายหลายรสชาติ (จนทำให้เจ้าตำรับมึนตึบเมื่อมีรสกุ้งต้มยำที่แซบลิ้นจนครองใจคนไทยกว่า ครึ่งประเทศ) ดังนั้นหน้าซองของแต่ละยี่ห้อจึงจัดสรรอย่างวิจิตรสมาหลาด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่ ยอดผักอันเขียวชอุ่ม แม้ว่าภายในจะมีเพียงแค่บะหมี่รอลวกกับเครื่องชูรสรูปซองสวยงามอยู่ภายใน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นนวัตกรรมอันลวกๆที่สอดรับกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่สักพออิ่มท้องแล้วค่อยไปหาเครื่องดื่มสุขภาพดื่มตามในภายหลัง แม้ว่าช่วงหนึ่งผมจะเห็นคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สินค้าชิ้นนี้ด้วยกันสอง ด้าน คือ เพื่อการบริโภคและเมื่อบริโภคเสร็จสิ้นซองเปล่าอย่าทิ้งนำมาชิงโชครางวัล ใหญ่ (ช่วงนั้นเองผมมักโมโหโกธาที่ใครเที่ยวทิ้งซองเปล่าด้วยกล่างโทษถึงการใช้ ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า)

โดยทั่วไปแล้วองค์ประกอบของมวลสารที่บรรจงให้เกิดเป็น บะหมี่สำเร็จรูปนั่น ประกอบหลักไปด้วยข้าวสาลี มีไข่และเกลือเป็นส่วนผสมเพียงเล็กน้อย ส่วนผสมดังกล่าวจะถูกนำมานวดให้เข้ากันด้วยเครื่องจักรจนเข้ากันดีแล้ว จึงนำมาเข้าเครื่องอัดเส้นให้เป็นเส้นเล็ก ๆ และทำให้สุกด้วยน้ำร้อน จากนั้นจึงนำไปทอดในน้ำมันปาล์มซึ่งมีสารกันหืนอยู่เล็กน้อย เมื่อนำมาพิจารณาถึงประโยชน์ของสารอาหารที่ได้รับจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พบว่าโปรตีนที่ได้เป็นโปรตีนที่มาจากพืชคือข้าวสาลี ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนของกรดอะมิโนไม่ครบถ้วนเหมือนโปรตีนจากสัตว์ ส่วนสารอาหารที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ดังนั้นในการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวในแต่ละมื้อ อาจจะทำให้เกิดการขาดสารอาหารได้เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะรับประทานบะหมี่กึ่ง สำเร็จรูปโดยไม่ได้ปรุงแต่งหรือเติมเนื้อสัตว์และผักสด เพราะนั่นอาจหมายถึงมูลค่าของการปรุงสำเร็จครบถ้วนจะนำมาซึ่งราคาค่างวดที่ มากกว่าราคาซองปกติหลายเท่าตัวนัก บะหมี่สำเร็จจึงไม่ได้สะท้อนราคาต้นทุนที่แท้จริงในการเข้าถึงสาธารณูปโภค มูลฐานที่ควรครบทั้งห้ามูลต่อประชากรหนึ่งคน แต่อย่างไรเสียผมก็ยังชอบการบัญญัติของคำว่า"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" เพราะมันดูเหมือนการสำเร็จด้วยดีถ้ารับประทานเปล่าโดยไม่ปรุงลวก หรือลวกปรุงแล้วก็ดูจะสำเร็จด้วยดีแม้ว่ามันจะดูก้ำกึงอยู่



ทุกวันนี้ประเทศไทยมีบะหมี่กึงสำเร็จรูปอย่างด้วยกันหลาย ยี่ห้อ และในหลายยี่ห้อยังประกอบด้วยหลากหลายรส เริ่มตั้งแต่รสชาติพื้นฐานอย่าง รสหมูสับ ซุปไก่ ต้มยำกุ้ง จนรสที่เราไม่คิดว่าจะมีขึ้นได้อย่าง รสชาเขียว รสโกฮับ โฮสวีต ส้มตำชาววัง แต่รสชาติที่กล่าวมาทั้งหมด (และไม่ได้กล่าว) ไม่ได้คิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่ทั้งหมดอยู่บนฐานรสนิยมการกินของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ การคำนึงถึงก็คือความต้องการของตลาด จะมีการเทสต์กับผู้บริโภคในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตอบแบบสอบถาม ให้ชิมบะหมี่ ให้ดูแพกเกจ จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องชิมอีกครั้ง แล้วจึงผลิตรสชาตินั้นๆออกมาขาย ผ่านแนวคิดของสำนักงานกลุ่มฝ่ายการตลาดและฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าคิดร่วม กัน ส่วนขบวนการสร้างเครื่องปรุงนั้นจะอยู่ในส่วนของซัปพลายเออร์ที่ผลิตพวก เฟเวอร์หรือผงเครื่องปรุงกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นหมู ไก่ กุ้ง กลิ่นกระเทียม ซึ่งก็มีทั้งเครื่องปรุงที่มีการผสมมาแล้วเกือบจะสำเร็จรูป แล้วเรานำมาปรุงรสเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย และที่เรานำผงเครื่องปรุงมาผสมเองใหม่หมด ฝ่ายฟู้ดไซน์ของเราก็ดูว่ากลิ่นที่ซัปพลายเออร์มีนั้นสามารถนำมาปรุงเป็น อะไรได้บ้าง ซึ่งซัปพลายเออร์แต่ละเจ้าก็จะมีความถนัดไม่เหมือนกัน

ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่คนไทยจะติดปากเวลาที่เรียกหา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ว่า"มาม่า"แต่ว่าที่จริงแล้ว ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในไทยนั่นก็คือ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย)จำกัด โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า 'ยำยำ' ซึ่งตลอดระยะเวลา 33 ปียำยำมีบะหมี่รสชาติต่างๆ ออกมาแล้วกว่า 40 รส โดยซองแรกที่วางตลาดคือ ยำยำช้างน้อย รสซุปไก่ ซึ่งมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กๆ เป็นหลัก เพราะยังไม่แน่ใจว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นที่ยอมรับของคนไทยหรือไม่ ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไวและมาม่านั้นออกวางตลาดหลังยำยำเล็กน้อย โดยระยะเวลาที่ไวไวและมาม่าเปิดกิจการมานั้นใกล้เคียงกับยำยำ คือประมาณ 33 ปีแล้ว โดยรสชาติแรกที่ไวไวผลิตออกมาคือรสปรุงสำเร็จ ซึ่งรสชาตินี้ก็ยังคงอยู่ในตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่มาม่านั้นเปิดตัวรสซุปไก่ออกมาเป็นรสชาติแรก และก็เป็นรสชาติหนึ่งที่ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคอยู่

อาหารบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นดั่งอาณาจักรทางอาหารที่ ครอบคลุมกับวิถีชีวิตของไทย แม้คนไทยจะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นคนแรกแต่การกลืนสภาพของรสชาติที่เข้าสู่ความ เป็นไทยก็ทำให้คนไทยไม่รู้สึกแปลกแยกอาหารกึ่งสำเร็จประเภทนี้แต่อย่างใด



ในแง่การใช้เป็นเครื่องวัดดัชนีทางเศรษฐกิจ ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์
" มาม่า"เป็นเจ้าตลาดใหญ่ของสินค้าประเภทนี้ จึงมักมีคนนิยมเอาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไปเทียบเคียงกับซึ่งใช้เป็นสถิติอ้าง อิงกำลังซื้อแบบประหยัดจนติดปากนักเศรษฐศาสตร์เชิงวิเคราะห์ว่า "ดัชนีมาม่า" (Mama Index) เพื่อเปรียบเทียบกำลังซื้อในตลาดโดยภาพรวม
เนื่อง จากมาม่าเป็นสินค้าที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศ ทุกวัย ครอบคลุมทุกระดับจนถึงรากหญ้า เป็นผู้นำในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกว่า 8,500 ล้านบาท ถ้าแนวโน้มมีว่ามาม่าขายดีย่อมหมายถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมกำลังเข้าสู่ภาวะฝืด เคือง คนในประเทศไม่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอนาคต สะท้อนว่าประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า เมื่อกำลังซื้อเริ่มอ่อนแรง ผลิตภัณฑ์มาม่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่หลักทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า inferior goods คือ สินค้าด้อย สินค้าประเภทนี้ผู้ซื้อจะซื้อน้อยลงตราบเท่าที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่จะซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้ของเขาน้อยลงไปอีกครั้ง สภาวะเช่นนี้จึงเรียกว่าลุ่มๆดอนๆ ยามมีก็ตีจาก ยามยากจำต้องมี ตราบเท่าที่ทรัพยากรทางอาหารมีอยู่อย่างหลากหลายในโลกนี้ แต่มูลค่าของการเข้าถึงก็เป็นอีกเรือ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องชั่งใจ เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครใช้"มาม่า"เป็นตัวแทนของความมั่นคงในชีวิตเป็นแน่ อย่าลืมนะครับว่าทางธนาคารแห่งประเทศได้สร้างนิยามของดัชนีมาม่าในศัพท์ที่ งามสง่าไว้ว่า"an economic indicator for basic cost of living assessments“ แปลให้งามเทียมกันว่า “ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสำหรับการประเมินค่าครองชีพขั้นต่ำของคนไทย” ดังนั้นถ้าตอนนี้คุณเพิ่งซื้อกักตุนไว้สามัญประจำบ้าน ขอเรียนให้ทราบว่าท่านกำลังไม่มั่นใจเงินในกระเป๋าของเท่าเสียแล้ว

ป.ล. แม้แต่ศัพท์เซียนบอล คำว่า"ทานมาม่า" หมายถึง เสียบอลทุกคู่ที่แทงไป จนไม่มีโอกาสได้ทานโต๊ะจีนอย่างที่ใฝ่ฝัน





 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2551 20:01:34 น.
Counter : 3431 Pageviews.  

พ่อขุนรามฯไม่ได้ไปจีน ส่วนผมก็ไม่ได้ไปดูโอลิมปิกที่จีน

ไหนๆโอลิมปิกปีนี้จะจัดขึ้นที่จีนแล้ว หาเรื่องอะไรที่พ่วง

ประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยเข้ากับเรื่องจีน สักหนึ่งอย่างดีกว่า

ก็เลยไปคลี่ๆเอกสารบทความเก่าๆมาดู ปรากฎว่าได้มีงาน

วิจัยในเรื่องหนึ่งที่มีสามวิชาการทางประวัติศาสตร์เหมือนๆกัน

และค่อนข้างฟันธงได้ว่า "พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีนเลยสักครั้ง"



แน่นอนว่ามันขัดกับสิ่งที่เราเคยได้เรียน (อีกแล้ว)ที่ว่า "พ่อขุนรามคำแหง

เสด็จไปเมืองจีนถึง๒ครั้ง ในปี พ.ศ.๑๘๓๗ และ พ.ศ.๑๘๔๓ และได้ทรงเอา

ช่างจีนมาทำเครื่องถ้วยชามที่เรียกว่า สังคโลก" อ้าว!ถ้าอย่างนั้นตกลง

เป็นใครที่ได้ไป ในเมื่อมีพุทธศักราชเป็นเครื่องกำกับชัดเจนขนาดนี้ เรื่องนี้

เลยต้องใช้ทั้งหลักฐานทั้งในส่วนไทยและจีนเข้ามาประกอบ เพื่อค้นหาว่าใคร

เป็นผู้ไปกันแน่



ในจดหมายเหตุจีน พระเจนจีนอักษร(สุดใจ ตัณฑากาศ) เจ้าหน้าที่ในหาพระสมุด

วชิรญาณสำหรับพระนครได้แปลเรื่อง"พระราชไมตรีระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน"

ทั้งหมด๔เรื่องถวาย รัชกาลที่๕ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๒ ประมาณว่าพระกษัตริย์แห่งกรุง

สยามเสด็จเฝ้าจักรพรรดิจีนถึง๒ครั้ง และไม่ได้บอกว่านำช่างปั้นเครื่องสังคะโลก

กลับมาด้วยแต่อย่างใด ข้อมูลส่วนนี้ยังทำให้บิดาแห่งประวัติศาสตร์ชาติอย่าง

กรมพระยาดำรงราชนุภาพจากเดิมที่ไม่เคยเชื่อว่าพ่อขุนรามฯเคยไปเมืองจีน เมื่อ

ทราบจากเอกสารนี้แล้วจำต้องเชื่อว่าพ่อขุนรามฯคงเคยไปมาจริง



เรื่องนี้ปรากฏว่าเมื่อ ทางกรมศิลปากร ได้มีการตรวจสอบการแปลต้นฉบับจีนอีกครั้ง

ในปี พ.ศ.๒๕๐๕จึงได้มาพบว่าทาง พระเจนจีนอักษรได้แปลตกหล่นในประโยคสำคัญ

สรุปใจความใหม่ได้ว่า "ก็เป็นอันทราบได้โดยแน่ชัดว่า เสี้ยมก๊กอ๋อง คือพ่อขุนรามคำแหง

ไม่ได้เสด็จไปเมืองจีนตามที่เข้าใจในแต่เดิม" จากนั้นก็มีนักวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์

หลายทาน อย่าง นายเฉลิม ยงบุญเกิด Dr. E.T. Flood และขจร สุขพานิช





แต่ทั้งหลายทั้งปวงงานที่วิเคราะห์ได้ลึกที่สุด คงเป็น งานของดร.สืบแสง พรหมบุญ เพราะ

เป็นงาานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ที่ว่าด้วย

"พระเจ้ารามคำแหง ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หงวน" มีบทความย่อ จากวารสาร ศิลปากร

ปีที่๑๕ เล่มที่๖ หยิบยกบทหนึ่งของประวัติศาสตร์หงวน บทที่๗ ไว้ว่า "มีพระบรมราชโองการ

ให้ กันมู่ติง กษัตริย์แห่งเสียน มาเฝ้า ถ้ามีเหตุขัดข้องให้สั่งโอรสหรืออนุชาหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ไป

เป็นตัวประกัน" และมีบทความอีกตอนว่า "คณะฑูต๒๒คน จากอาณาจักรชวา สุโขทัย จัมปา และ

อาณาจักรอื่นๆมาถวายเครื่องราชบรรณาการ จักรพรรดิพระราชทานเสื้อผ้าแล้วให้ส่งกลับ"

นอกจากนั้นท่านยังว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปที่ไหนออกจากเขตแหลมทองเสียด้วยซ้ำ



ส่วนใครคนไหนเป็นตัวแทนในการส่งเครื่องราชบรรณาการในยุคสมัยนั้น เรื่องนี้ นักวิชาการ

กรมศิลปากรอย่าง นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้เขียนบทความไว้ว่า ในจดหมายเหตุจีนได้บันทึก

ไว้ว่า เจ้านครอินทร์ได้ไปเมืองจีนหลายครั้ง ซึ่งเจ้านครอินทร์คนนี้ก็คือ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ทราบว่าในรัชสมัยของพระนครินทราชาได้มีการเจริญสัมพันธไมตรี

อย่างใกล้ชิดกับจีนอยู่หลายต่อหลายครั้ง ยุคสมัยของพระองค์มีความเฟื่องฟู่ทั้งในส่วนของช่าง

ปั้นสังคโลกโลกชาวจีนและการสร้างชุมชนชาวจีนที่มีความมั่นคงในเขตข่ายของราชวงศ์สุพรรณภูมิ

ก่อนที่ภายหลังจะไปปกครองเป็นกษัตริย์อยุธยา ด้วยความที่มีเชื้อสายของราชวงศ์พระร่วง ดังนั้น

คำว่า”พระร่วง”จึงน่าจะถูกตีขลุมในเชิงการเรียกแทนตัวอย่างกว้างๆจากทางการของจักรพรรดิจีนมาก

กว่า (ศาสนาและการเมืองสมัยสุโขทัย,มีนาคม ๒๕๒๘) แล้วความเชื่อในเรื่องที่พ่อขุนรามคำแหงนำช่าง

จีนมาทำเครื่องถ้วยชามสังคโลก จนบางคนอ้างว่าส่งขายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้านับเวลาที่ส่งออกนอกเขต

พื้นที่หัวเมืองเหนือแล้ว ก็หลังจากยุคของพ่อขุนรามคำแหงหลายปีดีดัก งานนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่งมามีเอายุคของอยุธยาแต่อย่างใด ต้องเข้าใจก่อนว่า

การเข้าเฝ้าองค์จักรพรรดิของจีนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน ตั้งแต่การก่อเกิดแคว้นการ

ปกครองสมัยไหน สิ่งหนึ่งนอกจากผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่าไม่ว่าผ้าไหมจีน ทรัพยสินเงินทอง

อัญมณีแล้ว ยังเป็นการต่อรองอำนาจทางการเมืองในระดับสายเชื้อพระวงศ์ในเขตพื้นที่ปกครองภายใต้

การรับรู้ของจักรพรรดิจีน โดยการเข้าเฝ้าถวายบรรณาการพระจักรพรรดิจีน ขอให้ช่วยปรามอีกฝ่าย

มิให้กดดันรุกราน บางทีไอ้คำที่เรียกว่า”เรียบร้อยโรงเรียนจีน”อาจเกิดจากการเล่นแง่ทางการเมือง

ของบรรพบุรุษไทยด้วยกันก็เป็นได้ ดังนั้นอย่าเสียใจไปทางโอลิมปิกที่ปักกิ่งครั้งนี้ เราไม่อาจพกเงิน

หยวนไปมีส่วนร่วมแบบนักท่องเที่ยวคนอื่นเขา เพราะพ่อขุนรามฯท่านก็ไม่เคยได้เสด็จไปเช่นกัน




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2551 16:45:44 น.
Counter : 2561 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.