A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
คิดต่าง ต่างกันที่ความคิด





โดยปกติแล้ว ผมมักจะทำงานอย่างไม่คอ่ยมีปัญหากับใครมากนัก
ส่วนหนึ่ง เพราะตัวผมเอง ไม่ค่อยสร้างปัญหา
(เพราะมันรู้สึกยากเวลาออกแบบตัวปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาเสียเหลือเกิน)
อีกส่วน ก็คือ แยกปัญหากับหน้าที่การงานกับเรื่องส่วนตัว เป็นคนละประเภท
งานยังคงต่อเดิน แต่เรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องส่วนตัวไป สุดท้ายค่อยมาปรับความเข้าใจ
ลงกับที่ "วงสุรา"
แต่เพิ่งมาทราบในระยะหลัง ว่าอุปนิสัยส่วนตั๊ว....ส่วนตัว
เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับเพื่อนร่วมงานอยู่ไม่น้อย
ประมาณว่า อยากจะเข้าใจแต่เข้าไม่ถึง เพราะก่อนหน้านี้ทางหัวหน้าของผมก็นำ
เด็กฝึกงานคนใหม่ ให้ผมช่วยสอนทักษะการทำงานในลักษณะโดยคร่าว
แต่สุดท้าย เด็กใหม่ท่านนั้นก็ได้แต่ส่ายหัว บ่นกับคนรอบข้างอยู่เพียงประโยคเดียว
ว่าพี่คนนี้ ผมตามระบบความคิดของพี่ท่านนี้ไม่ทัน
เพียงเพราะเขามี "ความคิดต่าง" จากบุคคลอื่นทั่วไป

เรื่องของ "ความคิดต่าง" หากจะให้กำหนดชัดเจน ตายตัวด้วยแล้ว
ความคิดต่าง ก็เป็นหนึ่งทางเลือกในการคิด เท่าที่จะมีหนทางร้อยแปดพันประการ
อาจจะเป็นความคิดที่น้อยคนจะคิดได้ หรือต้องมีจิตวิปลาสชนิดพิเศษที่เห็น
ต่างจากการดำเนินของกลุ่มกระแสหลักทางความคิด
ในวิชาการตลาด การคิดต่างเท่ากับการเปิดตลาดกลุ่มใหม่
ที่กลุ่มเจ้าตลาดก่อนหน้าไม่ทันจะคาดคิด โดยมีฐานของกลุ่มบริโภคเดิมเป็นตัวตั้ง
แต่ปรับหาแนวคิด รูปแบบใหม่ ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะ หรือบางทีเป็นช่องทาง
ให้การเข้าถึงหนทางที่ยังไม่มีนักการตลาดคนใดเข้าถึง
บางที "ความคิดต่าง" อาจจะไม่จำเป็นต้องอาศัยจินตนาการเลิศเลอหรือภูมิปัญญาญาณ
ในระดับทีต้องอาศัยการศึกษาสูงๆ อ่านหนังสือเป็นตั้งๆ
เพียงแต่มองอะไรในปัจจัยพื้นฐานที่เรามี แต่ผู้อื่นคิดไม่ถึง หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า
"กึ๋น" มีตัวอย่างจากหนังสือ ทีชื่อ "คุยกับประภาส" ตอนหนึ่งว่า ............................

เมื่อองค์การนาซา โดยปกติคือหาเรื่องส่งคนไปทำงานในอวกาศ
แต่องค์กรระดับมีงบลงทุนปล่อยจรวดทีละหลายหมื่นล้านเหรียญ ไปพบว่ามีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง
คือ ปากกามันเขียนในในอวกาศนั้นไม่ได้
เพราะปากกาที่เราใช้กันทุกวันนี้ มันอาศัยแรงโน้มถ่วงโลกดึงดูดให้หมึกไหลลง
มาสู่กระดาษ แต่ทว่าในอวกาศมันไม่มีแรงโน้มถ่วงนี้หว่า
นาซาเลยทุ่มทุนและระดมมันสมองวิศวกรกันขนานใหญ่ว่า
จะทำยังไงให้ปากกาสามารถใช้ได้ในอวกาศ จนวันหนึ่งมีแม่บ้านคนหนึ่งรู้เรื่องนี้เข้าก็เลยยื่น
จดหมายถึงท่านผู้บริหารนาซา ว่า .......................

“ทำไมท่านไม่ใช้ดินสอกันล่ะคะ”

ความคิดต่าง อาจไม่จำเป็นต้องคิดอะไรให้ยุ่งยาก
เพียงอาศัยความเรียบง่าย และเท้าติดดินมาสักนิดหนึ่ง เข้าใจพื้นฐานของปัจจัย
ในธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ ผมจึงชอบรายการวิทยุที่ อ.วีระ ธีรภัทธ ชอบจัดในช่วงบ่าย
ทางคลื่นความคิด ตอนหนึ่งมีผู้ฟังถามเรื่องเกี่ยวกับพอร์ตลงทุนของกองทุนหลักทรัพย์ตัวหนึ่ง
ว่าควรจะซื้อมากน้อยเท่าไร ซื้อแล้วผลตอบแทน ถ้าคำนวนช่วงปีนี้จะเท่านี้ แล้วเอาเงินบางส่วน
ไปกระจายความเสี่ยงในพันธบัตรเกาหลีเท่านี้ๆ ไปซื้อที่ดินแปลงนี้เท่านี้ๆ ซื้อทองคำเท่านี้ๆ
ไปซื้อตลาดฟิวเจอร์เท่านี้ๆ...............................แต่เศรษฐกิจช่วงนี้แย่ อีฉันควรทำอะไรดีเจ้าคะ?
จะแลดูมั่นคงเป็นที่สุด
แล้วอาจารย์แกก็ถามผู้ฟัง ประโยคสั้นๆว่า "แล้วตอนนี้เจ๊อายุเท่าไรแล้วละ?"
ผู้ฟังท่านนั้นตอบ "เจ็ดสิบกว่าแล้วละ"
อาจารย์ก็ตอบแบบเบื่อๆ ว่า "เอางี้ละกัน ทำบุญ!"
เออ! ทำอะไรตั้งโน่น ตั้งนี้ มาตั้งเยอะ............ยังไม่รู้สึกถึงความพอ
ถ้าเปลี่ยนมาทำบุญ บำเพ็ญกุศลซะ จะได้ลดความอยากเห็นอยากได้มีสัมมาทิฏฐิที่ดี
ยิ่งวิกฤต ยิ่งน่าต้องทำบุญ .............จะได้ลดอัตตา เงินทองเป็นสิ่งอุปโลกขึ้นของสังคม
ตายไป หากเกิดชาติหน้าจะได้มีอานิสงส์ผลบุญตามมาด้วย.................!!




แต่บางอย่าง "ความคิดต่าง" สามารถเปลี่ยนแปลงกฎ กติกาเดิมให้กลายเป็นสิ่งล้าสมัย
กลับกลายเป็นมาตราฐานทางสังคมใหม่ ให้ปฏิบัตินิยมตามกันมา
ในหนังสือ Whatever you think, Think the opposite โดย
Paul Arden ได้ การเล่าเรื่องของ นักกีฬากระโดดสูงในการแข่งกีฬาโอลิมปิคในปี 1968
ที่กำลังจะกระโดดข้ามคานที่มีความสูง 7 ฟุต 4 ¼ นิ้ว
แทนที่เค้าจะใช้วิธีโดดแบบพุ่งเข้าที่ทุกคนทำกันมาตลอด
เค้ากลับกระโดดโดยหันหลังเข้าคาน โดยที่ท่านี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Fosbury Flop
ตามนักกีฬาคนนี้นี่เอง ซึ่งท่านี้ก็ยังเป็นท่าที่ใช้กระโดดสูงมาจนทุกวันนี้
และที่สำคัญ ยังเป็นการทำลายสถิติโลกอีกด้วย

ทำให้ผมนึกถึงนักกีฬาชาวไทยอีกคนที่ชื่อ "สืบศักดิ์ ผันสืบ"
เขามาโด่งดังจริงๆก็คือตะกร้อชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 13 และในซีเกมส์ ครั้งที่ 19
ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยการเสิร์ฟ "หลังเท้า" ที่ทำให้ลูกปั่นและหมุดลง
จากเดิมที่นักตะกร้อมักจะใช้ "หน้าเท้า" ที่เน้นตำแหน่งและความรุนแรง
ทำให้ทีมไทยคว้าเหรียญทองมาได้ทั้งทีมชุดและทีมเดี่ยว
เล่นเอาทีมเสือเหลืองมาเลเซีย หัวมึนกันเป็นแถว เล่นตะกร้อมาจนโต ไม่เคยเจอะเจอ

และอีกอุทาหรณ์หนึ่ง ผมได้รับเกียรติให้ไปชำระหนี้คงค้างค่าโทรศัพท์
ในส่วนที่ผมเองไม่ได้ใช้บริการ (คาดว่าโดนแอ้บสำเนาบัตรประชาชนโดยคนดีที่ผมไม่คาดหวัง)
"จ่ายก็โง่-โมโหก็บ้า" ผมจึงเดินทางไปร้องเรียนถึงสำนักงานใหญ่แถวรัชดาฯ
ในฐานะผู้บริโภค (ที่ไม่ใช้บริการของแกนะเฟ้ย!)
แม้จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับเครือข่ายเจ้านี้ืั้ที่ให้เกียรติผมเป็นส่วนหนึ่งของแก
แต่อยากน้อย ก็เห็นป้ายที่แปะหลา กระตุ้นความกระตือรือล้นของพนักงาน
โดยมีสำนวนภาษาอังกฤษตอนหนึ่งที่ว่า "Out of the Box"
แม้ตอนแรกจะคิดไปว่า "ให้กรุณาช่วยเปิดเช็คพัสดุภัณฑ์ เวลาที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำส่ง"
แต่เมื่อได้มาหาคำแปล จากนิตยสารการตลาดเล่มหนึ่ง ก็ทำให้รู้ว่า
การคิดต่าง เป็นเครื่องสร้างมูลค่าในการขับเคลื่อนองค์การให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งหวังไว้
แต่กอ่นอื่นใด............ช่วยเอาผมออกจากกองหนี้ในกล่องลูกหนี้ของแกสักทีเถอะ!


"คิดต่าง" อาจต่างกันที่ความคิด
แต่ความคิดที่ไม่ได้ลงมือกระทำ ยอ่มไม่อาจสร้างความแตกต่างอื่นใด
ระบบความคิดของมนุษย์จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์ แม้แต่คนที่เป็นฝาแฝด
ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน ก็ยังมีวิธีคิดและความชอบไปคนละอย่าง
ดังนั้นสังคมที่มีความหลากหลาย ธรรมชาติของความคิดต่างจึงมักมีให้เห็นต่างกันอยู่เสมอ
การขับเคลื่อนภายใต้กรอบสังคมอย่างมีพลวัตร ความคิดต่างจึงเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่ง
ที่ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดแปลกใหม่และแตกต่าง
ในกรอบความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและแก่สังคม .............................

ลองคิดดู? ถ้าสังคมที่ทุกคนคิดอะไรได้เหมือนกันหมด เราจะมีความคิดกันไปเพื่ออะไรกัน ........









Create Date : 11 กรกฎาคม 2552
Last Update : 11 กรกฎาคม 2552 15:57:15 น. 0 comments
Counter : 772 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.