A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
เบื่อวิทยาศาสตร์จริงๆละเว้ย


หลายคนคงน่าจะได้ติดตาม อ่านเห็นและผ่านตากับข่าวการทดลองทาง
วิทยาศาตร์ครั้งอุโฆษะ (อย่างน้อยท่านsatan10ก็เคยนำมาเล่าผ่านการเทียบ
เคียงยอดวรรณกรรมอย่างDaman&Angleอย่างเผ็ดมันส์) เมื่อเหล่านัก
ฟิสิกส์เข้าห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ “เซิร์น”
(CERN: เป็นตัวย่อจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า Center of European Nuclear Research)
ในมุมมองของฟิสิกส์ต่างหวังว่าการทดลองครั้งนี้จะเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งที่จะช่วยไขปริศนา
ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นในเอกภพ ขณะที่สาธารณชนและนักฟิสิกส์บางคนกลับกังวลว่า
การทดลองนี้จะทำให้เกิดหลุมดำซึ่งจะกลืนทุกสิ่งทุกอย่าง หรือส่งผลต่อการเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กโลก
และอาจนำมาซึ่งความหายนะของโลกได้
(ลักข่าวมาจากwww.ThaiPR.net - อังคารที่ 9 กันยายน 2008) จากนั้นก็มีสิ่ง
ตอกย้ำให้เหตุการณ์แลดูน่าสะพรึงยิ่งขึ้น อย่างเช่น สาวอินเดียเครียดจัดพ่อเผยลูกสาว
ติดตามข่าวการทดลองยิงอนุภาค พ่อเผยลูกสาวติดตามข่าวการทดลองยิงอนุภาค
(หนังสือพิมพ์ข่าวสด ศุกร์ที่ 12 ก.ย. 2008) ทั่วโลกผิดคาดองค์กรวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป
"เซิร์น" ปอดแหกไม่กล้ายิงอะตอมให้ชนกัน (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง)

ที่หยิบยกหัวข้อข่าวมานี้ มิได้จะหมายความว่า ตัวกระผมเองจะเป็นกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมหัวเอียงซ้าย
หรือเคร่งลัทธิธรรมชาตินิยมสุดโต่ง และไม่ได้หมายความว่า
จะมาเล่าเรื่องความเป็นมาเป็นไปของโครงการเรื่องนี้อย่างละเอียด หรือ(อีกนะแหละ)
จะมาอธิบายทฤษฎีของฮอร์กิ้ง (Hawking) ที่มีครอบครองอยู่ตั้งสองเล่ม
แต่อ่านเล่มละไม่เกินยี่สิบหน้า เพียงแต่มีความฉงนว่าแท้จริงแล้ว
มนุษย์มีความหวาดกลัวการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เล่นบทความเป็นพระเจ้า หรือแท้จริงแล้ว
มนุษย์มีความหวาดเกรงวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองแน่ หวาาาา..

ผมเองไม่แน่ใจว่าเอาเข้าจริงแล้ว(ละ) ว่านักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเองจะมีความรู้สึก
หวั่นเกรงแนวการทดลองระดับโลกเช่นนี้กันมากน้อยแค่ไหน (อย่างน้อยในแง่
ความเข้าใจร่วมในแนวกรอบทฤษฎีสากล อย่างอนุภาคฮิกก์ ในจินตภาพสมมติที่เชื่อว่า
หากมีการชนกันของอนุภาคระดับสูงม๊ากมาก จะสามารถค้นพบ
อนุภาคแปลกและใหม่ๆอีกหลายชนิดที่มนุษย์ไม่เคยพบ ตกลงรูปทรงสัณฐาน
อนุภาคในคำตอบอันเกิดจากผลของวิธีการก็ยังหาข้อสรุปสอดคล้องด้วยกันเองไม่ได้
แม้แต่วิธีคิดทางิวทยาศาสตร์ในแง่ผลกระทบข้างเคียง หลายเรื่องยังต้องหาข้อสรุปเป็นสิบปีๆ
จึงจะให้ผลแน่ชัดทางสังคมว่า มันมีผลกระทบขึ้นจริง(นะเฟ้ย) อย่างการผลิตโฟมหรือ
สารซีเอฟซีที่ทำลายบรรยากาศโลก ตลอดจนคลื่นโทรศัพท์มือถือที่ยังลูกผีลูกคนอยู่ (และอีกมากมายที่ยังไม่รู้ตัว)
อย่างโครงการ"เซิร์น"ที่ยกขึ้นมา บอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้มีเรื่องข้องเคืองหมางใจอะไรเป็นการส่วนตัว
เพียงแต่สิ่งที่ผมมองว่า"ผลกระทบจากความกลัวล่วงหน้า"
แท้จริงเกิดขึ้นจากการขาดองค์ความรู้ของการประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์
หรือเกิดจากการประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์จนไม่อาจจินตภาพถึงผลสมมติ เขียนอย่างนี้อาจฟังดูยาก
(ซึ่งผมก็ได้สะกิดมิตรให้ช่วยตรวจสอบถ้อยคำ ในประโยคดังกล่าว ก็ได้รับการส่ายหน้าอย่างไม่ใยดี)
เอานี้ดีกว่า ขอเล่าแบบที่ผมตั้งคำถามกับวิทยาศาสตร์เสมอว่า คนไทยมักเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นความจริง
จำเรื่อง การเอาดาวพลูโตเป็นมิตรในบริวารภพได้ไหมครับ? จริงๆแล้ว
เพราะเราเห็นได้ว่าความจริงที่วิทยาศาสตร์เสนอให้เรานั้นเกิดขึ้นจาก "นิยาม"
ซึ่งหาได้มีอยู่ในธรรมชาติไม่ หากเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเอง นิยาม" ใหม่นี้
ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของทุกคน เพียงแต่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย แล้วความจริงที่ว่าจะมาจากการโหวตได้อย่างไรครับ?
(อันนี้ไม่ได้คิดเองแต่เอามาจาก บทความเรื่องศาสตร์และการครอบงำ / นิธิ เอียวศรีวงศ์)
ศาสตร์ทุกชนิดล้วนเป็นจินตนาการทั้งนั้น ไม่ใช่ความจริง การเล่าเรื่องวิชาความรู้จึงต้องเรียนเพื่อให้เข้าถึงจินตนาการ
ไม่ใช่เรียนตัวเนื้อหา ซึ่งมักจะลืบไปในเวลาไม่นาน เพียงแต่จินตนาการที่ว่า มันกำลังกลายเป็นจินตนาการที่มีฐานของการต่อรองในเวที วิชาการสากลมากน้อยแค่ไหน เพราะในหนังสือเรียนของวิชาวิทยาศาสตร์หลานผม
แอบอ่านทีไร ทำไม!มันจึงเต็มไปด้วยบทท่องจำและผูกโยงกับความเป็นจริง
ในปรากฎการณ์ทางธรรมชาติได้ยากนักแลหว่า!




เรื่องของวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้กำลังกลายเป็น กรอบจำกัดเฉพาะของกลุ่มคน ที่คนส่วนใหญ่ ไม่อาจจะสามารถเข้าถึงได้
(ซึ่งรวมถึงผมด้วยคนนึง) จะด้วยเงื่อนไขของศัพท์แสงเฉพาะ กรอบความสัมพันธ์ในหลักของเงื่อนไขเฉพาะบางประการ
(ยังชอบการยกตัวอย่างของพระพรหมคุณาภรณ์ ที่ว่าถ้าเอาตึกเอ็มไพร์สเตทมาอัดควบแน่น ตัดรูโหว่ทางอากาศของตัว
สสารเหล่านั้น จะได้เท่าเมล็ดถั่วเพียงเม็ดเดียว อืมม..แล้วอั๊วจะเข้าใจมันไหมเนี่ย?
"วิทยาศาสตร์" จึงมิใช่ศาสตร์ว่าด้วย "ความรู้สึก" ล้วนๆ แบบที่จะให้เราจะวิพากย์วิจารณ์แบบการเมืองได้อย่างสนุกปากสนุกคำ
ถึง กระนั้นก็ตาม เรื่องของ"จริยธรรม"ดูเหมือนจะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญที่จะทำให้ศาสตร์ หนึ่งศาสตร์ใดมีความบริบูรณ์อยู่ในตัวเอง ไม่ว่าจะในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง หรือในวงกว้างทางวิทยาศาสตร์ ต่างหลีกเลี่ยงและระมัดระวังที่จะพูดคุยถึงเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ทางจริยธรรมของวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์วิชาการ โดยระบบแล้ว ได้สร้างกำแพงตัวมันเองขึ้นมาป้องกันหรือต้านทานต่อสาระเหล่านั้น ในขณะที่วิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมได้โยนความรับผิดชอบไปให้คนอื่น พร้อมกันนั้นก็ปีนกำแพงนี้และออกไป (อ้างจาก เปิดพรมแดนวิทยาศาสตร์สู่พรมแดนจริยศาสตร์-Opening Science to Ethics : John Ziman) ดังนั้นจึงถึงเวลารึยัง?ที่เราไม่เพียงแต่จะถามว่า จริยธรรมจากเหล่าพวกนักการเมืองเพียงเท่านั้น
แต่ ควรขยายขอบเขตความสัมพันธ์เชิงองค์รวมที่มีตัวจริยธรรมในแง่ตัวกำกับมาตรา ฐานบางอย่าง ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงถึงจะตีกรอบข้อจำกัดในการ ทดลองใหม่ๆไม่ให้เกิดขึ้น อย่างน้อยในแง่ความระมัดระวังอย่างสำเหนียง
ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์สาธารณะเอง ตลอดจนเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์อันเกิดจากการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้
เพื่อสามารถทวงถามถึงความรับผิดชอบจากการทดลองที่ผิดพลาดจากเหตุอันสุดวิสัย
แม้ช่วงหนึ่งสังคมไทยอาจจะเห่อเหิมกับอะไรก็ตามที่ต้องให้เป็นวิทยาศาสตร์
แล้วกีดกั้นความเป็นมนุษย์ออกจากความสำคัญทางปัจจัยของสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย
ผลก็คือ ความเจริญทางวัตถุที่รุดหน้าจนมองหาค่าของตัวมนุษย์ไม่เจอสักที

อันที่จริงวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยนั้นมีความอาภัพมาตั้งแต่เริ่มนำเข้าจนถึงทุกวันนี้
เพราะวิทยาศาสตร์ถูกถือว่าเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น วิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกเป็นมากกว่าเครื่องมือมากนัก
เพราะวิทยาศาสตร์คือวิธีมองความจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งสมัยก่อนเชื่อว่าเหนือกว่าวิธีมองความจริงอื่นๆ
แม้สมัยหลังยอมรับข้อจำกัดของวิธีมองอย่างนี้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรแก่นแท้ของวิทยาศาสตร์คือวิธีมองความจริงอย่างหนึ่ง
ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง จึงเป็นการกดทับทางวัฒนธรรมดั้งเดิมภายใต้แนววิธีคิดเนียนๆที่ฝรั่งลงทุนไปไม่ต้องมาก
โดยหลักของวิทยาศาสตร์เราจึงได้รับเปลือกเป็นสรณศาสตร์โดยไม่เคยได้ตระหนัก
ถึงแก่นทางสังคมตะวันตกในแง่การอาศัยวิทยาศาสตร์ไปเป็นตัวผลักดันยุคมืดที่กดทับสติปัญญาของตัวบุคคลเป็นเวลานานแสนนาน
เขียน อย่างนี้หาได้เป็นเด็กรักเรียนวิทยาศาสตร์อย่างสุดจิตสุดใจไม่ เพียงแต่ผมจะรู้สึกหลงรักวิทยาศาสตร์ถ้ามันเป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กับ ปัจจัยที่รอบด้านไม่เพียงแค่ นั่งชักโคลกแล้วมีหัวฉีดอัตโนมัติคอยให้บริการแต่เท่านั้น


Create Date : 16 กันยายน 2551
Last Update : 16 กันยายน 2551 23:39:17 น. 1 comments
Counter : 834 Pageviews.

 
ใช่ๆ เราก็อยากรู้ว่าถ้าการทดลองที่เซิร์นสำเร็จลุล่วงทุกขั้นตอนแล้วที่คาดการณ์กันไว้นั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้


โดย: จันทร์ไพลิน วันที่: 17 กันยายน 2551 เวลา:14:18:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.