A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
เมื่อพญาลิไททวงดินแดน งานนี้ไม่ต้องพึ่งศาลโลก...(ตอนที่๔)


ที่ตั้งชื่อให้ดูร่วมสมัยนี้ มิได้ตั้งใจให้เกิดกระแสชาตินิยม(Nationalism) แต่อย่างใด
เพียงทว่าต้องการให้ทราบเพียงว่า เรื่องของการเสียดินแดน เป็นเรื่องที่มีมาทุกยุค
ทุกสมัย ตีเมืองเขาบ้าง เขามาตีคืนกลับบ้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางยุทธภูมิใน
การส่งเสริมอาณาบารมีแต่ละสมัยที่กษัตริย์ได้ขึ้นครองราชย์ รึไม่ก็ปราบดาภิเษก
โดยอ้างความชอบธรรมของสายโคตรตระกูลราชย์

การเสียดินแดนสมัยพญาลิไท เท่าที่ประเด็นที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านวิเคราะห์
และมีปรากฎชัดเจนตามหลักฐานศิลาจารึก(ที่พอเล่าอย่างละเอียดในหลักที่๘)
คือ การเสียดินแดนเขตขอบขัญฑสีมา อย่าง แคว้นสองแคว ส่วนบุคคลที่ยกทัพขึ้นมาตีก็มิใช่
ใครที่ไหน ซึ่งก็คือ พระเจ้าอู่ทอง หรือ พระสมเด็จพระรามาธิบดีปฐมกษัตริย์
แห่งกรุงศรีอยุธยา เหตุที่ยกทัพมาครองก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่า อิทธิพลที่ขยายตัว
ของพญาลิไทในเขตบริเวณแม่น้ำปากสัก จนระคายเคืองบารมีส่วนพระองค์
ตอนนั้นกองทัพอยุธยาถือเป็นทัพใหญ่ที่แข็งแกร่งแห่งยุคสมัยที่สุโขทัยไม่อาจเทียบได้
เมื่อยึดได้ยังโปรดให้"ขุนหลวงพ่องั่ว"
ซึ่งก็มิใช่ใครที่ไหนเพราะขุนหลวงพ่องั่วก็เป็นสถานะเป็นเขยทั้งสองฝ่าย ร่วมครอง
เมืองสองแคว แม้ว่าเดิมขุนหลวงพ่องั่วยังเป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรีอยู่ก็ตาม
ถือเป็นการกำราบอิทธิพลพญาลิไทอย่างชะงักจนแทบหมดทางสู้ได้ ทางเดียวที่
จะเรียกดินแดนกลับคืนมาได้ ก็คือ การออกบวช

อย่างที่เล่าแต่ต้น พญาลิไทเป็นกษัตริย์ที่ชาญฉลาดในการใช้ศาสนาเป็นยุทธวิธี
ผสานร่วมกับการเมือง ศรัทธาปสาทะก็ส่วนหนึ่ง เสน่ห์ทางการเมืองการปกครอง
ก็ส่วนหนึ่ง (ไม่งั้นท่านคงออกบวชถาวรอย่างที่เจ้าศรีศรัทธาลูกพี่ลูกน้องท่าน ถ้าศรัทธาจริง?)
เหตุใดเมืองสองแควจึงเป็นเมืองสำคัญในใจของพญาลิไทนั้น?........
ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ บอกเพียงว่า"เป็นเมืองสำคัญที่มั่นเขตตตอนเหนือทั้งหมด"
แต่ผมว่ามันน่าจะมีปมทางใจอะไรสักอย่างสำหรับพญาลิไท จนไปพบ
การเชื่อมโยงเมืองสองแควที่มีผลตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ พญาเลอไท ที่ศ.ดร. ประเสริฐ
ณ นคร ได้เล่าไว้ เป็นผู้ยกประเด็นนี้ขึ้นอภิปรายในการสัมมนาโบราณคดี ครั้งที่ 2
ที่จังหวัดชัยนาท เมื่อ พ.ศ.2510 โดยอ้างจารึกหลักที่ 8 ว่าพระเจ้าลิไทยประทับ
อยู่ที่สองแคว 7 ปี แต่ชื่อที่สมัยเรียกขาน หาใช่สองแคว แต่เรียกว่า"ชัยนาท"
(ชัยนาทจริงๆ แต่ไม่ใช้จังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน)โดยในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์
เรียกสองแคว ว่า ชัยนาท เหตุที่เรียกว่าสองแคว ก็มิใช่เรื่องสลับซับซ้อน
เพราะมีแม่น้ำน่านบรรจบกับแควน้อย แม้ในนิทานพระพุทธสิหิงค์ว่า
พระเจ้าลิไทยทรงนำพระพุทธสิหิงค์ไปอยู่ที่ทวิสาขะ (ซึ่งก็คือ สองแควอีกนั้นเอง)



มาเล่าเรื่องตอนบวชดีกว่า มิใช่ว่าจะมาบวชสามวันเจ็ดวัน สึกแล้วรับเมืองคืน
จากการครอบครองของพระเจ้าอู่ทองเสียในทันที แต่อยู่ในภาวะเงื่อนไขที่ว่า
"ต้องประทับเมืองสองแควถึง๗ปี"
ครับ๗ปี ถ้านักเลือกตั้งก็ประมาณ๒สมัย......แต่สุดท้ายพระองค์ได้ยอมรับคำมั่นสัญญา
จากเงื่อนไขแสนเขี้ยวของพระเจ้าอู่ทอง หลังจากฝากฝังเมืองสุโขทัยไว้แก่คนข้างหลังปกครองชั่วคราว
โดยเลือกคนที่ไว้ใจได้ เรื่องนี้นักวิชาการกรมศิลปากรอย่างพิเศษ เจียจันทร์พงษ์
วิเคราะห์ว่า"เพื่อใช้ความเป็นภิกษุมาต่อรองทางการเมือง ขอบิณฑบาตเมืองสองแควคืน
โดยฝ่ายกรุงศรีฯต้องการควบคุมแลทำลายบุคคลิภาพของพญาลิไท"แล้วก็ได้คืนมาจริงๆด้วย..........
แต่มุมนี้ผมคิดเอาเองว่า อย่างน้อยที่สุดช่วงที่ท่านประจำอยู่ที่เมืองสองแคว
เท่ากับว่า พระองค์มั่นพระทัยได้ว่าจะมีกองทัพที่เข้มแข็งอย่างอยุธยาคอย
ช่วยปกป้อง คุ้มภัยราชอาณาจักรสุโขทัยท่ามกลางความผันแปรทางการเมือง
ทั้งจากภายในและภายนอกบางทีช่วงที่ประทับอย่างสงบพระองค์อาจ
ต้องการศึกษาธรรมศรัทธาจากพุทธศาสนา หลังจากที่พระองค์
เป็นเจ้าเมืองสุโขทัยทำการกำราบอริราชศัตรูจากเมืองใหญ่น้อย
ฆ่าฟันผู้คนไปจำนวนมาก

โดยเรื่องพิธีการบวช เชื่อว่าพญาลิไทผนวกกับเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ อำนาจพิเศษที่เหนือ
กว่าฐานอำนาจกองทัพที่ไม่อาจพึ่งพาได้ ในสมัยครั้งที่บวชแรกๆ ได้นิมนต์พระมหาสามี
สังฆราช "ผู้มีศีลาจารและรู้พระไตรปิฎก" จากนครพัน(มอญ) จำพรรษาที่เมืองสุโขทัย
ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงเล่าว่า" พระยาศรีสุริยพงศ์ธรรมราชาธิราชออกบวชและแผ่นดิน
ป่ามะม่วงนี้ไหว" อันนี้จริงรึไม่?ไม่อาจทราบได้ รู้แต่ว่าเป็นการประกาศบารมีเทวานุภาพ
บนผืนแผ่นดินสุโขทัย ในขณะที่พระองค์ยังเป็นเพียงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองคู่ขนาน
ชั้นรอง ดังนั้นจึงไม่แปลกหากพระองค์ยังเชื่อว่าฤทธิ์บารมีจากการบวชจะเป็นอีกหนทางออก
อันสันติในการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องส่วนตัวและบ้านเมืองได้

เรื่องที่เล่าถือเป็นการสร้างธรรมเนียมใหม่ ในการเรียกร้องดินแดนคืนจากอภิสิทธิ์ที่เคยปกครอง
ด้วยวิธีทางธรรมเนียมในแบบแผนทางศาสนาที่ทั้งสองแว่นแคว้นต่างก็ศรัทธาและเป็น
ศาสนูปถัมภกในฐานะธรรมิกราช เรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมนี้ ยังสืบทอดปรากฎ
ในสมัยพระบรมไตรโลกนารถที่ทรงบวชขอเมืองศรีสัชนาลัยจากพระเจ้าติโลกราช ถึงขั้นพระเจ้า
ติโลกราช"ไม่ยอมใส่บาตร" ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าผิดธรรมเนียมพอสมควร เรื่องแบบนี้ไม่ต้องไป
ขึ้นศาลโลก(International Court of Justice)ที่กรุงเฮกให้ไกลกรุงสยาม เพราะของอย่างนี้สมัยก่อน
ปีพ.ศ.๒๐๐๐ เขาจับเข่าคุยกันก็รู้เรื่องแล้วครับ.............


Create Date : 31 สิงหาคม 2551
Last Update : 31 สิงหาคม 2551 17:48:25 น. 1 comments
Counter : 1322 Pageviews.

 
ท่านใดมีรูปพ่อพญาลิไทช่วยส่งให้ดูที่ ขอบคุณมากๆ


โดย: ตั๋วเจ้ ราชบุรี IP: 125.27.182.51 วันที่: 13 กรกฎาคม 2555 เวลา:12:21:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.