A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
ชุมชนในจินตกรรม หนังสือที่คนคลั่งชาติควรอ่าน





รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอมรับว่าอ่านหัวข้อข่าวการเมืองอย่าง "ฉับผ่าน"
จากเดิมปกติแล้วก็แทบอ่านหัวข้อข่าวการเมือง "ผ่านๆ" เพื่อไม่ให้ตกเนื้อหาสาระประเทศชาติ
แล้วไปให้เวลากับการอ่านพวกข่าวบันเทิงและกีฬา ตามประสาบริโภคข่าวประโลมใจ
แต่ก็อดมิได้ ที่จะต้องแวะเกี่ยวสิ่งที่กำลังเป็นข้อพิพากระหว่างสองประเทศ
ที่โดยส่วนใหญ่จะออกไปในเชิงความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง มากกว่าจะเป็นเนือ้หาหลักๆ
ในสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ หนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่อง "ชาตินิยม"




คำว่า "ชาตินิยม" นี้ ผมได้ยินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
ประมาณว่า ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีก็มีการรณรงค์ให้ซื้อของภายในประเทศ
ฝากตังค์ในกระปุกออมสิน ก็ต้องเป็นแบงค์ของคนไทย เมือ่ก่อนทีมสโมสรบอลไทยจะจัดเตะ
นับหัวกองเชียร์ยังน้อยกว่าผู้เล่นในสนาม ก็ยังถูกรณรงค์ให้ช่วยดูบอลไทยกัน
หันไปดูนางงามจักรวาล ก็ยังถูกบังคับมิให้โอนเอียงส่งแรงใจไปให้นางงามเวเนซูเอล่า
เพียงเพราะว่าหล่อนไม่ใช่คนไทย แม้ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยถูกคุณตำรวจเรียกตรวจ
ยังถูกบังคับให้ลองร้องเพลงชาติไทย เพื่อพิสูจน์ความเป็นคนต่างด้าว จนเผลอคิดไปว่า
ไอ้ชาตินิยมนี้คงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งบรรพบุรุษเราน่าจะปลูกฝังมาดี
จนมาทราบภายหลังว่า ไอ้ลัทธิชาตินิยมนี้มีมาไม่ถึงสองร้อยปี ก็จากหนังสือที่ชื่อ่
Imagined Communities โดย อ.เบน แอนเดอร์สัน ที่ถูกแปลเป็นภาคภาษาไทยดี๊ดี
ที่ชื่อ ชุมชนจินตกรรม



ความจริงแล้ว เจ้าหนังสือชื่อ Imagined Communities ได้ยินครั้งแรก
จากลิสต์รายชื่อหนังสือที่ควรจะอ่านเพิ่มเติม (แต่ไม่เคยทำตามสักครั้ง) สมัยที่ยังมีการศึกษา
ประมาณว่า เฮ้ย! วิชาโน่นก็แนะให้อ่าน ย้ายมาเรียนวิชานี้ก็ยังสะเออให้อ่านต่อเพิ่ม
แอบไปเรียนในวิชาที่ไม่ได้ลงเรียน เพราะตั้งใจจะหลี๋น้องปีหนึ่ง ก็ยังแอบเห็นรายชื่อหนังสือเล่มนี้
ในฐานที่ควรอ่านเพื่ออ้างอิง มันจึงเป็นงานเทวบัญชา ที่อาจารย์คนไหนได้อ้างอิงไว้
ก็ทำให้วิชานั้นๆ แลดูศักดิ์สิทธิ์โดยปริยาย แม้จะไม่รู้ความหมายภายในของมันว่าหมายถึงอะไร
ถ้าไม่อ่านมันจะตายหรือหายโง่ไหม แต่แปลเอาตามรูปศัพท์คงน่าจะประมาณตามหลักธรรมพุทธเจ้า
ในหลักที่ว่า สรรพสิ่งของผ่องโลกนั้น ประกอบไปด้วย "สมมติ" สองประการ มี
สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถ์สัจจะ
ดังนั้น Imagined Communities ก็น่าจะเป็นเรื่องลวงๆ ให้เชื่อว่า การเมืองเป็นเรือ่งไม่จริง
ว่าแล้วก็สาธุดังๆ หลังจากบรรลุธรรมจากตามลัทธิคิดเอาเองของตัว





แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่! เมือ่ได้มาอ่านการรวบยอดคร่าวๆ จากการแปลของ อ.เกษียร เตชะพีระ
ศิษย์คนหนึ่งทีเคยได้ประสิทธิ์ประสาทวิชากับอ.เบน ในนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับต้นๆ
มีความยาวประมาณสิบหน้า ตอนนั้นยังคงใช้ชื่อ "ชุมชนในจินตนาการ"
ว่าด้วยเรือ่งกระบวนการของลำดับภาพของการลัทธิเกิดชาตินิยม ว่ามันมีช่วงเวลา พัฒนาการของ
เครือ่งไม้เครื่องมือ การบรรจบลงตัวอย่างไร ถึงมีหน้าตาของชาตินิยมที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้
แต่เอาเข้าจริงพอถูกถามว่า "ชาติ" มีหน้าตาอย่างไร เออ! ก็ตอบไม่ได้ด้วยสิ กลายเป็นเรื่องสำนึกรู้
ไปโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งได้รู้ข่าวประชาสัมพันธ์การเปิดตัวหนังสือฉบับภาษาไทย
ที่จัดขึ้นที่ ตึกคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ท่าพระจัน ที่ว่าจะไปแต่ลืม ทำให้อดลิ้มรสบรรยากาศ
โหมโรงดนตรีมอญสด และเหล่าลูกศิษย์อ.เบน ที่จะแห่มาปาฐกถาร่วมกันมากมาย
แถมยังมีของว่าง-กาแฟฟรีไว้ให้ทานอีก





เอาเข้าจริงพอได้เห็นรูปเล่มของจริง จากร้านหนังสือนายอินทร์แห่งหนึ่ง (ติหน่อยเถอะ
จะขายหนังสือแต่เอาพลาสติกคลุมโป่ง แล้วจะตรวจสอบคุณภาพภายในได้อย่างไรอะ เรียกเด็ก
มาช่วยเปิด แล้วสมมติว่าไม่ซื้อ เด็กในร้านก็ทำหน้าเป็นตูดเข้าใส่)
เกิดอาการไม่อยากได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพราะหน้าปกไม่งามตาชวนเป็นของขลังประจำชั้นส่วนตัว
ด้วยเป็นรูปชายกระทาหนึ่งบิดตัวเอาทางซ้าย โดยมีมือข้างซ้ายปิดหน้าตัวเอง
เนือ่งจากมีแสงประหลาดส่องสาดใส่หน้า ไอ้เราก็ยืนดูประมาณนาทีกว่า
ไม่เข้าใจคอปเซ็ปต์Abstract ของผู้ออกแบบเลย เลยเอาไปว่างกลับคืนที่ชั้นวางขาย
จากนั้นก็ตีจากไปหานิตยสารดาราเกาหลีอ่านเข้าใจง่ายกว่าเยอะ
อีกอย่างไม่ชอบใจคำแปลหนังสือที่ว่า "ชุมชนจินตกรรม" มากกว่าชื่อเดิมที่เคยเรียกว่า
"ชุมชนในจินตนาการ" แม้อ.ธงชัย วินิจฉัยกุล จะช่วยแก้ต่างให้ว่า
"IC แสดงชัดอยู่แล้วว่าเป็น ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมมากยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ความคิด
การใช้คำว่า “จินตกรรม” ในฉบับภาษาไทยจึงเป็นการทดลองที่น่าสนับสนุน
เพื่อพยายามให้มีนัยต่างไปจาก “จินตนาการ” ตามที่เข้าใจกันปกติ
และมีนัยถึงชุมชนที่ถูกภาษาสร้างขึ้นมาจนเป็นความจริงในชีวิตเรา ไม่ใช่อยู่แค่ในจินตนาการ"



แต่ไม่รู้หนอนหนังสือท่านใด เป็นเหมือนกับข้าพเจ้ารึเปล่า?
ที่เหมือนจะตัดใจไม่ซื้อแต่ในใจยังอาวรณ์ ประมาณว่าจะไม่ซื้อแต่ขอให้ได้เห็นมันยังคงอยู่บนชั้น
จับสัมผัสมันดูพลิกเข้าหงายออก แล้วก็เดินจากไปเหมือนเคย พอมาอีกครั้งก็ยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ซ้ำๆ
ถึงเข้าใจว่า อาการที่ชาวบ้านมักพูดว่า ตายห่าตายโหงมันเป็นอย่างไร?
สุดท้าย...........อาการเช่นนี้ก็หายชงัด เมื่อได้ครอบครองหนังสือเล่มนี้อย่างสมบูรณ์
ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เมื่อต้นปี ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะถ้าเผลอไปซื้อตามร้านค้าทั่วไป
สิ่งที่คุณจะไม่ได้ คือ ส่วนลดเกือบตั้งร้อยหนึ่งแนะ และไหนจะมี
หนังสือคู่มือประกอบงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ หนา ๕๐ หน้า
ว่าด้วยปัญหาและอุปสรรคของหนังสือเล่มนี้ เมื่อถูกพิมพ์แปลเผยแพร่ในแต่ละประเทศ
จากใจเจ้าของผลงาน คือ อ.เบน เอง อันเป็นการตัดตอนจากบทที่สิบสอง Travel and Traffic ทั้งบท
เข้าใจว่าทำมาพิมพ์แจกไม่หมดในงาน ก็เลยถูกยกประโยชน์ให้กับจำเลยอย่างผมไป
ในฉบับแจก แกก็ใส่ความในใจอย่างตรงไปตรงมา อย่างในฉบับแปลไทย แกก็ว่าไปตรงๆว่า
แบบที่ผมก็จะไม่เคยเจอ งานแปลชิ้นไหนที่เจ้าของผลงานกล้าวิจารณ์งานถูกแปลของตัวเองเท่า

"IC เป็นไทยแบบกษัตริยนิยมอยู่นั้น ผู้เขียนจึงตัดสินใจที่จะเป็นผู้ทรยศต่อต้นฉบับในการแปลเสียเอง
IC มิใช่หนังสือของผู้เขียนอีกต่อไปแล้ว"





ถ้าถามว่าเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ คืออะไร
อย่างแรก คือ ความขลังในฐานะที่ถ้าใครเผลอเรียนวิชาในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
แล้วไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เท่ากับขาดความเข้าใจตัวแปรขนานใหญ่ไปตัวหนึ่ง เวลาที่จะมองเห็น
ภาพกว้างอะไรสักอย่าง จะทำให้เข้าใจได้ไม่เต็มที่ และอาจกลายเป็นเครื่องมือของความคิดแบบติ๊งต่าง
แทนที่จะใช้เครื่องมือตัวนี้ เพื่อให้เกิดความผาสุกและอย่างมีประสิทธิผล ภายใต้สำนึกของความรักชาติ
ที่มิใช่การเลยเส้นขอบของความ "คลั่งชาติ" ไป




อย่างที่สอง คือ ความอัจฉริยะของอ.เบน ที่มีภูมิธรรมในด้านประวัติศาสตร์การเมืองทั่วโลก
ตั้งแต่อเมริกาถิ่นอาศัยไปจนรัฐเล็กๆอย่างวาติกัน ส่วนใหญ่คนอ่านจะได้ประโยชน์จากการยกตัวอย่าง
ทางประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของแต่ละประเทศ มองให้เห็นภาพมากกว่ายกกรอบทฤษฎีแห้งๆไร้จิตใจ
อ.เบนแกมีลูกศิษย์ลูกหาเกือบทุกประเทศในโลก ด้วยเป็นอ.ที่ขึ้นชื่อแห่ง มหาลัยคอลแนล
เป็นคนสนใจศึกษาทั้งภาษาท้องถิ่น ภาษาพื้นเมือง แม้แต่ภาษาไทยก็เหอะ
ในหนังสือแกยังเซ็นชื่อแกเป็นพยัญชนะไทย (แม้จะดูเป็นหัดเขียน)
อีกทั้งยังสะท้อนงานวรรณกรรม ร้อยกรอง ในฐานะเครื่องมือวิเคราะห์เรื่องชาตินิยม
โดยถอดความมาจากต้นฉบับเจ้าของปรเะเทศนั้น ไม่ต้องรั้งรอให้คนในชาตินั้นๆแปลเป็นอังกฤษให้เสียเวลา
โดยเฉพาะตัวอย่างในเรื่องประเทศไทย มีให้อ่านอย่างจุใจในบทที่หก ว่าด้วย
ลัทธิชาตินิยมทางการกับลัทธิจักรวรรดินิยม อันเป็นการเปิดศักราชลัทธิชาตินิยมในไทย
ให้ถึงบางอ้อว่า มันเป็นอย่างงี้นี้เอง (ถึงแม้จะดูน้อยกว่าเรื่องอินโดนีเซียนักก็ตาม)
และจะได้รู้ว่าชาตินิยมในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
อย่างเขมร เขาก็มีความเป็นมาเป็นไป ไม่ด้วยเพียงแค่น้ำมือปู่ฮุนเซนผุดให้เกิด
แต่เกิดจากเจ้าพวกล่าเมืองขึ้นที่ปั่นหัวให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อรักษาดุลแห่งอำนาจจนลามปามไปกันใหญ่
เรือ่งนี้มันต้องสืบไปตั้งแต่ยุคเขมรสามฝ่าย พอได้อ่านก็บางอ้อไปอีก Next Station



อย่างที่สาม คือ ความเป็นเอกภาพในงานแปล เพราะแทนที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่ง
รับผิดชอบในส่วนของงานแปลในตลอดทั้งเล่ม อันอาจจะทำให้ความใส่ใจในรายละเอียดและการขัดเกลา
ในงานศิลป์ทางภาษา ไม่ใกล้เคียงกับเจตจำนงของเจ้าของผลงาน จึงเป็นการหามระดมพลนักแปลระดับ
นักวิชาการ-อาจารย์มหาลัย ที่เคยได้รับอิทธพลจากหนังสือเล่มนี้มาก่อนแล้ว มาช่วยกันแปลบทต่อบท
อาทิ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วีระ สมบูรณ์ ทรงยศ แววหงษ์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ เป็นต้น
ถือเป็นหนังสือที่ใช่ทีมแปลเยอะมากถึง ๙ ชีวิต ถึงกระนั้นก็ยังไม่สร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของผลงานอยู่ดี
ด้วยติดกรอบเงื่อนไขพิเศษทางสังคมเฉพาะ อันมีสถาบันกษัตริย์ทรงเป็นที่เทิดทูนเหนือเกล้า





ถ้าใครได้หนังสือนี้ครอบครอง จะเห็นถึงความตั้งใจในกระบวนการจัดทำ
โดยมี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นแม่ใหญ่บรรณาธิการแปล ในฐานะศิษย์คนหนึ่งของอ.เบน
เพราะได้ให้รายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ไว้เพียบ ทั้ง ความรู้สึกของอ.เบน
ต่อการรับรู้งานแปลของหนังสือฉบับภาษาไทยเล่มนี้ หน้าปกหนังสือเล่มนี้ในประเทศ ๓๖ ประเทศ
๓๑ ภาษา ตารางประวัติการพิมพ์ พิมพ์ปีไหน ในประเทศอะไร สำนักพิมพ์ไหนเป็นผู้พิมพ์
ยัตถากรรมหลังจากพิมพ์หนังสือเล่มนี้สู่ผลทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ
และรู้อยู่ว่าจะต้องถูกใช้เป็นหนังสือใช้อ้างอิงในอนาคต ก็สร้างหมวดดัชนีศัพท์บุคคลภาคภาษาไทย
อำนวยความสะดวกแก่ผู้ไม่อยากอ่านแต่อยากอ้างให้ดูขลัง
แต่เห็นทำมาดีอย่างนี้ อย่านึกว่ามันจะขายดีเสียละ
เพราะในพิมพ์ครั้งแรกเอง ทางสนพ.มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ยังต้องจำกัดการพิมพ์จำหน่ายไว้ที่ ๒,๐๐๐ เล่ม แต่ในอีกสองเดือนก็เพิ่มยอดให้ตรงกับค่าเฉลี่ยปกติ
อีก ๑,๐๐๐ เพื่อให้ได้ครบในการพิมพ์ที่ ๓,๐๐๐ เล่ม อันเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีครั้งสามในเร็ววันนี้





ถึงกระนั้นก็เป็นงานที่ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา จากโควต้าคนนอก
ผมอาจจะขืนใจให้เป็นหนังสือที่บังคับขืนใจให้เรียน เพราะได้เห็นปัญหาในเรื่องความคลั่งชาติ
อันถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยขาดสติและแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ นับแต่ยังใช้โทรศัพท์บ้านจนล่วงเข้า
ยุคเทคโนโลยีสามจี ปลุกปั่นเมื่อไรเรตติ้งรัฐบาลไหนๆ ก็ดีขึ้นทุกครั้ง แต่ผลพวงที่ตามมา
มักจะหนักหนาและใช้เวลาแก้ไขอคติภายในใจได้ยากทุกครั้ง เหมือนกับที่หน้าบทนำ
จะเสนอความจริงที่เป็นคล้ายกับกลลวงของลัทธิชาตินิยมที่ว่า

"ชาติถูกจินตกรรมขึ้นมาอย่างมี ขอบเขต Limited แม้จะเป็นชาติที่ใหญ่โต
มีประชากรกว่าพันล้าน ชาติถูกจินตกรรมขึ้นให้มี อธิปไตย Sovereign
แม้แต่สานุศิษย์ผู้เคร่งครัดของศาสนาใดใด ต้องจำยอมเผขิญ กับข้อเท็ขจริงที่ว่ามีอนุศาสนามากมาย
ชาติถูกจินตกรรมขึ้นเป็นชุมชน comminity เพราะถูกโดนใจว่าเป็นภราดรภาพอันลึกซึ้งและเป็น
แนวระนาบเดียวกัน แม้ว่าจะมีความไม่เสมอภาค มีการกดขี่ขูดรีดดำรงอยู่ในแต่ละชาตินั้นก็ตาม" ........




ขอ้มูลจาก
บรรยากาศการเปิดตัวหนังสือ ใน //www.bioscopemagazine.com
ความรู้สึกต่อหนังสือเล่มนี้ โดย
สอนหนังสือชุมชนจินตกรรมของครูเบ็น ๑-๔ โดย เกษียร เตชะพีระ
Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น”
ธงชัย วินิจจะกูล ใน นิตยสาร อ่าน





Create Date : 14 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2552 18:13:09 น. 5 comments
Counter : 2730 Pageviews.

 
ปกไม่ชวนอ่านอย่างแรง...เนื้อหาก็ออกจะหนักไป สำหรับคนที่ชอบจินตนาการเพ้อฝันแบบเรา
แต่หากพิจารณาในแง่การเรียนรู้ และการวิเคราะห์สถานการณ์
ก็เป็นหนังสือที่ควรอ่านอย่างยิ่ง

สำหรับข้อความนี้
"แต่ไม่รู้หนอนหนังสือท่านใด เป็นเหมือนกับข้าพเจ้ารึเปล่า?
ที่เหมือนจะตัดใจไม่ซื้อแต่ในใจยังอาวรณ์ ประมาณว่าจะไม่ซื้อแต่ขอให้ได้เห็นมันยังคงอยู่บนชั้น
จับสัมผัสมันดูพลิกเข้าหงายออก แล้วก็เดินจากไปเหมือนเคย พอมาอีกครั้งก็ยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ซ้ำๆ"

เราก็เป็นล่ะ ... คือรู้อยู่แก่ใจตัวเองว่า น่าอ่าน ควรอ่าน อยากอ่าน
แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจซื้อทันทีทันใด
เพราะปก เพราะราคา
แต่แล้วในที่สุด..ก็ต้องซื้อมาดองไว้บนหิ้ง...
เมื่อถึงวันนึง...ที่เหมาะสม ...ก็คงได้อ่านเอง


โดย: นัทธ์ วันที่: 15 พฤศจิกายน 2552 เวลา:9:40:18 น.  

 
เห็นหนังสือชวนเร้าใจกับเพลงอีก โต๊ตบิดรข้าน้อยมีแต่หนังสือแบบนี้

ไม่มีอะไรอ่านกะต้องอ่าน เคยแอบแหวะเล็กน้อย อ่านอ่านไปมันกะซึมเข้าหมอง ยังเอ๋อเหมือนเดิม

หุหุพูดถึงสมัยเรียน เห็นแอบไปหลีน้องปีหนึ่งจี้ดี ฉานกะเหมือนกานน กิ๊ดรุ่นพี่นักกีฬาไปเป็นฝูง แมร่งไปเรียนอะไรกะแอบไปเรียนตามเค้าด้วย อุ๊ยอุ๊ย เค้าเกาหัวแหละ โหพี่เค้าไอยังแมนเลยวะ เฮ๊ย พี่เค้าหมุนปากกาเท่ห์โคตรโคตร

โอโซนการเมืองเคียดพอแหล่ว ล ขอชิลบ้างเหอะ


โดย: Bernadette IP: 58.8.46.34 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2552 เวลา:23:44:08 น.  

 
GlitterFly.com - Customize and Share your images
แวะมาทักทายยามดึกค่ะคุณChanpanakrit มีความสุขนะคะ


โดย: เกศสุริยง วันที่: 16 พฤศจิกายน 2552 เวลา:21:46:43 น.  

 
พอดีมีคำถามอะครับ แต่ก่อนจะถามขอแนะนำตัวก่อนละกันเนาะ (ตามแบบฉบับนเรียนสายสังคมมาด้วยกัน) ผมชัยยันต์ครับ จบรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รามคำแหง
คำถามก็ไม่มีไรอะครับ (ไร้สาระรึเปล่าไม่รู้นะ) แต่ตอนนี้ IC ของผมเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 จากประสบการณ์การเรียนสายนี้มา พวกหนังสือที่มันเสี่ยงๆหน่อยๆเนี่ย พิมพ์แต่ละครั้งเนื้อหามักจะไม่ค่อยเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ได้ยินมานานแล้วคับ แต่เพิ่งมาซื้อเมื่อไม่นานมานี้ อาการเหมือนท่านเป้ะเรย เดินวนไปวนมาอยุ่นั่นแหละ แล้วเหมือนผมคิดผิดอะ ไม่ใช่ว่าเนื้อหามันไม่ดีนะครับ แต่รู้สึกว่าอ่านเล่มแปลไทยไม่รู้เรื่อง (เข้าใจนะว่าอาจารย์แต่ละท่านที่แปลอะเก่ง แต่เหมือนแปลเป็นตัวๆอะ) รู้งี้บวกตังอีกนิดซื้อ Text ดีกว่า ที่นี้ประเด็นก็คือผมจะโรคจิตซื้อ Text มาอีกเล่ม เพราะเล่มไทยอ่านแล้วงง จะหลับ ยังอ่านไม่จบเรย ที่นี้ผมอยากถามว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก กับครั้งที่สองของไทยมันต่างกันมั้ยครับ หรือแม้แต่ตัว Text เองก็มีฉบับดั้งเดิม กับ New Edition มันต่างันมั้ยครับ จะได้เลือกหาซื้อหรือสั่งได้ถูก แล้วผมควรจะเก็บอันไหนมากกว่ากัน แล้วตามที่ท่านบอกว่ามันมีหนังสือแนบเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ มันคือไรอะคับ ผมไม่มีอะ แต่อยากได้ แหะๆ
ก็ประมาณนี้แหละครับ แอดเอ็มคุยกันได้นะครับ trumpmania.s@hotmail.com ขอบคุณครับ


โดย: SHANEY IP: 125.24.200.184 วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:47:49 น.  

 
กำลังเรียนเรื่อง ชุมชนจินตกรรมเนี่ยค่ะ อ่านแล้วไม่เข้าใจเลยงงมาก อ่านไม่รู้เรื่อง อ่านไป 2 รอบแล้ว ก็ไม่เข้าใจ ทำไงดี ใครช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยนะคะ


โดย: ก้อย IP: 110.164.220.192 วันที่: 18 สิงหาคม 2553 เวลา:20:37:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.