A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

บิดาพระนเรศวร ผู้ทวงศักดิ์ศรีสุโขทัยในยุคอยุธยา



เขียนจุดจบของกรุงสุโขทัยครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมเองจะเลิกเขียนเรื่อง
สุโขทัยไปตลอดกาล เรื่องสุโขทัยในฐานะราชธานีหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองไทย
มันมีแง่มุมให้ได้ทบทวน ขบคิดและแสวงหาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น (แม้เรื่องจะอยู่ในยุค
รุ่งเรืองของกรุงศรอยุธยาก็ตาม) แต่อุทาหรณ์ในทุกๆเรื่อง
ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ คือ ตั้งอยู่ เกิดขึ้น และดับไป (ธรรมะดีไหมครับ?)
ไม่ว่าปิรมิดของตุตันคาเมร์ ราชวงศ์จักรพรรดิ์ของจีน ปราสาทนครวัด สวน
ลอยบาบิโลน ตลอดจนอาณาจักรอินคา ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่อลังการ์ปานใด
กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรมข้อนี้ที่ดีพอๆกับชีวิตของเรามีขึ้นก็ย่อมมีลง
(ผมจึงคาดหวังขาขึ้นของตัวเองเสมอ-(แต่เมื่อไรมันจะมาฟะ?)

ข้อสันนิษฐานนี้สืบเนื่องจากการศึกษางานของท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนงาน
ประวัติศาสตร์ชวนอึ้งกิมกี้เสมอมา ผ่านการย่นย่อให้พอดีคำพอป้อนท่านผู้อ่าน
บล็อกให้อ้าปากหาวให้น้อยคำที่สุด ต้องเริ่มลำดับความเปลี่ยนแปลงภายในสาย
การปกครองของอาณาจักรอยุธยาเสียก่อน นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ติดตามด้วยพระโอรสของพระองค์อย่าง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๓และสมเด็จพระรามา
ธิบดีที่๒ ครองราชย์ต่อกันมา รูปแบบการรวมอำนาจอยุธยาเข้าสู่ศูนย์กลาง มีผลกระทบ
ต่อบรรดาเมืองต่างๆที่ล้อมรอบกรุงศรีอยุธยา และเมืองหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือ กรุงสุโขทัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (ที่เล่นโดยพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ในสมเด็จศรีสุริโยทัย-จำได้ไหม?) ครองเมืองพิษณุโลกในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี๒
(เหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้นเป็นช่วงสมัยที่ราชอาณาจักรอโยธยา
์มีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ถึง 2 พระองค์ หนึ่ง์นั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งทรงครองราชย์
อยู่ยังราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร
ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดีทรงพระนามว่าพระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพระพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสืบสายสันตติวงศ์มาแต่วงศ์สุพรรณภูมิ)



ชื่อของสมเด็จพระชัยราชาธิราชถือเป็นนักรบที่เก่งกาจและเฉียบขาด ปราบดาภิเษกโดยกำจัด
เครือญาติเดียวกันขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยารวมอำนาจจากเชิงระบบมาสู่ตัวบุคคล
สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ในรัชกาลของพระองค์ได้ทรงทำศึกมีชัย
เหนือพม่าที่เมืองเชียงกราน อันเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาอโยธยาด้านฝั่งตะวันตก
พระองค์ยังทรงนำทัพขึ้นไปรบถึงเมืองเชียงใหม่ ขณะเมื่อพระองค์ทรงออกรบไปในแดนต่างๆ
นั้น จะทรงสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นที่อุปราชดูแลราชการแผ่นดินอโยธยาต่างพระเนตรพระกรรณ
เสมอมา ต่อมาพระชัยราชาธิราชทรงได้เจ้านายข้างวงศ์ ส่งผลให้เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยถูกลด
อำนาจเหลือเพียงข้าราชการสนองรับใช้กรุงศรีอยุธยา(หนึ่งในนั้นมีบิดาของพระนเรศวรรับราชการในกรุงอยุธยาด้วย)
อาการแข็งข้อจึงบังเกิดขึ้น จึงได้มีการประหารเจ้าเมืองกำแพงเพชรที่คิดแข็งข้อแต่โอกาสของพวกต่อต้านก็มาถึง เมื่อแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ขึ้นมามีอำนาจ นางก็มีความคิดไม่ต่างจากพระสวามี ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ชอบการรวมอำนาจของ
สมเด็จพระชัยราชาธิราชจึงเห็นโอกาสสว่างในการเปลี่ยนผ่านของผู้ปกครองครั้งนี้
(เป็นการตีความอีกแขนงหนึ่งที่มองแม่อยู่ศรีสุดาจันทร์คือเหยื่อทางการเมือง
โดยยกเรื่องชู้กับพันบุตรศรีเทพผู้เป็นบุตรเจ้าเมืองศรีเทพ
ซึ่งเป็นเจ้านายสายอู่ทอง ภายหลังได้รับอวยยศขึ้นเป็นขุนชินราช
สาเหตุที่พระชัยราชาธิราชสวรรคตนั้น ไม่น่าเชื่อตามเหตุผลของปินโตโปจุเกตุที่ว่า พระชัยราชาธิราช เสด็จถึงพระนครแล้วจึงสวรรคต เพราะถูกนางพญาเอายาพิษเจือลงในน้ำนมโคให้เสวย
แต่น่าเชื่อตามพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มและพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา ที่ว่าพระชัยราชาธิราชเสด็จกลับจากการขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่๒
และประชวรเป็นปัจจุบันสวรรคตกลางทาง)

หนึ่งในคณะผู้ก่อการครั้งนั้น มี"ขุนพิเรนทรเทพ" เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่ง ขุนพิเรนทรเทพเป็นใคร?
ถ้ารู้จักสมเด็จพระนเรศวร เขาคนนี้คือ พระบิดาของสมเด็จพระนเรศวรนี้เอง คนผู้นี้มีเชื้อสายฝ่ายสุโขทัยในพระราชหัตถเลขามีตอนหนึ่งบอกประวัติความเป็นมาอย่างชัดเจนว่า
"ตรัสว่าขุนพิเราทรเทพเล่า บิดาเป็นราชวงศ์พระร่วง มารดาไซร้เป็นพระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า ขุนพิเรนทรเทพปฐมคิด เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าให้รับพระบัณฑูรครองเมืองพระพิษณุโลก"

การก่อการครั้งนั้นจนท้ายที่สุดสามารถเหนี่ยวรั้งให้ขุนพิเรนทรเทพรวมกำลังพลฝ่ายเหนือ
สมทบกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการและหลวงศรียศโค่นอำนาจขุนวรวงศาลงได้สำเร็จ
คณะผู้ก่อการได้ร่วมกันสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยาเถลิงพระนามสมเด็จ
พระมหาจักรพรรดิเป็นเหตุให้อำนาจหวนกลับมาตกอยู่ในมือเจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกครั้งหนึ่ง

ทำให้ขุนพิเรนทรเทพ เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้เป็นเจ้าเมืองพิษณูโลก
ครองศูนย์อำนาจดินแดนแคว้นสุโขทัย ได้ชื่อทางตำแหน่งว่า"สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า" ชื่อนี้มีฐานที่ใกล้เคียงกับ"สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงสุโขทัยโบราณ
การกลับมาปกครองเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองศูนย์กลางของสุโขทัย ทำท่าว่า สุโขทัยจะกลับมารุ่งเรื่องยิ่งใหญ่แข่งบารมีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง อีกไม่กี่สิบปีต่อมา เมื่อสุดท้ายบุตรชายผู้กลับมาจากเมืองหงสา

หลังไปเป็นตัวประกันวัดใจความซื่อสัตย์และเป็นธรรมเนียมในการรบโบราณ ที่ชื่อ พระนเรศวร กลับทำให้กรุงสุโขทัยลดคุณค่าในแง่เมืองบารมีอย่างสุโขทัยให้อ่อนลงและดับไปในที่สุด ส่วนพระองค์จะมีนโยบายใดที่กระทบต่ออนาคตของกรุงสุโขทัยค่อยมาว่ากันอีกที.......................


ข้อมูลจาก//ecurriculum.mv.ac.th/social/library/rakbankerd/index.html
//entertainment.hunsa.com/movie_detail.php?id=66

ภาพจาก //www.flickr.com/photos/rodel_miguel/1657232812/
//www.hunsa.com




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2551    
Last Update : 3 มิถุนายน 2551 23:02:45 น.
Counter : 7058 Pageviews.  

คำว่า"คนไทยด้วยกัน"คงยังไม่พอ?



ช่วงนี้ถ้าผมเองจะข้ามเรื่องทางการเมืองและเหตุการณ์ของบ้านเมือง
ไปเสียบ้าง คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปรากฎกับคนกรุงอีกหลายคนที่ผม
ได้สอดส่องสังเกตุและซักถามจากคนแวดล้อม ด้วยหน้าสื่อสิ่งพิมพ์
ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องของความขัดแย้ง ปะทะ และสถานการณ์ที่
ทำให้เราเองรู้สึกไม่สบายใจที่ได้ยิน เห็นและรับฟัง ผมเองคิดว่าเรา
เองควรมีพื้นที่สื่อในส่วนอื่นสำหรับเรื่องที่น่าเป็นข่าวที่ไม่ได้เป็นข่าว
(แม้ว่าวันนี้ผมเองจะไปสะพานมัฆวาน เนื่องด้วยเพื่อนสนิทไหว้วาน
ให้เป็นเป็นพันธมิตรยามจำเป็น ประสาคนเคยมีบุญคุณกัน)


ประโยคหนึ่งที่ผมมักได้ยินในยามที่สังคมไทยเกิดการปะทะทาง
ความคิดและข้อคิดเห็นอย่างรุนแรง ก็คือ"อย่างไรก็คนไทยด้วยกัน"
ผมเองรู้สึกว่าเจ้าประโยคนี้น่าจะเป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นมา
ได้ไม่นานเกินร้อยปี (อย่างน้อยๆคำว่าประเทศไทยก็เพิ่งมีสมัย
จอมพล ป.ไม่กี่สิบปีนัก) เพราะในฐานะที่เป็นติด ร. วิชาประวัติศาตร์
มาหลายสิบปี (เรียนอย่างไรก็ไม่รู้จักเสียที) ความขัดแย้งด้วยกันเอง
ภายใน น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญมากเสียกว่าอริราชศัตรูจากภายนอก
เพราะมันทำให้โครงสร้างที่ควรจะเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ
ง่ายต่อการสั่นครอนและมุ่งโจมตีได้อย่างไม่ยาก หากดูจะประวัติ
ของการเสียกรุงและการปรับเปลี่ยนสายราชวงศ์ขึ้นปกครอง ก็ล้วน
เกิดจากการแย่งชิงและขัดแย้งด้วยกันเองมาโดยตลอด เพียงแต่จะว่า
ด้วยเรื่อง ความเชื่อทางศาสนา อำนาจจากสายต้นตระกูล ขุนนางอำมาตย์
ยุยงส่งเสริม ดังนั้นความนึกคิดที่ว่าอย่างไรก็คนบ้านเดียวกัน สำหรับผม
แทบจะกล่าวว่านี้แหละ ตัวดีเชียว! ง่ายที่จะสร้างข้อแห่งความขัดแย้ง
มากเสียกว่าคนนอกที่ยังมีขนบบางอย่างเป็นเส้นแบ่งระยะห่างของการ
สร้างความขัดแย้งที่จะโยงปัจจัยโน่นนี้นั้น เพื่อหาเรื่องของสำนึกร่วมอะไรบางอย่าง
ในการเชื่อมต่อให้ติด ซึ่งเรื่องนี้คนในด้วยกันสามารถทำได้ง่ายกว่า
(เพราะที่ผ่านมา"คนนอก"มักต้องอาจสิทธิ์อะไรบางอย่าง ที่"คนนอก"อีก
ฝ่ายไม่อาจให้ได้ ด้วยเป็นศักดิ์และเกียรติ์ของผู้ปกครอง อย่างการที่พระเจ้า
หงสาวดีมาขอช้างเผือกจากอโยธยา ซึ่งก็ไม่ต่างจากประกาศทำสงครามกลายๆ
แต่เมื่อมองสายตาจากคนนอกแล้ว ถือเป็นความชอบธรรมเนื่องด้วยการปฎิเสธ
เท่ากับการดูหมิ่นเกียรติ์ทางผู้ขอ เจ้าคำว่า"เกียรติ์"จึงเป็นเรื่องที่ดูไม่น่าเป็นเรื่อง
สำหรับสงครามความขัดแย้งทุกยุคทุกสมัย (ไม่ต่างจากสมัยนี้เช่นกัน)



อย่างกรณีความขัดแย้งของคนกันเองที่คลาสสิคที่สุดสำหรับความคิดของผม
คงจะเป็นช่วงยุคต้นของการร่วมสถาปนาอโยธยาศรีรามเทพนคร (ชื่อนี้เป็น
นามขจรขจายยุคๆที่แข่งอำนาจบารมีกับสุโขทัยศรีศัชนาลัยที่ปักหลักมั่นคงพอควร
ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ เรื่องก็มี
อยู่ด้วยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑แห่งราชวงศ์
อู่ทองกับขุนหลวงพ่องั่วแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิมีโปรเจ็คใหญ่ที่จะสถาปนากรุงใหม่
ที่ชื่อว่ากรุงศรีอยุธยา ทำไปทำมากรุงใหม่แห่งนี้กลายเป็นกรุงที่มีอนาคตอันยาวไกล
เจริญเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว อยุธยาเป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายคือแม่น้ำลพบุรี
แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งของอยุธยาจึงมีลักษณะเป็นชุมทางที่สามารถติดต่อ
เข้าไปยังแผ่นดินภายในได้หลายทิศทางให้ประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ส่งมาจากที่ต่างๆ ได้สะดวกและสามารถเป็นตลาดกลางขนาดใหญ่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับทั้งภายในทวีป
และดินแดนโพ้นทะเลได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นมามีฐานะเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครอง หรือเป็นเมืองหลวงของกรุงศรีอยุธยา จึงไม่เหมือนกับการเกิดขึ้นของเมืองเชียงใหม่และเมืองสุโขทัย เพราะทั้งสองเมืองมีลักษณะของการเป็นบ้านเมืองของผู้นำที่ค่อยๆ รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าไว้ด้วยกัน และเติบโตสร้างความเป็นปึกแผ่นของแว่นแคว้นเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดเมืองซึ่งเป็นที่ประทับของผู้นำของแว่นแคว้นก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจ
การปกครองดินแดนที่รวบรวมเข้ามาได้
ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็เป็นเมืองที่มีพื้นฐานอันเป็นเครือข่ายของเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่แต่โบราณแล้ว คือ บ้านเมืองในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูลที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบเดียวกันติดต่อไปถึงเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา
หลังจากที่พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่๑) สวรรคตเกิดความไม่พอใจขึ้น เมื่อราชโอรส
พระเจ้าอู่ทอง คือ สมเด็จพระราเมศวรสืบราชสมบัติต่อ ข้ามหน้าข้ามตาผู้ร่วมก่อตั้งแต่เริ่มอย่าง
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ ซึ่งก็คือ ขุนหลวงพ่องั่ว อีกทั้งมีศักดิ์เป็นพี่มเหสีของ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เท่ากับว่า ลุงยกกองทัพจากเมืองสุพรรณบุรีไล่หลาน (ซึ่งเป็นลูกของน้องสาว) ลงจากราชบัลลังค์ให้ไปครองเมืองลพบุรี
จากนั้นก็เหมือนคำสาป เกิดจากแย่งชิงไปมาของสองราชวงศ์อยู่หลายครั้ง
เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จจากลพบุรีเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์จากโอรสของ
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จสวรรคตแล้ว โอรสของพระองค์คือสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ได้สืบราชสมบัติต่อไป จนกระทั่งสมัยของสมเด็จนครินทราชาธราช ถือเป็นข้อยุติการแย่งชิงอย่างเด็ดขาดด้วยอำนาจของกรุงศรีอยุธยาก็ตกอยู่กับ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิสืบยาวเรื่อยมา เมื่อเนรเทศสมเด็จพระรามราชาธิราช ไปไกลถึงกัมพูชาในที่สุด


ดังนั้นการบริหารความขัดแย้ง เพียงเพราะการหยิบยกเรื่อง"เราเป็นคนไทยด้วยกัน" ในบริบท
ทางประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก ดีไม่ดียิ่งเป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ในบานปลายในที่สุด
เพราะสำนึกกับวิธีคิดที่แตกต่าง แทบจะเป็นเส้นขนานที่แบ่งตามซีกของสมองให้คิดไปคนละอย่าง
ผมยังเชื่อในเรื่องของการสร้างพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ให้ได้แสดงออกถึงปัญหาและหนทางเจรจา
กันทั้งสองฝ่าย ได้ถกเถียงและหาจุดกึ่งกลางของผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ภายใต้สันติวิธีที่มี
อารยะ การหยิบยกคำพูดหนึ่งพูดใดโดยที่ปัญหานั้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างราบรื่นน่าเป็นการย้ำ
ให้ปัญหานั้นเรื้อรังและทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เรามีประวัติศาสตร์เป็นเครื่องผูกมัดวิธีให้
มนุษย์ยังอยู่ในกรอบเดิมๆ เอาโต๊ะมากลาง เอาเก้าอี้มาตั้งแล้วพูดคุยกันไม่ดีกว่าเหรอ?




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 31 พฤษภาคม 2551 14:43:32 น.
Counter : 1491 Pageviews.  

ไม่มีนางนพมาศ แต่บนเวทียังมีนางนพมาศ





กระแสภาวะโลกร้อน กลายเป็นสิ่งนิยมปานประหนึ่งเป็นสิ่งที่ใครตระหนัก
คิดก็กลายเป็นคนทันยุคทันสมัย แม้ฝนที่ตกหนักในช่วงนี้ ยังมีคลื่นวิทยุ
คลื่นหนึ่งยังเอาปรากฎการณ์ที่ว่านี้มาผูกเรื่องกับภาวะโลกร้อนเช่นกัน
(เรื่องนี้คงต้องให้น้องชะอุ่มเป็นผู้ไขแจ้งในฐานะฑูตสิ่งแวดล้อมดั่งว่า
เป็นหลานของตาวิเศษอีกทีหนึ่ง)
ฝนตกหนักเช่นนี้จะออกไปเที่ยวนอกบ้าน รถก็ติดมาอาบน้ำฝน หรือ
อาจเจอป้ายโฆษณายักษ์ถล่มใส่แบบที่คุณXanax71เอามาแฉให้
ชาวบล็อกได้รับทราบกัน จะมีอะไรดีกว่าการได้อ่านหนังสืออยู่กับเก็กฮวย
อุ่นๆ กระดิกนิ้วหัวแม่เท้าอ่านหนังสือเก่าเก็บมาเป็นทรัพยากรแห่งบล็อก
จะดีกว่า........

หนังสือที่ราคาน้ำมันไม่ระห่ำจะเหยียบ๔๐เอาดั่งตอนนี้ "ไม่มีนางนพมาศ
ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย โดย ศ.ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ สุพจน์ แจ้งเร็ว...
สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม ๒๕๓๐" ที่ถือว่าฮือฮาพอสมควรเมื่อ
หนังสือถูกจำหน่าย เพราะไปออกเอาช่วงกำลังAmazing Thailandในปีนั้น
โดยมีกิจกกรรมการลอยกระทงเป็นจุดขายการท่องเที่ยวไทยที่ไปผูกกับ
สำนึกร่วมในสมัยสุโขทัย แต่เอาเข้าจริงมันเป็นจินตนาการที่สร้างขึ้นในต้น
รัตนโกสินทร์นี้เอง !!



ตำนานที่เคยเชื่อขอเอาแบบย่อๆว่า "นางนพมาศ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำรับ
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เขาว่ากันว่าแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และเชื่ออีกว่า
ผู้เแต่งชื่อนางนพมาศ มาถวายตัวต่อพ่อขุนรามคำแหง จนกระทั่งได้เป็นใหญ่
ถึงสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ"์ ทั้งหมดเป็นเรื่องบอกเล่า ไม่มีหลักฐาน
ไม่มีประจักษ์พยาน แล้วเรื่องนี้มาจากใครที่ไหน หนังสือเล่มนี้มีคำตอบแบบ
วิเคราะห์เจาะลึกทุกมิติ โดยมีเรื่องเกี่ยวโยงให้หลักฐานมีความแน่นหนากว่า
ที่เราๆท่านๆคิดกันไว้

แค่เริ่มต้นก็นำคำกล่าวของบิดาทางประวัติศาสตร์ไทยอย่าง
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งพระองค์ดำรงตำแหน่ง
ประธานหอพระสมุดวชิรญาณ ทำหน้าที่คัดสรรหนังสือเข้าหอพระสมุดแห่งชาติว่า
"ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจารึก
ครั้งสุโขทัย หรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งสุโขทัย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วง
เป็นต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงชั้นกรุงเก่าที่จะเห็นได้แน่นอนว่า
สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเป็นหนังสือแต่งใหม่เป็นแน่ และยังซ้ำมีความที่กล่าวผิด
ที่จับได้โดยแจ่มแจ้งว่าเป็นของใหม่หลายแห่ง ยกตัวอย่างดังว่าด้วยชนชาติต่างๆ
ในหนังสือนี้ ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้
เมื่อครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานีเป็นแน่ อีกข้อหนึ่งที่ว่าครั้งสุโขทัยมีปืนใหญ่ขนาดหนัก
นับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึนในโลก แต่ที่ผิดน่าพิศวงยิ่งกว่า
อย่างอื่นนั้นมีแห่งหนึ่ง ที่ลงชื่อว่าชาติฝรั่งอเมริกันลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันพึ่ง
เกิดขึ้นยังไม่ถึง ๒๐๐ ปี จะมีในครั้งพระร่วงอย่างไรได้ แม้แต่คำว่าอเมริกันเองก็พึ่ง
เกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คนหนึ่งไปทำแผนที่ให้ปรากฎ
รู้ได้ชัดว่าเป็นทวีปหนึ่งต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตะวันตกดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน
จึงได้เรียกชื่อทวีปนั้นว่าอเมริกาตามชื่อช่างแผนที่ผู้ที่ไปพบความจริงข้อนี้"



ต่อจากนั้นนักคิดทางประวัติศาสตร์ฟันธงกันว่า ดีไม่ดีนางนพมาศชะรอยจะกลาย
เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ครั้งยังดำรงพระยศกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระราชนิพนธ์เอง
ใช้เป็น "คู่มือ" ของสตรีรับราชการในวังยุคกรุงเทพฯ โดยสมมุติเป็นยุคสุโขทัยเป็นฉากหลังท้องเรื่อง
ธรรมเนียมการตั้งชื่อของคนยุคสุโขทัย ก็นิยมตั้งชื่อเพียงพยางค์เดียว "นพมาศ" จึงเป็น
คำที่เกินคิดถ้าจะให้ไปอยู่ในสมัยพระร่วง ยิ่ง อาจารย์นิธิ ส่ายหัวอย่างสารภาพว่า
"ไม่มีหลักฐานและเหตุผลใดๆ ที่จะคิดไปได้ว่าหนังสือเรื่องนี้มีร่องรอยอันใดของเอกสาร
สมัยสุโขทัยแทรกอยู่" เล่นพินิจทุกบรรทัด แม้คนที่บ้าเป็นพักๆเรื่องสุโขทัยอย่างผมก็ยังไม่รู้สึกอิน
ที่จะให้นางนพมาศสอดคล้องกับบรรยากาศสมัยสุโขทัย แม้จารึกพ่อขุนรามคำแหงก็ไม่มีคำว่า"ลอยกระทง" การ "เผาเทียน เล่นไฟ" ไม่เกี่ยวข้องกับลอยกระทง แต่เป็นการทำบุญไปวัดไปวาทั่วๆไป อาจารยพิริยะ ไกรฤกษ์ คิดไปไกลถึงขั้นว่า คนแต่งนางนพมาศอาจเป็นคนเดียวกับคนแต่งจารึกพ่อขุนราม
คำแหงที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์!!...............



สมัยอยุธยาตอนปลายจากบันทึกของลา ลูแบร์ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ และใน
คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดไม่เคยกล่าวว่ามีการ"ลอยกระทง มีแต่การ
"ลอยโคมน้ำ" เพื่อขอขมาต่อแม่พระธรณี ให้เก็บเกี่ยวเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์
แค่แนวความคิดก็คล้ายกับการลอยกระทงในปัจจุบันเสียเหลือเกิน ยังมีสาระอื่นๆอีกมาก
ที่อ่านก็เพลินใจเจริญสมองแบบกระดิกหัวแม่เท้า จิบน้ำจนหมดแก้ว บอกกับตัวเองว่า
ถึงแม้ความจริงเรื่องนางนพมาศจะเป็นเช่นไร ผมก็ยังนิยมไปจับจองพื้นที่ตรงหน้าเวที ดูการประกวดนางนพมาศไม่ต่างจากการเชียร์แบบปวดนิ้วของอคาเดมี แฟนตาเซีย เพียงแต่นิ้วของผมอาจจะหนักไปทางขยี้ตาและลูบปากแบบไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง......




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2551 23:48:08 น.
Counter : 1018 Pageviews.  

สุภาษิตพระร่วง...ล่วงมาหลายปีก็ยังไม่มีข้อสรุป


หลังจากที่ห่างหายการเขียนบล็อกไปนานพอสมควรและไม่ได้มีเรื่องสำรอง
อะไรไว้สำหรับแจกจ่ายยามฉุกเฉิน
(ความจริงก็มีอยู่แต่ปั่นไม่เสร็จอยู่สองสามงาน) ประกอบกับ
การมีเจ้านายที่มี"อำนาจ"เป็นอาวุธ จึงมักถูกอาวุธที่เจ้านายมีตามจี้ ตามจิก
งานที่โผล่เข้ามาแต่ละวันเสมือนเข้าคิวตามล้างแค้นจากชาติปานก่อน
ดีที่มีวันวิสาขบูชา เป็นตัวยืดงานให้พักยาวเพิ่มขึ้นอีกตั้งหนึ่งวัน
งานนี้ต้องนมัสการพระคุณของพระพุทธเจ้า
ที่แม้จะไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการระลึกถึง
แต่มีผลทางอ้อมให้ฆราวาสอย่างผมได้เจริญสติ หลังจากโกลาหลกันทั้งอาทิตย์.....

เวลาที่ว่างผมมักไปจับจ่ายหนังสือที่ศูนย์หนังสือจุฬา
ร้านหนังสือใหญ่ที่ลดอะไรกันได้ทั้งปี ที่นั้นค่อนข้างมีหนังสือที่มีเป้าหมายในใจ
ที่คล้ายคนรู้จักให้ได้นัดพบ อีกทั้งยังมีนิสิตเด็กเฟรชชี่เป็นอาหารตา
ยามเมื่อยล้าจากอาหารสมอง แม้ตัวเองจะไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันใด
กับสถาบันแห่งนี้ก็ตาม ช่วงนี้บ้างานวรรณกรรม วรรณคดีเป็นพิเศษ
เลยคว้างานวรรณกรรมระดับขึ้นหิ้งของไทยที่มีคุณค่าไม่แพ้งาน
วรรณกรรมของสำนักพิมพ์Woodworth Classic ของพวกเมืองนอก
เมืองนาเขา ราคาก็แสนถูกเล่มไม่กี่ร้อย (บางเล่มก็ไม่ถึงร้อย)
เป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกันที่ครั้งอดีต วิชาภาษาไทยจะบรรจุงานวรรณกรรม
วรรณคดีตอนสั้นๆ (ที่ความรู้สึกวัยเด็กรู้สึกว่ามันยาว ยาก และสำนวน
ตกยุค) เป็นดั่งยาขมชนิดรุนแรง แตะเมื่อใดต้องมีฤทธิ์กล่อมประสาทให้
เกิดอาการง่วงหาวหนาวนอนทุกคราว แต่พอระดับวัยเข้าสู่สามัญปถุชน
กับรู้สึกโหยหาจินตนาการเหนือโลก (Transcendental Imagination)



เงินถูกออกจากกระเป๋าไปพอสมควร (ทำงานไม่ได้ให้เงินกองท่วมหัวนี่หว่า)
จึงได้มาแค่สี่ห้าเล่ม แต่วันนี้ขอโม้หนังสือเล่มหนึ่งเพราะจะได้โยงเข้าเรื่อง
ของสุโขทัยตามติดไปด้วย หนังสือเล่มที่ว่าก็คือ "อ่านสุภาษิตพระร่วง
ฉบับวิเคราะห์และถอดความ โดย ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ราคาแค่ 110 บาท
เท่านั้น แต่ให้คุณค่าทางรสวรรณกรรมและวิธีคิดคติหลายอย่าง
แล้วแต่ตามใครจะตีความกันเอง (แต่งานนี้มีคนถอดความให้เรียบร้อยแล้ว
เหลืออย่างเดียวคืออ่านให้จบเถอะ)
ปัจจุบันผู้แต่งท่านนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ภาคภาษาไทย
อยู่ที่จุฬาลงกรณ์ มีงานเขียนที่ผมซื้อเหมาโหลมาหลายเล่ม
อาทิ วรรณคดีอยุธยาตอนต้น :ลักษณะร่วมและอิทธิพล ,อ่านโองการแช่งน้ำ
:ฉบับวิเคราะห์และถอดความ , อ่านลิลิตพระลอฉบับวิเคราะห์และถอดความ
และอีกเยอะแยะมากมาย เป็นงานถอดความที่ต้องอาศัยกรอบวิธี
บริบทแวดล้อมในยุคสมัยที่แต่ง โลกทัศน์ ค่านิยม และปัจจัย
ที่เป็นแรงบันดาลใจให้แต่งงานชิ้นนั้นๆ เพื่อรองรับบุคคลกลุ่มชนชั้นใด
เรื่องปัญหาภาษายากๆก็คลี่คลายพร้อมคำอธิบาย
เล่นเอาสักผมเห็นภาพยุคอดีตได้แจ่มชัด อ่านไปก็อินไปเพราะต้องเข้าใจว่า
แวดวงวรรณคดียุคนั้นรับใช้กลุ่มชนชั้นสูงและความเชื่อทางศาสนา
อ่านไปก็รู้สึกถึงเป็นคนชั้นสูงและยังมีศาสนา มิใช่คนบ้างานหน้าคอมแบบปัจจุบันไปเสียหมด




แต่หลายคนยังคิดว่า "สุภาษิตพระร่วง" ก็ต้องทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นแน่
เรื่องนี้รัชกาลที่๖ เคยสันนิษฐานเอาว่า น่ารวบรวมสมัยพ่อขุนรามคำแหง
เพราะพ้นจากน้ำใต้ศอกของพวกขอม จำเป็นต้องโชว์อารยะความเจริญ
ผ่านงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ความหมายของสุภาษิตพระร่วงเรียกอีกอย่างหนึ่ง
ว่า"บัญญัติพระร่วง"ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุด คือ
จารึกอยู่ที่ฝาผนังด้านหน้า พระมหาเจดีย์องค์เหนือแห่งวัดพระเชตุพลฯ
ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และพิมพ์ครั้งแรกในประชุมจารึก
วัดพระเชตุพนฯ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวม ทำนองแต่ง
ตอนต้นแต่งด้วยร่ายสุภาพจบแบบโคลงสองสุภาพ ตอนท้ายเป็นโคลงกระทู้
หนึ่งบท เป็นเสมือนการออกกฎหมายแบบสอนสั่งประชาชนโดยรอบ
งานแต่งของสุภาษิตพระร่วงมีอิทธิพลต่องานเขียนวรรณคดี
ในยุคหลังหลายต่อหลายเรื่อง แต่เอาที่ดังๆ ก็ต้อง
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกตอนพระนางมัทรีตรัสสอนชาลีและพระกัณหา ว่า
"อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์"
ตอนชูชกกล่าวแก่เจตบุตรว่า
"เราคิดว่าจะอาสาเจ้าจนตัวตายตามสุภาษิต"
และตอนพระเวสสันดรแสร้งต่อว่าพระนางมัทรีว่า
"เข้าเถื่อนเจ้าลืมพร้า" ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
กล่าวถึงวิชาที่พลายงามต้องศึกษาเพิ่มเติมเมื่ออยู่กับเจ้าหมื่นศรีเสาวลักษณ์
ว่ามี

"สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง"

ดังนั้นถ้าให้วิเคราะห์งานจากสุภาษิตพระร่วงต้องถือว่า กว้างเอามากๆ
เพราะแสดงคติค่านิยมเกือบทุกด้านแม้จะติดโลกแบบอุดมคติแบบผู้ปกครอง
ก็ตาม
ก็เจ้าพวก รักอิสระ ไม่ชอบตกเป็นทาส ปักหลักรักแผ่นดิน
แบ่งชนชั้นการปกครองชัดเจนซึ่งติดตามด้วยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
คละกันไป มารยาททางสังคม การปฏิบัติกับพวกพ้อง
ซึ่งถ้าว่ามานี้ดูจะทันสมัยเกินหน้าเกินตากว่าที่จะเป็นยุคสุโขทัยเอามากๆ
ขอยกตัวอย่างสั้นๆสักตอน ให้เห็นภาพชัดๆ..........นะครับ

ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า เผ้าแผ่นภพศุโขไทย
มลักเห็นในอนาคต เหตุไว้
เป็นอนุสาศนกถา สอนคณานรชน
ทั่วธราราดพึงเพียร เรียนอรุงผดุงอาศม์
อย่าเคลื่อนคลาศถ้อย เมื่อน้อยให้เรียนวิชา
ให้หาสินเมื่อใหญ่ อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน
อย่าริะร่านแก่ความ ประพฤทธตามบูรรพ์รบอบ
อย่าอวดหาญแก่เพื่อน เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
.....................................................

รักตนกว่ารักทรัพย์ อย่าได้รับของเข็น
เหนงามตาอย่าปอง ของฝากท่านอย่ารับ
ที่ทับจงมีไฟ ที่ไปจงมีเพื่อน
ทางแถวเถื่อนไคลคลา ครูบาสอนอย่าโกรธ
โทษตนผิดพึงรู้ สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์
ภักดีอย่าด่วนเคียด อย่าเบียดเสียดแก่มิตร
ที่ผิดช่วยเตือน ที่ชอบช่วยยกยอ
อย่าขอของรักมิตร ชอบชิดมักจาง



แต่ด้วยหลักฐานและพยานแวดล้อม จะทำให้เชื่อว่า
น่าจะแต่งในยุคปลายสมัยอยุธยาตอนปลายในยุคของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เสียมากกกว่า เรื่องนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร
ได้เขียนคำอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง สุภาษิตพระร่วง ฉบับพิมพ์เป็นที่ระลึก
ในวันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ. 2505 ว่า
"สังเกตจากข้อความและถ้อยคำเห็นได้ว่าเป็นภาษิตไทยแท้ ๆ
ใช้ถ้อยคำอย่างพื้น ๆ ยังไม่มีภาษิตต่างประเทศ
เข้ามาแทรกแซงปะปน และดูเหมือนจะยังไม่มีอิทธิพลจากภาษิตแบบอินเดีย
เช่น คัมภีร์โลกนิติ และพระธรรมบท เป็นต้น
เข้าครอบงำแสดงว่าเป็นภาษิตไทยเก่าแก่ที่ติดปากคนไทยสืบมา
และมากลายรูปไปในลักษณะของกวีนิพนธ์แบบต่าง ๆ
แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยในกาลต่อมา และถ้าพิจารณาตามรูปของวลี
จะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงใกล้เคียงกับจารึกในหลักที่ 1 เรียกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง
จึงอาจเป็นได้ว่า สุภาษิตพระร่วง หรือบัญญัติพระร่วงนี้
เดิมเป็นพระบรมราโชวาท ซึ่งพระร่วงเจ้าพ่อขุนรามคำแหง
ทรงแสดงสั่งสอนประชาชนชาวไทย…"



แต่อย่างว่า งานที่มีคำว่า "พระร่วง" ห้อยท้าย
ใชว่าจะต้องแต่งสมัยพ่อขุนรามหรือสุโขทัยอย่างเดียวเสียเมื่อไร
อย่างงานที่มีคำว่า หรือเรื่องราวของพระร่วงมาพีคสุดๆอีกที
ก็ในยุคพระเจ้าอยู่บรมโกศ (พ.ศ.2297-2298) ประดิษฐพระร่วง
ก่อนหน้านั้นในโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก โคลงพาลีสอนน้อง
โคลงทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดิ์ และโคลงราชานุวรรค
ก็มีการอ้างถึงพระร่วงอยู่โดยตลอด เ
รื่องนี้ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตั้งเวลาให้อย่างน้อยก็ต้องสมัยบรมโกศ
แต่อาจมามีฉบับดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วหรือจากการเก็บคำสุภาษิตแบบปาก
มาต่อเป็นโคลงสี่ขึ้นเหมือนอย่างที่สุนทรภู่เก็บเอาสุภาษิตต่าง ๆ
ขณะที่ด้านนายนายล้อม เพ็งแก้ว พบต้นฉบับร่าย สุภาสิทตัง ที่จังหวัดเพชรบุรี
และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ โครงประดิษฐ์พระร่วงแล้ว
เทียบได้ตรงกันวรรคต่อวรรค นายล้อมจึงสันนิษฐานว่า
โคลงประดิษฐ์พระร่วง น่าจะลอกขยายมาจาก สุภาสิทตัง…...
น่าจะสรุปได้อย่างเดียวกับ ร่ายสุภาษิตพระร่วง ว่า
แต่งขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์…" (หนักเข้าไปอีก)

แต่ไม่ว่าจะแต่งยุคไหน การที่ประเทศมีงานวรรณศิลป์เชิงภาษาดีๆ มากมาย
ประดับไว้ในชนรุ่นหลังมันก็ยังไพเราะสอดคล้องแฝงความหมาย
(แม้คำหลายตัวโบราณตกยุคก็ตามที) ก็ไม่ต่างจากเพลงดีๆ
ที่มีกลวิธีทางนิรุกติศาสตร์อย่างแยบคาย แม้จะไม่ไพเราะเท่าบทเพลงปัจจุบัน
ที่ฟังสบายแต่ความหมายต่อสังคมช่างกลวงโป๋๋วเหลือเกิน




ขอบคุณ -หนังสือ อ่านสุภาษิตพระร่วง ฉบับวิเคราะห์และถอดความ โดย ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต
ที่เชียร์แบบไม่ได้ตังค์
-//www.info.ru.ac.th/province/sukhotai/PRR12.htm ที่มีงานวิเคราะห์วรรณคดี
ที่ดีอยู่เสมอมา รวมทั้งรูปด้วย........
-






 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 13 มิถุนายน 2552 22:41:45 น.
Counter : 11352 Pageviews.  

พ่อขุนรามคำแหงในฐานะCousultant of Chiangmai

"เมืองนี้ข้าศึกจะทำร้ายมิได้ คนไหนมีเงินพันมาอยู่จะได้เงินหมื่น ครั้นมีหมื่นมาอยู่จะมีเงินแสน" นี้เป็นคำที่ประกาศครั้นตั้งเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ไม่มี
ไนท์ ซาฟารี ไม่มีหมีแพนด้า ไม่มีรีสอร์ตและสปากลางเมืองเชียงใหม่ เออ+ไงมันคล้าย
โฆษณาชวนเชื่อที่ปรากฏในจารึกหลักหนึ่งของเมืองสุโขทัยจังหว๋า.....

เคยมีโอกาสได้ไปจังหวัดเชียงใหม่ ก็นับได้หลายปีผ่านมา สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคลับคล้าย
คลับคาอะไรบางอย่างหลังจากเดินเที่ยวชมรอบเมืองเชียงใหม่ตลอดทั้งวัน สิ่งเหล่านั้น
มันช่างคล้ายกับอารมณ์ที่ครั้งที่ตนเคยเดินเที่ยวชมจังหวัดสุโขทัยเช่นกัน แต่กับตอบสา
เหตุในใจไม่ได้ เพราะทั้งลักษณะผู้คน ภาษา ธรรมเนียมปฎิบัติและศิลปวัฒนธรรม
ช่างแตกต่างอย่างพอสมควร ในลักษณะการปกครองก็เกิดจากช่วงอายุขัยของคนละ
เชื้อราชวงศ์กษัตริย์ จนกระทั้งได้อ่านงานบางอย่างจากนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่ง
จึงทำให้จิตฉงนนั้นมันโปร่งโล่งสบายไปบัดดล




มันเป็นเรื่องที่ต่อจากบทความที่แล้ว หลังจากที่สามสหายกษัตริย์กรีดเลือดสาบาน
เป็นพี่น้องนอกสายเลือด อันประกอบด้วย พระยามังราย(เชียงใหม่) พระยางำเมือง
(พะเยา)และพ่อขุนรามคำแหง(สุโขทัย) การร่วมกันของกษัตริย์ทั้งสามถือเป็นจุดเปลี่ยน
ที่สำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ไทย เป็นการสร้างความเข้มแข็งเขตตอนเหนือ (หากนับ
ตามแผนที่ปัจจุบัน) เชื่อมความสัมผัสระดับหนึ่งที่เป็นโครงข่ายที่อิสระต่อกันและกัน
ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง แต่การจะรู้บทบาทที่สำคัญของพ่อขุนรามคำแหง
ในแง่ที่ปรึกษาประสบการณ์สูง (High Experience Consultant) จำจะเล่าประวัติโดยย่อของพญามังรายสักนิดเพื่อให้เห็นภาพโดยสมบูรณ์

พญามังราย (พ.ศ.๑๗๘๒-๑๘๖๐) ทรงเป็นกษัตริย์จากเชื้อพระวงศ์ลาว (ลัวะ) หรือลาวจักราช
ผู้ครองเมืองนครเงินยางเชียงแสน แต่เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังรายที่พระองค์ตั้งขึ้น (แนวคิดจากการเริ่มต้นสายพระวงศ์ใหม่มักมีสายสัมพันธ์กับองค์อธิปัตย์ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์
เสมอ และสภาวะการแก่งแย่งแข่งขันจากญาติวงศ์ปู่เจ้าลาวจกจึงทำให้ในแง่ความศรัทธา
ต่อสายวงศ์ประยูรเองลดทอนลงไป)ทรงเป็นกษัตริย์หลังจากพระเจ้าลาวเม็ง(พระบิดา)
สวรรคต เมื่ออายุ๒๑ ได้สถาปนา"เวียงเชียงราย" เป็นเมืองหลวงแทนเมืองเก่าอย่างหิรัญนครเงินยาง (ในปีพ.ศ.๑๘๐๕) ด้วยเหตุจากตามหาช้างมงคลที่สุญหายจนไปพบถิ่นพื้นที่เหมาะแก่การตั้งหลักแหล่ง จยกระทั่งลงมาประทับที่เมืองฝางทราบถึงเมืองหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งอย่าง"
อาณาจักรหริภุญชัย" (ลำพูน) ก็ส่งไส้ศึกทำการถึง๗ปี จนสามารถสร้างรูปแบบอาณาจักรที่ใหญ่ขึ้นเป็น"อาณาจักรล้านนา"
มาปี พ.ศ.๑๘๓๐ พระองค์ถูกเชิญให้มาตัดสินคดีความที่พญาร่วง (พ่อขุนรามฯ) เป็นชู้กับมเหสีของพระยางำเมือง จึงก่อเกิดความสัมพันธ์เชิงคำมั่นสัญญาต่อกันของคนทั้งสามจากนั้นกรณีบาดหมาง
ต่อกันในเชิงอาณาเขตก็คลี่คลายตัวลงไป แสดงถึงว่าพญามังรายเป็นบุคคลอาวุโสที่
ผู้นำกลุ่มอื่นให้การเคารพและเกรงขามอย่างสูง แม้แต่พญางำเมืองเมื่อรู้ตัวว่าเมืองพะเยาของตนจะถูกตีจากพญามังรายจำต้อง
ยอมยกแคว้นปากน้ำ๕๐๐หลังคนเรือนถวายโดยไม่ขอต่อกรด้วย เรื่องความเด็ดขาดในการปกครองของพระองค์เป็นที่รับรู้กันได้ แม้กระทั่งพระโอรสองค์โตคิดชิงราชสมบัติ พระองค์ยังส่งคนไปลอบสังหารและจัดพิธีศพอย่างสมพระเกียรติ์ (อย่างกับ
หนังเรื่องCurse of the Golden Flower ของ ผู้กำกับจาง อี้ โหม่ว)

เห็นพระประวัติปานนี้แล้ว การที่พ่อขุนรามคำแหงเจ้าหัวเมืองเล็กๆ (ถ้าเทียบกับสิ่งที่พญามังรายได้ทำมา)จะได้รับเกียรติ์ในเรื่องที่ปรึกษาในการ
วางผังเมืองใหม่ แสดงถึงการเป็นนักวางผังเมืองที่มีรูปแบบเฉพาะประกอบกับการมีสายสัมพันธ์
เชิงสัญญาร่วมด้วยแล้ว น่าจะแสดงว่า
เมืองสุโขทัยมีผังเมืองที่รุดหน้าไปมากเมื่อเทียบกับหัวเมืองอื่นในสมัยเดียวกัน เมืองใหม่ที่ว่านี้ก็คือ เมืองเชียงใหม่ ที่อยู่บริเวณที่ราบระหว่างดอยสุเทพด้านทิศตะวันตกกับแม่น้ำปิงด้านตะวันออก หลังจากที่เมืองเวียงกุมกามมีปัญหาน้ำท่วมอยู่โดยตลอด ในจารึกวัดเชียงมั่น (วัดแรกในเขตกำแพงเมือง) ได้กล่าวไว้ว่า"พญามังรายเจ้าและพญางำเมืองพญาร่วงทั้งสามตนตั้งหอนอนในที่
ชัยภูมิราชมณเฑียรขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน และก่อพระเจดีย์ทัดที่หอนอนบ้านเชียงมั่นในขณะยามเดียวกัน"
ขณะเดียวกันในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวคล้ายกันว่า "พญามังรายก็ใช้อำมาตย์ผู้รู้ ผู้หลวักไปเมืองพรูยาว ที่อยู่พญางำเมือง เมืองสุโขทัยที่อยู่พญาล่วง แล้วเรียกร้องเอาพญาทั้งสอง อันเป็นมิตรรักกันด้วย พระญามังรายก็ชักเชิญว่าจักตั้งบ้านใหญ่เมืองหลวง ได้ยินคำจา ก็โสมนัสยินดี"

ในตอนแรกพระยามังรายกะสร้างเอาให้ใหญ่โตแบบรูปเมืองสี่เหลี่ยมยาวด้านละ๒๐๐๐วา
สนองเกียรติ์และพระบารมีของตน แต่สหายรักทั้งสองค้านว่าถ้ายามศึกมาจะหาคนพอตั้งรับได้ยาก น่าจะลดขนาดลงเป็นดี ซึ่งพระยามังรายก็เชื่อตามนั้น หลังจากที่สร้างเสร็จเป็นเวลากว่า๔เดือน ก็เฉลิมฉลองเมืองไปกว่า๓วัน ๓คืน และตั้งชื่อเมืองเสียเท่ห์ๆว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เป็นชื่อที่มงคลที่อย่างไรคนที่ไหนก็ขอเรียกว่าเชียงใหม่จะดีกว่า ดังนั้นการมีส่วนร่วมของพ่อขุนรามคำแหงที่นอกเหนือจากที่จารึกน่าจะมีอะไรมากไปกว่า
เพียงแค่การลดขนาดของเมืองลงแต่ด้วยข้อจำกัดของหลักฐานทำให้เราพอทราบได้ว่าบุคคล
ทั้งสามมีลักษณะการเกื้อกูลกันในหลายๆด้าน
ทั้งในเรื่องการช่วยเหลือ ปรึกษาหารือและอื่นๆมากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็ตกมาสู่ความมรดกสมบัติแห่งชาติสำหรับคนไทยโดย
ภาพร่วมทั้งหมด ผ่านโคตรเชื้อตระกูลของกษัตริย์ทั้งสามเหล่านี้

ข้อมูลจาก -ประวัติพ่อขุนเม็งราย
-แคว้นสุโขทัยรัฐอุดมคติ
-จากรึกวัดเชียงมั่น




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2551 18:28:10 น.
Counter : 1297 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.