Group Blog
 
All Blogs
 
The Reluctant Mr. Darwin : David Quammen ครบรอบ 150 ปี แนวคิดบันลือโลกของดาร์วิน



The Reluctant Mr. Darwin : An Intimate Portrait of Charles Darwin and the Making of His Theory of Evolution
ผู้แต่ง : เดวิด ควอมเมน (David Quammen)
ชาร์ลส์ ดาร์วิน อัจฉริยะผู้ลังเล : ตัวตนที่แท้จริงและที่มาของทฤษฎีวิวัฒนาการ
ผู้แปล : อุทัย วงศ์ไวศยวรรณ
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 315 หน้า


วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 150 ปี ทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดสรรทางธรรมชาติของดาร์วิน ทฤษฎีที่ริชาร์ด ดอว์กินส์ เชื่อว่าเป็น “ความคิดสำคัญที่สุดซึ่งเคยเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์” ผมจึงถือโอกาสนี้หวนกลับไปอ่านเรื่องราวชีวิตและผลงานของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (ค.ศ. 1809-1882) ออกเดินทางสำรวจธรรมชาติเป็นระยะเวลา 5 ปี บนเรือบีเกิลของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร ช่วงนั้นดาร์วินอยู่ในวัยเบญจเพส ได้เดินทางสำรวจและเก็บตัวอย่างสัตว์ต่างๆมากมายใน บราซิล, อุรุกวัย, อาร์เจนตินา, ชิลี, เปรู, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และหมู่เกาะกาลาปากอส

เดวิด ควอมเมน ผู้เขียนหนังสือประวัติดาร์วินเล่มนี้ ได้เลือกที่จะเริ่มเล่าชีวิตดาร์วินหลังจากที่เขากลับมาจากการเดินทางครั้งนั้น โดยบอกว่าเพื่อให้หนังสือกระชับสั้น และการผจญภัยทางสติปัญญาในเวลาต่อมาตื่นเต้นเร้าใจกว่าการตะลอนหมู่เกาะกาลาปากอสเสียอีก

ดาร์วินเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย เขาแทบไม่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เพราะมีเงินรายได้จากบิดา เมื่อกลับจากการเดินทางไกล เขาได้แต่งงานกับเอ็มมา เวดจ์วูด ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง (สมัยนั้นนิยมแต่งงานระหว่างเครือญาติเพื่อไม่ให้เงินทองหายไปไหน) เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอย่างเขา แต่ภรรยากลับเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ยึดมั่นคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด

แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการโดยการคัดสรรของธรรมชาติมีอยู่ในสมุดบันทึกส่วนตัวของเขาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1838 แต่ทำไมหนังสือ “The Origin of Species” กว่าจะถูกตีพิมพ์ต้องรอไปถึงปี ค.ศ. 1859 สาเหตุยังไม่แน่ชัดนัก เขาอาจเกรงว่าทฤษฎีดังกล่าวจะสร้างความขุ่นเคืองในสังคมวิคตอเรีย? เขาอาจเกรงผลกระทบทางการเมืองจากฝ่ายก้าวหน้าที่สามารถหยิบทฤษฎีเขาไปอ้าง? เขาอาจเกรงเพื่อฝูงครูบาอาจารย์ที่เคร่งครัดในศาสนา? หรือเขาอาจลังเลใจเพราะภรรยาผู้เสื่อมใสศรัทธาในพระเจ้า?

การผลัดวันประกันพรุ่งของดาร์วินมาพบกับจุดสำคัญเมื่อได้รู้จักกับเพื่อนหนุ่มนามว่า อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (ค.ศ. 1823-1913) วอลเลซได้ออกสำรวจไปยังหมู่เกาะโพ้นทะเลแถวมาเลเซีย-อินโดนีเซีย และเขียนจดหมายมาถึงดาร์วินในวันที่ 18 มิ.ย. 1858 ข้อความในจดหมายกล่าวถึง “หลักการทั่วไปในธรรมชาติ” ซึ่งพ้องกับแนวคิดที่ดาร์วินเคยคิดมาก่อน วอลเลซต้องการเผยแพร่ทฤษฎีใหม่ล่าสุดนี้ออกสู่สาธารณชน

ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ ในวันที่ 1 ก.ค. 1858 ดาร์วินจึงนำเสนอรายงานของตัวเองและวอลเลซพร้อมกันต่อสมาคมวิทยาศาสตร์ลินเนียนแห่งกรุงลอนดอน ในห้องประชุมวันนั้นมีการอ่านทฤษฎีวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ทฤษฎีที่ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อโลกของเราในเวลาต่อมา

นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญของดาร์วิน ถ้าไม่มีจดหมายของวอลเลซ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทฤษฎีของเขาจะปรากฏออกมาหรือไม่

จดหมายของวอลเลซทำให้ดาร์วินมีกรอบความคิดใหม่ คือเลิกผลัดวันประกันพรุ่ง เลิกแนวคิดสมบูรณ์แบบนิยมที่ต้องรวบรวมข้อมูลมากมายเหมือนเขียนเป็นสารานุกรม และเลิกเป็นคนขี้กลัวในเรื่องต่างๆ หลังจากวันที่ 1 ก.ค. 1858 ดาร์วินตัดสินใจเขียน “บทย่อ” ของทฤษฎีในรูปแบบที่น่าอ่าน เดิมทีตั้งใจจะเขียนเพียง 12 หน้า เพื่อลงวารสาร แต่เขียนไปเขียนมา มีแง่มุมมากมาย ในที่สุดกลายเป็นหนังสือที่เรารู้จักกันคือ “The Origin of Species”

แม้ “The Origin of Species” เป็นหนังสือที่สดใหม่ กล้าหาญชาญชัย แต่กระนั้นหนังสือเล่มนี้ก็มีจุดบกพร่องหลายประการ อาทิ ดาร์วินเขียนกล่าวโทษไม่หยุดหย่อนว่า หนังสือหนา 500 หน้าเล่มนี้มีเนื้อที่ไม่พอ ควอมเมนวิจารณ์อย่างคมคายว่า ไม่ใช่มีเนื้อที่ไม่พอ แต่มีเวลาไม่พอต่างหาก เพราะวอลเลซสร้างความตื่นตระหนกต่อดาร์วิน ตอนนั้นเขาจึงรีบเขียนสุดชีวิตเพื่อส่งตีพิมพ์

คนทั่วไปรู้เพียงว่า ดาร์วินคิดค้น “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ซึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแนวคิดของเขา ทว่าหัวใจสำคัญที่แปลกใหม่และน่าหวั่นเกรงในยุคนั้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการ คือ “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” (Natural Selection)

การคัดสรรโดยธรรมชาติเป็นกระบวนการที่ไม่มีเป้าหมาย มีแต่ผลลัพธ์ คัดสรรสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออก ผลลัพธ์ที่ได้คือความสามารถในการปรับตัว โครงสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น แนวคิดนี้ตรงข้ามกับความเชื่อดั้งเดิม ผู้ที่ศรัทธาในทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลกย่อมมองดาร์วินด้วยสายตาอันเกลียดชัง

“The Origin of Species” เป็นหนึ่งในหนังสือที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ


Create Date : 30 กันยายน 2551
Last Update : 30 กันยายน 2551 9:47:57 น. 3 comments
Counter : 4384 Pageviews.

 
หนังสือน่าอ่านดีจัง รู้จักเค้าแค่เรื่องทฤษฏีวิวัฒนาการเหมือนกันค่ะ พอทราบมาบ้างว่า ในสมัยนั้นมีการต่อต้าน แต่พึ่งทราบว่าภรรยาของเค้าเคร่งศาสนา ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ


โดย: Vitamin_C วันที่: 30 กันยายน 2551 เวลา:14:03:49 น.  

 
น่าสนใจค่ะ

แค่คนที่คิดทฤษฎีนี้ได้ ในภาวะการณ์อย่างนั้นก็น่าสนใจมากๆ แล้ว


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 1 ตุลาคม 2551 เวลา:10:08:07 น.  

 
เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากครับ


โดย: เด็ก 11 ขวบ S2๐๐S2 IP: 202.28.62.245 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2551 เวลา:7:32:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.