In the Name of God ปรากฏการณ์ปากีสถาน




In the Name of God
ปรากฏการณ์ปากีสถาน

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 27 เมษายน 2551


* สุดสัปดาห์ต้นเดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2551) มีหนังปากีสถานเรื่องหนึ่งเปิดฉายในโรงภาพยนตร์ในอินเดีย

ฟังแล้วไม่เห็นจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอะไร หากไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่านี่คือหนังปากีสถานเรื่องแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษที่ได้ไปฉายในอินเดีย

หนังปากีสถานเรื่องนี้มีชื่อว่า Khuda Ke Liye หรือในชื่อภาษาอังกฤษ In the Name of God เนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวชาวปากีสถานฐานะดีที่ต้องเผชิญแรงเสียดทานระหว่างโลกมุสลิมผ่อนคลายกับโลกมุสลิมอันเคร่งครัด เชื่อมโยงกับเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 และการถล่มอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา

พูดถึงหนังปากีสถานแล้วอาจนึกภาพตามไม่ออก อันที่จริงรูปร่างหน้าตาของหนังปากีสถานโดยส่วนใหญ่เหมือนกับหนังบอลลีวู้ดของอินเดีย ด้วยเรื่องราวเข้มข้นแบบเมโลดราม่าสลับด้วยฉากร้องเพลง-เต้นรำ แต่สำหรับ In the Name of God นั้นต่างออกไป หนังมีความเป็นดราม่าจริงจัง แม้จะยังมีฉากเล่นดนตรี-ร้องเพลงอยู่หลายฉากแต่ก็เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาเรื่องราวโดยตรง

น่าสนใจตรงที่แม้จะผิดไปจากรูปแบบที่ชาวปากีสถานคุ้นเคยและชื่นชอบ แต่ In the Name of God กลับกลายเป็นหนังระดับปรากฏการณ์หลังจากออกฉายเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2007 และทำสถิติรายได้รวมสูงสุดตลอดกาล พิเศษกว่านั้นคือหนังได้ไปฉายในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในอินเดียดังที่กล่าวไว้แล้ว

เหตุใดการได้ไปฉายในต่างประเทศจึงเป็นเรื่องพิเศษ แล้วทำไมหนังปากีสถานจึงไม่ได้ไปอวดโฉมในอินเดียทั้งที่เป็นดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียงและเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน คำตอบของคำถามนี้คงต้องเล่าย้อนไปไกลสักหน่อย

อุตสาหกรรมหนังปากีสถานมีชื่อเรียกว่า “ลอลลีวู้ด” เพราะมีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองลาฮอร์ เหมือนกับ “บอลลีวู้ด” ซึ่งหมายถึงหนังอินเดียจากมุมไบหรือบอมเบย์ โดยก่อนหน้านี้มี “การีวู้ด” ที่ใช้เรียกศูนย์กลางผลิตหนังปากีสถานที่เมืองการาจี ก่อนจะซบเซาและเลิกราไปในช่วงทศวรรษ 80 เพราะผู้สร้างหนังย้ายไปรวมตัวกันที่เมืองลาฮอร์ และการเติบโตของ “ปอลลีวู้ด” หรือหนังปากีสถานจากเมืองเปชะวา

หนังปากีสถานใช้ภาษาอูรดู บางครั้งปะปนด้วยภาษาอังกฤษ แต่ไหนแต่ไรทั้งปากีสถานและอินเดียต่างเป็นตลาดหนังของกันและกัน อีกทั้งเมืองลาฮอร์เคยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตหนังของอินเดียก่อนที่ปากีสถานจะถูกแยกเป็นประเทศในปี 1947

การแยกเป็นประเทศใหม่ทำให้บุคลากรด้านภาพยนตร์ขาดแคลนเนื่องจากต่างโยกย้ายไปอยู่ในอินเดีย ซ้ำร้ายหลังจากฟื้นฟูตนเองได้ไม่นาน อุตสาหกรรมหนังปากีสถานก็ต้องสูญเสียเมืองธากาซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตหนังของประเทศ เมื่อปากีสถานตะวันออกชนะสงครามและประกาศเอกราชเป็นบังกลาเทศในปี 1971

เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมหนังปากีสถานได้รับผลกระทบโดยตรงจากพื้นที่ความเป็นชาติที่เปลี่ยนแปลงไป

*ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในปี 1965 สงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถานทำให้ความสัมพันธ์ผ่านแผ่นฟิล์มแทบจะยุติลงโดยสิ้นเชิง ปากีสถานสั่งถอดและห้ามฉายหนังอินเดีย และไม่มีหนังปากีสถานได้ไปฉายในอินเดียอีก

คำสั่งแบนหนังอินเดียในปากีสถานยังมีอยู่ทุกวันนี้ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการแข่งขันกับหนังในประเทศ ยกเว้นบางเรื่องที่ได้รับอนุญาตให้ฉาย(เช่นเรื่อง Taj Mahal เพราะว่าด้วยทัชมาฮาลอันเป็นความภาคภูมิใจของชาวมุสลิม) แต่การปิดกั้นหนังอินเดียดูจะไม่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหนังปากีสถานนัก เพราะชาวปากีสถานเองยังนิยมหนังอินเดียโดยหาดูได้จากดีวีดีและเคเบิลทีวี เพราะสร้างได้ประณีตสวยงามและยิ่งใหญ่กว่า มีผู้กล่าวว่าเงินทุนสร้างหนังปากีสถานเรื่องหนึ่งเท่ากับทุนสร้างฉากร้องเพลงเพลงเดียวในหนังบอลลีวู้ด

หนังปากีสถานค่อยๆ ตกต่ำซบเซาอย่างหนัก แต่ละปีมีหนังออกมาไม่กี่สิบเรื่อง โรงหนังปิดตัวเหลือเพียง 200 โรง จนผู้สร้างหนังต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังในประเทศ และช่วยเปิดตลาดนานาชาติให้แก่หนังปากีสถาน

กระทั่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนทำหนังอิสระรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจกรอบจำกัดเรื่องเงินทุน หันมาทำหนังที่แตกต่างไปจากเดิมทั้งด้านรูปแบบและวิธีการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำแบบดิจิตอลซึ่งต้นทุนถูกกว่าแต่ได้เนื้องานที่มีคุณภาพ และไม่ใช่หนังร้องเพลง-เต้นรำแบบเดิมๆ

หนังอย่าง In the Name of God ก็คือหนึ่งในผลผลิตของผู้สร้างหนังอิสระดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งไม่เพียงทำให้วงการหนังปากีสถานกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ยังทำในสิ่งที่หนังปากีสถานทำไม่ได้มาเนิ่นนาน นั่นคือเจาะตลาดนอกประเทศ รวมทั้งยุติช่องว่างกว่า 4 ทศวรรษในอินเดียได้สำเร็จ

ดูที่ตัวหนังกันบ้าง...หนังจับช่วงเวลาราว 2 ปี ระหว่างปี 2001-2002 เล่าถึงชะตากรรมของ 3 ตัวละครหลัก ได้แก่ แมนซูร และซาร์หมัด สองพี่น้องนักดนตรีในครอบครัวร่ำรวยซึ่งเปิดกว้างทางความคิดและให้อิสระแก่สมาชิก อีกคนคือ แมรี่ หรือมารียัม สาวมุสลิมปากีสถานที่เติบโตและมีสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อซาร์หมัดถูกชักจูงจากเมาลานาตาฮิรีผู้เคร่งครัดและแนบแน่นกับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน กระทั่งยอมเลิกเล่นดนตรีซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม เริ่มไว้หนวดเคราและสวมผ้าโพกหัว ช่วงเวลาเดียวกับที่พ่อของมารียัมซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของซาร์หมัดกำลังหาทางไม่ให้ลูกสาวมีความสัมพันธ์กับหนุ่มอังกฤษ เพราะเป็นเรื่องต้องห้ามที่หญิงมุสลิมจะแต่งงานกับชายนอกศาสนา เขาจึงพามารียัมมายังปากีสถานและขอให้ซาร์หมัดแต่งงานกับเธอโดยไม่ให้เธอรู้ถึงแผนการนี้

เมื่อได้คำแนะนำจากตาฮิรีว่าการยับยั้งไม่ให้หญิงมุสลิมแต่งงานกับชายนอกศาสนาเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ซาร์หมัดจึงยอมตกลง มารียัมถูกพามายังหมู่บ้านห่างไกลในเขตอัฟกานิสถานเพื่อให้ไม่สามารถหนีได้ ถูกบังคับให้เข้าพิธีแต่งงาน และต้องอาศัยอยู่ในดินแดนที่เธอไม่รู้จักคุ้นเคยไม่ว่าจะด้วยสภาพแวดล้อมหรือวิถีชีวิต ตาฮิรียังได้แนะว่าซาร์หมัดควรจะมีลูกไว้ผูกมัดมารียัมอีกทางหนึ่ง ซึ่งวิธีที่จะทำได้มีเพียงการขืนใจเท่านั้น

เมื่อสหรัฐเปิดฉากถล่มตาลีบัน ซาร์หมัดจำต้องร่วมสงครามศาสนาด้วย จากคนที่เคยถือเครื่องดนตรีร้องเพลงจึงกลายเป็นนักรบถือปืนและต้องปลิดชีวิตเพื่อนมนุษย์

*ฝ่ายแมนซูรหลังจากน้องชายไม่ยอมเล่นดนตรีด้วยกัน เขาจึงเดินทางมาเรียนดนตรีในสหรัฐอเมริกา ได้พบรักและแต่งงานกับหญิงสาวผิวขาวร่วมชั้นเรียน กระทั่งเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ความเป็นมุสลิมทำให้แมนซูรตกเป็นผู้ต้องสงสัย เขาถูกจับตัวไปทรมานสารพัดเพื่อคาดคั้นว่าเกี่ยวข้องกับบิน ลาเดน อย่างไร

แม้จะต่างสถานการณ์ แต่ทั้งแมนซูร ซาร์หมัด และมารียัม ล้วนตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกันนัก

เห็นได้ว่าหนังผูกเรื่องอย่างชาญฉลาดบนความขัดแย้งที่ชาวมุสลิมในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ ทั้งจากการปฏิบัติตนในสังคมและสิ่งที่สังคมปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ทั้งในสังคมอิสลามเองและในสังคมภายนอก เรื่องราวที่เป็นสากลทำให้คนนอกเข้าถึงได้ง่ายและสามารถจับแก่นสารได้ชัดเจนและหนักแน่น น่าติดตามตลอดความยาว 2 ชั่วโมง 47 นาที อาจจะมีจุดด้อยอยู่บ้างเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลของเหตุการณ์จนเกิดข้อสงสัยระหว่างดูเป็นระยะ รวมถึงฉากในศาลช่วงท้ายที่ให้เมาลานาคนหนึ่งแสดงทรรศนะทางศาสนาเนิ่นนานกว่า 10 นาที กระทั่งดูว่าหนังจงใจสั่งสอนจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อหาบางอย่างซึ่งค้านกับกฎหรือจารีตของศาสนาอิสลาม และให้ภาพด้านลบกับตัวละครผู้นำทางศาสนาคนหนึ่ง หนังจึงถูกต่อต้านจากฝ่ายมุสลิมเคร่งครัด ผู้กำกับฯ เชาอิบ แมนซูร ถูกขู่ให้หยุดฉายหนัง ฝ่ายเจ้าของโรงหนังต้องให้ผู้ชมเดินผ่านเครื่องจับโลหะตรงทางเข้าเพื่อป้องกันเหตุร้าย

แต่ขณะที่หนังถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายหนึ่งอยู่นั้น ว่ากันว่าประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ซึ่งได้ดูหนังเป็นการส่วนตัวกลับออกมาให้การรับรอง แถมยังมีคำสั่งรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้กำกับฯ

ไม่รู้ว่าเหตุที่มูชาร์ราฟชื่นชอบหนังเรื่องนี้เพราะติดใจภาพร้ายๆ แบบไร้เดียงสาของสหรัฐในหนังหรือเปล่า



Create Date : 24 มีนาคม 2552
Last Update : 24 มีนาคม 2552 15:15:41 น. 4 comments
Counter : 2598 Pageviews.

 



Write e-Magazine ฉบับที่ 3
//issuu.com/thai_writer_magazine/docs/write0301

แบบ PDF
//thaiwriter.net/WRITE_eMagazine/WRITE0301_small.pdf

ผมเขียนเรื่อง 'เชคอฟ' กับสุนัข




โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 24 มีนาคม 2552 เวลา:16:10:31 น.  

 
อ่านจากเนื้อเรื่องแล้ว ถ้าหากทำไม่ดีจริงนี่อาจเป็นปัญหาไ้ด้ง่ายๆเลยนะครับ ประเด็นละเอียดอ่อนมากๆ


โดย: Seam - C IP: 58.9.201.107 วันที่: 24 มีนาคม 2552 เวลา:18:12:58 น.  

 
อยากดูจัง


โดย: ฮิปโปร้อยฝัน วันที่: 26 มีนาคม 2552 เวลา:20:02:13 น.  

 
อยาดูหนังทุกเรื่องในบล็อคนี้เลย




วันนี้วันสุขเนอะ
เอาไข่สุขๆ มาฝากค่ะ




โดย: เช้านี้ยังมีเธอ วันที่: 27 มีนาคม 2552 เวลา:12:53:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
 
มีนาคม 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.