bloggang.com mainmenu search
ที่มา : //www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=237
ข้อมูลจากสถานวิทยามะเร็งศิริราช

การวินิจฉัยมะเร็งปอด
มีผู้ป่วยมะเร็งปอดประมาณ 10-20% ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่จำเป็นต้องได้รับการถ่ายเอกซเรย์ปอด เช่น การตรวจร่างกายประจำปี ตรวจก่อนทำประกันชีวิต หรือตรวจก่อนการผ่าตัดรักษาด้วยโรคอื่นเป็นต้น แล้วพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่นพบว่ามีก้อนในปอด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีการพยากรณ์โรคที่ดี ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่จะมีอาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว
ความรุนแรงของโรคและผลการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค และชนิดของมะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอด
มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็กมักจะมีความรุนแรงของโรคมาก อาการมาก โรคมักจะลุกลามและกระจายออกนอกปอดแล้ว การรักษามะเร็งชนิดนี้จึงจำเป็นต้องใช้ยาต้านมะเร็งเป็นหลัก เรียกว่า เคมีบำบัดซึ่งได้ผลดีพอควร และอาจใช้การฉายรังสีเป็นการรักษาร่วมด้วย ส่วนการผ่าตัดรักษาในผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้มีน้อยมาก
มะเร็งปอดส่วนใหญ่ ประมาณ 75 – 80% ไม่ได้มีเซลล์ขนาดเล็ก
มีการจัดแบ่งระยะของโรคออกเป็น 4 ระยะเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้การรักษา โดย
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งอยู่เฉพาะในปอดยังไม่มีการกระจายไปที่ใด
ระยะที่ 2 มะเร็งกระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ได้แก่ กระดูกซี่โครง กระบังลม หรือเยื่อหุ้ม หัวใจ ทำให้เกิดน้ำท่วมปอดได้ หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองนอกปอดแต่ยังอยู่ในช่องอกเป็นต้น
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเกินกว่าที่กล่าวมาแล้ว และมักจะกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกาย

การรักษามะเร็งปอดยังได้ผลดีไม่เท่าการรักษามะเร็งชนิดอื่น
ปัจจุบันศูนย์รักษามะเร็งหลายแห่งทั่วโลก มุ่งเน้นถึงวิธีการที่จะสามารถให้การวินิจฉัย มะเร็งปอดในระยะแรก เพื่อให้ได้ผลดีในการรักษา ขณะเดียวกันก็หาวิธีป้องกันการเกิดมะเร็ง โดยมีการพบว่าสารอาหารและสารสังเคราะห์บางชนิด ได้แก่ เบต้าคาโรทีน วิตามินเอ และสารกลุ่มเรตินอล สามารถลดหรือยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง และยังพบว่าถ้าสารพวกวิตามินอี วิตามินบี 12 โฟลิคแอซิด เซเลเนี่ยม และเอน-อเซติลซีสทีน ในร่างกายมีระดับต่ำ โอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้น จึงมีการให้ทดแทนเพื่อหวังผลในการป้องกันการเกิดมะเร็ง ซึ่งต้องรอผลการวิจัยในอนาคตต่อไป
ปัจจุบันมีการรักษาใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ได้แก่ การใส่สารก่อรังสีในเนื้องอกที่ตัดออกไม่ได้ หรือไม่หมดขณะผ่าตัด การใช้ Photodynamic therapy โดยฉีดสารเคมีที่ทำ ปฏิกิริยากับแสงเข้าร่างกาย สารนี้จะไปจับตัวอยู่ที่ก้อนมะเร็ง แล้วใช้แสงเลเซอร์ยิงทำลายเนื้องอกนั้น การคิดค้นเพื่อผลิตวัคซีนต้านมะเร็ง และขณะนี้กำลังมีการวิจัยลงลึกถึงระดับการแก้ไขยีนส์ที่เป็นตัวถ่ายทอดกรรมพันธุ์ที่อยู่ในโครโมโซมในเซลล์ของร่างกายมนุษย์
มะเร็งปอดเป็นโรคร้าย เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ในผู้ป่วยมะเร็งปอดกรรมพันธุ์เชื่อว่ามีส่วนอย่างมากต่อการเกิดมะเร็ง ผู้ป่วยมักจะเป็นมากแล้วเมื่อมาพบแพทย์ การรักษาในระยะแรกที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัด ในรายที่เป็นมากมีการรักษาโดยการผสมผสานระหว่างการผ่าตัด การฉายแสง และการให้เคมีบำบัด
การวิจัยปัจจุบันเพื่อหาทางวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ในระยะแรกและหาทางป้องกันการเกิดมะเร็งต่อไป
Create Date :18 มกราคม 2551 Last Update :18 กุมภาพันธ์ 2551 11:24:32 น. Counter : Pageviews. Comments :0