bloggang.com mainmenu search
สุภาวดี หาญเมธี, บรรณาธิการอำนวยการ (2554 : 76-83) ได้กล่าวถึง ธรรมบรรยายและธรรมนิพนธ์ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ว่า

โพชฌังคปริตร


โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ- โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ





โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เหล่านี้ อันพระมุนีเจ้าผู้เห็นธรรมทั้งสิ้น ตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลมาเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน และเพื่อความตรัสรู้ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรพระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะ อาพาธ ได้รับทุกขเวทนา แล้วทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ท่านทั้ง 2 ชื่นชมภาษิตนั้น หายโรคในขณะนั้น ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ครั้งหนึ่ง แม้พระธรรมราชา อันความประชวรเบียดเบียนแล้ว รับสั่งให้พระจุนทเถระ แสดงโพชฌงค์นั้นโดยเอื้อเฟื้อ ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายประชวรโดยพลัน ด้วยคำสัตย์นี้ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ก็อาพาธทั้งหลายนั้น อันพระมหาฤษีทั้ง 3 องค์ ละได้แล้วถึงความไม่บังเกิดเป็นธรรมดา ดุจกิเลสอันมรรคกำจัดแล้ว ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ


โพชฌงค์ สวดแก้เจ็บไข้ได้ป่วย ?
โพชฌงค์นี้ เป็นหลักธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง ญาติโยมหลายท่านรู้จักในชื่อที่เป็นบทสวดมนต์ เรียกว่าโพชฌงคปริตร และนับถือกันมาว่า เป็นพุทธมนต์สำหรับสวดสาธยายเพื่อให้คนป่วยได้สดับตรับฟังแล้วจะได้หายโรค

ที่เชื่อกันอย่างนี้ ก็เพราะมีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า พระมหากัสสะปะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยอาพาธ และพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยม แล้วทรงแสดงเรื่องโพชฌงค์นี้ ตอนท้ายพระมหากัสสปเถระก็หายจากโรคนั้น

อีกคราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้ายก็อาพาธและพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยม ก็ได้ทรงแสดงโพชฌงค์นี้อีก แล้วพระมหาโมคคัลลานะก็หายโรค

อีกคราวหนึ่ง พระพุทธองค์เองทรงอาพาธ ก็ตรัสให้พระมหาจุนทะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งแสดงโพชฌงค์ถวาย แล้วพระพุทธเจ้าก็หายประชวร

จากเรื่องราวที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธศาสนิกชนก็เลยเชื่อกันมาว่าบทโพชฌงค์นั้น สวดแล้วจะช่วยให้หายโรค แต่ที่เราสวดกันนี้ เป็นการสวดคำบาลี ผู้ฟังก็ฟังไป ซึ่งบางทีอาจจะไม่เข้าใจเนื้อความก็ได้

แต่ที่ท่านแสดงในพระไตรปิฎกนั้น ท่านแสดงเนื้อหาคือตัวหลักธรรม และธรรมะที่แสดงนั้นเป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญา เป็นธรรมะชั้นสูง ซึ่งความจริงก็เป็นเรื่องของการทำใจให้สว่าง สะอาด ผ่องใส เป็นการรักษาใจ

เป็นธรรมดาว่า กายกับใจนั้นเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน พอกายเจ็บป่วยไม่สบาย คนทั่วไปก็มักจะพานจิตใจไม่สบาย เศร้าหมอง กระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปด้วย และในทำนองเดียวกัน เมื่อจิตใจไม่สบายก็พลอยให้กายไม่สบายไปด้วย เริ่มต้นตั้งแต่รับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีด เป็นสิ่งที่เนื่องอาศัยกัน

ในทางตรงข้าม คือในทางที่ดี ถ้าจิตใจดี สบาย บางทีก็กลับมาช่วยกาย เช่นในยามเจ็บป่วยถ้าจิตใจสบาย เช่น มีกำลังใจ หรือจิตใจผ่องใสเบิกบาน โรคที่เป็นมาก ก็กลายเป็นน้อย หรือที่จะหายยากก็หายง่ายขึ้น ยิ่งถ้าหากว่ากำลังใจที่ดีนั้นมีมากถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่เพียงแต่ทำให้โรคบรรเทาเท่านั้น แต่อาจจะช่วยรักษาโรคไปด้วยเลย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าจะช่วยทำใจของเราหรือรักษาใจของเราได้มากแค่ไหน

พระพุทธเจ้าและพระมหาสาวกนั้น ท่านมีจิตใจที่พัฒนาให้ดีงามเต็มที่ มีสุขภาพด้านจิตที่สมบรูณ์แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ ก็จึงเรียกเอาด้านจิตมาช่วยด้านกายได้เต็มที่ ถ้าไม่เหลือวิสัยของเหตุปัจจัย ก็เอาของดีที่มีในใจออกมารักษากาย ที่เป็นโรคให้หายไปได้

หลักโพชฌงค์เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ไม่เฉพาะสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น ถ้าวิเคราะห์ดูความหมายของศัพท์ ก็จะเห็นว่าศัพท์เดิมนั้นท่านมีความมุ่งหมายอย่างไร

โพชฌงค์มาจากคำว่า โพชฺฌ กับ องฺค หรือ โพธิ กับ องค์ จึงแปลว่า องค์แห่งผู้ตรัสรู้ หรือ องค์แห่งการตรัสรู้ก็ได้ พูดตามศัพท์คือองค์แห่งโพธิ หรือองค์แห่งโพธิญาณนั่นเอง หมายถึงองค์ประกอบ หรือหลักธรรมที่เป็นเครื่องประกอบของการตรัสรู้ หรือองค์ประกอบแห่งโพธิญาณ แสดงว่าหลักธรรมนี้สำคัญมาก เพราะเป็นธรรมที่จะช่วยให้เกิดการตรัสรู้




การตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจขั้นที่จะทำให้ตรัสรู้นี้มีความหมายลึกซึ้งลงไป กล่าวคือ การตรัสรู้นั้นหมายถึงว่า

ประการที่ 1 รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย เห็นสว่างโล่งทั่วไปหมด ไม่มีจุดหมองจุดมัว เพราะความรู้นั้นชำระใจให้หมดกิเลส ให้บริสุทธิ์ด้วย เพราะฉะนั้นปัญญาตรัสรู้นี้จึงหมายถึงความรู้บริสุทธิ์ หรือความรู้ที่เป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์

ประการที่ 2 ปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้นี้ทำให้เกิดความตื่น คือ เดิมนั้นมีความหลับอยู่ คือมัวเพลิน มัวประมาทอยู่ ไม่ลืมตาลืมใจดูความเป็นจริง และมีความหลงใหล เช่น มีความหมกมุ่นมัวเมายึดติดในสิ่งต่าง ๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งความจริงตรัสรู้แล้วก็กลายเป็นผู้ตื่นขึ้น พ้นจากความหลับ จากความประมาทมัวเมา พ้นจากความยึดติดต่าง ๆ พูดสั้น ๆ ว่า ตื่นขึ้นจากความหลับใหลและความหลงใหล

ประการที่ 3 จากการที่บริสุทธิ์และตื่นขึ้นมานี้ ก็ทำให้จิตใจของผู้นั้นมีความเบิกบานผ่องใส ปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นอิสระ อันนี้คือสภาพจิตใจที่ดีงาม ถ้าเรียกในสมัยปัจจุบันก็ว่าเป็นสุขภาพจิตที่ดีมาก

ถ้าท่านผู้ใดก็ตามได้มีสุขภาพจิตอย่างนี้แล้ว แม้จะไม่ถึงขั้นหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็นับว่าเป็นผู้มีความสุขมาก ถ้าเป็นผู้ป่วยไข้ก็เรียกว่ามีสภาพจิตที่เหมือนกับไม่ได้ป่วย อย่างที่เรียกว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย หรือป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนท่านผู้สูงอายุ ท่านผู้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะกระสับกระส่ายในวัยชราว่า ให้ทำใจว่า ถึงแม้กายของเราจะป่วย แต่ใจของเราไม่ป่วยด้วย

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะเป็นจิตใจที่มีความสุขและก็จะช่วยผ่อนคลายห่างหายจากโรคนั้น หรืออย่างน้อยก็บรรเทาทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคนั้นลงได อันนี้คือการอธิบายความหมายของคำว่า โพชฌงค์ ที่แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้


เอกสารอ้างอิง : สุภาวดี หาญเมธี, บรรณาธิการอำนวยการ (เรียบเรียงจากธรรมบรรยายและธรรมนิพนธ์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)). สวดมนต์ สร้างสมาธิในชีวิตประจำวัน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2554.





------------------------------------------------------------



สมพร อาภา (2551 : 143-148) กล่าวว่า

บทเกริ่น
โพชฌังคปริตร


สังสาเร สังสะรันตานัง สัพพะทุกขะวินาสะเน
สัตตะ ธัมเม จะ โพชฌังเค มาระเสนัปปะมัททิโน
พุชฌิตวา เยปิเม สัตตา ติภะวามุตตะกุตตะมา
อะชาติง อะชะราพยาธิง อะมะตัง นิพภะยัง คะตา
เอวะมาทิคุณูเปตัง อะเนกะคุณะสังคะหัง
โอสะถัญจะ อิมัง มันตัง โพชฌังคันตัมภะณามะ เห ฯ



ความหมายของบทเกริ่นโพชฌังคปริตร
บทนำตามพระปริตร ในพระคาถามี 3 ตำนาน แต่นำมากล่าวไว้เพียงหนึ่งตำนาน ให้ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงบทพระปริตร ขอให้ท่านได้สวดสาธยายต่อไปเพื่อสิริมงคลแก่ชีวิตตลอดไปเทอญ

ตำนานโพชฌังคปริตร
ณ เวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐของพระเจ้าพิมพิสาร พระมหากัสสะปะ บังเกิดโรคาพาธแรงกล้า อาการหนักขึ้นทุกวัน ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสถิตอยู่ในสมาบัติ (เข้าสมาธิ) เมื่อถึงกาลอันควรทรงออกจากสมาบัติแล้ว จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเสด็จไปเยี่ยมอาการไข้ของพระมหากัสสปเถระ ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ ให้ท่านพระมหากัสสปะได้รับฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนานั้น พระมหากัสสปะ มีจิตโสมนัสยินดีรื่นเริงในธรรมลุกขึ้นกราบพระบาทหายจากอาการไข้โดยพลัน

อีกกาลเวลาหนึ่ง ครานั้นพระมหาโมคคัลลานะ อาศัยอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เกิดอาการอาพาธหนัก พระบรมศาสดาเมื่อทรงออกจากสมาบัติแล้วไปเสด็จไปเยี่ยมอาการป่วยของพระโมคคัลลานะ แล้วทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้พระมหาโมคคัลลานะฟัง พระมหาโมคคัลลานะนั้นกหายจากอาการป่วยโดยพลัน

แม้พระบรมศาสดาเอง เมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคปวดท้อง มิมียาใด ๆ รักษาให้หายได้ จึงมีรับสั่งให้พระจุนทเถระ แสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้พระองค์ทรงสดับ เมื่อพระจุนทเถระแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการจบลง พระบรมศาสดาก็ทรงหายจากอาการประชวรโดยพลัน ทรงเสด็จลุกขึ้นจากพระบรรทมได้ในทันที

กาลนี้ ขอเชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย สาธยายโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้แก่คนยากได้สดับเพื่อความสวัสดี มีโชคลาภวาสนาที่ดี


บทโพชฌังคปริตร


โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ- โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ


ความหมายของโพชฌังคปริตร
จากผลของพุทธมนต์บทนี้ ทำให้ถูกขนานนามว่า ยาขนานเอกสำหรับรักษาทุกโรค โดยไม่ต้องพึ่งพา 30 บาท เพราะจากตัวอย่างที่ได้เอ่ยถึงนี้ ทำให้เราเข้าใจกันว่าเป็นมนต์สำหรับสวดรักษาโรค แต่หากดูกันให้ลึกดูให้ซึ้ง จะเห็นว่าบทนี้ท่านได้รวบรวมเอายอดธรรม คือ ธรรมะชั้นสุดยอดมารวมเอาไว้ในที่เดียวกัน ถึง 7 ประการ คือ

สติ, การวิจัยธรรม, วิริยะ, ปีติ, ปัสสัทธิ, สมาธิ, อุเบกขา

เมื่อได้ฟังการสวด ท่านมีสติพิจารณาใส่ใจถึงธรรมชาติที่เป็นจริง มีความเพียรในธรรมในการทำความดี ไม่ช้า จะเกิดปีติอิ่มใจ ทำให้เกิดความเลื่อมใส ใจที่อ่อนแอเพราะโรคก็จะกลายเป็นจิตใจที่เข้มแข็ง และปล่อยวางในเรื่องที่เป็นทุกข์ได้ สุดท้ายโรคภัยที่เกิดก็หายลงได้ฉับพลัน

มาดูกันก่อน ที่ท่านเน้นให้เห็นว่า จิตใจเป็นนาย กายเป็นบ่าวจริง ๆ เมื่อใจแข็งแกร่งแล้ว กายเป็นเพียงรับผลที่เกิดมาจากใจ เมื่อโรคเกิดกับกาย แต่ใจแข็งแกร่งไม่กี่วันก็จะสามารถเยียวยารักษาอาการทางกายนั้นได้

แต่ใจดวงนั้นต้องการสิ่งที่คุ้มครองรักษาอย่างดี ธรรมคุ้มครองจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เหมือนดั่งการเยียวยารักษาโรคด้วยธรรมโอสถที่ได้กล่าวถึงนี้ จะเป็นสิ่งที่สำคัญและหายได้ก็ต้องรักษาธรรมให้ได้ก่อน

ตรงกันข้าม หากว่าใจป่วย แต่กายแข็งแรงดี ไม่ช้ากายนั้นก็จะป่วยตาม และจะเสื่อมสภาพกลายเป็นสิ่งที่อ่อนแอไร้ค่าตามมา

กรณีตัวอย่างที่ได้หยิบยกมาอ้างไว้ในบทนี้ เพื่อให้รู้ว่าท่านที่ป่วยนั้น มีจิตใจที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อมาได้ยินได้ฟังธรรมมงคลที่ท่านผู้เป็นปราชญ์เอ่ยขึ้น ก็จะสามารถเยียวยาสิ่งที่กำลังอ่อนล้าอยู่ให้สามารถกลับเป็นปกติได้

ข้อคิด โอสถใดก็ไร้ค่า หากว่าคนไร้ธรรม


เอกสารอ้างอิง : สมพร อาภา. พระปริต. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์, 2551.





------------------------------------------------------------




สัมโพชฌงค์ องค์ธรรมนำสู่โพธิญาณ

ไพยนต์ กาสี (2553 : 92) กล่าวว่า

สัมโพชฌงค์ แปลว่า ธรรมเป็นองค์การตรัสรู้พร้อม มี 7 อย่าง คือ

สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ สติ ความระลึกได้ เป็นองค์ธรรมที่คอยตรึงใจ ให้เกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ระลึกได้นั้น

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นธรรม เป็นองค์ธรรมคอยคัดสรรธรรมที่สติระลึกได้ จนเห็นชัดว่าธรรมอย่างไหนเป็นอกุศลธรรม หรือ กุศลธรรม

วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้คือ วิริยะ ความเพียร เป็นองค์ธรรมที่ปลุกจิตให้กล้าละอกุศลธรรม เพียรสร้างกุศลธรรมให้เกิดขึ้น

ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ ปีติ ความอิ่มใจ เป็นผลจากการใช้ความเพียรเจริญกุศลธรรมทำให้เกิดความอิ่มใจ เป็นเหมือนอาหารเลี้ยงจิตให้เกิดความเพียรในการปฏิบัติมากขึ้น

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ ปัสสัทธิ ความสงบ เป็นอาการสงบของใจที่สืบเนื่องจากเกิดปีติ ทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน

สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ สมาธิ ความตั้งใจมั่น เป็นอาการที่จิตสงบระงับแน่วแน่จนลุถึงปฐมฌาน เรียกว่า อัปปนาสมาธิ จนละนิวรณ์เครื่องกั้นจิตลงได้ เพื่อเป็นฐานของวิปัสสนาฌานต่อไป

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ อุเบกขา ความวางเฉย คือ เมื่อจิตเป็นสมาธิถึงขั้นปฐมฌานแล้ว ก็ทำความเพียรต่อไปจนบรรลุ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ จิตจะนิ่งเป็นอารมณ์เดียว เรียกว่า เอกัคคตาจิต และขณะที่จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว จะเกิดอุเบกขา ความวางเฉยแน่วแน่อยู่ ด้วยความรู้ที่เกิดจากสมาธินั่นเอง กระทั่งเกิดฌาณ (ความรู้แจ้งเห็นจริง) หลุดพ้นไปในที่สุด


เอกสารอ้างอิง : ไพยนต์ กาสี. พิชิตกรรมร้าย หายป่วยด้วยโพชฌงคปริตร. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาส์น, 2553.





------------------------------------------------------------




ไม่เชื่อในอำนาจปริตร ถูกปิดด้วยกรรมกิเลส เป็นสาเหตุรักษาโรคไม่ได้ดั่งใจ

ไพยนต์ กาสี (2553 :90-91) กล่าวว่า

เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานข้อคิดการสวดบทโพชฌังคปริตร ไว้ว่า

“พระพุทธศาสนา แบ่งการรักษาอาพาธออกเป็น 2 อย่าง คือ อาพาธที่ควรให้หมอรักษา ก็ให้หมอรักษา อาพาธที่ไม่จำเป็นให้หมอรักษา ก็ให้ใช้ธรรมรักษา เพราะอาพาธที่เกิดขึ้นแม้เกิดขึ้นทางร่างกาย แต่ก็เกี่ยวแก่จิตใจ
ถ้าใจมีความอดทนพอ ที่เรียกว่า อธิวาสนขันติ คือ อดทนไป อาพาธก็หายไปเอง หรือมีใจบันเทิงในธรรม ปีติในธรรม สุขในธรรม ก็เป็นเครื่องระงับทางกายได้ คนปัจจุบันก็ยังปฏิบัติ เจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างก็ไม่รับประทานยา ใช้ความอดทน อาพาธก็หายไปเอง




การสวดโพชฌงค์นี้ คนไทยเราก็นับถือ เวลาเจ็บป่วย โดยเฉพาะมักเป็นไข้หนักใกล้ตาย แต่ก่อนนี้จะนิมนต์พระไปสวดโพชฌงค์ให้ฟัง แต่เนื่องจากเป็นคนไข้ที่เพียบหนักแล้ว ก็มักจะไม่หาย สวดโพชฌงค์ให้ฟังไม่ช้าเท่าไหร่ก็ถึงแก่กรรม ก็ดูเหมือนว่ามิได้มุ่งนิมนต์พระไปสวดให้หาย แต่เพื่อให้จิตใจคนไข้เข้าถึงพระรัตนตรัย ทำนองบอกอรหังที่โบราณใช้บอกทางแก่ผู้ป่วย เมื่อใกล้จะตายก็บอกอรหัง ครั้นคนไข้ได้ยินได้ฟังจิตใจจะได้มาตั้งอยู่ในพุทธานุสสติ ให้จิตใจผ่องใส ซึ่งจะหวังสุคติได้ เมื่อก่อนใข้กันอย่างนี้

มาบัดนี้ บางคนไปเยี่ยมคนไข้ เขาก็สวดโพชฌงค์ให้คนไข้ฟัง แม้ไข้ไม่มากนักก็มี แบบไข้ไม่มากนี้ สวดโพชฌงค์ให้ฟังมักจะหาย ไม่ใช่เป็นไข้ถึงตาย ถ้าไข้ถึงตายแล้วก็ไม่รอด แต่ว่าจิตใจจะได้สรณะคือที่พึ่ง แต่ตามตำนานของโพชฌังคปริตรนี้ เป็นไข้ที่พึงหายได้ แปลว่า เป็นไข้ที่ไม่ต้องกินยาก็หาย ก็สวดโพชฌงค์ให้ฟัง ให้จิตใจบันเทิง เมื่อจิตใจบันเทิงแล้ว ร่างกายก็สบาย ก็หายจากอาพาธนั้น”

แต่ใช่ว่าการสวดมนต์จะช่วยรักษาโรคให้หายได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย 3 ประการ ดังที่พระนาคเสนเถระ ได้กล่าวเป็นอุทาหรณ์เปรียบเทียบไว้ในหนังสือมิลินทปัญหา ว่า
“อาหารตามปกติแล้วเป็นสิ่งรักษาชีวิต แต่หากทานเกินขนาดและธาตุไฟหย่อนไม่ย่อยเผาผลาญแล้ว เป็นเหตุให้ถึงตายได้ อาหารจึงรักษาชีวิตไว้ไม่ได้เสมอไป

พระปริตรที่สวดก็เช่นกัน บางทีก็รักษาได้ บางทีก็รักษาไม่ได้ เพราะมีเหตุ 3 ประการ คือ
1. ถูกแรงกรรมปิดกั้น
2. ถูกกิเลสปิดกั้น

3. มีจิตไม่เชื่อในพระปริตร”

เมื่อทำความเข้าใจทั้งสาเหตุให้เกิดโรค การสวดมนต์รักษาโรคได้อย่างไรแล้ว จึงขอแนะวิธีการสวดมนต์ให้ได้ผลตามที่ประสงค์ต่อไป


เอกสารอ้างอิง : ไพยนต์ กาสี. พิชิตกรรมร้าย หายป่วยด้วยโพชฌงคปริตร. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาส์น, 2553.





------------------------------------------------------------




Link : ที่น่าสนใจ


บทสวดโพชฌังคปริตร (วัดจันทาราม (ท่าซุง)) : //www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=823


Download เสียงบรรยายโพชฌงค์ 7 (ท่านเจ้าคุณโชดกญาณสิทธิเถระ) (เว็ปไซต์ศูนย์ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธศาสนา นานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) : //www.meditation-watmahadhat.com/index.php?option=com_rokdownloads&view=file&id=566%3A-7&Itemid=62


Download เสียงบรรยายโพชฌงค์ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) (เว็ปไซต์ฟังธรรม) : //www.fungdham.com/sound/sangkharad.html


Download บทสวดโพชฌังคปริตร (พระณัฐฐพล ขนฺติโก) : //www.learners.in.th/file/pranattapon/view/101763


Download บทสวดโพชฌังคปริตร (เว็ปไซต์ธรรมะไทย) : //www.dhammathai.org/sounds/photchangkhaparit.php



---------------------------------------------------------




ดาวน์โหลดหนังสือ (Download E-Book) :



Download หนังสือธรรมะทะลุโลก ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร คลิ๊ก Download หนังสือชีวิตนี้น้อยนัก_สมเด็จพระญาณสังวร คลิ๊ก Download หนังสือเปิดใจรับความสุข ของพระไพศาล  วิสาโล คลิ๊ก
Download หนังสือนึกถึงความตายสบายนัก_พระไพศาล  วิสาโล คลิ๊ก Download E-Book ว.วชิรเมธี คลิ๊ก



Download หนังสือ โพชฌงค์ พุทธวิธีเสริมสุขภาพ (ป.อ.ปยุตฺโต) (PDF) : //www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/bojjhanga_buddhist_method_for_health_improvement.pdf

Download หนังสือรักษาใจยามป่วยไข้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)) (PDF)

Download หนังสือภูมิธรรมชาวพุทธ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)) (PDF)

Download หนังสือหลักชีวิต หลักชาวพุทธ (พระไพศาล วิสาโล) (PDF)

Download หนังสือความฉลาดในการรับมือกับเหตุการณ์แย่ ๆ (พระไพศาล วิสาโล) (PDF)

Download หนังสือก่อนวันผลัดใบ หนังสือแสดงเจตนาการจากไปในวาระสุดท้าย (พระไพศาล วิสาโล แสดงธรรมเทศนา เรื่อง การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยวิธีแบบพุทธ) (PDF)

Download หนังสือเปิดใจรับความสุข (พระไพศาล วิสาโล) (PDF)



---------------------------------------------------------







บทโพชฌังคปริตร





Create Date :03 มิถุนายน 2554 Last Update :20 สิงหาคม 2554 11:22:46 น. Counter : Pageviews. Comments :6