bloggang.com mainmenu search
โดย : ผศ.พญ.ธิติยา สิริสิงห
หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่าเมื่อได้ยินคำว่ามะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับคนใกล้ชิด ย่อมทำให้เกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความตระหนกตกใจ กลัว กังวล เสียใจ สับสน หรือโกรธ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ แต่ในที่สุด หลังจากผ่านพ้นอารมณ์เหล่านั้นแล้ว ผู้ป่วยและครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ก็มักจะพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับการวินิจฉัยที่พึ่งได้รับมาไม่มากก็น้อย บทความนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีมุมมองในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้ท่านสามารถปรับตัวและใจให้พร้อมที่จะรับมือกับโรคได้ดีขึ้น

การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นงานที่ท้าทาย เพราะต้องมีทั้งการดูแลทางร่างกาย ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะจากตัวโรคเอง หรือเป็นผลจากการรักษาก็ตาม นอกจากนี้การดูแลทางด้านจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิดเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งหมายความว่าทั้งผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด จำต้องมีการปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้น

"คุณไม่สามารถปฏิเสธตนเองได้ว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่คุณสามารถรับมือกับมันได้"

เริ่มต้นอย่างไรดี

ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นพบแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์เฉพาะทางตามอาการที่ผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีอาการไอหรือหอบเหนื่อย อาจไปพบอายุรแพทย์หรืออายุรแพทย์โรคทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมอาจเริ่มต้นพบศัลยแพทย์ด้วยปัญหาก้อนในเต้านม เป็นต้น เมื่อได้รับข้อมูลเบื้องต้นหรือการวินิจฉัยจากแพทย์ที่ดูแลแล้ว แพทย์อาจส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากอาจมีอาการของโรคมะเร็งได้หลายอวัยวะ อีกทั้งมักเป็นผู้สูงอายุซึ่งมักมีโรคร่วมอื่น ๆ อยู่ด้วย อาทิเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ถุงลมโป่งพอง ทำให้ต้องรับการดูแลจากอายุรแพทย์ที่มีความรู้รอบด้าน ร่วมกับอายุรแพทย์เฉพาะทางในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง สำหรับอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งที่จะให้ข้อมูลรายละเอียดด้านแนว ทางการดูแลรักษา หรือการพยากรณ์โรคมะเร็งนั้น ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรศาสตร์โรคมะเร็ง (medical oncologist) หรือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรศาสตร์โรคเลือด (hematologist) (ใน กรณีที่เป็นมะเร็งของเม็ดเลือดหรือต่อมน้ำเหลือง) จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ท่านจะหาข้อมูลได้เต็มที่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษา








การรักษาโรคมะเร็งนั้น มัก ต้องอาศัยความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม ได้แก่ ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ อายุรแพทย์ พยาธิแพทย์ และแพทย์อื่น ๆ อีกหลายสาขา โดย แพทย์แต่ละสาขาจะมีความชำนาญเฉพาะด้าน อายุรแพทย์โรคมะเร็งมีความชำนาญที่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำโดยรวมว่าในภาวะโรค ของท่านนั้น มีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง บอกลำดับของการรักษาแต่ละวิธีที่เหมาะสม และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับแพทย์สาขาต่าง ๆ เพื่อให้ผลการรักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยคนหนึ่ง ๆ เป็นไปอย่างดีที่สุด ที่สำคัญ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งด้วย ยาเคมีบำบัด หรือยาต้านมะเร็งในหลายรูปแบบ มี ความชำนาญในการเลือกการรักษาด้วยยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและเหมาะสมกับชนิด ของโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากอาจมีโรคประจำตัวอื่นที่ทำให้การดูแลรักษาด้วยยาเคมี บำบัดซึ่งอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมีความซับซ้อนมากขึ้น อายุรแพทย์โรคมะเร็งจะดูแลปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถี่ถ้วน ทำให้การรักษาโดยรวมราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด


"คนเป็นมะเร็งไม่จำเป็นต้องตายจากมะเร็งทุกคน"



เมื่อท่านต้องดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง

หากท่านเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยและต้องดูแลผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือท่านควรร่วมรับรู้ข้อมูลการเจ็บป่วยโดยการไปพบแพทย์พร้อมกับผู้ป่วย บาง ครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการ รักษา ไม่สามารถจำทุกอย่างที่แพทย์ได้แนะนำได้ หรือผู้ป่วยบางรายไม่กล้าถามคำถามกับแพทย์ ท่านจะเป็นผู้ที่เชื่อมต่อสิ่งเหล่านี้และทำให้การรักษาสมบูรณ์มากขึ้น ผู้ป่วยและครอบครัวมักจะไม่กล้าถามแพทย์ ไม่ว่าจะเพราะความเกรงใจหรือกลัวก็ตาม แต่ที่จริงแล้วแพทย์ยินดีที่จะตอบข้อสงสัยของผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากบางครั้งแพทย์เองอาจจะเข้าใจว่าท่านเข้าใจหรือทราบแล้วจึงไม่ได้เน้นย้ำเพิ่มเติม เป็นต้น





ท่านอาจต้องช่วยบริหารจัดการกิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างแก่ผู้ป่วยในช่วงการรักษา เช่น การจดตารางการนัดหมายกับแพทย์ การดูแลเรื่องการรับประทานยา การจดบันทึกอาการผิดปกติต่างๆเพื่อรายงานแพทย์ (ผู้ป่วยสามารถทำได้เช่นกัน) การจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ การจัดสลับหน้าที่ของสมาชิกคนอื่นๆในบ้านให้ทุกอย่างดำเนินได้ใกล้เคียงเดิม เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องพะวงในเรื่องเหล่านี้จนเกินไปในระหว่างการ รักษา เป็นต้น

การตัดสินใจร่วมกันของคนในครอบครัวในเรื่องการรักษาก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ ทั้งนี้ควร กระทำเมื่อทุกฝ่ายได้ร่วมรับรู้ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก่อน โดยยึดประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก และให้น้ำหนักความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุดด้วย เมื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ต้องไม่มีการกล่าวโทษกันภายหลัง จงนึกเสมอว่าทุกคนต่างทำด้วยความรักและเป็นห่วงผู้ป่วยทั้งนั้น

การดูแลทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การดูแลด้านกาย แน่ นอนที่ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวล เครียดและเป็นทุกข์จากการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ ในฐานะของ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย การให้กำลังใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จงทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้เผชิญกับมันตามลำพัง และท่านพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเขาทุกขั้นตอน

การ รักษาโรคมะเร็งอาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆไม่กี่เดือน หรืออาจยืดเยื้อนานกว่านั้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีที่โรคเป็นในระยะแพร่กระจาย ดังนั้นท่านเองต้องตระหนักว่าตัวท่านเองต้องดูแลสุขภาพทั้งกายและจิตใจของตนเองเช่นกัน ท่าน ควรรับการพักผ่อนบ้าง โดยมีคนมาช่วยผลัดเปลี่ยนการดูแลผู้ป่วยเป็นครั้งคราว ซึ่งจะทำให้ท่านมีพลังกลับคืนมาพร้อมที่จะประคับประคองผู้ป่วยและครอบครัว ให้มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด


เอกสารอ้างอิง : ธิติยา สิริสิงห, ผศ.พญ. (ม.ป.ป.). เมื่อคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : //www.tsco.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=84:2011-02-25-15-59-15&catid=45:2011-02-23-16-46-59 วันที่สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายาน 2555.





Create Date :13 มิถุนายน 2555 Last Update :15 มิถุนายน 2555 19:58:50 น. Counter : 1450 Pageviews. Comments :1