bloggang.com mainmenu search
ธรรมปราโมทย์ (อ้างถึง ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์ : 2548) : หน้า 28-30 กล่าวว่า

ถ้าผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก ติดขัด หอบ หรือเหนื่อยจากการมีก้อนเนื้อในหลอดลมหรือในลำคอ แพทย์มักจะรักษาด้วยการช่วยการหายใจ ด้วยการผ่าตัดเล็ก โดยใส่ท่อช่วยหายใจผ่านผิวหนังเข้าไปในหลอดลม หรือถ้าเป็นมะเร็งกล่องเสียงในระยะที่ต้องผ่าตัดเอากล่องเสียงออก ผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจเช่นเดียวกัน และใส่ไว้จนกว่าจะหายใจได้ตามปกติ แพทย์จึงแนะนำให้เอาท่อช่วยหายใจออก



การดูแลตนเอง
1. ระมัดระวังอย่าให้ท่อช่วยหายใจหลุด
2. เมื่อท่อช่วยหายใจหลุดแต่ผู้ป่วยยังหายใจได้โดยสะดวก ต้องไปพบแพทย์ในวันเวลาราชการได้ และต้องนำท่อช่วยหายใจที่หลุดไปด้วย
3. เมื่อท่อช่วยหายใจหลุดและผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก หายใจไม่ออก ต้องไปโรงพยาบาลทันที และนำท่อช่วยหายใจที่หลุดไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจกลับเข้าไปใหม่โดยด่วนที่สุด
4. ในระหว่างใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ ถ้าผู้ป่วยยังหายใจไม่คล่อง ไม่สะดวก ต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที
5. รู้จักทำความสะอาดท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยต้องสอบถามและเรียนรู้วิธีทำความสะอาดท่อช่วยหายใจจากพยาบาล และฝึกทำจนแน่ใจว่าสามารถปฏิบัติได้เอง
6. รู้จักทำความสะอาดผิวหนังตำแหน่งที่ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมทั้งเปลี่ยนผ้ากอซ เชือกคล้องคอทุกวันหรือเมื่อสกปรก ต้องสอบถามและเรียนรู้วิธีทำความสะอาดจากพยาบาล และฝึกทำจนแน่ใจว่าสามารถปฏิบัติเองได้
7. ถ้าผิวหนังรอบ ๆ ท่อช่วยหายใจมีแผลเกิดการอักเสบ กล่าวคือ เป็นแผลเหมือนน้ำร้อนลวก หรือบวม
แดง ร้อน เจ็บ หรือมีตุ่มหนอง ต้องรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล
8. ระมัดระวังไม่ให้ฝุ่น เศษผง หรือน้ำ หล่นลงไปในท่อช่วยหายใจ โดยใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ ปิดปากท่อหลวม ๆ ไว้เสมอ
9. ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในท่อช่วยหายใจขณะอาบน้ำ
10. ถ้าใส่ท่อช่วยหายใจแล้วมีอาการระคายเคือง เจ็บ และทำให้ไอตลอดเวลา ต้องรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล
11. หากเสมหะเหนียวมากอาจทำให้หายใจลำบาก ควรใช้น้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อโรค (Sterile) หยดลงในท่อประมาณ 0.5-1 ซีซี แล้วไอออกแรง ๆ
12. ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายได้น้ำเพียงพอและเสมหะไม่เหนียว และจะทำให้ไอเอาเสมหะออกได้ดีขึ้น
13. ควรสังเกตท่านอนที่ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อหลอดลม หรือทำให้ไอมาก และควรหลีกเลี่ยงการนอนในท่านั้น
14. ผู้ป่วยที่อยู่ในห้องซึ่งติดเครื่องปรับอากาศ ควรนำน้ำสะอาดใส่ภาชนะวางไว้ในห้อง เพื่อช่วยเพิ่มความชื้น ทำให้เสมหะไม่เหนียวข้น และหายใจได้สะดวกมากขึ้น
15. ถ้ามีข้อสงสัยหรือมีความกังวลเกี่ยวกับการใส่ท่อช่วยหายใจ ให้รีบปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเสมอ

เอกสารอ้างอิง : ธรรมปราโมทย์ (พระครูสันติธรรมรังสี). หนทางพิชิตมะเร็ง แนวทางป้องกัน-รักษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม, 2552

Create Date :11 ธันวาคม 2552 Last Update :11 ธันวาคม 2552 16:56:16 น. Counter : Pageviews. Comments :0