bloggang.com mainmenu search
พวงทอง ไกรพิบูลย์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง (2551 : 79-81) กล่าวว่า

สาเหตุ
ผมร่วงจากเคมีบำบัด การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นสาเหตุของผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง มักเกิดกับผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับยาเคมีบำบัด บ่อยครั้งผมจะร่วงหมดทั้งศีรษะ แต่บางครั้งอาจร่วงบางไม่หมดทั้งศีรษะ ขึ้นกับพื้นฐานเดิมของผม ชนิดและปริมาณของยาเคมีบำบัด อาจร่วงได้ตั้งแต่ครั้งแรกของเคมีบำบัด หรือครั้งที่ 2-3 โดยผมจะค่อย ๆ ร่วงบางลงเรื่อย ๆ

ผมร่วงจากยาเคมีบำบัดจะกลับขึ้นใหม่เสมอ ประมาณ 3-6 เดือน หลังครบยาเคมีบำบัดแล้ว ผมที่ขึ้นใหม่อาจหยิกหรือดำกว่าเดิม แต่จะค่อย ๆ กลับเป็นปรกติเหมือนเดิม

ในช่วงให้ยาเคมีบำบัดอาจมีขนที่อื่นร่วงร่วมด้วย เช่น ขนตา ขนตามแขนหรือขา ขนบริเวณอวัยวะเพศ แต่จะกลับขึ้นใหม่ภายหลังครบยาเคมีบำบัดแล้วเช่นเดียวกับผม




ผมร่วงจากการฉายรังสีรักษา ผมหรือขนจะร่วงเฉพาะตำแหน่งที่ฉายรังสีเท่านั้น ดังนั้น ต้องเป็นการฉายรังสีที่สมองเท่านั้น ผมจึงจะร่วงได้ และจะร่วงเฉพาะตำแหน่งที่ฉายรังสี ไม่ร่วงทั้งศีรษะ ยกเว้นฉายรังสีทั้งศีรษะ

ภายหลังครบการฉายรังสีแล้ว ผมหรือขนจะค่อย ๆ กลับมาขึ้นใหม่ช้า ๆ ใช้เวลาหลายเดือน แต่ผมหรือขนที่ขึ้นใหม่จะไม่เหมือนเดิม มักบางกว่าเดิม เส้นเล็กกว่าเดิม และมีสีผมเปลี่ยนไป อาจมีสีอ่อนลงและหงอกขาวได้

ผมร่วงจากอารมณ์และความเครียด ผมร่วงจากสาเหตุนี้อาจจะร่วงเป็นหย่อม ๆ หรือร่วงหมดทั้งศีรษะ แต่จะกลับขึ้นใหม่เหมือนเดิมได้หลังจากอารมณ์กลับมาเป็นปรกติแล้ว

ผมร่วงจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาจเกิดจากการแพ้แชมพู รับประทานอาหารหรือฉีดฮอร์โมนบางชนิด โรคของหนังศีรษะเอง


การวินิจฉัยหาสาเหตุ
• จากประวัติต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา
• จากการตรวจร่างกายหาความผิดปรกติต่าง ๆ

จากประวัติและการตรวจร่างกาย แพทย์อาจให้การวินิจฉัยหาสาเหตุได้เลย หรือเป็นแนวทางสำหรับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม


การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ แต่ถ้าเกิดจากผลข้างเคียงของการรักษา แพทย์หรือพยาบาลจะอธิบายให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบก่อน




การดูแลผู้ป่วย
• ควรคอยสังเกตว่าอาการผมร่วงเกิดจากอะไรบ้าง ให้หลีกเลี่ยง แต่ถ้าเกิดจากยาที่ไม่จำเป็น แพทย์จะให้หยุดยานั้น ๆ และเปลี่ยนยาใหม่ให้ แต่ถ้าเกิดจากยารักษาโรคมะเร็งและไม่มียาอื่นทดแทน ผู้ป่วยควรยอมรับผลข้างเคียงข้อนี้
• ควรตัดผมสั้นเพราะจะดูแลได้ง่ายขึ้น
• ควรเปลี่ยนแชมพูเป็นแชมพูเด็กเพื่อลดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ
• สระผมได้บ่อยตามความต้องการ ยกเว้นถ้าแพทย์ห้าม เช่น ในการฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง
• ไม่ควรดัด ยืด เปลี่ยนสีหรืออบผม ในช่วงการรักษา ยกเว้นการสระผมธรรมดา
• เวลาสระผมให้ขยี้เพียงเบา ๆ
• แปรงผมเบา ๆ
• การใช้แป้งหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผมต่าง ๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลก่อน
• ตัดผมได้ตามปรกติ ถ้าผมร่วงมากอาจโกนผมทิ้งได้
• ระวังไม่ให้หนังศีรษะถูกแสงแดดจัดโดยตรง ใช้ร่มหรือใส่หมวกเสมอ
• ถ้าไม่ชอบใส่วิก ให้ใช้หมวกหรือผ้าโพกศีรษะแทน


รีบไปพบแพทย์เมื่อ
• มีผื่นขึ้นหรือแผลบริเวณหนังศีรษะ


เอกสารอ้างอิง : พวงทอง ไกรพิบูลย์. อยู่กับมะเร็งอย่างเป็นสุข. กรุงเทพมหานคร : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2551.



Create Date :11 พฤษภาคม 2554 Last Update :11 พฤษภาคม 2554 22:58:37 น. Counter : Pageviews. Comments :0