bloggang.com mainmenu search
ที่มา : โรงพยาบาลบ้านหลวง อ.บ้านหลวง จ.น่าน//www.banluanghospital.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=135923




การรักษาด้วยรังสี (radiotherapy) ซึ่งมีวิธีการ 2 แบบ คือ palliative therapy เป็นการใช้รังสีขนาดต่ำ ระยะเวลาสั้นและพื้นที่จำกัด และ curative therapy เป็นการใช้รังสีขนาดสูง และระยะเวลานาน

ซึ่งการรักษาด้วยรังสีรักษา และเคมีบำบัดเป็นวิธีการที่นิยมมากในปัจจุบัน ดังนั้นพยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในการให้การพยาบาล เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวซึ่งได้แก่

1. การเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมก่อนรับการรักษา จะต้องประเมินเกี่ยวกับ
1.1 ภาวะด้านโภชนาการ โดยการชั่งน้ำหนักตัว ประเมินความตึงตัวของกล้ามเนื้อและผิวหนัง เพื่อเป็นส่วนช่วยในการตัดสินว่า ผู้ป่วยทนต่อการรักษาด้วยรังสีหรือยาหรือไม่ และช่วยในการทำนายประสิทธิภาพของยาในการทำลายเซลล์มะเร็ง

1.2 สภาพของผิวหนัง ควรตรวจดูว่ามีแผลพุพองเรื้อรังหรือไม่ เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มักมีความต้านทานต่ำ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

1.3 สภาพของปาก ควรตรวจดูการอักเสบของเยื่อบุภายในช่องปาก เลือดออกตามไรฟันและเหงือก และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำความสะอาด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีสุขภาพปากและฟันไม่ดี

1.4 สภาพทั่วๆ ไปของร่างกาย ต้องประเมินดูว่ามีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นต้น

1.5 ผลการตรวจทางห้องทดลอง โดยเฉพาะการตรวจนับเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด

1.6 ความคาดหวังของผู้ป่วยที่มีต่อผลการรักษา พยาบาลควรจะประเมินความคาดหวังของผู้ป่วย และสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการทราบ เพื่อที่จะนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวในการเผชิญกับการดำเนินของโรค และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นขณะรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม

2. การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ป่วยและญาติควรจะเข้าใจ ได้แก่แผนการให้รังสีรักษาหรือให้ยา อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการได้รับการรักษาตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจรักษา และให้ความช่วยเหลือติดต่อสังคมสงเคราะห์ในรายที่จำเป็น

3. การดูแลผู้ป่วยขณะได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
3.1 ผิวหนัง ควรแนะนำผู้ป่วยไม่ให้บริเวณที่ฉายแสงถูกน้ำ เพราะสีที่ขีดไว้จะหายไป ทำให้ลำบากในการวางแผนการรักษาใหม่ ห้ามใช้ยาอะไรที่ทางรังสีแพทย์ไม่ได้ให้ ยาที่ให้โดยมากมักเป็นพวก steroid-cream และพยายามไม่ให้บริเวณที่ฉายถูกแสงแดด เนื่องจากผิวหนังบริเวณนี้จะไวต่อแสงมากกว่าปกติ

3.2 อาหาร เนื่องจากการฉายรังแสงบริเวณทรวงอกนั้นใกล้เคียงกับบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ดังนั้นอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย จึงควรแนะนำอาหารที่มีประโยชน์ให้แคลอรี่และโปรตีนสูง ควรเป็นอาหารรสไม่จัด และควรเป็นอาหารอ่อนหรือเหลวในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ และกลืนลำบาก

4. การประเมินภาวะแทรกซ้อนขณะได้รับการรักษา เช่น การติดเชื้อ ภาวะซีด และเลือดออกง่าย อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาการเจ็บปาก (stomatitis) กระเพาะปัสสาวะอักเสบจาก endoxan ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง อาการท้องเดินหรือท้องผูก อาการอ่อนเพลียไม่มีแรง อาการชาตามปลายมือปลายเท้า และเดินเซ ในกรณีที่ได้รับยาที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น vincristin และ vinblastine ผมร่วง พยาบาลควรประเมินและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวหรือเกิดขึ้นรุนแรงขึ้น

5. การกระจายของโรคมะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆ
เช่นสมอง (พบร้อยละ 40-50) ตับ (พบร้อยละ 35) กระดูก (พบร้อยละ 17-40) และต่อมน้ำเหลืองที่คอ (พบร้อยละ 15-25) ควรติดตามประเมินอาการและอาการแสดงที่บ่งชี้ถึงการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆ เหล่านี้เช่น อาการปวดศีรษะ ซึมลง ตาพร่ามัว อาการของความดันโลหิตสูง ซึ่งแสดงถึงการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่สมอง อาการปวด ระดับแคลเซียมสูง ซึ่งแสดงถึงการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่กระดูกเป็นต้น

6.การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
เช่น pleural effusion, superior vena cava syndrome (SVC syndrome), infection, atelectasis ควรติดตามประเมินอาการหายใจลำบาก แน่นหน้าอก การมีไข้ แขนบวม หน้าแดง เส้นเลือดที่คอโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงการมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น
Create Date :26 พฤศจิกายน 2551 Last Update :21 สิงหาคม 2552 20:03:28 น. Counter : Pageviews. Comments :0