bloggang.com mainmenu search


เซลล์ต้นกำเนิดคืออะไร (กำพล ศรีวัฒนกุล, 2550: 10)
เซลล์ต้นกำเนินเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต นับตั้งแต่เมื่อสเปิร์มได้ผสมกับไข เซลล์ต้นกำเนิดหนึ่งเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ และพัฒนาตัวเองไปเป็นเซลล์กว่า 200 ชนิด เพื่อประกอบขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์จนสมบูรณ์ในครรภ์มารดา หรือจะกล่าวว่าเซลล์ต้นกำเนิดคือเซลล์อ่อนที่ยังไม่พัฒนาตัวเองจนสมบรูณ์ก็ย่อมได้
เซลล์ต้นกำเนิดสามารถเจริญเติบโตแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้อย่างไม่จำกัด และมีศักยภาพพอเพียงที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ได้แทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเซลล์สมอง เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์เม็ดเลือด และเซลล์กระดูก

โดยเซลล์ต้นกำเนิดทุกชนิดจะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญสามประการ คือ
1. สามารถแบ่งตัวเองขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีสารอาหารที่เพียงพอ
2. ในกรณีที่แบ่งตัวแล้ว ยังต้องคงสภาพการเป็นเซลล์ที่ยังไม่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงเอาไว้ด้วย
3. สามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้มากกว่า 200 ชนิด

สำหรับเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์นั้น จะทำหน้าที่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของตนเองได้ เช่น เซลล์สมอง ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้ อีกทั้งยังไม่สามารถพัฒนาหรือแบ่งตัวต่อไปได้ ดังนั้นเมื่อเซลล์เหล่านี้ตายลงก็จะไม่มีเซลล์ใหม่มาทดแทน

กำเนิดเซลล์ต้นกำเนิด (กำพล ศรีวัฒนกุล, 2550: 11)
เซลล์ต้นกำเนิดได้ถูกค้นพบในไขกระดูกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2503 โดยสองนักวิจัยชาวแคนาดา คือ ดร.เจมส์ อีธิล และ ดร.เออเนส เอ แมคคอลัฟ นับแต่นั้นเป็นต้นมา การพัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดก็ได้ดำเนินมาอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงปัจจุบัน



ความมหัศจรรย์ของเซลล์ต้นกำเนิด (กำพล ศรีวัฒนกุล, 2550: 11)
ถ้าจะกล่าวว่า เซลล์ต้นกำเนิด คือ ของขวัญแห่งสหัสวรรษที่ธรรมชาติมอบให้แก่มวลมนุษยชาติ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเซลล์ต้นกำเนิดสามารถช่วยให้เราซ่อมแซมตัวเองได้ เช่นเดียวกับปลาดาวยามเมื่ออวัยวะฉีกขาด ก็จะเกิดการงอกอวัยวะเดิมขึ้นมาใหม่เป็นการทดแทนใหม่ เพียงแต่ศักยภาพในการซ่อมแซมตัวเองตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นยังมีขีดจำกัด หากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการคิดค้นพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ได้ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นไปได้ในระดับหนึ่ง และถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์อย่างมากมาย

ในปัจจุบันนี้มีการค้นพบวิธีรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดแล้ว 100 กว่าโรค เช่น โรคโลหิตจาง, โรคธาลัสซีเมีย, โรคพันธุกรรมที่เกี่ยวกับการทำงานของไขกระดูกที่บกพร่อง, โรคความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึ่ม, โรคภูมิแพ้ และโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่าง ๆ ส่วนมะเร็งชนิดต่าง ๆ ก็มี เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งสมอง, มะเร็งของไต และมะเร็งกระดูก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่อยู่ในระหว่างการวิจัย เช่น โรคอัลไซเมอร์, โรคพากินสัน, โรคมะเร็งบางชนิด, โรคไตวาย และโรคตับ

ในอนาคตอันใกล้เซลล์ต้นกำเนิดยังนำมาใช้ทดแทนการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และจะสามารถช่วยคนได้มากกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก ให้หายขาดจากโรคที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาและส่งผลให้มนุษย์มีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง : รศ.ดร.นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล. Stem Cell มหัศจรรย์พลังเซลล์ต้นกำเนิด. กรุงเทพมหานคร : ฐานบุ๊คส์, 2550.


Link :

ดร.เจมส์ อีธิล => //en.wikipedia.org/wiki/James_Till

ดร.เออเนส เอ แมคคอลัฟ => //en.wikipedia.org/wiki/Ernest_McCulloch
Create Date :30 กรกฎาคม 2552 Last Update :30 กรกฎาคม 2552 21:07:48 น. Counter : Pageviews. Comments :2